แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1116


    ครั้งที่ ๑๑๑๖


    สาระสำคัญ

    ชื่อว่าเห็นทุกข์

    อุปนิสสยปัจจัย (เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง)

    การคบหาสมาคมโดยธาตุ

    ปัจจัยที่ทรงแสดงเพื่อให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา

    ผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน

    ปกตูปนิสสยปัจจัย (ธรรมซึ่งเป็นที่อาศัยที่มีกำลังแรงกล้าที่ได้ทำมาแล้วด้วยดี)


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕


    สุ. ทางตาในขณะนี้ สีสันวัณณะต่างๆ รูปร่างสัณฐานต่างๆ ที่สวย เห็นแล้วเป็นอย่างไร

    ถ. ชอบใจ

    สุ. เป็นสุข เพราะฉะนั้น จึงยังเห็นสิ่งนั้นว่าเป็นสาระ หรือว่าน่าติด น่าพอใจ น่าเพลิดเพลิน น่ายินดี แต่ถ้าอบรมเจริญปัญญารู้ว่า สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นของจริงชนิดหนึ่งซึ่งปรากฏได้เฉพาะทางตาและดับไป ถ้าประจักษ์อย่างนี้จริงๆ ทุกข์ขณะนั้น คือ ไม่เห็นความเป็นสุข หรือความเป็นสิ่งที่น่าเพลิดเพลินยินดี จึงชื่อว่าเห็นทุกข์ แต่ไม่ใช่ว่าต้องไปปวดเจ็บ หรือไปทรมาน แต่เป็นปัญญาซึ่งสามารถเห็นลักษณะที่ไม่เป็นที่ยินดี เมื่อไม่เป็นที่ยินดีจึงเป็นทุกข์ แต่ถ้ายังเป็นที่ยินดีอยู่ ก็เป็นสุข

    เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจอรรถ หรือความหมายของแต่ละพยัญชนะด้วย เพราะเวลาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ที่จะมีนิพพานเป็นอารมณ์ ก็แล้วแต่ว่าบุคคลนั้นจะน้อมรู้ลักษณะที่เป็นอนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตา ซึ่งในขณะนั้นไม่ใช่เห็นทุกข์ ปวดเจ็บ หรืออะไรเลย หรือว่าจะต้องเป็นทุกข์ แต่เพราะประจักษ์สภาพที่ไม่เที่ยง และเห็นว่าเป็นสภาพซึ่งไม่ควรยินดี ไม่น่ายินดี ไม่น่าเพลิดเพลิน ไม่น่าพอใจ จึงชื่อว่า เห็นในทุกขลักษณะ ซึ่งหมายความถึงการเกิดดับและสภาพที่เป็นอนัตตาของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นนั่นเอง

    ถ. อุปนิสัย ในภาษาไทยหมายความถึงการกระทำทุกอย่างที่สั่งสมมานานจนเป็นอุปนิสัย แต่ในปัจจัย ๒๔ อุปนิสสยปัจจัย ทำไมจึงแปลว่า เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง ซึ่งไม่เหมือนกับที่เราเข้าใจ

    สุ. โลภะเกิดขึ้นขณะหนึ่ง หรือว่าโดยชวนะก็เกิดดับสืบต่อกัน ๗ ครั้ง ดับไปแล้ว อย่าคิดว่าไม่มีกำลัง ชวนจิตเกิดดับสืบต่อซ้ำกัน ๗ ขณะ มากกว่า จักขุวิญญาณ หรือสัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต แต่เพราะการเกิดดับของจิตเป็นไปอย่างรวดเร็วเหลือเกิน เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ชวนจิตเกิดดับไป ๗ ขณะ กี่ครั้ง กี่วาระแล้ว ในขณะที่กำลังฟังธรรม หรือว่าในขณะที่เป็นโลภชวนะ หรือโทสชวนะก็ตาม แม้ว่าจะเกิดดับสืบต่อซ้ำกัน ๗ ขณะ แสนเร็ว และดับไปแล้วก็จริง แต่อย่าคิดว่าไม่มีกำลัง เพราะว่าสะสมสืบต่อในจิตซึ่งเกิดดับ ต่อๆ มาทุกดวง จึงเป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัยที่จะทำให้ลักษณะของโลภะเช่นนั้นๆ เกิดขึ้นอีก หรือว่าโทสะ โมหะ หรือว่ามหากุศลที่เป็นไปในทานบ้าง ในศีลบ้าง เช่นนั้นๆ เกิดขึ้นอีก เพราะการสะสมสืบต่อของจิตที่เกิดดับทุกดวงนั้นเอง

    เพราะฉะนั้น จึงเป็นผู้ที่ไม่ประมาท ทำไมโลภะจึงมีมาก เพราะเคยเกิดมาแล้ว ๗ ขณะๆ ทุกวาระไป บ่อยๆ เนืองๆ สะสมสืบต่อโดยอนันตรปัจจัย และมีกำลังเมื่อเป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัย ไม่รู้เลยใช่ไหมว่าจะมีกำลังถึงอย่างนี้ แต่ผลปรากฏ คือ ชีวิตแต่ละคนมีอุปนิสัยต่างๆ กัน ตามอนันตรปัจจัยและอนันตรูปนิสสยปัจจัยที่ได้สะสมมา จนกระทั่งเป็นปกติ เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย

    แต่ละท่านรู้จักตัวเองพอสมควรว่า มีฉันทะ หรือว่าอุปนิสัยในทางใด แต่ไม่ทราบว่านั่นเป็นอนัตตา เพราะว่าสะสมสืบต่อมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเป็นอุปนิสัย เป็นปกติ ที่มีกำลัง ถ้าคิดจะให้ทานเกิดขึ้น ไม่น่าสงสัยเลยว่า ทำไมจึงคิดอย่างนี้ ถ้าไม่เคยสะสมเป็นอุปนิสัยจนเป็นปกติย่อมจะไม่คิดอย่างนี้ เพราะว่าคนอื่นคิดในทางที่เบียดเบียนแทนการสละให้ หรือว่าท่านที่สามารถจะรักษาศีลได้ วิรัติทุจริตทางกาย ทางวาจา ถ้าทราบเรื่องของปกตูปนิสสยปัจจัยจะไม่สงสัยเลยว่า ทำไมจึงเป็นอย่างนั้นได้ เพราะว่าเคยเกิดและสะสมเป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัยจนกระทั่งเป็นปกติ จึงเป็น ปกตูปนิสสยปัจจัยของแต่ละบุคคล

    นอกจากเรื่องของอกุศลซึ่งเป็นไปต่างๆ ตามฉันทะ โลภะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ หรือว่ากุศลซึ่งเป็นไปต่างๆ ในทาน ในศีล ในสมถะ ความสงบของจิต หรือว่าในการอบรมเจริญปัญญา อุตุ ความเย็น ความร้อน หรือว่าโภชนะ อาหาร หรือว่าเสนาสนะ ที่อยู่ หรือว่าบุคคล ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิด ก็ยังเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย คือ เป็นปัจจัยที่สะสมมาจนเป็นปกติที่สามารถจะให้ สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น

    อากาศเย็นๆ บางคนก็ชอบ บางคนก็ไม่ชอบ บางคนก็สบาย บางคนก็ไม่สบาย เพราะอะไร ทำไมไม่เหมือนกัน ถ้าไม่เคยสะสมความพอใจ หรือว่าการเป็น สัปปายะ ที่สบาย ที่เหมาะที่ควรสำหรับบุคคลนั้น สภาพธรรมนั้นๆ จะไม่เป็น ปกตูปนิสสยปัจจัย คือ ไม่เป็นสภาพธรรมที่เป็นปกติที่มีกำลังสำหรับบุคลนั้นได้

    หรือแม้แต่บุคคล ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก การที่จะพอใจในกาย ในวาจา ในอัธยาศัยของบุคคลใด จะมีการคบหาสมาคมโดยธาตุ เช่น ผู้ที่มีความเห็นเช่นเดียวกับท่านพระเทวทัต ก็คบหาสมาคมกับท่านพระเทวทัต ผู้ที่มีฉันทะในการอบรมพอใจในปัญญา ก็คบหาสมาคมตามอัธยาศัย อัชฌาสัย หรือธาตุที่สะสมมา โดยสภาพของปกตูปนิสสยปัจจัย

    แต่ว่าปกตูปนิสสยปัจจัยก็เป็นปัจจัยที่กว้างขวาง เพราะว่ากุศลทั้งหมดที่เคยกระทำมา ประพฤติมา สะสมมา มีปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้นเป็นไปในลักษณะนั้นๆ อีก หรือว่าอกุศลที่เคยสะสมมาก็มีกำลังที่จะทำให้เกิดอกุศลกรรมนั้นๆ อีกในชาติหลังๆ หรือว่าในชาติต่อๆ ไป เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการสะสม แม้ในปัจจุบันชาติ เพื่อที่จะให้อนาคตข้างหน้าเป็นไปตามอนันตรูปนิสสยปัจจัยและปกตูปนิสสยปัจจัยสำหรับในอนาคต ไม่ว่าท่านต้องการจะเป็นบุคคลที่มีอัธยาศัยอย่างไร ก็จะต้องอาศัยอุปนิสสยปัจจัยสะสมต่อไป

    สำหรับประโยชน์ของการเข้าใจเรื่องอนันตรูปนิสสยปัจจัยและปัจจัยอื่นๆ ทั้งหมด ก็เพื่อที่จะไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดในสภาพธรรม และการปฏิบัติ คือ การอบรมเจริญปัญญา ถ้าเข้าใจผิดในเรื่องการปฏิบัติอบรมเจริญปัญญา ไม่สามารถจะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ เช่น ถ้าคิดว่า ปัญญาไม่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงในขณะนี้ ก็ไม่สามารถดับกิเลสได้ และจะไม่เข้าใจด้วยว่า ปัจจัยทั้งหลายที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วนั้น เพื่อที่จะให้รู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่เป็นอนัตตาจริงๆ

    แม้แต่อนันตรูปนิสสยปัจจัย ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จะไม่ทราบเลยว่าอนันตรูปนิสสยปัจจัยคืออะไร แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในขณะนี้จริงๆ จะเห็นได้ว่า ทั้งๆ ที่เห็น ไม่นานเลย เพราะว่า อนันตรูปนิสสยปัจจัยทำให้เกิดการได้ยินขึ้น และทั้งๆ ที่กำลังได้ยินนี้เอง ก็ไม่นานเลย เพราะว่าอนันตรูปนิสสยปัจจัยทำให้เกิดการคิดนึกเรื่องต่างๆ ขึ้น

    เพราะฉะนั้น ชีวิตปกติตามความเป็นจริงของแต่ละคน สติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางทวารต่างๆ ซึ่งตามปกติมักจะหลงลืม ในขณะที่หลงลืมแม้ว่าสภาพธรรมจะปรากฏทางตาชั่วขณะเล็กน้อย ปรากฏทางหูชั่วขณะเล็กน้อย ปรากฏทางใจ คิดนึกแต่ละคำเพียงชั่วขณะเล็กน้อย ก็ไม่เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะปัจจัยต่างๆ ถ้าปราศจากปัจจัยต่างๆ แล้ว สภาพธรรมแต่ละอย่างจะปรากฏไม่ได้เลย แต่เมื่อเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานเมื่อไร จะเริ่มรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ทีละเล็กทีละน้อย จนสามารถที่จะเข้าใจถึงสภาพที่เป็นอนัตตา แม้แต่เรื่องของ อนันตรูปนิสสยปัจจัยและปัจจัยทั้งหลายที่ได้ฟัง ที่ได้ศึกษามาแล้ว จะเห็นได้ว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างนั้นเป็นอนัตตาจริงๆ ถ้าปราศจากปัจจัยแม้เพียงปัจจัยหนึ่งปัจจัยใดที่จะเป็นเหตุให้สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้น สภาพธรรมนั้นก็เกิดขึ้นไม่ได้

    เช่น อนันตรูปนิสสยปัจจัย ถ้าขาดปัจจัยนี้ การได้ยินจะเกิดไม่ได้ การคิดนึกก็จะเกิดไม่ได้ การเห็น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสต่างๆ ซึ่งเป็นปกติ ในชีวิตประจำวัน ก็ย่อมจะเกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้น การศึกษาทั้งหมด เพื่อที่จะเกื้อกูลให้สติระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามปกติตามความเป็นจริง

    ท่านผู้ฟังเคยนอนไม่หลับไหม บางท่านรู้สึกเป็นห่วงมากกับการนอนไม่หลับ แต่เพราะเหตุใดจึงนอนไม่หลับ ถ้าไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย การนอนไม่หลับจะเกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ว่าอยากจะหลับแต่ก็ไม่เหลับก็เป็นเพราะเหตุปัจจัย หรือว่าไม่อยากจะหลับแต่ก็หลับ เช่น ในขณะที่ฟังธรรม บางท่านก็อาจเผลอหลับไป ทั้งๆ ที่ไม่อยากจะหลับเลย แต่ถ้าปราศจากเหตุปัจจัย การหลับในขณะนั้นก็เกิดไม่ได้ แสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมทั้งหลายย่อมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา

    สำหรับอุปนิสสยปัจจัย ประเภทที่ ๓ คือ ปกตูปนิสสยปัจจัย ซึ่งหมายถึงธรรมซึ่งเป็นที่อาศัยที่มีกำลังแรงกล้าที่ได้ทำมาแล้วด้วยดีนั้น ชื่อว่าปกตูปนิสสยปัจจัย

    นี่คือความหมายหนึ่ง

    อีกความหมายหนึ่ง คือ ธรรมซึ่งเป็นที่อาศัยที่มีกำลังกล้าด้วยอำนาจสภาวะของตนเอง ไม่เกี่ยวข้องด้วยอารัมมณูปนิสสยปัจจัยและอนันตรูปนิสสยปัจจัย ชื่อว่าปกตูปนิสสยปัจจัย

    และอีกความหมายหนึ่ง อาจารย์บางท่านให้ความหมายของปกตูปนิสสยปัจจัยว่า ธรรมที่เป็นปกติ เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง เช่น แสงสว่างเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยแก่ การเห็น

    โดยแยกศัพท์ไว้ดังนี้ คือ ปกตูปนิสสย มาจากคำว่า ปกติ + อุปนิสสย

    จะเห็นได้ว่า สำหรับปกตูปนิสสยปัจจัยเป็นปัจจัยที่กว้างขวางมาก เพราะว่าธรรมใดๆ ก็ตามซึ่งเป็นที่อาศัยที่มีกำลังให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้น โดยไม่เกี่ยวกับอารัมมณูปนิสสยปัจจัยและอนันตรูปนิสสยปัจจัย เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ซึ่งได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ และบัญญัติด้วย เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย คือ เป็นที่อาศัยที่มีกำลังที่จะทำให้จิต ๘๙ และเจตสิก ๕๒ เกิดขึ้นในปัจจุบันกาล หรือที่จะเกิดหลังๆ คือ ที่จะเกิดต่อไป

    ในขณะนี้ก็เป็นจิตประเภทหนึ่งประเภทใดในจิต ๘๙ เพราะฉะนั้น ย่อมจะเป็นปัจจยุปบันธรรม เป็นผลซึ่งเกิดเพราะจิตและเจตสิกก่อนๆ ที่ได้เกิดแล้วในอดีต หรือขณะนี้เอง จิตประเภทหนึ่งประเภทใดที่เกิดแล้วในขณะนี้ ก็จะเป็นอุปนิสสยะ คือ เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยที่จะให้จิตต่อๆ ไปเกิดขึ้นข้างหน้า ซึ่งท่านผู้ฟังจะเข้าใจลักษณะของปกตูปนิสสยปัจจัยโดยการระลึกรู้ลักษณะของจิตที่เกิดขึ้นปรากฏในขณะนี้ว่า การที่จิตในขณะนี้เป็นกุศลหรือว่าเป็นอกุศลอย่างนี้ๆ ก็เป็นเพราะปกตูปนิสสยปัจจัย คือ เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะมีปกตูปนิสสยปัจจัยอันเป็นที่อาศัยที่มีกำลังแรงกล้า ที่ได้กระทำมาแล้วด้วยดี

    ถ้าไม่ระลึกถึงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในปัจจุบัน ไม่มีทางที่จะเข้าใจปัจจัยทั้งหลายได้ แม้ปกตูปนิสสยปัจจัย

    จิตของแต่ละคน คนอื่นยากที่จะรู้ได้ แต่ว่าจิตใดเกิดกับผู้ใด ผู้นั้นมีโอกาสที่จะพิจารณารู้ในลักษณะของจิตนั้นๆ เพราะว่าจิตเป็นสภาพที่เกิดดับอย่างรวดเร็ว และถ้าไม่มีอาการที่ปรากฏภายนอก ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง คนอื่นย่อมไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของจิตของผู้อื่น แต่สติของบุคคลนั้นเองสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตที่กำลังเกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้น เช่น โลภมูลจิตบ้าง โทสมูลจิตบ้าง โมหมูลจิตบ้าง

    เคยคิดสงสัยไหมว่า ทำไมจิตอย่างนี้จึงเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนี้ในขณะนี้ได้ ท่านที่ได้ฟังเรื่องของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป ได้เข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน เป็นการอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่วันหนึ่งๆ ทุกท่านก็กล่าวว่า สติเกิดน้อย สติปัฏฐานเกิดน้อยมาก ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ ถ้าไม่มีปกตูปนิสสยปัจจัยก็ย่อมไม่สามารถจะรู้ได้ว่า แม้จิตในขณะนั้นที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น ก็เป็นอนัตตา

    ถ้าไม่มีอวิชชาซึ่งเคยเกิดแล้วในอดีต ขณะนี้อวิชชาก็ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มี โลภะซึ่งเคยเกิดแล้วในอดีต สะสมมาเป็นอันมากด้วยดี โลภมูลจิตในขณะนี้ก็เกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้น เรื่องของปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นสภาพธรรมที่มีกำลังจนสามารถเป็นปัจจัยทำให้ลักษณะของจิตที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นไปตามกำลังของปกตูปนิสสยปัจจัย ทำให้แต่ละท่านมีอุปนิสัยต่างๆ กัน และถ้าจะเข้าใจตามภาษาไทย อุปนิสัยนั่นเองที่แต่ละคนสะสมมาแล้วด้วยดี เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย

    สำหรับอุปนิสสยปัจจัย ซึ่งเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยนี้ เป็นปัจจัยที่กว้างขวางมาก เพราะฉะนั้น จะต้องพิจารณาเป็นลำดับไปตั้งแต่ปฏิสนธิ

    ทุกท่านทราบว่า ปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิตโดยชาติ คือ ไม่ใช่จิตที่กระทำกรรมในขณะนั้น ไม่ใช่กุศลจิตและอกุศลจิต เพราะว่าอกุศลจิตหรือกุศลจิตเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลวิบากหรืออกุศลวิบาก เพราะฉะนั้น ในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรมหนึ่งกรรมเดียวเท่านั้นในกรรมหลายๆ กรรมซึ่งได้กระทำทุกชาติๆ ไป เนิ่นนานมาแล้ว แล้วแต่ว่ากรรมหนึ่งกรรมใดจะทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นทำปฏิสนธิกิจ ซึ่งถ้าเกิดใน ภูมิมนุษย์ เป็นสุคติภูมิ ก็เป็นกุศลวิบาก เป็นกุศลขั้นกามาวจรกุศล เพราะยังเป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ก็เป็นกามาวจรวิบาก หรือมหาวิบาก ซึ่งทำกิจปฏิสนธิเป็นขณะแรกในภพนี้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๒ ตอนที่ ๑๑๑๑ – ๑๑๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 85
    28 ธ.ค. 2564