แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1199


    ครั้งที่ ๑๑๙๙


    สาระสำคัญ

    จิตกับเจตสิก เหมือนกันหรือเปล่า

    เรายึดถือขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรา


    ที่วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่

    วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๒๕


    . จิตกับเจตสิก เหมือนกันหรือเปล่า

    สุ. ไม่เหมือน แต่เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน และเกิดที่เดียวกัน จิตไม่ใช่เจตสิก เพราะว่าจิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ เช่น กำลังเห็น แต่ว่าเจตสิกแต่ละชนิดมีลักษณะและมีกิจหน้าที่เฉพาะอย่างๆ

    เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท เกิดกับจิต ทำให้จิตต่างกันเป็น ๘๙ ชนิด ตามเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย อย่างเช่น โลภะ เป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต เห็นเป็นจิต แต่ชอบในสิ่งที่เห็น ลักษณะอาการที่ชอบเป็นเจตสิก เห็นเป็นเห็น เห็นจะชอบไม่ได้ เพียงเห็นเท่านั้น และเวลาที่จำได้ ลักษณะที่จำเป็นเจตสิก เห็นเป็นอย่างหนึ่ง จำก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง คือ เห็นเป็นจิต จำเป็นเจตสิก

    . เห็นแล้ว ชอบใจ

    สุ. เห็นเป็นจิต ชอบใจเป็นเจตสิก เห็นแล้ว จำได้ จำได้เป็นเจตสิก เห็นเป็นจิต จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้อารมณ์ คือ รู้เท่านั้น ไม่จำ ไม่รู้สึก ไม่โลภ ไม่โกรธ ซึ่งนั่นเป็นลักษณะของเจตสิกแต่ละชนิด

    . สติเกิดขึ้นแล้ว …

    สุ. ถ้าสติเกิด สติเป็นสภาพที่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งขณะนี้มีธรรมหรือ สัจธรรมที่กำลังปรากฏ คือ ของจริง ถ้าแปลคำว่า สัจธรรม ง่ายๆ คือ ของจริง เพราะฉะนั้น เห็น กำลังเห็นในขณะนี้เป็นของจริง ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า สัจธรรม ได้ยินก็เป็นของจริง เสียงก็เป็นของจริง เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิด สติกำลังระลึกได้ ไม่ลืมว่ามีของจริง คือ ลักษณะหนึ่งลักษณะใด ที่สติต้องระลึกตรงลักษณะนั้น มิฉะนั้นจะกว้างมาก เพราะการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ ต้องระลึกทีละอย่าง และศึกษา คือ น้อมพิจารณาจนรู้ชัดในลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ซึ่ง โดยชื่อดิฉันคิดว่า ทุกคนแยกได้ง่าย อย่างเห็นไม่มีรูปร่าง ก็บอกว่าเป็นนามธรรม แต่สิ่งที่ปรากฏทางตา เมื่อปรากฏทางตาก็เป็นรูปจึงปรากฏได้ เพราะฉะนั้น จึงกล่าวตามได้ว่า เห็นเป็นนามธรรม สิ่งที่ปรากฏทางตา คือ สีสันวัณณะเป็นรูปธรรม ในขณะนี้เอง คือ ธรรมต้องเป็นสิ่งที่พิสูจน์ทันทีว่าถูกหรือผิด

    และทางหู เสียงมีจริง เป็นสัจธรรม ได้ยินเสียงเป็นสภาพที่กำลังรู้หรือได้ยินเสียงที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ได้ยินไม่ใช่เสียง แต่เป็นสภาพรู้ จึงเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น โดยความหมายพอจะเข้าใจได้ แต่ที่จะประจักษ์ชัดว่า นามธรรมในขณะที่กำลังได้ยินนี้ต่างกับเสียงที่กำลังปรากฏ คงต้องใช้เวลานานมากที่สติจะเริ่มระลึก ที่ลักษณะของรูปหรือลักษณะของนาม ทีละอย่าง พร้อมกันไม่ได้ และปัญญาจะ ค่อยๆ พิจารณาเพื่อรู้ชัดจริงๆ ว่า ขณะนี้สภาพธรรมใดที่สติกำลังระลึก ลักษณะของรูปหรือลักษณะของนาม ไม่อย่างนั้นก็เป็นตัวตนตลอดไปเรื่อยๆ และไม่มีทางที่จะละการยึดถือว่าเป็นตัวตนเพียงด้วยการคิดว่า ทุกอย่างเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา แต่ทุกอย่างในขณะนี้ ทีละอย่างๆ ที่ปรากฏ จะต้องรู้ชัด โดยไม่ใช่รวมกันเป็นทุกอย่าง

    . ขณะนี้รู้รวมๆ รู้ตามตำราที่อ่าน ความเข้าใจจากที่อ่าน ...

    สุ. นั่นเป็นขั้นการฟัง หรือขั้นเข้าใจ เพราะว่านึกตาม เข้าใจตาม พิจารณาตาม แต่การที่จะรู้จริงๆ แม้แต่คำๆ เดียว หรือทีละคำๆ ที่ผ่าน จะเป็นจากพระไตรปิฎกโดยตรง หรือจากอรรถกถา หรือจากหนังสืออะไรก็ตาม ถ้าเราพิจารณาว่า คำนั้นมีความหมายแค่ไหน อย่างไร ก็จะทำให้เรารู้ว่า เราเริ่มเข้าใจมากหรือน้อยแค่ไหน อย่างคำว่า อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แต่ที่กำลังเห็นเป็นตัวตนหรือเปล่า ก็ยังมีความรู้สึกว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้น รู้ได้แน่เลยว่า ปัญญายังไม่เจริญพอที่จะรู้ชัดว่า เห็นในขณะนี้เป็นอนัตตา

    แต่ก็มีหนทาง ซึ่งจะต้องค่อยๆ เริ่มด้วยการฟังไปเรื่อยๆ จนกระทั่งค่อยๆ เข้าใจขึ้นๆ และสติจะเกิดขึ้นระลึกตามความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เป็นเรื่องที่รีบร้อนไม่ได้เลย แต่เป็นเรื่องที่เพิ่มความเข้าใจขึ้น จนกระทั่งสติเริ่มเกิดระลึกที่ลักษณะของนาม ลักษณะของรูป ซึ่งในตอนแรกๆ จะไม่สามารถรู้ได้ชัด เพียงแต่เข้าใจว่า ต้องมีนามและรูป ๒ อย่างแน่ๆ ในขณะที่เห็น

    . ... เกือบ ๑๐ ปี แล้ว

    สุ. ที่ว่า ๑๐ ปี เป็นระยะเวลาที่ไม่นานเลย เมื่อเปรียบเทียบกับเวลาที่ พระสาวกแต่ละท่านจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นแสนกัป และกัปหนึ่งไม่ใช่ปีเดียว ไม่ใช่ ๑๐ ปี และไม่ใช่หนึ่งชาติ ซึ่งเราเทียบได้กับความเป็นจริงว่า ขณะนี้ทางตากำลัง เกิดดับ สภาพธรรมกำลังเกิดดับ แต่เมื่อยังไม่ประจักษ์ว่าเกิดดับก็แสดงว่า ของเราจะต้องอีกกี่กัป ใช่ไหม

    ของจริงกำลังเกิดดับ ทางตาที่กำลังเห็น ไม่ใช่ขณะที่กำลังได้ยินเสียง เสียงจะปรากฏพร้อมกับสีสันวัณณะในเสียงไม่ได้ หรือในขณะที่กำลังเห็นทางตา เสียงก็ไม่ได้มาพร้อมกันกับสีสันวัณณะที่ปรากฏ เพราะแม้หลับตาเสียงก็ปรากฏได้ เพราะฉะนั้น ในช่วงขณะที่เสียงเท่านั้นปรากฏจะมีเห็นด้วยไม่ได้ ถูกไหม เมื่อยังไม่ประจักษ์ คิดก็แล้วกันว่า อีกกี่กัปจึงจะประจักษ์ แต่ประจักษ์ได้ เหมือนกับพระสาวกที่ท่านได้ประจักษ์มาแล้ว และเมื่อท่านได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ท่านก็ได้แสดงอดีตชาติของท่านว่า แต่ละองค์ๆ ท่านบำเพ็ญบารมีมามาก ทุกชาติๆ โดยแต่ละชาติชีวิตของท่านก็เป็นพ่อค้าวาณิชบ้าง เป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้บ้าง เหมือนชีวิตของแต่ละคนในขณะนี้ ซึ่งต่างกันตามเหตุตามปัจจัย ที่สติจะต้องระลึกรู้ความจริงตามปกติ จนกว่าในขณะนี้ เห็นไม่ใช่ได้ยิน คนละขณะ และกำลังเกิดดับด้วย

    ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลหรือก่อนนั้นอีก ตั้งแต่พระผู้มีพระภาคได้รับพยากรณ์จากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ทีปังกร ก่อนที่จะได้ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ก็ต้องได้เฝ้าได้ฟังพระธรรมจากพระผู้มีพระภาคพระองค์ก่อนๆ ๒๐ กว่าพระองค์

    . ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. มิได้ ไม่มีใครจะสามารถรู้แน่ แต่ว่าทุกคนต้องเป็นผู้ตรง คือ พระอริยะทุกท่าน อุชุปฏิปันโน เป็นผู้ที่ปฏิบัติตรง โดยที่ก่อนอื่นต้องรู้ว่า มีทั้งกุศลและอกุศล แต่ว่าต่างขณะกัน และขณะที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมเลย ก็ต้องเป็นความไม่รู้ ต้องยอมรับความจริงว่า เป็นความไม่รู้ และเมื่อเริ่มฟัง เมื่อเริ่มเข้าใจขึ้น เริ่มรู้ขึ้น ขณะนั้นความไม่รู้ก็ค่อยๆ ลดไปทีละนิดๆ จริงๆ

    . ปฏิบัตินี้ได้อะไร

    สุ. ได้ความเข้าใจถูก เริ่มเข้าใจขึ้น เพราะว่าปัญญาที่สมบูรณ์ถึงขั้นวิปัสสนาญาณที่จะเป็นโลกุตตรปัญญาได้ ก่อนจะเติบโตได้ถึงขั้นนั้น ต้องเริ่มจากความเข้าใจถูกขั้นการฟัง เพราะถ้าไม่ฟังจะไม่รู้ว่า โลกุตตรปัญญารู้อะไร และก่อน โลกุตตรปัญญารู้อะไร และขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏอยู่ ปัญญารู้ได้ไหม

    ขณะนี้ที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน ปัญญารู้ได้ไหม ถ้าเป็นอวิชชารู้ไม่ได้แน่ เพราะผู้ที่ฟังพระธรรมที่ทรงแสดงด้วยพระองค์เอง บางท่านขณะที่กำลังฟังนั้นเองเป็นพระอรหันต์ บางท่านเป็นพระอนาคามี บางท่านเป็นพระสกทาคามี บางท่านเป็น พระโสดาบัน บางท่านไม่เป็นอะไรเลย ซึ่งแต่ละท่านก็ตรงตามความเป็นจริงว่า ผู้ที่ยังไม่รู้ความเกิดดับ จะไปหลอกตัวเองว่ารู้แล้วไม่ได้ และผู้ที่สามารถประจักษ์ความเกิดดับและดับกิเลส ผู้นั้นก็รู้ตามความเป็นจริงว่า หมดความสงสัยในความเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมแล้ว เพราะฉะนั้น เป็นผู้ตรงต่อตัวเอง ขณะนี้ใครฟังเข้าใจ ขณะนี้สติใครระลึก ขณะนี้ความรู้ชัดสำหรับใครมี ก็เป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละบุคคล

    . ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. ไม่สุดวิสัย สามารถจะเป็นได้ แต่ต้องเป็นผู้ตรงว่า ขณะนี้รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏหรือเปล่า ทางตาที่กำลังเห็น สติระลึกอย่างไร รู้อย่างไร ประจักษ์ความเกิดดับอย่างไร ถ้ายังไม่รู้ ก็เป็นความไม่รู้ และขณะที่กำลังฟังค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็รู้ว่า เป็นความเข้าใจซึ่งกำลังมีจากที่ไม่เคยเข้าใจเลย ตามความเป็นจริงทุกอย่าง

    เพราะฉะนั้น พระโสดาบันไม่เข้าใจผิดว่า ตัวเองเป็นพระสกทาคามี ไม่หลอกตัวเอง และไม่หลอกคนอื่นด้วย

    . ได้พระโสดาบัน จะรู้ได้อย่างไร

    สุ. ปัญญารู้ ยังไม่ต้องถึงพระโสดาบัน เพียงแต่ก่อนที่สติจะเกิดหลงลืมสติก็รู้ ขณะที่สติเกิดไม่ใช่ขณะที่หลงลืมสติก็รู้ ขณะที่สติกำลังระลึกทางตาก็รู้ว่า กำลังรู้ลักษณะของรูป หรือกำลังรู้ลักษณะของนาม ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ขณะที่สติเกิดต้องต่างกับขณะที่หลงลืมสติ

    . เรื่องฝัน เอาอะไรไปฝันเป็นเรื่องเป็นราว

    สุ. คิด

    . นอนหลับแล้วยังคิดหรือ

    สุ. แน่นอนที่สุด

    . มีคนไล่ฆ่า หรือหมาไล่กัด เวลาตกใจตื่นขึ้นมา เหนื่อย

    สุ. เหนื่อย เพราะว่าคิดเรื่องที่เราเหนื่อย ถ้าคิดเรื่องที่ไม่เหนื่อย กำลังสบายๆ กำลังอร่อย ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งไม่เหนื่อย เพราะฉะนั้น บางคนเหนื่อย เพราะว่าคิดเรื่องที่เหนื่อย เวลาอยู่เฉยๆ บางคนก็ยิ้ม ทำไมยิ้ม ก็คิดถึงเรื่องที่สนุกๆ ก็ยิ้ม หรือบางทีก็หัวเราะ เพราะว่าคิดเรื่องนั้น ไม่ได้คิดเรื่องอื่น

    . เรื่องฝัน บางทีก็แม่น บางทีก็ไม่แม่น บางทีก็ไม่ได้เรื่อง

    สุ. แม่นก็แม่น ไม่แม่นก็ไม่แม่น ก็ช่างเถอะ ทิ้งไปดีไหม เพราะว่าบางครั้งก็เป็นอย่างนั้น บางครั้งก็เป็นอย่างนี้ เป็นเรื่องธรรมดา ให้เห็นว่า ธรรมคือธรรมดา เพื่อที่จะไม่ติด

    . อะไรเป็นเหตุปัจจัยให้ฝัน

    ส. ถ้าเคยเห็นอะไร เคยรู้สึกอย่างไรในสิ่งที่เคยเห็น ความผูกพัน ความเกาะเกี่ยว สัญญา ความทรงจำก็ปรุงแต่ง โดยที่ไม่รู้สึกตัวเลยว่า กำลังเอาเรื่องทั้งหลายมารวมกัน จนกระทั่งเป็นความฝันขึ้น

    . ขันธ์ ๕ คือ รูปธรรมและนามธรรมอยู่ในตัวเรา อยากทราบว่า ตัวเราที่แท้จริงคืออะไร

    สุ. คือ ขันธ์ ๕ เรายึดถือขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรา ถ้าไม่มีสักขันธ์เดียว จะยึดถืออะไรว่าเป็นเรา แต่เพราะมีขันธ์ ๕ ขันธ์ ก็ยึดขันธ์ทุกขันธ์ว่าเป็นเรา ซึ่งความจริงไม่ใช่เรา ความเห็นผิดที่เกิดขึ้น ยึดถือทุกขันธ์ว่าเป็นเรา ทั้งๆ ที่เป็นขันธ์ ๕

    ถ. ขันธ์ของเรา

    สุ. ความจริงไม่ใช่เรา แต่มีความยึดถือว่าเป็นเรา

    . ถ้าไม่ยึดว่าเป็นเรา

    สุ. ถ้าดับความเห็นผิด ความเป็นเราก็ไม่มี เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องยอมรับว่า มีความเห็นผิด ถ้าไม่มีความเห็นผิด ไม่ต้องฟังพระธรรม เพราะเห็นถูกแล้ว แต่ที่ต้องฟัง ...

    (มีผู้ถามแทรกขึ้นมา)

    . ตัวเราแท้จริงคืออะไรแน่

    สุ. ก็คือ เห็น และไม่รู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไปแล้ว ได้ยินก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและก็ดับไปอีก เมื่อไม่รู้อย่างนี้จึงคิดว่ามีเรา โดยที่ไม่รู้จะไปหาเราที่ไหน แต่ก็ยังคิดว่ามีเราอยู่

    . ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. ปีหนึ่งยังน้อยมาก เมื่อเทียบกับแสนกัป และอย่าคิดว่ามากมาย นิดเดียวจริงๆ ยังไม่พอที่จะแกะความเห็นผิดออกไป เพียงแค่ปีเดียว

    . คนเราตายเข้าโลงแล้ว มีอะไรเหลือไปรับวิบากกรรม

    สุ. ขณะนี้เรากำลังรับวิบากกรรมหรือเปล่า เพื่อที่จะทราบว่าหลังจากนั้นจะต้องรับวิบากกรรมหรือเปล่า เพราะว่าธรรมที่เป็นอดีต คือ สิ่งที่ผ่านไปแล้ว ที่กำลังเป็นปัจจุบัน คือ ที่ยังไม่ดับไป และที่เป็นอนาคต คือ ที่กำลังจะเกิด

    อดีตก็ดับไปแล้ว จะรู้ได้อย่างไร อนาคตก็ยังมาไม่ถึง จะรู้จริงได้อย่างไร เพราะฉะนั้น การที่จะรู้จริง ต้องรู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ และจะหมดความสงสัยในอดีตและอนาคต เพราะว่าเมื่อครู่นี้ก็อดีต และเรารับวิบากกรรมหรือเปล่าเมื่อครู่นี้ ถ้ารู้ว่ารับ เมื่อครู่นี้ก็หมดแล้ว ขณะนี้กำลังรับวิบากกรรมอยู่อีกหรือเปล่า ถ้ารู้ว่ากำลังรับวิบากกรรม เพราะฉะนั้น เมื่อครู่นี้ก็รับวิบากกรรม เดี๋ยวนี้ก็รับวิบากกรรม ต่อไป ก็ต้องรับวิบากกรรม

    . ... (ได้ยินไม่ชัด)

    ส. ยังไม่ตาย ขณะนี้ต้องรู้ก่อนว่า อะไรรับวิบากกรรม จึงจะรู้ว่า เมื่อตายแล้วอะไรรับวิบากกรรม เดี๋ยวนี้อะไรรับวิบากกรรม

    . ขันธ์ ๕ ของเรา

    สุ. วิบากกรรมขณะนี้ คือ กำลังเห็น หลีกเลี่ยงที่จะไม่เห็นไม่ได้ ทุกคนอยากจะเห็นสิ่งที่ดี แต่แล้วแต่กรรมจะให้เห็นอะไร กรรมทำให้เกิดโสตปสาท รูปที่ใส ควรแก่การได้รับกระทบเฉพาะเสียง หลีกเลี่ยงไม่ให้ได้ยินไม่ได้เลย แล้วแต่ว่า วันหนึ่งๆ กรรมอะไรจะให้ได้ยินเสียงอะไร เสียงหนึ่งไม่อยากได้ยินเลย แต่ก็ช่วยไม่ได้ ได้ยินแล้ว ทุกคนอยากได้ยินเสียงดีๆ แต่ก็ต้องแล้วแต่กรรม เมื่อมีโสตปสาท กรรมก็ทำให้ได้ยินเสียงที่แล้วแต่จะเป็นผลของกรรมใด ฉันใด ไม่สิ้นสุด เมื่อวานนี้ก็เห็น เมื่อวานนี้ก็ได้ยิน เมื่อวานนี้ก็ได้กลิ่น เมื่อวานนี้ก็ลิ้มรส วันนี้ก็ยังเห็นอีก คือ รับผลของกรรมอีก ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง

    เพราะฉะนั้น การรับผลของกรรม จะไม่พ้นจากทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายกระทบสัมผัส วันแล้ววันเล่า ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ และพรุ่งนี้ ก็จะรับผลของกรรมอย่างนี้

    และเวลาที่ตาย คือ ชาตินี้สิ้นสุดลง จะเห็นอีกไหม ก็เหมือนกับเมื่อวานนี้ ตายไปแล้วเมื่อวานนี้ ไม่กลับมาเกิดอีกแน่ๆ แต่ว่ามีวันนี้ และวันนี้ก็จะตายไปอีก จะมีพรุ่งนี้อีก ก็จะมีการเห็นอีก เพราะฉะนั้น การตาย คือ การพ้นจากสภาพของความเป็นบุคคลนี้ เป็นเพียงสมมติมรณะ ยังไม่ใช่สมุจเฉท เพราะว่ายังมีปัจจัยให้มีการเกิดสืบต่อจากการตาย และเมื่อเกิดแล้วก็ต้องเห็นอีก ได้ยินอีก เรื่อยๆ ไป

    ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้วไม่เกิด แต่ตราบใดที่ยังไม่หมดอวิชชาก็ยังต้องเกิด พระอนาคามียังต้องเกิด เพราะยังไม่หมดอวิชชา แต่พระอรหันต์ไม่มีอวิชชา เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ไม่เกิดอีก

    . ปัญหาอยู่ว่า ตายเข้าโลงแล้ว มีอะไร ...

    สุ. มีรูป ถ้าไม่มีรูป เราก็ไม่มีอะไรอยู่ในโลง

    ถ. ถ้าเผาเสร็จแล้ว

    สุ. ถ้าเผาเสร็จแล้ว ก็ต้องหาว่า ส่วนไหนไปอยู่ที่ไหน จะเอาไว้วัดไหน แต่ข้อสำคัญที่สุด เวลาตายแล้ว ทำไมเรียกว่า ตาย ทำไมเดี๋ยวนี้ไม่เรียกว่า ตาย ทั้งๆ ที่จิตก็เกิดดับ รูปก็เกิดดับ ทำไมตอนนั้นเรียกว่า ตาย มีอะไรที่ต่างกันระหว่างตอนนี้กับตอนนั้น ในเมื่อสภาพธรรมเกิดดับทุกขณะเป็นปกติ จะไม่มีสภาพธรรมใดเลยซึ่งเกิดแล้วไม่ดับ

    . ส่วนมากบอกว่า วิญญาณออกจากร่าง วิญญาณไปปฏิสนธิ ถ้ามีวิญญาณอย่างนี้ก็เป็นสัสสตทิฏฐิ

    สุ. ถ้าจะยอมรับความคิดเห็นหนึ่งความคิดเห็นใดโดยง่าย โดยไม่สอบสวนให้เข้าใจ เราจะไม่มีวันเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ แม้แต่คำว่า วิญญาณ คืออะไร ต้องรู้ก่อน กำลังเห็นเป็นวิญญาณหรือเปล่า

    . เป็น

    สุ. กำลังได้ยินเป็นวิญญาณหรือเปล่า

    . เป็น

    สุ. เพราะฉะนั้น วิญญาณต้องมีในขณะที่กำลังมีชีวิตอยู่ ใช่ไหม เมื่อพ้นจากสภาพความเป็นบุคคลนี้แล้ว ถ้าไม่ใช่พระอรหันต์ จะมีการเกิดของวิญญาณอีกไหม



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๑๑๙๑ – ๑๒๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 86
    10 ก.พ. 2566