แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1130
ครั้งที่ ๑๑๓๐
สาระสำคัญ
ปัจฉาชาตปัจจัย - นามธรรมเป็นปัจจัยโดยอุปถัมภ์รูปที่เกิดก่อนและยังไม่ดับไป
อัฏฐสาลินี รูปกัณฑ์ - จิต ๑๖ ดวง ที่ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดรูป
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๒๕
อย่าลืมว่า ในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิด รูปที่เกิดร่วมด้วยไม่ใช่จิตตชรูป แต่เป็นกัมมชรูป เพราะฉะนั้น รูปนั้นอาศัยจิตเป็นสหชาตปัจจัย เกิดพร้อมกันจริง แต่ว่ารูปนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะจิตนั้นเป็นสมุฏฐาน แต่เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน เพราะฉะนั้น ข้อความในอัฏฐสาลินีจะแสดงให้เห็นถึงปัจฉาชาตปัจจัยว่า นามใดทำให้รูปเกิด นามใดทำให้อิริยาบถเกิด และนามใดทำให้วิญญัติรูปเกิด และเมื่อรูปต่างๆ เหล่านั้นเกิดแล้ว จิตดวงหลังๆ ต่อไปก็เป็นปัจฉาชาตปัจจัย เป็นปัจจัยโดยอุปถัมภ์ รูปนั้นที่เกิดแล้ว
ถ. พระอรหันต์ท่านเห็นเก้าอี้ ท่านก็ต้องเห็นว่าเป็นเก้าอี้ ถ้าท่านไม่เห็นว่าเป็นเก้าอี้ท่านก็นั่งไม่ได้ แต่ก่อนจะเห็นเป็นเก้าอี้ ท่านก็ต้องเห็นสีของเก้าอี้ก่อน และคิดถึงรูปร่างของสิ่งนั้น ปุถุชนก็เห็นเก้าอี้เหมือนกัน ผู้ที่ไม่ได้ฟังเรื่องของปรมัตถธรรมจะเถียงว่า มีเก้าอี้ตัวนี้จริงๆ และมีเขาที่กำลังเห็นเก้าอี้อยู่ นั่นเป็นความเห็นผิด เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ บุคคลอื่นก็เห็นเก้าอี้ได้ แต่ไม่ใช่โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ถ้าเขาไม่ยืนยันว่า เก้าอี้ตัวนั้นมีจริงๆ เพราะเขารู้ว่า การรู้อันนั้นก็เป็นสภาพที่รู้รูปร่างของสี ซึ่งไม่ใช่เขากำลังรู้เก้าอี้
สุ. ท่านผู้ฟังทราบว่า โลภมูลจิตมี ๘ ดวง หรือ ๘ ประเภท ซึ่งจำแนกออกโดยความต่างกันเป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง ประกอบด้วยความเห็นผิด และ ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ข้อที่ควรพิจารณา คือ ผู้ที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ มีโลภมูลจิต ๘ ดวง เพราะฉะนั้น ต้องรู้ว่าขณะใดเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ขณะใดเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์
ถ. เห็นเดี๋ยวนี้ เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ได้ไหม
สุ. เมื่อไรเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์
ถ. สังเกตไม่ได้
สุ. แต่โลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ มี ใช่ไหม
ถ. โดยการศึกษามี
สุ. ตามความเป็นจริง มีไหม
ถ. คิดว่ามี
สุ. เพราะฉะนั้น จะต้องอบรมเจริญปัญญาจริงๆ และจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างตรงตามความเป็นจริง สามารถที่จะรู้ว่า ขณะใดเป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ขณะใดเป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์
ถ. โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ คือ ความเห็นผิดว่า เก้าอี้นี้มีจริงๆ และมีผมกำลังเห็นเก้าอี้จริงๆ เป็นอย่างอื่นไม่ได้
สุ. มีความเห็นว่า ต้องเที่ยง และเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ใช่เป็นปรมัตถธรรม
ถ. คนที่เห็นว่าเป็นเก้าอี้ แต่ไม่ได้ยึดหรือเข้าใจผิดว่า สภาพที่รู้รูปร่างของสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเรา
สุ. วันหนึ่งๆ เห็นเก้าอี้ คิดอะไรบ้าง หรือว่าไม่ได้คิด นั่งไปเลย วันหนึ่งๆ เห็นอาหาร คิดอะไรบ้าง หรือว่ารับประทานเลย
ถ. บางทีผมเดินไปเห็นเก้าอี้ ก็นั่งไปเลย
สุ. เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามซึ่งไม่มีความเห็น ทิฏฐิ คือ ความเห็น ถ้าขณะใดที่ไม่มีความเห็นผิด ขณะนั้นก็เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ขณะใดที่เกิดความเห็นผิดขึ้น ขณะนั้นจึงเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ถ้าเห็นเก้าอี้แล้วนั่งโดยไม่ได้คิดอะไร ไม่ได้เห็นผิดอะไร ขณะนั้นเป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์
แต่การเห็นของปุถุชนว่าเป็นเก้าอี้ กับการเห็นของผู้ที่เป็นพระอรหันต์ว่า เป็นเก้าอี้นั้น ยังต่างกัน โดยที่ว่าปุถุชนปราศจากสติ ไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น ในขณะที่เห็น มีกิเลสก็ไม่รู้ว่ามีกิเลส นั่นสำหรับปุถุชน แต่ว่าผู้ที่เป็น พระอรหันต์ รูปร่างหน้าตาผิวพรรณก็คงเหมือนเดิม ถ้าในภูมิมนุษย์ก็เป็นมนุษย์ ท่านหนึ่งเหมือนกับปุถุชนอื่นๆ แต่เวลาที่พระอรหันต์เห็นเก้าอี้ พระอรหันต์รู้ว่า เป็นเก้าอี้ ปุถุชนรู้ว่าเป็นเก้าอี้ จิตของพระอรหันต์เป็นมหากิริยาจิต แต่จิตของปุถุชนเป็นอกุศลจิต ในขณะที่รวดเร็วทางปัญจทวารสืบต่อกับทางมโนทวารโดยมีวิถีจิตคั่น ไม่มีใครจะไปยับยั้งความต่างกันของสภาพของจิตของพระอรหันต์กับสภาพจิตของปุถุชนได้
คือ เห็นเหมือนกัน เป็นจักขุวิญญาณ แล้วแต่ว่าจะเป็นอกุศลวิบากหรือ กุศลวิบาก รู้ว่าเป็นเก้าอี้เหมือนกัน แต่ในขณะที่รู้นั้น ปุถุชนเป็นอกุศล พระอรหันต์เป็นมหากิริยาจิต นี่คือสภาพจิตที่ต่างกัน แม้อารมณ์จะเหมือนกัน
ถ. ต่างกันแค่เป็นกิริยา กับเป็นอกุศล
สุ. แต่เหตุที่จะให้เป็นมหากิริยาจิต ช่างแสนต่างกับการที่เป็นอกุศลจิต จากการที่เป็นอกุศลจิตในวันหนึ่งๆ ที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้าง เมื่ออบรมเจริญปัญญาเพิ่มขึ้น วันหนึ่งจากการเห็นแล้ว เป็นอกุศลจิต ก็เป็นเห็นแล้วเป็นมหากิริยาจิต แต่ช่วงที่จะทำให้จากอกุศลจิตเป็น มหากิริยาจิต เป็นสิ่งที่จะต้องอบรมเจริญอย่างถูกต้อง
ถ. เห็นเก้าอี้และมีความรู้สึกว่า เก้าอี้ตัวนี้สีสวยดี รูปร่างกะทัดรัดดี เบาะนั่งนิ่มดี ความคิดอย่างนี้เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ หรือทิฏฐิคตวิปปยุตต์
สุ. ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ เพราะที่กล่าวว่า ดีๆ เป็นเรื่องของโลภะทั้งนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเห็นว่า เที่ยง หรือสูญ หรืออะไรทั้งสิ้น
ถ. ถ้าเห็นว่า เก้าอี้ตัวนี้ราคาแพงกว่าเก้าอี้ธรรมดาๆ ความเห็นอย่างนี้จะเป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์ไหม
สุ. แน่นอน ลองเทียบดูกับพระอรหันต์หรือพระโสดาบันก็ได้ พระอริยบุคคลท่านก็คิดอย่างนี้ ท่านก็เห็นอย่างนี้ แต่สำหรับพระโสดาบันบุคคลดับโลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์เป็นสมุจเฉทไม่เกิดอีกเลย แต่ปุถุชนเมื่อยังไม่ดับ วันหนึ่งก็จะมีความเห็นว่า เที่ยง หรือสูญ หรือมีความเห็นอื่นๆ อีก ซึ่งเป็นความเห็นผิดต่างๆ ออกไปอีก
ในคราวก่อนเป็นเรื่องของปัจฉาชาตปัจจัย ซึ่งหมายความถึงนามธรรมที่เกิดขึ้นในภายหลังอุปถัมภ์รูปธรรมซึ่งเกิดก่อนและยังไม่ดับไป
รูปธรรมที่เกิดร่วมกันกับนามธรรมในร่างกายของสิ่งที่มีชีวิต คือ ในร่างกายของสัตว์บุคคลต่างๆ นั้น รูปธรรมเป็นปัจจัยแก่นามธรรม โดยที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วยังไม่ดับไป เป็นอายตนะ เป็นที่ประชุม เป็นที่ต่อ เป็นที่อาศัยเกิดของจิต หรือว่าเป็นรูปซึ่งจิตกำลังรู้รูปนั้นเป็นอารมณ์ อย่างหนึ่ง แต่สำหรับนามธรรม จะเห็นได้ว่า ในขณะที่จิตกำลังเกิดในขณะนี้ มีรูปซึ่งเกิดก่อนและยังไม่ดับไปด้วย เพราะฉะนั้น นามธรรม คือจิตและเจตสิกในขณะนี้ซึ่งเกิด และก็มีรูปที่เกิดก่อนและยังไม่ดับไป นามธรรมจะมีความสัมพันธ์หรือว่าจะเป็นปัจจัยแก่รูปโดยสถานใด เพราะว่านามธรรม คือ จิตและเจตสิกในขณะนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่จิตและเจตสิกประเภทที่ทำให้เกิดรูป แต่ก็เป็นปัจจัยโดยอุปถัมภ์รูปที่เกิดก่อนและยังไม่ดับไป นี่คือความหมายของปัจฉาชาตปัจจัย ซึ่งเป็นการแสดงให้รู้ว่า นามธรรมและรูปธรรมซึ่งกำลังเกิดและยังไม่ดับไปนั้น เกื้อกูลเป็นปัจจัยและอุปถัมภ์กันอย่างไร
อัฏฐสาลินี รูปกัณฑ์ มีข้อความที่ว่า มีจิต ๑๖ ดวง ที่ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดรูป เพราะฉะนั้น ย่อมไม่เป็นปัจจัยให้เกิดอิริยาบถ ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดกายวิญญัติและ วจีวิญญัติ
จิต ๑๖ ดวง ได้แก่ ปฏิสนธิจิตทุกดวงทุกภูมิ ๑ จุติจิตของพระอรหันต์ ๑ ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง คือ
จักขุวิญญาณ ๒ เป็นกุศลวิบาก ๑ และอกุศลวิบาก ๑
โสตวิญญาณ ๒ เป็นกุศลวิบาก ๑ และอกุศลวิบาก ๑
ฆานวิญญาณ ๒ เป็นกุศลวิบาก ๑ และอกุศลวิบาก ๑
ชิวหาวิญญาณ ๒ เป็นกุศลวิบาก ๑ และอกุศลวิบาก ๑
กายวิญญาณ ๒ เป็นกุศลวิบาก ๑ และอกุศลวิบาก ๑
จิต ๑๐ ดวงนี้เป็นจิตที่มีกำลังอ่อน ไม่เป็นปัจจัยให้รูปเกิด เพราะฉะนั้น ก็ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดอิริยาบถ หรือว่าไม่เป็นปัจจัยให้เกิดกายวิญญัติ วจีวิญญัติ
นอกจากนั้น มีอรูปวิบากจิตอีก ๔ ดวง ซึ่งทำกิจปฏิสนธิในอรูปพรหมภูมิ ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดรูป เพราะว่าเป็นการเกิดในอรูปพรหม
เว้นจิต ๑๖ ดวงนี้แล้ว จิตอื่นแม้ว่าจะเป็นปัจจัยให้รูปเกิดก็จริง แต่จิต บางประเภทไม่เป็นปัจจัยให้เกิดอิริยาบถ หรือกายวิญญัติและวจีวิญญัติขึ้น ได้แก่ จิตประเภทวิบากจิต
นอกจากวิบากจิต ยังมีจิตประเภทอื่นด้วย ซึ่งจะไม่ขอกล่าวถึงโดยละเอียด เพียงแต่ให้ทราบว่า นอกจากจิต ๑๖ ดวง ซึ่งไม่เป็นปัจจัยให้รูปเกิด จิตอื่นแม้เป็นปัจจัยให้รูปเกิด ก็ไม่เป็นปัจจัยให้อิริยาบถหรือวจีวิญญัติเกิดนั้น ได้แก่ ขณะที่กำลังเป็นภวังคจิต เป็นต้น เช่น ในขณะที่กำลังนอนหลับสนิท ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดอิริยาบถ กายวิญญัติ หรือวจีวิญญัติ
สำหรับทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง ซึ่งเป็นจิตที่มีกำลังอ่อนและไม่เป็นปัจจัยให้เกิดรูป เป็นปัจฉาชาตปัจจัยหรือเปล่า
การศึกษาธรรม ต้องค่อยๆ พิจารณาไปโดยละเอียดจริงๆ ถ้าทราบว่า ปัจฉาชาตปัจจัย คือ นามธรรมซึ่งเกิดขึ้นภายหลังเป็นปัจจัยโดยอุปถัมภ์รูปธรรมซึ่ง เกิดก่อน เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง ไม่เป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้น ก็จริง แต่เป็นปัจฉาชาตปัจจัย คือ อุปถัมภ์รูปธรรมซึ่งเกิดก่อน
เพราะฉะนั้น ชั่วแต่ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดเท่านั้นที่นามธรรมไม่เป็นปัจจัยแก่รูปธรรมโดยปัจฉาชาตปัจจัย เพราะว่ารูปธรรมและนามธรรมเกิดพร้อมกัน แต่หลังจากขณะปฏิสนธิแล้ว รูปธรรมเกิดแล้ว และก็ตั้งอยู่ถึงอายุของจิตเกิดดับไป ๑๗ ขณะ รูปๆ หนึ่งจึงดับ เพราะฉะนั้น ขณะที่ปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว รูปที่เกิดพร้อมปฏิสนธิจิตยังไม่ดับ ดังนั้นปฐมภวังค์ซึ่งเกิดภายหลังก็เป็นปัจฉาชาตปัจจัย คือ อุปถัมภ์รูปซึ่งเกิดก่อนและยังไม่ดับ
ทุกท่านที่กำลังนั่งอยู่ในที่นี้ นามธรรมคือจิตและเจตสิกของท่านซึ่งเกิดในขณะนี้ เป็นปัจฉาชาตปัจจัย คือ อุปถัมภ์รูปธรรมซึ่งเกิดก่อนและยังไม่ดับ เพราะว่าเป็นนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดเนื่องกัน และอุปถัมภ์เป็นปัจจัยสัมพันธ์กัน
สำหรับจิตประเภทที่เป็นฌานจิต มหัคคตจิต ไม่ว่าจะเป็นรูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล สำหรับผู้ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ หรือว่าเป็นรูปาวจรกิริยาจิต อรูปาวจรกิริยาจิต สำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้ว หรือว่าเป็นมรรคจิต เป็นผลจิต ขณะนั้นเป็นปัจจัยให้เกิดรูป และอุปถัมภ์อิริยาบถ แต่ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญัติรูป
เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญความสงบ มีความชำนาญมาก ฌานจิตจะเกิดขณะไหนก็ได้ เช่น ท่านพระสารีบุตร ในขณะที่ถวายอยู่งานพัด ฌานจิตของท่านเกิดสลับกับกามาวจรจิตที่ทำให้เกิดอิริยาบถ คือ การถวายอยู่งานพัดในขณะนั้น และฌานจิตซึ่งเกิดคั่นก็อุปถัมภ์อิริยาบถนั้นให้เป็นไปอย่างนั้นได้โดยตลอด
สำหรับจิตอื่นๆ เช่น อกุศลจิต ๑๒ ดวง มหากุศลจิต ๘ ดวง สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ และมหากิริยาจิตสำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์ จิตเหล่านี้ เป็นต้น เป็นปัจจัยให้รูปเกิดด้วย เป็นปัจจัยให้อิริยาบถเกิดด้วย และเป็นปัจจัยให้วิญญัติรูป เกิดด้วยได้ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า จิตแต่ละประเภทเป็นปัจจัยให้รูปแต่ละรูป หรือว่าอาการของรูปแต่ละอาการเกิดขึ้นได้
ถ. ท่านพระสารีบุตรขณะที่กำลังถวายอยู่งานพัดนั้น ฌานจิตของท่านเกิดสลับกับกามาวจรจิต ขณะที่ฌานจิตเกิด ขณะนั้นจะทำงานพัดได้หรือ
สุ. ความเกิดดับของจิตเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก เพราะฉะนั้น ฌานจิตเกิดสลับกับกามาวจรจิตได้ โดยที่มีภวังคจิตคั่น เหมือนอย่างในขณะนี้ จิตเห็นเกิดทางจักขุทวารวิถีจิต และมีจิตซึ่งเป็นไปรู้อารมณ์เดียวกับจิตเห็นหลายขณะและก็ดับ จิตเป็นภวังค์คั่น และมโนทวารวิถีจิตรับรู้อารมณ์ต่อจากทางจักขุทวารวิถีจิตหลายขณะ หลายวาระ และมีภวังคจิตคั่น และก็มีจิตที่ได้ยินเสียงหลายขณะ เป็นโสตทวารวิถีจิต ดับไป และก็มีภวังค์คั่นหลายขณะ และมโนทวารวิถีจิตก็เกิดขึ้นรู้เสียงที่ได้ยินต่อจากทางโสตทวารวิถี และมีภวังค์จิตคั่นหลายวาระ แต่ขณะนี้เสมือนว่าไม่มีอะไรคั่นเลย เพราะฉะนั้น ฌานจิตกับกามาวจรจิตก็ย่อมเกิดสลับกันได้ เสมือนว่าไม่มีอะไรคั่นเลย
ถ. ตามปกติ ถ้าฌานจิตเกิดแล้ว ต้องฟังอะไรไม่รู้เรื่อง ใช่ไหม
สุ. ขณะที่เป็นภวังค์ ซึ่งในขณะนี้คั่นอยู่ระหว่างทางตาที่เห็นกับทางหู โสตทวารวิถีจิตที่ได้ยิน ท่านผู้ฟังขณะที่กำลังเห็น ฟังรู้เรื่องไหม ในเมื่อทางจักขุทวารวิถีต้องไม่ได้ยินเสียง และท่านผู้ฟังก็มีจักขุทวารวิถีเกิด ตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิต จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ชวนจิต ๗ ขณะ ตทาลัมพนจิต ๒ ขณะ และยังมีภวังคจิตคั่น และมโนทวารวิถีจิตก็ยังเกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาต่อ โดยที่มโนทวาราวัชชนจิตเกิดและดับไป ชวนจิตเกิดต่อ และภวังคจิตเกิดคั่นก่อนจะถึงโสตทวารวิถี แต่ท่านผู้ฟังที่กำลังเห็นในขณะนี้ก็ฟังรู้เรื่อง ไม่ใช่ว่าฟังไม่รู้เรื่อง
ถ. แต่ภวังคจิตที่กำลังฟังอยู่นี้ อาจจะเกิดน้อยกว่าฌานจิตที่กำลังเกิดกับท่านพระอานนท์ก็ได้
สุ. เวลานี้ท่านผู้ฟังไม่ทราบว่า ภวังคจิตของท่านเกิดมากน้อยเท่าไร แต่แทนที่จะเป็นภวังคจิตมาก ท่านเหล่านั้นก็เป็นภวังคจิตน้อยและเป็นฌานจิตคั่น ตามลักษณะของผู้ที่สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ ย่อมมีภวังคจิตน้อยกว่า
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๓ ตอนที่ ๑๑๒๑ – ๑๑๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1081
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1082
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1083
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1084
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1085
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1086
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1087
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1088
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1089
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1090
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1091
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1092
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1093
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1094
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1095
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1096
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1097
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1098
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1099
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1100
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1101
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1102
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1103
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1104
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1105
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1106
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1107
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1108
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1109
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1110
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1111
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1112
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1113
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1114
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1115
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1116
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1117
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1118
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1119
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1120
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1121
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1122
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1123
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1124
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1125
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1126
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1127
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1128
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1129
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1130
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1131
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1132
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1133
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1134
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1135
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1136
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1137
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1138
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1139
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1140