แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1118


    ครั้งที่ ๑๑๑๘


    สาระสำคัญ

    ทำงานจะเจริญสติปัฏฐานได้ไหม

    สติเกิดขึ้นปฏิบัติกิจของสติ

    กุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอัพยากตธรรม

    อกุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศล


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕


    ถ. นัยที่ว่า กุศลเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลโดยปกตูปนิสสยปัจจัย ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน บางวันสติเกิดมาก เมื่อสติเกิดมากก็มีความพอใจมาก เกิดความโสมนัส อย่างนี้จะซื่อว่า กุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยแก่อกุศลหรือเปล่า

    สุ. แน่นอน และเป็นตัวอย่างที่ดีอันหนึ่ง คือ สำหรับผู้ที่อบรมเจริญปัญญา เมื่อยังไม่ถึงขั้นที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ยังไม่สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าสติปัฏฐานจะเกิด แต่ว่าขณะใดที่เผลอสติ และไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น อกุศล คือ โลภะ ก็เกิดได้

    อยากจะถึงวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น เคยมีความรู้สึกอย่างนี้บ้างไหม ขณะนั้นให้รู้ว่า กุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศลแล้ว อยากบรรลุนิพพาน หรือว่าอยากจะถึงวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น

    ถ. ผมมีความทุกข์อย่างหนึ่ง เวลาที่เห็นเพื่อนร่วมธรรมเดินทางผิด อย่างเช่น เรื่องที่อาจารย์บรรยายในวันนี้ เรื่องปกตูปนิสสยปัจจัย ผมก็อยากจะช่วยเพื่อนที่เขาเห็นผิด ถ้าหากว่าเขาเคยสั่งสมไว้มาก และเราจะพยายามช่วย หาทางอย่างไรที่จะให้เขาเข้ามาเข้าแนวที่เห็นว่าถูกต้องทางปัญญา

    สุ. ควรพยายาม แม้แต่การฟัง ถ้าเขาสามารถที่จะฟังได้ ย่อมเป็นหนทางหนึ่ง แต่ถ้าพยายามแล้ว ไม่สามารถแม้เพียงแต่จะชวนให้ฟัง ก็คงจะไม่มีหนทางอื่น

    ถ. เวลาเจอเขาทีไร ก็บอกว่า ตอนเช้าขอให้ฟังหน่อยได้ไหม ตอนเย็นขอให้ฟังหน่อยได้ไหม ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ แต่ในใจจริงๆ นั้น เวลาเห็นเขาแล้ว เกิดทุกข์ ไปเที่ยวด้วยกันเมื่อ ๒ – ๓ วันนี้เอง เดินทางไปตั้ง ๔ - ๕ จังหวัดทางภาคอีสาน ตามวัดที่สำคัญๆ ทั้งนั้น แต่รู้สึกว่าจะไปติดอยู่ในเรื่องอยากจะทำ หรืออยากจะสร้างอะไรมากกว่าที่จะศึกษาเจริญปัญญา หรือให้มีความเห็นที่ถูกต้อง ผมก็พยายามจะช่วย หาหนังสือ หาเอกสารบ้าง บางข้อผมตอบไม่ได้ ก็พยายามค้นเอกสารเพื่อไปตอบ คิดว่าได้พยายามทุกทางที่จะช่วย เพราะผมเองก็ยังไม่รู้มากมาย

    สุ. ขออนุโมทนาในกุศลจิตที่คิดจะเกื้อกูลสหายธรรม ส่วนมากทุกท่านก็จะรู้สึกอย่างนี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ช่างยากเสียจริงๆ ที่จะให้เกิดกุศล คือ ความเห็นถูก และการประพฤติปฏิบัติที่ถูก เพราะว่ากุศลอื่นนั้นไม่ยาก เช่น ทานกุศล ก็ยังชักชวนกันได้โดยไม่ยาก หรือการรักษาศีล ก็ยังชักชวนกันโดยไม่ยาก แต่การที่จะให้เกิดความเห็นถูกตรงลักษณะของสภาพธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เป็นสิ่งที่ยากที่สุด

    ถ. ไปทำงานจะเจริญสติปัฏฐานได้ไหม การทำงานแต่ละอย่าง เช่น ขับรถ ตำน้ำพริก เจริญสติปัฏฐานได้ไหม

    สุ. ท่านผู้ฟังคิดว่าได้หรือไม่ได้ ลองพิจารณาเองได้ เพราะว่าไม่มีสักขณะเดียวที่ไม่ใช่นามธรรมและรูปธรรม ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษาตั้งแต่ทรงตรัสรู้จนกระทั่งปรินิพพาน ก็เพื่อที่จะให้รู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ต้องธรรมทั้งหลาย ธรรมทั้งหมด ธรรมทั้งปวงจริงๆ ไม่มีธรรมสักอย่างเดียวที่เป็นอัตตา

    เพราะฉะนั้น ทรงแสดงธรรมโดยละเอียดสำหรับผู้ที่ไม่ใช่อุคฆฏิตัญญู หรือวิปัญจิตัญญู ซึ่งสามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้โดยรวดเร็ว

    ถ. การเจริญสติปัฏฐานต้องไปปฏิบัติตามสถานที่ต่างๆ ไหม

    สุ. ถ้าทราบว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นผู้มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ คือ ที่ไหน ขณะไหนก็ได้ ซึ่งเป็นชีวิตจริงๆ ไม่ต้องสร้างขึ้น ใครจะสามารถสร้างนามธรรมและรูปธรรมได้ ไม่มีใช่ไหม เป็นความเข้าใจผิดที่คิดว่า มีตัวตนที่จะสร้างนามธรรมหรือรูปธรรมประเภทนั้นๆ ได้ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ทุกขณะเป็นนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ตามที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงเรื่องของปัจจัยไว้โดยละเอียด

    ถ. ถ้าไปเจริญสติที่ทำงานหรือที่บ้าน กิเลสต่างๆ เข้ามาหาเรา เช่น ผมมองเห็นสิ่งที่ไม่ดี โทสะก็เข้า ที่เราชอบ โลภะก็เข้า อาจารย์ว่าเป็นอย่างนั้นไหม

    สุ. ท่านที่ไปสำนักปฏิบัติ หรือเข้าใจว่าต้องไปสำนักปฏิบัติ จะมีความรู้สึกว่า ได้แยกชีวิตประจำวันออกจากสำนักปฏิบัติแล้ว เพราะถ้าการไปสู่ที่หนึ่งที่ใดโดยเฉพาะด้วยความตั้งใจที่จะอบรมเจริญปัญญา ย่อมแสดงว่าปกติประจำวันไม่ได้เจริญปัญญา แต่ถ้าเป็นผู้ที่ปกติประจำวันเจริญปัญญาอยู่แล้ว จะไปที่ไหน ไม่จำเป็นต้องใช้คำว่า สำนักปฏิบัติ เพราะว่าสติเกิดขึ้นปฏิบัติกิจของสติ คือ ไม่หลงลืมที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่จำเป็นต้องไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใดโดยเฉพาะที่มีชื่อว่าสำนักปฏิบัติเพื่อที่จะให้สติเกิดขึ้นที่นั่น เพราะสติเป็นอนัตตา เมื่อมีการเข้าใจธรรมแล้ว ย่อมเป็นปัจจัยให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติ

    ข้อสำคัญที่สุด คือ ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดตามปกติ ตามเหตุ ตามปัจจัย ตามความเป็นจริง ถึงแม้ว่าจะไปสู่สำนักหนึ่งสำนักใดเป็นเวลานานสักเท่าไร แต่สติไม่สามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง ไม่ชื่อว่าเป็นผลของการอบรมเจริญปัญญา เพราะปัญญาไม่สามารถเจริญจนรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดตามปกติ ตามเหตุตามปัจจัย ตามความเป็นจริงได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อที่จะรู้ลักษณะของปกตูปนิสสยปัจจัย ซึ่งแต่ละท่านสะสมมาจนเป็นปกติ

    ถ้าดูรูปร่างหน้าตาของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะในครั้ง ๒๕๐๐ กว่าปี หรือว่าก่อนนั้นจนถึงปัจจุบันนี้ มีหน้าตาใครซ้ำกับใคร หรือเหมือนกับใครบ้างไหม นี่เป็นเพียงรูปภายนอกซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น ตัวกรรมจริงๆ แต่ละกรรมๆ จะวิจิตรต่างกันสักแค่ไหน เพราะว่ากรรมหนึ่งทำให้เกิดเป็นบุคคลนี้ มีหน้าตาอย่างนี้ในชาตินี้ ชาติต่อไปก็บุคคลนั้นเองแหละ แต่ว่ากรรมอีกกรรมหนึ่งเป็นปัจจัยทำให้เกิดขึ้น มีรูปร่างหน้าตาอีกอย่างหนึ่ง แม้แต่รูปร่างสัณฐานก็ยังจำแนกต่างกันไปตามความวิจิตรของกรรม เพราะฉะนั้น สภาพของจิตของแต่ละบุคคลในแต่ละขณะจะวิจิตร คือ ต่างกันไปตามปัจจัยแต่ละปัจจัยมากสักแค่ไหน ซึ่งปัญญาพร้อมสติเท่านั้นที่สามารถระลึกรู้สภาพที่เป็นอนัตตาแท้ๆ ของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏ จึงจะดับการยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

    ถ้าไม่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดปรากฏตามปกติในขณะนี้ได้ ไม่ชื่อว่าเป็นการเจริญปัญญาแน่นอน และไม่สามารถดับกิเลสได้ด้วย เพราะว่า ไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้แม้ขณะนี้ทำไมจิตจึงเป็นกุศล หรือทำไมอกุศลจิตจึงเกิดขึ้น ทำไมจึงมีการกระทำทางกาย ทางวาจาอย่างนี้ ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะรู้ลักษณะของปัจจัยทั้งหลายตามความเป็นจริงด้วย

    สำหรับกุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอัพยากตธรรม อัพยากตธรรม ได้แก่ จิตและเจตสิกซึ่งเป็นวิบาก จิตและเจตสิกซึ่งเป็นกิริยา และรูปธรรม แต่สำหรับ อุปนิสสยปัจจัยนั้น เป็นปัจจัยให้เกิดจิตและเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมเท่านั้น ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดรูปธรรม เพราะฉะนั้น อุปนิสสยปัจจัยเป็นปัจจัยให้ปัจจยุปบันธรรม คือ จิตและเจตสิก เกิดขึ้นเท่านั้น

    ผู้ที่มีกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอัพยากตธรรม คือ ให้เกิดวิบากจิต เป็นไปได้ไหม

    ผู้ที่จะทำบุญ อาจจะต้องเสวยทุกขเวทนาทางกายได้ไหม ต้องลำบาก ต้องเดือดร้อน ต้องแสวงหา ท่านที่จะไปนมัสการสังเวชนียสถานจะทราบว่า ในบางแห่งสถานที่พักไม่สะดวกเลย แต่ท่านมีกุศลศรัทธาเกิดขึ้นที่จะไปนมัสการสังเวชนียสถาน นั่นเป็นกุศลจิต แต่เป็นปัจจัยให้ทุกขกายวิญญาณเกิด เช่น ที่เมืองสาวัตถี ที่พักไม่สะดวก ถ้าพักที่อื่นจะนมัสการพระเชตวันมหาวิหารได้เพียงในระยะเวลาสั้นๆ และต้องรีบกลับที่พักที่อื่นที่สะดวกสบาย แต่ถ้าอยากจะพักที่ใกล้ๆ พระเชตวันมหาวิหาร จะต้องพักที่โรงแรมเมืองสาวัตถี ซึ่งไม่สะดวกด้วยประการทั้งปวง เป็นโรงแรมที่เป็นบ้านของมหาราชาในอดีต เก่าแก่มาก และทุกอย่างไม่ได้รับการบูรณะซ่อมแซมเลย ห้องน้ำไม่สะดวก ห้องนอนมีจริงแต่มุ้งไม่มี ถ้าไปหลายๆ คน ห้องหนึ่งต้องนอนกันอย่างน้อย ๘ คน ๙ คน ๑๐ คน แล้วแต่จำนวนของผู้ที่ไป มุ้งไม่มี ทุกคนต้องห่อผ้าพันตัวเองเพื่อกันยุงกัด เพราะฉะนั้น นั้นคือ กุศลเป็นปัจจัยให้เกิดอัพยากตธรรม แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลวิบาก หรืออกุศลวิบากก็ได้

    หรือท่านที่ต้องการจะกระทำกุศล แต่จะต้องทำด้วยความสุจริต ไม่ใช่ด้วย การคดโกง เพราะฉะนั้น ท่านต้องมีความพากเพียรในการแสวงหาปัจจัยที่จะทำกุศล อาจจะต้องลำบาก แต่เป็นปัจจัยที่ได้มาด้วยความสุจริต เพราะฉะนั้น กุศลนั่นเองเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอัพยากตะ คือ อกุศลวิบาก

    เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปเป็นเหตุการณ์ต่างๆ และแต่ละท่าน ก็อาจจะสงสัยว่า ทำไมจะต้องเกิดอย่างนี้ ทำไมจะต้องเป็นอย่างนี้กับตัวท่าน แต่ให้ทราบว่า ทุกอย่างแล้วแต่ปัจจัยทั้งสิ้น และปัจจัยที่กว้างขวางมากปัจจัยหนึ่ง คือ ปกตูปนิสสยปัจจัย

    ถ้าท่านผู้ใดเกิดกุศล และไม่ทำอะไรเลย จะได้สบายๆ กุศลนั้นจะสำเร็จไหม กุศลนั้นก็ย่อมไม่สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการปรุงอาหาร มือที่กระทบสัมผัสก็อาจจะเป็นทุกขกายวิญญาณที่ไม่สบายก็ได้ในขณะนั้น แต่เพราะว่ากุศลจิตเกิดขึ้นและต้องการที่จะทำกุศลกรรมให้สำเร็จไป เพราะฉะนั้น กุศลศรัทธาซึ่งเป็นกุศลจิตนั้นเองก็เป็นปัจจัยให้อัพยากตธรรมเกิดได้ นี่เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยหมวดของกุศล ซึ่งมี ๓ ข้อ คือ

    กุศล เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศล ๑

    กุศล เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศล ๑

    กุศล เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอัพยากตธรรม ๑

    เพราะฉะนั้น ท่านที่มั่นคงในกุศล ก็ไม่เดือดร้อนในเรื่องของกุศลเป็น ปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอัพยากตะ ซึ่งได้แก่วิบากจิตต่างๆ ที่อาจจะเป็นอกุศลวิบากก็ได้ แต่ท่านควรจะระวัง ไม่ลืมที่จะเป็นผู้ที่รอบคอบ ไม่ประมาทในข้อที่ว่า กุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศล ข้อนี้เป็นสิ่งที่ควรระมัดระวังและพิจารณา มิฉะนั้นแล้วในวันหนึ่งๆ เวลาที่กุศลเกิด อาจจะไม่ทราบว่าเป็นปัจจัยให้อกุศลจิตเกิดแล้วด้วย

    สำหรับในหมวดต่อไปที่เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย คือ หมวดของอกุศล

    อกุศล เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศล ๑

    อกุศล เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศล ๑

    อกุศล เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอัพยากตะ ๑

    สำหรับอกุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศล เป็นสิ่งที่เห็นได้โดยไม่ยาก อวิชชาในอดีตที่มีมาแล้วเนิ่นนาน เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้อวิชชาเกิดอีกในปัจจุบัน และอวิชชาในปัจจุบันนี้ก็จะเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้อวิชชาเกิดต่อไปในอนาคตด้วย

    สำหรับอกุศลอื่นๆ เช่น โลภะ ก็เช่นเดียวกัน โลภะที่เกิดปรากฏในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทำไมคนโน้นมีน้อย ทำไมคนนี้มีมาก ตามเหตุตามปัจจัย ตามการสะสม ถ้าเป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดกับตนเองตามความเป็นจริงจะรู้ได้ว่า ที่ท่านชอบรูปอย่างนี้ ติดแล้วในรูปอย่างนี้ ก็เพราะว่าเคยติดมาแล้วในอดีต ท่านที่ชอบรสอย่างนี้ ชอบเสียงอย่างนี้ ชอบกลิ่นอย่างนี้ ชอบโผฏฐัพพะอย่างนี้ ก็เป็นเพราะว่าเคยติดมาแล้วในอดีต เคยชอบมาแล้วในอดีตอย่างนั้นๆ ก็ย่อมเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้โลภะเกิดขึ้นเป็นไป ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ตามที่ได้สะสมมา

    อกุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศล ไม่ว่าจะเป็นในภพไหน ภูมิไหน ยังไม่ได้ดับอกุศลเป็นสมุจเฉทตราบใด อกุศลก็ย่อมเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้อกุศลเกิดขึ้น ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ทุกท่านมีอกุศลเกิดบ่อยๆ เวลาที่สติเกิดระลึก และที่จะรู้ ไม่ต้องไปรู้ถึงกับจะไปดับอกุศลไม่ให้เกิดอีก เพียงแต่ว่า ให้ดับความเห็นผิดที่ยึดถืออกุศลนั้นว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดับยาก เพราะปัญญาจะต้องอบรมเจริญขึ้นเป็นขั้นๆ ถ้าปัญญาไม่เจริญขึ้นเป็นขั้นๆ ไม่สามารถที่จะดับแม้อกุศลที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

    ทั้งๆ ที่ศึกษาปรมัตถธรรมเรื่องจิตปรมัตถ์ เจตสิกปรมัตถ์ รูปปรมัตถ์ นิพพานปรมัตถ์ และเรื่องของปัจจัยต่างๆ ก็ตาม แต่เวลาที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ต้องเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่าในขณะนั้นกำลังศึกษาและรู้ในสภาพที่เป็นนามธรรมต่างกับลักษณะของรูปธรรม โดยที่นามธรรมนั้นเป็นเพียงธาตุรู้ อาการรู้ ไม่ใช่เราจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่ตรงจนกว่าปัญญาจะเจริญขึ้น จนสามารถรู้แจ้งในความเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมได้ ขอให้รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นอกุศลชนิดใด ประเภทใด ขณะใดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีความอ่อนความแรงประการใดก็ตาม ผู้ที่เป็นปุถุชนที่จะอบรมเจริญปัญญาเป็นพระอริยเจ้า คือ สติเกิดระลึกตรงลักษณะซึ่งเป็นนามธรรม ไม่ใช่ตัวตน หรือว่าตรงลักษณะที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่ตัวตน จนกว่าจะรู้ชัด และคล่องแคล่วทั้ง ๖ ทาง คือ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก่อนที่ปัญญาจะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมได้

    แต่ถ้าทางตายังไม่เคยระลึกรู้เลยว่า ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นเป็นอย่างหนึ่ง และสภาพรู้ ธาตุรู้ซึ่งกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางนั้นเป็นแต่เพียงอาการรู้ หรือธาตุรู้เท่านั้น ถ้ายังไม่รู้จริงๆ ไม่สามารถที่จะละการยึดถือว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ ได้

    ถ้าได้ศึกษาเรื่องของปัจจัย ก็มีทางที่จะน้อมศึกษา ที่จะระลึกรู้ลักษณะของ สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ได้ว่า แม้เพียงการเห็นซึ่งเป็นปกติอย่างนี้เอง ซึ่งเห็นตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ก็เห็น ดูเหมือนเป็นของธรรมดา แต่ถ้าสติระลึกในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ และน้อมนึกถึงสภาพของปัจจัยจะรู้ได้ทันทีว่า ถ้าปราศจากแสงสว่าง ในห้องนี้จะไม่ปรากฏอะไรนอกจากความมืด ไม่มีการที่จะรู้ว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย เพราะฉะนั้น ที่เห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ ต้องมีปัจจัย ซึ่งเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นที่อาศัยที่มีกำลังที่ทำให้มีการเห็นรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นวัตถุ สิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือว่าเป็นบุคคลใด

    เพราะฉะนั้น ถ้าสติระลึก จะเห็นได้ว่า แม้ในขณะที่กำลังเห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่ง สิ่งใด ก็ยังต้องมีปกตูปนิสสยปัจจัย มิฉะนั้นแล้วการเห็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ก็มีไม่ได้

    แต่ขณะที่จะระลึกทางตา ไม่ใช่ให้คิดนึกเป็นเรื่องที่ยาวอย่างนี้ แต่น้อมที่จะพิจารณารู้ว่า เป็นแต่เพียงอาการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะชำนาญทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๒ ตอนที่ ๑๑๑๑ – ๑๑๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 85
    28 ธ.ค. 2564