แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1089
ครั้งที่ ๑๐๘๙
สาระสำคัญ
มหากุศล หมายความว่า กุศลที่เป็นไปมากมาย
วิมังสาเป็นอธิบดี
มหากุศลหรืออกุศลนั้นบางครั้งไม่มีอธิปติปัจจัย
การศึกษาธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด
ปัญญาขั้นเข้าใจลักษณะของธรรม
ชวนจิต ๕๒ มีฉันทะเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยบ้าง มีวิริยะเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยบ้าง หรือมีวิมังสา คือ ปัญญา เป็นสหชาตาธิปติปัจจัยบ้าง โดยชาติ ๔ คือ กุศล อกุศล วิบาก กิริยา ซึ่งจะขอกล่าวถึงโดยลำดับ
กามาวจรกุศลเป็นกุศลซึ่งมีปรากฏอยู่ทั่วไป เพราะฉะนั้น มีอีกชื่อหนึ่งว่า มหากุศล หมายความว่า กุศลที่เป็นไปมากมาย ไม่ว่าจะเป็นไปในเรื่องของทาน ในเรื่องของศีล ในเรื่องการอบรมเจริญความสงบ หรือในเรื่องการอบรมเจริญ สติปัฏฐาน ก็เป็นจิตระดับขั้นกามาวจรกุศลทั้งสิ้น เพราะว่ายังไม่ใช่รูปาวจรกุศล ยังไม่ใช่อรูปาวจรกุศล ยังไม่ใช่โลกุตตรกุศล
เมื่อกามาวจรกุศลเป็นไปมากมายทั้งในทาน ศีล ภาวนา ประเภทต่างๆ จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า มหากุศลจิต ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า แต่ละท่านมีฉันทะต่างกันในการกระทำกุศลแต่ละครั้ง มีวิริยะต่างกัน และมีปัญญาระดับขั้นต่างกันด้วย
ถ้าจะกล่าวถึงกุศลที่แต่ละท่านกระทำในวันหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่า ถ้าไม่มีฉันทะในกุศลนั้นๆ จะกระทำกุศลประเภทนั้นไหม ท่านผู้ฟังชอบทำกุศลอะไร นึกออกไหม ไม่ใช่ตัวตน แต่เพราะฉันทะ ความพอใจ สภาพของเจตสิกซึ่งพอใจที่จะกระทำกุศลประเภทนั้นๆ เป็นอธิบดี จึงเป็นปัจจัยทำให้กุศลนั้นเกิดขึ้น
เช่น บางท่านเป็นผู้ที่สนใจ มีฉันทะในการเผยแพร่ธรรม พยายามขวนขวายหาสถานีเพื่อที่จะให้มีการออกอากาศการบรรยายธรรม หรือว่าบางท่านอาจจะมีฉันทะในการพิมพ์หนังสือธรรมแต่ไม่สนใจในกุศลอื่น บางท่านก็มีฉันทะพอใจที่จะแสวงหาช่วยเหลือในการจัดหาอุปกรณ์ในการศึกษาหรือว่าในการเผยแพร่ธรรม บางท่านก็เป็นผู้ที่มีฉันทะในการช่วยเหลือสงเคราะห์ในการรักษาพยาบาล หรือว่ากระทำกิจธุระของเพื่อนฝูงมิตรสหาย หรือแม้แต่ช่วยรักษาพยาบาลสุนัขขาหัก คนที่ไม่มีฉันทะทำได้ไหม เห็นสุนัขขาหักก็ผ่านไป ถ้าไม่มีฉันทะก็ช่วยไม่ได้ เพราะฉะนั้น ใน ๕ คน ๖ คน ๑๐ คนซึ่งผ่านไป ถ้ามีท่านผู้หนึ่งผู้ใดช่วย แสดงว่าท่านผู้นั้นมีฉันทะในการกระทำกุศลประเภทนั้น หรือบางท่านก็ช่วยเหลือนักเรียนที่ขาดแคลน บางท่านก็ดูแลทุกข์สุข ความป่วยไข้ของคนในบ้าน รวมทั้งนอกบ้าน จนถึงทหารชายแดน หรือบรรดาผู้ที่มีความจำเป็นที่จะต้องอยู่ในแหล่งเสื่อมโทรม บางท่านก็มีความเห็นใจในความทุกข์ยาก ซื้อข้าวสารและขับรถไปแจกให้กับผู้ที่ขัดสน
นี่เป็นการทำกุศลประเภทต่างๆ บางท่านสร้างโรงพยาบาล สร้างโรงเรียน บางท่านอย่างอื่นไม่ทำเลยนอกจากบวชพระ ไม่ว่าจะมีใครที่มีศรัทธาในการที่จะอุปสมบท ท่านผู้นั้นก็รับอุปสมบทให้
นี่ก็เป็นฉันทะของแต่ละบุคคล ซึ่งท่านผู้ฟังจะพิจารณาตัวของท่านได้ว่า ท่านมีฉันทะในกุศลประเภทใด ในเรื่องของทาน หรือในเรื่องของศีล หรือในเรื่องความสงบของจิต หรือในเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐาน นี่เป็นทางฝ่ายกุศลในชีวิตประจำวัน
และบางท่านมีฉันทะในการสวดมนต์ สวดได้ยาวมาก สวดได้หมด บางท่านสามารถสวดมหาสติปัฏฐานสูตรได้ทั้งสูตร เวลาที่ท่านสวดมนต์ก็รู้สึกว่าเป็นเวลาที่ท่านมีความสงบใจ มีความสุข ซึ่งในขณะนั้นจะเห็นได้ว่า ฉันทะเป็นอธิบดี แต่ บางท่านอาจจะสวดน้อย แต่สวดด้วยความซาบซึ้งและความเข้าใจในพระคุณใน บทสวดนั้น ขณะนั้นถ้ามีความเข้าใจจริงๆ มีความซาบซึ้งจริงๆ ขณะนั้นวิมังสะหรือปัญญาก็เป็นอธิปติได้
และในวันหนึ่งๆ ทุกท่านไม่ได้มีจิตเหมือนกันทุกครั้งในขณะที่สวดมนต์ เพราะฉะนั้น ถ้าท่านสามารถจะมีสติระลึกรู้ในขณะนั้น ก็จะทราบได้ว่า เป็นกุศลจิตประเภทไหน ประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ประกอบด้วยปัญญา และมีอะไรเป็นอธิบดี ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนทั้งนั้น
หรือบางท่านฟังธรรมจริงแต่ก็เพียงฟัง ขณะนั้นเป็นกุศลประเภทไหน มีศรัทธาเป็นกุศลจิตที่จะฟัง แต่ว่าเป็นญาณวิปปยุตต์ คือ ไม่ประกอบด้วยปัญญา แต่ขณะใดก็ตามที่ฟังแล้วพิจารณา เข้าใจ ในขณะนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นกุศลประเภทที่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิก เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ และแล้วแต่ว่าในขณะนั้นจะมีฉันทะเป็นอธิบดี หรือว่ามีวิริยะเป็นอธิบดี ถ้าขณะนั้นมีฉันทะ ความพอใจที่จะฟังเป็นอธิบดี ในขณะนั้น จิต เจตสิกอื่นที่เกิดร่วมด้วยเป็น อธิปติปัจจัย คือ เป็นหัวหน้า เป็นใหญ่ ในขณะนั้นไม่ได้ เพราะฉันทะเป็นอธิบดีแล้ว
นี่เป็นแต่ละวันในชีวิตประจำวัน นอกจากเรื่องของการสวดมนต์ ก็จะสังเกตได้ว่า ในการทำกุศลทั้งหลายนี้ กุศลของท่านที่มีฉันทะเป็นอธิบดีในขณะไหน ที่มีวิริยะเป็นอธิบดีในขณะไหน หรือว่าที่มีปัญญาเป็นอธิบดีในขณะไหน
ถ. ขอให้อาจารย์ยกตัวอย่าง ที่ว่าจิตเป็นอธิปติปัจจัย
สุ. เวลาที่ขณะนั้นไม่ใช่ฉันทะ ไม่ใช่วิริยะ และไม่ใช่ปัญญา แต่มีจิตที่เกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้น
ถ. เป็นกุศลหรืออกุศลก็ได้
สุ. ได้ อย่างบางท่านมีความมั่นคงในการเจริญกุศล แต่ไม่ใช่เพราะท่านมีฉันทะ หรือวิริยะ หรือปัญญาในขณะนั้น แต่มีความมั่นคงในการที่จะเจริญกุศล ถ้าพูดถึงฝ่ายกุศล
ถ. มั่นคงหรือ
สุ. อย่างบางท่าน ท่านมีความมั่นคงในการไม่พูดมุสาเลย ในขณะที่มีความมั่นคง ในขณะนั้นไม่เห็นลักษณะของฉันทะ ไม่มีลักษณะของปัญญา ไม่มีลักษณะของวิริยะที่เป็นอธิปติ มีแต่สภาพของจิตที่มั่นคงในกุศล
ท่านผู้ฟังมีจิตที่มั่นคงในกุศลประเภทไหนบ้างไหม ที่ท่านขวนขวายฟังธรรม ศึกษาธรรม เวลาที่ลักษณะของอธิปติอื่น เช่น ฉันทะ หรือวิริยะ หรือปัญญา ไม่ปรากฏ แต่ว่าไม่มีใครยับยั้งความมั่นคงของท่านในการที่จะศึกษาธรรม หรือพิจารณาธรรม ในขณะนั้นก็เพราะจิตเป็นอธิบดี
เพราะว่าบางคนกุศลไม่มั่นคงเลย ชักชวนง่ายที่สุดที่จะให้เป็นอกุศล คิดว่า จะมาฟังธรรม แต่ว่ามีเพื่อนฝูงหรือญาติพี่น้องชักชวนนิดเดียวก็ไปแล้ว ในขณะนั้นไม่มีอะไรที่จะเป็นอธิบดีทางฝ่ายกุศล แต่ถ้าอย่างไรๆ ท่านก็ไม่ยอม ขณะนั้นไม่มีลักษณะของฉันทะ หรือวิริยะ หรือปัญญา แต่จิตมั่นคงที่จะเป็นกุศล ในขณะนั้นก็เพราะจิตเป็นอธิบดี
และต้องทราบว่า สำหรับจิตก็ดี ฉันทะก็ดี วิริยะก็ดี ปัญญาก็ดี ที่จะเป็นอธิบดีได้ ไม่ใช่ในขณะที่เป็นวิบากจิต ต้องเป็นในขณะที่เป็นชวนจิตเท่านั้น และต้องเว้นจิตที่อ่อน เช่น จิตที่ประกอบด้วยเหตุเดียว ไม่สามารถที่จะมีธรรมใดเป็นอธิบดีได้
ถ. ขอให้อาจารย์ยกตัวอย่างวิมังสาเป็นอธิบดี
สุ. วิมังสาเป็นอธิบดีต้องเกิดกับมหากุศลที่เป็นญาณสัมปยุตต์ ถ้าเป็นการอบรมเจริญสมถภาวนาหรือว่าสติปัฏฐาน ขณะนั้นก็เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ และเมื่อยังไม่ถึงฌานจิตหรือโลกุตตรจิต ขณะใดที่ประกอบด้วยปัญญาจึงจะเป็นอธิบดี
และถึงแม้ว่าจะเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์จริง แต่ไม่มีกำลัง เช่น ในขณะที่กำลังฟังธรรม มีความเข้าใจไปเรื่อยๆ ยังไม่มีลักษณะที่ปัญญาปรากฏเป็นอธิบดีหรือเป็นหัวหน้า ในขณะนั้นก็เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ แต่ว่าปัญญายังไม่เป็นอธิบดี เพราะฉะนั้น เมื่อไรปัญญาเป็นอธิบดี เมื่อนั้นสติสัมปชัญญะก็จะรู้ว่า กุศลจิตในขณะนั้นมีปัญญาเป็นอธิบดี
ถ. ขณะที่มีความโลภเกิดขึ้น เมื่อจิตรู้ เป็นอธิบดีหรือยัง เป็น ญาณสัมปยุตต์หรือยัง
สุ. คนอื่นไม่สามารถจะบอกได้เลยถึงลักษณะของอธิปติในขณะนั้นว่า มีปัญญาเป็นอธิปติ หรือว่าปัญญายังไม่เป็นอธิปติ ต้องเป็นสติสัมปชัญญะของบุคคลนั้นเองที่จะทราบได้ คนอื่นไม่สามารถที่จะทราบได้
สำหรับฉันทะในอกุศล ทุกท่านสามารถที่จะทราบได้ตามความเป็นจริงว่า ท่านชอบทำอะไรในวันหนึ่งๆ ถ้าสติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ จะเห็นสภาพที่กำลังพอใจ อย่างยิ่งในขณะที่กำลังเพลิดเพลินหรือยินดีในสิ่งที่ท่านกระทำ
บางท่านชอบดูหนัง ยับยั้งไม่ได้ สนุกเพลิดเพลินเหลือเกินในขณะที่ดู แต่ บางท่านชอบดูกีฬา บางท่านก็ชอบแต่งตัว บางท่านชอบไปเที่ยวต่างจังหวัด บางท่านชอบฟังดนตรี บางท่านชอบทำอาหาร บางท่านชอบปลูกต้นไม้ ดอกไม้ บางท่านชอบสะสมวัตถุสิ่งของต่างๆ ในขณะนั้นให้ทราบว่า ขณะที่กำลังเพลิดเพลินยินดีพอใจอย่างยิ่ง ในขณะนั้นฉันทะเป็นอธิบดี
แต่ไม่ใช่แต่เฉพาะฉันทะ แม้ในเรื่องของกุศล บางครั้งเป็นวิริยะ ความเพียร เป็นอธิบดี เพราะว่าไม่ใช่ทำด้วยความพอใจ แต่อาจจะเห็นประโยชน์ หรือว่าถูกชักชวนเพราะรู้ว่าท่านสามารถที่จะช่วยในกิจการกุศลนั้นได้ แม้ว่าท่านจะไม่มีฉันทะในการกุศลนั้นจริงๆ แต่เพราะวิริยะ ความเพียร จึงทำให้สงเคราะห์หรือช่วยเหลือในการกุศลนั้นจนกระทั่งการกุศลนั้นสำเร็จได้
ทางฝ่ายอกุศลก็เช่นเดียวกัน บางขณะก็ไม่ใช่เพราะฉันทะ แต่เป็นเพราะวิริยะ ก็ได้ อย่างบางท่านที่ไม่ชอบทำอาหาร แต่เมื่อเป็นการกุศลท่านก็ช่วยเหลือได้ ใน ขณะนั้นฉันทะไม่ได้เป็นอธิบดี แต่วิริยะเป็นอธิบดี
สำหรับอกุศลจิต วิมังสา คือ ปัญญา ไม่เป็นอธิบดี เพราะว่าปัญญาจะเกิดกับโสภณจิตเท่านั้น เพราะฉะนั้น กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา คือ ญาณสัมปยุตต์ เท่านั้น ที่วิมังสาเป็นอธิปติได้
เวลาที่มีความเห็นผิด ปฏิบัติผิด ให้ทราบว่า ต้องมีสหชาตาธิปติปัจจัย ในขณะนั้นเช่นเดียวกับในขณะที่เกิดปัญญา ความเห็นถูก ที่ต้องมีสหชาตาธิปติปัจจัย ในขณะที่เป็นฌานจิต ให้ทราบว่า ต้องมีสหชาตาธิปติปัจจัย ในขณะที่เป็นโลกุตตรจิต ให้ทราบว่า ต้องมีสหชาตาธิปติปัจจัย เพราะฌานจิตทั้งหมดและโลกุตตรจิตทั้งหมดเป็นจิตที่มีกำลัง ถ้าไม่มีสภาพธรรมที่เป็นอธิปติปัจจัยแล้วเกิดไม่ได้
แต่สำหรับมหากุศล หรือกามาวจรกุศล หรืออกุศลนั้น บางครั้งไม่มี อธิปติปัจจัยเลย ไม่ได้หมายความว่าทุกครั้งที่เป็นโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือ กุศลจิตจะต้องมีอธิปติปัจจัย โดยนัยของสหชาตาธิปติปัจจัย
ถ. คนที่ทำการค้า เป็นความจำเป็นของชีวิต ซื้อมาก็ต้องขายแพงกว่า ต้องการเงินทอง ปากท้องบังคับ หรืออะไรต่างๆ หรือบางครั้งวางแผนจะขยายข่ายงานให้มั่นคง ให้เจริญ โลภะคิดมาก อยากจะได้ แต่ว่าเป็นการค้า ไม่ได้ลักขโมย อกุศลประเภทนี้เกิดขึ้นจะเป็นโทษอย่างไร
สุ. สะสมทำให้เกิดอกุศล โลภะต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีวันหมดสิ้น
ถ. ผมคิดว่าบางอย่างคงมีโทษ บางอย่างคงไม่มี
สุ. แล้วแต่กำลังของอกุศลนั้น
ถ. เราไม่ได้ไปคดไปโกงเขา ไม่น่าจะเป็นโทษอะไร
สุ. ทำให้ไม่หมดโลภะ สะสมไป ทำให้มีโลภะต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีวันจบสิ้น
ถ. ทุกคนมีโลภะ และทำให้โลภะมีกำลังเพิ่มมากขึ้น ข้อนี้เห็น โลภะ มีกำลังเพิ่ม
สุ. ทำให้ไม่หมดอกุศล ทำให้ไม่หมดโลภะ
ผู้ฟัง ความสำคัญอยู่ที่มนสิการ ที่อาจารย์บอกว่า ถ้าปัญญาเจตสิกเกิดขึ้น ก็เป็นกุศลฝ่ายเดียว ถ้าไม่ใช่ปัญญา จะพัฒนาให้โลภะเจริญเรื่อยไป แต่ถ้าเป็นปัญญาจะพัฒนาจิตใจให้เจริญไปสู่เป้าหมาย เพราะโลภะปกติแล้วไม่มีเป้าหมาย จะพัฒนาให้เป็นวัฏฏะอยู่เสมอ ซึ่งเวลานี้ก็พัฒนากันแต่เรื่องปากท้อง ถ้าพัฒนาตามเป้าหมายที่อาจารย์กล่าว คือ พัฒนาจิตใจ โลภะก็จะลดน้อยลงไป ที่พูดมานี้ก็เพื่อให้เห็นว่า การพัฒนาจิตใจมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งกว่าการพัฒนาทางวัตถุ เพราะว่าเวลานี้เราพัฒนาทางวัตถุกันมากมาย แต่ไม่ได้พัฒนาจิตใจ และเวลานี้กำลังศึกษาเรื่องการพัฒนาจิตใจจากอาจารย์ที่กำลังสอน ซึ่งถ้าพัฒนาจิตใจตามที่อาจารย์กำลังกล่าว ก็มีโอกาสที่จะยุติได้
สุ. ข้อสำคัญ คือ จะต้องพัฒนาให้ถูก ต้องรู้วิธีว่าจะพัฒนาอย่างไรจึงจะถูกต้อง เพราะถ้าไม่เข้าใจโดยละเอียดอาจจะพัฒนาผิดก็ได้ เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ
แม้แต่ปัญหาที่ว่า ผู้ที่มีความรู้ความสามารถในทางโลก ในขณะนั้นก็ไม่ใช่ปัญญาเจตสิก จะต้องพิจารณาให้ถูกต้อง มิฉะนั้นอาจจะคิดว่าขณะนั้นเป็น ปัญญาเจตสิก แต่ให้ทราบว่า เรื่องของทางโลกทั้งหมดถ้าขณะนั้นไม่ใช่กุศลจิต ก็ต้องเป็นอกุศลจิตซึ่งไม่ประกอบด้วยปัญญาแน่นอน เพราะว่าปัญญาเจตสิกจะเกิดกับโสภณจิตหรือกุศลจิตเท่านั้น ไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย
ถ. เรื่องกุศลจิต อกุศลจิต รู้สึกว่าสภาพลักษณะไม่ค่อยจะปรากฏ บางครั้งจะต้องอาศัยการเดา เช่น ตามที่ศึกษามาก็รู้ว่าขณะที่ฟังธรรมหรือศึกษาธรรมและเข้าใจ ขณะนั้นเป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น บางครั้งเรากำลังศึกษาธรรม เช่น กำลังอ่านพระไตรปิฎกและเข้าใจเนื้อความในพระไตรปิฎก แต่ สติปัฏฐานไม่เกิด ก็คิดเองว่าขณะนั้นเป็นกุศลตามที่ได้ศึกษามา แต่บางทีเรากำลังอ่านหนังสืออื่น เช่น หนังสือจิตวิทยา ซึ่งก็ต้องใช้ความพยายามอ่านจึงจะเข้าใจ ในขณะที่เข้าใจหนังสือประเภทอื่น กับอ่านพระไตรปิฎกและเข้าใจเนื้อความในพระไตรปิฎก ก็ต้องอาศัยเดาเท่านั้นว่า ขณะที่อ่านพระไตรปิฎกและเข้าใจเนื้อความ ขณะนั้นเป็นกุศล ถ้าอ่านหนังสือประเภทอื่นและเข้าใจเนื้อความในนั้นก็เป็นอกุศล โดยที่ขณะนั้นสติปัฏฐานไม่เกิด เป็นอย่างนี้ทุกครั้งใช่ไหม
สุ. เวลาที่มหากุศลญาณสัมปยุตต์เกิด ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็น ขั้นสติปัฏฐานทุกครั้ง ในขณะที่กำลังฟังธรรมและเข้าใจเรื่องของธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ขณะนั้นก็เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ที่กำลังเข้าใจ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๑๐๘๑ – ๑๐๙๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1081
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1082
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1083
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1084
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1085
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1086
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1087
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1088
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1089
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1090
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1091
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1092
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1093
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1094
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1095
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1096
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1097
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1098
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1099
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1100
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1101
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1102
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1103
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1104
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1105
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1106
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1107
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1108
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1109
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1110
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1111
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1112
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1113
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1114
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1115
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1116
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1117
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1118
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1119
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1120
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1121
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1122
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1123
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1124
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1125
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1126
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1127
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1128
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1129
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1130
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1131
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1132
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1133
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1134
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1135
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1136
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1137
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1138
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1139
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1140