แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1115


    ครั้งที่ ๑๑๑๕


    สาระสำคัญ

    การสะสมของจิตเป็นอาเสวนปัจจัย

    อาศัยพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้

    เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    หนทางที่จะละความเห็นผิด

    สติเป็นอนัตตา (ไม่ใช่เป็นผู้ไปทำสติ)


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๒๕


    สุ. ท่านที่เคยปฏิบัติผิดมาแล้ว จะทราบได้ว่า เคยปฏิบัติผิดอย่างไรก็ มักจะเกิดปรากฏซ้ำอีก แม้จะมีความเข้าใจในข้อปฏิบัติที่ถูกต้องแล้วก็ตาม เพราะฉะนั้น การสะสมของจิต ซึ่งต่อไปจะทราบว่าเป็นอาเสวนปัจจัย จนกระทั่งเป็น ปกตูปนิสสยปัจจัย จะต้องอาศัยการอบรมเจริญใหม่จริงๆ อีก แต่ก็มีทางที่จะแก้ได้ ไม่ใช่แก้ไม่ได้ คนที่เคยเห็นผิด อาศัยการฟังและพิจารณา ย่อมเกิดความเห็นถูกได้ แต่ถ้าไม่ฟัง และไม่พิจารณา ก็หมดทางที่จะเห็นถูกได้ ย่อมยึดถือความเห็นผิดว่า เป็นความเห็นถูกอยู่เรื่อยๆ และเมื่อมีการสะสมความเห็นผิดจนกระทั่งเป็นปกติ เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ย่อมทำให้ความเห็นผิดนั้นมีปัจจัยที่จะเกิดต่อไปอีก และอาจจะเห็นผิดมากขึ้นอีกด้วย

    ความเห็นถูกก็โดยนัยเดียวกัน เพราะฉะนั้น ถ้าสะสมปัจจัยที่จะให้เกิดความเห็นถูกขั้นฟัง และอบรมเจริญไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย ในที่สุดความเห็นผิดก่อนๆ ย่อมหมดไปได้ แต่เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมเจริญจริงๆ ฟังง่าย แต่การที่จะดับปัจจัยต่างๆ ที่เคยสะสมมาให้หมดสิ้นเป็นสิ่งที่ยาก ถ้ามหากุศลญาณสัมปยุตต์ไม่เกิด ไม่เพิ่มขึ้น ไม่เป็นกำลัง ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย ไม่เป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย ก็ไม่มีทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    ท่านผู้ฟังคงจะไม่ทราบว่า ที่ท่านกำลังฟังธรรมในขณะนี้ เพราะเป็น อารัมมณาธิปติปัจจัย และเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัยของจิตที่กำลังฟัง เริ่มจากความสนใจในพระธรรม เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย แม้ในขณะที่กำลังฟัง กำลังเป็นอารมณ์ของจิตในขณะนี้ เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย และเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย เป็นที่อาศัยที่มีกำลังของจิตที่กำลังฟัง ตามเหตุตามปัจจัยทั้งสิ้น ท่านอาจจะมีธุระ มีกิจจำเป็น แต่แม้กระนั้นการฟังธรรมก็ยังเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย ซึ่งเมื่อจิตเกิดขึ้นฟังขณะใด ขณะนั้นเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย วิถีจิตก็เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัย เพราะเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ซึ่งสามารถที่จะรู้ได้ เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาก็ต้องเป็นไปในลักษณะที่แล้วแต่เหตุปัจจัยจริงๆ จนกว่าปัจจัยที่จะให้รู้แจ้ง อริยสัจธรรมพร้อมสมบูรณ์เมื่อไร ในขณะกำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึก หลังจากนั้นก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรม ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานเป็นพระอริยบุคคลได้

    เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยการสะสมอบรมเจริญไปทีละเล็กทีละน้อย แต่ลองคิดว่า ถ้าไม่ฟังเลยจะเป็นอย่างไร จะยังคงมีความเห็นผิดอยู่ และไม่มีหนทางที่จะละความเห็นผิด ถ้าไม่อาศัยพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้แล้วโดยละเอียด

    แต่ละท่านที่ได้ฟังธรรมและเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ทราบได้ว่า ท่านถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะจริงๆ แม้ว่าจะยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่เพราะเหตุใดจึงฟังธรรม เพราะเหตุใดจึงพิจารณาธรรมโดยละเอียด เพราะเหตุใดจึงอบรมเจริญ สติปัฏฐาน แม้ว่าจะเพียงเล็กน้อยในภพหนึ่ง ในชาติหนึ่ง ในวันหนึ่ง ในเดือนหนึ่ง ก็ยังเป็นการอบรมการประพฤติปฏิบัติในทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมโดยถูกต้อง

    . การหาสถานที่ปฏิบัติ การเจริญสติปัฏฐานนี้ ถ้าไปเจริญในสถานที่ไม่สมควร มันหลงง่าย

    สุ. ขอประทานโทษ ที่ไหนเป็นที่ที่ไม่สมควร

    . อย่างที่ที่มีคนพลุกพล่านมาก เพราะว่าสติยังอ่อน ถ้าอยู่ในที่แออัด หรือในรถเมล์ เจริญได้ ผมไม่เถียง แต่หลงมาก

    สุ. เวลาอยู่คนเดียว หลงมากไหม

    . ถ้าหากสติไม่เกิด ก็หลง

    สุ. มากไหม

    . มาก

    สุ. เท่าๆ กันไหม

    . ถ้าไม่มีสติ ก็เท่าๆ กัน

    สุ. ถ้ากำลังเลือกสถานที่ ในขณะที่กำลังเลือก จะเสียเวลาที่สติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติไหม

    . เสีย ตอนไปนี้เสียแน่ แต่ถึงที่ปฏิบัติ เช่น ตามโบสถ์ที่สงัดสงบ เหตุที่จะมาชวนให้เราหลงลืมไปทางตา ทางหู ก็น้อย เช่น เราเดินจงกรม เรากำหนดที่รูปที่กระทบเรื่อยๆ ที่กระทบเท้า

    สุ. ขอประทานโทษ การไปเป็นปกติของท่านผู้ฟังหรือเปล่า

    . เป็นปกติ

    สุ. เป็นปกติเหมือนอย่างมาฟังธรรมที่นี่ไหม

    . เหมือน

    สุ. เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีอะไรที่ต่างกัน

    . แต่เหตุที่สติจะเกิดน้อย

    สุ. คงไม่ลืม ในมหาสติปัฏฐานสูตรมีข้อความที่กล่าวไว้ทุกบรรพว่า เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ถ้าทิ้งคำว่า ปกติ ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะสภาพความเป็นอนัตตาของธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น การที่จะเป็นผู้ที่รู้จริง อย่าลืม รู้จริง คือ รู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยตามปกติตามความเป็นจริง ไม่ว่าท่านผู้ฟังจะไปที่ไหน เป็นปกติตามความเป็นจริงของท่านผู้ฟังไหม ถ้ามีงานศพที่จะต้องไปวัด เป็นปกติตามความเป็นจริงหรือเปล่า

    . เป็น

    สุ. ถ้าเป็นปกติตามความเป็นจริง สติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมในขณะนั้น เพราะว่าเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน อย่าลืมคำว่า เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ถ้ามีความต้องการเข้ามาแทรก ละความเป็นปกติ ไม่สามารถที่จะเห็นว่า ขณะนี้เองไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเลย

    เพราะฉะนั้น มุ่งหน้าที่จะไปรู้บางนาม บางรูป บางแห่ง ซึ่งปัญญาไม่สามารถจะเจริญจนกระทั่งสามารถเห็นว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา อย่าลืม ธรรมทั้งหลาย และจะเลือกได้อย่างไร

    . ที่ผมพูดนี่ไม่ใช่เลือก ตามทางที่ผมนั่งรถมา ผมก็พยายามระลึกเหมือนกัน แต่สติเกิดน้อย หลงลืมเรื่อย

    สุ. เวลาที่ฟังธรรม ต้องฟังด้วยดีและพิจารณาด้วยดี พยัญชนะอาจจะกล่าวว่า เจริญสติ แต่ความเป็นจริงต้องเข้าใจว่า แท้ที่จริงแล้ว สติเจริญ ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้ที่ทำการเจริญสติ เพราะถ้าสติเจตสิกไม่เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เจตสิกอื่นไม่สามารถที่จะกระทำกิจของสติเจตสิกได้ เพราะฉะนั้น แม้พยัญชนะจะกล่าวว่า เป็นผู้มีปกติเจริญสติ แต่โดยความหมายที่ว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา จึงต้องเข้าใจด้วยว่า แท้ที่จริงแล้ว สติเจริญ ไม่ใช่มีผู้หนึ่งผู้ใดเจริญสติ

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้มีปกติตามธรรมดา และสติเกิดระลึกได้ จะเห็นว่า สติเป็นอนัตตา ไม่ใช่เป็นผู้ไปทำสติ

    ถ. ใช่

    สุ. ต้องการรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติในขณะนี้ไหม

    . ก็ต้องการรู้

    สุ. ทางที่จะรู้มีไหม

    . มี

    สุ. ทำอย่างไร

    . อย่างขณะนี้ก็กำหนดทางหู

    สุ. ใครกำหนด

    . ก็สติ

    สุ. ถ้าสติเกิดในขณะนี้ ก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จึงชื่อว่า ตามปกติตามความเป็นจริง อย่าลืมคำว่า ตามปกติ กับตามความเป็นจริง อย่าไปทำให้ผิดปกติ หรือผิดความเป็นจริง

    โลภมูลจิตเกิด ควรรู้ไหม โทสมูลจิตเกิด ควรระลึกรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลไหม ถ้าไม่เลือก สติปัฏฐานจะระลึกรู้ตามปกติได้มากขึ้น และเป็นปกติ จริงๆ ข้อสำคัญที่สุด คือ เป็นปกติ และรู้ความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่เกิดตามปกติด้วย

    เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่จะประพฤติปฏิบัติอบรมเจริญภาวนา จึงมีจริต ๒ จริต คือ ตัณหาจริต และทิฏฐิจริต

    ผู้ที่ต้องการให้สติเกิดมากๆ จริตไหน แค่นี้ไม่พอ น้อยเกินไป จะต้องอย่างนั้น จะต้องอย่างนี้ จะต้องเลือกที่นั่น จะต้องเลือกที่นี่ จริตไหน

    โลภะไม่เคยทิ้งไปเลย อารมณ์ทุกอย่างที่เป็นโลกียะ เป็นอารมณ์ของโลภะได้ เฉพาะนิพพานและโลกุตตรจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกัน คือ โลกุตตรธรรม เท่านั้น ซึ่งไม่เป็นอารมณ์ของโลภะ

    ถ้าไม่ศึกษาจริงๆ จะมีหนทางที่จะระลึกรู้ลักษณะของโลภะในขณะนั้นไหม

    บางท่านกล่าวว่า เวลาที่ได้ยินเสียง และสติเกิด รู้สึกสงบ

    โลภะหายไปหรือเปล่า หรือว่ายังอยู่แต่ไม่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นความพอใจ แม้เพียงเล็กน้อย ขอให้คิดดูว่า การที่จะดับกิเลส ปัญญาต้องอบรมเจริญจริงๆ ต้องรู้ลักษณะของโลภะแม้ว่าจะแอบแฝงอยู่ในขณะหนึ่งขณะใดก็ตาม

    ถ้าเห็นว่า ขณะที่กำลังรู้เสียง สงบ ลองพิจารณาสักเล็กน้อยว่า พอใจไหมที่สงบในขณะที่เสียงปรากฏ ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ ต้องละ เพราะเป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดดับ ถ้าเกิดความสงบขึ้น ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่ก่อนที่ปัญญาจะคมกล้าถึงขั้นที่จะดับหรือละ จะเห็นได้ว่า จะมีสภาพธรรมที่พอใจ หรือติด แม้ในอารมณ์ที่กำลังปรากฏได้

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาจึงต้องเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ต้องพิจารณาจริงๆ ถ้าเผลอ สงบเป็นอย่างไร ดีใจไหม พอใจไหม ยังไม่ทั่วไป ยังไม่เหมือนกับสภาพธรรมทั้งหมดที่ไม่ใช่เราเลย เพราะสำหรับบางท่าน อกุศลไม่ชอบ ไม่ใช่เรา แต่พอมาถึงกุศล เป็นเราจริงๆ พอใจจริงๆ ยึดถือจริงๆ เพราะฉะนั้น ก็ยังไม่ใช่ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะกุศลยังเป็นเราอยู่ หรือความสงบยังเป็นเราอยู่

    มีความต้องการอะไรบ้างไหมเวลานี้ พ้นไปได้ไหม ต้องการสติ ต้องการปัญญา จนกว่าจะละได้จริงๆ ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมซึ่งเกิดดับ เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นโลภะเกิดขึ้นและดับไป โทสะเกิดขึ้นและดับไป สติเกิดขึ้นและดับไป ปัญญา เกิดขึ้นและดับไป

    เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ เมื่อเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้วว่า ท่านเป็นตัณหาจริต หรือว่าทิฏฐิจริต แต่อย่าลืม ทิฏฐิไม่เกิดกับจิตอื่นนอกจากโลภมูลจิต เพียงแต่ว่าขณะใดลักษณะของสภาพความต้องการจะเกิดขึ้นเป็นไป หรือว่าขณะใดความเห็นผิด ความเข้าใจผิดในการปฏิบัติหรือในลักษณะของสภาพธรรม จะเกิดขึ้น

    . ถ้าไม่เลือก เพราะเหตุใดในสมัยพระพุทธเจ้า ต้องไปเทศน์ในป่าช้าที่มีคนตายอืดขึ้นพอง เชิญให้คนที่หลงสวยหลงงามไปที่ป่าช้า เทศน์ประกอบนิมิตไปด้วย สุ. ในขณะนั้นเห็นอะไร สภาพธรรมใดกำลังปรากฏเป็นอารมณ์ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเพื่อที่จะให้พิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนั้น สำหรับอสุภกัมมัฏฐานที่เป็นสติปัฏฐาน เป็นเพียงให้เห็นโทษ เพื่อให้เกิดการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงเท่านั้น ไม่ใช่หมายความว่า ผู้นั้นจะต้องอบรมเจริญอสุภภาวนาจนกระทั่งฌานจิตเกิด

    เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่อัธยาศัยในขณะนั้น สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ แล้วแต่ว่าปัญญาของใครอบรมมา เมื่อได้ ฟังแล้ว สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตาซึ่งเกิดดับ

    สิ่งที่ปรากฏเป็นอสุภะ ที่เป็นซากศพ ที่กำลังปรากฏเป็นอารมณ์ ในขณะนั้นเกิดดับไหม

    . ถ้ายังเป็นปุถุชนอยู่ ก็ยังไม่เห็น แต่กิเลสก็หดหู่อยู่แล้ว เห็นคนตาย สังเกตดูคนจะเศร้าโศกเสียใจ จะให้อะไรก็ไม่เอา บางทีจะเป็นลมเมื่อเป็นญาติพี่น้อง

    สุ. คนตายกับคนเป็น วันหนึ่งๆ เห็นคนตายมาก หรือเห็นคนเป็นมาก

    . เห็นคนเป็นมาก

    สุ. เห็นคนเป็นมาก และคนเป็นๆ ที่กำลังเห็นนี้เกิดดับไหม

    . เวลามีสติก็เกิดดับ แต่ถ้าไม่มีสติ ก็ปุถุชนธรรมดา

    สุ. เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเห็นอสุภะซึ่งเป็นซากศพ หรือไม่เห็นอสุภะก็ตาม สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เกิดดับ เพียงแต่ว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นเป็นสิ่งใด พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงธรรมเนื่องกับสิ่งนั้น เพื่อที่จะให้ปัญญารู้ลักษณะของ สภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ท่านผู้ฟังได้ยินคำว่า ทุกข์ บ่อยๆ เป็นอริยสัจธรรมที่ ๑ ทุกขอริยสัจ หมายความถึงอะไร

    . ทุกขอริยสัจ คือ ของจริง ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์

    สุ. การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมเป็นทุกขอริยสัจ ไม่ใช่หมายความว่า ท่านผู้ฟังต้องเป็นทุกข์ ถูกไหม

    . ถูก

    สุ. เพราะว่ามหากุศลจิตไม่ได้ประกอบด้วยโทมนัสเวทนา มหากุศลจิตประกอบด้วยอุเบกขาเวทนาหรือโสมนัสเวทนา เพราะฉะนั้น ไม่ต้องเป็นทุกข์ ไม่ต้องมีการเจ็บป่วย จึงจะกล่าวว่า เห็นทุกข์

    . เพราะอะไรพระผู้มีพระภาคจึงพาคนไปดูศพที่ขึ้นอืดที่ป่าช้า

    สุ. เหมาะกับจริตอัธยาศัยของใคร มีพระอรหันต์กี่รูปซึ่งต้องไปที่ป่าช้า และมีพระอรหันต์จำนวนเท่าไรที่ไม่ต้องไปป่าช้า ที่ท่านผู้ฟังจะอ้างว่า ต้องไปที่นั่น ต้องทำอย่างนั้น ซึ่งพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ที่ทรงรู้แจ้งอัธยาศัยของสัตว์โลกว่า สำหรับแต่ละบุคคลนั้น ธรรมที่เหมาะที่จะทำให้บุคคลนั้นเกิดระลึกได้ รู้ลักษณะของ สภาพธรรมตามความเป็นจริงคืออะไร

    มีภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง อาจารย์ของท่านให้ท่านตรึกนึกถึงอสุภกัมมัฏฐาน แต่ปรากฏว่า ท่านไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเลย แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงเนรมิตดอกบัวทองให้ เพราะในชาติก่อนท่านเคยเป็นช่างทอง ท่านก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม และจะทำอย่างไร จะเกณฑ์ทุกคนไปป่าช้า ก็ไม่ใช่จริตอัธยาศัยของบุคคลนั้น

    . ไม่ใช่อย่างนั้น ขอประทานโทษ ผมติดตามอาจารย์ทางวิทยุแทบทุกวัน

    สุ. ขออนุโมทนา แต่ท่านผู้ฟังต้องพิจารณาด้วยว่า สภาพธรรมที่จะประจักษ์แจ้ง ต้องเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติ ปัญญาจึงจะเจริญขึ้น

    คำว่า ทุกข์ น่าสนใจไหม

    เพราะว่าบางท่านอาจจะหมายถึงทุกข์กาย หรือทุกข์ใจ แต่ตามความเป็นจริงทุกข์ ตรงกันข้ามกับสุข เพราะว่าผู้นั้นเกิดปัญญา ไม่เห็นความน่าพอใจในสภาพธรรมที่ปรากฏ ตรงกันข้ามกับสุข ถ้าสุข คือ เห็นสภาพที่ยังน่าพอใจอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ขณะใดที่สุขเกิดขึ้น หมายความว่ายังเห็นสภาพที่น่าพอใจของสิ่งที่ปรากฏ

    แต่สำหรับความหมายของทุกข์ คือ ปัญญาเกิดขึ้นรู้ชัดว่า สิ่งที่ปรากฏนั้น ไม่ใช่สภาพที่ควรจะติด หรือควรจะยินดีต่อไป เพราะฉะนั้น จึงเป็นการประจักษ์ลักษณะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๒ ตอนที่ ๑๑๑๑ – ๑๑๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 85
    28 ธ.ค. 2564