แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1137


    ครั้งที่ ๑๑๓๗


    สาระสำคัญ

    อกุศลธรรมมากมายในขณะที่หลงลืมสติ

    เป็นผู้มีปกติเจริญสติ

    รูปเป็นปุเรชาตปัจจัยแก่นามธรรม รูปนั้นต้องเกิดก่อนและยังไม่ดับ

    โลกุตตรกุศลจิตไม่เป็นอาเสวนปัจจัย

    ปัจจัยที่ ๑๓ คือ กัมมปัจจัย


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๓ พฤษภาคม ต่อวันอาทิตย์ที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๒๕


    . ในสามัญญผลสูตร ข้อจิตตานุปัสสนา ท่านกล่าวว่า จิตมีโมหะก็รู้ว่าจิตมีโมหะ จิตไม่มีโมหะก็รู้ว่าจิตไม่มีโมหะ จนถึงจิตเป็นมหรคตก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต จิตไม่เป็นมหรคตก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต คำว่า มหรคต มีความหมายว่าอย่างไร

    สุ. เป็นอีกคำหนึ่งของคำว่า มหัคคตะ เป็นประเภทอัปปนาสมาธิ หรือฌานจิต

    . จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หมายความว่าอย่างไร

    สุ. ถ้าได้ปฐมฌาน ก็รู้ว่าทุติยฌานก็ยังมี ถ้าได้ทุติยฌาน ก็รู้ว่าตติยฌานก็ยังมี ยังมีจิตอื่นซึ่งยิ่งกว่านั้น หรือสมาธิขั้นต่างๆ ก็ได้

    จิตทั้งหมดวิจิตรต่างกันโดยละเอียดก็จริง แต่พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกไว้เป็นประเภทเพียง ๘๙ ประเภทโดยย่อ หรือว่า ๑๒๑ ประเภทโดยพิเศษ แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกท่านมีจิตเหล่านั้นครบทั้ง ๘๙ หรือ ๑๒๑

    เพราะฉะนั้น จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็ตามปกติตามธรรมดาที่สภาพของจิตนั้นๆ เกิดขึ้น ก็รู้ตามความเป็นจริง ข้อสำคัญ คือ ไม่ค่อยรู้ ใช่ไหม โดยเฉพาะท่านที่ยังไม่ได้ศึกษา แม้มีกิเลสก็ไม่รู้ว่ามี เพราะว่าเพียงเห็นนี้ รูปมีอายุเพียง ๑๗ ขณะดับไปอย่างรวดเร็วที่สุด โลภมูลจิตก็เกิดแล้ว หรือว่าโทสมูลจิตก็เกิดแล้ว มีกิเลสก็ไม่รู้ว่ามีกิเลส แต่ถ้าศึกษาจึงจะเห็นตามความเป็นจริงได้ว่า มีอกุศลธรรมมากมายเหลือเกินในขณะที่หลงลืมสติ

    ถ. เรื่องพระเถระที่มีผู้ถามเมื่อครู่นี้เข้ากับเหตุการณ์ในปัจจุบัน คือ ในสำนักต่างๆ ที่ปฏิบัติกันอยู่ ก็ทำอย่างนั้น คือที่ว่า ตอนแรกท่านเหยียดแขนออกไปหยิบของอย่างรวดเร็ว และนึกได้ว่าท่านหลงลืมสติ ท่านจึงวางของลง และค่อยๆ เหยียดแขนออกไปช้าๆ และก็คู้เข้าช้าๆ พระที่นั่งอยู่ด้วยกันจึงถามว่า ท่านอาจารย์ทำไมทำอย่างนั้น ท่านก็บอกว่า ตอนแรกท่านหลงลืมสติ ท่านก็เลยตั้งสติใหม่

    ทำให้ผมนึกถึงการปฏิบัติที่เคยเข้าปฏิบัติในสถานที่แห่งหนึ่ง เป็นห้อง และอาจารย์สอนให้ปฏิบัติเหมือนกันหมด จะนั่ง จะยืน จะเดิน ก็ต้องให้ทำเหมือนกันอย่างนั้น เช่น กำลังนั่งอยู่จะหยิบของ ก็ต้องบอกว่า เห็นหนอ พอยื่นแขนออกไป ก็ต้องบอกว่า ยื่นหนอ ถูกของหนอ จับหนอ คู้หนอ ซึ่งการกระทำอย่างนั้นเป็นการเจาะจง และไม่ทำให้เข้าใจด้วยว่าอะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม เพราะว่าเป็นการสร้างขึ้นมาเพื่อจะรู้ ซึ่งตัวอย่างที่ท่านอ้างขึ้นมานี้ ถ้าอ่านโดยไม่เข้าใจจริงๆ จะทำให้งง และเข้าใจผิดได้ เป็นตัวอย่างที่ทำให้เข้าใจลำบากเหลือเกิน

    สุ. คงเป็นไปได้ที่อ้างว่ามาจากวิสุทธิมรรค หรือมาจากในคัมภีร์ใด คัมภีร์หนึ่งว่ายังกระทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้มีสติมากๆ จะต้องใช้อุบายอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งบางท่านเข้าใจว่าคงจะเป็นไปได้ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว สติเป็นอนัตตา ข้อสำคัญที่สุด ไม่ใช่ว่าต้องทำกายอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้สติเกิด แต่จะต้องรู้ลักษณะของสติซึ่งเกิดแล้วทำกิจของสติ คือ ระลึกทันทีที่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ

    อย่าลืมคำว่า ตามปกติ เพราะว่าในมหาสติปัฏฐานสูตร ทีฆนิกาย ทุกบรรพจะมีคำว่า เป็นผู้มีปกติเจริญสติ แต่ทุกท่านอาจจะลืมคำว่า มีปกติ จึงเป็นผู้ไม่เป็นปกติทำสติ ซึ่งย่อมผิด เพราะถ้าเป็นสติสัมปชัญญะจริงๆ ที่จะสามารถรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ขณะอื่นจากขณะที่เป็นปกติในขณะนี้เอง นี่เป็นสัจธรรม เป็นของจริง เป็นธรรมที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องสร้าง หรือทำอะไรขึ้นเลย เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานที่ถูกต้อง จึงต้องเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติ ไม่ใช่ผิดปกติ

    เพราะฉะนั้น ทุกท่านในขณะนี้เป็นปกติแล้ว กำลังเป็นปกติธรรมดา สติระลึก เมื่อสติเกิดขึ้นทำกิจของสติ คือ ระลึกที่ลักษณะของรูปธรรมทางหนึ่งทางใด หรือว่าลักษณะของนามธรรมที่กำลังเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้

    ไม่ต้องเดินผิดปกติ นั่งก็ไม่ต้องผิดปกติ ยิ้มได้ไหม หัวเราะได้ไหม ดูหนังได้ไหม อ่านหนังสือได้ไหม คุยกันได้ไหม ทุกอย่างในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ถ้าศึกษาเรื่องของปัจจัย ก็น่าสงสัย อย่างปุเรชาตปัจจัย ใครจะรู้ได้ว่า ที่รูปจะเป็นปัจจัยแก่นามธรรมได้ต้องเป็นรูปที่เกิดก่อน ไม่ใช่รูปที่เกิดพร้อมกับจิตนั้นใน อุปาทขณะ หรือแม้แต่อาเสวนปัจจัย ที่จะทราบว่าเพราะเหตุใดเมื่อกุศลจิตดวงที่ ๑ ดับไปแล้ว ชวนะดวงที่ ๒ จึงเป็นกุศลจิตประเภทเดียวกัน และโดยความละเอียด แม้ว่าจะรู้อารมณ์เดียวกันในวิถีเดียวกัน อาศัยทวารเดียวกัน แต่ถ้าเป็นชวนจิตดวงสุดท้ายที่เป็นกุศล หรือที่เป็นอกุศล ไม่เป็นอาเสวนปัจจัยแก่ตทาลัมพนจิตซึ่งเป็นวิบาก เพราะเหตุว่าวิบากเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย

    นี่เป็นความละเอียดของจิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้นว่า มีสภาพต่างกันตามปัจจัย แต่ละปัจจัย ตทาลัมพนจิตดวงที่ ๑ ก็ไม่เป็นอาเสวนปัจจัยให้แก่ตทาลัมพนจิตดวงที่ ๒ ทั้งๆ ที่เป็นชาติวิบากเหมือนกัน รู้อารมณ์เดียวกัน ทวารเดียวกัน เพราะว่า ตทาลัมพนจิตดวงที่ ๒ ก็เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย ไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะจิตดวงก่อนเป็นอาเสวนปัจจัย

    . เรื่องฆานวิญญาณ ทางจมูก นอกจากเราจะสูดกลิ่นเข้าไปแล้ว เวลารับประทานอาหาร ทางจมูกก็ได้กลิ่น แสดงว่าเข้าทางปากก็ได้ ใช่ไหม

    สุ. เข้าทางไหนไม่สำคัญ สำคัญที่ต้องกระทบกับฆานปสาท

    . เพราะฉะนั้น เข้าทางปาก ก็เป็นฆานปสาท

    สุ. แพทย์ที่จะศึกษาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางคอ ก็เกี่ยวข้องกันใช่ไหม

    . ใช่

    สุ. เวลาที่สติปัฏฐานเกิด มีจมูก มีคอ มีหู มีอะไรไหม ไม่มีเลย อย่าลืม ถ้าใครมี หมายความว่าขณะนั้นเป็นเพียงการจำ แต่ลักษณะจริงๆ ไม่ได้ปรากฏ ถ้ากลิ่นปรากฏจะไม่มีอย่างอื่นเลยในขณะนั้น เสียงก็ไม่ปรากฏ หูก็ไม่มี คอก็ไม่มี ปากก็ไม่มี

    เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นที่กลิ่นปรากฏ ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานจริงๆ อย่างอื่นจะไม่ปรากฏ ถ้ายังมีอย่างอื่นปรากฏ หมายความว่า ยังมีความทรงจำในรูปร่าง ในอาการซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นร่างกายของเราอยู่ ซึ่งในขณะนี้รูปอื่นที่ยังไม่ปรากฏก็ ดับไปแล้วๆ อย่างรวดเร็ว จนมีก็เสมือนไม่มี เพราะว่ายังไม่ทันจะรู้เลยก็ดับไปแล้ว เพราะฉะนั้น ก็เหมือนไม่มี ซึ่งก็น่าจะละกิเลสได้ แต่ไม่ใช่เพียงได้ฟัง แต่เมื่อได้ประจักษ์แจ้ง จะไม่มีจริงๆ จะไม่มีสภาพธรรมอื่นเลยนอกจากสภาพธรรมที่กำลังเป็นอารมณ์ ที่กำลังปรากฏ และต้องเป็นปัญญา ไม่ใช่ตัวตนด้วยที่กำลังประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น

    ถ้ายังทรงจำอยู่ เป็นหน้าของเรา เป็นแขนของเรา เป็นขา เป็นกายของเรา กำลังอยู่ในอิริยาบถนั้น อิริยาบถนี้ ยังไม่เพิกถอนอิริยาบถ หมายความว่า นิจจสัญญา หรือว่าอัตตสัญญา ยังไม่คลายการสะสม เพราะว่าปัญญายังไม่ได้อบรมจนกระทั่งสามารถคลายการสะสมของอัตตสัญญาและนิจจสัญญาได้

    . เรื่องทิฏฐิ ๖๒ แบ่งเป็น ๒ พวก ปุพพันตกัปปิกทิฏฐิ ๑๘ ปรารภขันธ์ ในอดีต และในอนาคตอีก ๔๔ เรียกว่าอปรันตกัปปิกทิฏฐิ แต่ถ้าปรารภขันธ์ในปัจจุบันจะเข้าในทิฏฐิ ๖๒ หรือเปล่า

    สุ. อะไรบ้าง

    . ผมปรารภขันธ์ในปัจจุบัน หมายความถึงขณะนี้ สักกายทิฏฐิ ๒๐ ที่มีอยู่กับปุถุชนทั่วไป สักกายทิฏฐิ ๒๐ อยู่ในทิฏฐิ ๖๒ หรือเปล่า

    สุ. เป็นมูลของทิฏฐิ ๖๒ และเป็นบางส่วนของทิฏฐิ ๖๒ เพราะถ้าสักกายทิฏฐิไม่มี ทิฏฐิ ๖๒ ก็มีไม่ได้ ที่ทิฏฐิ ๖๒ จะมีได้ก็เพราะยังมีสักกายทิฏฐิอยู่ จะไม่พ้นไปจากสักกายทิฏฐิ ลึกลงไปคือยังมีสักกายทิฏฐิอยู่ เป็นมูลของทิฏฐิอื่นๆ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็น ๖๒ หรือ ๕๐ หรือ ๔๔ หรืออะไร ก็มีสักกายทิฏฐิเป็นมูล

    . ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ทิฏฐิ ๖๒ คงจะหมดไปได้แล้วใช่ไหม

    สุ. ถ้าสักกายทิฏฐิดับ ทิฏฐิอื่นจะเกิดไม่ได้เลย

    ในคราวก่อนเป็นเรื่องของอาเสวนปัจจัย ข้อที่ควรพิจารณา คือ อาเสวนปัจจัยต่างกับอนันตรปัจจัยอย่างไร

    อนันตรปัจจัย หมายถึงจิตและเจตสิกซึ่งเกิดและดับไปเป็นปัจจัยให้จิตและเจตสิกขณะต่อไปเกิดขึ้น

    สำหรับอาเสวนปัจจัย หมายถึงเฉพาะจิตที่เป็นชวนวิถี คือ เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล หรือเป็นกิริยาจิต ขณะที่ ๑ เป็นอาเสวนปัจจัย เมื่อดับไปแล้วทำให้จิตประเภทนั้น คือ จิตชาตินั้นเองเกิดขึ้น เช่น ถ้าชวนจิตดวงที่ ๑ เป็นโลภมูลจิตที่เกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนาและเป็นอสังขาริกดับไป เป็นอาเสวนปัจจัยให้โลภมูลจิตที่เกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนาและเป็นอสังขาริกขณะต่อไปเกิดขึ้น จนกระทั่งถึงโลภมูลจิตขณะที่ ๗ ซึ่งเกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนาและเป็นอสังขาริก จิตดวงนั้นไม่มีหรือไม่เป็น อาเสวนปัจจัย เพราะว่าไม่สามารถจะทำให้โลภมูลจิตเกิดซ้ำอีกเป็นขณะที่ ๘ ได้

    เพราะฉะนั้น ความต่างกันของอนันตรปัจจัยและอาเสวนปัจจัย คือ อนันตรปัจจัยเป็นปัจจัยเพียงให้จิตและเจตสิกขณะต่อไปเกิดขึ้น เมื่อวิบากจิตดับไปแล้ว กิริยาจิตเกิดต่อได้ หรือว่าเมื่อกุศลจิตดับไปแล้ว วิบากจิตก็เกิดต่อได้

    แต่สำหรับอาเสวนปัจจัยนั้น เป็นปัจจัยให้จิตประเภทเดียวกัน ชาติเดียวกัน ประกอบด้วยเวทนาอย่างเดียวกันเกิดขึ้นซ้ำ โดยที่ว่าจิตชาติอื่น หรือจิตประเภทอื่น จะเกิดต่อไม่ได้

    สำหรับโลกุตตรกุศลจิตไม่เป็นอาเสวนปัจจัย เพราะว่าเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว และดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ไม่เป็นปัจจัยให้โลกุตตรกุศลจิต คือ โสตาปัตติมรรคจิตเกิดซ้ำอีกถึง ๒ ขณะ หรือ ๓ ขณะ เหมือนอย่างโลกียกุศล เพราะฉะนั้น ต้องเว้นสำหรับ โลกุตตรกุศล

    บางปัจจัยจะรู้สึกว่าคล้ายคลึงกัน แต่ว่าเป็นปัจจัยที่ต่างกัน เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นอนันตรปัจจัย แต่ไม่เป็นอาเสวนปัจจัยก็ได้

    โลภมูลจิตเป็นอนันตรปัจจัยหรือเปล่า

    เป็น เมื่อดับไปแล้วต้องมีจิตและเจตสิกขณะต่อไปเกิด

    โลภมูลจิตเป็นอาเสวนปัจจัยหรือเปล่า

    โลภมูลจิตดวงที่ ๑ ถึงดวงที่ ๖ ในชวนวิถีเดียวกันเป็นอาเสวนปัจจัย แต่ โลภมูลจิตขณะที่ ๗ ในชวนวิถีนั้น ไม่เป็นอาเสวนปัจจัย

    ก็เป็นสภาพธรรมซึ่งกำลังเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ในขณะนี้เอง ซึ่งหลังจากเห็นจะต้องมีชวนวิถี มีอาเสวนปัจจัย หลังจากที่ได้ยิน กุศลจิตเกิด เป็นอาเสวนปัจจัย เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่เกิดดับตามปกติในชีวิตประจำวัน แต่ที่จะเห็นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็โดยอาศัยการฟัง การพิจารณา จนสามารถเข้าใจในอรรถที่เป็นอนัตตา สภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน พร้อมที่จะปรุงแต่งปัญญาให้ละการยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ในขณะที่สติกำลังระลึกที่ลักษณะของนามธรรม หรือลักษณะรูปธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    ปัจจัยต่อไป ปัจจัยที่ ๑๓ คือ กัมมปัจจัย

    คำว่า กัมมะ เป็นคำที่ชินหู แต่แม้กระนั้นเรื่องของกัมมะ และเรื่องผลของกรรมก็เป็นปัญหา ไม่เฉพาะแต่ในยุคนี้ แม้ในยุคก่อนๆ และในยุคต่อๆ ไป เพราะบางท่านมีความเห็นว่า การกระทำทั้งหลายไม่ให้ผล อกุศลกรรมไม่ให้ผล หรือว่ากุศลกรรมไม่ให้ผล

    ที่เข้าใจกันอย่างนี้ ก็เพราะว่ายังไม่ได้ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยละเอียดให้เข้าใจโดยถ่องแท้ว่า ที่ชื่อว่ากัมมะ หรือว่าสภาพที่เป็นกัมมะนั้นได้แก่ปรมัตถธรรมอะไร

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และสิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏเป็นไป ได้แก่ จิตปรมัตถ์ ๑ เจตสิกปรมัตถ์ ๑ รูปปรมัตถ์ ๑

    สำหรับรูปปรมัตถ์ เป็นกรรมหรือเปล่า ไม่เป็น เพราะว่ารูปไม่ใช่สภาพรู้

    เมื่อรูปไม่ใช่กรรม ต้องมีเหตุผลด้วยว่าเพราะอะไรรูปจึงไม่เป็นกรรม หรือ ไม่ใช่กรรม ก็เพราะเหตุว่ารูปไม่ใช่สภาพรู้

    ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า รูปธรรมทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นจักขุปสาท จักขุปสาทก็ไม่เห็นอะไร โสตปสาทก็ไม่ได้ยินเสียงอะไร เป็นรูปชนิดหนึ่งซึ่งสามารถรับกระทบเฉพาะเสียง และเวลาที่เสียงปรากฏ ก็เพราะเหตุว่ามีนามธรรม คือ จิตและเจตสิกเกิดขึ้นรู้เสียงที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น รูปทั้งหมดไม่ใช่กรรม เพราะว่ารูปไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่นามธรรม บางท่านอาจจะสงสัยว่า ถ้าไม่มีรูป กรรมจะมีได้ไหม แต่ถึงกระนั้นก็ตาม รูปก็ไม่ใช่กรรม เพราะว่ารูปไม่ใช่สภาพรู้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๔ ตอนที่ ๑๑๓๑ – ๑๑๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 85
    28 ธ.ค. 2564