แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1113


    ครั้งที่ ๑๑๑๓


    สาระสำคัญ

    สภาพที่เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัย

    ลักษณะที่ต่างกันของอนันตรปัจจัยกับอนันตรูปนิสสยปัจจัย

    จดหมายของท่านผู้ฟัง (ซอยวัดราชวรินทร์ บุคคโล ตากสิน ๒)

    มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะคือถึงอย่างไร


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๒๕


    ย้อนกลับมาถึงขณะนี้ ดูเหมือนว่าเป็นสิ่งธรรมดาเหลือเกินที่ทุกท่านเห็น แต่ลองคิดจริงๆ ว่า ถ้าปัญจทวาราวัชชนจิตไม่เกิด จักขุวิญญาณเกิดไม่ได้ และถ้า ภวังคุปัจเฉทจิตไม่เกิด ปัญจทวาราวัชชนจิตก็เกิดไม่ได้

    ขณะที่กำลังเห็น ในขณะนี้เอง ภวังคุปัจเฉทะต้องเกิดขึ้นและดับไป ปัญจทวาราวัชชนจิตจึงเกิดได้ ปัญจทวาราวัชชนจิตต้องดับไป จักขุวิญญาณจึงเกิดเห็นในขณะนี้ได้ จักขุวิญญาณต้องดับไป สัมปฏิจฉันนจิตจึงจะเกิดรู้อารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณได้ สัมปฏิจฉันนจิตต้องดับไป สันตีรณจิตจึงเกิดขึ้นพิจารณารู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏได้ สันตีรณจิตต้องดับไป โวฏฐัพพนจิตจึงเกิดขึ้นเป็นทางให้กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดต่อได้ โวฏฐัพพนจิตต้องดับไป ชวนจิตดวงที่ ๑ แล้วแต่จะเป็นกุศลหรืออกุศลจึงเกิดขึ้นและต้องดับไป ชวนจิตดวงที่ ๒ จึงเกิดขึ้นได้ ตลอดไปจนถึงชวนจิตดวงที่ ๗ และตทาลัมพนจิต และภวังคจิต ตามลำดับ

    เป็นอย่างนี้ ในขณะนี้อย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่มีใครสามารถยับยั้ง หรือหยุดยั้ง หรือเปลี่ยนแปลงสภาพที่เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัยได้เลย ดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาจริงๆ แต่ขอให้ทราบว่า อนันตรปัจจัย คือ จิตและเจตสิกซึ่งเกิดก่อนและดับไปนั่นเอง เป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นที่อาศัยที่มีกำลังของจิตดวงต่อไป

    ทุกท่านมีกุศลจิตในวันหนึ่ง และก็มีอกุศลมากในวันหนึ่ง แต่ลืมพิจารณาว่า ถ้าจิตดวงก่อนๆ ไม่เกิด กุศลจิตและอกุศลจิตในขณะนี้ก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมว่า สภาพธรรมใดเป็นอุปนิสสยปัจจัย นอกจากอารมณ์เป็นอุปนิสสยปัจจัย คือ เป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัยแล้ว อนันตรปัจจัย สภาพธรรมของจิตและเจตสิกซึ่งเกิดแล้วดับไปก็เป็นอุปนิสสยปัจจัย คือ เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัยนั่นเอง

    . ฟังๆ ดูแล้ว ๒ ปัจจัยนี้คล้ายๆ กับว่า เหมือนกัน ในเมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว อนันตรปัจจัยเป็นปัจจัยทำให้ภวังคจิตเกิดขึ้น กับปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นดับไปแล้ว อนันตรูปนิสสยปัจจัยก็ทำให้ภวังคจิตเกิดขึ้น ๒ ปัจจัยนี้ทำกิจเหมือนๆ กัน ทำไมต้องแยกเป็น ๒ ปัจจัยด้วย

    สุ. ไม่ต่างกันเลย สำหรับอนันตรปัจจัยกับอนันตรูปนิสสยปัจจัย แต่ความหมาย หรืออรรถ หรือลักษณะที่เป็นปัจจัยต่างกันที่ว่า ถ้ากล่าวถึงอนันตรปัจจัยเท่านั้นหมายความว่า สภาพธรรมซึ่งเป็นนามธรรม คือ จิตและเจตสิกที่เกิดและดับไปทำให้จิตและเจตสิกดวงต่อไปเกิดต่อ นี่ความหมายของอนันตรปัจจัย แต่ถ้ากล่าวโดยสภาพซึ่งเป็นที่อาศัยที่มีกำลัง อนันตรปัจจัยนั่นเองเป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นที่อาศัยที่มีกำลังที่ทำให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น ๒ ความหมาย ใช่ไหม

    โดยลักษณะของอนันตรปัจจัย หมายความถึงการเกิดดับสืบต่อโดยไม่มี ระหว่างคั่น เป็นสภาพธรรมดา การเกิดดับสืบต่อโดยไม่มีระหว่างคั่น นั่นคือลักษณะของอนันตรปัจจัย

    แต่ถ้าเป็นอุปนิสสยปัจจัย สภาพซึ่งเป็นที่อาศัยที่มีกำลัง ถ้าไม่พิจารณาชีวิตของแต่ละบุคคลจริงๆ จะไม่เห็นสภาพซึ่งเป็นที่อาศัยที่มีกำลังของอนันตรปัจจัยว่า เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัย

    ถ้าปฏิสนธิจิตเป็นอกุศลวิบากทำให้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน แล้วแต่จะเป็นสัตว์ประเภทหนึ่งประเภทใด ปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว จะเปลี่ยนให้ภวังค์ของมนุษย์มาเกิดต่อจากปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นอกุศลวิบากไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงเห็นสภาพซึ่งเป็นที่อาศัยที่ มีกำลังของปฏิสนธิจิตว่า เพราะปฏิสนธิจิตซึ่งเกิดและดับไปนั้นเองเป็นที่อาศัยที่มีกำลังทำให้ภวังคจิตประเภทนั้นเกิดขึ้นโดยไม่มีระหว่างคั่น ไม่ว่ากระแสของจิตจะเกิดดับสืบต่ออย่างไร ซึ่งท่านผู้ฟังจะพิจารณาย้อนไปถึงตั้งแต่ปฏิสนธิจิตได้ว่า ทำไมชีวิตของแต่ละคนจึงต่างกันมาก ก็เป็นเพราะอนันตรูปนิสสยปัจจัยซึ่งเป็นที่อาศัยที่มีกำลัง คือ ตั้งแต่ปฏิสนธิจิตเป็นที่อาศัยที่มีกำลังที่จะทำให้วิถีจิตแต่ละวิถีเกิดขึ้นเป็นไป ในวันหนึ่งๆ ในเดือนหนึ่งๆ ในปีหนึ่งๆ จนกระทั่งถึงในชาติหนึ่งๆ ซึ่งแต่ละคนจะไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมสิ่งนี้จึงเกิดกับท่านในวันนั้น หรือในเดือนนั้น หรือในปีนั้น ซึ่งถ้าไม่มีปัจจัยที่เป็นสภาพธรรมที่เป็นที่อาศัยที่มีกำลังเริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิขณะ วิถีจิตต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันก็เกิดไม่ได้

    ในขณะนี้แม้ว่าทุกท่านจะอยู่ที่นี่ เห็นเหมือนกันหรือเปล่า อยู่รวมกันในห้องนี้ก็จริง แต่สิ่งซึ่งปรากฏในห้องนี้ซึ่งท่านกำลังเห็นอาจจะต่างกันก็ได้ บางคนอาจจะมองไปทางซ้าย บางคนอาจจะดูทางขวา บางคนอาจจะหันหลังไป เพราะฉะนั้น แม้แต่ในขณะนี้เอง อนันตรูปนิสสยปัจจัยก็ทำให้แต่ละบุคคลมีวิถีจิตแต่ละทาง แล้วแต่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดกำลังปรากฏ หรือบางท่านอาจจะกำลังคิดนึก บางท่านก็อาจจะฟังและพิจารณาธรรม บางท่านสติปัฏฐานกำลังเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าปฏิสนธิจิตไม่มีอะไรที่ต่างกันเลย ทุกท่านจะไม่ต่างกัน

    สำหรับผู้ที่สะสมอุปนิสัยเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน แม้ในขณะนี้เอง สติปัฏฐานก็ยังสามารถเกิดได้ นี่แสดงถึงสภาพที่เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัย ที่อาศัยที่มีกำลังซึ่งทำให้จิตและเจตสิกเกิดขึ้นตามวิถีต่างๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    . ที่ว่าปฏิสนธิจิตดับไปแล้วเป็นที่อาศัยทำให้ภวังคจิตเกิด เมื่อจิตดับไปแล้ว จะเป็นที่อาศัยของภวังคจิตได้อย่างไร

    สุ. ถ้าปฏิสนธิจิตไม่ดับ ภวังคจิตเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ภวังคจิตเกิดได้โดยอาศัยการดับไปของปฏิสนธิจิต เพราะฉะนั้น การดับไปของปฏิสนธิจิตจึงเป็นที่อาศัยที่มีกำลังของภวังคจิต

    . พูดถึงรูปที่ว่า จักขุปสาทเป็นที่อาศัยของจิตและเจตสิก รูปยังไม่ดับไป จึงไม่สงสัย แต่ว่าเมื่อดับไปแล้วเป็นปัจจัย เป็นที่อาศัย ไม่น่าจะเป็นไปอย่างนั้น

    สุ. สภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นเป็นไปเพราะปัจจัยต่างๆ ในขณะนี้ มีหลายลักษณะ สภาพธรรมบางอย่างดับไปจึงเป็นปัจจัยให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้น หรือ สภาพธรรมอื่นที่จะมีได้ ต้องในขณะที่สภาพธรรมนั้นยังไม่ดับไป

    เป็นเรื่องของสภาพธรรมซึ่งต้องพิจารณาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเข้าใจจริงๆ แต่ให้เห็นความสำคัญของอนันตรปัจจัย ถ้าไม่มีปัจจัยนี้ ก็ไม่มีจิตและเจตสิกในขณะนี้ ที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้าง คิดนึกบ้าง สืบต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงจุติ และเมื่อจุติจิตดับไปแล้ว ยังเป็นอนันตรปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดต่อไม่มีระหว่างคั่น ไม่มีการหยุด ไม่มีใครสามารถทำร้ายหรือทำลายอนันตรปัจจัยของจิตและเจตสิกดวงก่อน นอกจากพระอรหันต์ ซึ่งจุติจิตของ พระอรหันต์ดับเมื่อไร เมื่อนั้นจะไม่เป็นปัจจัยให้จิตและเจตสิกดวงต่อไปขณะต่อไปเกิดขึ้น แต่ตราบใดที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ จิตทุกขณะจะเป็นอนันตรปัจจัยทำให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น และเพราะสภาพที่เป็นอนันตรปัจจัยนั่นเองมีกำลัง จึงเป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัย

    ขอตอบจดหมายของท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง

    ๙๔๓/๘๐ ซอยวัดราชวรินทร์ บุคคโล ตากสิน ๒

    กราบเรียน ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่นับถือ

    หนูได้ติดตามฟังรายการของอาจารย์มานานพอสมควรแล้ว ได้รับความรู้และนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ผลดีพอสมควร ทำให้โทสะลดน้อยลง และขออนุโมทนาในมหากุศลในการเผยแพร่ธรรมครั้งนี้ด้วย แต่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องการละการยึดถือ ไม่ยินดียินร้ายในนามรูป เป็นความรู้สึกในเรื่องเกียรติยศและบริวาร

    ทุกคนในโลกนี้ส่วนมากก็มีความสุขจากกาม กิน เกียรติ และบริวาร โดยเฉพาะเรื่องเกียรติและบริวารนับว่ามีความสำคัญมาก การละความยึดถือ ไม่ยินดียินร้ายจะไม่ทำให้ความสำคัญของเกียรติและบริวารลดน้อยไปหรือ เมื่อเห็นว่า ไม่สำคัญ ก็ไม่แสวงหา เมื่อไม่แสวงหา ก็ย่อมมีเกียรติและบริวารน้อย จะมีความสุขได้อย่างไร ย่อมมีแต่ความเงียบเหงา ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์มีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง และเห็นด้วยกับหนูหรือไม่

    สุ. เป็นเรื่องของปัจจัยที่ได้ศึกษาแล้วหรือเปล่า อารัมมณูปนิสสยปัจจัย เพราะฉะนั้น ต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบจริงๆ จึงจะทราบว่า การถึง พระรัตนตรัย มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะจริงๆ คือถึงอย่างไร

    อารัมมณาธิปติปัจจัย ตามปกติ คือ โลภมูลจิต พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้เห็นโทษของอกุศล และทรงแสดงสภาพธรรมตามความเป็นจริงให้เห็นชัดว่า อกุศลเป็นอกุศล และกุศลเป็นกุศล ทุกท่านยังเป็นผู้ที่ต้องการความสุขจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และสำหรับบริวารก็เป็นสิ่งที่สำคัญซึ่งจะทำให้ท่านมีความสุข จะเป็นลาภ หรือยศ หรือสรรเสริญก็ตาม ถ้าเป็นอย่างนี้ไปทุกภพ ทุกชาติ มัวแต่แสวงหา สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ชื่อว่าเป็นผู้ที่ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะจริงๆ หรือยัง

    การกล่าวตามเป็นเรื่องที่ไม่ยาก แต่ว่าเคยลองพิจารณาจริงๆ หรือไม่ว่า พระผู้มีพระภาคทรงให้ละกิเลส หรือว่าทรงให้มีกิเลสอยู่เรื่อยๆ ไม่รู้จักหมดสิ้น เรื่องของการที่จะมีลาภ มียศ มีสรรเสริญ สุข และบริวาร แม้ผู้ที่ไม่ได้มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ แต่ก็มีลาภ มียศ มีสรรเสริญ สุข และมีบริวารมากมาย ด้วยผลของทานบ้าง ด้วยผลของศีลบ้าง แต่อย่าลืม ทาน ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เพราะฉะนั้น มีอะไรที่ต่างกัน ระหว่างทานและจาคะ

    การให้ทานสามารถที่จะให้ได้ ไม่ว่าจะมีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ หรือว่าไม่มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะก็ตาม ทานก็มีได้ ศีลก็มีได้ เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยได้ แต่ถ้าไม่มีสุตะ คือ การฟังพระธรรมโดยละเอียด ไม่มีการพิจารณาสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมว่า ขณะใดเป็นอกุศล ขณะใดเป็นกุศล จะมีจาคะ การสละกิเลส คือ การสละความเห็นผิด หรือการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ไหม

    เพราะฉะนั้น มหากุศลญาณสัมปยุตต์ก็ยังไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของบุคคลนั้นเลย เพราะไม่ได้มีการแสวงหาธรรมซึ่งจะดับกิเลส ไม่มีการฟังธรรมเพื่อที่จะให้เข้าใจจริงๆ ว่า อกุศลทำให้เกิดทุกข์

    ถ้ายังเป็นผู้ที่ติดหรือพอใจในบริวาร ในเกียรติยศ ต้องเป็นผู้ที่มีความทุกข์แน่นอนเมื่อเสื่อมจากเกียรติยศและบริวาร และสภาพธรรมทั้งหลายก็เป็นอนัตตา แม้ว่าทุกคนจะพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในลาภ ในยศ ในบริวาร แต่การที่บุคคลใดจะมีลาภ ยศ บริวารมากน้อย ย่อมเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย ไม่ใช่ว่าเมื่อทุกคนพอใจอยากจะได้เท่าไร ก็มีเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น จึงแสดงให้เห็นสภาพที่เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัยของวิถีจิตแต่ละวิถีซึ่งเกิดขึ้น แล้วแต่ว่าที่อาศัยที่มีกำลังเริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิจิตนั้นเป็นอย่างไร ก็ย่อมทำให้วิถีจิตของแต่ละบุคคลเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยนั้น

    สำหรับการที่จะติดในทรัพย์สมบัติ หรือว่าลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ขอให้ทราบว่า เป็นเพียงชั่วขณะจิตที่คิดถึงเรื่องนั้นในขณะนั้นเท่านั้น ทุกคนมีการเห็น และมีการคิดนึกถึงเรื่องของสิ่งที่เห็น เรื่องของสิ่งที่ได้ยิน เรื่องของสิ่งที่ได้กลิ่น เรื่องของสิ่งที่ ลิ้มรส เรื่องของสิ่งที่กระทบสัมผัส สลับกันอยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องราวของเหตุการณ์ต่างๆ ทางใจ แต่ให้ทราบว่า ทุกเรื่องจบ พร้อมกับการดับของจิตแต่ละขณะ เรื่องนั้นจะมีต่อไปไม่ได้เลยทันทีที่จิตดับลง เรื่องนั้นก็หมด เพราะจิตเป็นสภาพที่คิดหรือนึกถึงเรื่องนั้น เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจิตจะคิดถึงเรื่องลาภ หรือเรื่องยศ เรื่องสรรเสริญ เรื่องบริวาร ทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นสุข เป็นทุกข์ ก็หมดสิ้นไปพร้อมกับการดับของจิตทุกๆ ขณะ แต่อนันตรปัจจัยซึ่งเป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัยทำให้จิตเกิดต่อ และคิดถึงเรื่องนั้นต่อไปอีกไม่จบสิ้น ทำให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ

    ทุกท่านมีทรัพย์สมบัติซึ่งพร้อมที่จะจากไปพร้อมการดับของจิต ขณะนี้ก็ดับ อยู่เรื่อยๆ และก็จะสูญสิ้นไปเมื่อจุติจิตเกิดและดับไป ซึ่งอาจจะเป็นขณะไหนก็ได้ทั้งสิ้น ขณะที่กำลังเห็น วิถีจิตทางตาดับแล้ว จุติจิตเกิดต่อได้ทันที กำลังได้ยินอย่างนี้ วิถีจิตทางโสตทวารดับแล้ว จุติจิตเกิดต่อได้ทันทีเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เรื่องทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลาภ เรื่องยศ เรื่องทรัพย์สมบัติทั้งหมด ย่อมหมดสิ้นไปพร้อมการดับของจิตแต่ละขณะ

    เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้เห็นความจริงว่า ถ้ายังเป็นผู้ที่ติดอยู่ ต้องการอยู่ ปรารถนาอยู่ในเรื่องของลาภ สักการะ เกียรติยศ บริวารต่างๆ ลองพิจารณาว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงหนทางให้ละ ให้ดับกิเลส ไม่ใช่ให้ติด หรือว่าให้พอกพูน เพิ่มกิเลส



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๒ ตอนที่ ๑๑๑๑ – ๑๑๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 85
    28 ธ.ค. 2564