แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1193


    ครั้งที่ ๑๑๙๓


    สาระสำคัญ

    องฺ.ทสก.มิจฉัตตสูตร - ความเห็นผิด ๑๐ ประการ

    อง.ทสก.สัมมัตตสูตร


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๒๖


    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งกล่าวว่า เวลาที่ท่านระลึกถึงรูปแข็ง ซึ่งเวลานี้ทุกท่านก็มีแข็งกำลังปรากฏ แต่ท่านผู้นั้นกำลังนอนอยู่ เพราะฉะนั้น รูปแข็งของท่านก็เป็นแข็ง ในท่าของอิริยาบถที่นอน นั่นแสดงถึงอัตตสัญญาที่ยังมีอยู่ เพราะยังมีความเกี่ยวโยงแข็งส่วนหนึ่งที่ปรากฏกับแข็งส่วนอื่นๆ ต่อๆ ไป แต่ตามความเป็นจริง ถ้าระลึกทันทีที่ลักษณะของแข็ง จะปรากฏเฉพาะแข็งตรงหนึ่งตรงใด โดยที่ไม่โยงไปถึงแข็งส่วนอื่นๆ ให้มีความรู้สึกเป็นอิริยาบถ หรือท่าทางซึ่งเป็นลักษณะของอัตตสัญญา เพราะตราบใดที่ยังมีการปรากฏของแข็งโยงไปเรื่อยๆ จนยังรู้อยู่ว่า ขณะนั้นกำลังอยู่ในอิริยาบถหรือท่าทางที่ยังนอนอยู่ อัตตสัญญาย่อมมี เนื่องจากเป็นลักษณะอาการที่ยังไม่ได้ เพิกอิริยาบถ

    ในขณะนี้เอง ถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดระลึกที่แข็งที่กำลังปรากฏ โดยไม่โยงไปถึง ส่วนอื่น จะมีท่าทางหรือจะนึกถึงว่า แข็งนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของกายซึ่งอยู่ในอิริยาบถหนึ่งอิริยาบถใดหรือเปล่า ก็มีเฉพาะแข็งนิดเดียวเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า อินทรีย์แต่ละอินทรีย์ต้องแยกขาดจากกัน มิฉะนั้นจะไม่เข้าใจถึงลักษณะของอัตตสัญญาที่เคยชินต่อการที่จะยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน

    และแม้ว่าสภาพธรรมจะปรากฏเพียงเล็กน้อยนิดเดียวตรงที่กระทบจริงๆ เท่านั้น แต่เพราะยังมีการนึกถึงด้วยอัตตสัญญาในส่วนอื่นๆ อยู่ จึงทำให้ยังคงมีความรู้สึกว่า แข็งนั้นยังคงมีอยู่ในอิริยาบถใด ซึ่งต้องเพิกถอนอิริยาบถก่อน จึงจะเป็นอนัตตสัญญา เพราะว่าไม่มีตัวตน ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดในแข็งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น กว่าจะชินกับอนัตตสัญญาจริงๆ คือ แข็งเป็นเพียงแข็ง เท่านั้นเอง แต่ละครั้งที่กำลังกระทบสัมผัส ไม่มีส่วนอื่นเจือปนอยู่ในที่นั้นเลยทั้งสิ้น จึงสามารถเห็นความต่างกันของอนัตตสัญญาและอัตตสัญญาได้

    . ขณะที่นั่งฟังนานๆ สภาพแข็งก็ปรากฏอยู่ในสภาพเก่า แต่ถ้าความคิดนึกของเราไปสนใจอย่างอื่น สภาพแข็งก็ดับไป หมายความว่า รูปดับหรือนามดับ

    สุ. ถ้าไม่รู้ ก็ทิ้งไป จะมานั่งคิดเดี๋ยวนี้ จะมีประโยชน์อะไร ในเมื่อ สภาพธรรมขณะนี้กำลังปรากฏ สภาพธรรมชั่วขณะเมื่อครู่นี้ ถ้าเป็นอนัตตสัญญา จริงๆ จะรู้ว่าไม่มี แต่ว่าขณะนี้สภาพธรรมใดกำลังปรากฏ ระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ แทนที่จะไปนั่งนึกว่าอะไรดับ แต่จะต้องศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพื่อไถ่ถอนความเป็นเราออกจากกำลังเห็นขณะนี้

    . ที่อาจารย์พูดว่า ที่เขาเห็นสภาพแข็ง ถอนตัวตนไม่ได้ หมายความว่า เห็นสภาพแข็งตลอดไปเลย และก็ ...

    สุ. ถ้าไม่นึกที่จะโยงไปถึงส่วนต่างๆ แต่ระลึกทันทีขณะหนึ่ง จะมีเฉพาะลักษณะแข็งเล็กน้อยเท่านั้นที่ปรากฏตรงส่วนที่กระทบสัมผัส ยังไม่โยงไปถึงแข็งตอนอื่นที่จะให้เป็นการนึกถึงอัตตสัญญาว่า กำลังอยู่ในอิริยาบถใด

    . หมายความว่า ให้ระลึกขณะที่กระทบครั้งแรก ใช่ไหม

    สุ. ความจริงเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

    . เป็นอย่างนั้น

    สุ. ความจริงเป็นอย่างนั้น ระลึกขณะนั้น สภาพธรรมปรากฏขณะนั้นและ ดับขณะนั้นตามความเป็นจริง ถ้าไม่โยงไปถึงส่วนอื่นที่จะเป็นอัตตสัญญา แต่เพราะว่าโยงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน จะเห็น จะพูด จะคิด จะนึก จะทำกิจการงานใดๆ ก็ยังคงมีอัตตสัญญาอยู่ ยังคงจำส่วนอื่นไว้อยู่ แม้ว่าในขณะนั้นมีสภาพธรรมเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่กำลังเป็นสติปัฏฐาน ที่สติกำลังระลึกรู้

    . ขณะที่กระทบครั้งแรก รูปดับหรือนามดับ

    สุ. เอาอีกแล้ว ท่านผู้ฟังบอกว่าในขณะที่ท่านนั่งนานๆ และมีแข็งปรากฏ ถ้าท่านไปสนใจอย่างอื่น แข็งนั้นดับ ท่านว่าอย่างนี้ใช่ไหม

    . ถูกต้อง

    สุ. แต่ตามความเป็นจริง ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน และสติมีกำลัง ไม่สามารถที่จะยับยั้งสติไม่ให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมอื่นซึ่งเกิดปรากฏต่อ

    ท่านผู้ฟังกำลังนั่งในขณะนี้ ถ้าสติระลึกที่แข็ง เสียงปรากฏ แข็งมีไหมในขณะที่เสียงปรากฏ

    . ไม่มี

    สุ. แข็งไม่มี เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เป็น ผู้บังคับสติ เมื่อเสียงปรากฏ สติระลึกที่เสียง เพราะฉะนั้น จึงรู้ได้ว่า สภาพธรรมแต่ละขณะต่างกัน ไม่เที่ยง ในขณะที่แข็งปรากฏ เสียงไม่ปรากฏ ในขณะที่เสียงปรากฏ แข็งไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละขณะตามความเป็นจริง ไม่ใช่จงใจตั้งใจที่จะให้รู้แข็ง และก็บอกว่า ถ้าจงใจไปรู้อย่างอื่น แข็งดับ ไม่ใช่อย่างนั้น

    . ที่ผมมีความคิดขัดแย้ง เพราะผมฟังมาก ฟังธรรมทั้งวัน แต่ไม่ได้ฟังอาจารย์คนเดียว เพราะอาจารย์มีเฉพาะตอน ๖ โมงเช้าและสามทุ่มเท่านั้น ผมก็ฟังอย่างอื่น ก็มีความขัดแย้ง เพราะว่าปฏิบัติยังไม่ถึง จึงมีความสงสัยอยู่เรื่อย

    สุ. ขัดแย้งอย่างไร

    . อาจารย์อื่นบอกว่า ต้องทำอย่างนั้น ความจริงที่อาจารย์บรรยายอยู่นี้ ก็ถูก ไม่ผิดเลย แต่ว่าปฏิบัติไป รู้สึกว่ามีความฟุ้งซ่านมาก

    สุ. ปฏิบัติแล้วฟุ้งซ่าน จะเป็นผลของการปฏิบัติหรือ

    . ฟังธรรมแล้วก็ไปคิด มีความเห็นว่าถูกเหมือนกันหมด

    สุ. แสดงว่าข้อปฏิบัติเหมือนกัน

    . ก็เหมือนกัน แต่ลักษณะการบรรยาย อย่างอาจารย์ให้จับสภาวะอย่างเดียว ให้เห็นการเกิดดับให้ได้

    สุ. สภาพธรรมมีกี่อย่าง

    . ก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    สุ. ไม่ใช่มีอย่างเดียว จะไปจับสภาพธรรมอย่างเดียวได้อย่างไร ในเมื่อสภาพธรรมมีหลายอย่าง

    . คณาจารย์อื่นเขาบอกว่า

    สุ. และจะเหมือนกันไหม

    . ถูกคนละแง่ ผมก็พูดยาก

    สุ. ท่านผู้ฟังไม่กล้าที่จะบอกว่าผิดหรือ

    . ผมยังตัดสินใจไม่ได้

    สุ. แต่ความเป็นผู้ตรงต่อเหตุผล ถ้าไม่ถูกก็ต้องผิด ใช่ไหม

    . ของอาจารย์ก็ถูก ของอาจารย์ท่านอื่นพูดก็ถูก แต่ถูกคนละอย่าง

    สุ. ไม่เหมือนกัน ใช่ไหม และจะถูกเหมือนกันได้ไหม

    . ถูกธรรมเหมือนกัน

    สุ. ธรรมที่มี เป็นมิจฉามรรคและสัมมามรรค ถ้าไม่ถูกสัมมามรรค ก็ต้องถูกมิจฉามรรค

    สาวก คือ ผู้ฟัง และเป็นผู้ที่น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดง และต้องพิจารณาธรรมที่ได้ยินได้ฟังโดยละเอียดว่า ความเข้าใจของท่านตรงกับพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง หรือค้านกับที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เพราะพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ข้อปฏิบัติผิดมี ถ้าท่านผู้ฟังกล่าวว่า ข้อปฏิบัติทุกอย่างถูก แม้ว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ไม่ตรงกัน ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า ความคิดเห็นของท่านผู้ฟังตรงกับพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงหรือไม่

    อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต มิจฉัตตสูตร ข้อ ๑๓๒

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มิจฉัตตะ (ความเป็นผิด) ๑๐ ประการนี้ ๑๐ ประการ เป็นไฉน คือ มิจฉาทิฏฐิ ๑ มิจฉาสังกัปปะ ๑ มิจฉาวาจา ๑ มิจฉากัมมันตะ ๑ มิจฉาอาชีวะ ๑ มิจฉาวายามะ ๑ มิจฉาสติ ๑ มิจฉาสมาธิ ๑ มิจฉาญาณะ ๑ มิจฉาวิมุตติ ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มิจฉัตตะ ๑๐ ประการนี้แล ฯ

    จบ สูตรที่ ๑๐

    แสดงให้เห็นว่า ความเห็นผิดในข้อปฏิบัติมี รวมทั้งการรู้ผิดและการพ้นผิด คือ คิดว่าเมื่อปฏิบัติผิดอย่างนั้นแล้วสามารถที่จะบรรลุธรรม และเข้าใจผิดว่า ได้บรรลุธรรมแล้วด้วย

    นี่คือพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล หรือว่าท่านผู้ฟังไม่อยากให้พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้เลย เพราะว่าอยากจะให้ข้อปฏิบัติ ทุกอย่างถูกทั้งนั้น ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็ควรพิจารณาว่า ความเห็นของท่านจะตรงกันหรือว่าจะค้านกับพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง

    และสำหรับความเข้าใจในเรื่องของการไปสู่สำนักเพื่อปฏิบัติธรรม ที่ท่านผู้ฟังมารับฟังธรรมที่นี่ ท่านจะกล่าวว่า เป็นสำนัก หรือไปสู่สำนักที่แสดงธรรม ได้ไหม ได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่พิจารณาจริงๆ ว่า เป็นเพราะอัธยาศัยของท่าน หรือว่ามาเพราะเข้าใจผิด นี่เป็นสิ่งที่สำคัญ

    บางท่านมีอัธยาศัยที่จะไปสู่วัดวันละหลายครั้ง อย่างท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีและวิสาขามหาอุบาสิกา บางท่านอาจจะมีอุปนิสัยอัธยาศัยชอบอยู่ที่วัดนานๆ หลายชั่วโมง หรืออาจจะถึงกับค้างอยู่ที่วัดก็ได้ แต่ต้องพิจารณาว่า ท่านผู้นั้นมีความเข้าใจผิดในข้อปฏิบัติหรือเปล่า คือ ถ้ามีความคิดว่า การอบรมเจริญปัญญานั้นจะต้องไปสู่สำนัก ปัญญาจึงจะเจริญ ถ้าเข้าใจอย่างนั้น เป็นผู้ที่เข้าใจผิด แต่ถ้าเป็น ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานในขณะนี้ และไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใดก็ตาม พร้อมกันนั้น เป็นผู้ที่รู้อัธยาศัยของตนเองในการไปสู่สำนักว่า เพื่อฟังธรรม หรือเพื่อต้องการที่จะอยู่กับสหายธรรมท่านอื่นที่วัด นั่นก็เป็นอัธยาศัยจริงๆ แต่ไม่ใช่เป็นเพราะความเข้าใจผิด ต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน มิฉะนั้นแล้วไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    เพราะฉะนั้น ความเข้าใจเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่ว่า มิจฉัตตะ (ความเป็นผิด) ๑๐ ประการนี้ เริ่มด้วยมิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด ๑ มิจฉาสังกัปปะ ความดำริ คือ ความคิด การตรึก การพิจารณาธรรมผิด ๑ เพราะฉะนั้น ควรจะได้พิจารณา จริงๆ ว่า ไม่ว่าท่านจะคิดเรื่องข้อปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ให้ทราบว่า ขณะนั้นเป็นมิจฉาสังกัปปะ หรือว่าเป็นสัมมาสังกัปปะ เพราะหนทางผิดกับหนทางถูกต่างกัน และเป็นการที่จะทำให้ทั้งกาย ทั้งวาจา และความดำริทางใจ ต่างกันด้วย

    ข้อความตอนหนึ่งใน อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต สัมมัตตสูตร ข้อ ๑๐๔

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    … ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุริสบุคคลผู้มีความเห็นผิด มีความดำริผิด มีวาจาผิด มีการงานผิด มีการเลี้ยงชีพผิด มีความพยายามผิด มีความระลึกผิด มีความตั้งใจผิด มีความรู้ผิด มีความหลุดพ้นผิด สมาทานกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ให้บริบูรณ์ตามความเห็นอย่างไรแล้ว เจตนา ความปรารถนา ความตั้งใจ และสังขารเหล่าใด ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมเป็นไปเพื่อผลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ไม่เกื้อกูล เป็นทุกข์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเป็นทิฏฐิอันชั่วช้า ฯ

    บางท่านอาจจะไม่ทราบว่า เวลาที่มีความเห็นผิดแล้ว ทำให้นอกจากมีความดำริผิดแล้ว ยังมีวาจาผิดด้วย เพราะฉะนั้น ไม่ได้หมายความว่า เมื่อคิดว่าตนเองเป็นพุทธบริษัทแล้ว ไม่ว่าจะปฏิบัติอย่างไรก็ต้องถูก แต่ต้องพิจารณาจริงๆ ว่า ถ้าเป็นความเห็นผิดแล้ว จะทำให้ดำริผิดถึงกับมีวาจาผิด มีการงานผิด มีการเลี้ยงชีพผิด

    สำหรับความเห็น ถ้าคลาดเคลื่อนไป จะทำให้การปฏิบัติผิด แม้ความพยายามก็ผิด ความระลึกก็ผิด มีความตั้งใจผิด มีความรู้ผิด มีความหลุดพ้นผิด เพราะมีท่านที่กล่าวว่า ท่านได้เป็นพระอนาคามีบุคคลบ้าง หรือว่าเป็นพระอรหันต์บุคคลบ้าง

    เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาการแทรกซึมของความเห็นผิดไปทั่ว ในการประพฤติปฏิบัติทางกาย ทางวาจา ทางใจ ว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนพืชสะเดา พืชบวบขม หรือพืชน้ำเต้าขม อันบุคคลเพาะแล้วในแผ่นดินที่ชุ่มชื้น ย่อมเข้าไปจับรสดินและรสน้ำอันใด รสดินและรสน้ำทั้งหมดนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นรสขม เป็นรสเผ็ดร้อน เป็นรสไม่น่ายินดี ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร เพราะพืชเป็นของไม่ดี แม้ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุริสบุคคลผู้มีความเห็นผิด มีความดำริผิด มีความระลึกผิด มีความตั้งใจผิด มีความรู้ผิด มีความหลุดพ้นผิด สมาทานกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ให้บริบูรณ์ตามความเห็นอย่างไรแล้ว เจตนา ความปรารถนา ความตั้งใจ และสังขารเหล่าใด ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมเป็นไปเพื่อผลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ไม่เกื้อกูล เป็นทุกข์ ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร เพราะเป็นทิฏฐิที่ชั่วช้า ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ

    นี่เป็นอันตรายที่สุด จึงต้องเข้าใจข้อประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง มิฉะนั้นแล้ว ถ้าเข้าใจผิดเพียงเล็กน้อย ทีละเล็กทีละน้อย จะทำให้ ไม่เกื้อกูล เป็นทุกข์ ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร เพราะเป็นทิฏฐิ คือ ความเห็น ที่ชั่วช้า

    สำหรับผู้ที่มีความเข้าใจในข้อปฏิบัติถูก และประพฤติปฏิบัติธรรมถูก พระผู้มีพระภาคตรัสอุปมาว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนพืชอ้อย พืชข้าวสาลี หรือพืชองุ่น อันบุคคลเพาะลงแล้วในแผ่นดินที่ชุ่มชื้น ย่อมเข้าไปจับรสดินและรสน้ำอันใด รสดินและรสน้ำทั้งหมดนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นรสที่น่ายินดี เป็นรสหวาน เป็นรสอันน่าชื่นใจ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพืชเป็นของดี แม้ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุริสบุคคลผู้มีความเห็นชอบ มีความดำริชอบ มีวาจาชอบ มีการงานชอบ มีการเลี้ยงชีพชอบ มีความพยายามชอบ มีความระลึกชอบ มีความตั้งใจชอบ มีความรู้ชอบ มีความหลุดพ้นชอบ สมาทานกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ให้บริบูรณ์ตามความเห็นอย่างไรแล้ว เจตนา ความปรารถนา ความตั้งใจ และสังขารเหล่าใด ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมเป็นไปเพื่อผลอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เกื้อกูล เป็นสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะทิฏฐิเป็นของเจริญ ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯ

    จบ สูตรที่ ๔

    เพราะฉะนั้น ควรที่จะเห็นว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแล้วทั้งหมด เป็นประโยชน์ที่จะต้องน้อมรับพิจารณา ไม่ใช่คิดด้วยความพอใจของท่านว่า ข้อปฏิบัติทั้งหมดถูก

    บางท่านกล่าวว่า ไม่ว่าจะประพฤติอย่างไรก็ตาม ก็ถูกนามธรรมและรูปธรรมทั้งหมด ไม่พ้นจากมหาสติปัฏฐานเลย เป็นความจริงที่ว่า ไม่มีอะไรนอกจากนามธรรมและรูปธรรมทุกขณะ แต่ปัญญาที่จะรู้จริงๆ ว่า ในขณะที่กำลังเห็น ในขณะกำลัง ได้ยิน ในขณะกำลังคิดนึก ทุกๆ ขณะนี้ ขณะไหน ลักษณะไหนเป็นนามธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขณะไหน ลักษณะไหนเป็นรูปธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ที่จะรู้จริงๆ จะต้องอบรมเจริญปัญญาอย่างไร ไม่ใช่เมื่อระลึกอะไรก็ต้องเป็นนามธรรมและรูปธรรมทั้งนั้น โดยที่ปัญญาไม่ได้รู้ว่า ขณะนั้นลักษณะใดเป็นนามธรรม ลักษณะใดเป็นรูปธรรม

    เพราะฉะนั้น ความเห็นผิดมีจริง ไม่ใช่ไม่มี เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เป็นนามธรรม ทำให้มีความดำริผิด หรือวาจาผิด ตลอดไปจนถึงความระลึกผิด ความรู้ผิด ความพ้นผิด



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๑๑๙๑ – ๑๒๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 86
    28 ธ.ค. 2564