แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1182
ครั้งที่ ๑๑๘๒
สาระสำคัญ
สงฺ.มหา.สุทธกสูตร - อินทรีย์ ๖
ละการยึดถือเวทนาว่า เป็นตัวตน
สงฺ.มหา.โสตาปันนสูตร - รู้การเกิดดับแห่งอินทรีย์ ๕ เป็นโสดาบัน
สงฺ.มหา วิภังคสูตรที่ ๑ - ว่าด้วยการจำแนกอินทรีย์ ๕
ประมวลเวทนินทรีย์ ๕ เป็น ๓ สงฺ.มหา.เวทนาสูตร - เจริญอริยมรรค เพื่อละเวทนา ๓
อริยมรรค ๘ และสติปัฏฐาน ๔ นั้นเป็นอย่างเดียวกัน
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๒๕
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค สุทธกสูตร อินทรีย์ ๖ ข้อ ๙๐๑ มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๖ ประการนี้ ๖ ประการเป็นไฉน คือ จักขุนทรีย์ ๑ โสตินทรีย์ ๑ ฆานินทรีย์ ๑ ชิวหินทรีย์ ๑ กายินทรีย์ ๑ มนินทรีย์ ๑ อินทรีย์ ๖ ประการนี้แล
อีกหมวดหนึ่ง คือ เวทนา ๕ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค สุขินทริยวรรคที่ ๔ สุทธกสูตร ว่าด้วยอินทรีย์ ๕ ข้อ ๙๑๔ มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ สุขินทรีย์ ๑ ทุกขินทรีย์ ๑ โสมนัสสินทรีย์ ๑ โทมนัสสินทรีย์ ๑ อุเปกขินทรีย์ ๑ อินทรีย์ ๕ ประการนี้แล
ซึ่งทุกท่านมีครบ ขณะนี้เป็นอินทรีย์ไหนสำหรับเวทนา ถ้าสติไม่เกิดจะรู้ได้ไหม และถ้าสติเกิด รู้ได้ไหม รู้จริงๆ หรือยังสงสัยว่า เวทนาอยู่ที่ไหน เพราะเป็นนามธรรม ถ้าเป็นสุขเวทนาทางกาย เวลาที่กระทบสัมผัสและรู้สึกสบายก็ยังรู้ได้ หรือเวลาที่เป็นทุกขเวทนาทางกาย เวลาที่กระทบสัมผัสและเจ็บ ปวด เมื่อย เป็นทุกข์ก็ยังรู้ได้ หรือเวลาที่ดีใจ ได้ข่าวดี เห็นสิ่งที่ชอบ ได้รสที่อร่อย ก็ยังรู้ได้ หรือเวลาที่เสียใจ น้อยใจ ความรู้สึกในขณะนั้นไม่ใช่สุข เป็นทุกข์ทางใจ ก็ยังรู้ได้ แต่เวลานี้อุเบกขาเวทนาอยู่ที่ไหน ยากที่จะรู้ใช่ไหม ถ้าไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่ดีใจ ไม่ใช่เสียใจ ก็คือความรู้สึกเฉยๆ แต่อย่าพยายามหาที่ตั้งว่าอยู่ตรงไหน ซึ่งไม่ใช่ตรงหนึ่งตรงใดของกายทั้งสิ้น เพราะถ้าเป็นตรงส่วนหนึ่งส่วนใดทางกาย ต้องเป็นสุขเวทนาหรือทุกขเวทนาเท่านั้น
เพราะฉะนั้น ทางตาในขณะที่เห็น ตามความเป็นจริงเป็นอุเบกขาเวทนา แต่โดยมากเวลาเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ไม่สามารถรู้ลักษณะของอุเบกขาเวทนา แต่รู้ลักษณะของโทมนัสเวทนา ไม่ได้รู้เจ็บ แต่ไม่ชอบ และไม่แช่มชื่น ในขณะที่เห็นสิ่งซึ่งไม่น่าพอใจ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นก็ยากที่จะรู้ลักษณะของอุเบกขา คือ ความรู้สึกที่ไม่สุข ไม่ทุกข์ แต่เวลาที่เป็นความไม่แช่มชื่นหรือไม่พอใจ ขณะนั้นเป็นสภาพของโทมนัสเวทนา พอที่จะรู้ได้ และอย่าลืมว่า ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจึงสามารถละการยึดถือเวทนาว่า เป็นตัวตนได้
ถ. เรื่องอุเบกขาเวทนา มีหลายอาจารย์กล่าวว่า อุเบกขาในโลภมูลจิตกับอุเบกขาในโมหมูลจิตไม่เหมือนกัน อุเบกขาในโมหมูลจิต ไม่สุข ไม่ทุกข์ แต่อุเบกขาในโลภมูลจิต มีสุขนิดๆ ไม่ใช่ไม่สุขไม่ทุกข์ แต่มีความสุขอยู่นิดหน่อยซึ่งไม่ชัดเจน เรียกว่า อุเบกขาในโลภมูลจิต
สุ. สุขนิดๆ นั้น เวทนาอะไร
ถ. ต้องเป็นสุขเวทนา ตามความคิดเห็นของผม
สุ. เพราะฉะนั้น ไม่ใช่อุเบกขา ถ้าเป็นสุขนิดๆ เป็นอุเบกขาไม่ได้ เพราะอุเบกขาต้องตายตัวว่า อทุกขมสุข สุขคือสุข ทุกข์คือทุกข์ จะเอาสุขนิดๆ มาเป็นอุเบกขาไม่ได้
ถ้ามีการสงเคราะห์สภาพของเวทนา ๕ โดยประการที่ต่างกันเป็นสุขและทุกข์ อุเบกขาเวทนาสงเคราะห์ในสุขเวทนา เพราะไม่ได้ทำให้เกิดความทุกข์หรือความเดือดร้อน แต่โดยสภาพของเวทนาแล้ว อุเบกขาต้องเป็นอุเบกขา
เพราะฉะนั้น ถ้าจะแสดงเวทนาโดยสงเคราะห์ให้เป็นเพียง ๒ อย่าง คือ สุขและทุกข์ อุเบกขาเวทนาสงเคราะห์ในสุขเวทนาได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า สุข นิดๆ เป็นอุเบกขา สุขนิดๆ ก็ยังคงเป็นสุข ทุกข์นิดๆ ก็ยังคงเป็นทุกข์ เสียใจหน่อยๆ ก็ยังคงเป็นโทมนัส ดีใจนิดหน่อยก็ยังคงเป็นโสมนัส
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค โสตาปันนสูตร ข้อ ๙๑๕ - ข้อ ๙๑๖ มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ สุขินทรีย์ ... อุเปกขินทรีย์
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดอริยสาวกรู้ชัดซึ่งความเกิด ความดับ คุณ โทษและอุบายเครื่องสลัดออกแห่งอินทรีย์ ๕ ประการนี้ตามความเป็นจริง อริยสาวกนี้ เราเรียกว่าเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า
เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดยังไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของเวทนา ให้ทราบว่า ยังอีกไกลที่จะถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคล ถึงได้แน่ ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม อย่าเบื่อ อย่าทอดทิ้ง อย่าเป็นผู้ที่ประมาท และขณะใดที่สติเกิดขึ้น ก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยไม่เลือก โดยไม่เจาะจง ซึ่ง วันหนึ่งจะระลึกรู้ลักษณะของเวทนาได้ตามความเป็นจริง
การดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน จะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องละเอียดที่ปัญญาจะต้องเจริญ ศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมพร้อมสติโดยละเอียดจริงๆ ไม่ใช่ว่าจะรู้ลักษณะของนามธรรมบางนามธรรม หรือรูปธรรมบางรูปธรรมก็เป็นพระโสดาบันได้ ถ้าเป็นผู้ที่ตรงต่อตามความเป็นจริงจะรู้ว่า ถ้าระลึกเพียงลักษณะของบางนามบางรูป ยังสงสัยอีกมากในนามอื่นรูปอื่นที่เกิดขึ้นปรากฏในชีวิตประจำวัน
ข้อความใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค วิภังคสูตรที่ ๑ ว่าด้วยการจำแนกอินทรีย์ ๕ แสดงให้เห็นชัดว่า สุขเวทนาเป็นอย่างไร ทุกขเวทนาเป็นอย่างไร อุเบกขาเวทนาเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าสุขนิดๆ ก็เป็นอุเบกขา
ข้อ ๙๒๕ – ข้อ ๙๓๐
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ สุขินทรีย์ ... อุเปกขินทรีย์
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็สุขินทรีย์เป็นไฉน ความสุขทางกาย ความสำราญทางกาย เวทนาอันเป็นสุขสำราญเกิดแต่กายสัมผัส นี้เรียกว่า สุขินทรีย์
กำลังมีสุขินทรีย์หรือเปล่า ลมพัดอ่อนๆ เย็นสบาย พิสูจน์ธรรมได้ทันที นี่คือสุขินทรีย์
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขินทรีย์เป็นไฉน ความทุกข์ทางกาย ความไม่สำราญทางกาย เวทนาอันเป็นทุกข์ไม่สำราญเกิดแต่กายสัมผัส นี้เรียกว่า ทุกขินทรีย์
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็โสมนัสสินทรีย์เป็นไฉน ความสุขทางใจ ความสำราญทางใจ เวทนาอันเป็นสุขสำราญเกิดแต่มโนสัมผัส นี้เรียกว่า โสมนัสสินทรีย์
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็โทมนัสสินทรีย์เป็นไฉน ความทุกข์ทางใจ ความไม่สำราญทางใจ เวทนาอันเป็นทุกข์ไม่สำราญเกิดแต่มโนสัมผัส นี้เรียกว่า โทมนัสสินทรีย์
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อุเปกขินทรีย์เป็นไฉน เวทนาอันสำราญก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ความสำราญก็ไม่ใช่ ทางกายหรือทางใจ นี้เรียกว่า อุเปกขินทรีย์
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๕ ประการนี้แล
จบ สูตรที่ ๖
ท่านผู้ฟังลุกขึ้นเดินไปหยิบหนังสือสักเล่มหนึ่ง เวทนาเป็นอะไร สุขนิดๆ หรือว่าเฉยๆ ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต สุขนิดๆ หรือว่าเฉยๆ จะตอบว่าอย่างไร จะสุขนิดๆ บ้างได้ไหม ก็ได้ เพราะฉะนั้น แล้วแต่สภาพธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นอุเบกขาตลอดเวลา จะมีความสุขนิดๆ ก็ได้ หรือจะมีโสมนัสหน่อยๆ ก็ได้ หรือจะรู้สึกเฉยๆ ก็ได้ เพราะฉะนั้น จิตของแต่ละคนไม่ใช่ว่าต้องเหมือนกับเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ผลิตออกมาเหมือนกันหมดในขณะที่ทำอย่างหนึ่งอย่างใด ต้องแล้วแต่การสะสมของแต่ละคน ถ้ากำลังโสมนัสที่จะได้อ่านพระไตรปิฎกเล่มหนึ่งเล่มใด ขณะที่เดินไปจิตประกอบด้วยโสมนัสเวทนาก็ได้ หรือจะเดินไปอ่านหนังสือพิมพ์ หนังสือนวนิยายที่สนใจ ขณะนั้นอาจจะดีใจพอใจที่จะได้อ่านเรื่องที่ต้องการจะอ่านก็ได้
เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ ไม่มีใครสามารถหยั่งรู้ถึงจิตของบุคคลอื่น หรือแม้แต่จิตของบุคคลนั้นเอง ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า ขณะที่กำลังกระทำ สิ่งหนึ่งสิ่งใดในชีวิตประจำวัน เวทนาในขณะนั้นเป็นโสมนัส หรือโทมนัส หรืออุเบกขา แต่ถ้าระลึกรู้บ่อยๆ เนืองๆ ก็สามารถทราบได้
สำหรับเวทนาซึ่งเป็นความรู้สึก เกิดกับจิตทุกขณะ แต่ก็ยากที่จะระลึกรู้ลักษณะสภาพของเวทนาที่กำลังมีอยู่ในขณะนี้ เพราะไม่ว่าจะกำลังเห็น หรือกำลัง ได้ยิน กำลังได้กลิ่น หรือกำลังคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ถ้าสติไม่เกิดขึ้นแม้ว่าเวทนาจะเกิดตามเหตุตามปัจจัย แต่ยากที่จะรู้ว่า ความรู้สึกแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเพียงชั่วขณะแล้วก็ดับ ไม่ยั่งยืน เช่นเดียวกับสภาพธรรมทั้งหลาย ซึ่งเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว
เพราะฉะนั้น จะเห็นพระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาคที่ทรงแสดงธรรม ทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจิต หรือว่าเรื่องของเวทนาที่เป็นเจตสิก ซึ่งเป็น สภาพธรรมที่เกิดกับจิตโดยนัยต่างๆ เพื่อเกื้อกูลให้ระลึกรู้ว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ทรงพระมหากรุณาแสดงไว้โดยละเอียดทั้ง ๓ ปิฎก เพื่อที่จะให้สติระลึกรู้ลักษณะของเห็น หรือเวทนาซึ่งเกิดกับสภาพที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ แม้ว่าขณะนี้ได้ยินได้ฟังแล้ว ก็ยังไม่ระลึกถึงลักษณะของความรู้สึกที่กำลังเกิดกับจิตที่เห็น แต่อาศัยการฟังบ่อยๆ ฟังอีกเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้ว่าสภาพธรรมที่ปรากฏมีจริง และไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดๆ ทั้งสิ้น สติย่อมระลึกได้ แทนที่จะให้ สภาพธรรมแต่ละขณะผ่านไปโดยสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ เลย
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค วิภังคสูตรที่ ๓ ว่าด้วยอินทรีย์ ๕ ย่นเข้าเป็น ๓ ข้อ ๙๔๖ – ข้อ ๙๔๘ มีข้อความว่า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในอินทรีย์ ๕ ประการนั้น สุขินทรีย์และโสมนัสสินทรีย์ พึงเห็นว่าเป็นสุขเวทนา.
ในอินทรีย์ ๕ ประการนั้น ทุกขินทรีย์และโทมนัสสินทรีย์ พึงเห็นว่า เป็นทุกขเวทนา.
ในอินทรีย์ ๕ ประการนั้น อุเปกขินทรีย์ พึงเห็นว่าเป็นอทุกขมสุขเวทนา
อินทรีย์มี ๕ ประการนี้ เป็น ๕ แล้วย่นเข้าเป็น ๓ เป็น ๓ แล้วขยายออกเป็น ๕ ก็ได้ โดยปริยาย ด้วยประการดังนี้แล
ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งสงสัยว่า อุเบกขาเวทนาจะรู้ได้อย่างไร เพราะตัวท่านเองนั้น เวลาที่สุขเกิดขึ้นหรือโสมนัสดีใจเกิดขึ้นท่านรู้ได้ หรือเวลาที่เป็นทุกข์ทางกาย เจ็บ ปวด เมื่อย ก็รู้ได้ แต่ว่าวันหนึ่งๆ ไม่เคยระลึกรู้ลักษณะสภาพของความรู้สึกเฉยๆ เพราะฉะนั้น ดูเหมือนจะไม่มีความรู้สึกเฉยๆ ในวันหนึ่งๆ
ก็ได้เรียนถามท่านว่า ดูเก้าอี้ธรรมดาสักตัว รู้สึกอย่างไร ซึ่งเป็นเครื่องแสดงให้รู้ว่า ในขณะนั้นเป็นเพียงความรู้สึกเฉยๆ ไม่ได้เกิดความรู้สึกยินดียินร้ายในสิ่งที่ปรากฏขณะใด ขณะนั้นเป็นลักษณะของความรู้สึกเฉยๆ
ถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีปรากฏตามปกติ ปัญญาย่อมไม่เจริญ และไม่ใช่หนทางที่จะทำให้สามารถดับกิเลสที่ยึดถือสภาพธรรมเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เวทนาสูตร เวทนา ๓ มีข้อความว่า
ข้อ ๓๒๗
สาวัตถีนิทาน
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อทุกขมสุขเวทนา ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ อย่างนี้แล
ทันทีที่ฟังพระธรรม ในขณะที่เข้าใจความหมายนั้น สติอาจจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ได้ยินทันทีได้ในวันหนึ่ง ถ้าไม่ใช่ในขณะนี้
ข้อความต่อไป ข้อ ๓๒๘
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละเวทนา ๓ อย่างนี้แล ฯลฯ ภิกษุควรเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้ ฯลฯ
แสดงให้เห็นว่า ในการเจริญอริยมรรคที่ประกอบด้วยองค์ ๘ จะต้อง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละเวทนา ๓ อย่างนี้แล
แต่ที่ยังไม่เห็นว่าเวทนาเป็นสิ่งที่ควรจะต้องละ เพราะยังไม่รู้การเกิดดับของเวทนา ซึ่งความจริงแล้ว เวทนาไม่ว่าสุขก็ชั่วขณะหนึ่ง ทุกข์ก็ชั่วขณะหนึ่ง อุเบกขาก็ชั่วขณะหนึ่ง โสมนัสหรือโทมนัสก็ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้นเอง ที่ว่าเท่านั้นเองหมายถึงว่า ขณะใดที่เกิดขึ้นและดับไป ดับไปจริงๆ หมดไปจริงๆ เวทนาใหม่ที่เกิดไม่ใช่เวทนาเก่า เพราะฉะนั้น ไม่ว่าใครจะมีทุกข์ทางกาย ถ้าสติระลึกรู้จริงๆ ขณะนั้นจะเห็นได้ว่า ทุกขเวทนาต้องดับ เพราะในขณะที่เห็น เวทนาไม่ใช่ทุกข์ แต่เป็นอุเบกขาเวทนา บางท่านมีทุกขเวทนาทางกายมาก รู้สึกว่าเจ็บปวดนานอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้บรรเทาหรือหายไปเลย ก็เพราะสติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมอื่น เช่น ในขณะที่กำลังเห็น เป็นต้น หรือว่าในขณะที่กำลังได้ยิน เพียงชั่วขณะที่ได้ยินจริงๆ ขณะนั้นเป็นอุเบกขาเวทนา
ถ้าปวดเจ็บ เป็นไข้ เป็นทุกข์ทางกาย และสติระลึก จะรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่ต่างกัน แต่ต้องอาศัยสติระลึกจึงสามารถรู้ได้ว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างไม่เที่ยง แม้แต่ทุกขเวทนาซึ่งปรากฏเสมือนว่าไม่ดับหรือว่าไม่บรรเทาเลย
เวทนาสูตร เวทนา ๓ ข้อ ๘๓๕ – ข้อ ๘๓๖ มีข้อความที่เกี่ยวกับเวทนา ซึ่งเป็นอินทริยปัจจัยว่า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ ประการนี้ ๓ ประการเป็นไฉน คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อทุกขมสุขเวทนา ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ ประการนี้แล
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ เพื่อกำหนดรู้เวทนา ๓ ประการนี้ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ เพื่อกำหนดรู้เวทนา ๓ ประการนี้แล
จบ สูตรที่ ๙
เป็นอนุสาสนีเช่นเดียวกัน คือให้ทราบว่า อริยมรรค ๘ และสติปัฏฐาน ๔ นั้น อย่างเดียวกัน ไม่ได้แยกกัน
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๑๑๘๑ – ๑๑๙๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1141
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1142
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1143
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1144
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1145
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1146
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1147
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1148
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1149
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1150
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1151
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1152
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1153
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1154
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1155
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1156
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1157
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1158
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1159
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1160
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1161
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1162
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1163
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1164
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1165
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1166
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1167
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1168
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1169
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1170
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1171
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1172
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1173
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1174
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1175
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1176
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1177
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1178
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1179
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1180
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1181
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1182
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1183
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1184
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1185
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1186
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1187
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1188
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1189
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1190
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1191
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1192
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1193
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1194
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1195
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1196
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1197
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1198
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1199
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1200