แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1159
ครั้งที่ ๑๑๕๙
สาระสำคัญ
อินทริย์ (ธรรมที่เป็นใหญ่ในกิจหน้าที่ของตน)
อถ.อัฏฐสาลินี ปุริสินทรียนิทเทส - “ปุริสินทรีย์” นั้น เป็นไฉน
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๒๕
ถ. ภาวรูป ไม่เป็นปัจจัยแก่อะไรเลย แต่จะเป็นปัจจัยทางมโนวิญญาณ ได้หรือเปล่า
สุ. มโนวิญญาณได้แก่จิตอะไร ลองยกตัวอย่าง
ถ. คือ เป็นอารมณ์ของมโนทวาร
สุ. มโนวิญญาณมีหลายประเภท เพราะฉะนั้น จะเป็นปัจจัยให้แก่ มโนวิญญาณประเภทไหน
โลภมูลจิตหรือโทสมูลจิตเป็นมโนวิญญาณ เพราะว่าไม่ใช่จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ถ้าแสดงวิญญาณโดยนัย ๖ เพราะว่าจิตแสดงได้หลายนัย ถ้าแสดงโดยวิญญาณ ๖ มี จักขุวิญญาณ ๑ โสตวิญญาณ ๑ ฆานวิญญาณ ๑ ชิวหาวิญญาณ ๑ กายวิญญาณ ๑ และ มโนวิญญาณ ๑ โดยทวาร ๖ นั่นเอง
เพราะฉะนั้น ก็น่าพิจารณาว่า อิตถีภาวรูปหรือปุริสภาวรูปจะเป็นปัจจัยให้เกิดโลภมูลจิตหรือโทสมูลจิตได้ไหม ใช่ไหม
โลภมูลจิตจริงๆ เกิดขึ้นเพราะอาศัยอะไร
ทางตา เห็น ท่านผู้ฟังคิดว่าท่านพอใจในภาวรูป แต่จริงๆ แล้ว พอใจสีที่ปรากฏทางตาต่างหาก ถูกไหม
ถ. ถูก
สุ. ไม่ว่าจะเป็นทรวดทรงสัณฐานประการใดก็ตาม เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาทั้งสิ้น ถ้าไม่ปรากฏทางตา ทางใจจะน้อมนึกถึงทรวดทรงสัณฐานนั้นได้ไหม ก็ไม่ได้ แต่เพราะเหตุว่ามีรูปารมณ์ คือ สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นทรวดทรงอาจจะเป็นของหญิงและเกิดโลภะขึ้น ก็ให้ทราบว่า ที่จริงแล้วโลภะนั้นยินดีในรูปารมณ์ที่ปรากฏทางตา
ถ้ากระทบสัมผัส พอใจในสภาพที่เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหวที่ปรากฏที่กาย แล้วแต่ว่าจะนึกถึงว่าสิ่งนั้นเป็นอิตถีภาวะเป็นสภาพของหญิงหรือเปล่า หรือว่าเป็นสภาพของชายหรือเปล่า แต่ว่าความพอใจจริงๆ อาศัยผัสสะ คือ การกระทบทางกาย พอใจในสภาพที่กำลังปรากฏทางกาย ใช่ไหม
เพราะฉะนั้น ภาวรูปจึงเป็นรูปที่ละเอียด และไม่ปรากฏโดยการกระทบ แต่ว่าสามารถรู้ได้ว่ามี เพราะว่าทำให้ปรากฏสภาพอาการทรวดทรงสัณฐานของหญิง หรือว่าทำให้ปรากฏสภาพอาการทรวดทรงสัณฐานของชายเท่านั้นเอง แต่ตามความเป็นจริง โลภะย่อมเป็นไปในรูปที่ปรากฏทางตา ในเสียงที่ปรากฏทางหู ในกลิ่นที่ปรากฏทางจมูก ในรสที่ปรากฏที่ลิ้น และในสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ไม่ว่าจะเป็นอะไรทั้งนั้น ความยินดีพอใจเกิดขึ้นเพราะการกระทบสัมผัสในรูปที่สามารถกระทบสัมผัสได้ ทางทวารทั้ง ๕
ถ. แต่ภาวรูปนี้รู้ได้ทางใจ
สุ. รู้ได้ทางใจ เพราะว่าเป็นสิ่งซึ่งทำให้ปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ โดยอาศัยตาที่เห็น
ถ. เมื่อรู้ได้ทางใจ เป็นอารมณ์ของมโนทวารได้ไหม
สุ. เป็นอารมณ์ของมโนทวารได้ เพราะว่ารูปใดๆ ทั้งสิ้นที่จะรู้ไม่ได้ทางใจ ไม่มี แต่เพียงรู้ ไม่สามารถจะประจักษ์แจ้งได้ หรือว่าจะเป็นปัจจัยให้เกิดก็ไม่ได้ เพราะเป็นแต่เพียงอารมณ์เท่านั้น
ถ. ในเสียงจะมีภาวรูปไหม เพราะว่าฟังเสียงก็สามารถจะแยกได้ว่า เป็นบุรุษหรือสตรี
สุ. เสียงเป็นอีกรูปหนึ่ง ไม่ได้เกิดจากกรรม เกิดจากจิต แต่อาศัยรูปซึ่งเกิดจากกรรมเป็นปัจจัยให้เสียงเกิดได้ เพราะฉะนั้น จึงทำให้ปรากฏด้วยสัญญา ความจำว่านี่เป็นเสียงของหญิง หรือนี่เป็นเสียงของชาย แต่ตามความเป็นจริงแล้ว เสียงเป็นรูปซึ่งเกิดเพราะจิต ไม่ใช่เป็นรูปที่เกิดเพราะกรรม แต่สำหรับภาวรูปนั้นเป็นรูปซึ่งเกิดเพราะกรรม
สภาพของนามธรรมและรูปธรรมละเอียดจริงๆ ถ้าไม่ศึกษาโดยละเอียด ไม่พิจารณาโดยละเอียด ย่อมทำให้เข้าใจผิด ที่ชอบและคิดว่าชอบหญิงหรือชาย มีโลภะกับหญิง หรือมีโลภะกับชาย แท้ที่จริงแล้วคือพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้น แม้ไม่มีภาวรูป อย่างเช่น พวกที่ใช้คำว่า กระเทย ก็ยังมีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้
เพราะฉะนั้น สำหรับภาวรูปจริงๆ เป็นแต่เพียงรูปซึ่งเป็นใหญ่ในอาการที่จะทำให้ปรากฏสภาพของหญิง หรือสภาพของชาย ซึ่งโดยปรมัตถธรรมก็เป็นรูปธรรมซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย การสะสมของกรรมอย่างละเอียดเป็นปัจจัยทำให้เกิดภาวรูปที่ต่างกันเป็น ๒ ภาวะ คือ เป็นอิตถีภาวรูป ๑ และเป็นปุริสภาวรูป ๑
ถ. ปุริสภาวรูปกับปุริสินทรีย์ อย่างเดียวกันหรือเปล่า
สุ. อย่างเดียวกัน โดยรูปขันธ์ ก็เป็นรูป โดยอินทรีย์ก็แสดงว่า รูปนั้นเป็นรูปที่เป็นใหญ่รูปหนึ่ง จึงเป็นปุริสินทรีย์
ถ. พูดโดยสภาพที่เป็นอินทรีย์กับไม่ใช่อินทรีย์อย่างนั้นหรือ
สุ. โดยนัยที่กล่าวถึงรูปทั่วไป ไม่ได้แสดงอินทรีย์ เรียกว่า ปุริสภาวรูป แต่เวลาที่จะแสดงว่ารูปใดเป็นอินทรีย์ รูปที่เป็นปุริสภาวรูปนั้นเป็นอินทรีย์ จึงเป็น ปุริสินทรีย์
ถ. เวลาพูดถึงอินทรีย์ หมายถึงเป็นหน้าที่ของรูปนั้น
สุ. ธรรมที่เป็นใหญ่ในกิจหน้าที่ของตน เฉพาะในกิจหน้าที่ของตนเท่านั้น ไม่เหมือนอย่างอธิบดี อย่างครูเป็นใหญ่ในหน้าที่ของครูที่โรงเรียน หมอเป็นใหญ่ในหน้าที่ของหมอที่โรงพยาบาล พ่อครัวเป็นใหญ่ในที่ของพ่อครัว
เวลาหมอไปโรงเรียน หมอเป็นใหญ่หรือครูเป็นใหญ่ หรือเวลาที่ครูไปโรงพยาบาล ใครเป็นใหญ่ หรือเวลาอยู่ในครัว ถึงเวลาประกอบอาหาร หมอหรือครูจะเป็นใหญ่ ก็ต้องเป็นพ่อครัวที่เป็นใหญ่
เพราะฉะนั้น นามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะเป็นใหญ่เฉพาะในกิจหน้าที่ของตนเท่านั้น โดยสภาพที่เป็นอินทรีย์ เช่น จักขุปสาท ไม่เป็นใหญ่ในหน้าที่อื่นเลย แต่เป็นใหญ่เฉพาะในขณะที่ที่มีการเห็นเกิดขึ้น ถ้าไม่มีจักขุปสาท ไม่มีจักขุนทรีย์ การเห็นก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น จักขุปสาทนั้นเองเป็นจักขุนทรีย์ เพราะว่าเป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้น
ถ. เข้าใจแล้ว และที่กล่าวว่ารู้ได้ทางใจ ก็ต้องผ่านทวารทั้ง ๕ ก่อน ใช่ไหม อย่างเช่น สภาวรูปนี้เป็นรูปที่รู้ได้ทางใจ แต่ก็ต้องผ่านทวารทั้ง ๕
สุ. แล้วแต่ว่าจะผ่านทวารไหน อย่างการที่จะเห็นอาการของหญิง สภาวะของหญิง จะต้องเห็นทางตา เพราะฉะนั้น จะต้องมีการเห็นรูปารมณ์ก่อน
ถ. อีกเรื่องหนึ่ง มหากุศลจิตและมหาวิบากจิตชื่อในภาษาบาลีเหมือนกัน แต่เวลาเจริญสติแยกไม่ได้ว่า อันไหนเป็นมหากุศล อันไหนเป็นมหาวิบาก อาจารย์ช่วยอธิบาย
สุ. มหากุศลกับมหาวิบาก
ถ. มหากุศลดวงที่ ๑ ชื่อว่า โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ ก็เหมือนกันกับชื่อของมหาวิบากดวงที่ ๑
สุ. ไม่มีใครรู้จิตที่ทำกิจปฏิสนธิ ใช่ไหม
ถ. ไม่ทราบ
สุ. นั่นคือมหาวิบากดวงใดดวงหนึ่งใน ๘ ดวง ซึ่งอาจจะเกิดพร้อมกับอุเบกขาเวทนา หรือโสมนัสเวทนา เป็นอสังขาริก หรือเป็นสสังขาริก ประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็ไม่มีใครรู้ เพราะว่าวิบากจิตซึ่งเป็นมหาวิบากนั้นเกิดขึ้นทำกิจปฏิสนธิและดับไปแล้ว และเวลาที่นอนหลับสนิท มหาวิบากประเภทเดียวกับมหาวิบากที่ทำกิจปฏิสนธินั่นเอง ก็เกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติทำภวังคกิจอยู่ ซึ่งก็ไม่มีใครรู้อีกเหมือนกัน
ถ. มีเฉพาะหน้าที่ปฏิสนธิและภวังค์เท่านั้นหรือ
สุ. มหาวิบากจิตมีกิจ ๔ กิจ คือ ปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ จุติกิจ และ ตทาลัมพนกิจ
เพราะฉะนั้น การที่จะพิสูจน์ธรรม อย่าพิสูจน์ชื่อที่ได้ฟัง แต่ว่าการฟังธรรมเพื่อให้เข้าใจ และระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ถ้ารู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่ปรากฏทีละเล็กทีละน้อย ทีละอย่างสองอย่าง ก็จะทำให้เข้าใจสภาพธรรมอื่นได้
เช่น ขณะใดที่กุศลเกิดขึ้น ถ้าสติไม่ระลึกรู้ แม้ตำราจะกล่าวไว้อย่างไร แสดงว่าเป็นมหากุศลจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา เป็นอสังขาริก หรือสสังขาริก ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ แต่ถ้าสติเกิดทันทีในขณะนั้น ย่อมรู้ได้ว่าจิตในขณะนั้นเป็นสภาพที่ผ่องใส หมายความถึงเป็นสภาพที่ปราศจากความเศร้าหมอง ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ เป็นลักษณะของจิตที่ผ่องใสเป็นมหากุศล และสามารถจะพิจารณาว่า เวทนาในขณะนั้นเป็นอุเบกขาหรือโสมนัส และมหากุศลนั้นเกิดมีกำลังกล้าด้วยตนเอง หรือว่าอาศัยการชักจูง หรือว่าพิจารณาแล้วก็เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อรู้ลักษณะของมหากุศล แต่ละอย่างแล้ว ต่อไปก็รู้ลักษณะของอกุศลแต่ละประเภท จึงจะรู้ว่า ขณะที่เป็นวิบากที่ไม่ใช่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มีภวังคจิตเกิดคั่นอยู่ และภวังคจิตนั้นเองเป็นมหาวิบากดวงหนึ่งดวงใดใน ๘ ดวง แต่ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า มหาวิบากของแต่ละท่านนั้นเป็นโสมนัสเวทนาหรือว่าเป็นอุเบกขาเวทนา เป็นสสังขาริกหรือว่าเป็นอสังขาริก แต่สำหรับกุศล ย่อมสามารถที่จะรู้ได้
ข้อความต่อไปใน อัฏฐสาลินี มีว่า
พระบาลี ปุริสินทริยนิทเทส
รูปที่เรียกว่า ปุริสินทรีย์นั้น เป็นไฉน คือ ทรวดทรงชาย เครื่องหมายรู้ว่าชาย กิริยาชาย อาการชาย สภาพชาย ภาวชาย ของชาย ปรากฏได้ด้วยเหตุใด รูปทั้งนี้เรียกว่า ปุริสินทรีย์
สีที่ปรากฏทางตาเป็นปุริสินทรีย์หรือเปล่า ไม่เป็นแน่นอน แต่ว่าปุริสินทรีย์เป็นรูปที่ทำให้ปรากฏทรวดทรงของชาย
อธิบายปุริสินทริยนิทเทส
แม้ในปุริสินทรีย์ก็มีนัยเหมือนกัน ส่วนทรวดทรงชายเป็นต้น พึงทราบโดย ตรงข้ามกับทรวดทรงหญิงเป็นต้น เพราะสัณฐานแห่งอวัยวะ มีมือเท้าและอก เป็นต้นของชาย ไม่เหมือนของหญิง ด้วยว่ากายท่อนบนของชายทั้งหลายล่ำสัน กายท่อนล่างไม่ล่ำสัน มือเท้าก็ใหญ่ ปากก็ใหญ่ เนื้ออกก็ล่ำสัน หนวดเคราก็เกิดขึ้น การใช้ผ้ารัดผมก็ไม่เหมือนของหญิง เวลาเป็นเด็กชอบเล่นรถและไถ เป็นต้น ชอบทำ ขอบคันด้วยทราย ขุดบ่อ การเดิน เป็นต้น ก็อาจหาญ คนทั้งหลายเห็นแม้หญิงทำการเดินเป็นต้น อาจหาญ ย่อมพูดคำเป็นต้นว่า แม่คนนี้เดินเหมือนผู้ชาย ดังนี้ คำที่เหลือเหมือนกับที่กล่าวไว้ในอิตถินทรีย์นั่นแหละ
ที่ตรงกันข้ามกันนั้นเอง คือ ลักษณะของปุริสินทรีย์ กรรมก็ช่างปรุงแต่งจัดสรร แม้ภาวรูปที่จะให้เป็นปุริสภาวะและอิตถีภาวะ ซึ่งไม่มีใครปรุงแต่งได้เลยนอกจากกรรม และบางท่านก็อาจจะยึดถือมีความพอใจที่จะเป็นหญิงหรือเป็นชาย แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ก็เป็นแต่เพียงอาการ นิมิตตะ เครื่องหมายที่ปรากฏเท่านั้นเอง ที่เกิดจากรูปซึ่งต่างกันเป็นอิตถีภาวรูปและปุริสภาวรูป
สำหรับลักษณะเป็นต้นของอิตถินทรีย์ มีข้อความว่า
ก็บรรดาอินทรีย์ทั้ง ๒ นั้น อิตถินทรีย์มีอิตถีภาวะเป็นลักษณะ มีการประกาศว่าเป็นหญิงเป็นรสะ (คือ เป็นกิจ) มีความเป็นเหตุแห่งทรวดทรง เครื่องหมายรู้ กิริยาและอาการของหญิงเป็นปัจจุปัฏฐาน (คือ อาการที่ปรากฏ)
ลักษณะเป็นต้นของปุริสินทรีย์
ปุริสินทรีย์มีปุริสภาวะเป็นลักษณะ มีการประกาศว่าเป็นชายเป็นรสะ มีทรวดทรง เครื่องหมายรู้ กิริยาและอาการของชายเป็นปัจจุปัฏฐาน
ก็อินทรีย์ทั้ง ๒ นี้ สำหรับคนครั้งปฐมกัป ตั้งขึ้นในปวัตติกาล ในภายหลังต่อมาจึงตั้งขึ้นในปฏิสนธิกาล แม้ที่ตั้งขึ้นในปฏิสนธิกาลก็ย่อมหวั่นไหวเปลี่ยนแปลงได้ในปวัตติกาล
สำหรับการเกิดในภพหนึ่งชาติหนึ่ง แบ่งกาลออกเป็น ๒ กาล คือ ปฏิสนธิกาล ในขณะปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ชื่อว่าปฏิสนธิกาล ต่อจากนั้นมาจนกระทั่งถึงจุติ เป็นปวัตติกาล
เพราะฉะนั้น สำหรับคนในครั้งปฐมกัป สมัยโน้น ซึ่งไม่มีท่านผู้ฟังท่านใดสามารถจะติดตามรู้ได้ แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงการเกิดขึ้นของโลกและมนุษยโลกในครั้งนั้นว่า ยังไม่มีเพศหญิง เพศชาย แต่ในกาลภายหลังเกิดความยินดีในสิ่งที่ปรากฏทางตา ในการกระทบสัมผัสทางกาย จึงทำให้เกิดภาวรูปขึ้นในปวัตติกาล คือหลังจากปฏิสนธิแล้ว ตั้งแต่นั้นมาการสืบต่อพืชเชื้อของความเป็นมนุษย์ในภูมิมนุษย์ ก็ทำให้กรรมและกิเลสที่สะสมอย่างละเอียดเป็นปัจจัยทำให้ภาวรูปซึ่งเป็นหญิงเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต หรือภาวรูปซึ่งเป็นชายเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต เพราะฉะนั้น ข้อความใน อัฏฐสาลินี จึงมีว่า ก็อินทรีย์ทั้ง ๒ นี้ สำหรับคนครั้งปฐมกัป ตั้งขึ้นใน ปวัตติกาล ในภายหลังต่อมา จึงตั้งขึ้นในปฏิสนธิกาล
และข้อความต่อไปที่มีว่า แม้ที่ตั้งขึ้นในปฏิสนธิกาล ก็ย่อมหวั่นไหว เปลี่ยนแปลงได้ในปวัตติกาล
คือ ภาวรูปเปลี่ยนแปลงได้ในปวัตติกาลด้วยกำลังของกรรมและกิเลส เพราะฉะนั้น หญิงจึงเป็นชาย และชายก็กลายเป็นหญิงได้ตามกำลังของกรรม เพราะว่าภาวรูปเป็นกัมมชรูป เป็นรูปซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน
ข้อความใน อัฏฐสาลินี มีว่า
ดังพระบาลี ที่พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวไว้ว่า
ก็สมัยนั้นแล เพศหญิงปรากฏแก่ภิกษุรูปหนึ่ง ก็สมัยนั้นแล เพศชายปรากฏแก่ภิกษุณีรูปหนึ่ง ดังนี้ ก็ในเพศทั้ง ๒ นั้น เพศชายเป็นเพศสูง เป็นอุดมเพศ เพศหญิงเป็นเพศต่ำ เพราะฉะนั้น เพศชายจึงหายไปด้วยอกุศลกรรมมีกำลัง เพศหญิงย่อมตั้งขึ้นด้วยกุศลกรรมอ่อนกำลัง
อนึ่ง เพศหญิงเมื่อหายไป ย่อมหายไปด้วยอกุศลกรรมอ่อนกำลัง เพศชายย่อมตั้งขึ้นด้วยกุศลกรรมมีกำลัง
พึงทราบว่า ทั้ง ๒ เพศนี้หายไปด้วยอกุศล ตั้งขึ้นด้วยกุศล ด้วยประการฉะนี้
เป็นชีวิตประจำวัน พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ทรงแสดงไว้โดยละเอียดถึงสภาพธรรมทั้งหลายซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปตามปัจจัยต่างๆ แม้แต่ในเรื่องของภาวรูป
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๑๑๕๑ – ๑๑๖๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1141
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1142
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1143
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1144
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1145
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1146
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1147
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1148
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1149
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1150
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1151
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1152
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1153
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1154
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1155
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1156
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1157
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1158
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1159
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1160
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1161
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1162
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1163
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1164
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1165
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1166
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1167
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1168
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1169
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1170
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1171
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1172
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1173
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1174
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1175
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1176
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1177
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1178
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1179
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1180
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1181
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1182
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1183
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1184
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1185
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1186
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1187
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1188
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1189
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1190
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1191
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1192
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1193
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1194
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1195
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1196
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1197
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1198
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1199
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1200