แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1189
ครั้งที่ ๑๑๘๙
สาระสำคัญ
องฺ.เอก.สุภูติสูตร - ลักษณะของผู้ที่มีศรัทธา
ธรรมเครื่องกระทำให้เป็นผู้ว่าง่าย
คนว่าง่ายกับผู้ว่ายาก
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๒๕ ต่อวันอาทิตย์ที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๒๖
ขอกล่าวถึงบุคคลในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้สำรวจศรัทธาในพระรัตนตรัยของท่านด้วยว่า มั่นคงมากน้อยแค่ไหน
อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต สุภูติสูตร ข้อ ๒๒๑
มีข้อความว่า
ครั้งนั้นแล ท่านพระสุภูติกับสัทธภิกษุเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระสุภูติว่า
ดูกร สุภูติ ภิกษุนี้ชื่อไร
ท่านพระสุภูติกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุนี้ชื่อว่าสัทธะ เป็นบุตรอุบาสกผู้มีศรัทธา ออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา พระเจ้าข้า ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สุภูติ ก็สัทธภิกษุนี้เป็นบุตรของอุบาสกผู้มีศรัทธา ออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา ย่อมเห็นพร้อมในลักษณะของผู้มีศรัทธาทั้งหลายแลหรือ ฯ
ท่านพระสุภูติกราบทูลว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บัดนี้เป็นกาลสมควรทรงแสดงลักษณะของผู้มีศรัทธานั้น ข้าแต่พระสุคต บัดนี้เป็นกาลสมควรทรงแสดงลักษณะของผู้มีศรัทธานั้น ขอ พระผู้มีพระภาคพึงตรัสลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธาเถิด ข้าพระองค์จักทราบบัดนี้ว่า ภิกษุนี้จะเห็นพร้อมในลักษณะของผู้มีศรัทธาทั้งหลายหรือไม่ ฯ
ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน แม้ว่าท่านพระภิกษุทั้งสองเป็นผู้ที่ออกบวชด้วยศรัทธา ก็ยังได้ไปเฝ้าเพื่อกราบทูลถามถึงแม้ลักษณะของผู้ที่มีศรัทธาว่าเป็นอย่างไร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สุภูติ ถ้าอย่างนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว
ท่านพระสุภูติทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกร สุภูติ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศีล สำรวมแล้วในปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษทั้งหลายมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
ดูกร สุภูติ ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา ฯ
ซึ่งต่อไปท่านผู้ฟังจะได้ทราบว่า แม้แต่การที่จะเป็นผู้ที่ มีปกติเห็นภัยในโทษทั้งหลายมีประมาณน้อย ก็เป็นผลของการเจริญอินทรีย์ ๕ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญานั่นเอง สำหรับบรรพชิตก็จะต้องมีศรัทธา โดยเป็นผู้ที่ มีศีล สำรวมแล้วในปาติโมกขสังวร สำหรับคฤหัสถ์ ก็ตามควรแก่ศีลของคฤหัสถ์ ถ้าขณะใดรักษาศีลของคฤหัสถ์ได้ ขณะนั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีศรัทธา
เท่านั้นยังไม่พอ ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีสุตะมาก ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับ มามาก ทรงไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ ซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง
ดูกร สุภูติ ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีสุตะมาก ฯลฯ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา ฯ
ท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่มีศรัทธาแน่ๆ ที่ฟังพระธรรม แสดงให้เห็นว่า อบรมเจริญ สัทธินทรีย์เพิ่มขึ้นด้วยการเป็นผู้ฟัง นอกจากเพียงการเป็นผู้มีศีล
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี
ดูกร สุภูติ ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา ฯ
ใครไม่มีเพื่อนบ้าง ใครมีเพื่อนมาก ใครมีเพื่อนน้อย มีเพื่อนมากหรือเพื่อนน้อยอย่างไหนจึงจะดี ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด
ที่จริงแล้ว ทุกท่านที่ศึกษาพระธรรม มีเพื่อน มีกัลยาณมิตร คือ พระธรรม ไม่ปราศจากพระธรรม เป็นเพื่อนได้ไหม เพราะว่าเพื่อนคือบุคคลที่ใกล้ชิด สนิทสนมคุ้นเคย เพราะฉะนั้น ถึงแม้จะอยู่คนเดียวตามลำพัง จะมีกิเลสเป็นเพื่อน หรือว่า จะมีพระธรรมเป็นเพื่อน ต้องแล้วแต่ลักษณะของผู้ที่มีศรัทธา
ถ้าเป็นผู้มีไม่มีศรัทธา ก็มีกิเลสเป็นเพื่อนมากมาย อยู่คนเดียวอยู่ได้ แต่ว่าอยู่กับกิเลส ก็สนุกเหมือนกัน ใช่ไหม แล้วแต่ความคิด แล้วแต่ความเพลิดเพลิน เพราะว่าบางคนชอบอยู่คนเดียว แต่การอยู่คนเดียวของผู้ที่ชอบอยู่คนเดียว อย่าลืมว่า อยู่ด้วยความชอบ เพราะฉะนั้น ยังคงมีเพื่อน คือ กิเลส และถึงแม้ว่าจะอยู่คนเดียวหรือว่าจะมีเพื่อนมากก็ตาม แต่ถ้ามีพระธรรมเป็นกัลยาณมิตร ขณะนั้นก็เป็นผู้ที่ มีศรัทธา
ข้อความต่อไป เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมเครื่องกระทำให้เป็นผู้ ว่าง่าย เป็นผู้อดทน เป็นผู้รับอนุศาสนีย์โดยเคารพ
ดูกร สุภูติ ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ว่าง่าย เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมเครื่องกระทำให้เป็นผู้ว่าง่าย เป็นผู้อดทน เป็นผู้รับอนุศาสนีย์โดยเคารพ แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา ฯ
คนว่าง่ายกับคนดื้อ มี ๒ ประเภท คนที่ว่าง่าย คือ พิจารณาเหตุผลใน พระธรรม น้อมที่จะปฏิบัติตามโดยถูกต้อง โดยดี แต่ถ้าเป็นผู้ที่ว่ายาก แม้ว่า พระธรรมจะทรงแสดงไว้โดยละเอียดเพียงใดก็ตาม ก็ไม่เป็นผู้ที่น้อมประพฤติปฏิบัติตามโดยถูกต้อง นั่นเป็นผู้ที่ว่ายาก
ข้อความต่อไป เป็นชีวิตประจำวันสำหรับผู้ที่มีศรัทธา พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในกรณียกิจทั้งสูงและต่ำของเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาอันเป็นอุบายในกรณียกิจนั้น อาจทำ อาจจัดได้
ดูกร สุภูติ ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน ฯลฯ อาจทำ อาจจัดได้ แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา ฯ
ท่านผู้ฟังมีเพื่อนที่ขยันบ้างไหม ช่วยทุกอย่าง ไม่ว่าจะมีกิจการงานอะไร ไม่เคยปฏิเสธ และเป็นผู้ที่สามารถจะจัดทำให้ได้อย่างดี นั่นคือลักษณะของผู้ที่มีศรัทธา เพราะเป็นผู้ที่กุศลจิตเกิดที่จะช่วยอนุเคราะห์ สงเคราะห์บุคคลอื่น
เพราะฉะนั้น ก็เป็นชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ว่าผู้ที่จะเจริญปัญญา หรืออินทรีย์ ๕ จะต้องไปอยู่ที่หนึ่งที่ใด และไม่ทำกิจการงานให้ใครทั้งสิ้น ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เป็นผู้ที่รู้จักตัวเอง และกุศลจิตเพิ่มขึ้น สามารถที่จะช่วยเหลือบุคคลอื่น จัดทำสิ่งที่สามารถจะจัดทำได้
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ภิกษุที่มีศรัทธา ต้องเป็นผู้ใคร่ธรรม กล่าวคำเป็นที่รัก … เป็นผู้ที่ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม … สำหรับผู้ที่มีศรัทธามั่นคงขึ้นก็ ได้ตามปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบากซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตอันยิ่ง … ตลอดไปจนกระทั่งถึงสามารถที่จะระลึกชาติได้ สามารถที่จะมีจักษุทิพย์ เห็นจุติและปฏิสนธิของหมู่สัตว์ซึ่งเป็นไปตามกรรม ตลอดไปจนถึงสามารถดับกิเลสเป็นพระอรหันต์ได้
ซึ่งทั้งหมดนี้ก็มาจากความเป็นผู้ที่มีศรัทธา เพราะฉะนั้น ชีวิตของพระอริยะก็ ไม่ต่างกับชีวิตของพุทธบริษัทในชีวิตประจำวัน แล้วแต่เพศ แล้วแต่ความสามารถ แล้วแต่กำลังของศรัทธา ซึ่งข้อความตอนท้ายของพระสูตรนี้ มีว่า
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ ท่านพระสุภูติได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลักษณะศรัทธาของผู้มีศรัทธาที่พระผู้มีพระภาคตรัสนี้นั้น มีพร้อมอยู่แก่ภิกษุนี้ และภิกษุนี้ย่อมเห็นพร้อมในลักษณะศรัทธาของผู้มีศรัทธาเหล่านี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุนี้เป็นเป็นผู้มีศีล ... สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ภิกษุนี้เป็นผู้มีสุตะมาก ... ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ภิกษุนี้เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ภิกษุนี้เป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมเครื่องกระทำให้เป็นผู้ว่าง่าย เป็นผู้อดทน เป็นผู้รับเอาอนุศาสนีย์โดยเคารพ ภิกษุนี้เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในกรณียกิจทั้งหลายทั้งสูงและต่ำของเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาอันเป็นอุบายในกรณียกิจนั้น อาจทำ อาจจัดได้ ภิกษุนี้เป็นผู้ใคร่ในธรรม กล่าวคำอันเป็นที่รัก เป็นผู้มีความปราโมทย์ยิ่งในธรรมอันยิ่ง ในวินัยอันยิ่ง ภิกษุนี้เป็นผู้ปรารภความเพียร มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม ภิกษุนี้เป็นผู้ได้ตามปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบากซึ่งฌาน ๔ ... ตลอดไปจนกระทั่งถึงการระลึกชาติ และมีจักษุทิพย์ สามารถที่จะเห็นจุติและปฏิสนธิ และเป็นผู้ที่ ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ ...
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลักษณะศรัทธาของผู้มีศรัทธาที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วนี้ มีพร้อมอยู่แก่ภิกษุนี้ อนึ่ง ภิกษุนี้จักปรากฏในลักษณะศรัทธาของผู้มีศรัทธาเหล่านี้ พระเจ้าข้า ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดีละๆ สุภูติ ดูกร สุภูติ ถ้าเช่นนั้นเธอพึงอยู่กับสัทธภิกษุนี้เถิด
ดูกร สุภูติ อนึ่ง เธอพึงหวังจะมาเยี่ยมเยือนตถาคตในกาลใด ในกาลนั้น เธอกับสัทธภิกษุนี้ พึงเข้ามาเยี่ยมเยือนตถาคตเถิด ฯ (เพราะเป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยศรัทธา)
จบ สูตรที่ ๔
จะกี่ภพ กี่ชาติ แทนที่จะคิดถึงกาลข้างหน้า ซึ่งไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ แต่ที่ผ่านมาแล้วและศรัทธาในชาตินี้ จะปรากฏให้เห็นเป็นของแต่ละบุคคลจริงๆ ว่า เป็น ผู้ที่มีศรัทธาแค่ไหน ซึ่งก็ยังไม่พอ ยังจะต้องอบรมเจริญศรัทธาจนกว่าจะรู้แจ้ง อริยสัจธรรม
ถ. ผมยังสงสัยเรื่องของรูปารมณ์ ไม่ทราบว่าจักขุวิญญาณรู้อะไรกันแน่ ตามปกติก็รู้อยู่แล้วว่า จักขุวิญญาณมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ คือ รู้รูปารมณ์ แต่ปกติเวลาเห็นสีเขียว จักขุวิญญาณรู้สีเขียวด้วยหรือเปล่า
สุ. ชีวิตประจำวันตามปกติ บางทีท่านผู้ฟังอาจจะคิดถึงชื่อของสีต่างๆ แทนที่จะรู้ว่า ถ้าไม่เรียกชื่อสีนั้นๆ คือ ไม่จำเป็นต้องเรียกชื่อสีเขียว สีแดง สีฟ้า สีดำ หรือสีอื่นใด แต่ให้ทราบว่าขณะนี้มีการเห็น เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังเห็นนี้ อะไรปรากฏ ถ้าไม่อยากจะบอกว่าสีอะไร ก็ไม่มีใครว่าอะไร เพราะว่ามีสภาพธรรมที่สามารถปรากฏทางตาในขณะที่กำลังเห็น สภาพธรรมที่สามารถปรากฏทางตาได้นั้นเป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติว่า รูปายตนะ หรือรูปารมณ์ หรือวัณโณ แล้วแต่ท่านผู้ฟังจะใช้คำอะไรก็ได้ แต่ให้สติสามารถระลึกได้ว่า ในขณะนี้มี สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา
โดยนัยของอินทรีย์ ๕ คือ ตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ กาย ๑ การที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของอินทรีย์ ๕ และอารมณ์ของอินทรีย์ ๕ ก็เพื่อให้สามารถรู้ในลักษณะของสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนของสิ่งซึ่งมีปรากฏ เช่น เสียง ก็เป็นสิ่งที่มีจริง แต่มีความรู้ว่าเป็นอนัตตาหรือยัง หรือว่าได้ยิน ก็เป็นสิ่งที่มีจริง กำลังได้ยินอยู่ แต่มีความรู้ว่าเป็นอนัตตาบ้างหรือยัง ฉันใด ทางตาซึ่งกำลังเห็น ก็มีสิ่งซึ่งปรากฏ โดยสภาพตามความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏทางตาจะเป็นตัวตนไม่ได้ เพราะเป็นแต่เพียงลักษณะที่สามารถปรากฏเมื่อกระทบตาเท่านั้น จะไม่ปรากฏทางอื่นเลย
การที่จะรู้ว่าเป็นอนัตตาจริงๆ ต้องแยกขาดอินทรีย์แต่ละอินทรีย์ ซึ่งปกติแล้วเกิดดับสืบต่อกันจนทำให้ปรากฏเสมือนว่า เห็นคน หรือว่าได้ยินเสียงคน หรือว่าเรื่องราวต่างๆ แต่ถ้าสามารถจะระลึกรู้ลักษณะของอินทรีย์แต่ละอินทรีย์จน สภาพธรรมปรากฏแยกขาดกันจริงๆ จะรู้ว่า ที่เห็นในขณะนี้แค่ไหน แค่ตาเท่านั้นเอง ตามีอยู่ตรงไหน การเห็นที่กำลังเห็นในขณะนี้ก็อยู่ตรงนั้น ข้างหลังไม่เห็น ที่เท้าไม่เห็น ที่แขนไม่เห็น
เพราะฉะนั้น ถ้าสติระลึกจริงๆ ก็สามารถรู้ได้ว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ได้ต่อไปถึงทางอื่นเลย ไม่ได้ต่อไปถึงทางหู ไม่ได้ต่อไปถึงทางจมูก ไม่ได้ต่อไปถึงทางลิ้น ไม่ได้ต่อไปถึงทางกาย เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่รู้สึกว่า ทางตา สภาพธรรมเพียงปรากฏแค่ตา ในขณะที่กำลังกระทบตาเท่านั้น ถ้ายังไม่ระลึกอย่างนี้จริงๆ ไม่สามารถเห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่ปรากฏและจิตที่เห็น ว่า แม้สภาพรู้ที่เกิดขึ้นรู้ได้ ก็เพราะมีสิ่งซึ่งกระทบตา จิตเห็นจึงเกิดขึ้นเห็นในขณะนี้ได้
หรือในขณะที่กำลังได้ยินเสียง ถ้าใครจะระลึกลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ในขณะที่ได้ยินเสียง ที่สภาพรู้เสียงจะเกิดขึ้นได้ ก็เพราะเสียงกระทบ สภาพรู้เสียงในขณะนี้จึงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จิตจึงเป็นปัจจุบันชั่วในขณะที่กำลังรู้อารมณ์หนึ่งๆ เท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้น ทางตา ไม่ต้องคิดถึงชื่อของสีต่างๆ ลักษณะใดก็ตามที่กำลังปรากฏ นั่นคือสภาพธรรมที่เป็นรูปารมณ์หรือรูปายตนะ จึงสามารถกระทบตาและปรากฏทางตาได้
ถ. พระผู้มีพระภาคทรงแสดงลักษณะของรูปารมณ์นี้กว้างขวางมากมาย ซึ่งผมย่อลงมาว่า มีสี ๑ และสัณฐาน ๑ รูปร่างสัณฐาน คือ เรียว กลม รี เหลี่ยม เพราะฉะนั้น ผู้ที่เพ่งกสิณ มีวงกลมๆ และมีสีเขียว ขณะที่เพ่งวงกลม วงกลมสีเขียว สีเขียวนั้นเป็นบัญญัติ และที่ว่าจักขุวิญญาณรู้ปรมัตถอารมณ์ …
สุ. ท่านผู้ฟังอย่าปนบัญญัติของกสิณกับปรมัตถธรรมที่ปรากฏทางตา สำหรับบัญญัติที่เป็นอารมณ์ของกสิณ แม้หลับตาก็เห็นจึงเป็นบัญญัติ แต่ขณะนี้ กำลังลืมตา เพราะฉะนั้น สภาพที่กำลังปรากฏไม่ใช่บัญญัติ เป็นปรมัตถธรรม รูปสี เป็นปรมัตถธรรมหนึ่งใน ๒๘ รูป ไม่ใช่บัญญัติ รูปสีในที่นี่หมายความถึงสภาพธรรม ที่ปรากฏทางตา ถ้าถามว่าสีอะไร คำเดียวเท่านั้น จะเป็นสีอะไร ก็ต้องตอบมาหนึ่งสีแน่ๆ ใช่ไหม แต่ก็ไม่ใช่เพียงสีเดียว สีใดๆ ก็ตามถ้าไม่กระทบตา จะมีการเห็น จะมีการรู้ได้ไหม แต่ที่จะรู้ว่าเป็นสีใด หรือว่าจะเห็นสิ่งที่มีรูปร่างสัณฐานใด ก็เพราะ สิ่งนั้นเป็นสิ่งซึ่งกระทบตาแล้วปรากฏให้เห็นก่อน
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๑๑๘๑ – ๑๑๙๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1141
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1142
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1143
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1144
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1145
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1146
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1147
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1148
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1149
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1150
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1151
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1152
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1153
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1154
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1155
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1156
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1157
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1158
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1159
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1160
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1161
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1162
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1163
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1164
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1165
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1166
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1167
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1168
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1169
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1170
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1171
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1172
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1173
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1174
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1175
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1176
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1177
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1178
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1179
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1180
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1181
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1182
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1183
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1184
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1185
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1186
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1187
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1188
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1189
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1190
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1191
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1192
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1193
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1194
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1195
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1196
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1197
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1198
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1199
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1200