แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1173
ครั้งที่ ๑๑๗๓
สาระสำคัญ
ยอดของความสุข
ยอดของการเห็น
พิจารณาประโยชน์ของโสตินทรีย์
อถ.พระธัมมสังคณีปกรณ์ - โสตายตนะนิทเทส
อัฏฐสาลินี - อุปมา หู เปรียบเหมือนจระเข้
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๕
ถ. ยอดของความสุขคืออะไรที่ท่านพระอานนท์ถาม
สุ. กำลังเป็นสุขและรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน จนกระทั่งสามารถดับการยึดถือสุขทั้งหลายได้
ถ. หมายความถึงสุขในขณะที่ไม่ได้ยึดถือว่าเป็นตัวตน ใช่ไหม
สุ. คือ การรู้ลักษณะของความสุขว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง
เคยเป็นสุขมามาก หลายภพ หลายชาติ ยืดยาวมาโดยตลอดในสังสารวัฏฏ์ แต่สุขก็ไม่เที่ยง และไม่ได้รู้ความจริงว่าสุขไม่เที่ยง ยังคงปรารถนาความสุข ยังยึดถือว่าเราสุข เพราะฉะนั้น ยอดของความสุข คือ ในขณะนี้ที่รู้สภาพของสุขตามความเป็นจริง จนกระทั่งสามารถดับกิเลสถึงความเป็นพระอรหันต์ สิ้นอาสวะทั้งหลายได้ นั่น จึงจะเป็นยอดของความสุขที่แท้จริง
ถ. ยอดของการเห็นคืออะไร
สุ. คือ เมื่อเห็นแล้ว เกิดปัญญารู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความ เป็นจริงจนดับกิเลสได้
เห็นอะไรก็เห็น แต่ไม่เกิดปัญญา ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า เห็นเป็นแต่เพียงสภาพรู้ ธาตุรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาอย่างเดียวเท่านั้น สภาพรู้ ธาตุรู้ คือ จักขุวิญญาณ ไม่ได้ยินเสียงอะไร ไม่ได้กลิ่นอะไร ขณะใดที่จักขุวิญญาณเกิด ขณะนั้นเป็นนามธรรมที่เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้
แต่ถ้ารู้ชัดตามความเป็นจริงอย่างนี้ ขณะใดที่เห็น และรู้ความจริงของ สภาพธรรมที่เห็น ก็เป็นยอดของการเห็น แต่กว่าจะเป็นยอดได้ต้องอบรมเจริญปัญญา โดยการระลึกได้ว่า กำลังเห็นอย่างนี้ ถ้าสติไม่ระลึก ไม่ใช่ทางที่จะทำให้เป็น พระอริยบุคคล
ถ้าใครคิดว่า สามารถจะเป็นพระอริยบุคคลได้โดยไม่ระลึกรู้เห็นและสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นการเข้าใจผิด เพราะจะไม่หมดความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ตราบใดที่ยังไม่ได้พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติ ไม่ว่ากำลังดูหนัง ดูโทรทัศน์ ดูละคร ดูฟุตบอล ดูกีฬา หรือว่ามีสภาพธรรมใดๆ ปรากฏเพราะเหตุปัจจัย ในชีวิตตาม ความเป็นจริง จะต้องระลึกรู้จึงจะเห็นสัจธรรม
โสตินทรีย์ คือ อินทรีย์ที่ ๒ ซึ่งควรจะได้พิจารณาประโยชน์ของโสตินทรีย์ว่า ถ้าไม่มีโสตินทรีย์จะไม่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ไม่มีโอกาสเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ทั้งๆ ที่มีการเห็นแต่จะรู้ได้อย่างไรว่า ขณะนี้เป็นแต่เพียงสภาพรู้ซึ่งอาศัยจักขุนทรีย์จึงเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาได้ ด้วยเหตุนี้ โสตินทรีย์ อินทรีย์ที่ ๒ จึงเป็นอินทรีย์ที่สำคัญ เพราะเป็นอินทรีย์ที่มีประโยชน์เกื้อกูลต่อการอบรมเจริญปัญญา แต่ควรพิจารณาเห็นประโยชน์ของโสตินทรีย์จริงๆ ว่า เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว อย่าขาดการพิจารณาไตร่ตรองโดยรอบคอบ เพื่อที่จะได้รู้ว่า ธรรมที่ได้ยินได้ฟังนั้นเป็นพระธรรมแท้จริงหรือเปล่า มิฉะนั้นแล้วอาจจะเข้าใจพระธรรมคลาดเคลื่อนได้ เพราะว่าสภาพธรรมที่ทรงตรัสรู้และทรงแสดงเป็นสภาพธรรมที่แม้ปรากฏ แต่ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญา ไม่สามารถจะประจักษ์แจ้งในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้
เห็น เป็นชีวิตประจำวัน ได้ยิน เป็นชีวิตประจำวัน ถ้าสติไม่เริ่มระลึกรู้ลักษณะของเห็น ของได้ยิน ของได้กลิ่น ของลิ้มรส ของขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ของคิดนึกทางใจ ก็ไม่มีทางที่จะเป็นพระอริยบุคคลได้
เพราะฉะนั้น ขณะที่ได้ยินนี้ควรจะเป็นสิ่งที่เตือนให้รู้ว่า ถ้าไม่ระลึกก็ไม่รู้ ถ้าไม่ศึกษา ปัญญาก็ไม่เจริญขึ้นที่จะรู้ลักษณะของสภาพที่ได้ยินและเสียง ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ถ้าระลึกอย่างนี้บ่อยๆ ขณะใดที่เห็นและได้ยินไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็จะเป็นปัจจัยให้สติเริ่มระลึกได้ แม้ขณะที่กำลังดูหนัง ดูละคร ดูโทรทัศน์ ดูกีฬา ดูฟุตบอล กำลังเป็นสุข เป็นทุกข์อย่างไรก็ตาม อาศัยการฟัง พิจารณา และเข้าใจ สัจธรรมจริงๆ จะเป็นปัจจัยให้สติเจริญขึ้นเรื่อยๆ
อัฏฐสาลินี อรรถกถา พระธรรมสังคณีปกรณ์ ข้อความอธิบาย โสตายตนนิทเทสเป็นต้น มีว่า
อธิบายคำว่า โสต
ชื่อว่าโสต ด้วยอรรถว่า ได้ยิน
โสตที่เป็นปสาทรูปนั้น ซึมซาบอยู่ในประเทศมีสัณฐานดังวงแหวน มีขนแดงละเอียดงอกขึ้นแล้วภายในช่องสสัมภารโสต (คือ หูอันประกอบด้วยส่วนต่างๆ ซึ่งเป็นที่ตั้งที่อาศัยของโสตปสาทรูป) อันธาตุมีประการดังกล่าวแล้วกระทำอุปการะ อันอุตุจิตและอาหารคอยอุปถัมภ์ อันอายุเฝ้าเลี้ยงดู อันโคจรรูปมีวัณณะเป็นต้น คอยแวดล้อม ย่อมให้สำเร็จความเป็นวัตถุและทวารแห่งวิถีจิต มีโสตวิญญาณเป็นต้น ตั้งอยู่ตามควร
ในคราวก่อนที่ได้กล่าวถึงจักขุ แสดงความต่างกันของจักขุ ๒ อย่าง คือ จักขุปสาทรูปและสสัมภารจักขุ สำหรับโสตะก็เช่นเดียวกัน โสตะที่เป็นโสตปสาทรูปเป็นรูปที่เล็ก มองไม่เห็น แต่ที่ใช้คำว่า โสตะ หรือหูที่หมายรู้กันนั้น ก็หมายถึง สสัมภารโสตะ ซึ่งหมายความถึง ประเทศที่มีสัณฐานดังวงแหวน มีขนสีแดงละเอียดงอกขึ้นแล้วภายในช่องสสัมภารโสต และมีธาตุต่างๆ กระทำอุปการะ คือ เกิดร่วมกับรูปอื่น เช่น รูปซึ่งเกิดเพราะอุตุ รูปซึ่งเกิดเพราะจิต รูปซึ่งเกิดเพราะอาหาร โดยไม่มีใครสามารถแยกกลุ่มของรูปเล็กๆ ที่ละเอียดซึ่งเกิดรวมกันออกจากกันได้ และยังมีชีวิตินทริยะซึ่งเป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมอุปถัมภ์ อันโคจรรูปมีวัณณะเป็นต้นคอยแวดล้อม ถ้าไม่มีสีสันวัณณะจะปรากฏสัณฐานที่ตั้งของโสตปสาทรูปที่เรียกว่าหูไม่ได้ แต่เพราะอาศัยสีสันวัณณะปรากฏ จึงทำให้รู้ว่าหูอยู่ที่ไหน มีรูปร่างสัณฐานอย่างไร และสำหรับโสตปสาทรูป ย่อมให้สำเร็จความเป็นวัตถุและทวารแห่งวิถีจิต มี โสตวิญญาณเป็นต้น ตั้งอยู่ตามควร
วัตถุ ได้แก่ จักขุปสาท เป็นจักขุวัตถุ คือ เป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ ๒ ดวง โสตวัตถุเป็นที่เกิดของโสตวิญญาณ ๒ ดวง ฆานวัตถุเป็นที่เกิดของฆานวิญญาณ ๒ ดวง ชิวหาวัตถุเป็นที่เกิดของชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง กายวัตถุเป็นที่เกิดของ กายวิญญาณ ๒ ดวง
ถ้าเป็นทวาร ไม่ใช่เป็นที่เกิด แต่เป็นทางรู้อารมณ์ เช่น โลภมูลจิต จิตที่ยินดีพอใจ วันหนึ่งๆ ไม่ทราบเลยว่า ความยินดีพอใจติดตามการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสอยู่เสมอ ซึ่งชีวิตในวันหนึ่งๆ ของแต่ละบุคคลจะมีเรื่องอะไรบ้าง ต้องแล้วแต่ว่าท่านผู้นั้นเห็นอะไร เมื่อเห็นอะไรก็นึกถึงเรื่องสิ่งนั้นทันที เห็นพระเจดีย์ นึกถึงอะไร เห็นพวงมาลัยจะให้นึกถึงอย่างอื่นได้ไหม ในเมื่อกล่าวว่า เห็นพวงมาลัย ที่กล่าวว่าเห็นพวงมาลัยหมายความว่า เห็นและนึกเรื่องพวงมาลัย คือ นึกถึงสิ่งที่เห็นทันที
เพราะฉะนั้น ชีวิตในวันหนึ่งๆ ย่อมแล้วแต่ว่าจะเห็นอะไร ก็นึกถึงเรื่องนั้น จะได้ยินอะไร ก็นึกถึงเรื่องนั้น จะได้กลิ่น จะลิ้มรส จะกระทบสัมผัสอะไร ก็เต็มไปด้วยเรื่องของสิ่งที่ปรากฏ จะยินดีหรือยินร้ายในสิ่งใด ก็แล้วแต่ว่าตาจะเห็นอะไร
ถ้าเห็นสิ่งที่น่ายินดี ความยินดีเกิดแล้วหลังจากเห็น ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่น่ายินดี จะกั้นจิตไว้ไม่ให้เกิดความขุ่นใจก็ยาก เพราะว่าสิ่งที่ไม่น่ายินดีที่เห็นเป็นปัจจัยให้เกิดความไม่แช่มชื่นขึ้น เพราะฉะนั้น ทวาร ซึ่งเป็นทางให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำให้เกิดจิตที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง นั่นเป็นความหมายของทวาร แต่ถ้าเป็นวัตถุหมายเฉพาะรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตว่า จิตประเภทใดเกิดที่วัตถุ หรือรูปใด เพราะในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตจะเกิดโดยไม่อาศัยรูปไม่ได้ จิตทุกดวงเมื่อศึกษาจะทราบว่า จิตดวงนั้นเกิดที่ไหน มีรูปใดเป็นวัตถุ
เพราะฉะนั้น สำหรับโสตปสาทรูป สำเร็จความเป็นวัตถุและทวารแห่งวิถีจิต มีโสตวิญญาณเป็นต้น ตั้งอยู่ตามควร คือ ตามอายุของรูปและตามอายุของจิต แต่ละดวง
ถ. คำว่า โสตปสาทรูปเห็นไม่ได้แต่กระทบได้ ในเมื่อเห็นไม่ได้ทำไมรู้ว่า เป็นวงแหวน
สุ. อาศัยสี คือ วัณณะ ถ้าไม่มีสีสันวัณณะต่างๆ จะบอกได้ไหมว่า ตาอยู่ที่ไหน หูอยู่ที่ไหน จมูกอยู่ที่ไหน ลิ้นอยู่ที่ไหน แต่เพราะมีสีสันวัณณะเกิดร่วมด้วย จึงสามารถรู้สสัมภารโสตะได้ว่าอยู่ที่ไหน มีลักษณะอย่างไร แต่ไม่มีใครสามารถจะเห็นโสตปสาทรูปได้
ปสาทรูปทุกรูป ไม่ว่าจะเป็นจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท และกายปสาท เห็นไม่ได้ทั้งนั้น รูปทั้งหมด ๒๘ รูป เห็นได้รูปเดียว คือ รูปารมณ์ หรือวัณณะเท่านั้น นอกจากนั้นรูปอื่นเห็นไม่ได้
แต่รูปที่กระทบได้มี ๑๒ รูป คือ ตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ กาย ๑ รวม ๕ รูป ซึ่งเป็นปสาทรูป และอารมณ์ที่ปรากฏ คือ รูปารมณ์ ๑ สัททารมณ์ ๑ คันธารมณ์ ๑ รสารมณ์ ๑ โผฏฐัพพารมณ์ ๓ เป็นรูปที่กระทบได้
เพราะฉะนั้น สำหรับวัณณะหรือรูปารมณ์ รูปเดียว เป็นรูปซึ่งกระทบได้และเห็นได้ รูปอื่นแม้กระทบได้ก็ไม่เห็น เช่น เสียง เป็นต้น
สำหรับลักษณะเป็นต้นของโสตปสาท
มีความเป็นปสาทแห่งภูตรูปอันควรแก่การกระทบเสียง เป็นลักษณะ
มีความชักมาที่เสียง เป็นรสะ คือ เป็นกิจ
มีความเป็นที่รองรับ คือ เป็นที่เกิดแห่งโสตวิญญาณ เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ อาการที่ปรากฏ
มีภูตรูปอันเกิดแต่กรรมซึ่งมีความประสงค์จะฟัง เป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด
อัฏฐสาลินี อุปมาหูเปรียบเหมือนจระเข้ ข้อความมีว่า
แม้จระเข้ออกไปข้างนอก ย่อมไม่เห็นสิ่งที่จะงับ ย่อมหลับตาไปอย่างเดียว แต่เมื่อลงน้ำไปสัก ๑๐๐ วา เข้าสู่โพรงนอน จิตย่อมสงบ หลับสบาย แม้โสตนี้ก็เหมือนเช่นนั้น พอใจสิ่งที่เป็นโพรง อิงอาศัยอากาศ ชอบใจอยู่ในสิ่งที่เป็นช่อง คือ รูหูทีเดียว อากาศในรูหูย่อมเป็นปัจจัยในการได้ยินเสียงของโสตนั้น แม้อัชฎากาศ (คือ อากาศโล่งตลอด) ก็ควรเป็นปัจจัยเหมือนกัน ด้วยว่าเมื่อบุคคลกระทำการสวดภายในถ้ำ เสียงก็หาพังฝาถ้ำออกไปข้างนอกไม่ แต่ย่อมออกไปทางช่องประตูและหน้าต่าง เมื่อกระทบกันโดยสืบๆ กันแห่งธาตุ ย่อมไปกระทบโสตปสาท ถ้าว่า ในเวลานั้น คนที่นั่งอยู่บนหลังถ้ำย่อมรู้ว่า คนชื่อโน้นสวด
ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ โสตก็นับว่ามีอารมณ์ที่มาถึงตน ก็โสตนี้มีอารมณ์ที่มาถึงตนด้วยหรือ
ตอบว่า ถูกแล้ว โสตมีอารมณ์ที่มาถึงตน
ถามว่า ถ้าอย่างนั้น เมื่อกลองเป็นต้นดังอยู่ในที่ไกล ก็จะไม่รู้ได้ว่าเสียงไกลน่ะซิ
ตอบว่า จะไม่รู้ก็ไม่ใช่ เพราะเมื่อเสียงกระทบโสตปสาทเข้าแล้ว ย่อมมีอาการที่จะรู้โดยประการนั้นๆ ว่า เสียงไกล เสียงใกล้ เสียงฝั่งนอก เสียงฝั่งใน ดังนี้ อันนี้เป็นธรรมดา
ถามต่อไปว่า ข้อธรรมดานี้ มีความประสงค์ประการไร
ตอบว่า ประสงค์ข้อที่ว่า โสตนี้มีอารมณ์ที่ไม่มาถึงตน เพราะเหตุที่ช่องรูมีอยู่ในที่ใดๆ คนเราจึงจะได้ยินเสียงได้จากที่นั้นๆ
อย่าลืมว่า ต้องถึงโดยอาศัยช่องว่าง คือ อากาศ ถ้าไม่มีช่องว่างคืออากาศจะไม่มีการได้ยินเสียงใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าอุดหูก็ไม่ได้ยินเสียงอะไร ต้องมีช่องว่าง เพราะฉะนั้น เสียงที่จะมาถึงโสตปสาทได้ ที่ว่าเป็นอารมณ์ที่มาถึงตนนั้นไม่ได้หมายความว่า วัตถุซึ่งเป็นที่ตั้งของเสียงจะต้องมาถึงข้างในช่องหู แต่หมายความว่า มาถึงโดยอาศัยอากาศ
เพราะฉะนั้น สำหรับทางตาและทางหู นามธรรมเกิดขึ้นรู้รูปซึ่งไม่มาถึงตน คือ ไม่ใช่ว่ารูปนั้นต้องมาถูกต้องกับปสาทนั้นๆ ซึ่งสำหรับโสตวิญญาณที่ได้ยินเสียง เพราะว่าอาศัยอากาศที่จะมาถึงโสตปสาทรูปได้ คือ เสียงนั้นต้องอาศัยอากาศ จึงจะกระทบกับโสตปสาทรูปได้
เช่นเดียวกับทางตา ถ้าเทียบเคียง ที่จะเห็นสิ่งใดๆ ได้ โดยอาศัยแสงสว่าง แต่ไม่ใช่หมายความว่า สิ่งนั้นต้องเข้ามาสัมผัสหรือกระทบกับจักขุปสาท แต่โดยอาศัยแสงสว่างจึงมีการเห็นสิ่งต่างๆ ได้ ฉันใด การที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นเสียงใดๆ ทั้งสิ้น ก็เพราะว่าอาศัยอากาศในช่องหูเป็นช่องว่างที่ทำให้เสียงนั้นกระทบกับโสตปสาท เกิดการได้ยินขึ้นได้
ถ. ยังไม่เข้าใจ เพราะเสียงเกิดที่ไหนก็ดับที่นั่น เมื่อเสียงเกิดที่ไหนดับที่นั่น จะอาศัยอากาศมากระทบที่โสตปสาทได้อย่างไร
สุ. เสียงมา โดยสืบๆ กันแห่งธาตุ กระทบโสตแล้ว ย่อมค่อยๆ เข้าถึงการตั้งลง คือ ได้ยิน เพราะฉะนั้น เสียงมาอย่างนี้ ถ้าไม่มีอากาศ เสียงมาไม่ได้ ซึ่งใน อัฏฐสาลินี รูปกัณฑ์ มีข้อความว่า
จักขุและโสตรับอารมณ์ที่ไม่ได้มาถึงตน เพราะมีวิญญาณเป็นเหตุไปในอารมณ์ซึ่งมีวัตถุที่อาศัยไม่ติดต่อวัตถุที่อาศัยของตนนั่นเอง
เวลาที่สิ่งที่แข็งกระทบกันเป็นปัจจัยให้เกิดเสียง เวลาได้ยิน วัตถุแข็งที่กระทบกันซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดเสียงนั้น ไม่ต้องเข้ามาในรูหู หรือในช่องหู แต่อาศัยการสืบ ต่อกัน เสียงมา โดยสืบๆ กันแห่งธาตุ กระทบโสตแล้ว ย่อมค่อยๆ ถึงการตั้งลง คือ การได้ยินเสียงเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าทันทีทันใด แต่เสียงย่อมค่อยๆ มา ตามเหตุตามปัจจัย
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๘ ตอนที่ ๑๑๗๑ – ๑๑๘๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1141
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1142
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1143
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1144
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1145
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1146
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1147
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1148
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1149
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1150
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1151
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1152
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1153
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1154
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1155
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1156
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1157
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1158
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1159
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1160
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1161
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1162
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1163
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1164
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1165
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1166
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1167
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1168
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1169
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1170
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1171
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1172
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1173
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1174
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1175
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1176
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1177
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1178
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1179
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1180
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1181
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1182
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1183
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1184
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1185
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1186
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1187
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1188
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1189
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1190
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1191
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1192
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1193
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1194
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1195
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1196
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1197
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1198
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1199
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1200