แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1144
ครั้งที่ ๑๑๔๔
สาระสำคัญ
ขณะที่กำลังเห็นเป็นวิบาก ไม่ใช่เป็นเรื่องยาว
เป็นสุข เป็นทุกข์ เพราะเรื่องที่คิด
เดือดร้อนกันจริงๆ ทางทวารใจ
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๒๕
ถ. เรื่องวิบาก ดิฉันว่าต้องมีทุกคน แต่ดิฉันก็แยกไม่ออก และเรื่องตัวตน ก็เห็นจะอีกนานแสนนานกว่าจะละได้ ครั้งหนึ่งดิฉันทำงานโรงเรียน ดิฉันว่าเป็นวิบาก แน่ๆ เพราะว่าโดนหนักเลย คือ สันติบาลจะปิดโรงเรียน อีกเรื่องหนึ่ง คือ ทางกองโรงเรียนราษฎร์จะปิดโรงเรียนอีก ล้วนแต่เรื่องปิดๆ ทั้งนั้น ดิฉันไม่มีความรู้เรื่องโรงเรียนเลย เข้ามาทำงานโรงเรียนโดยไม่มีความรู้ พื้นความรู้มีเพียงแค่ประถม ๓ สมัยโบราณ แต่เป็นคนที่รักการเรียนที่สุดแต่ไม่ได้เรียน
วิบากที่มาเกิด สาเหตุมาจากครูทั้งนั้น เพราะดิฉันไม่มีความรู้ ทั้งๆ ที่ก็อยู่กับเหตุการณ์ตลอดเวลา สมัยนั้นเขาทิ้งใบปลิวกัน รู้สึกว่าพวกนักเรียนเกษตรจะถูกจับเป็นรายแรก และมีเด็กที่โรงเรียนอยู่คนหนึ่งไปทิ้งใบปลิว เขาก็พากันมาที่โรงเรียน มาจับ วิบากมากับดิฉันได้อย่างไรก็ไม่ทราบ แต่สามารถแก้ให้หลุดไปได้ ถ้าเล่าแล้วละเอียดมาก จะว่าด้วยปัญญาก็ไม่มีปัญญา แต่มีอะไรมาสะกิดนิดหนึ่ง ให้ไปหา ผู้พิพากษา เขาก็บอกให้ไปแจ้งความเราก็ไป บังเอิญถูกจุดหมดทุกอย่างที่เราไปทำ เขายกกองมาปิดโรงเรียนก็ปิดไม่ได้ แบบนี้เป็นวิบากหรือเปล่า
สุ. ขณะนี้เห็นเป็นวิบาก ขณะได้ยินเสียงเมื่อครู่นี้ก็เป็นวิบาก ที่กำลังรู้แข็งในขณะนี้เป็นวิบาก เพราะฉะนั้น วิบากกับกุศลจิตและอกุศลจิต อย่าลืมว่า เกิดสลับกันอย่างเร็วมาก สิ่งใดก็ตามที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย สภาพที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ในขณะนั้นเป็นวิบาก ทุกขณะ แม้ในขณะนี้
ถ. กรรมปัจจุบันอีกอย่างหนึ่ง ธรรมดาดิฉันอยู่บ้านสวน หน้าฝนมดมาก มดหลายชนิด รวมทั้งมดคันไฟ กัดแล้วเจ็บมาก รวมทั้งมดตัวเล็กตัวน้อยมากมาย ดิฉันใช้วิธีอย่างนี้ เคยพูดมาครั้งหนึ่งแล้วว่า เอาอาหารไปเลี้ยง และบอกว่า ขอเสียที อย่ามาขึ้นในตู้เสื้อผ้า ซึ่งชอบเข้ามาก พูดเหมือนคนบ้า พูดไปไม่มีใครได้ยินหรอก ขอร้อง ไม่ให้กวน ถ้ากวนฉันราวีแน่ ทั้งๆ ที่เราถือศีล ก็พูดไปอย่างนี้
อีกเรื่องหนึ่ง คือ ตัวปลวก ที่บ้านใกล้เคียงติดๆ กัน ต้องรื้อฝ้า แต่บ้านดิฉันไม่มี มีพวกโรมันคาทอลิก แกบอกว่า แกปลูกบ้าน แกหนีปลวก หนีแบบว่าใช้เสาหินหมด ปลวกก็ยังไต่เสาหินขึ้นไปกินฝ้า ดิฉันเลยตัดสินใจ มีกระถางต้นไม้อยู่ ยาวประมาณ ๒ เมตร กว้างประมาณ ๖๐ เซนติเมตร ดิฉันเลี้ยงปลวกไว้เลย บอกว่าอยู่ตรงนี้นะใกล้ๆ กับห้องน้ำ อย่าขึ้นบ้านนะ ถ้าขึ้นมาฉันจะราวีเลย ปลวกก็อยู่ที่นั่น ไม่กวนเลย เป็นวิบากหรือเปล่า
สุ. คงไม่ต้องถามกันอีกแล้วใช่ไหม เรื่องเป็นวิบากหรือเปล่า เพราะว่าเป็นเรื่องยาว แต่วิบากจริงๆ คือ ขณะที่กำลังเห็น ขณะที่กำลังได้ยิน ขณะที่กำลังได้กลิ่น ขณะที่กำลังลิ้มรส ขณะที่กำลังกระทบสัมผัสเท่านั้น อย่าลืม ตัดเรื่องออกไปหมด ในใจมีเรื่องปลวก แต่ว่าทางตาเห็นขณะใด เห็นสิ่งใด ขณะนั้นเป็นวิบาก ได้ยินเสียงของปลวกหรือเปล่า ขณะใดที่ได้ยินเสียงอะไรก็ตาม ขณะนั้นเป็นวิบาก ส่วนเสียงนั้นเมื่อได้ยินแล้วจะคิดว่าเป็นคน เป็นค้อน เป็นสัตว์ เป็นปลวก เป็นบ้าน เป็นอะไรก็ตาม ขณะนั้นเป็นเรื่องที่คิดนึก
เพราะฉะนั้น กว่าจะสางโลกของสัตว์บุคคลนานาชนิดออก เพราะสัตว์ก็มีหลายอย่าง เมื่อครู่นี้ก็มีปลวก มีมดแดง มีมดดำ มีมดตั้งหลายชนิด ใช่ไหม นั่นเป็นเรื่อง แต่เวลาที่เห็น เฉพาะที่เห็น ไม่ใช่ขณะที่กำลังคิดเรื่อง ขณะที่เห็นเป็นวิบาก ขณะที่ได้ยินเป็นวิบาก ซึ่งชีวิตของแต่ละคนจะเป็นสุข เป็นทุกข์ เพราะเรื่องที่คิดมากกว่าวิบากจริงๆ
ท่านอาจจะคิดว่า ท่านต้องเดือดร้อนเพราะผู้คนบริวาร แต่ความจริงเปล่าเลย ทางตากำลังเห็น ถ้าสติไม่ระลึกขณะนั้นจะไม่รู้ว่า เห็นสิ่งที่เป็นกุศลวิบาก เพราะว่าเห็นสิ่งที่ดี เช่น อาจจะเห็นรูปารมณ์ที่เกิดจากกุศล เห็นพระพุทธรูปในบ้าน หรือสิ่งของที่ประณีตต่างๆ ขณะนั้นยังเป็นกุศลวิบาก แต่ใจนึกเลยไปถึงเรื่องซึ่งจะเกิดขึ้นข้างหน้าและเป็นทุกข์เป็นร้อนมากมาย ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว วิบากต้องเป็นขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ฟังจะเดือดร้อนเพราะสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดก็ตาม ควรที่จะระลึกรู้ทันทีว่า ขณะนั้นเป็นวิบากจริงๆ หรือว่าเป็นเพียงเรื่องซึ่งเข้าใจว่า จะทำให้เกิดความทุกข์
ผู้ฟัง ดิฉันฟังวิทยุตอนเย็น มีเสียงผู้หญิงคนหนึ่งถามเรื่องสถานที่ปฏิบัติ และมีผู้สนับสนุนหลายคน ซึ่งไม่ทราบว่าจะนั่งอยู่ในที่นี้หรือเปล่า หรืออาจจะไม่มีก็ได้ ดิฉันไม่เคยไปสำนัก แต่เคยไปที่วัด และเคยผ่านการปฏิบัติมาแล้ว การปฏิบัตินี้ค้านอยู่ตลอดเวลาว่าไม่ใช่อย่างนี้ คือ ครั้งหนึ่งดิฉันนั่งสมาธิ ท่านให้นั่ง เราก็นั่ง แต่ดิฉันนั่งเก่ง นั่งเป็นชั่วโมงไม่เดือดร้อน ถ้านั่งนานเกินไปก็มีเป็นเหน็บ ดิฉันก็ทนได้ ท่านให้กำหนดว่าเป็นเหน็บ พอนั่งต่อไปก็เกิดชา เราก็กำหนดรู้ว่าเราชา พอชาแล้ว ขณะที่นั่งอยู่นั้น ดิฉันไม่ทราบว่าดิฉันนั่งนานเท่าไร คนอื่นเขาคงเลิกกันหมดแล้ว ดิฉันก็คิดว่าจะหยุดดีหรือว่าจะเอาให้ถึงที่สุดว่า ชาต่อไปแล้วจะเป็นอะไรอีก จากที่รู้สึกเจ็บก็หายไป อาการชาค่อยๆ น้อยลงๆ ประเดี๋ยวได้ยินเสียงพระท่านมาพูดข้างหน้าว่า โยมเลิกเถอะๆ เอ้า เลิกก็เลิก มือดิฉันรู้สึกเหมือนถูกไฟช็อต ดึงไม่ออก ดิฉันก็พยายามดึง พอดึงออกมาแล้ว น้ำตาไหลพรูเลย หลานก็เอาผ้ามาให้เช็ดน้ำตา ท่านบอกว่า ทำถูกวิธีแล้วโยม นี่เป็นปีติ แต่ใจก็ค้านว่าไม่ใช่ แต่ไม่กล้าพูดอะไร จะไปค้านท่านได้อย่างไรเราก็ไม่เคยปฏิบัติมาก่อน ดิฉันคิดว่า ที่เขาว่าต้องไปสำนักนั้น ไม่ต้องไปหรอก ตั้งแต่มาเรียนกับอาจารย์นี่ พระสูตรก็ไม่ได้อ่าน พระไตรปิฎกก็อ่านอยู่เล่มสองเล่มเท่านั้น มานั่งฟัง และเอามาปฏิบัติกับตัวเอง ดิฉันรู้อะไรขึ้นมาก แต่ยังไม่กล้าถาม ยังแยกไม่ออก แต่อารมณ์นี้มันแว๊บเดียว แว๊บเดียวตลอดเวลา ดิฉันก็มาสังเกตว่า คนที่ตัดสินใจจะทำอะไรจะเป็นกุศลหรืออกุศล ตัดสินใจวิบเดียวไม่มีใครตามทันการเกิดดับ เราจะไปตามทันได้อย่างไร วันหนึ่งเกิดดับไม่รู้กี่ครั้ง สติเกิดแล้วหายไปตั้งนาน เดี๋ยวก็เกิดอีกแล้ว สติปัฏฐานหรือเปล่าก็ไม่รู้ สติธรรมดานี่เองดิฉันว่าใช่แน่ แต่ก่อนดิฉันจะไปโรงเรียน ขึ้นบันได ๓ – ๔ ชั้น ไปไม่ถึงสักที ลืมกุญแจ ลืมปากกา ลืมอะไรร้อยแปด เดี๋ยวนี้ไม่ลืม ดีขึ้น คือ ไม่ลืม ไปไหนแม้แต่ผ้าขี้ริ้วผืนหนึ่ง ดิฉันก็ไม่ลืม ยางเส้นหนึ่งดิฉันก็ไม่ลืม แต่ก็คงมิใช่สติปัฏฐานอีกนั่นแหละ คิดว่าเป็นสติธรรมดา ดิฉันก็เลยเชียร์พวกเราว่า พยายามต่อไปคงจะได้เอง สติปัฏฐาน แต่เมื่อไรไม่ทราบ สติธรรมดาเดี๋ยวนี้ดิฉันมีมากกว่าแต่ก่อน แต่สติปัฏฐานจริงๆ ไม่ทราบว่าจะได้เมื่อไร ดิฉันไม่หวังชาตินี้ ชาติหน้า เมื่อไรก็เมื่อนั้นแหละ ไม่ได้หวังอะไร ดิฉันได้ผ่านมาอย่างนี้ เท่านั้น
ถ. ที่มีผู้ถามว่า วิบาก ขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ ลิ้มรส ขณะที่กระทบสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง วิบากเกิดแล้ว เมื่อวิบากเกิดอย่างนี้ ทุกๆ คนก็จะต้องเป็นเหมือนกัน ไม่ได้แบ่งว่าเป็นคนยากจน คนมั่งมี หรือว่าเป็นคนมีตระกูลสูง ตระกูลต่ำ จะต้องเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเท่ากัน และเหมือนกันหมด ไม่ได้แยกว่าสิ่งนั้นจะประณีตหรือเลวทราม เพราะฉะนั้น วิบาก จะดีหรือไม่ดีเป็นการคิดเป็นเรื่องราว ไม่ใช่วิบากจริงๆ อย่างนั้นหรือเปล่า
สุ. ปรมัตถธรรมต้องเป็นของจริง กรรมที่เป็นกุศลก็จริง กรรมที่เป็นอกุศล ก็จริง ถ้าอกุศลกรรมเป็นเหตุ ผลของอกุศลกรรม คือ อกุศลวิบาก ต้องเห็นสิ่งที่ ไม่น่าพอใจ แสดงว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาที่น่าพอใจก็ต้องมี ที่ไม่น่าพอใจก็ต้องมี ด้วยเหตุนี้รูปร่างผิวพรรณงามจึงมี รูปร่างผิวพรรณทรามจึงมี ไม่เหมือนกัน ใช่ไหม เมื่อไม่เหมือน วิบากก็ต้องต่างกัน เพราะฉะนั้น ในขณะที่เห็นสิ่งที่ประณีต ต้องเป็นกุศลวิบาก
ผู้ที่รู้ชัดตามความเป็นจริงรู้ว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน เป็นแต่นามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัยในขณะที่รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ส่วนเรื่องราว ความคิดนึก ความเพ้อฝัน ความหวัง ความเพลิดเพลิน ความสุขต่างๆ ความยึดมั่นต่างๆ ไม่ใช่วิบาก และถ้าสามารถรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ วิบากจิตไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต ผู้นั้นจะสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะรู้ว่าไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
ทางตาที่กำลังเห็น สลับกับที่กำลังฟังเรื่องราวต่างๆ ต้องสามารถแยกออกจากกันได้ แต่ที่จะแยกได้เพราะสติเกิดระลึกรู้ในสภาพเห็นซึ่งเป็นนามธรรมว่าต่างกับสภาพที่กำลังคิดนึกซึ่งเป็นนามธรรมอีกประเภทหนึ่ง เมื่อความรู้เพิ่มขึ้น เจริญขึ้น มากขึ้น ละคลายการยึดถือมากขึ้น จึงจะประจักษ์ว่า แท้ที่จริงโลกของสมมติบัญญัติเป็นโลกของความคิดนึก เมื่อรู้ความจริงอย่างนี้ กิเลสจะค่อยๆ ละไปๆ จนกระทั่งหมด สามารถที่จะบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ ถึงแม้ว่าที่นอน เสนาสนะของท่านจะเป็นโคนไม้บ้าง หรือว่าเรือนว่างบ้าง ก็มีคำกล่าวว่า เหมือนกับอารมณ์ที่ประณีตของปราสาท ๓ ชั้น เพราะไม่ได้นำความทุกข์ ความเดือดร้อนมาให้ท่านเลย ไม่ว่าทางกายจะกระทบสัมผัสสิ่งที่แข็งเหมือนกัน ทางตาก็เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา คือ แล้วแต่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่ประณีตบ้าง ไม่ประณีตบ้าง
ถ้ารู้ตามความเป็นจริงอย่างนี้ จะทำให้เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า แท้ที่จริงแล้วเสมอเหมือนกัน ทุกคนมีสมบัติ คือ มีตาเหมือนกัน มีหูเหมือนกัน มีจมูก มีลิ้น มีกาย เท่านั้นเอง เท่าๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นชาติชั้นวรรณะใดๆ มี โภคสมบัติมากน้อย มีรูปงาม รูปไม่งามอย่างไรก็ตาม สมบัติที่ทุกคนมีก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งต้องเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
ถ้ารู้ตามความเป็นจริงอย่างนี้ จะทำให้ไม่เดือดร้อน และเสมอกันจริงๆ แต่เวลานี้ที่ไม่เสมอ จำแนกกันออกไปเป็นสกุลต่างๆ ลาภมาก ลาภน้อย โภคสมบัติมาก โภคสมบัติน้อย ก็เพราะความคิดนึก แต่ว่าวิบากต้องเป็นวิบาก คือ กุศลวิบากต้องได้รับอารมณ์ที่ดี กลิ่นก็มีหลายกลิ่น เสียงก็มีหลายเสียง รสก็มีหลายรส แล้วแต่ความประณีตและไม่ประณีต เพราะฉะนั้น จึงต้องมีสภาพธรรมที่เป็นอกุศลวิบาก และกุศลวิบาก ซึ่งไม่ใช่เรื่องคิดนึก แต่เรื่องคิดนึกเป็นเรื่องที่พอใจ และก็เอา กุศลวิบาก หรือว่าอารมณ์ที่กุศลวิบากรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มาเป็นยศ มาเป็นบริวาร มาเป็นทรัพย์สมบัติ มาเป็นโภคสมบัติ มาเป็นเหตุการณ์ต่างๆ นั่นเป็นเรื่องของโลกทางใจ
เพราะฉะนั้น กว่าจะสะสางความที่เคยชินกับโลกวัตถุต่างๆ จนกระทั่งรู้ความจริงว่าเป็นแต่เพียงปรมัตถธรรม ก็ต้องอาศัยการเจริญสติปัฏฐานอย่างเดียว
ถ. ขณะที่สบายใจกับขณะที่ไม่สบายใจ ทั้ง ๒ นี้เป็นวิบากหรือเปล่า
สุ. ถ้าเป็นทางใจ ไม่ใช่วิบาก อย่าลืม วิบาก คือ ทางตาเห็นในขณะนี้ ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายกระทบสัมผัส นั่นคือวิบาก
ถ. วิบากทั้งหมดมีตั้ง ๓๖ ไม่ใช่หรือ แต่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มีเพียงแค่ ๑๐ อีก ๒๖ ไม่ใช่วิบากหรือ
สุ. ศึกษาต่อไปจะทราบว่า นอกจากจักขุวิญญาณ ๒ ดวง โสตวิญญาณ ๒ ดวง ฆานวิญญาณ ๒ ดวง ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง กายวิญญาณ ๒ ดวงแล้ว ยังมีสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะที่เป็นวิบาก ที่รู้อารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ เหล่านั้น และยังมีมหาวิบากที่ทำกิจปฏิสนธิในกามภูมิ มีรูปาวจรวิบากทำกิจปฏิสนธิในรูปพรหมภูมิ มีอรูปาวจรวิบากทำกิจปฏิสนธิในอรูปพรหมภูมิ
แต่สำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ทางที่จะรับวิบากมี ๕ ทาง ทางตา ๑ ทางหู ๑ ทางจมูก ๑ ทางลิ้น ๑ ทางกาย ๑ ถ้าศึกษาโดยละเอียด ทางใจจะมีวิบากซึ่งทำ ตทาลัมพนกิจต่อจากชวนจิต ซึ่งเกิดบ้าง ไม่เกิดบ้าง แต่ว่าไม่สำคัญเท่ากับทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่น่าพิจารณาว่า ที่สำคัญจริงๆ นั้น ทางไหน ทางตา เพียงเห็นอารมณ์ที่ประณีตหรือไม่ประณีต ไม่น่าจะเดือดร้อน ใช่ไหม ทางหูก็เหมือนกัน เสียงเพราะบ้าง ไม่เพราะบ้าง ดังบ้าง เบาบ้าง ต่างๆ นานา ก็ ไม่น่าจะเดือดร้อนอีก เพราะฉะนั้น ที่เดือดร้อนกันจริงๆ ทุกคน ทุกผู้ทุกนาม ทางทวารไหน
ถ. ชวนจิต ใช่ไหม
สุ. ถามถึงทวารว่า ทางรับวิบากมีอยู่ ๕ ทาง คือ ตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ กาย ๑ ใน ๕ ทวารนี้ ทางตานี้เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ มีจริง ใช่ไหม รูปที่ ไม่ประณีต แต่ก็ไม่น่าจะเดือดร้อน เพียงเห็น ทางหูได้ยินเสียงซึ่งไม่เพราะ ก็ไม่น่าจะเดือดร้อน เพราะเพียงได้ยิน เพราะฉะนั้น ใน ๕ ทวารที่เดือดร้อนกันทุกผู้ทุกคน ทุกนามจริงๆ นี้ เป็นทางทวารไหน
ทวารกาย ใช่ไหม เจ็บไข้ได้ป่วย หิว เป็นทุกข์เดือดร้อน มีโรคภัยไข้เจ็บ อยู่เฉยๆ ไม่ได้แล้ว ต้องพยาบาล ต้องรักษาให้หาย เพราะฉะนั้น ทางกาย ตามความเป็นจริง อกุศลวิบากทารุณ แต่ว่าทางตา หู จมูก ลิ้น ไม่น่าจะเดือดร้อน ด้วยเหตุนี้จะได้ทราบว่า สำหรับเวทนา คือ ความรู้สึก ซึ่งเกิดกับจักขุวิญญาณ ไม่ว่าจะเป็นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบากก็ตาม เวทนาที่เกิดกับจักขุวิญญาณ คือ อุเบกขาเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา
ทางหูก็เหมือนกัน ถ้าขณะนั้นไม่ใช่กายปสาทซึ่งเจ็บปวด เสียงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียงที่ไพเราะหรือไม่ไพเราะ อุเบกขาเวทนาก็เกิดกับโสตวิญญาณที่ได้ยินเสียงที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจ
ทางจมูก ยากที่จะรู้สึกอย่างนั้นใช่ไหม กลิ่นขยะแรงๆ ดูเหมือนว่าทนไม่ไหว หรือว่าทนไม่ได้ แต่สำหรับฆานวิญญาณ ไม่ว่าจะเป็นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบาก เวทนาที่เกิดร่วมกับฆานวิญญาณก็เป็นอุเบกขาเวทนา
แต่สำหรับทางกาย เป็นทุกขกายวิญญาณ เวลาที่กระทบสัมผัสกับอารมณ์ ที่ไม่ประณีต และเวลาที่กระทบสัมผัสกับอารมณ์ที่ประณีตก็เป็นสุขสหคตังกายวิญญาณัง คือ เวทนาที่เกิดร่วมกับกายวิญญาณที่เป็นกุศล เป็นสุขเวทนา
เป็นความจริงหรือเปล่า
เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ถ้าเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ก็ควรที่จะได้ระลึกถึงเวทนาที่เป็นอุเบกขา ไม่ควรที่จะเดือดร้อน แต่ขณะที่ทุกขเวทนาเกิด จะต้องรู้ สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นคือวิบาก ไม่ใช่เรื่องเดือดร้อนซึ่งคิดตามมาอีกมากมาย นั่นเป็นทุกข์ทางใจซึ่งเป็นโทมนัสเวทนา แต่ทางกายจริงๆ เพียงชั่วขณะที่กระทบสัมผัสกับอารมณ์ที่ไม่ประณีต หรือไม่น่าพอใจ
ประโยชน์ของการรู้เรื่องของกัมมปัจจัยและวิปากปัจจัยนั้นมีมาก เพราะว่าทำให้สามารถแยกสภาพธรรมที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้ เพื่อที่จะระลึกว่า ขณะใดเป็นวิบากจริงๆ ไม่ปนกับกุศลและอกุศล ซึ่งถ้ายังเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นโภคสมบัติ เป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ ที่จะรู้ว่าเป็นวิบาก รู้ได้ไหม ที่จะให้หมดความสำคัญของเรื่องราวต่างๆ ของชาติสกุล ยศศักดิ์ต่างๆ ก็หมดไม่ได้ แต่ที่จะค่อยๆ ลดคลายลงก็เพราะว่ารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงเพิ่มขึ้นว่า แท้ที่จริงแล้วสมบัติมีเท่ากัน คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
ส่วนเรื่องทางใจนั้น เป็นการสะสมของแต่ละคนที่จะเป็นอกุศลประเภทใดมาก หรือว่ากุศลประเภทใดมาก
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๕ ตอนที่ ๑๑๔๑ – ๑๑๕๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1141
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1142
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1143
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1144
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1145
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1146
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1147
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1148
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1149
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1150
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1151
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1152
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1153
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1154
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1155
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1156
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1157
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1158
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1159
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1160
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1161
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1162
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1163
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1164
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1165
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1166
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1167
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1168
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1169
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1170
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1171
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1172
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1173
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1174
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1175
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1176
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1177
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1178
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1179
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1180
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1181
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1182
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1183
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1184
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1185
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1186
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1187
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1188
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1189
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1190
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1191
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1192
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1193
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1194
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1195
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1196
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1197
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1198
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1199
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1200