แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1120
ครั้งที่ ๑๑๒๐
สาระสำคัญ
ปกตูปนิสสยปัจจัยเป็นปัจจัยที่กว้างขวาง
กุศลธรรมเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลธรรม
อกุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศล
อบรมเจริญปัญญาเพื่อละความไม่รู้
ศรัทธาเป็นปัจจัยให้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
กุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศล
กุศลเป็นปัจจัยให้เกิดอัพยากตธรรม
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕
สำหรับปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นปัจจัยที่กว้างขวาง และสามารถจะเข้าใจได้ในชีวิตประจำวัน
เช่น กุศลธรรมเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลธรรม กุศลธรรมที่ได้เคยทำมาแล้วในอดีตเป็นอุปนิสสยปัจจัย เป็นอุปนิสัย เป็นปกติที่จะทำให้เกิดกุศลอีกในขณะนี้ เช่น ท่านที่สนใจในการฟังพระธรรม หรือในการศึกษาธรรม ถ้าไม่พิจารณาถึงปกตูปนิสสยปัจจัย ก็อาจจะไม่ทราบว่าเพราะอะไรจึงทำให้เป็นผู้ที่สนใจศึกษาธรรม แต่ให้ทราบว่า ท่านที่สนใจศึกษาธรรม จะไม่ให้สนใจศึกษาธรรมก็ไม่ได้ เพราะว่าต้องเป็นไปตามปกตูปนิสสยปัจจัย เพราะเป็นผู้ที่มีปกติสะสมกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา หรือศรัทธา หรือศีล สุตะ จาคะมาแล้วในอดีต
ชีวิตประจำวันของท่านผู้ฟังซึ่งเป็นผู้ที่ให้ทาน ในขณะนั้นสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะแม้การให้ทานหรือกุศลที่เป็นไปในทาน ในขณะนั้นก็เป็นเพราะปกตูปนิสสยปัจจัย คือ ทานกุศลที่ได้กระทำมาแล้ว ในอดีตเป็นปัจจัย ซึ่งชีวิตของแต่ละคนก็มีการสะสมในเรื่องของสภาพธรรมทั้งจิตและเจตสิกในลักษณะต่างๆ เช่น บางท่านเป็นผู้ที่ให้ทานมากจริง มีอุปนิสัยในการให้ทาน แต่เป็นผู้ที่มีศีลน้อย หรือว่ามีสุตะ คือ การฟัง การศึกษาน้อย เป็นไปตามปัจจัยอีกเหมือนกัน สะสมปัจจัยที่จะกระทำทานกุศล แต่ไม่ได้สะสมปัจจัยในการฟัง ในการศึกษาธรรม หรือว่าในการที่จะเจริญศีลให้มั่นคงขึ้น
บางท่านเป็นผู้ที่มีศีลดี เพราะว่ามีอุปนิสัยสะสมมาในการที่จะวิรัติทุจริต ทางกาย ทางวาจา แต่ว่าเป็นผู้ที่มีทานกุศลน้อย นี่ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งสิ้น หรือบางท่านเป็นผู้ที่มีศีลดี แต่เมตตาน้อย เป็นไปได้ไหม เพราะฉะนั้น ศีลย่อมไม่มั่นคง ถ้าเป็นผู้ที่ขาดเมตตา
บางท่านเป็นผู้ที่ไม่ทำทุจริตทางกาย ทางวาจาเป็นปกติ แต่ว่าเป็นผู้ที่เห็นแก่ตัว ไม่ผิดศีล ไม่ได้กระทำทุจริตทางกาย ทางวาจา แต่คิดถึงแต่ความสุขของตนเอง ไม่คำนึงถึงความสุขของคนอื่น ก็แสดงว่าเป็นผู้ที่มีศีลดี แต่เป็นผู้ที่ยังขาดเมตตา เพราะฉะนั้น ถ้ามีการปรารถนาความสุขของตนมากขึ้น ศีลนั้นย่อมไม่มั่นคง เพราะจะมีการกระทำทุจริตทางกาย ทางวาจาได้ ถ้ายังคงเป็นผู้ที่เห็นแก่ความสุขของตนเองจนกระทั่งสามารถที่จะทำทุจริตทางกาย ทางวาจาได้
นี่เป็นในขณะที่กุศลเกิดในวันหนึ่งๆ แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลประเภทของทาน หรือศีล หรือการศึกษาธรรม การอบรมเจริญปัญญา
และในชีวิตประจำวัน ไม่ได้มีแต่กุศล อกุศลก็มีมาก ซึ่งแต่ละบุคคลจะเป็นผู้ที่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า ขณะที่เกิดความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรสลักษณะใด ก็เป็นเพราะอุปนิสัยปัจจัยที่สะสมมาเป็นปกติ คือ เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยทำให้พอใจในรูปเช่นนั้นๆ หรือว่าในเสียงอย่างนั้นๆ ในกลิ่นอย่างนั้นๆ ในรสอย่างนั้นๆ เป็นชีวิตปกติประจำวัน
เวลาที่ท่านผู้ฟังนึกถึงอาหารที่จะบริโภค แต่ละคนก็นึกถึงอาหารที่ชอบตามการสะสมที่เป็นปกติ ทำให้พอใจในรสอาหารเช่นนั้นๆ หรือขณะที่โกรธ ไม่พอใจ ก็ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนอีก ไม่ว่าจะเป็นความโลภ หรือความโกรธ บางคนไม่พอใจในรูปอย่างนั้น ในเสียงอย่างนั้น ในกลิ่นอย่างนั้น ในรสอย่างนั้น ในกิริยาอาการ ในมารยาท ในวาจาของบุคคลอย่างนั้นๆ ซึ่งอาจจะเป็นที่พอใจของบุคคลอื่น แต่สำหรับท่าน ท่านไม่พอใจ นี่แสดงให้เห็นว่าเป็นความต่างกันตามอุปนิสัยที่สะสมมาเป็นปกติ จึงเป็นอุปนิสัยที่มีกำลัง เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย
ท่านผู้ฟังซึ่งยังไม่ใช่พระอริยบุคคล ย่อมมีทุจริตกรรมบ้าง แล้วแต่ว่าจะเป็น ทางกาย หรือทางวาจา คงจะมีการฆ่าสัตว์เล็กสัตว์น้อย ปาณาติบาตบ้าง ให้ทราบว่า ถ้าไม่เคยฆ่ามาก่อนในอดีต ปัจจุบันนี้ก็คงจะไม่ฆ่า บางท่านแม้ไม่ฆ่าสัตว์ใหญ่ แต่ยังมีการเบียดเบียนชีวิตสัตว์เล็กสัตว์น้อย โดยมีข้ออ้างหลายอย่างว่า เป็นสัตว์ที่ทำให้ท่านเดือดร้อน เช่น ยุง มด เป็นต้น แต่ในขณะที่กระทำปาณาติบาตครั้งหนึ่ง ก็จะเป็นอุปนิสสยปัจจัย คือ เป็นปัจจัยที่มีกำลังที่จะทำให้เกิดการฆ่า หรือปาณาติบาตอีกในอนาคต และอาจจะรุนแรงจนกระทั่งถึงสามารถที่จะฆ่าแม้มารดา บิดา มิตรสหาย หรือผู้ที่มีคุณก็ได้ นี่เป็นเพราะปกตูปนิสสยปัจจัย คือ ปัจจัยที่มีกำลังทำให้สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้น
ซึ่งในพระไตรปิฎกมีข้อความที่แสดงว่า ปาณาติบาต คือ การฆ่าสัตว์อื่น เป็นอุปนิสสยปัจจัยให้เกิดปาณาติบาตอีก หรือเป็นปัจจัยให้เกิดอทินนาทาน การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ เป็นปัจจัยให้เกิดกาเมสุมิจฉาจาร และเป็นปัจจัยให้เกิดมุสาวาทได้
เป็นชีวิตประจำวันที่แสดงให้เห็นว่า แต่ละขณะที่เกิดขึ้น อกุศลเป็น ปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศลประเภทต่างๆ มากขึ้น เพิ่มขึ้น เช่น ปาณาติบาต การฆ่าสัตว์ เป็นปัจจัยให้เกิดอทินนาทานได้ เมื่อฆ่าแล้วก็เอาทรัพย์สิ่งของของบุคคลนั้นด้วย เป็นปัจจัยให้เกิดกาเมสุมิจฉาจารได้ เพราะบางทีฆ่าสามีแล้ว ก็ประพฤติผิดในกามในภรรยาของบุคคลนั้นด้วย
สำหรับปาณาติบาตเป็นปัจจัยให้เกิดมุสาวาท เป็นของธรรมดา เพราะเมื่อฆ่าแล้วย่อมจะมีทุจริตกรรมต่อไป คือ ไม่ต้องการให้บุคคลอื่นล่วงรู้ถึงกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดมุสาวาท
แม้อทินนาทาน การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ เป็นปัจจัยแก่ปาณาติบาตได้ ปล้นและก็ฆ่าด้วย ไม่ใช่เพียงแต่จะเอาทรัพย์ไปอย่างเดียว เมื่อปล้นแล้วก็ยังฆ่าปิดปาก เพราะฉะนั้น การปล้นเอาทรัพย์ของบุคคลอื่นย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดปาณาติบาตได้ เป็นปัจจัยให้เกิดกาเมสุมิจฉาจารได้ เป็นปัจจัยให้เกิดมุสาวาทได้ เป็นปัจจัยให้เกิดผรุสวาจา การพูดคำหยาบได้
เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ คำหยาบที่พูด ถ้าไม่มีปัจจัยย่อมพูดไม่ได้ เกิดไม่ได้ แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะให้พูดคำหยาบครั้งหนึ่ง ก็จะเป็นปัจจัยให้พูดคำหยาบครั้งต่อไป ครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นอุปนิสัยที่จะให้เป็นผู้ที่มีปกติพูดคำหยาบคายได้
สำหรับคำผรุสวาจา เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดปาณาติบาตได้ เป็นปัจจัยให้เกิดอทินนาทานได้ และเป็นปัจจัยให้เกิดกาเมสุมิจฉาจารได้
ผู้ที่พูดคำหยาบ จิตที่พูดในขณะนั้นต้องเป็นจิตที่ประทุษร้ายบุคคลที่ตนกล่าวคำหยาบด้วย และถ้าโทสะมีกำลังแรงกล้าขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่จะกล่าววาจาที่เป็น ผรุสวาจาเท่านั้น ยังถึงกับประทุษร้ายร่างกายได้ หรือถึงกับทำลายชีวิตได้ อันเนื่องมาจากการพูดคำหยาบนั่นเอง เพราะฉะนั้น แม้การสะสมการพูดคำหยาบ ก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยที่จะให้เกิดอกุศลกรรมต่างๆ เช่น ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร
เป็นไปได้ไหม คำหยาบที่จะทำให้เกิดกาเมสุมิจฉาจาร คำหยาบ คำลามก ซึ่งจะทำให้เกิดกาเมสุมิจฉาจาร เป็นไปได้ถ้ามีการเสพบ่อยๆ
สำหรับคำพูดส่อเสียด แม้เพียงคำพูดส่อเสียด ก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยที่จะทำให้เกิดทุจริตกรรม แม้ปาณาติบาตก็ได้ อทินนาทานก็ได้ กาเมสุมิจฉาจารก็ได้ มุสาวาทก็ได้
สำหรับวัยรุ่น เพียงการส่อเสียดกันเล็กๆ น้อยๆ ทีละนิดทีละหน่อย ก็จะเป็นปัจจัยทำให้ถึงกับโกรธอย่างรุนแรง และเกิดการทำร้ายกัน ฆ่ากันได้ นี่ก็เป็น ปกตูปนิสสยปัจจัยของการสะสมคำพูดที่ส่อเสียด
ในขณะเดียวกัน เมื่อมีการส่อเสียดแล้ว มีจิตคิดจะประทุษร้ายแล้ว ก็เป็นเหตุให้ทำอทินนาทานได้ คือ ถ้าคิดที่จะประหัตประหารกันก็ต้องแสวงหาอาวุธที่จะทำการประหัตประหารกัน ก็อาจจะเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ คือ อาวุธต่างๆ และก็ประหัตประหารกัน เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า อกุศลทั้งหมดสามารถที่จะเชื่อมโยงเป็นปัจจัยโดยเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย แม้สัมผัปปลาปวาจา คำพูดเพ้อเจ้อ สร้างอารมณ์เพ้อฝันต่างๆ ก็ย่อมจะเป็นปัจจัยให้เกิดปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร และมุสาวาทได้
เพราะฉะนั้น การไม่อบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะละความไม่รู้ ย่อมจะทำให้อกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไป ไขว้เขวโดยประการต่างๆ สนับสนุนเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยที่จะทำให้พอกพูนอกุศลยิ่งขึ้น
ถ. ผู้ที่ฆ่าสัตว์สามารถเป็นปัจจัยให้ทำอทินนาทานด้วยก็ได้ กาเมสุมิจฉาจารด้วยก็ได้ มุสาวาทด้วยก็ได้ ผมคิดว่าไม่น่าจะเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย น่าจะเป็นเหตุปัจจัยมากกว่า
สุ. ท่านผู้ฟังอาจจะคิดถึงประเภทของจิตที่เป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำนั้นๆ เช่น การฆ่าจะต้องเกิดขึ้นเพราะโทสมูลจิต คือ อกุศลประเภทโทสะเป็นปัจจัย ไม่ใช่ โลภมูลจิตที่ทำให้เกิดการฆ่า โลภะจะเป็นปัจจัยให้เกิดการฆ่าได้ไหม ลองคิดดู เป็นปัจจัยได้ โดยเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย อย่าลืม จิตที่ฆ่าต้องเป็นโทสมูลจิต ต้องการทำลายชีวิตของบุคคลหรือสัตว์นั้น ในขณะนั้นจิตต้องเป็นโทสมูลจิตแน่นอน แต่ ที่จะฆ่านั้น เพราะปรารถนาทรัพย์สมบัติ เพราะฉะนั้น การฆ่านั้นย่อมเกิดจาก มูล ๓ ได้ คือ เกิดจากโลภมูลก็ได้ เกิดจากโทสมูลก็ได้ เกิดจากโมหมูลก็ได้
ถ้าเกิดจากโลภะเป็นมูล โดยเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดการฆ่า แต่ในขณะที่ฆ่า จิตที่จะฆ่านั้นต้องเป็นโทสมูลจิต เพราะฉะนั้น จะเห็นความกว้างขวางของปกตูปนิสสยปัจจัยได้ โลภะก็เป็นปัจจัยให้เกิดโทสะได้ แต่เวลาที่โลภะจะเป็นปัจจัยให้โทสมูลจิตเกิด ขณะนั้นโดยเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย
ถ. ทำไมการฆ่าเป็นปัจจัยทำให้ถือเอาสิ่งของๆ เขาด้วย และถือเอาภรรยาของเขาด้วย ไม่น่าจะเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย
สุ. ชีวิตประจำวันเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า
ถ. เป็นอย่างนั้น แต่คิดว่า น่าจะเป็นเหตุปัจจัยมากกว่า
สุ. แต่ปกตูปนิสสยปัจจัยไม่เป็นสหชาตปัจจัย เช่น การที่ท่านผู้ฟังมาศึกษาธรรม ขณะนั้นมีอะไรเป็นอารมณ์ อะไรเป็นปัจจัยให้ท่านมาศึกษาธรรม ต้องเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย
ศรัทธาเป็นปัจจัยให้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ แต่ถ้าขาดสุตะ คือ การฟัง การพิจารณาโดยแยบคาย ศรัทธาก็เป็นปัจจัยให้เกิดมานะหรือทิฏฐิได้โดย ปกตูปนิสสยปัจจัย อาศัยศรัทธานั่นเอง อุปนิสสยะ หมายความถึงสภาพธรรมซึ่งเป็นที่อาศัยซึ่งมีกำลัง นิสสยะ คือ ที่อาศัย อุป คือ สภาพที่มีกำลัง เพราะฉะนั้น อุปนิสสยปัจจัย คือ ที่อาศัยที่มีกำลัง
เวลาที่อยากจะได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่น เป็นอุปนิสสยปัจจัย เป็นที่อาศัยที่มีกำลังที่ทำให้เกิดทุจริตกรรม คือ อทินนาทาน ถือเอาสิ่งของที่คนอื่นไม่ได้ให้ เมื่อถือเอาสิ่งของที่คนอื่นไม่ได้ให้โดยการปล้น และยังฆ่าด้วย ในขณะนั้นที่ปล้นและฆ่า การปล้นนั้นเป็นอุปนิสสยปัจจัยที่ทำให้ฆ่า เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง ถ้าไม่ปล้น ก็ไม่ฆ่า แต่เมื่อปล้นแล้วฆ่า การปล้นนั้นเองจึงเป็นที่อาศัยที่มีกำลังทำให้เกิดการฆ่าในขณะนั้น เพราะฉะนั้น อทินนาทานนั้นก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย คือ เป็นที่อาศัยที่มีกำลังที่ทำให้เกิดปาณาติบาต และเป็นที่อาศัยที่มีกำลังที่จะทำให้เกิดมุสาวาท และเป็นที่อาศัยที่มีกำลังที่จะทำให้เกิดผรุสวาท และอาจจะเป็นที่อาศัยที่มีกำลังตามเหตุการณ์ให้เกิดกาเมสุมิจฉาจารได้ เพราะอาศัยการฆ่า หรืออาศัยอทินนาทาน การถือเอาสิ่งของซึ่งเจ้าของไม่ได้ให้
เพราะฉะนั้น ก็เชื่อมโยงกันไป โดยที่เหตุการณ์หนึ่งเป็นที่อาศัยที่มีกำลังทำให้เหตุการณ์อีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้นต่อไป นี่คือ สภาพที่เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย
ถ. ผู้ที่ให้ทานในสมัยนี้ ผมเห็นเขาเอาอาหารใส่ในจานยกขึ้นบนศีรษะอธิษฐาน ซึ่งก็คงจะอยากได้อะไรๆ ไม่ให้ป่วยไข้ ร่ำรวย หรือสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง การถวายทานแบบนี้ จะถือว่าเป็นปัจจัยอะไร
สุ. กุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศล เพราะว่ามีทานกุศลเกิดแล้ว แต่อาศัยทานกุศลนั่นเองเป็นปัจจัย คือ เป็นที่อาศัยที่มีกำลังที่ทำให้ปรารถนาผลอย่างหนึ่งอย่างใดของกุศลนั้นในขณะนั้น
ถ. ถ้าจะไม่ให้อกุศลจิตเกิด ต้องทำอย่างไร
สุ. เจริญสติ ที่มีประโยชน์ที่สุด คือ มหากุศลญาณสัมปยุตต์ ไม่ว่าจะเป็นในขณะที่ให้ทาน หรือในขณะที่วิรัติทุจริต
จะเห็นได้ว่า การให้ทานที่เป็นกุศลญาณวิปปยุตต์ก็มาก คือ ไม่ประกอบด้วยปัญญา แต่ถ้าประกอบด้วยปัญญาแล้ว แม้ในขณะที่ให้ทาน สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรมในขณะนั้น เป็นหนทางที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท โดยการเพิ่มความรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยต่างๆ แต่ละขณะ
เพราะฉะนั้น ก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง ไม่ว่าจะให้ทาน ก็ต้องเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย เมื่อให้ทานแล้วยังเกิดความปรารถนาผลที่จะเกิดจากทานนั้นก็เป็นเพราะปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นที่อาศัยที่มีกำลังโดยกุศลเป็น ปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศลได้ กุศลเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลก็ได้ และกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดอัพยากตธรรม คือ วิบากจิตและกิริยาจิตก็ได้
ท่านที่เข้าใจว่า ท่านเป็นผู้ที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะแล้ว ถ้าไม่พิจารณา จริงๆ อาจไม่ทราบว่า ขณะใดท่านเคลื่อนไปจากการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ โดยไม่รู้ตัวเลย เข้าใจว่าตัวเองนั้นอาศัยศรัทธาจึงถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ แต่ในขณะที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรม ไม่ได้พิจารณาหนทางข้อปฏิบัติที่จะให้รู้แจ้ง อริยสัจธรรม และมีความเลื่อมใสนับถือในข้อประพฤติปฏิบัติของบุคคล ซึ่งข้อประพฤติปฏิบัตินั้นไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นก็ไม่ใช่เป็นผู้ที่มีพระอริยสงฆ์เป็นสรณะ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๒ ตอนที่ ๑๑๑๑ – ๑๑๒๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1081
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1082
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1083
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1084
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1085
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1086
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1087
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1088
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1089
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1090
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1091
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1092
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1093
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1094
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1095
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1096
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1097
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1098
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1099
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1100
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1101
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1102
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1103
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1104
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1105
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1106
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1107
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1108
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1109
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1110
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1111
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1112
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1113
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1114
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1115
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1116
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1117
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1118
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1119
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1120
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1121
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1122
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1123
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1124
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1125
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1126
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1127
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1128
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1129
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1130
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1131
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1132
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1133
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1134
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1135
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1136
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1137
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1138
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1139
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1140