แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1167


    ครั้งที่ ๑๑๖๗


    สาระสำคัญ

    ลักษณะแท้ๆ สภาพของสีนั้นคืออะไร

    ความต่างกันของจักขุทวาร กับมโนทวาร

    อัฏฐสาลินี อธิบาย สี

    การบัญญัติและโวหาร - ทรงแสดง บทว่า “ยาว” เป็นต้น


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๒๕


    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านถาม คำถามสั้นๆ ว่า สีนี้คืออะไรแน่

    น่าคิดไหม ไม่ได้ใช้คำว่า รูปารมณ์ ไม่ได้ใช้คำว่า รูปายตนะ ไม่ได้ใช้คำว่า อโลกะ แสงสว่าง หรืออะไรเลย แต่ใช้คำว่า สี

    สีนี้คืออะไร ทุกท่านก็เห็นสีต่างๆ ทางตา แต่ลักษณะแท้ๆ สภาพของสีนั้น คืออะไร

    ถ้าไม่เทียบเคียงกับทางหู อาจจะไม่เข้าใจว่า แท้ที่จริงสีก็คืออาการต่างๆ หรือลักษณะที่ปรากฏต่างๆ ของรูปารมณ์นั่นเอง

    เสียงเป็นสิ่งที่ปรากฏทางหู แต่เสียงนี้ต่างๆ กันไหม ลองฟัง ทุกเสียงมีลักษณะอาการต่างๆ ให้รู้ว่าเป็นเสียงอะไร เป็นเสียงคน หรือว่าเป็นเสียงนก เป็นเสียงสัตว์นานาชนิด หรือว่าเป็นเสียงของดนตรีต่างๆ

    ทางหู ลักษณะของเสียงมีอาการต่างๆ กัน ฉันใด ลักษณะของรูปารมณ์ที่ปรากฏทางตา ก็ปรากฏเป็นสีที่ต่างๆ กัน ฉันนั้น เท่านั้นเอง

    ทางหู เสียงยังปรากฏต่างๆ กันได้ให้รู้ว่าเป็นเสียงนั้น เสียงนี้ ฉันใด ทางตา รูปารมณ์ก็ปรากฏเป็นสีต่างๆ ให้รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นเป็นอะไร ฉันนั้น

    ถ. สีและเสียงมีลักษณะต่างๆ อาจารย์จะให้รู้ลักษณะของสี ลักษณะของเสียง ให้รู้เฉพาะลักษณะของเสียง หรือว่าให้รู้เสียงต่างๆ

    สุ. ไม่ใช่ให้รู้ แต่ว่าที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง เสียงต่างหรือไม่ต่าง

    ถ. เสียงต่าง

    สุ. เมื่อเสียงต่าง จะให้ปรากฏไม่ต่างได้ไหม

    ถ. ไม่ได้

    สุ. ต้องผิดใช่ไหม ถ้าใครจะให้เสียงปรากฏไม่ต่างกัน ต้องผิด เพราะว่าตามปกติตามความเป็นจริง ปัจจัยที่จะให้เกิดเสียงต่างกัน เพราะฉะนั้น เสียงย่อมปรากฏตามความเป็นจริง คือ ต่างกัน ตามเหตุตามปัจจัยที่ให้เกิดเสียงนั้นๆ

    ถ. เพราะความต่างกันของเสียงจึงทำให้เรายึดว่า เป็นเสียงรถยนต์ เป็นเสียงผู้หญิง เสียงผู้ชาย เป็นเสียงเครื่องยนต์ต่างๆ ก็ด้วยอาการต่างๆ ของเสียง ทำให้เรามีความเห็นผิด เพราะฉะนั้น จะพิจารณาเสียงอย่างไรจึงจะไม่มีความเห็นผิด

    สุ. จะเห็นได้ว่า อวิชชามีมาก เพราะไม่ได้พิจารณาสภาพของเสียง ซึ่ง ไม่ว่าจะต่างกันอย่างไรก็ตาม ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางหูเท่านั้น ตามความเป็นจริง ไม่ใช่รถยนต์ หรือว่าไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่เพราะอาศัยการกระทบกันของปฐวี คือ สิ่งที่แข็ง ทำให้เสียงนั้นเกิดขึ้นปรากฏ แล้วแต่ว่าจะเป็นเสียงใด แต่ไม่ว่าจะต่างกันอย่างไรก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางหูและก็ดับ ให้รู้ความจริงว่า ไม่ใช่ได้ยิน ลักษณะของเสียงเป็นสิ่งที่ปรากฏทางหู

    ส่วนสภาพที่ได้ยิน ก็ไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นแต่เพียงธาตุที่เกิดขึ้นรู้ได้เฉพาะเสียงอย่างเดียว ธาตุชนิดนี้ไม่สามารถที่จะเห็น หรือไม่สามารถที่จะคิดนึก หรือ ไม่สามารถที่จะรู้กลิ่นต่างๆ แต่เมื่อเกิดขึ้นขณะใด ก็เป็นเพียงธาตุที่สามารถรู้เฉพาะเสียงเท่านั้น และก็ดับทั้งเสียงและธาตุที่รู้เสียง

    ต้องประจักษ์ความจริงอย่างนี้ ถ้ายังไม่ประจักษ์ก็แสดงว่า ยังไม่ได้พิจารณารู้ความจริงว่า เสียงเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางหู ฉันใด สีสันวัณณะต่างๆ ทำให้เกิดการเห็นว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุต่างๆ ก็เพราะลักษณะของสีต่างๆ ปรากฏ ทางตา กว่าจะลอกสัญญาความจำเดิมซึ่งมีมายาวนานในอดีตว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคลออก ให้รู้ว่าเป็นแต่เพียงสีต่างๆ เช่นเดียวกับเสียงต่างๆ ที่ปรากฏทางหู เท่านั้นเอง ก็จะต้องอาศัยการฟัง การพิจารณา เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งพร้อมกับสติที่เริ่มระลึกได้ว่า ขณะนี้ลักษณะที่แท้จริงของสิ่งที่ปรากฏทางตา คือ สีต่างๆ

    ที่ว่าเป็นสีนี่ ถูกไหม แต่ละท่านที่ปรากฏทางตา และเป็นสีต่างๆ อาศัยมหาภูตรูปซึ่งมีสัดส่วนผสมต่างๆ ทำให้ปรากฏเป็นสีต่างๆ และเกิดการยึดมั่นใน สีต่างๆ นั้นว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ

    ถ. ที่กล่าวว่า สีต่างๆ หมายถึงสีแดง สีเขียว สีเหลืองหรือเปล่า

    สุ. เช่นเดียวกับเสียง เสียงต่างๆ จะใช้คำเรียกเสียงนั้นกี่คำก็ตามแต่ ย้ายจากการเรียกเสียงต่างๆ มาเป็นสีต่างๆ จะใช้คำกี่คำ เรียกสีกี่สีก็แล้วแต่

    ถ. ตามปกติ ถ้าจักขุวิญญาณเห็นรูปารมณ์ ขณะนั้นยังไม่รู้ว่า เป็นสีแดง เป็นสีเขียว ใช่ไหม

    สุ. จักขุวิญญาณไม่มีหน้าที่รู้ว่าเป็นสีอะไร มีแต่เพียงกิจเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ผิดปกติในขณะนี้

    ถ. ที่อาจารย์บอกว่า เห็นสีต่างๆ หมายความว่าอย่างไร หมายถึงสีแดง สีเขียวหรือเปล่า

    สุ. ปกติ ตามความเป็นจริง ขอประทานโทษ บางทีท่านผู้ฟังอาจจะเกิดความสงสัยว่า ที่จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นสีเท่านั้น ก็คงจะเป็นขาวล้วน ไม่มีแดง ไม่มีเหลือง เขียว อะไรเลย และตอนหลังๆ ค่อยๆ มีสีแต้มเข้ามาทีละน้อย เป็น แดงบ้าง เขียวบ้าง บางท่านอาจจะคิดอย่างนั้น

    แต่ตามความเป็นจริง สิ่งที่ปรากฏทางตากำลังปรากฏในขณะนี้ ถ้าถามท่านผู้ฟังว่า ท่านเห็นสีอะไร

    ถ. ก็เห็นสีขาวบ้าง สีเขียวบ้าง

    สุ. ตามความเป็นจริง ใช่ไหม แต่ถ้ายังไม่ถาม มีใครนึกบ้างไหมว่า กำลังเห็นสีอะไร

    ถ. บางทีก็ไม่ได้ใส่ใจ

    สุ. เพราะฉะนั้น อย่าลืมคำถามว่า มีใครนึกบ้างไหมว่าเห็นสีอะไร นี่คือความต่างกันของจักขุทวารกับมโนทวาร ทั้งๆ ที่เห็น ไม่ผิดปกติ คือ ลืมตาแล้วก็เห็น แต่ไม่ได้นึกถึงสีหนึ่งสีใด ซึ่งสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่ขาวก่อนและค่อยๆ แต้มเป็นสีขึ้น

    ปกติเสียงที่ปรากฏต่างกันทางหู ฉันใด วัณณธาตุ คือ สีสันวัณณะ หรือ แสงสว่างที่ปรากฏทางตาก็ต่างกัน จนกระทั่งมีคำอธิบายหรือคำที่ใช้เรียกว่า เงา แดด แสงสว่าง มืด เมฆ หมอก ควัน ละออง แสงดวงจันทร์ แสงดวงอาทิตย์ คือ ทั้งหมดที่เห็นเป็นปกติ แต่ยังไม่ได้นึกว่าเห็นสีอะไร แต่ต้องเห็นแล้วเป็นสีต่างๆ

    ถ. การรู้ความหมายของสีนั้นเกิดขึ้นภายหลังการเห็นแล้ว คือ ตรึกนึกถึงในภายหลัง ใช่ไหม

    สุ. แน่นอน เห็นก่อน ยังตอบไม่ได้ว่าเห็นสีอะไร แต่เห็นนั้นต้องเห็นแน่ๆ และสิ่งที่ปรากฏก็ต้องเป็นสีต่างๆ ด้วย แต่ยังไม่ได้นึกถึงว่าเห็นสีอะไร

    ถ. ทางวิทยาศาสตร์ เขาแสดงเรื่องของการเห็นไว้ว่า การที่รูปมีสีแตกต่างกันนั้น เนื่องมาจากส่วนผสมของโปรตอนและอีเล็คตรอนไม่เท่ากัน ความแตกต่างจึงปรากฏเป็นสีสันต่างๆ กัน ทำให้ผมระลึกถึงคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า การที่เราบัญญัติสีเหล่านั้นขึ้นมาเป็นความหมายอย่างหนึ่งๆ และทรงจำว่า เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นโดยอาศัยบัญญัติเท่านั้น ซึ่งทางวิทยาศาสตร์บอกว่า เป็นโปรตอนและอีเล็คตรอนที่มีส่วนผสมต่างกันเท่านั้น โปรตอนและอีเล็คตรอนที่ต่างกันนี้ ถ้าเปรียบเทียบกับทางพุทธศาสนา ก็ได้แก่ สภาพของดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งมีส่วนผสมต่างๆ กัน ใช่ไหม

    สุ. แต่ละศาสตร์ก็ใช้ศัพท์เฉพาะของแต่ละศาสตร์ และสำหรับทางพระพุทธศาสนา พระผู้มีพระภาคทรงแสดงรูปที่ย่อยละเอียดที่สุดแล้วว่า อย่างน้อยที่สุดจะต้องมีรูปรวมกัน ๘ รูป และใน ๘ รูปนั้น เป็นรูปใหญ่ รูปที่เป็นประธาน ๔ รูป คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ส่วนรูปอื่นอีก ๔ รูป ได้แก่ สี กลิ่น รส โอชานั้น เป็นอุปาทายรูป

    ข้อความในอรรถกถาแสดงไว้ละเอียด เพื่อไม่ให้เข้าใจผิดในความหมายของ อุปาทายรูป ซึ่งบางแห่งใช้คำว่า อุปาทารูป เพราะฉะนั้น จะเรียกว่า อุปาทารูป หรืออุปาทายรูป ก็หมายความถึงรูปที่อาศัยเกิดกับมหาภูตรูป ไม่ยอมปล่อยมหาภูตรูป เพราะปล่อยไม่ได้ อุปาทายรูปจะต้องติดกับมหาภูตรูป ไม่แยกจากกันเลย

    สุ. มีคำถามว่า รูปใดซึ่งอาศัยมหาภูตรูป รูปนั้นเป็นอุปาทายรูปหรือ แต่อย่าลืม ต้องมีคำขยายมากกว่านั้นอีกว่า รูปใดซึ่งอาศัยมหาภูตรูป และเป็นที่เกิดของอุปาทายรูปด้วย รูปนั้นจึงจะเป็นมหาภูตรูป เพราะว่า

    มหาภูตรูป ๑ อาศัยมหาภูตรูป ๓

    มหาภูตรูป ๒ อาศัยมหาภูตรูป ๒

    หรือมหาภูตรูป ๓ อาศัยมหาภูตรูป ๑

    คือ ธาตุดินต้องอาศัยธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุน้ำต้องอาศัยธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุไฟต้องอาศัยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุลมต้องอาศัย ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ

    เพราะฉะนั้น มหาภูตรูปเองจะเกิดโดยลำพังไม่ได้ แม้มหาภูตรูปก็ต้องอาศัยมหาภูตรูป แต่มหาภูตรูปซึ่งอาศัยมหาภูตรูป ไม่ใช่อุปาทายรูป

    อุปาทายรูปต้องเป็นรูปที่อาศัยมหาภูตรูป แต่ตัวเองไม่เป็นที่อาศัยของรูปอื่น ส่วนมหาภูตรูปอาศัยมหาภูตรูป และเป็นที่อาศัยของอุปาทายรูป

    แต่ละศาสตร์ก็ใช้แต่ละศัพท์แต่ละคำ ซึ่งท่านผู้ฟังก็เปรียบเทียบได้ แม้ว่าจะใช้คำต่างกัน

    ถ. วิญญาณซึ่งเป็นตัวรู้ก็เกิดพร้อมกับสัญญา ความจำ ฉะนั้น พอเห็นตอนแรกก็น่าจะทั้งจำได้ และทั้งรู้ความหมาย

    สุ. ต้องจำ ขณะนั้นต้องจำ เพราะว่าสัญญาเจตสิกเกิด

    ถ. เพราะฉะนั้น ก็ควรจะรู้ความหมายของสิ่งที่เห็น

    สุ. ขณะเดียว นิดเดียว เพียงแต่จำ ถ้าไม่จำไว้ก่อนจะรู้ความหมายทีหลังได้อย่างไร

    ถ. น่าจะรู้ด้วย เพราะมีวิญญาณ

    สุ. วิญญาณเป็นใหญ่เป็นประธานในการเห็น วิญญาณไม่ได้จำ อย่าลืมว่าต้องแยกกิจของสภาพธรรมแต่ละอย่าง วิญญาณเห็นแต่ไม่ได้จำ เพราะฉะนั้น สัญญาจำสิ่งที่ปรากฏพร้อมกับจักขุวิญญาณที่เห็น จักขุวิญญาณเห็นแค่ไหนสัญญา จำแค่นั้น เพราะสัญญาเกิดกับจักขุวิญญาณ

    ถ. เป็นสิ่งที่เคยเห็นแล้ว เคยจำได้ เห็นอีกครั้งหนึ่งทั้งจักขุวิญญาณและสัญญาเกิดร่วมกัน ก็น่าจะรู้ความหมายทันที

    สุ. ทางมโนทวารได้ แต่ไม่ใช่ในขณะที่จักขุวิญญาณเกิด เพราะ จักขุวิญญาณเพียงทำกิจเห็น ไม่ว่าจะเคยเห็นมาแล้ว หรือยังไม่เคยเห็นก็ตาม จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นรูป ซึ่งเป็นรูปที่ยังไม่ดับ มีอายุเพียง ๑๗ ขณะของจิต

    ถ. แต่ไม่ได้ทำกิจรู้ความหมายนั้นด้วย ต่อไปเป็นปัญหาของศัพท์ คำว่า มหาภูตรูปกับอุปาทายรูป แตกต่างกันอย่างไร

    สุ. แตกต่างกัน คือ มหาภูตรูป เป็นรูปซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธาน เป็นที่อาศัยเกิดของอุปาทายรูป

    ข้อความใน อัฏฐสาลินี อธิบาย รูปายตนนิทเทส มีข้อความว่า

    จะวินิจฉัยในรูปายตนนิทเทสต่อไป

    สีนั่นแหละชื่อว่าวัณณนิภา อีกอย่างหนึ่งชื่อว่านิภา ด้วยอรรถว่า ส่องแสง อธิบายว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏแก่จักขุวิญญาณ แสง คือ สี ชื่อว่าวัณณนิภา

    เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นต้องติดในศัพท์ว่าจะใช้ศัพท์ไหน จะใช้ศัพท์ว่า วัณณะ หรือจะใช้ศัพท์ว่า นิภา หรือจะใช้ศัพท์ว่า วัณณนิภา แต่โดยสภาพธรรมก็คือสิ่งที่ปรากฏทางตา จะเรียกแสง จะเรียกสี จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าลักษณะที่แท้จริงของรูปนั้น คือ เป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งกระทบจักขุปสาทแล้วปรากฏ

    รูป คือ สี ชื่อว่าเป็นสิ่งที่เห็นได้ หมายความว่า เป็นไปกับด้วยสิ่งที่จะเห็นได้ อธิบายว่า อันจักขุวิญญาณพึงเห็นได้

    แสดงความชัดเจนว่า ไม่ใช่จิตดวงอื่นนอกจากจักขุวิญญาณเท่านั้นที่ทำกิจเห็น สัมปฏิจฉันนะซึ่งเกิดต่อก็ดี สันตีรณะก็ดี โวฏฐัพพนะก็ดี ชวนะก็ดี แม้ว่าจะมีสีซึ่งยังไม่ได้ดับไป เพราะว่าอายุยังไม่ครบ ๑๗ ขณะ แต่ว่าสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ ชวนะ ไม่ได้ทำกิจเห็น ด้วยเหตุนี้จึงมีข้อความว่า

    อันจักขุวิญญาณพึงเห็นได้ ที่ชื่อว่ากระทบได้ หมายความว่า เป็นไปกับด้วยสิ่งที่กระทบได้ คือ จักขุปสาท อธิบายว่า เป็นสิ่งที่ให้เกิดการกระทบและการเสียดสี (คือ ผัสสะ)

    ในบรรดาสีทั้งหลาย มีสีเขียว เป็นต้น สีเหมือนดอกสามหาว ดอกผักตบ ชื่อว่าสีเขียวคราม สีเหมือนดอกกรรณิการ์ ชื่อว่าสีเหลือง สีเหมือนดอกชบา ชื่อว่า สีแดง สีเหมือนดาวประจำรุ่ง ชื่อว่าสีขาว สีเหมือนถ่านเผา ชื่อว่าสีดำ สีแดงเรื่อเหมือนกับย่างทรายและช่อยี่โถ ชื่อว่าสีหงสบาท

    เป็นคำอธิบายเรื่องสีต่างๆ ซึ่งขอผ่านไป

    ๑๒ บท มีบทว่า ยาว เป็นต้น ทรงแสดงโดยโวหาร (คือ การบัญญัติ) และโวหารแห่งบทเหล่านั้น ก็สำเร็จด้วยการเทียบเคียง และสำเร็จด้วยการตั้งลง

    ในการที่จะกล่าวว่า ยาว หรือสั้น หรือลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ก็ด้วยการเทียบเคียง และโดยการตั้งลง เพราะอาจจะมีผู้ถามว่า เห็นสิ่งนั้นไหม ใหญ่แค่ไหน ยาวแค่ไหน หรือว่ารูปร่างสัณฐานเป็นอย่างไร ซึ่งการที่จะตอบหรือว่าจะบอก จะบัญญัติให้บุคคลอื่นรู้ได้ ก็ต้องด้วยการเทียบเคียง เช่น

    จริงอยู่ บทว่า ยาว เป็นต้น สำเร็จโดยการเทียบเคียง บทว่า กลม เป็นต้น สำเร็จโดยการตั้งลง ในบรรดาบทเหล่านั้น รูปเทียบเคียงรูปที่สั้น ขยายเกินไปกว่านั้น ชื่อว่ายาว

    ถูกไหม ที่จะว่ารูปใดยาว ต้องมีรูปที่สั้นเป็นเครื่องเทียบเคียงจึงจะรู้ว่า รูปที่เกินไปกว่านั้น ชื่อว่ายาว

    ท่านผู้ฟังต้องการสายไฟฟ้าสักเท่าไร ถ้าต้องการ ๑ เมตร ส่วนที่เกินไปกว่านั้น ชื่อว่ายาว ถูกไหม ถ้าท่านต้องการ ๒ เมตร น้อยกว่านั้น ชื่อว่าสั้น

    รูปที่เทียบเคียงรูปที่ยาวนั้น หดไปกว่านั้น ชื่อว่าสั้น

    รูปที่เทียบเคียงรูปที่หยาบ เล็กไปกว่านั้น ชื่อว่าละเอียด

    รูปที่เทียบเคียงรูปที่ละเอียด ใหญ่ไปกว่านั้น ชื่อว่าหยาบ

    รูปมีสัณฐานเหมือนวงล้อ ชื่อว่ากลม

    รูปมีสัณฐานเหมือนไข่ไก่ ชื่อว่ารี

    รูปที่ประกอบด้วยเหลี่ยมทั้ง ๔ ชื่อว่าสี่เหลี่ยม

    แม้ในรูป ๖ เหลี่ยม เป็นต้น ก็มีนัยนี้แหละ

    คำว่า ลุ่ม ได้แก่ รูปซึ่งยุบลง

    คำว่า ดอน ได้แก่ รูปที่นูนขึ้น

    นี่เป็นคำที่ใช้อธิบายสิ่งที่ปรากฏทางตาในชีวิตประจำวัน

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ในบรรดารูปเหล่านั้น เพราะรูปยาวเป็นต้น เป็นรูปถูกต้องแล้ว อาจจะทราบได้

    อย่าลืม ท่านผู้ฟังที่คิดว่า ท่านเห็นรูปที่ยาวทางตา แท้ที่จริงแล้ว รูปยาว เป็นต้น เป็นรูปถูกต้องแล้ว อาจจะทราบได้

    ส่วนรูปสีเขียวเป็นต้น ไม่อาจทราบได้อย่างนั้น ฉะนั้น รูปายตนะที่ยาว จึงไม่ใช่โดยตรง รูปายตนะที่สั้นเป็นต้น ก็เช่นเดียวกัน

    นี่คือสิ่งที่ปรากฏทางตาในชีวิตประจำวัน สี ยาวหรือสั้น สีเหลือง ยาวหรือสั้น สี ยาวหรือสั้นได้ไหม ไม่ได้

    แต่ในที่นี้ เฉพาะรูปายตนะที่อาศัยรูปนั้นๆ แล้วตั้งอยู่โดยประการนั้นๆ พึงทราบว่า ตรัสไว้โดยโวหารว่า ยาว สั้น

    ที่จริงแล้ว ต้องวัดใช่ไหม จึงจะรู้ได้ว่า ยาวหรือสั้น

    เพราะฉะนั้น รูปที่ยาวที่สั้น ไม่ใช่สี แต่เป็นมหาภูตรูปซึ่งเป็นที่อาศัยของสี ซึ่งตัวมหาภูตรูปเองไม่มีสีใดๆ ทั้งสิ้น แต่แม้มหาภูตรูปไม่เป็นสีเขียวก็แสดงอุปาทายรูปเป็นสีเขียว แม้มหาภูตรูปไม่ใช่สีแดงก็แสดงอุปาทายรูปเป็นสีแดง

    สีที่เห็น ทำให้รู้ว่ายาวหรือสั้น เป็นเพราะอาศัยมหาภูตรูป เพราะฉะนั้น รูปที่ยาวที่สั้นก็ต้องเป็นมหาภูตรูป ไม่ใช่สี แต่ที่ปรากฏทางตาให้เห็นเพราะว่า อุปาทายรูป คือ สี ที่เกิดกับมหาภูตรูป จึงทำให้ปรากฏดูเหมือนว่าเห็นรูปายตนะ ยาวหรือสั้น แต่ให้ทราบว่า นั่นไม่ใช่โดยตรง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๗ ตอนที่ ๑๑๖๑ – ๑๑๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 86
    28 ธ.ค. 2564