แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1153


    ครั้งที่ ๑๑๕๓


    สาระสำคัญ

    ปปัญจสูทนี - การบริโภคอาหารเปรียบเนื้อแห่งบุตร

    อถ.สติปัฏฐานสูตร, ความยินดีในกพฬีงการาหาร

    แสดงให้เห็นภัยของ “ผัสสาหาร”


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๒๕


    ข้อความใน ปปัญจสูทนี แสดงว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเรื่องการบริโภคอาหารอันเปรียบด้วยเนื้อแห่งบุตร ซึ่งในข้อนี้มีอรรถโยชนาโดยสังเขป ด้วยคำอธิบายดังต่อไปนี้

    มีภรรยาสามี ๒ คน อุ้มลูกเดินทางกันดารอันมีระยะทางร้อยโยชน์ไปด้วยเสบียงเพียงเล็กน้อย เมื่อเดินทางไปได้ห้าสิบโยชน์เสบียงก็หมด สองภรรยาสามีนั้นก็หิวเต็มที่ แล้วพากันนั่งพักอยู่ที่ต้นไม้มีเงาห่างๆ

    นี่ชีวิตตามความเป็นจริง ซึ่งถ้าพิจารณาจะเห็นกัมมปัจจัยว่า ย่อมให้ผลเกิดขึ้นแม้แต่ที่จะนั่งในยามร้อน ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมแม้เงาไม้ก็ยังห่างๆ ไม่สามารถให้ร่มเงาได้เต็มที่ เพราะฉะนั้น ทุกขณะจิตถ้าพิจารณาในวันหนึ่งๆ จะทราบว่า ขณะใดก็ตามที่อารมณ์ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ขณะนั้น เป็นวิบาก เป็นผลของกรรม หลีกเลี่ยงไม่ได้ เดินทาง หลีกเลี่ยงไม่ได้ พบต้นไม้ที่จะนั่งพัก ต้นไม้จะมีเงาห่างหรือว่ามีเงาร่มรื่น ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้

    รวมความว่า ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายเป็นผลของกรรม แต่หลังจากนั้นอย่าลืมว่า ไม่ใช่ผลของกรรม พอเริ่มคิดนึกเป็นเรื่องราวต่างๆ ทั้งหมดเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต ไม่ใช่วิบากจิต

    นี่ก็ทั้งหิวด้วย เหนื่อยด้วย และก็นั่งพักที่ต้นไม้มีเงาห่างๆ

    ลำดับนั้น สามีจึงกล่าวกับภรรยาว่า ตั้งแต่นี้ไปยังมีระยะทางอีกห้าสิบโยชน์ บ้านหรือนิคมก็ไม่มี เพราะฉะนั้น การงาน มีการทำนาและการเลี้ยงโค เป็นต้น ที่บุรุษต้องกระทำอันใดมีอยู่ บัดนี้ เราก็ไม่อาจจะทำการงานนั้นได้ เจ้าจงฆ่าเราเสีย กินเนื้อเราครึ่งหนึ่ง แล้วทำเป็นเสบียงเดินทางครึ่งหนึ่ง อุ้มลูกเดินทางไปให้พ้นทางกันดารให้ได้

    นี่เป็นการที่สามีจะเสียสละ เพราะว่าเมื่อหมดเรี่ยวหมดแรงไม่สามารถกระทำหน้าที่ของหัวหน้าครอบครัวที่จะประกอบกิจการงานต่างๆ ได้แล้ว ก็ควรที่จะตาย และให้ภรรยากินเนื้อครึ่งหนึ่ง ทำเป็นเสบียงเดินอีกทางครึ่งหนึ่ง และอุ้มลูกเดินทางต่อไปให้พ้นทางกันดาร

    ฝ่ายภรรยาก็กล่าวกับสามีว่า สิ่งใดที่หญิงควรทำ มีการปั่นด้าย เป็นต้น สิ่งนั้นก็ไม่อาจทำได้ ท่านจงฆ่าเราเสีย กินเนื้อเราครึ่งหนึ่ง ทำเป็นเสบียงเดินทางครึ่งหนึ่ง แล้วจงอุ้มลูกไปให้พ้นทางกันดาร

    นี่คือการอุปมาที่จะให้เห็นว่า อาหารเป็นสิ่งที่จำเป็น และควรจะบริโภคโดยการไม่ติด ละคลายความยินดีลง เพื่อที่จะได้ลดความทุกข์ในการแสวงหา หรือในการเกิดในภพชาติต่อไป

    สามีก็กล่าวกับภรรยาอีกว่า การตายของคนสองคนจะมีขึ้นด้วยการตายของแม่ เพราะว่าเด็กอ่อนพรากจากแม่แล้วก็ไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ แต่ถ้าเรายังมีชีวิตอยู่ เราก็จะได้ลูกอีก อย่าอย่างนั้นเลย เราฆ่าลูกกินเนื้อ แล้วเดินทางกันดารต่อไปเถิด

    ลำดับนั้น แม่ก็บอกลูกว่า เจ้าจงไปหาพ่อ ลูกก็ได้ไปหาพ่อ ลำดับนั้น พ่อก็ว่า เราได้รับทุกข์เป็นอันมากด้วยการทำนาและเลี้ยงโค เป็นต้น ก็ด้วยคิดจะเลี้ยงลูก เราไม่อาจฆ่าลูกได้ เจ้าจงฆ่าลูกของเจ้าเถอะ ว่าแล้วก็บอกลูกว่า เจ้าจงไปหาแม่ ลูกก็ได้ไปหาแม่ แม่ก็กล่าวว่า แม่ต้องการลูก จึงได้รับทุกข์เป็นอันมากด้วยการกระทำข้อวัตรต่างๆ มีทำตามเยี่ยงอย่างโค ทำตามเยี่ยงอย่างสุนัข และอ้อนวอนเทวดา เป็นต้น ไม่ต้องพูดถึงการอุ้มท้องประคองครรภ์ ข้าพเจ้าไม่อาจฆ่าลูกได้ แล้วจึงบอกลูกว่า ลูกเอ๋ย เจ้าจงไปหาพ่อ เด็กนั้นก็เวียนไปเวียนมาอยู่ในระหว่างพ่อและแม่อยู่อย่างนี้ จนกระทั่งตายเอง ภรรยาสามีได้เห็นลูกตายก็ร้องไห้รำพัน ได้เอาเนื้อของลูกกิน แล้วก็เดินทางไปตามนัยที่กล่าวไว้แล้วในเบื้องต้น

    อาหาร คือ เนื้อแห่งบุตรนั้นของคนทั้งสองนั้น ย่อมไม่ทำให้เกิดความคะนอง ความมัวเมา ความผ่องใสแห่งร่างกาย ความประดับร่างกายแต่อย่างใดเลย เพราะเป็นของน่าเกลียดด้วยเหตุการณ์ ๙ อย่าง เพียงแต่เพื่อให้ข้ามทางกันดารเท่านั้น

    ถ้ามีคำถามว่าที่ว่า น่าเกลียดด้วยเหตุการณ์ ๙ อย่างนั้น คืออย่างไร

    ก็มีคำแก้ว่า คือ เป็นเนื้อของผู้มีกำเนิดอย่างเดียวกัน (เป็นเนื้อมนุษย์ด้วยกัน) ๑ เป็นเนื้อของญาติ ๑ เป็นเนื้อของบุตร ๑ เป็นเนื้อของบุตรสุดที่รัก ๑ เป็นเนื้อของเด็กอ่อน ๑ เป็นเนื้อดิบ ๑ เป็นเนื้อที่ไม่ควรกิน ๑ เป็นเนื้อที่ไม่เค็ม ๑ เป็นเนื้อที่ไม่ได้ทำให้หอม ๑

    เพราะฉะนั้น ภิกษุใดเห็นอาหารเป็นคำๆ เปรียบเหมือนเนื้อแห่งบุตรอย่างนั้น ภิกษุนั้นก็ครอบงำซึ่งความยินดีในอาหารนั้นได้ อันนี้เป็นอรรถโยชนาในข้อเปรียบกับเนื้อแห่งบุตรก่อน

    ต่อไปจะบริโภคด้วยความยินดีในอาหารน้อยลงบ้างไหม คือ เพียงให้รู้ว่า เป็นอาหารปัจจัยจริงๆ ขาดไม่ได้ เพราะชีวิตยังต้องดำรงอยู่เพื่อที่จะเจริญกุศล ที่จะรู้แจ้งในอริยสัจธรรมเท่านั้นเอง จะเย็นไป จะร้อนไป จะเปรี้ยวไป จะหวานไป จะเค็มไป ก็เป็นอาหารปัจจัย หรือว่ากลับไปจะปรุงให้อร่อยเหมือนเดิม

    นี่เป็นสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง ตราบใดที่ยังมีความยินดีพอใจ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะยังไม่ใช่ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมถึงขั้นที่จะดับความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้ ก็ต้องเป็นผู้ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น การที่จะละสังสารวัฏฏ์สามารถที่จะเหลือการเกิดอีกเพียง ๗ ชาติ ไม่ใช่โดยสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติว่า ยังมีความยินดีพอใจในนามธรรม ในรูปธรรม ในความเป็นตัวตนหนาแน่น เหนียวแน่นมากเพียงไร ด้วยเหตุนี้การที่จะละสังสารวัฏฏ์ได้จริงๆ จึงต้องเป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตามความเป็นจริงเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดๆ ทั้งสิ้นที่เกิดขึ้น

    ถ. เรื่องของกพฬิงการาหาร ที่สัปดาห์ก่อนอาจารย์ได้อ่านในอรรถกถา และให้กำหนดโดยเป็นอาหาเรปฏิกูลสัญญา ผมลองไปพิจารณาปฏิบัติดู ปรากฏว่า การระลึกถึงอาหาเรปฏิกูลสัญญานั้น ไม่มีลักษณะปรากฏที่เป็นวิเสสลักษณะ เพราะขณะนั้นเป็นการคิดนึก ใช่ไหม

    สุ. อาหารมีใช่ไหม เรื่องของอาหารก็มีใช่ไหม แต่ปรมัตถธรรมในขณะนั้น คือ อะไรที่ปรากฏ

    ถ. เป็นการนึกคิด

    สุ. ถ้าจะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็ต้องรู้ตรงตามความเป็นจริง ถ้าคิดเรื่องความเป็นปฏิกูล ขณะนั้นจิตเป็นสภาพที่กำลังรู้หรือคิดเรื่องนั้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาไม่ใช่ว่าไม่ให้คิดเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น เพราะวันหนึ่งๆ หลงลืมสติมาก มีทางใดที่จะเกื้อกูลอุปการะให้เกิดความคิดในทางที่ถูก ในทางที่ควร ในทางที่ชอบ ในทางที่เป็นกุศล ในทางที่ละ ในทางที่คลาย แม้ตัวอย่างเรื่องของการกินเนื้อบุตร ก็เพื่อให้ไม่คิดเรื่องอื่น แต่คิดที่จะละการติดความยินดีในอาหาร

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะศึกษาธรรม มีเรื่องของท่านพระอานนท์ มีเรื่องของอุบาสกอุบาสิกาต่างๆ มีเรื่องชีวิตต่างๆ ในขณะที่สติระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็รู้ว่าปรมัตถสัจจะคือขณะไหน สมมติสัจจะคือขณะไหน

    ถ. โดยความเป็นจริง สติไม่ได้โคจรไปในอาหาเรปฏิกูลบรรพ แต่โคจรไปในการคิดนึก

    สุ. ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจด้วย

    ถ. ผมสงสัยว่า อาหาเรปฏิกูลสัญญาสามารถจะเป็นวิปัสสนาได้ไหม เพราะผมเคยอ่านในสมถะ ๔๐ ว่า อาหาเรปฏิกูลสัญญานั้นเป็นอารมณ์ของสมถะด้วย การปฏิบัติวิปัสสนาพอจะเข้าใจ ในขั้นของปริยัติ ผมมีความปรารถนาว่า ให้มีการเรียกชื่อโดยที่ไม่สับกัน สมมติว่า อาหาเรปฏิกูลสัญญาไม่สามารถจะเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานได้ และเป็นอารมณ์ของสมถะ ก็ต้องเรียกว่าเป็นอารมณ์ของสมถะ จริงอยู่ที่สติปัฏฐานอาจจะเกิดขึ้นได้ในขณะที่ระลึกเรื่องอาหาเรปฏิกูลสัญญา แต่ขณะนั้นอาหารไม่ใช่อารมณ์ที่โคจรของสติ อารมณ์ที่โคจรจริงๆ ในขณะนั้นเป็นการคิดนึก

    สุ. และวันหนึ่งๆ ขณะที่คิดนึก เป็นสติปัฏฐานได้ไหม

    ถ. ได้

    สุ. เพราะฉะนั้น ในการเจริญสติปัฏฐานไม่ห้ามการที่จะคิดเรื่องอะไร ถึงไม่คิดเรื่องอาหาเรปฏิกูลสัญญา คิดเรื่องอะไรก็ได้ทั้งนั้น แต่การที่ทรงแสดงเรื่องของ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ก็เพื่อให้สงบจากความยินดี

    ถ. ถูกต้อง ผมเห็นด้วยอย่างนั้น

    สุ. เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐานมีเท่าไร และแบ่งเป็นบรรพอะไรบ้าง

    ถ. มีอานาปานบรรพ อิริยาปถบรรพ สัมปชัญญบรรพ ธาตุบรรพ ปฏิกูลมนสิการบรรพ และนวสีวถิกาบรรพ

    สุ. ปฏิกูลมนสิการบรรพ ซึ่งเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง

    ถ. ใช่ อาการ ๓๒ ซึ่งผมสงสัยตรงนี้อีก คือ อาการ ๓๒ เหล่านี้ ขณะที่ระลึกถึงนั้น ไม่ได้มีวิเสสลักษณะของเขาโดยตรง เพราะขณะนั้นเป็นการคิดนึก และจัดไว้ในพระไตรปิฎกด้วย ทำให้ผมสงสัย

    สุ. ข้อความในอรรถกถาแสดงว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของรูปโดยประการต่างๆ ไม่ใช่โดยแต่เฉพาะธาตุทั้ง ๔ เท่านั้น แต่แสดงโดยอานาปานสติ หรือว่าอิริยาปถบรรพ สัมปชัญญบรรพ ธาตุมนสิการบรรพ และนวสีวถิกาบรรพด้วย เพราะว่าเป็นส่วนที่เป็นกาย เพราะฉะนั้น ทรงแสดงโดยนัยต่างๆ

    ถ. แม้ว่าไม่มีสภาวะที่เป็นวิเสสะรับรอง

    สุ. ถ้าเป็นปรมัตถสัจจะแล้ว ต้องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเป็น ปรมัตถธรรม

    ถ. ท่านแสดงไว้ในทุกอิริยาบถเท่านั้น ขอบพระคุณ อีกปัญหาหนึ่ง คือสำนักวิปัสสนาบางที่บอกว่า นวสี ๙ และปฏิกูลมนสิการบรรพไม่อาจทำวิปัสสนาได้ ยิ่งทำให้ผมสงสัย ท่านบอกว่าเป็นอารมณ์ของสมถะ ผมเคยได้ฟังมาอย่างนั้น

    สุ. ข้อความใน ปปัญจสูทนี อรรถกถาของสติปัฏฐานสูตร ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้โดยละเอียด ถ้าท่านผู้ฟังสนใจ เพราะเป็นเรื่องของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน และตอนท้ายที่สุดจะแสดงว่า บรรพไหนถึงอัปปนาสมาธิ และบรรพไหนไม่ถึง อัปปนาสมาธิ

    ข้อความตอนท้ายมีว่า

    ก็ด้วยถ้อยคำมีประมาณเท่านี้เป็นอันจบกายานุปัสสนา ๑๔ อย่าง คือ ข้อว่าด้วยอานาปาน ๑ ข้อว่าด้วยอิริยาปถ ๑ ข้อว่าด้วยสัมปชัญญะ ๔ ข้อว่าด้วย ปฏิกูลมนสิการ (คือ ผม ขน เล็บ ฟัง หนัง ไม่ใช่อาหาเรปฏิกูล) ข้อว่าด้วย ธาตุมนสิการ ๑ ข้อว่าด้วยป่าช้า ๙

    ในข้อเหล่านั้น ๒ ข้อ คือ ข้อว่าด้วยอานาปานกับข้อว่าด้วยปฏิกูลมนสิการ เป็นอัปปนากัมมัฏฐาน อีก ๑๒ ข้อ เป็นอุปจารกัมมัฏฐาน เพราะตรัสไว้ด้วยการเล็งเห็นโทษแห่งซากศพทั้งหลาย ดังนี้แล

    ซึ่งต้องเข้าใจด้วยว่า ลมหายใจเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ไหม ถ้าได้ จำเป็นไหมที่จะต้องถึงอัปปนา เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นอบรมเจริญปัญญาที่จะประจักษ์แจ้งความเกิดขึ้นและดับไปของลมหายใจโดยไม่ถึงอัปปนาก็ได้ แต่สำหรับ กายานุปัสสนาที่เป็นสติปัฏฐาน ๑๔ อย่างนี้ สำหรับปฏิกูลมนสิการและอานาปานบรรพเป็นอัปปนากัมมัฏฐานได้ ส่วนอีก ๑๒ ข้อ โดยนัยของสติปัฏฐานแล้ว เป็น อุปจารกัมมัฏฐาน แม้ซากศพทั้งหลายก็เป็นเพียงขั้นอุปจาระ เพราะตรัสไว้ด้วยการเล็งเห็นโทษแห่งซากศพทั้งหลายดังนี้

    ข้อความในอรรถกถายังแสดงว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะพ้นไปจากกาย เวทนา จิต ธรรม ไม่มี เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปฏิกูล เช่น อาหาเรปฏิกูลสัญญาก็ตาม หรือว่าข้อความที่เพิ่งได้รับฟังนี้ก็ตาม ก็ย่อมไม่พ้นจากสติปัฏฐาน คือ ไม่พ้นจากกาย เวทนา จิต ธรรม นั่นเอง เพราะว่าต้องรู้ว่าขณะใดเป็นปรมัตถสัจจะ และขณะใดเป็นสมมติสัจจะ

    สำหรับข้อความต่อไป แสดงให้เห็นภัยของผัสสาหาร

    พวกเข้าใกล้ผัสสะ พวกยินดีในผัสสะ ย่อมทำผิดในภรรยา เป็นต้น อันบุคคลเหล่าอื่นปกครองไว้

    ความจริงแล้ว ความยินดีพอใจไม่ใช่มีแต่เฉพาะในรสอาหาร แต่ไม่ว่าจะ เป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส หรือเป็นโผฏฐัพพะ ก็เป็นที่ยินดีพอใจทั้งสิ้น ซึ่ง พระผู้มีพระภาคบางครั้งทรงแสดงโดยอุกฤษฏ์ คือ โดยที่จะให้เห็นโทษชัดเจน เช่น การประพฤติผิดในกาม การยินดีในภรรยาของบุคคลอื่นย่อมให้โทษ โดยที่พวกสามีจับพวกนั้นได้ อรรถกถาใช้คำว่า ตัดเป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่ แล้วนำไปทิ้งที่กองหยากเยื่อก็มี จับไปถวายพระราชาก็มี ลำดับนั้น พระราชาก็ให้ลงอาชญาต่างๆ แก่พวกนั้น เวลาพวกนั้นตายแล้ว ก็ต้องไปตกทุคติ เป็นอันว่าภัยอันเป็นปัจจุบันบ้าง เป็นอนาคตบ้าง อันมีความยินดีในผัสสะเป็นมูลรากได้มาถึงแล้วอย่างนี้ ด้วยเหตุนี้ จึงควรทราบว่า การเข้าถึงผัสสาหารเป็นภัยอันหนึ่ง

    ตัวอย่างย่อ แต่สรุปกว้างว่า การเข้าถึงผัสสาหารเป็นภัยอันหนึ่ง

    การเข้าถึงผัสสาหาร คือ ยังมีปัจจัยที่จะให้ผัสสเจตสิกเกิดขึ้นกระทบกับอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจอยู่เรื่อยๆ โดยไม่หยุดยั้ง ไม่ว่าจะเป็นในขณะเมื่อครู่นี้เอง หรือว่าขณะเดี๋ยวนี้เอง ถ้าสติระลึกจะรู้ว่า ผัสสะกระทบอีกแล้ว เห็นอีกแล้ว ได้ยินอีกแล้ว คิดนึกอีกแล้ว ถ้าผัสสะไม่เกิดขึ้น ไม่กระทบ สภาพธรรมเหล่านี้ก็ย่อมเกิดปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้น การเกิดขึ้นของผัสสะครั้งหนึ่ง กระทบครั้งหนึ่ง ย่อมเป็นภัยที่น่ากลัวครั้งหนึ่งๆ

    ภัยของผัสสาหารนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเปรียบด้วยแม่โคไม่มีหนัง ซึ่งมีคำอธิบายว่า

    แม่โคที่คนถลกหนังตั้งแต่คอลงไปจนถึงเล็บตีน แต่ยังมีชีวิตอยู่ได้เพราะอาศัยสิ่งใด สิ่งนั้นก็เป็นเหตุแห่งทุกข์อย่างยิ่ง ด้วยการถูกตัวสัตว์เล็กๆ กัดเจาะ ฉันใด ถึงผัสสะมีอยู่เพราะอาศัยวัตถุหรืออารมณ์ใดๆ วัตถุหรืออารมณ์นั้นๆ ก็เป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ที่ได้เสวย อันเกิดจากวัตถุและอารมณ์ฉันนั้น

    เพราะฉะนั้น ภิกษุใดเห็นผัสสาหารเช่นกับแม่โคไม่มีหนังอย่างนี้ ภิกษุนั้นก็ครอบงำความยินดีในผัสสาหารนั้นได้ อันนี้เป็นการประกอบเนื้อความในข้อเปรียบกับแม่โคที่ไม่มีหนัง

    มองยังไม่ออก ใช่ไหม ผัสสะที่กระทบจะเหมือนกับแม่โคที่ไม่มีหนังอย่างไร เพราะว่ายังไม่เห็นว่าการเกิดเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น การเกิดขึ้นครั้งหนึ่งแล้วดับไป ไม่เที่ยง ประจักษ์อย่างนี้เมื่อไหร่จึงจะเข้าใจชัดในคำอุปมาที่ว่า ผัสสะอุปมาเหมือนแม่โคไม่มีหนัง เพราะจะต้องมีการกระทบอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายโคก็ตาม แต่ถ้าตราบใดยังไม่รู้ความเกิดขึ้นและดับไป ก็ไม่เห็นโทษของผัสสาหารหรือผัสสเจตสิกเลยว่า เพราะผัสสะนี้เอง สภาพธรรมในขณะนี้จึงเกิดและปรากฏ ไม่หยุด ถ้าพอใจอยู่ก็ยังมีผัสสาหารอยู่เรื่อยๆ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๑๑๕๑ – ๑๑๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 86
    28 ธ.ค. 2564