แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1084
ครั้งที่ ๑๐๘๔
สาระสำคัญ
ปัญญาเข้าใจสภาพธรรมตามลำดับ
อธิปติปัจจัย กับอิทธิบาท ๔ เหมือนกันไหม
อารัมมณาธิปติปัจจัยเป็นอารมณ์ที่หนักแน่น
ผัสสเจตสิกเป็นอธิปติปัจจัยได้ไหม
ผัสสะเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของจิต
สำหรับสหชาตาธิปติปัจจัย จะต้องเกิดพร้อมกันกับสภาพธรรมที่เป็นปัจจยุปบันซึ่งตนเองเป็นหัวหน้า หรือว่าเป็นสภาพธรรมที่ชักจูงให้สภาพธรรมอื่นเกิดร่วมด้วยพร้อมกันในขณะนั้น เพราะว่าจิตและเจตสิกเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน เพราะฉะนั้น เมื่อเจตสิกเป็นอธิปติ ก็ต้องเป็นสหชาตาธิปติ เนื่องจากเกิดร่วมกับจิตและเจตสิก
ถ้าจิตเป็นสหชาตาธิปติ จิตก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นหัวหน้าชักจูงให้สภาพธรรมอื่นเกิดพร้อมกันกับตน ดับพร้อมกันกับตน จึงเป็นสหชาตาธิปติ คือ จิตและเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกันในวันหนึ่งๆ นั่นเอง ซึ่งขณะใดมีสภาพธรรมใดปรากฏความเป็นอธิบดี ขณะนั้นก็เป็นอธิปติปัจจัย เป็นชีวิตประจำวัน
โลภะเกิดขึ้นโดยไม่มีฉันทะเป็นอธิบดีก็ได้ ไม่มีวิริยะเป็นอธิบดีก็ได้ ไม่ใช่หมายความว่าจะต้องมีอธิปติปัจจัยเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง เพราะบางครั้งสภาพที่เป็นโลภะก็เกิดพอใจเพียงเล็กน้อยและก็หมดไป แต่ว่าขณะไหนซึ่งแสดงความสนใจ พอใจมาก ขณะนั้น อย่าลืม เป็นอธิปติปัจจัยตามที่ได้ศึกษาแล้ว ปรากฏแสดงความเป็นอธิบดีของสภาพธรรมนั้นในขณะนั้น
เพราะฉะนั้น ก็พิสูจน์ได้ว่า ขณะไหนท่านกำลังเกิดกุศลหรืออกุศลที่มีความพอใจเป็นอธิบดี หรือว่ามีวิริยะเป็นอธิบดี หรือว่ามีปัญญา คือ วิมังสาเป็นอธิบดี
ถ. ขณะที่กำลังตั้งใจฟังธรรม ขณะนี้มีอะไรเป็นอธิบดี
สุ. คนอื่นจะรู้ได้ไหม ถามคนอื่นไม่ได้เลย นอกจากสติจะเริ่มระลึกรู้ในขณะนั้น
ถ. สติระลึกรู้แล้ว ก็ยังไม่เห็นว่ามีอะไรเป็นอธิบดี
สุ. เพราะฉะนั้น การที่จะเห็นว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จะต้องมีปัญญาเพิ่มขึ้นจนสามารถรู้ชัดจริงๆ ว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างเพียงเกิดขึ้นเป็นปัจจัยและก็ดับไป แต่ถ้ายังไม่ประจักษ์ความเป็นปัจจัยก็เพียงรู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นแต่เพียงลักษณะของนามธรรมชนิดนั้น หรือรูปธรรมชนิดนั้นเท่านั้นก่อน ต้องตามลำดับขั้นจริงๆ
เพราะฉะนั้น การศึกษา ศึกษาสำหรับให้ถึงการที่จะบรรลุความเป็น พระโสดาบันบุคคล โดยการประจักษ์แจ้งจริงๆ ว่า แม้ลักษณะของนามธรรมนั้นก็ปรากฏลักษณะซึ่งเป็นอธิบดี ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าเป็นแต่เพียงปัจจัยหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในขณะนั้น
ถ. ขณะที่กำลังตั้งใจฟังธรรม คิดว่าต้องมีฉันทะเป็นอธิบดี หรือมีวิริยะเป็นอธิบดี นี่คิดเอง จะตรงหรือไม่ตรงไม่แน่ใจ แต่ว่าขณะใดที่กำลังนั่งอยู่ และจิตคิดไปถึงเรื่องอื่นๆ ไม่ได้ฟังธรรม อาจารย์พูดอะไรก็ไม่ได้ใส่ใจ ขณะนั้นก็ไม่อธิบดีใช่ไหม
สุ. ใช่ ตามความเป็นจริงถึงแม้ว่าอธิปติปัจจัยมี ๔ แต่เวลาที่กระทำกิจเป็นอธิบดีนั้น เฉพาะอย่างเดียว คือ ถึงแม้ว่าฉันทะจะเกิดร่วมกับวิริยะ จะเกิดร่วมกับจิต จะเกิดร่วมกับปัญญา แต่ถ้าฉันทะเป็นอธิบดี ธรรมอื่นเป็นอธิบดีไม่ได้ในขณะนั้นจะต้องเป็นสภาพธรรมหนึ่งใน ๔ เท่านั้นที่เป็นอธิบดีแต่ละครั้ง หรือจะไม่ปรากฏว่าเป็นอธิบดีเลยก็ได้ เพราะเป็นจิตซึ่งมีกำลังอ่อน แต่เวลาที่เป็นอธิบดี แสดงว่ามีความพอใจปรากฏให้เห็นในลักษณะที่เป็นหัวหน้า หรือว่ามีวิริยะปรากฏลักษณะของความเพียร ซึ่งขณะนั้นไม่ใช่เพราะความพอใจ ไม่ใช่เพราะฉันทะเป็นหัวหน้า แต่ขณะใดที่ไม่ปรากฏ ขณะนั้นก็ไม่ใช่ลักษณะของอธิปติปัจจัย
แต่บางครั้งถึงแม้มีก็ไม่รู้ เช่น เวลาที่ทุกท่านกำลังมีความสนุกเพลิดเพลิน แล้วแต่ว่าอัธยาศัยของท่านสะสมมาที่จะพอใจในความสนุกประเภทใด ถ้าไม่ได้ระลึกรู้ หรือว่าไม่ได้ฟังเรื่องของอธิปติปัจจัยจะไม่ทราบเลยว่า ขณะนั้นมีสภาพธรรมหนึ่งเกิดขึ้นเป็นอธิบดี คือ เป็นหัวหน้าในขณะนั้น บางท่านทำสิ่งที่ท่านไม่มีฉันทะ แต่ทำด้วยวิริยะ เป็นอย่างนั้นบ้างไหม
ถ. อธิปติปัจจัย กับอิทธิบาท ๔ เหมือนกันไหม
สุ. อิทธิบาท ๔ ใช้สำหรับการอบรมเจริญสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนา เพราะอิทธิหมายถึงความสำเร็จ ปาท หมายความว่าเป็นบาทเบื้องต้นที่จะให้ถึงความสำเร็จ คือ ความสงบขั้นฌานจิตเกิดขึ้น หรือว่าอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ เกิดขึ้น หรือว่าวิปัสสนาญาณต่างๆ เกิดขึ้น ซึ่งก็ได้แก่สภาพธรรมที่เป็นสภาพธรรมประเภทเดียวกัน คือ ฉันทเจตสิก วิริยเจตสิก จิต และวิมังสาคือปัญญาเจตสิก
ถ้าไม่ใช่เป็นการอบรมเจริญภาวนา ยังไม่เป็นอิทธิบาท เป็นแต่เพียงอธิปติเพราะเป็นหัวหน้า สำหรับอธิปติปัจจัยเกิดได้ทั้งที่เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต แต่ถ้าเป็นการอบรมเจริญภาวนา เป็นอิทธิ เป็นความสำเร็จในทางความสงบ หรือในทางปัญญา จึงจะเป็นอิทธิบาท
ถ. หมายความว่า อธิปติปัจจัย กับอิทธิบาท องค์ธรรมเหมือนกัน แต่ความประพฤติเป็นไปไม่เหมือนกัน อิทธิบาท ๔ ต้องเป็นกุศลอย่างเดียว
สุ. เวลาเป็นอธิปติปัจจัยเกิดได้กับกุศลทั่วๆ ไป และกับอกุศลก็เกิดได้ แต่ ถ้าเป็นการอบรมเจริญสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนา เป็นอิทธิบาท เพราะเป็นสภาพธรรมที่จะทำให้ถึงความสำเร็จเป็นความสงบขั้นอัปปนาสมาธิที่เป็นฌานจิต และให้ถึงความสำเร็จเป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น
ถ. อธิปติปัจจัย โดยนัยของสสังขาริก ต่างกันอย่างไร
สุ. สสังขาริก หมายความว่าเกิดขึ้นโดยอาศัยการชักจูง แต่ไม่ได้หมายความว่าชักจูงแล้วจะปราศจากราคะ หรือจะปราศจากวิริยะ เพราะฉะนั้น แล้วแต่ขณะจิตในขณะนั้นว่า สภาพธรรมใดปรากฏโดยความเป็นหัวหน้าหรือไม่
ทุกท่านมีโลภะอย่างรวดเร็ว ซึ่งขณะนั้นไม่ปรากฏว่าอะไรเป็นอธิบดีเลย เพราะฉะนั้น ไม่ได้หมายความว่า สภาพธรรมเหล่านี้จะต้องเป็นอธิบดีทุกครั้ง แต่เวลาที่เป็นหัวหน้า ไม่ใช่สภาพธรรมอื่น ต้องได้แก่ สภาพธรรม ๑ ใน ๔ นี้เองที่เป็นอธิบดี จิตและเจตสิกในชีวิตประจำวันนี้ซึ่งเกิดดับ ขอให้พิจารณา จะเห็นสภาพความเป็นอนัตตา
ควรจะรู้ไหมเรื่องอธิปติปัจจัย แม้เพียงเล็กน้อยพอที่จะเข้าใจรางๆ ก็ยังเห็นความเป็นอนัตตา ซึ่งจะช่วยทำให้เวลาที่สติระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จะทำให้ปัญญาคมกล้าที่จะเห็นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ต้องอาศัยการฟัง การพิจารณา การไม่ลืมที่จะระลึก ตรึก พิจารณาบ่อยๆ จนกระทั่งถึงขณะที่สติกำลังระลึกตรงลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และจะเห็นว่า ปัญญาที่ค่อยๆ คมขึ้นจะปราศจากความเป็นพหูสูตไม่ได้ ถ้าขาดการฟังเรื่องของปรมัตถธรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ให้เกิดความเข้าใจละเอียดขึ้น ก็ ไม่มีหนทางที่ปัญญาจะคมขึ้นได้ แม้ว่าสติจะระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ก็ยากที่จะดับการยึดถือนามธรรมว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่เพราะ ฟังมากๆ ฟังบ่อยๆ และเข้าใจขึ้น เริ่มสังเกตขึ้น เริ่มระลึกได้ เริ่มตรึก พิจารณาถึงเรื่องของปรมัตถธรรม จะเป็นปัจจัยทำให้ขณะที่สติเกิด ขณะนั้นปัญญาก็มี สังขารขันธ์ซึ่งปรุงแต่งให้เกิดความคมที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน
นี่คือการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่โดยวิธีอื่น ไม่ใช่โดยการเพ่งจ้องอยากจะให้ประจักษ์การเกิดดับ
ท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่บำเพ็ญกุศลและเจริญกุศล ขอให้ดูการบำเพ็ญกุศล การเจริญกุศลของแต่ละท่านว่า ท่านมีฉันทะ ความพอใจที่จะกระทำกุศลอย่างไร แม้แต่ในเรื่องของทาน ก็มีฉันทะต่างๆ กัน ซึ่งบางครั้งต้องเป็นวิริยะจึงจะทำสำเร็จ มีฉันทะจริง แต่ฉันทะนั้นไม่มีกำลังพอที่จะทำให้สำเร็จ ต้องอาศัยวิริยะเกิดขึ้นเป็นหัวหน้า เป็นอธิปติ การกระทำกุศลนั้นจึงจะสำเร็จได้ เพราะฉะนั้น ถ้าสติระลึกในขณะนั้น จะเห็นลักษณะที่เป็นอธิปติของกุศลจิตในขณะนั้นว่าอะไรเป็นอธิปติปัจจัย ฝ่ายอกุศลก็เช่นเดียวกัน พอที่จะระลึกได้ต่อไปนี้ว่า ท่านมีฉันทะ หรือว่าอาศัยวิริยะในขณะนั้น
เวลาที่ทำธุรกิจการงาน ซึ่งทุกคนมีอาชีพประจำ มีกิจการงานที่จะต้องกระทำอยู่ ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล ต้องรู้ก่อน ถ้าขณะนั้นเป็นอกุศล ขณะทำนั้นมีฉันทะเป็นอธิบดี หรือว่ามีวิริยะเป็นอธิบดี
สำหรับการงานอาชีพซึ่งไม่ได้เป็นไปในเรื่องของกุศล ไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในสมถภาวนา ไม่เป็นไปในการเจริญสติปัฏฐาน จะไม่มีปัญญาเป็นอธิบดีแน่นอน เพราะว่าปัญญาไม่เกิดกับอกุศลจิต หรือแม้กุศลซึ่งเป็นญาณวิปปยุตต์ คือ ไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็จะมีเพียงฉันทะหรือวิริยะเป็นอธิบดี แต่จะไม่มีวิมังสา คือ ปัญญา เป็นอธิบดี
เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียดในชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคล ที่จะได้เห็นความเป็นปัจจัยแม้เพียงชั่วขณะจิตที่เกิดว่า ขณะนั้นประกอบด้วยเจตสิกอะไร และเป็นปัจจัยอะไร เช่น โลภะเป็นเหตุปัจจัย ไม่เป็นอธิปติปัจจัย ฉันทะเป็นอธิบดีหรือเป็นอธิปติปัจจัย แต่ไม่ใช่เหตุปัจจัย ผัสสะไม่ใช่เหตุปัจจัย ไม่ใช่อธิปติปัจจัย แต่เป็นอาหารปัจจัย ทั้งๆ ที่เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกันและดับไปอย่างรวดเร็ว แต่เจตสิกแต่ละเจตสิกก็เป็นปัจจัยเฉพาะตามลักษณะของตนๆ ซึ่งแสดงให้เห็นความเป็นอนัตตา จริงๆ
สำหรับอารัมมณาธิปติ เป็นคำรวมของอารมณ์กับอธิบดี ซึ่งท่านผู้ฟังทราบเรื่องของอารัมมณปัจจัยแล้วว่า หมายถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ตามที่จิตกำลังรู้ เป็นปัจจัยของจิตที่รู้โดยเป็นอารมณ์ จึงเป็นอารัมมณปัจจัย แต่สำหรับอารัมมณาธิปติปัจจัย ไม่ใช่เพียงอารมณ์ธรรมดาๆ แต่ต้องเป็นอารมณ์ที่หนักแน่น ที่ควรได้ ไม่ควรทอดทิ้ง หรือว่าไม่ควรดูหมิ่น ด้วยอำนาจความเคารพยำเกรง หรือด้วยอำนาจของความปรารถนา
โลภมูลจิตเกิดบ่อยเหลือเกินในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม เพราะทันทีที่เห็น หลงลืมสติ เกิดความยินดีพอใจในสิ่งที่เห็น และในการเห็นด้วย ไม่มีท่านผู้ใดที่อยากจะไม่เห็น หรือไม่อยากจะเห็นอีกแล้ว แสดงให้เห็นว่า มีความยินดี มีความพอใจในสิ่งที่ปรากฏ เพียงแต่ท่านไม่ทราบเท่านั้นเองว่า ถึงแม้ว่าจะนั่งเฉยๆ และเห็น ไม่ได้กระทำกรรมใดๆ ทั้งสิ้น ทางกาย ทางวาจา โลภมูลจิตก็เกิดขึ้นเป็นไปในอารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจแล้ว แต่ถ้าไม่มีกำลัง ไม่เป็นอารมณ์ที่หนักแน่น หรือว่าไม่เป็นอารมณ์ที่ไม่ควรทอดทิ้ง ก็ไม่ใช่อารัมมณาธิปติปัจจัย
เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ โลภะเกิดก็เกิดและก็ดับไป แต่ขณะใดที่ปรารถนาอย่างยิ่งในอารมณ์ใด อารมณ์นั้นเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย เป็นชีวิตประจำวันไหม และควรที่จะทราบว่า อารมณ์ใดบ้างที่เป็นอารัมมณาธิปติในชีวิตประจำวันของแต่ละท่าน
ในวันหนึ่งๆ ท่านผู้ฟังอดคิดไม่ได้ ถ้าเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็คิดถึงสิ่งนั้นแล้วทันที ถ้ามองไปที่หน้าต่างเห็นดอกไม้ จะไม่คิดถึงดอกไม้ที่เห็นสักครู่หนึ่งได้ไหม อย่างน้อยก็จะต้องคิด อาจจะเป็นความคิดสั้นๆ ไม่ได้คิดยาวอะไร เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นสิ่งที่ปรากฏทางตายังไม่ใช่อารัมมณาธิปติ เพราะไม่ได้ทำให้เกิดความต้องการ หรือเป็นไปอย่างหนักแน่นในอารมณ์นั้น แต่ขณะใดที่ท่านผู้ฟังประเดี๋ยวก็คิดถึงสิ่งนั้นอีก ประเดี๋ยวก็คิดถึงสิ่งนั้นอีก จนกระทั่งดูเหมือนว่าคิดถึงสิ่งนั้นบ่อยๆ มีความปรารถนา มีความพอใจ มีความต้องการในสิ่งนั้น ให้ทราบว่า ในขณะนั้นอารมณ์ที่ท่านกำลังคิดถึงนั้นเป็นอารัมมณาธิปติ เป็นอารมณ์ซึ่งเป็นปัจจัยโดยเป็นใหญ่ที่ทำให้จิต หนักแน่นในอารมณ์นั้น ไม่ใช่เพียงผ่านไปๆ
พิสูจน์ได้ไหมในชีวิตประจำวันที่จะเข้าใจว่า อารมณ์ใดเป็นอารัมมณปัจจัยและอารมณ์ใดเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย ซึ่งแต่ละคนมีอยู่เป็นประจำวัน เพียงแต่ไม่ทราบว่า ขณะนั้นเป็นเพียงอารัมมณปัจจัย หรือว่าเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย
ผัสสเจตสิกเป็นอธิปติปัจจัยได้ไหม
ถ้าโดยสหชาตาธิปติ ซึ่งได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ผัสสะเป็น สหชาตาธิปติไม่ได้ เพราะเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดกระทบกับอารมณ์และดับไป ไม่ใช่ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา แต่สำหรับอารัมมณาธิปติปัจจัย ผัสสเจตสิกจะเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยได้ไหม
ชีวิตประจำวัน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นเป็นไป ถ้าได้ทราบสภาพธรรมที่เป็นปัจจัย ยิ่งเห็นความที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แล้วแต่ว่าสภาพนั้นๆ จะเป็นปัจจัยโดยประการใด
ผัสสเจตสิกเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยได้ไหม
ท่านผู้ฟังปรารถนาอะไร โลภะมีความต้องการบางอย่างหนักแน่นมาก และไม่ลืมที่จะแสวงหาสิ่งนั้น ไม่ลืมที่จะพยายามหาสิ่งนั้น ในขณะนั้น สิ่งนั้นเป็น อารัมมณาธิปติปัจจัย
เป็นอกุศลได้ไหมสิ่งที่ท่านต้องการ ท่านผู้ฟังอยากมีโลภะมากๆ ไหม หรือว่า ไม่อยากจะมีโลภะแล้ว ไม่อยากจะลิ้มรสอาหารอร่อยๆ พิเศษแล้ว หรือว่าอาหาร บางชนิดช่างอร่อยจริงๆ ไม่ได้รับประทานหลายวันแล้ว วันนี้จะต้องพยายามรับประทานให้เกิดความยินดีพอใจในรสนั้นที่เป็นความยินดีอย่างมาก ต้องการความยินดีพอใจขั้นนั้นไหม จากรส จากรูป จากกลิ่น จากเสียง ต้องการไหม ก็ต้องการ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นต้องการผัสสะที่จะกระทบกับอารมณ์นั้นๆ อยากจะให้ผัสสะกระทบอารมณ์อะไร
ทางตา ก็คงจะมีรูปพิเศษที่อยากจะให้ผัสสะกระทบอารมณ์นั้น ทางหู ก็อาจจะมีเพลงบางเพลงซึ่งพอใจเป็นพิเศษที่อยากจะให้ผัสสะกระทบกับเพลงนั้น ทางจมูกอาจจะมีน้ำหอมหลายชนิดที่อยากจะให้ผัสสะกระทบกับกลิ่นที่น่าพอใจเป็นพิเศษ ทางลิ้น ก็อาจจะมีรสอาหารที่อยากจะให้ผัสสะกระทบกับรสนั้นเป็นพิเศษ ทางกาย โดยนัยเดียวกัน
เพราะฉะนั้น ต้องการให้ผัสสะเกิดขึ้นกระทบกับอารมณ์ที่ปรารถนาอย่าง หนักแน่นขณะใด ขณะนั้นผัสสะเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของจิตซึ่งกำลังปรารถนาที่จะให้ผัสสะกระทบกับอารมณ์นั้นในขณะนั้น นี่เป็นชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง
สังสารวัฏฏ์ไม่มีวันที่จะสิ้นสุดได้ ถ้าไม่สามารถเห็นว่า แม้ขณะที่กำลังมีความยินดีต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างมาก อย่างหนักแน่น ก็เป็นเพราะว่า ขณะนั้น อารมณ์นั้นเป็นอารัมมณาธิปติ ไม่ใช่เป็นแต่เพียงอารัมมณปัจจัยเท่านั้น และก็ดับไป
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๑๐๘๑ – ๑๐๙๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1081
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1082
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1083
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1084
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1085
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1086
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1087
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1088
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1089
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1090
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1091
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1092
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1093
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1094
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1095
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1096
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1097
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1098
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1099
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1100
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1101
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1102
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1103
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1104
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1105
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1106
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1107
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1108
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1109
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1110
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1111
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1112
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1113
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1114
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1115
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1116
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1117
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1118
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1119
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1120
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1121
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1122
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1123
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1124
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1125
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1126
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1127
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1128
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1129
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1130
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1131
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1132
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1133
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1134
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1135
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1136
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1137
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1138
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1139
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1140