แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1127
ครั้งที่ ๑๑๒๗
สาระสำคัญ
กรรมเป็นสมุฏฐานให้เกิดจักขุปสาท
ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ ไม่ใช่วิถีจิต
รูปที่จะปรากฏที่กายทวารมีเพียง ๓ รูป
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๒๕
ท่านผู้ฟังจะเห็นความน่าอัศจรรย์ของการที่สภาพธรรมจะปรากฏครั้งหนึ่งๆ ในชีวิตได้ เพราะถ้าย่อเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตลงอย่างละเอียดที่สุดแล้ว จะปรากฏว่ามีการเกิดขึ้นของจิตที่กำลังรู้อารมณ์หนึ่งเพียงขณะเดียวๆ จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ขณะหนึ่งและก็ดับไปๆ ถ้าไม่สามารถรู้ความจริงอย่างนี้ จะปรากฏเหมือนกับเป็นเหตุการณ์ยาวนานสำคัญเหลือเกิน แต่ถ้าย่อหรือตัดลงมาแล้ว จะเหลือเพียงการเกิดขึ้นรู้อารมณ์ของจิตแต่ละขณะเท่านั้น
บางท่านกล่าวว่า รูปซึ่งเป็นที่อาศัยเกิดของจิต จะแตกกระจัดกระจายลงในขณะใดได้ทั้งหมด คือ ความตายง่ายที่สุด เพียงไม่รักษา ไม่ทะนุถนอมรูปนี้ไว้อย่างดี รูปนี้ก็ไม่สามารถจะเป็นปัจจัย เป็นที่อาศัยให้เกิดจิตได้ เพราะรูปนี้บอบบางและอันตรายมาก เพียงถูกมีดนิดเดียวเลือดก็ไหล กระทบอะไรหน่อยก็พร้อมที่จะแตกย่อยไปได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น รูปนี้ไม่ยั่งยืน ความตายเป็นสิ่งซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วเมื่อไรก็ได้ แต่การที่จะมีชีวิตเป็นอยู่ต่อไปโดยที่ยังไม่ตาย เป็นสิ่งน่าอัศจรรย์ว่า มีปัจจัยอะไรที่จะทำให้การประจวบกันของปัจจัยต่างๆ ของนามธรรมและรูปธรรม ที่จะสัมพันธ์และเป็นปัจจัยกันให้สภาพธรรมปรากฏแต่ละขณะ
กรรมเป็นสมุฏฐานให้เกิดจักขุปสาท ไม่มีใครสามารถที่จะสร้างจักขุปสาทรูปได้ เพราะจักขุปสาทรูปนั้นเป็นรูปที่ใส สามารถรับกระทบเฉพาะสีคือสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สีสันวัณณะ แต่เป็นคุณลักษณะ เป็นสภาพของรูปซึ่งกรรมทำให้สามารถรับกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตาได้ กรรมทำให้จักขุปสาทเกิดดับ ๑๗ ขณะ เมื่อเกิดแล้ว ก็ดับไป เกิดแล้ว ๑๗ ขณะก็ดับไป อาจจะยังไม่มีการเห็นเลย เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ ขณะที่กำลังได้ยินเสียง จักขุปสาทซึ่งเกิด เมื่อถึง ๑๗ ขณะของจิตก็ดับ โดยที่ไม่ได้กระทำกิจการงาน ไม่ปรากฏว่าเป็นที่เกิดของการเห็น หรือว่าไม่ปรากฏให้รู้ว่ามีรูปนั้นเลย เมื่อไม่ปรากฏจึงไม่รู้ว่าเป็นรูปนั้น แต่จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม รูปซึ่งมีสมุฏฐานให้เกิด ก็เกิด และก็ดับไปตามอายุ เพราะฉะนั้น การประจวบกันของแต่ละขณะ รวดเร็วเหลือเกิน เพราะว่าจักขุปสาท หรือโสตปสาท หรือฆานปสาท หรือชิวหาปสาท หรือกายปสาท หรือหทยวัตถุ ซึ่งเป็นที่เกิดของจิต ก็มีอายุเพียงแค่จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ
รูปารมณ์ สี คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา
สัททารมณ์ เสียงที่ปรากฏทางหู
คันธารมณ์ กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก
รสารมณ์ รสที่ปรากฏทางลิ้น
โผฏฐัพพารมณ์ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว สิ่งที่ปรากฏทางกาย ก็มีอายุ ๑๗ ขณะเหมือนกัน
แต่ทั้งจักขุปสาทก็ดี รูปารมณ์ก็ดี ซึ่งต่างก็มีอายุ ๑๗ ขณะ จะต้องเกิดและเป็นปัจจัยที่จะทำให้มีการเห็นเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วเพียงไร เพราะว่าจักขุปสาทที่เกิดต้องยังไม่ดับ คือ ยังไม่ถึง ๑๗ ขณะ และรูปารมณ์ที่เกิดก็ต้องยังไม่ถึง ๑๗ ขณะ ยังไม่ดับ จึงจะเป็นปัจจัยที่กระทบกันและทำให้ภวังคจิตไหว เป็นภวังคจลนะ ๑ ขณะ เป็นขณะที่ ๒ ของรูปทั้งสอง (ขณะที่ ๑ ของรูปทั้ง ๒ คือ ขณะที่เกิด ซึ่งจิตที่เกิดพร้อมรูปขณะที่ ๑ นั้น เรียกว่าอตีตภวังค์) และภวังคุปัจเฉท เป็นขณะที่ ๓ ของรูปทั้งสอง เมื่อภวังคุปัจเฉทดับแล้ว เป็นปัจจัยให้ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้น ซึ่งเป็นขณะที่ ๔ ของทั้งจักขุปสาทและรูปารมณ์ที่ยังไม่ดับ
ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิต ภวังคจิตทั้งหมดไม่ใช่วิถีจิต จิตใดก็ตามที่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิต จิตนั้นเป็นวิถีจิต เพราะฉะนั้น อตีตภวังค์ไม่ใช่วิถีจิตภวังคจลนะไม่ใช่วิถีจิต ภวังคุปัจเฉทะไม่ใช่วิถีจิต
ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตที่ ๑ ดับไป จักขุวิญญาณซึ่งเกิดต่อเป็นวิถีจิตที่ ๒ ดับไป สัมปฏิจฉันนจิตเป็นวิถีจิตที่ ๓ สันตีรณจิตเป็นวิถีจิตที่ ๔ โวฏฐัพพนจิต เป็นวิถีจิตที่ ๕ ชวนจิตอีก ๗ ขณะเป็นวิถีจิตที่ ๖ และตทาลัมพนะอีก ๒ ขณะเป็นวิถีจิตที่ ๗ อายุของรูป ๑๗ ขณะจึงดับพร้อมกับตทาลัมพนขณะที่ ๒ ทั้งจักขุปสาทและ รูปารมณ์
นี่คือการเป็นปัจจัยอย่างรวดเร็วของนามธรรมและรูปธรรม น่าอัศจรรย์ไหม แต่ละขณะที่จะเห็นได้ ได้ยินได้ ได้กลิ่นได้ ลิ้มรสได้ รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสได้
ถ. คำว่า วิถีจิต นอกจากปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ จิตอื่นทั้งหมดเป็นวิถีจิต แต่ตามปริจเฉทที่ ๔ ตั้งแต่อตีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ ถึงตทาลัมพนะ ๒ ขณะ รวม ๑๗ ขณะ เขาก็เรียกว่าวิถีจิต นัยหนึ่ง
สุ. นั่นเป็นการแสดงอายุของรูป เรียกวิถีจิตไม่ได้ ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นวิถีจิต จักขุวิญญาณเป็นวิถีจิต สัมปฏิจฉันนจิตเป็นวิถีจิต สันตีรณจิตเป็นวิถีจิต โวฏฐัพพนจิตเป็นวิถีจิต ชวนจิต ๗ ขณะเป็นวิถีจิต ตทาลัมพนะ ๒ ขณะเป็นวิถีจิตไม่ได้นับอตีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ แต่แสดงว่ารูปเกิดพร้อมกับการเกิด ของอตีตภวังค์ และมีอายุ ๑๗ ขณะของจิต จึงดับพร้อมกับการดับของตทาลัมพนจิต เป็นการแสดงอายุของรูป
ถ. รู้สึกว่าสับสน ทางปัญจทวารมีผู้บอกว่า ถ้าเป็นอติมหันตารมณ์แล้ว วิถีจิตมี ๑๗ ขณะ พูดกันอย่างนี้
สุ. มีรูป ๑๗ ขณะ ไม่ใช่มีวิถีจิต ๑๗ ขณะ หมายความว่า รูปนั้นตั้งอยู่ ๑๗ ขณะของจิตถ้าถึงตทาลัมพนะ แต่ถ้าไม่ถึงตทาลัมพนะ รูปนั้นดับก่อนที่ตทาลัมพนะ จะเกิด เพราะฉะนั้น เป็นปัจจัยให้เพียงชวนจิตเกิด เป็นชวนวาระ ซึ่งรูปนั้นต้องเกิดก่อนปัญจทวาราวัชชนจิตหลายขณะ ไม่ใช่เพียง ๓ ขณะเท่านั้น
ถ. ขณะที่รูปารมณ์มากระทบจักขุปสาท ทำให้ภวังคจิตไหวครั้งที่ ๑ ครั้งที่ ๒ ขณะนั้นรูปารมณ์เป็นอุปาทขณะหรือฐีติขณะ ถึงวิถีจิตไหนจึงชื่อว่าฐีติขณะ และขณะไหนที่เรียกว่าภังคขณะ
สุ. ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะนับตายตัว ในขณะที่จักขุปสาทรูปเกิดพร้อมกับ รูปารมณ์ แสดงให้เห็นว่า ทั้งจักขุปสาทรูปและรูปารมณ์ต้องดับพร้อมกันเมื่ออายุครบ ๑๗ ขณะของจิต แต่ในระหว่างนั้น อาจจะไม่มีวิถีจิตเกิดเลยก็ได้ กำลังนอนหลับสนิทเป็นภวังค์ รูปก็เกิดขึ้นมีอายุ ๑๗ ขณะของจิต คือ จิตเกิดดับไป ๑๗ ขณะ รูปๆ นั้น ก็ดับโดยวิถีจิตไม่เกิดเลย
ไม่ได้หมายความว่า รูปจะต้องเกิดตรงวิถีจิตหนึ่งวิถีจิตใด แต่หมายความว่า รูปแต่ละรูปต้องเกิดตามสมุฏฐาน คือ สำหรับรูปที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน เกิดทุก อนุขณะของจิตตั้งแต่ปฏิสนธิขณะ ปฏิสนธิจิตมี ๓ อนุขณะ คือ อุปาทขณะ ฐีติขณะ และภังคขณะ กรรมเป็นสมุฏฐานให้รูปเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิต และกรรมก็เป็นสมุฏฐานให้รูปเกิดต่อไปในฐีติขณะของจิต และกรรมก็เป็นสมุฏฐานให้รูปเกิดต่อไปในภังคขณะของจิต แต่ละกลุ่ม แต่ละกลาป นั่นคือการที่กรรมเป็นสมุฏฐาน กรรมจะเป็นสมุฏฐานให้รูปเกิดทุกๆ อนุขณะของจิต
แต่ถ้าจิตเป็นสมุฏฐานให้เกิดรูป รูปต้องเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิต นี่คือความต่างกันของรูปแต่ละสมุฏฐานที่จะเกิดว่า รูปสมุฏฐานนี้จะเกิดในขณะไหน แต่ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นวิถีจิต
ถ้ารูปเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน รูปนั้นต้องเกิดพร้อมกับจิต แต่จิตดับก่อน รูปใดก็ตามซึ่งเป็นจิตตชรูป เป็นรูปซึ่งเกิดเพราะจิตนั้นเป็นสมุฏฐาน จิตนั้นดับแต่ รูปนั้นยังไม่ดับ รูปนั้นยังอยู่ต่อไปจนถึงขณะที่ ๑๗ ของจิตและจึงดับ
เป็นการนับอายุของรูปเท่านั้นเอง การเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะ
ถ. จักขุปสาทกับรูปารมณ์ที่เกิดไม่พร้อมกัน ดับไม่พร้อมกัน ก็เป็นไปได้ ใช่ไหม
สุ. เป็นไปได้ และไม่เป็นปัจจัยซึ่งกันและกันด้วย ต่างก็เกิด ต่างก็ดับไป
ถ. ตอนที่จะเห็นได้ ต้องบังเอิญมาพร้อมกัน ทั้งเกิด ทั้งดับ
สุ. ปสาทรูปซึ่งเป็นจักขุปสาทรูปต้องยังไม่ดับจึงจะเป็นปัจจัยได้ และ รูปารมณ์ก็ต้องยังไม่ดับจึงจะเป็นปัจจัยได้ แล้วแต่ว่ารูปารมณ์นั้นเกิดก่อนจิตในวิถีนั้น กี่ขณะ ถ้าเกิดก่อนมากขณะ ก็ไม่เป็นปัจจัยให้ตทาลัมพนะเกิด ไม่เป็นปัจจัยให้ชวนะเกิด หรือไม่เป็นปัจจัยให้โวฏฐัพพนะเกิด เป็นปัจจัยเพียงให้ภวังคจลนะเกิดเท่านั้น และก็ดับไป
ถ. จุติจิตเป็นปัจจัยให้รูปเกิดได้ไหม หมายถึงรูปเก่า อย่างร่างกายของบุคคลคนหนึ่ง จุติจิต คือ จิตดวงสุดท้าย
สุ. สำหรับคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ จุติจิตเป็นปัจจัยให้รูปเกิด
ถ. ไม่ได้หมายถึงรูปใหม่ที่เกิดเพราะปฏิสนธิจิต หมายถึงรูปเดิม
สุ. รูปที่เกิดพร้อมปฏิสนธิจิต เกิดขึ้นเพราะกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตนั้นเกิด จึงเป็นรูปที่เกิดพร้อมปฏิสนธิจิต เป็นร่างใหม่ รูปใหม่ ในภพใหม่ ภูมิใหม่
แต่สำหรับจุติจิต ยังเป็นจุติจิตของภพนั้น ยังเป็นปัจจัยให้รูปในภพนั้นเกิด พร้อมกับจุติจิต และรูปนั้นจะคงอยู่อีกจนถึง ๑๗ ขณะ จึงจะดับ ซึ่งเร็วมาก
ถ. แต่สำหรับจุติจิตของพระอรหันต์ ไม่เป็นปัจจัยให้รูปเกิด
สุ. ไม่เป็นปัจจัยให้รูปเกิด มีความต่างกันสำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์และไม่เป็นพระอรหันต์ แม้แต่การที่จะเป็นปัจจัยให้รูปเกิดในขณะสุดท้ายของจิต คือ ใน ขณะจุติ
ถ. เมื่อรูปารมณ์มากระทบกับจักขุปสาทแล้ว จิตเกิดขึ้นทางปัญจทวารวิถี รูปนี้เกิดขึ้น ๑๗ ขณะของจิต ใช่ไหม
สุ. รูปเกิดเมื่อไร เวลาที่มีการเห็นครั้งหนึ่งๆ รูปต้องเกิดก่อนจักขุวิญญาณ รูปต้องเกิดก่อนปัญจทวาราวัชชนะ รูปต้องเกิดก่อนภวังคุปัจเฉทะ รูปต้องเกิดก่อน ภวังคจลนะ
ถ. เมื่อรูปกระทบจักขุปสาทดับไปแล้ว จักขุวิญญาณก็...
สุ. อะไรดับ
ถ. รูป
สุ. รูปยังไม่ดับ ถ้ารูปารมณ์ดับไปแล้ว จักขุวิญญาณจะเกิดไม่ได้
ถ. ใช่ ขณะที่กระทบกันยังไม่ดับ ขณะนั้นจักขุวิญญาณก็เกิดขึ้น ขณะต่อไปรูปยังเกิดอยู่ที่จักขุปสาท
สุ. อย่าใช้คำว่า เกิด ต้องใช้คำว่า รูปนั้นยังไม่ดับ
ถ. ยังไม่ดับที่จักขุปสาท ต่อไปจนถึงตทาลัมพนะอย่างนั้นหรือ
สุ. ถ้าวิถีจิตเกิดมากถึงตทาลัมพนะ ชื่อว่าตทาลัมพนวาระ เพราะรูปกระทบแล้วตั้งอยู่ ๑๗ ขณะของจิต เป็นปัจจัยให้ตทาลัมพนะจิตเกิดได้ จึงชื่อว่า ตทาลัมพนวาระ
แต่ถ้ารูปเกิดก่อน และกระทบๆ แต่วิถีจิตยังไม่เกิด เพราะฉะนั้น รูปก็ต้องผ่านไปๆ พอถึง ๑๗ ขณะ รูปดับที่ชวนวิถีจิต ตทาลัมพนจิตเกิดไม่ได้ จึงเป็น ชวนวาระ
แต่ถ้ารูปเกิดก่อนนั้นอีก และกระทบๆ แต่วิถีจิตยังไม่เกิด เพียงแค่โวฏฐัพพนะเกิดเท่านั้น จึงเป็นโวฏฐัพพนวาระ
และถ้ารูปนั้นเกิดก่อนนั้นอีก และกระทบๆ ถ้าอายุของรูปไม่พอที่จะถึงโวฏฐัพพนะ จะเป็นภวังค์ตลอด คือ ภวังคจลนะๆ จะไม่เป็นแม้ภวังคุปัจเฉทะ เพราะถ้าเป็นภวังคุปัจเฉทะ ปัญจทวาราวัชชนจิตต้องเกิดโดยอนันตรปัจจัย เพราะ ภวังคุปัจเฉทะหมายถึงกระแสภวังค์ดวงสุดท้าย เมื่อเป็นกระแสภวังค์ดวงสุดท้ายก็เป็นอนันตรปัจจัยให้ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิด และปัญจทวาราวัชชนจิตก็เป็นอนันตรปัจจัยให้ทวิปัญจวิญญาณดวงหนึ่งดวงใดเกิด แล้วแต่ว่าจะเป็นจักขุวิญญาณ หรือ โสตวิญญาณ หรือฆานวิญญาณ หรือชิวหาวิญญาณ หรือกายวิญญาณ
จากนั้นจักขุวิญญาณเป็นอนันตรปัจจัยให้สัมปฏิจฉันนจิตเกิด
สัมปฏิจฉันนจิตเป็นอนันตรปัจจัยให้สันตีรณจิตเกิด
สันตีรณจิตเป็นอนันตรปัจจัยให้โวฏฐัพพนจิตเกิด
เพราะฉะนั้น ถ้ารูปนั้นเกิดก่อนนานมาก ไม่สามารถที่โวฏฐัพพนจิตจะเกิด วิถีจิตแม้ปัญจทวารวัชชนจิตก็ไม่เกิด ภวังคุปัจเฉทะก็ไม่เกิด จึงเป็นแต่เพียง ภวังคจลนะ คือ รูปใกล้จะดับแล้ว เหลืออีกไม่กี่ขณะก็จะดับ จึงไม่เป็นปัจจัยที่จะให้วิถีจิตเกิดได้
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. ไม่เป็นอารมณ์ จักขุวิญญาณจะต้องเป็นอนันตรปัจจัยให้สัมปฏิจฉันนะ สัมปฏิจฉันนะต้องเป็นอนันตรปัจจัยให้สันตีรณะ สันตีรณะต้องเป็นปัจจัยให้ โวฏฐัพพนะ และถ้าอารมณ์นั้นมีอายุพอที่โวฏฐัพพนะจะเกิด วิถีจิต คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตจึงจะเกิดจนถึงตทาลัมพนะได้ แต่ถ้าไม่สามารถที่จะให้ โวฏฐัพพนะเกิด แปลว่าอายุของอารมณ์ใกล้ที่จะหมด เพราะฉะนั้น ไม่เป็นปัจจัยแม้ให้วิถีจิตเกิด เพราะว่าวิถีจิตที่จะเกิดเพียงปัญจทวาราวัชชนะไม่มี ความรวดเร็วของจิตจะต้องเป็นอนันตรปัจจัยต่อไปจนกระทั่งถึงโวฏฐัพพนจิต ชื่อว่าโวฏฐัพพนวาระ เมื่อถึงโวฏฐัพพนจิตแล้ว รูปนั้นดับ เมื่อรูปนั้นดับก็ไม่เป็นปัจจัยให้ชวนจิตเกิดได้
ถ. การเจริญสติเพื่อให้เกิดปัญญา ใช่ไหม
สุ. ให้รู้ความจริงว่า การที่จะรู้รูปให้ถูกต้องจนสามารถประจักษ์การเกิดดับของรูปได้ ต้องเป็นรูปที่ปรากฏ มีลักษณะจริงๆ เฉพาะแต่ละทวารซึ่งไม่ระคนกัน
ถ. หมายความว่า ต้องรู้ทั้งรูปทั้งนาม ใช่ไหม
สุ. แน่นอน มิฉะนั้นแล้ว แยกออกจากกันไม่ได้
ถ. รู้อะไรของรูป รู้ลักษณะ หรือรู้อะไรของรูป
สุ. รู้ลักษณะที่ปรากฏแต่ละทวารตามความเป็นจริง
เช่น ทางกาย กายทวาร รูปที่จะปรากฏที่กายทวารได้มีเพียง ๓ รูป คือ โผฏฐัพพารมณ์ ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ตรงที่ที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น จะประชุมรวมกัน ควบคุมกัน ทรงจำไว้เป็นอิริยาบถ หรือเป็นท่าทางไม่ได้ รูปไหนก็ตามซึ่งไม่ปรากฏ ขณะนั้นจะไม่มีความสำคัญอะไรเลย เหมือนกับรูปที่โต๊ะ ที่เก้าอี้ ขณะนี้ก็เกิดดับตามสมุฏฐาน รูปใดที่เกิด ตั้งอยู่ ๑๗ ขณะแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น การรู้รูปที่จะประจักษ์ว่าเป็นรูป ไม่ใช่ตัวตน จึงต้องรู้แต่ละรูป แต่ละลักษณะ ซึ่งไม่ระคนกัน ไม่ปนกัน ตามความเป็นจริง
ถ. ที่รู้นี้ หมายถึงรู้โดยการพิจารณา ใช่ไหม
สุ. เริ่มจากสติระลึกลักษณะที่ปรากฏ เมื่อมีลักษณะจริงๆ เป็นสัจธรรม เป็นของจริงกำลังปรากฏ ก็มีการน้อมที่จะรู้ ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า สิกขา คือ ศึกษา
ถ. และต้องปฏิบัติไปจนถึงขั้นไหน หมายถึงว่าต้องปฏิบัติไปเรื่อยๆ ปัญญาขั้นต่อไปจะเกิดเอง หรือจะต้องทำอย่างไรต่อไป
สุ. ท่านผู้ฟังห่วงเรื่องถึงขั้น โดยทราบว่ามีกี่ขั้น แต่ตามความเป็นจริง ไม่จำเป็นที่จะต้องคิดถึงหรือว่าพะวงถึงขั้น แต่ที่ควรจะรู้ คือ ตรงตามความเป็นจริง เป็นผู้ตรง เป็นอุชุปฏิปันโนว่า ความรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเกิดขึ้นหรือยัง เอาความรู้เท่านั้น ไม่ต้องเอาอย่างอื่นเลย ไม่ต้องคิดถึงขั้น เพราะถ้าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเพิ่มขึ้น ละเอียดขึ้น มากขึ้น จะไม่ถึงขั้นไหนเลย แต่ขณะที่ความรู้ค่อยๆ เพิ่มขึ้น วันหนึ่ง เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง ชาติหนึ่ง ก็จะถึงแต่ละขั้นได้ตามความเป็นจริง
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๓ ตอนที่ ๑๑๒๑ – ๑๑๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1081
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1082
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1083
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1084
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1085
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1086
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1087
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1088
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1089
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1090
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1091
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1092
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1093
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1094
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1095
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1096
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1097
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1098
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1099
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1100
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1101
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1102
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1103
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1104
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1105
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1106
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1107
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1108
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1109
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1110
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1111
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1112
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1113
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1114
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1115
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1116
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1117
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1118
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1119
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1120
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1121
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1122
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1123
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1124
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1125
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1126
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1127
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1128
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1129
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1130
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1131
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1132
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1133
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1134
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1135
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1136
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1137
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1138
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1139
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1140