แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1200
ครั้งที่ ๑๒๐๐
สาระสำคัญ
สภาพธรรมเกิดขึ้นปรากฏทีละขณะ ทีละทาง
ทรงแสดงธรรมให้เข้าใจชัดเจนจริงๆ (ไม่มีวิธีอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะทำ)
“ภาวนา” หมายถึงการอบรม
การอบรมเจริญปัญญา ด้วยการฟังให้เข้าใจ
ที่วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่
วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๒๕
สุ. เวลาเห็นนี่ บอกว่าเห็นผี ใช่ไหม แต่เห็นวิญญาณ เห็นได้ไหม
ถ. ผมเห็นผีจริงๆ
สุ. แต่ดิฉันเรียนถามว่า ที่ว่าเห็นผีนั้น เห็นใช่ไหม ผี แต่วิญญาณเห็นได้ไหม ต้องแยกแล้ว เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏให้เห็น เห็นได้ แต่สิ่งที่ไม่ปรากฏให้เห็น ใครจะเห็นได้ เช่น เสียง ใครเห็นเสียง เพราะฉะนั้น สิ่งใดก็ตามที่ปรากฏให้เห็น จะเรียกว่าผี จะเรียกว่าไม่ใช่ผี จะเรียกว่าคน หรือจะเรียกว่าอะไรก็ตาม โดย สภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เท่านั้นเอง จะเรียกว่าผี หรือไม่เรียกว่าผี ก็คือสิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าไม่ปรากฏทางตา จะกล่าวว่าเห็นผีได้ไหม เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะอะไรก็ตามที่ปรากฏทางตาแล้ว เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งแล้วแต่จะตรึกนึกคิดว่าอะไร แต่สิ่งนั้น คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น
ถ. ผมสงสัยเรื่องรูปเรื่องนาม เป็นอย่างไร
สุ. เป็นคำถามที่น่าสนใจมาก เพราะแม้ขณะนี้ก็ต้องมีนามและต้องมีรูปแน่นอน
ถ. คือ ผมมองดูทุกอย่างเป็นรูปเป็นนามหมด อยากทราบวิธีแยกรูป แยกนาม จะแยกกันอย่างไร
สุ. ที่จริงนามกับรูปมีแล้ว กำลังปรากฏ แต่ยังไม่รู้เท่านั้นเอง ถูกไหม หรือไม่ก็เพียงแต่รู้ชื่อ
ถ. แต่ที่ผมเห็นอยู่เวลานี้ ก็เห็นเป็นนาม และเห็นเป็นรูป อย่างผมมองดูท่านอาจารย์เดี๋ยวนี้ ก็เห็นว่าท่านเป็นรูป เป็นท่านอาจารย์สุจินต์นั่งอยู่ แต่ผมอยากจะมองให้ซึ้งลงไปว่า อาจารย์สุจินต์เป็นนามอย่างไร เป็นรูปอย่างไร
สุ. ถ้าเห็นเป็นคนกำลังนั่งอยู่ จะเป็นใครก็ตาม ยังไม่ชื่อว่า เห็นรูปตามความเป็นจริง เพราะว่าเห็นเป็นอัตตา ไม่ใช่เห็นสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ตามที่ทรงแสดงไว้ว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นเป็นคนเป็นอัตตา ไม่ใช่อนัตตา ถ้าเห็นเป็นถ้วยแก้วก็เป็นอัตตา ไม่ใช่เป็นอนัตตา
การที่จะรู้ว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาเป็นอนัตตา เป็นสภาพธรรมที่ มีจริง สภาพธรรมที่ปรากฏทางหูก็เป็นอนัตตา สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางจมูกก็เป็นอนัตตา สภาพธรรมที่ปรากฏทางลิ้น ในชีวิตประจำวัน ซึ่งท่านก็เพิ่งจะบริโภคอาหารเสร็จ ก็เป็นอนัตตา และที่จะบริโภคอาหารลิ้มรสต่อไปก็เป็นอนัตตา แม้ในขณะนี้เองที่กำลังกระทบสัมผัสและมีลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อนปรากฏ ก็เป็นอนัตตา ขณะที่กำลังคิดนึกในขณะนี้ก็เป็นอนัตตา ขั้นความเข้าใจ สามารถที่จะเข้าใจได้โดยชื่อว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่เป็นความเข้าใจเพียงขั้นการพิจารณา ยังไม่ได้แยกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตาแต่ละทางออกจริงๆ
เพราะฉะนั้น ทุกคนก็เข้าใจว่า มีโลกรวมกันหมด คือ แต่ละคนมีตาสำหรับเห็น มีหูซึ่งทำให้เกิดการได้ยิน มีจมูกซึ่งทำให้ได้กลิ่น และมีโลกของรสปรากฏ โลกของเย็นร้อนอ่อนแข็งปรากฏ รวมกันหมด เร็วมาก ยังไม่ได้แยกออกเป็นแต่ละส่วน ถ้าแยกออกเป็นแต่ละส่วนจริงๆ จึงจะไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน แต่เมื่อรวมกัน เห็นยังไม่ทันหมดก็ได้ยิน และยังคิดนึกเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ จึงทำให้รู้สึกเหมือนกับว่า เป็นตัวคนซึ่งมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สำหรับเห็นสิ่งต่างๆ ได้ยินเสียงต่างๆ เป็นต้น
แต่ถ้าแยกออกเป็นแต่ละขณะจริงๆ เช่น ในขณะที่เห็น ไม่ใช่ในขณะที่ได้ยิน คือ ต้องเริ่มพิจารณาด้วยความเข้าใจก่อนแต่ละทางจึงจะรู้ว่า ลักษณะของนามและรูปแต่ละทางต่างกันอย่างไร ซึ่งรวมกันทั้งหมดเป็นอัตตา ถ้าไม่แยกจะไม่ประจักษ์แจ้งสภาพการเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละทวาร ก็ยังเห็นรวมกันว่า เป็นบุคคลนั้น เป็นสิ่งนี้
เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นควรที่จะเข้าใจชัดเจนว่า สภาพธรรมเกิดขึ้นปรากฏ ทีละขณะ ทีละทางหรือทีละทวาร และทีละอย่างด้วย ซึ่งยากที่จะเห็นจริง เพราะว่าในขณะนี้ก็ดูเหมือนว่า ทั้งเห็นด้วย ทั้งได้ยินด้วย ทั้งคิดนึกด้วย
ถ. เราจะเห็นทีละสิ่ง ทีละอย่าง จะแยกอย่างไร เวลานี้ผมเห็นท่านไปหมด อย่างหู จมูก ตา ผมเห็นท่านไปหมด ตลอดทั้งเสียง ผมจะมีวิธีแยกอย่างไรให้เห็น ทีละอย่าง
สุ. ถ้าดูในพระไตรปิฎก เวลาที่มีผู้ต้องการฟังพระธรรม และไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค จะเห็นได้ว่า ข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกับบุคคลนั้น เป็นเรื่องของตา เป็นเรื่องของหู เป็นเรื่องของจมูก เป็นเรื่องของลิ้น เป็นเรื่องของกาย เป็นเรื่องของใจ พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงวิธีหนึ่งวิธีใดว่า ต้องทำอย่างนี้ กลับไปต้องไปนั่งทำอย่างหนึ่งอย่างใด แต่ทรงแสดงธรรมให้เข้าใจ เพื่อให้บุคคลนั้นเกิดระลึก คือ สติปัฏฐาน รู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามที่ได้ทรงแสดงให้เข้าใจ แต่ไม่ได้ทรงสั่งให้บุคคลนั้นไปเดิน หรือไปนั่งเป็นชั่วโมงๆ
ข้อความในพระไตรปิฎกทั้งหมด จะไม่พ้นจากการทรงแสดงธรรมเรื่องของตา ให้เข้าใจชัดเจนจริงๆ อย่าคิดว่า ขณะนี้เข้าใจแล้ว คือ เห็น เพราะว่าทุกคนเกิดมา มีตาย่อมเห็น แต่ไม่ได้หมายความว่า รู้จักสภาพธรรมที่เห็นและสิ่งที่ปรากฏทางตาตามความเป็นจริง เพียงเห็น เป็นของธรรมดา และไม่มีวิธีว่า ต้องทำอย่างนี้จึงจะให้เห็นเป็นอย่างอื่น แต่จะต้องเข้าใจเรื่องของการเห็นโดยพิจารณาจริงๆ เพื่อให้สติระลึกได้ว่า ที่กำลังเห็นขณะนี้ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องการเห็น ทรงแสดงว่าอย่างไร
ในขณะที่กำลังได้ยินอย่างนี้ ในพระไตรปิฎก ข้อความโดยตรงที่พระผู้มีพระภาคตรัสโดยละเอียด ทรงแสดงเรื่องของการได้ยิน ซึ่งแม้คนในครั้งนั้นก็ได้ยิน คนในครั้งนี้ก็กำลังได้ยินเหมือนคนในครั้งโน้น และไม่ว่าอีกกี่กัปต่อไปก็จะมีการได้ยินอย่างนี้เกิดขึ้น แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของการได้ยินให้เกิดความเข้าใจ จริงๆ ในสภาพธรรมที่ได้ยิน เพื่อสติของบุคคลนั้นจะไม่หลงลืมที่จะเกิดขึ้นระลึกว่า พระธรรมที่ทรงแสดงเรื่องการได้ยินนั้น ทรงแสดงว่าอย่างไร และเป็นความจริงอย่างไร
เพราะฉะนั้น ไม่มีวิธีอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะทำ นอกจากตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า สภาพธรรมทั้งหลายแต่ละขณะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เมื่อมีความรู้ มีความเข้าใจในเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพิ่มขึ้น …
(มีผู้ถามแทรกขึ้นมา)
ถ. เราจะต้องมองดูทุกอย่างให้เหมือนกันหมด อย่างนั้นใช่ไหม
สุ. ไม่มีคำว่า ต้อง หรือทำอะไร แต่เข้าใจเรื่องของตาพอหรือยัง เข้าใจเรื่องของหูชัดเจนถูกต้องหรือยังในสภาพที่เป็นอนัตตา ยังไม่ต้องไปทำอะไร ไม่มีใครไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วทูลถามว่า จะให้เขาทำอะไร ใช่ไหม แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้เกิดความเข้าใจก่อน ถ้าคนนั้นยังไม่เข้าใจ ไม่มีทางที่จะทำอะไรได้ เพราะฉะนั้น ในพระไตรปิฎก ไม่ว่าจะในพระวินัยปิฎก ในพระสุตตันตปิฎก หรือในพระอภิธรรมปิฎก จะไม่พ้นจากข้อความที่ทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพียง ๖ ทางเท่านั้น ไม่ว่าในโลกนี้หรือในโลกไหน แต่ว่าเข้าใจดีจริงๆ หรือยัง ในสภาพธรรมเพียง ๖ ทางนี้
ถ้ายังไม่เข้าใจจริงๆ ในเรื่องสภาพธรรม ๖ ทางนี้ อย่าได้ไปถามใครว่า จะให้ทำอะไร เพราะไม่มีประโยชน์ เพราะไม่ใช่ความเข้าใจของท่านที่จะปฏิบัติเอง แต่ต้องเป็นการปฏิบัติเมื่อมีความเข้าใจแล้ว ไม่ใช่ยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย ยังไม่เข้าใจอะไรเลย ก็จะทำ ซึ่งย่อมผิด และไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย
เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจขณะที่กำลังเห็นขณะนี้ โดยละเอียดขึ้น ยังไม่ต้องคิดว่า จะทำอย่างไร
ถ. คำว่า เข้าใจ หมายความว่าอะไร
สุ. ขณะนี้ การเห็นเป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม เพราะว่าเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ไม่ใช่รูปธรรม ฟังดูคล้ายๆ กับว่า ไม่ยาก สภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ในขณะที่กำลังเห็น แต่ก่อนที่จะได้ฟังอย่างนี้ เมื่อเห็นแล้ว จะสนใจในสิ่งที่กำลังปรากฏโดยลืมรู้ความจริงว่า ขณะนี้เป็นเพียงขณะที่รู้ คือ เห็นสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งเป็นสภาพของสังขารธรรม เมื่อเกิดแล้วต้องดับทันที เพราะฉะนั้น ยังมีความไม่รู้อีกมากในขณะที่กำลังเห็น
แม้พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงว่า สังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง คือ เกิดขึ้นและดับไป เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังเห็น ต้องเกิดขึ้นเห็นแล้วดับ นี่จึงจะเป็นการรู้สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริงและประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน แต่เมื่อ ยังไม่ประจักษ์ความเกิดดับ จึงเป็นเราเห็น และสิ่งที่กำลังถูกเห็น กำลังปรากฏ ก็ไม่ปรากฏว่าเกิดดับ เพราะฉะนั้น จึงยังคงเป็นสิ่งที่เที่ยง ทุกคนยังนั่งอยู่ในที่นี้ เห็นก็ ไม่ดับ สิ่งที่ปรากฏให้เห็นก็ไม่ดับ จึงยังจะต้องอบรมเจริญปัญญาด้วยการฟัง พร้อมสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง จึงจะเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ถ. การอบรมปัญญา ... ภาวนามยปัญญา ...
สุ. ภาวนา หมายความถึงการอบรม คล้ายๆ กับการเปลี่ยนนิสัย ยาก หรือง่าย วันหนึ่งเปลี่ยนได้ทันทีหรือเปล่า เดือนหนึ่งเปลี่ยนได้ทันทีหรือเปล่า ปีหนึ่งจะเปลี่ยนได้หรือเปล่าก็ยังไม่ทราบ บางคนตลอดชีวิตอาจจะเปลี่ยนไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น นิสัยเดิมซึ่งมีความไม่รู้เป็นเหตุ จึงทำให้ยึดถือสภาพธรรมเป็นตัวตน เป็นสิ่งที่เที่ยง ซึ่งเป็นนิสัยที่ผิดที่ถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ความจำก็จำผิด คือ เป็นอัตตสัญญาและนิจจสัญญา เพราะฉะนั้น กว่าจะเปลี่ยนจากนิสัยซึ่งกำลังเห็นคน เห็นสัตว์ เป็นเพียงเห็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเท่านั้นขณะหนึ่งและก็ดับไป และในขณะที่กำลังได้ยินเสียง ถ้าจะพิจารณาจริงๆ ขณะที่กำลังได้ยินเฉพาะเสียง ขณะนั้นไม่ได้คิดนึก ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่แข็งหรืออ่อน ไม่มีการเห็นสิ่งต่างๆ เป็นสัตว์บุคคลกำลังนั่งอยู่ในเสียงที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้น สภาพธรรมเกิดดับสืบต่อกันเร็วมาก จึงทำให้ไม่ประจักษ์แจ้งว่า สภาพธรรมหนึ่งเกิดและดับ และสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งจึงเกิดต่อ
ความหมายของภาวนา ไม่ใช่ให้ไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่หมายความถึง อบรมเจริญ เปลี่ยนจากความไม่รู้สู่ความรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทีละเล็ก ทีละน้อยๆ จนสามารถเปลี่ยนจากความเป็นปุถุชนผู้มีอัตตสัญญา คือ สัญญาความจำสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด และนิจจสัญญา คือ สัญญาว่าทุกอย่างไม่ได้ดับไปยังคงปรากฏอยู่ เป็นสัญญาที่ถูกต้อง คือ อนัตตสัญญาและอนิจจสัญญา ตามความเป็นจริง ซึ่งต้องใช้กาลเวลา จึงจะชื่อว่าเป็นการอบรม
แต่ไม่ทราบว่า จะอดทนพอไหม ที่จะอบรมด้วยการฟังให้เข้าใจซึ่งเป็นปัญญาขั้นต้น ก่อนที่คิดจะทำอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยความไม่รู้อะไรเลยและหวังว่า เมื่อทำแล้วจะรู้ ซึ่งนั่นเป็นความหวังที่ปราศจากเหตุที่ถูกต้อง เพราะความรู้ชัดที่จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความรู้ที่ค่อยๆ เจริญขึ้นตั้งแต่ต้น คือ ขั้นความเข้าใจก่อน แต่ถ้าไม่เคย ได้ยินได้ฟังเลย จะมีความเข้าใจในเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ทันทีที่เกิดขึ้นทำกิจเห็นและก็ดับ ทันทีที่เกิดขึ้นทำกิจ ได้ยินและก็ดับ ก็คงจะไม่มีใครสามารถที่จะนึกเองพิจารณาเองได้
เพราะฉะนั้น ขั้นต้นของการเจริญภาวนา คือ การอบรมเจริญปัญญาด้วยการฟัง ถ้าฟังแล้วยังไม่เข้าใจ ไม่ชื่อว่าปัญญา ฟังครั้งที่ ๑๐๐๐ ยังไม่เข้าใจ จะชื่อว่า ปัญญาได้ไหม จะถือโดยจำนวนครั้งไม่ได้
ถ้าฟังเพียง ๒ – ๓ ครั้ง และเกิดความเข้าใจ ในขณะนั้นที่เข้าใจ ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง คือ ปัญญาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่สามารถไตร่ตรองพิจารณาเข้าใจในเหตุผลได้ ซึ่งถ้าปัญญาขั้นนี้ไม่มี การอบรมเจริญปัญญาจะมีไม่ได้เลย หรือว่าการจะไปปฏิบัติหรือไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็เป็นไปไม่ได้
เพราะฉะนั้น ที่จะตรวจสอบตัวเองได้ คือ มีความเข้าใจในลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้นพอที่สติจะเกิดระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้น ได้ไหม ถ้ายังไม่ได้ ก็ต้องฟังอีก เพราะบางท่านกล่าวว่า ท่านปฏิบัติมาแล้ว และท่านพอที่จะรู้ว่า ธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นอนัตตา จึงได้เรียนถามท่านว่า ขณะที่กำลังเห็นขณะนี้เอง ลักษณะของนามธรรมเป็นอย่างไร ลักษณะของรูปธรรมเป็นอย่างไร ท่านตอบไม่ได้ เพราะท่านไม่เคยพิจารณาในขณะที่กำลังเห็นตามปกติเลย เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่ปัญญาที่สามารถจะประจักษ์แจ้งแทงตลอดในสังขารธรรมซึ่งกำลังเกิดดับ และถ้าไม่ประจักษ์แจ้งในความเกิดดับของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับขณะนี้ จะละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลไม่ได้ เป็นพระอริยสาวกไม่ได้
ถ. มีวิธีอย่างหนึ่งอย่างใดไหม ที่จะทำให้ปัญญาเกิดขึ้น
สุ. ขณะที่กำลังฟัง ปัญญารู้อะไร ถ้าปัญญาไม่รู้อะไร ก็อย่าเสียเวลาทำ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๑๑๙๑ – ๑๒๐๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1141
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1142
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1143
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1144
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1145
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1146
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1147
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1148
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1149
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1150
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1151
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1152
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1153
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1154
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1155
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1156
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1157
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1158
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1159
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1160
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1161
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1162
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1163
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1164
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1165
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1166
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1167
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1168
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1169
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1170
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1171
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1172
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1173
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1174
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1175
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1176
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1177
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1178
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1179
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1180
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1181
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1182
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1183
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1184
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1185
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1186
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1187
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1188
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1189
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1190
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1191
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1192
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1193
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1194
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1195
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1196
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1197
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1198
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1199
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1200