แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1138
ครั้งที่ ๑๑๓๘
สาระสำคัญ
อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ปริจเฉทที่ ๒ แสดงลักษณะของเจตนาเจตสิก
สุตตันตภาชนีย์ วิภังคปกรณ์ เจตนาเจตสิกเป็นประธานในการปรุงแต่ง
กัมมปัจจัย จำแนกออกได้เป็น สหชาตกัมมปัจจัย ๑ และ นานักขณิกกัมมปัจจัย ๑
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๒๕
จิตปรมัตถ์เป็นกรรมไหม
จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ จิตเป็นสังขารธรรม ขณะใดที่จิตเกิดขึ้น จะต้องมีเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมเกิดร่วมด้วย แล้วแต่ว่าจะเป็นจิตประเภทใด จะมีเจตสิกเกิดร่วมกับจิตนั้นกี่ประเภท แต่จิตเป็นแต่เพียงเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้
ในขณะที่เห็น จิตเห็น แต่เวลาที่รู้สึกเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือเฉยๆ ไม่ใช่จิต เป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง คือ เวทนาเจตสิก ในขณะที่เห็นและจำได้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร สภาพที่จำก็ไม่ใช่จิต เป็นเจตสิกอีกประเภทหนึ่ง คือ สัญญาเจตสิก
เพราะฉะนั้น จิตไม่ใช่กรรม ถ้ากล่าวโดยกว้างอาจจะกล่าวได้ว่า จิตใดที่เป็นกุศล หรือจิตใดที่เป็นอกุศล ทำให้เกิดการกระทำที่เป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรม จิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกันเป็นจิตตุปปาท เป็นกรรม แต่ถ้ากล่าวโดยเจาะจง จิตซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ ไม่ใช่ตัวกรรม ไม่ใช่สภาพที่กระทำกรรม แต่ว่าเจตสิกดวงหนึ่งในเจตสิก ๕๒ ดวง ซึ่งได้แก่ เจตนาเจตสิก เป็นกรรม เพราะว่าเจตนาเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะจงใจ ตั้งใจ ขวนขวาย หรือมุ่งหวัง คือ จัดสรรให้ธรรมที่สัมปยุตต์กับตนเป็นไปในอารมณ์
อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ปริจเฉทที่ ๒ มีข้อความที่แสดงลักษณะของ เจตนาเจตสิกว่า
สภาพธรรมที่ชื่อว่า เจตนา เพราะอรรถว่า มุ่งหวัง คือ จัดสรรให้ธรรมที่สัมปยุตต์กับตนเป็นไปในอารมณ์ หรือถึงความขวนขวายในการปรุงแต่งสิ่งที่เป็น สังขตธรรม
ไม่ว่าท่านผู้ฟังจะคิดนึก จงใจ ตั้งใจที่จะกระทำอะไร ไม่ว่าทางกาย หรือ ทางวาจา ขณะนั้นให้ทราบว่า เป็นสภาพของเจตนาเจตสิกที่จงใจ ตั้งใจ ขวนขวาย ในการปรุงแต่งสิ่งที่เป็นสังขตะ เพราะว่าไม่สามารถปรุงแต่งนิพพานได้ เพราะนิพพานเป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิด
สำหรับเจตสิก ๕๒ ดวง ท่านผู้ฟังทราบแล้วว่า มีเจตสิก ๗ ดวง ซึ่งเป็น สัพพจิตตสาธารณะเจตสิก หมายความว่าเป็นเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกับจิตทุกดวงจึงชื่อว่า สัพพจิตตสาธารณเจตสิก เจตนาเจตสิกเป็นสัพพจิตตสาธารณะเจตสิก คือ เกิดกับจิตทุกดวง ไม่ว่าจิตนั้นจะเป็นกุศล หรืออกุศล หรือวิบาก หรือกิริยา
เมื่อว่าโดยชาติของเจตนา เจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้น จึงมีทั้ง ๔ ชาติ คือ เจตนาที่เป็นอกุศลก็มี เจตนาที่เป็นกุศลก็มี เจตนาที่เป็นวิบากก็มี เจตนาที่เป็นกิริยา คือ ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่วิบาก ก็มี ไม่ว่าจิตใดจะเกิด ที่ไหน ภูมิไหน ทำกิจอะไร เมื่อจิตเกิดขึ้น ในที่นั้นต้องมีเจตนาเจตสิกซึ่งเป็น สัพพจิตตสาธารณเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง
ถ้ากล่าวโดยขันธ์ เจตนาเจตสิกเป็นขันธ์อะไร
ขันธ์มี ๕ คือ รูปขันธ์ ๑ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ วิญญาณขันธ์ ๑
รูปขันธ์ ได้แก่ รูปทุกรูป ทุกประเภท เป็นรูปขันธ์
เวทนาขันธ์ ได้แก่ ความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกดีใจเป็นโสมนัส เสียใจเป็นโทมนัส หรืออทุกขมสุข คือ อุเบกขา เฉยๆ ก็เป็นเวทนาขันธ์
เจตสิกที่นอกจากเวทนาเจตสิก และสัญญาเจตสิก เป็นสังขารขันธ์
เพราะฉะนั้น เจตนาเจตสิกเป็นขันธ์อะไร เป็นสังขารขันธ์ เป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่งยิ่งกว่าสังขารขันธ์อื่น ซึ่งในปฏิจจสมุปบาทแสดงว่า อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร สังขารในที่นี้หมายความถึงปุญญาภิสังขาร ได้แก่ เจตนาเจตสิกซึ่งเกิดกับกามาวจรกุศลและรูปาวจรกุศล อปุญญาภิสังขาร ได้แก่ เจตนาเจตสิกซึ่งเกิดกับอกุศลจิต และอเนญชาภิสังขาร ได้แก่ เจตนาเจตสิกซึ่งเกิดกับอรูปาวจรกุศล ๔ ดวง
สำหรับปุญญาภิสังขารนั้น รวมกามาวจรกุศลและรูปาวจรกุศลทั้งสอง เพราะว่ายังเป็นกุศลที่เป็นไปในรูป ไม่ว่าจะเป็นกามาวจรกุศล หรือรูปาวจรกุศล ก็เป็นปุญญาภิสังขาร
เมื่อจัดโดยขันธ์ เจตนาเป็นสังขารขันธ์ พระผู้มีพระภาคเมื่อทรงจำแนก สังขารขันธ์ ตรัสว่า ชื่อว่าสังขาร เพราะอรรถว่า ปรุงแต่งสิ่งที่เป็นสังขตะ ทรงแสดงไว้ด้วยคำว่า จักขุสัมผัสสชาเจตนา ดังนี้ เป็นต้น ในสุตตันตภาชนีย์ ในวิภังคปกรณ์ เพราะเป็นประธานในการปรุงแต่ง
เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะสังเกตลักษณะสภาพของเจตนาเจตสิก ซึ่งเป็น กัมมปัจจัยได้ว่า เจตนานั้นมีการมุ่งหวัง คือ เป็นสภาพลักษณะที่จงใจ หรือว่า ตั้งใจเป็นลักษณะ ซึ่งมีข้อความอุปมาว่า เหมือนกับผู้เป็นหัวหน้า หรือว่าผู้ที่เป็น นายช่างไม้ใหญ่ เป็นต้น ย่อมยังกิจของตน และกิจของคนอื่นให้สำเร็จ คือ เป็นสภาพธรรมที่ถึงความขวนขวายในการปรุงแต่งสิ่งที่เป็นสังขตะ
ท่านผู้ฟังคงจะพิจารณาเปรียบเทียบได้ ลักษณะของเหตุปัจจัย สภาพธรรมที่เป็นเหตุ ได้แก่ โลภเจตสิกเป็นเหตุให้เกิดพอใจ ยินดี ต้องการ แต่โลภเจตสิกไม่ใช่เจตนาเจตสิก เมื่อมีความยินดี มีความพอใจ มีความต้องการเกิดขึ้น ในขณะนั้นมีสภาพที่ขวนขวาย จงใจ หรือตั้งใจรวมอยู่ด้วย แต่ถ้ากล่าวถึงเจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกรรม เป็นสภาพธรรมที่ขวนขวายในการปรุงแต่ง จึงเป็นกัมมปัจจัย
จะเห็นได้ว่า เจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ทุกประเภท ทุกชาติ ทุกภูมิ เพราะฉะนั้น สำหรับกัมมปัจจัย จำแนกออกได้เป็น ๒ อย่าง คือ สหชาตกัมมปัจจัย ๑ และ นานักขณิกกัมมปัจจัย ๑
สำหรับ สหชาตกัมมปัจจัย ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตทุกดวง โดยเจตนาเจตสิกเป็นปัจจัย ส่วนจิตและเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกันในขณะเดียวกันนั้น เป็นปัจจยุปบัน หมายความว่าในจิตดวงหนึ่งที่มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เมื่อ เจตนาเจตสิกเป็นกัมมปัจจัย จิตและเจตสิกอื่นที่เกิดร่วมกับเจตนานั้นก็เป็นปัจจยุปบัน คือ เป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะกัมมปัจจัยนั้น นอกจากนั้น รูปก็เป็นปัจจยุปบันด้วย เพราะว่าขณะใดที่จิตและเจตสิกเกิด ย่อมมีจิตตชรูปเกิดร่วมด้วย มิฉะนั้นแล้วการกระทำกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่ที่มีการกระทำที่เป็นกุศลกรรมบ้าง หรือว่าอกุศลกรรมบ้าง ก็เพราะว่าเจตนาเจตสิกเกิดร่วมกับจิตและเจตสิกในขณะนั้นเป็นปัจจัยให้รูปซึ่งเกิดเพราะจิตและเจตสิกในขณะนั้น กระทำกายกรรม หรือวจีกรรม ที่เป็นกุศลหรืออกุศล
เพราะฉะนั้น สหชาตกัมมปัจจัย ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตทั้ง ๘๙ ดวง และเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเกิดร่วมกันในขณะนั้น และรูปซึ่งเกิดขึ้นเพราะจิตและเจตสิกในขณะนั้น ก็ต้องเกิดเพราะเจตนาที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้นเป็นกัมมปัจจัยด้วย
ถ. ทำไมสหชาตกัมมปัจจัย รูปเจาะจงเฉพาะจิตตชรูปและปฏิสนธิกัมมชรูปเป็นผลของสหชาตกัมมปัจจัย ส่วนอุตุชรูป อาหารชรูป ทำไมไม่เป็นผลของสหชาตกัมมปัจจัย
สุ. อย่าลืม ปัจจัยนี้ คือ กัมมปัจจัย อย่าทิ้งความหมายเวลาที่จะศึกษาสภาพธรรมใดๆ ก็ตาม
รูปมีสมุฏฐาน ๔ คือ บางรูปมีกรรมเป็นสมุฏฐาน บางรูปมีจิตเป็นสมุฏฐาน บางรูปมีอุตุเป็นสมุฏฐาน บางรูปมีอาหารเป็นสมุฏฐาน แต่ละกลุ่มๆ รูปใดซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรม รูปนั้นไม่ได้เกิดเพราะจิต ไม่ได้เกิดเพราะอุตุ ไม่ได้เกิดเพราะอาหาร และรูปใดซึ่งเกิดขึ้นเพราะจิต รูปนั้นไม่ได้เกิดเพราะกรรม ไม่ได้เกิดเพราะอุตุ ไม่ได้เกิดเพราะอาหารเป็นสมุฏฐาน เพราะฉะนั้น แต่ละกลุ่มของรูปต้องมีสมุฏฐานของตนๆ
สำหรับปัจจัยที่ ๑๓ นี้ คือ กัมมปัจจัย แสดงแล้วว่ารูปต้องเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย และในขณะที่จิตเกิดขึ้นดวงหนึ่งๆ เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ มีจิตตชรูปเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ในขณะที่จิตเกิดขึ้น ไม่ได้เกิดแต่เฉพาะจิต มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ทั้งจิตและเจตสิกเป็นจิตตุปปาท เป็นสมุฏฐานที่จะให้รูปเกิดขึ้นเป็นจิตตชรูป
ถ. เมื่อกรรมเป็นปัจจัย แต่ทำไมจิตตชรูปจึงเป็นปัจจยุปบันได้
สุ. เพราะว่าเจตนาเจตสิกเป็นสหชาตกัมมปัจจัยของจิต ขณะนี้จิตเกิดขึ้นดวงหนึ่ง มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ดวง สำหรับทวิปัญจวิญญาณไม่เป็นสมุฏฐานให้เกิดรูป เพราะว่าเป็นจิตที่มีกำลังอ่อน เพราะฉะนั้น ที่จิตจะเป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้นได้ ต้องเป็นจิตที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากกว่า ๗ ดวง
อย่างโลภมูลจิตเกิดขึ้นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากกว่า ๗ ดวง ในขณะนั้นมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ในขณะที่โลภมูลจิตเกิด มีจิตตชรูปเกิดพร้อมอุปปาทขณะของโลภมูลจิต ซึ่งเจตสิกทุกดวงที่เกิดพร้อมกับโลภมูลจิตนั้นก็เป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น จิตตชรูปเกิดเพราะจิตและเจตสิกเป็นสมุฏฐาน ไม่ใช่เพราะจิตเป็นสมุฏฐานอย่างเดียว นี่เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ
ถ. ถ้าเป็นชวนจิต เจตนาในชวนจิตเป็นกัมมปัจจัยของรูปด้วยไหม
สุ. ตัวเจตนาเป็นกัมมปัจจัย แต่รูปนี้เป็นรูปที่เกิดเพราะจิตและเจตสิกทั้งหมด เพราะฉะนั้น จิตตชรูปในขณะนั้นต้องเกิดเพราะเจตนาเจตสิกเป็นปัจจัยด้วย และถ้าจะกล่าว ก็โดยเป็นสหชาตกัมมปัจจัย ใช้คำว่ากรรม แต่เป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิดในความหมายของสหชาตกัมมปัจจัย
เจตนาเจตสิกเป็นกัมมปัจจัย แต่กัมมปัจจัยจำแนกออกเป็น ๒ อย่าง เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจกัมมปัจจัยทั้ง ๒ อย่างให้ละเอียด คือ เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง เป็นสหชาตกัมมปัจจัยแก่จิตและเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยซึ่งนอกจากจะเป็นปัจจัยให้จิตและเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วยแล้ว ยังเป็นปัจจัยให้รูปเกิดร่วมด้วย และรูปที่เกิดในขณะนั้น คือ จิตตชรูป เพราะจิตเป็นสมุฏฐานให้เกิดรูปได้ นอกจากทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง ซึ่งแม้ว่าจะมีเจตนาเจตสิกเกิดกับ ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวงก็จริง แต่ว่าลักษณะสภาพของทวิปัญจวิญญาณเป็นจิตที่อ่อนไม่มีกำลัง เพราะว่าเกิดเพราะเจตสิกเพียง ๗ ดวงเท่านั้นเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น แม้ทวิปัญจวิญญาณจะมีเจตนาเจตสิกเป็นกัมมปัจจัย แต่ไม่เป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิด
แต่เวลาที่จิตซึ่งมีกำลังที่ไม่ใช่ทวิปัญจวิญญาณเกิดขึ้น จะเป็นปัจจัยให้ จิตตชรูปเกิด โดยมีเจตนาเจตสิกเป็นกัมมปัจจัย เพราะฉะนั้น เจตนาเจตสิกซึ่งเป็น กัมมปัจจัย ก็เป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิดด้วย
ชื่อว่าจิตตชรูป แต่เกิดขึ้นเพราะจิตและเจตสิกทั้งหมด ซึ่งหมายความว่า ต้องเกิดเพราะเจตนาเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยที่เป็นกัมมปัจจัยด้วย โดยเป็นสหชาตกัมมปัจจัย
ขณะที่กำลังนอนหลับ มีจิตตชรูปเกิดไหม
มี เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐
สำหรับปฏิสนธิจิตไม่มีจิตตชรูปเกิดร่วมด้วย หมดปัญหาไปแล้วเพราะว่า ขณะปฏิสนธิดับไปเนิ่นนานแล้ว ไม่ใช่ชีวิตประจำวัน แต่ชีวิตประจำวันมี ทวิปัญจวิญญาณ คือ จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย รวม ๑๐ ดวง เกิดอยู่บ่อยๆ เป็นประจำ จิต ๑๐ ดวงนี้เท่านั้นในชีวิตประจำวันที่ไม่มีรูปเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ในขณะที่นอนหลับสนิทก็ต้องมีจิตตชรูปเกิดร่วมด้วย
ในขณะที่ฝันมีจิตตชรูปเกิดร่วมด้วยไหม
มี
ในขณะนี้มีจิตตชรูปเกิดร่วมด้วยไหม
มี
และในจิตต่างๆ เหล่านั้น ก็มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยเป็นกัมมปัจจัยเพราะฉะนั้น เจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกัมมปัจจัย และเจตสิกอื่นๆ พร้อมทั้งจิต เป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิด
สำหรับสหชาตกัมมปัจจัย คงไม่มีอะไรยุ่งยาก คือ หมายถึงเจตนาเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตทุกดวง ชื่อว่าสหชาตกัมมปัจจัย เพราะว่าเกิดพร้อมกันกับปัจจยุปบัน
สำหรับกัมมปัจจัยอีกประเภทหนึ่ง คือ นานักขณิกกัมมปัจจัย ได้แก่ เจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกัมมปัจจัยทำให้ปัจจยุปบัน คือ ผลของกัมมปัจจัยนั้น เกิดขึ้น ต่างขณะกัน คือ ไม่ใช่เกิดพร้อมกับเจตนาเจตสิกเหมือนอย่างสหชาตกัมมปัจจัย แต่ทำให้ผลของเจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกัมมปัจจัยเกิดขึ้นต่างขณะกัน ไม่ใช่ในขณะเดียวกัน จึงชื่อว่านานักขณิกกัมมปัจจัย เป็นกัมมปัจจัยที่ทำให้ผล คือ วิบากจิตและเจตสิก และกัมมชรูปเกิดขึ้นในภายหลัง เมื่อเจตนาซึ่งเป็นกรรมนั้นดับแล้ว
เพราะฉะนั้น สำหรับนานักขณิกกัมมปัจจัย ได้แก่ เจตนาในจิตซึ่งเป็น กุศลจิตและอกุศลจิตเท่านั้น ไม่ใช่เจตนาในจิตซึ่งเป็นวิบาก หรือเจตนาในจิตซึ่งเป็นกิริยา
ถ้าเจตนาในจิตซึ่งเป็นวิบาก หรือเจตนาในจิตซึ่งเป็นกิริยา เป็นสหชาตกัมมปัจจัย แต่ถ้าเป็นเจตนาในกุศลจิตและอกุศลจิต เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย เพราะว่าเมื่อจิตและเจตสิกรวมทั้งเจตนานั้นดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้วิบากจิตและเจตสิกเกิดขึ้นในภายหลัง ต่างขณะกัน ไม่ใช่ในขณะเดียวกัน
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๔ ตอนที่ ๑๑๓๑ – ๑๑๔๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1081
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1082
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1083
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1084
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1085
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1086
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1087
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1088
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1089
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1090
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1091
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1092
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1093
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1094
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1095
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1096
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1097
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1098
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1099
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1100
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1101
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1102
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1103
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1104
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1105
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1106
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1107
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1108
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1109
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1110
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1111
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1112
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1113
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1114
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1115
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1116
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1117
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1118
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1119
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1120
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1121
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1122
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1123
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1124
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1125
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1126
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1127
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1128
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1129
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1130
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1131
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1132
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1133
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1134
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1135
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1136
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1137
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1138
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1139
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1140