แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1198
ครั้งที่ ๑๑๙๘
สาระสำคัญ
ขันธ์ ๕ ไม่ใช่อยู่ในหนังสือ
“สมถะ” ที่ชื่อว่า สงบ ต้องเป็นกุศล
“เมตตา” มีลักษณะที่คล้ายหรือใกล้กับ “โลภะ”
ที่วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่
วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๒๕
ถ. มีคนบอกว่า ถ้าใครปฏิบัติวิปัสสนาปัญญาจะเกิดขึ้นเอง เกิดขึ้นได้อย่างไร
สุ. ปฏิบัติอย่างไร อยู่ที่ข้อปฏิบัติ พูดเฉยๆ ข้อปฏิบัติเป็นอย่างไรก็ ไม่ทราบ และจะให้ผลอะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ต้องบอกมาให้ชัดเจนว่า ปฏิบัติอย่างไร
ถ. นั่งภาวนายุบหนอ พองหนอ อะไรอย่างนี้
สุ. ท่านผู้ฟังบอกว่า ปฏิบัติวิปัสสนา อย่างเช่น นั่งและภาวนา ถ้าขณะที่กำลังนั่งภาวนาว่า ยุบหนอ พองหนอ รู้อะไร คือ จะต้องทราบว่า รู้อะไร ถ้าเป็นปัญญาต้องรู้ ในขณะนั้นรู้อะไร
ถ. รู้ว่า หายใจเข้า หายใจออก
สุ. ใครหายใจเข้า ลักษณะของนามธรรมเป็นอย่างไร ลักษณะของรูปธรรมเป็นอย่างไร ถ้าไม่สามารถรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมกับรูปธรรม ไม่ใช่วิปัสสนาทั้งนั้น
ถ. ต้องเรียนเรื่องขันธ์ ๕ ละเอียดก่อนหรือ
สุ. ไม่ใช่โดยชื่อ ขณะนี้กำลังเห็นเป็นขันธ์อะไร ไม่อย่างนั้นขันธ์ ๕ ก็เอามาจากหนังสือ แต่ขณะที่กำลังเห็นนี้ขันธ์อะไร ต้องมีความรู้ นี่คือปัญญาก่อนที่จะเป็นวิปัสสนา
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่วิปัสสนา จนกว่าจะเข้าใจก่อน และสติจึงจะค่อยๆ ระลึกจนกว่าจะรู้ชัด และไม่มีวิธีที่ว่า จะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ต้องอาศัยความเข้าใจ ถ้าบอกว่า ยังไม่เข้าใจ ก็แปลว่า ยังทำอะไรไม่ได้ จนกว่าความเข้าใจจะเกิดขึ้น
ถ. เข้าใจในที่นี้ หมายถึงเข้าใจอะไร
สุ. เห็นนี่ขันธ์อะไร กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ขันธ์อะไร ถ้าจะพูดเรื่องขันธ์ ๕ กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ขันธ์อะไร ถ้าไม่รู้ ยังทำวิปัสสนาไม่ได้ เพราะว่ากำลังเห็น แต่ไม่รู้ จะเป็นวิปัสสนาได้อย่างไร
ถ. เจริญวิปัสสนาก่อน จึงทำสมาธิหรือ
สุ. เจริญวิปัสสนาก่อน ทำอย่างไร
ถ. หรือทำสมาธิก่อน
สุ. มิได้ เจริญวิปัสสนาทำอย่างไร
ถ. อย่างที่อาจารย์ว่า ต้องศึกษา มีความรู้อะไรต่างๆ
สุ. เมื่อเข้าใจขึ้น สติก็ค่อยๆ เริ่มระลึกไป เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ค่อยๆ เพิ่มความเข้าใจขึ้น
ถ. ขณะที่นั่งสมาธิ
สุ. ทำไมใช้คำว่า นั่ง
ถ. นั่งหรืออะไรต่างๆ
สุ. ก็ไม่ต้องใช้คำว่า นั่ง และไม่ต้องใช้คำว่า สมาธิด้วย ขณะนี้เองรู้อะไร
ถ. ต้องรู้เสียก่อน
สุ. แน่นอน ไม่ใช่เป็นสมาธิ ปัญญา คือ ความรู้ซึ่งเกิดจากความเข้าใจ ความรู้กับความเข้าใจอย่างเดียวกันหรือต่างกัน รู้โดยไม่เข้าใจมีไหม
ถ. ไม่มี
สุ. และเมื่อเข้าใจแล้ว เข้าใจขึ้นอีกๆ ก็เป็นความรู้
ถ. ความรู้เกิดจากความเข้าใจ
สุ. แน่นอนที่สุด นี่เป็นสิ่งที่ยาก ถ้าถามตามตำรา ตอบง่ายมาก แต่ถ้าถามถึงขณะจิตเดี๋ยวนี้ ตอบยากที่สุด เพราะว่าเกิดแล้ว ดับไปแล้ว เร็วมาก ถ้าสติไม่ระลึกก็เพียงแต่อนุมานว่า คงจะเป็นกุศล หรือว่าคงจะเป็นอกุศล แต่ไม่ใช่เพราะรู้ จริงๆ ว่า ลักษณะที่เป็นกุศลต่างกับลักษณะที่เป็นอกุศลอย่างไร
ถ. ที่ไม่รู้เป็นอวิชชา ถ้ารู้เป็นวิชชา
สุ. ใช่ เพราะฉะนั้น วันหนึ่งอกุศลมากหรือกุศลมาก
ถ. อกุศลมาก
สุ. อนุโมทนาที่รู้ความจริง แม้จะเป็นอกุศลแต่ก็ดีที่รู้ เพราะถ้าเป็นอกุศลแต่ไม่รู้ หรือเข้าใจว่าเป็นกุศล ต้องเป็นผลเสียมาก ใช่ไหม เพราะเข้าใจผิดคิดว่า ดีแล้ว แต่ความจริงยังไม่ดี ความดีไม่มีวันพอ
ถ้าฟังธรรมบ่อยๆ จะเข้าใจขึ้น และสติก็เกิดเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า ฟังวันนี้เดี๋ยวสติจะเกิดมากๆ ไม่ต้องหวังรอ แล้วแต่ความเข้าใจ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องห่วงเรื่องสติจะเกิดหรือไม่เกิด แต่ควรห่วงเรื่องความเข้าใจในลักษณะของ สภาพธรรมว่า เพิ่มขึ้นหรือยัง
ถ. วิธีปฏิบัติธรรมไม่ได้หมายถึงการนั่งวิปัสสนาหรือ
สุ. ไม่ว่าจะได้ยินคำไหน ขอให้เข้าใจความหมายของคำนั้นโดยตลอด ก่อนทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก่อนที่จะตามข้อปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ควรที่จะได้พิจารณาโดยละเอียดจริงๆ ว่า ถ้าใช้คำว่า นั่งวิปัสสนา วิปัสสนาคืออะไร ทุกคนเข้าใจคำว่า นั่ง ใช่ไหม ขณะนี้กำลังนั่ง แต่นั่งวิปัสสนาหรือเปล่า
ถ. ยังไม่ค่อยเข้าใจ
สุ. ยังไม่ค่อยเข้าใจ ทิ้งไปเลย อะไรที่เข้าใจไม่ได้ หรือยังไม่เข้าใจ ไม่ต้องสนใจ เอาสิ่งที่เข้าใจได้ และสามารถทำให้ปัญญาเจริญได้
ถ. การเจริญวิปัสสนา จำเป็นต้องเจริญสมถะก่อนหรือไม่
สุ. นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่เท่าๆ กัน คือ วิปัสสนาก็เป็นเรื่องใหญ่ สมถะก็เป็นเรื่องใหญ่ ใหญ่ในที่นี้หมายความถึงเป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องพิจารณาให้เข้าใจถูก เพราะคำว่า วิปัสสนา หมายความถึงปัญญาที่ประจักษ์แจ้ง แทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับ ไม่ใช่ตัวตน ตามปกติตามความ เป็นจริง คือ ในขณะนี้
สมถะ หมายความถึงความสงบ แต่อย่าพอใจเพียงคำที่กล่าวว่า สงบ ต้องพิจารณาอีกว่า ความสงบนั้นคืออย่างไร ถ้าเป็นความสงบจริงๆ หมายความว่า สงบจากอกุศลทั้งหมด คือ ในขณะนั้นต้องไม่มีโลภะ ต้องไม่มีโทสะ ต้องไม่มีโมหะ จึงจะสงบ
ถ. ที่ว่าไม่มี หมายความว่ากดไว้หรืออย่างไร
สุ. มิได้ แต่เพราะขณะนั้นเป็นกุศลจิต ขณะใดที่เป็นกุศลจิตขณะนั้นไม่ใช่ อกุศลจิต และขณะใดที่เป็นอกุศลจิตขณะนั้นไม่ใช่กุศลจิต ชั่วขณะหนึ่งๆ
เพราะฉะนั้น สมถะ ที่ชื่อว่าสงบ ต้องเป็นกุศล จึงสงบจากอกุศลได้ ถ้านั่ง เฉยๆ ไม่คิดเรื่องอะไรทั้งนั้น สงบหรือเปล่า
ผู้ฟัง สงบ
สุ. รู้ได้อย่างไรว่าไม่มีอกุศล ถ้าไม่รู้ ไม่ใช่สงบ ถ้าความไม่รู้เป็นความสงบ วันหนึ่งๆ ก็ได้กุศลกันคนละมากๆ คือ นั่งเฉยๆ เท่านั้นก็เป็นกุศลแล้ว ซึ่งนั่นไม่ใช่ความจริง และขณะที่ให้วัตถุหนึ่งวัตถุใดเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น ที่เราใช้คำว่า ทาน หรือการให้ ขณะนั้นจิตสงบไหม
ผู้ฟัง ยังไม่สงบ
สุ. ถ้าไม่สงบจะให้หรือ สงบในที่นี้ไม่ใช่ว่าอยู่เฉยๆ ไม่คิด แต่หมายความว่า ขณะนั้นไม่มีอกุศล ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ จึงให้ได้ ถ้ามีโลภะในสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะไม่ให้สิ่งนั้น ยังเกี่ยวข้อง ยังยึดมั่น ยังผูกพัน ยังสละไม่ได้ ถ้ามีโทสะในคน ที่รับก็ไม่ให้ ใช่ไหม เกิดโกรธแล้ว วันนี้ไม่ให้ อาจจะให้วันหลัง แต่ขณะที่กำลังโกรธ ไม่พอใจนั้น ไม่ให้
ขณะที่กำลังให้ทาน ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีความคิดนึกเรื่องอะไรเลย มีคิด แต่คิดเป็นกุศล ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นไม่มีอกุศล จึงชื่อว่า สงบ คือ สงบจากอกุศล อย่าลืม ต้องมีคำต่อท้ายว่า สงบจากอกุศล คือ ขณะนั้นไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ เพราะฉะนั้น เวลาให้ทาน จิตเป็นกุศล คือ ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ แต่ว่าเล็กน้อยเหลือเกิน จนกระทั่งไม่ปรากฏว่าสงบ
ถ. สงบหมายความว่า ...
สุ. ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ เป็นกุศล ไม่ใช่เฉยๆ นิ่งๆ ไม่ได้คิดอะไร ไม่ใช่อย่างนั้น ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นสงบจากอกุศล คือ ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ
เพราะฉะนั้น การเจริญความสงบ ก่อนอื่นต้องเข้าใจลักษณะของความสงบว่า ต้องเป็นกุศล เริ่มจากพิจารณาในชีวิตประจำวัน เพราะว่าชีวิตประจำวันเป็นความจริง เมื่อจะเจริญความสงบให้มากขึ้นในชีวิตประจำวัน จะต้องรู้ว่า ในวันหนึ่งๆ มีโอกาส หรือมีขณะ หรือมีเวลาที่จะสงบบ้างไหม คือ ต้องเริ่มมีสติในขณะที่กำลังให้ทานเพื่อที่จะได้รู้ว่า สภาพของจิตที่สงบในขณะที่ให้ต่างกับขณะที่กำลังเป็นโลภะ โทสะ โมหะ ที่เป็นอกุศล เพราะขณะที่ให้และจิตปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ เล็กน้อยมาก สั้นมาก เมื่อเทียบกับโลภะซึ่งหลั่งไหลเข้ามา
เช่น ในขณะที่คิดจะให้ทาน ขณะนั้นต้องปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ถูกไหม จะให้อะไร ขณะที่กำลังตระเตรียมวัตถุที่จะให้ เช่น กำลังทำอาหารวุ่นวายอยู่ในครัว โลภะมีไหม โทสะมีไหม อาหารกำลังอร่อยดี กำลังจะตักใส่ถ้วยชามที่จะถวายทาน โลภะหรือเปล่า อาหารอร่อย ถ้าอาหารไม่อร่อยเป็นอย่างไร โทสะมีไหม ก็มี
เพราะฉะนั้น เวลาที่ให้ทานแต่ละครั้งให้ทราบว่า จิตสงบชั่วคราวเล็กน้อยจน ไม่สามารถถึงความมั่นคงให้รู้ลักษณะของความสงบได้ และบางคนให้ไม่ใช่เป็นทาน จริง ๆ เพราะอาจจะให้ในลักษณะของสังคม หรือให้โดยการหวังผล เพราะว่าเมื่อให้เขา เขาก็จะให้เรา อย่างนี้ ขณะนั้นสงบไหม ก็ไม่สงบ หรือว่าให้แล้วจะได้เกิดดีๆ มีของกินของใช้ที่สะดวกสบาย ขณะนั้นสงบไหม ก็ไม่สงบอีก เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ใช่การให้ซึ่งเป็นทานจริงๆ โดยไม่หวังผลใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งในขณะนั้นจิตสงบจริงๆ เพราะไม่ได้หวังผล ก็ไม่สามารถที่จะสังเกตได้ว่า ลักษณะของจิตที่สงบในขณะที่สละให้โดยไม่หวังคืออย่างไร
แต่เวลาที่จิตเป็นกุศลจริงๆ ในขณะที่ให้แล้วสงบ เวลาที่ระลึกถึงความผ่องใส ความสะอาดของจิตที่ให้โดยไม่หวัง ขณะนั้นเป็นสมถกัมมัฏฐานอย่างหนึ่ง ชื่อว่า จาคานุสสติ คือ การระลึกถึงทาน เพราะฉะนั้น ต้องมีการให้ก่อน และการให้นั้นต้องมีสภาพของจิตที่สงบให้ระลึกได้ จึงจะสงบเป็นจาคานุสสติ
เรื่องของสมถะเป็นเรื่องที่ละเอียดอีกเรื่องหนึ่ง เช่นเดียวกับเรื่องของวิปัสสนา ซึ่งกุศลทุกประเภทสงบ เพราะฉะนั้น จะเจริญสมถะ หรือทำให้จิตสงบอย่างไร ก็คือ ทำกุศลทุกประเภท ขณะที่เป็นกุศล ขณะนั้นสงบ
ถ. ขณะที่เจริญเมตตา จิตเป็นกุศล ขณะที่เกิดโทสะซึ่งตรงกันข้ามกับสภาพที่เป็นกุศล สังเกตเห็นได้ง่าย แต่สภาพที่เป็นกุศลเห็นได้ยาก ใช่ไหม
สุ. ถูกต้อง แต่ทำไมสภาพของกุศลจิตจึงสังเกตได้ยาก เช่น เมตตา และสภาพของอกุศลจิตจึงสังเกตได้ง่าย เพราะอะไร ต้องมีเหตุผล
ถ. เพราะความสั้นของขณะจิต ใช่ไหม
สุ. เพราะว่าอกุศลเกิดมากในวันหนึ่งๆ แต่ก็เป็นข้อที่น่าคิดอีกอย่างหนึ่งว่า ทั้งๆ ที่อกุศลเกิดมากอย่างนี้ ชินกับอกุศล จนไม่รู้ว่าเป็นอกุศลก็ได้ คือ มีหลายเหตุนานาประการ อย่างเช่น คำว่า เมตตา ที่ทุกคนใช้เสมอๆ ว่า แผ่เมตตา หรือว่าเจริญเมตตา ใช้อยู่เสมอใช่ไหม ทำอย่างไร
ถ. ก็ว่าตามคำบาลี
สุ. เมตตาก็กลายเป็นคำพูด ถ้าอาศัยการว่าตามบาลี เพราะฉะนั้น เมตตาก็คือคำพูด ถ้าเป็นอย่างนั้นไม่ถูก
ถ. เมตตาต้องเกี่ยวกับการกระทำหรือ
สุ. ต้องเป็นจิตที่เป็นกุศล
ถ. จิตที่ขอให้คนนั้นสบาย ให้คนนั้นมีความสุข จะเป็นไปได้หรือ
สุ. ทุกคนมีกรรมเป็นของตน แต่ผู้ที่กำลังขอให้คนอื่นเป็นสุข ย่อมไม่เบียดเบียนคนอื่น เพราะว่าขอให้เขาเป็นสุข
ถ. ปัจจัยนี้จะไปส่งเสริมให้เขาเป็นสุขได้ไหม
สุ. ส่งเสริมไม่ได้ แต่ว่าทางอ้อม คือ ไม่เบียดเบียนเขา ข้อสำคัญที่สุด อย่าลืมว่า ธรรมเป็นเรื่องละเอียด จะแผ่เมตตากันก็ดี หรือว่าจะเจริญเมตตากันก็ดี รู้ลักษณะของเมตตาจริงๆ หรือรู้แต่คำ ว่าท่องอย่างนี้แล้วเป็นการแผ่เมตตา แต่ใจจริงๆ ในขณะนั้น มีเมตตาสักนิดหนึ่งหรือเปล่า
ถ. ผมว่าต้องลงมือทำจริงๆ เช่น เห็นเขาอดข้าว เราเอาข้าวให้กินเลย ไม่มีเงินใช้ เราให้เลย
สุ. นี่คือการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน นี่คือสมถภาวนาในชีวิตประจำวัน แต่อย่าลืมว่า เมตตามีลักษณะที่คล้ายหรือใกล้กับโลภะ
ถ. ถ้าอย่างนั้นการปฏิบัติก็มีกุศลมากกว่าที่เราใช้คำภาวนา หรือแผ่เมตตา
สุ. แน่นอน
ถ. ถ้าจิตของเราคิดจะช่วยคนอื่น เราก็ช่วยจริงๆ เลย ไม่ต้องแผ่กุศล
สุ. ขณะนั้นเป็นการกระทำด้วยเมตตา ถ้าเราท่องแต่ว่าไม่ช่วยเลย เป็นอย่างไร ก็เป็นแค่ท่อง และในขณะที่ท่อง ใครจะรู้ถึงจิตที่กำลังพูดคำนั้น
ในที่นี้ทุกคนพูดคำว่า พุทโธ ได้ แต่จะมีใครที่รู้จิตที่กำลังพูดพุทโธว่า เป็นกุศลหรือไม่ใช่กุศล พูดเฉยๆ พูดได้ เด็กเล็กๆ ก็พูดได้ ศาสนาอื่นก็พูดได้ ชาติไหนๆ ก็ พูดได้ แต่จิตที่พูดคำนั้น เป็นกุศลหรืออกุศล จิตเขา จิตเรา ต้องเหมือนกัน อย่าเข้าข้างตัวเองว่า ของเราจะต้องเป็นกุศล ต้องเป็นผู้ตรง เพราะฉะนั้น เมตตามีลักษณะที่ใกล้เคียงกับโลภะ ต้องแยกด้วยสติจึงจะรู้ว่า เป็นเมตตา หรือว่าเป็นโลภะ
พุทธศาสนาสอนให้เจริญปัญญาละเอียดขึ้นๆ จนกว่าจะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงทั้งหมด และละการยึดถือว่าเป็นตัวตน
ถ. ต้องพยายามละทั้งดี ละทั้งชั่ว ละทั้งหมด
สุ. เร็วไป ต้องอบรมเจริญปัญญาก่อน
ถ. สมาธิทำให้เกิดปัญญา หรือปัญญาทำให้เกิดสมาธิ สมาธิกับปัญญาจะเกิดภายในใจพร้อมกันได้ไหม
สุ. สมาธิคืออะไร ปัญญาคืออะไร สมาธิมีกี่ขั้น ปัญญามีกี่ขั้น สมาธิที่เป็นอกุศลมีไหม สมาธิที่เป็นกุศลมีไหม มิจฉาสมาธิมีไหม สัมมาสมาธิมีไหม ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ละเอียด และในเรื่องนี้คิดว่ามีบรรยายไว้แล้ว
ถ. ถ้าเกิดสมาธิจนถึงปฐมฌาน
สุ. ถ้าจะสมมติ ขอเรียนให้ทราบว่า ยากที่ใครจะถึงปฐมฌาน เพราะฉะนั้น สมมติสิ่งที่พอจะเป็นไปได้ดีไหม เช่น สมาธิอย่างไหนใช้ชื่อว่า ขณิกสมาธิ หมายความว่า ชั่วขณะๆ แต่ขณะนั้นกำลังมีอะไรเป็นอารมณ์ คือ ต้องเป็นความละเอียดทุกอย่างก่อนที่จะตอบ เพราะว่าผลต้องตามเหตุ เพราะฉะนั้น ต้องศึกษาเรื่องเหตุจริงๆ ให้เข้าใจว่า เหตุอย่างนั้นจะนำผลชนิดไหนมาให้ แม้แต่สมาธิ ก็ต้องกล่าวว่า สมาธิมีอะไรเป็นอารมณ์
ขอความกรุณาฟังต่อไปอีกได้ไหม เพราะว่าโดยมากคำถามที่ข้องใจทุกข้อจะอยู่ในการบรรยายต่อๆ ไปเรื่อยๆ ซึ่งบางท่านกำลังจะถาม แต่ว่าเมื่อฟังไปๆ ก็มีคำตอบของข้อที่สงสัย เพราะได้บรรยายไว้ทั้งหมดแล้ว
ถ. การนั่งสมาธิแบบไหนจะเป็นกุศล และแบบไหนไม่เป็นกุศล
สุ. สมาธิ คือ ลักษณะที่ตั้งมั่นคงในอารมณ์หนึ่งนานๆ เพราะฉะนั้น จึงมีทั้งมิจฉาสมาธิและสัมมาสมาธิ ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิก็ไม่เป็นกุศล
ถ. มิจฉาสมาธิเป็นอย่างไร
สุ. มิจฉาสมาธิ หมายความถึงการตั้งมั่นในอารมณ์ด้วยโลภะ เป็นสมาธิที่เกิดกับอกุศลจิต
ถ. สมมติว่า เราจดจ้องที่จะฆ่าใคร อย่างนี้ถือเป็นมิจฉาสมาธิไหม
สุ. แน่นอน
ถ. และคำว่า สมาธิเฉยๆ
สุ. เกิดกับจิตทุกขณะอยู่แล้ว
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๑๑๙๑ – ๑๒๐๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1141
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1142
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1143
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1144
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1145
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1146
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1147
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1148
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1149
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1150
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1151
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1152
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1153
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1154
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1155
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1156
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1157
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1158
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1159
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1160
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1161
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1162
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1163
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1164
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1165
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1166
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1167
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1168
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1169
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1170
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1171
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1172
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1173
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1174
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1175
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1176
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1177
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1178
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1179
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1180
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1181
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1182
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1183
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1184
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1185
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1186
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1187
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1188
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1189
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1190
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1191
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1192
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1193
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1194
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1195
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1196
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1197
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1198
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1199
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1200