แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1148
ครั้งที่ ๑๑๔๘
สาระสำคัญ
เรื่องของอาหารปัจจัย โอชะเป็นรูปหนึ่งซึ่งรวมอยู่ในรูป ๘ รูป
สุมังคลวิลาสินี.อถ.วรรณาสามัญผลสูตร - การบริโภคกพฬิงการาหาร
ปัญญารู้ลักษณะของธาตุที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน
จิตไม่ได้สั่ง
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๒๕
อย่างในคำข้าวคำหนึ่ง โอชาเป็นรูปๆ หนึ่งซึ่งรวมอยู่ในธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส คือ เป็นรูปซึ่งรวมอยู่ในรูป ๘ รูป แต่ถ้าจะบริโภคเพียงโอชาเท่านั้น จะไม่สามารถบรรเทาความกระวนกระวายได้ คือ ยังต้องหิว และถ้าจะบริโภคอาหารมากแต่โอชาน้อย ร่างกายก็ได้ประโยชน์น้อย เพราะฉะนั้น การบริโภคทั้งสอง คือ ทั้งโอชาและวัตถุ จะทำให้สามารถบรรเทาความกระวนกระวาย คือความหิวได้ด้วย และรักษาชีวิตได้ด้วย
ถ. อาหารของเทวดาเป็นสุทธาโภชน์ ไม่มีกาก จะชื่อว่าอาหารเป็นคำๆ มีแต่โอชาเพียงอย่างเดียวได้ไหม
สุ. มีรูปอื่นรวมอยู่ด้วย ไม่ใช่มีแต่เพียงโอชารูปๆ เดียว แต่เพราะเป็นเทพ เพราะฉะนั้น รูปจึงละเอียดกว่ากพฬิงการาหารของมนุษย์
ท่านที่สนใจในเรื่องของเทวโลก พรหมโลกต่างๆ คงจะต้องเปิดตำราเรื่องเหล่านั้นโดยเฉพาะจริงๆ แต่ถึงจะเปิด ก็ไม่ใช่ว่าจะทำให้ท่านหมดความสงสัย ตราบใดที่ยังไม่ได้อยู่ในภูมินั้น ยังไม่ได้บริโภคอย่างนั้น ยังไม่ได้ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ จริงๆ
การที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของอาหารปัจจัย คือ กพฬิงการาหาร เรื่องของการบริโภคในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่โดยที่ไม่เป็นประโยชน์เลย เพราะเรื่องของการบริโภคเป็นชีวิตประจำวัน เป็นนามธรรมและรูปธรรมซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ว่าจะเป็นในขณะใดทั้งสิ้น ในขณะที่กำลังฟัง สติที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมก็พิจารณาเพื่อให้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ลักษณะสภาพนั้น เป็นนามธรรม ไม่ใช่ตัวตน ลักษณะนั้นเป็นรูปธรรม ไม่ใช่ตัวตน นี่คือในขณะที่กำลังฟังธรรม
และในชีวิตประจำวันก็มีการบริโภคอาหาร ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อทรงแสดงเรื่องของกพฬิงการาหาร การบริโภคอาหารเป็นคำๆ ก็ควรที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามที่ได้ทรงแสดงไว้ด้วย ซึ่งท่านผู้ฟังต้องอาศัยความเข้าใจเรื่องของการเป็นผู้มีปกติเจริญ สติปัฏฐาน ความเข้าใจเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม และความเข้าใจเรื่องของปัจจัย เพื่อจะได้พิจารณาได้ประโยชน์จากการที่ทรงแสดงเรื่องของการบริโภคกพฬิงการาหาร
สุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกาย วรรณาสามัญญผลสูตร มีข้อความเกี่ยวกับการบริโภคว่า
ในภายในร่างกายนี้ จะได้ชื่อว่ามีตัวตนอะไรบริโภคอาหารก็หาไม่ เป็นแต่โดยความผลักดัน หรือซ่านไปแห่งวาโยธาตุ
ไม่เว้นเลยที่จะแสดงความเป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม แม้ในขณะที่บริโภค ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่ส่วนหนึ่ง ส่วนใดของกายจะไม่รู้ลักษณะของวาโยธาตุ แต่ว่าขณะใดที่สติระลึก เมื่อสภาพธรรมมีลักษณะปรากฏ จะไม่ใช่ตัวตน จะไม่ใช่ท่าทาง แต่ว่าจะเป็นลักษณะอาการของธาตุ ซึ่งในขณะที่บริโภคนั้น เป็นแต่โดยความผลักดัน หรือว่าซ่านไปแห่งวาโยธาตุอันเกิดแต่พลังงานของจิต หรือว่าซึ่งมีจิตเป็นสมุฏฐานนั่นเอง ถ้ายังไม่เคยสังเกต ยังไม่เคยพิจารณา ต่อจากนี้ไปเวลาที่บริโภคอาหาร สติระลึก สามารถรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏในขณะนั้นได้
มีประการดังกล่าวแล้วเท่านั้น
คือ ในตอนต้นได้แสดงเรื่องของการบริโภคอาหารโดยสาตถกสัมปชัญญะ และสัปปายสัมปชัญญะ โคจรสัมปชัญญะ ในขณะนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ อสัมโมหสัมปชัญญะ คือ การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง
ข้อความต่อไปเป็นเรื่องของพระภิกษุ ซึ่งสำหรับฆราวาสก็เป็นชีวิตประจำวัน แต่ว่าวัตถุที่ใช้ต่างกัน
สำหรับพระภิกษุ มีข้อความว่า
อาการที่เรียกว่าจับบาตร การจับบาตรที่มีเป็นปกติที่เกิดขึ้นนี้ โดยความผลักดัน หรือซ่านไปแห่งวาโยธาตุอันเกิดแต่จิตเท่านั้น
อาการที่เรียกว่าหย่อนมือลงในบาตร
การบริโภคตามปกติก็ต้องมีการเอื้อมไปสู่อาหารจานหนึ่งจานใด
ก็โดยการผลักดันหรือซ่านไปแห่งวาโยธาตุอันเกิดแต่จิตเท่านั้น
ในขณะที่บริโภค การตะล่อมคำข้าว มีไหม เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
การยกคำข้าวขึ้นและการอ้าปากจึงเกิดขึ้น หาได้มีใครใช้กุญแจหรือเครื่องจักรมาไขกระดูกคางให้อ้าไม่
เป็นเรื่องของวาโยธาตุทั้งหมด
โดยการผลักดันหรือซ่านไปแห่งวาโยธาตุอันเกิดแต่จิตเท่านั้น จึงทำให้หยิบคำข้าวใส่ปาก แล้วฟันบนจึงทำหน้าที่เป็นสากหลายอัน ฟันล่างทำหน้าที่เป็นครกหลายใบ
ไม่ใช่ฟันซี่เดียว ใช่ไหม นี่คือความละเอียดของการที่จะแสดงให้เห็นว่า ในขณะที่บริโภคจริงๆ นี้ นามธรรมและรูปธรรมทั้งหมดมีลักษณะอย่างไรบ้าง
ลิ้นทำหน้าที่เป็นมือตะล่อม ในการบริโภคดังว่ามานี้ มีน้ำลายบางๆ ที่ปลายลิ้น และน้ำลายหนาๆ ที่โคนลิ้น มาช่วยคลุกเคล้าอาหารที่ในปากนั้น และอาหารนั้นก็ถูกกวาดตะล่อมไว้ในครกคือฟันล่าง ด้วยลิ้นซึ่งเป็นประดุจมือ และทำหน้าที่ให้เปียกชุ่มด้วยน้ำคือน้ำลาย และถูกโขลกให้ละเอียดด้วยสากคือฟันบน จะได้มีใครเอาช้อนหรือทัพพีมาตักใส่เข้าไปในร่างกายก็หาไม่ ย่อมเป็นไปด้วยอำนาจแห่งวาโยธาตุนั้นเอง
สังเกตบ้างหรือเปล่า น้ำลายบางอยู่ที่ไหน น้ำลายหนาอยู่ที่ไหน ถ้าไม่สังเกต ต่อไปนี้ก็จะทราบได้ว่า มีน้ำลายบางๆ ที่ปลายลิ้น และน้ำลายหนาๆ ที่โคนลิ้น
นี่ล่วงลำคอเข้าไปแล้ว
ข้อความต่อไปมีว่า
เมื่ออาหารได้ล่วงลงคลองไปแล้ว (หมายความว่าล่วงลำคอลงไปแล้ว) จะได้มีใครเอาภาชนะอะไรมาคอยรองรับก็หาไม่ ที่ตั้งอยู่ได้ก็ด้วยอำนาจแห่งวาโยธาตุนั่นเอง เมื่ออาหารนั้นเข้าไปตั้งอยู่ๆ เช่นนั้นแล้ว จะได้มีใครไปตั้งเตาก่อไฟทำการหุงต้ม ก็หาไม่ ย่อมสุกด้วยอำนาจแห่งเตโชธาตุเท่านั้น
ไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงกฎของร่างกายในชีวิตประจำวันได้ เป็นปกติ ทำไป กระทำหน้าที่ไป โดยไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็น ไม่มีใครสังเกตด้วยว่า เมื่ออาหารที่บริโภคนี้ล่วงลงสู่ลำคอลงไปแล้วแต่ละธาตุมีหน้าที่ทำอย่างไร
อาหารที่สุกแล้วๆ นั้น จะได้มีใครเอาท่อนไม้เขี่ย หรือเอาไม้เท้าเขี่ยออกมาข้างนอกก็หาไม่ วาโยธาตุนั่นเองทำหน้าที่ขับถ่ายออกมา
ท่านผู้ฟังทำอะไรบ้างหรือเปล่า ไม่ได้ทำเลย อย่าลืม ธาตุต่างๆ ทำหน้าที่ ตั้งแต่เช้าตื่นนอนจนกระทั่งหลับไป อาการที่เป็นดังกล่าวมานี้ คือ
วาโยธาตุ มีหน้าที่นำอาหารเข้าไปข้างใน เปลี่ยนแปลง ตะล่อมไว้ กลับไปกลับมา บดให้ละเอียด ให้แห้ง ตลอดจนการนำออกมาข้างนอก
ทั้งหมดนี้เป็นกิจของวาโยธาตุ
ปฐวีธาตุ ทำหน้าที่ค้ำจุนไว้ บดให้ละเอียด ให้เปลี่ยนสภาพไป และให้แห้งด้วย
อาโปธาตุ มีหน้าที่ทำให้เหนียว และรักษาให้เปียกชุ่มตลอดไป
เตโชธาตุ มีหน้าที่ทำอาหารที่เข้าไปข้างในให้สุก
ยังเหลือธาตุอะไรอีกหรือเปล่า วาโยธาตุ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ ยังเหลือธาตุอะไรอีกไหม ถ้าข้อความในอรรถกถาไม่แสดงไว้ก็คงจะไม่มีใครคิดถึง
อากาศธาตุ มีหน้าที่แยกธาตุอื่นๆ ให้เป็นส่วนๆ มิให้ปะปนกัน ดุจหนทางที่แบ่งเป็นสายๆ
วิญญาณธาตุ มีหน้าที่บงการให้รูปธาตุเหล่านั้นทำกิจตามหน้าที่ของตน ในกรณีนั้นๆ
แต่ว่าตามความเป็นจริง ลักษณะของวิญญาณธาตุเป็นสภาพรู้ เพราะช่างรู้ไปทั่วทุกสิ่งทุกอย่างทุกประการนั่นเอง เพราะฉะนั้น จึงรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร สิ่งที่อยู่ข้างในเป็นอะไร และทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอะไร จึงมีความปรารถนา มีความต้องการที่ทำให้เกิดรูปต่างๆ ขึ้น กระทำกิจต่างๆ เหล่านั้น เพราะวิญญาณธาตุเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นสมุฏฐานที่ทำให้เกิดรูปที่มีการเคลื่อนไหวและมีการบริโภคอาหาร
ข้อความในอรรถกถาได้แสดงเรื่องของการบริโภคอาหารโดยละเอียด ซึ่งบางทีท่านผู้ฟังอาจจะไม่ได้พิจารณาถึง คือ การบริโภคทุกครั้งต้องแสวงหา
จริงไหม นั่งอยู่เฉยๆ อย่างนี้ จะมีอาหารมาให้บริโภคไหม ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นยังต้องมีผู้แสวงหา
ใครคนใดคนหนึ่งก็ได้ ต้องเป็นผู้แสวงหาให้ แม้แต่พระภิกษุซึ่งเป็นเพศที่ละเว้นกิจต่างๆ ของชาวบ้านเป็นส่วนใหญ่แล้วก็จริง แต่แม้กระนั้นท่านก็ยังต้องมีกิจ คือ การแสวงหาอาหารเป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งทุกท่านต้องเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญ สติปัฏฐานแม้ในขณะที่แสวงหาอาหาร แต่เพื่อให้เห็นว่าไม่ควรที่จะหลงเพลินติดในรส จึงควรพิจารณาเรื่องความจำเป็น ความเป็นปัจจัยของอาหารซึ่งขาดไม่ได้ เพื่อที่จะละการติดอย่างมากหรือว่าเลือกมากในอาหารที่จะบริโภค โดยการเห็นว่า เป็นเพียงปัจจัยที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งควรบริโภคเพื่อเป็นปัจจัยจริงๆ ไม่ใช่ด้วยความพอใจที่จะเลือกสิ่งนั้น หรือเว้นสิ่งนี้
ข้อความในอรรถกถาได้แสดงถึงการพิจารณาความเป็นปฏิกูลโดยอาการ ๑๐ ในการบริโภคอาหาร เริ่มตั้งแต่การแสวงหาโดยการไป ซึ่งกล่าวถึงชีวิตประจำวันของพระภิกษุ ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า อาหารเป็นปัจจัยซึ่งแม้บรรพชิตก็จำต้องแสวงหา
ข้อความมีว่า
โดยการไป อธิบายว่า ผู้บวชในพระศาสนาซึ่งชื่อว่ามีอานุภาพมากอย่างนี้
คือ เป็นกิจที่เป็นกุศลจริงๆ ในการสละเพศฆราวาสสู่เพศบรรพชิต เพราะฉะนั้น ผู้ที่บวชในพระศาสนาชื่อว่ามีอานุภาพมาก คือ มีกุศลมาก
ทำการสาธยายพุทธพจน์ หรือทำสมณธรรมตลอดคืนยังรุ่ง
นี่คือกิจของพระภิกษุ
ลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ทำวัตรสำหรับลานพระเจดีย์และลานพระศรีมหาโพธิ์ แล้วเข้าไปตั้งน้ำฉันน้ำใช้ กวาดบริเวณ ปฏิบัติสรีรกิจแล้วขึ้นสู่อาสนะ ใฝ่ใจกัมมัฏฐานตลอด ๒๐ หรือ ๓๐ ครั้ง ลุกขึ้นจับบาตรและจีวรเข้าป่าสำหรับบำเพ็ญเพียร ซึ่งปราศจากคนยัดเหยียดกัน มีสุขเกิดแต่วิเวก บริบูรณ์ด้วยร่มเงาและน้ำ สะอาดเยือกเย็น มีภูมิภาคน่าพึงใจ ไม่เห็นแก่ความยินดีในวิเวกอย่างประเสริฐ บ่ายหน้าตรงต่อบ้านเพื่อต้องการอาหาร ดุจดังสุนัขจิ้งจอก บ่ายหน้าต่อป่าช้า พึงไป
กิจของพระภิกษุไม่น้อยเลย ใช่ไหม ชาวบ้านมีไหม ทำการสาธยายพุทธพจน์ หรือสมณะธรรมตลอดคืนยันรุ่ง เพราะฉะนั้น พระภิกษุไม่ใช่ว่าจะไม่มีกิจ เพียงแต่ว่ากิจต่างกัน นอกจากนั้น ทำวัตรสำหรับลานพระเจดีย์และลานพระศรีมหาโพธิ์ เข้าไปตั้งน้ำฉันน้ำใช้ กวาดบริเวณ ปฏิบัติสรีระกิจ ท่านผู้ฟังอาจจะมีกิจน้อยกว่าท่านก็ได้ ใช่ไหม
ลุกขึ้นจับบาตรและจีวรเข้าป่าสำหรับบำเพ็ญเพียร แสดงว่าท่านต้องตื่นแต่เช้าตรู่ก่อนที่จะออกไปบิณฑบาต ที่ซึ่งท่านไปสู่ก็เป็นที่ที่ปราศจากคนยัดเหยียดกัน มีสุขเกิดแต่วิเวก บริบูรณ์ด้วยร่มเงาและน้ำ สะอาดเยือกเย็น มีภูมิภาคน่าพึงใจ แต่แม้อย่างนั้น ก็ยังต้อง ไม่เห็นแก่ความยินดีในวิเวกอย่างประเสริฐ เพราะแม้ว่าจะเป็นสถานที่ที่น่ารื่นรมย์ น่ายินดี น่าอยู่สักเท่าไหร่ ก็อยู่โดยตลอดไปไม่ได้ จำเป็นต้องออกไปแสวงหาอาหาร โดยการ บ่ายหน้าตรงต่อบ้านเพื่อต้องการอาหาร ดุจดังสุนัขจิ้งจอกบ่ายหน้าต่อป่าช้า พึงไป
ข้อความต่อไปแสดงให้เห็นว่า การไปของท่านพบอะไรบ้าง ท่านผู้ฟังซึ่งไม่อาจจะเป็นพระภิกษุได้ ก็อาจจะไม่ทราบชีวิตของพระภิกษุ แต่ชีวิตของชาวบ้านบางท่านก็อาจจะคล้ายคลึงกัน ไม่ต่างกัน
ข้อความต่อไปในอรรถกถามีว่า
ก็เมื่อไปอย่างนี้ จึงจำต้องเหยียบย่ำผ้าลาดซึ่งเกลือกกลั้วไปด้วยขี้ตีน ขี้แมลงสาบ เป็นต้น ในเรือน ตั้งแต่ลงจากเตียงหรือตั่ง
พอลงจากที่นอนก็มีสิ่งซึ่งปฏิกูลทั้งนั้น
แต่นั้นก็จะต้องเห็นหน้ามุขซึ่งน่าเกลียดยิ่งกว่าภายในห้อง
ตอนเช้าๆ ตื่นมาแล้ว ลองเปิดประตูออกไปข้างนอก จะมีอะไรปฏิกูลบ้าง ซึ่งในห้องย่อมสะอาดกว่าข้างนอกห้อง
เพราะถูกขี้หนูหรือขี้ค้างคาวเปรอะเปื้อนในกาลบางครั้ง แต่นั้นพึงเห็นพื้นล่างว่าน่าเกลียดไปกว่าพื้นบน เพราะเปรอะเปื้อนไปด้วยขี้นกแสกและนกพิราบ เป็นต้น แต่นั้นพึงเห็นบริเวณว่าน่าเกลียดยิ่งกว่าพื้นเบื้องต่ำ เพราะหมองไปด้วยหญ้าและใบไม้แก่ซึ่งลมพัดมาในกาลบางคราว และด้วยมูตร กรีส น้ำลาย น้ำมูกของพวกสามเณร ผู้ป่วย และในฤดูฝนยังเปรอะด้วยน้ำและโคลนตม เป็นต้น พึงเห็นตรอกแห่งวิหารเป็นของน่าเกลียดยิ่งกว่าบริเวณนั้น
ถนนหนทางเป็นอย่างนี้หรือเปล่า ตามความเป็นจริง ถ้าจะพิจารณา
ข้อความต่อไปมีว่า
อนึ่ง พระโยคี (คือ พระภิกษุผู้เจริญสติปัฏฐานบำเพ็ญเพียร) ไหว้พระศรีมหาโพธิ์และเจดีย์โดยลำดับ ยืนอยู่ในโรงสำหรับตรึก ไม่เหลียวแลดูเจดีย์งามเช่นกับกองแก้วมุกดาและต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ระรื่นใจเช่นเดียวกับกำหางนกยูง และเสนาสนะอันสง่าดุจสมบัติในเทววิมาน
จริงไหม วัดทั้งหลาย บนหลังคาวัดมีช่อฟ้าใบระกาสง่าดุจสมบัติในเทววิมาน แต่ท่านก็ต้องออกไปแสวงหาอาหาร
หันหลังให้ประเทศที่น่ารื่นรมย์เห็นปานนั้น หลีกไปโดยหมายว่า จักต้องไป เพราะเหตุอาหาร เดินไปตามทางบ้าน พึงเห็นแม้ทางมีตอและหนามบ้าง ทางที่ขาด เพราะกำลังน้ำเซาะและขรุขระบ้าง แต่นั้นเธอนุ่งผ้าก็เหมือนปิดฝี รัดประคดก็เหมือนพันแผล ห่มจีวรก็เหมือนคลุมร่างกระดูก นำบาตรออกก็เหมือนนำโกร่งยาออก เมื่อถึงที่ใกล้ประตูบ้านก็พึงเห็นแม้ซากช้าง ซากม้า ซากโค ซากควาย ซากมนุษย์ ซากงู ซากสุนัข เป็นต้น
ถ้าไม่มีซากสุนัข ลองพิจารณาละเอียดๆ ซากคางคก มีไหม หรือว่าหายาก เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่โอกาส แล้วแต่บุคคล แล้วแต่สถานที่ แต่ที่จะกล่าวว่า ไม่เห็นเลย ยากที่จะเป็นไปได้ แต่เมื่อเห็นแล้ว ขึ้นอยู่กับการอบรมเจริญปัญญาว่า จะทำให้เกิดสังเวค คือ ความสลดใจ หรือการเพียรมากน้อยประการใด เพียงเห็นเท่านั้นหรือเปล่า ไม่ใช่ ใช่ไหม
ข้อความต่อไปในอรรถกถามีว่า
ก็ไม่ใช่พึงเป็นแต่เห็นเท่านั้น แม้กลิ่นของซากเหล่านั้นกระทบจมูกอยู่ อันเธอจำต้องอดกลั้น แต่นั้นเธอครั้นยืนที่ประตูบ้าน ต้องแลดูตรอกตามบ้านเพื่อหลีกเลี่ยงอันตราย มีช้างม้าที่ดุ เป็นต้น
ยืนอยู่ก็ต้องระวัง สมัยนี้คงจะต้องดูสุนัข จะมาจากบ้านไหนที่จะกัด ไม่ใช่ว่ายืนอยู่ด้วยความปกติสุขเลย
ของปฏิกูลซึ่งมีเครื่องลาดเป็นต้น มีซากศพเป็นอเนกเป็นที่สุดนี้ดังว่ามานี้ เป็นสิ่งที่พระโยคีจำต้องเหยียบ จำต้องเห็น จำต้องดม เพราะอาหารเป็นเหตุ เธอพึงพิจารณาความเป็นของปฏิกูลโดยการไปอย่างนี้ว่า แน่ะ ท่านผู้เจริญ อาหาร น่าเกลียดแท้หนอ
เป็นความจริงไหม หรือยังไม่เคยที่จะพิจารณาว่า เป็นจริงอย่างนี้สักครั้งเวลาที่แสวงหาอาหาร ซึ่งต้องผ่านกลิ่นปฏิกูลสารพัดกลิ่นจริงๆ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑๕ ตอนที่ ๑๑๔๑ – ๑๑๕๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1141
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1142
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1143
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1144
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1145
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1146
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1147
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1148
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1149
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1150
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1151
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1152
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1153
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1154
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1155
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1156
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1157
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1158
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1159
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1160
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1161
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1162
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1163
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1164
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1165
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1166
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1167
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1168
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1169
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1170
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1171
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1172
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1173
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1174
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1175
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1176
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1177
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1178
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1179
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1180
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1181
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1182
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1183
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1184
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1185
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1186
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1187
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1188
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1189
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1190
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1191
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1192
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1193
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1194
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1195
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1196
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1197
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1198
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1199
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1200