แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1210
ครั้งที่ ๑๒๑๐
สาระสำคัญ
อถ.สุตตนิบาต - แต่ละคนมีอัธยาศัยตามการสะสม
ผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน
สติระลึกแม้การกระทำและคำที่พูดนานแล้วได้
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฎราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๓ ต่อวันอาทิตย์ที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖
ต่อแต่นั้นพระเถระจึงได้กราบทูลเรื่องภิกษุนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
สารีบุตร การรู้กัมมัฏฐานที่สบายของภิกษุนั้นไม่ใช่วิสัยของเธอ ภิกษุเป็นผู้อัน พระผู้มีพระภาคพึงแนะนำ ดังนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงทรงเนรมิตดอกบัวสีแดงประทานแก่ภิกษุนั้น และให้ภิกษุเอาก้านดอกบัวแดงนั้นปักลงในทรายที่ร่มเงาหลัง พระวิหาร แล้วให้นั่งขัดสมาธิหันหน้าไปหาดอกบัวนั้น แล้วให้ระลึกภาวนาว่า โลหิตํ โลหิตํ (สีแดง สีแดง)
ภิกษุนี้ได้เป็นช่างทองอย่างเดียวมา ๕๐๐ ชาติ เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคทรงทราบนิมิตแห่งสีแดงย่อมเหมาะแก่ภิกษุนั้น ภิกษุนั้นก็ได้กระทำตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำ และได้บรรลุถึงฌานที่ ๔ ในที่นั้นตามลำดับโดยครู่เดียวเท่านั้น ภิกษุรูปนั้นปรารภฌานกีฬา (คือ เข้าออกฌานตามลำดับอนุโลมและปฏิโลม เป็นต้น)
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงอธิษฐานให้ดอกบัวนั้นเหี่ยว เมื่อภิกษุนั้นออกจากฌานเห็นดอกบัวแห้งเหี่ยวไปมีสีดำ จึงได้อนิจจสัญญาว่า รูปที่ประภัสสรถูกชรา ย่ำยีแล้ว จึงน้อมมาพิจารณาภายในตน ได้พิจารณาเห็นว่า ภพทั้ง ๓ ประดุจไฟ ติดทั่วแล้ว สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา
ไม่ใช่สิ่งอื่นจากขณะที่กำลังไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาในขณะนี้ แต่กว่าปัญญาจะได้อบรมจนกระทั่งสามารถพิจารณาเห็นว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา ต้องอาศัยปัจจัยที่เคยสะสมเป็นอุปนิสัยเมื่อครั้งที่เป็นช่างทอง ถ้า ในครั้งที่เป็นช่างทองในชาติก่อนๆ ๕๐๐ ชาติ ภิกษุรูปนี้ไม่เคยเจริญสติปัฏฐานเลย จะมีการที่เมื่อเห็นดอกบัวแล้วจะระลึกถึงสภาพที่ไม่เที่ยงของนามธรรมและรูปธรรม ในขณะนั้นได้ไหม แต่เพราะใน ๕๐๐ ชาติก่อนนั้น จะต้องเคยเจริญสติปัฏฐานโดยฐานะของบุตรช่างทอง เพราะฉะนั้น เมื่อชีวิตตามความเป็นจริงของท่านในชาติก่อนๆ เคยเป็นอย่างไร และเคยอบรมเจริญมาอย่างไร เพราะฉะนั้น เมื่อได้ปัจจัยที่เหมาะสมในชาตินี้ จึงทำให้สติปัฏฐานซึ่งเคยเกิดเคยเจริญในเหตุการณ์นั้นๆ สามารถที่จะมีปัจจัยระลึกและประจักษ์แจ้งในสิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตาได้
ในที่ไม่ไกลภิกษุนั้น มีสระบัวซึ่งพวกเด็กๆ ได้ลงไปในสระบัวและหักดอกบัวมาทำเป็นกองไว้ ดอกบัวที่อยู่ในน้ำปรากฏแก่ภิกษุนั้น ดุจเปลวไฟที่ป่าไม้อ้อ ดอกบัวในที่ที่หล่นลงแล้ว ก็ปรากฏดุจตกลงไปสู่เหว ส่วนยอดของดอกบัวที่ทิ้งไว้บนบกเหี่ยวแห้งไป ปรากฏประดุจถูกไฟไหม้
ครั้งนั้น เมื่อภิกษุพิจารณาธรรมทั้งปวงอยู่ตามกระแสแห่งธรรม ภพทั้ง ๓ ก็ปรากฏเป็นสภาพที่พึ่งพาอาศัยไม่ได้โดยประมาณยิ่ง ดุจเรือนที่ถูกไฟติดทั่วแล้ว ฉะนั้น
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระคันธกุฎี ทรงแผ่พระรัศมีแห่ง พระสรีระไปเบื้องบนภิกษุนั้น ซึ่งภิกษุนั้นก็ได้ประคองอัญชลี และพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสโอภาสคาถาแสดงธรรมแก่ภิกษุนั้น ซึ่งเมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว ภิกษุนั้นดำรงอยู่แล้วในพระอรหัต
เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังต้องเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ
ถ. ท่านพระยสะพร้อมด้วยสหายที่ท่านเผาศพหญิงอนาถาและได้ อสุภสัญญา การได้อสุภสัญญาของท่าน เกื้อกูลการเจริญสติปัฏฐานอย่างไร
สุ. อสุภะ หมายความถึงเห็นความไม่งาม ซึ่งการที่จะเห็นความไม่งาม ต้องหมายความว่า เห็นสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
ถ. ความเข้าใจของกระผม เมื่อได้ฟังเรื่องราวหรือประวัติต่างๆ รู้สึกจะติดในเรื่องราวมากกว่าที่จะเพิกถอนอัตตสัญญา หรือเพิกถอนความเข้าใจในเรื่องราวมาเข้าใจตามความเป็นจริง คือ เห็นรูป เห็นนาม โดยมากปรับไม่ค่อยจะถูก
สุ. ไม่จำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงว่า แม้ในกาลก่อนๆ ท่านเหล่านั้นต้องเป็น ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะถ้าขาดการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่มีใครสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้
อย่างนายสุมนมาลาการ เมื่อได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค ได้บูชาพระผู้มีพระภาคแล้ว ท่านผู้ฟังคิดว่า นายสุมนมาลาการจะไม่เจริญสติปัฏฐานเลยตลอดเวลาที่ไปเกิดเป็นเทวดาและมนุษย์ตลอดแสนกัปที่ไม่ไปทุคติอย่างนั้นหรือ ถ้าคิดว่าเป็นอย่างนั้น ขณะนี้ท่านไม่ต้องเจริญสติปัฏฐาน มีแต่ความเลื่อมใสศรัทธาบูชาพระผู้มีพระภาคก็พอแล้ว และวันดีคืนดีได้ฟังพระธรรมก็รู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ตามความเป็นจริง แม้ได้ฟังแล้ว ก็ยังไม่รู้ว่านามธรรมที่เห็นเป็นอย่างไร ก็คิดดูว่าจะต้องอบรมเจริญสติปัฏฐานนานเพียงไรจนกว่าจะรู้ว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น ตัวอย่างของบุคคลในอดีต ได้แสดงชีวิตที่ต่างกันของการอบรมเจริญ สติปัฏฐานในแต่ละชีวิต แต่ละภพ แต่ละชาติของบุคคลนั้นๆ จริงๆ
ตัวอย่างที่ได้เคยกล่าวถึงในคราวก่อน คือ ชีวิตของท่านพระยสะและสหายของท่าน ๕๔ คน ซึ่งแม้ว่าท่านจะได้ทำบุญร่วมกันโดยเที่ยวช่วยกันจัดการศพของ คนอนาถา และในวันหนึ่งก็ได้พบหญิงมีครรภ์ตาย สหายเหล่านั้นก็ช่วยกันนำศพของหญิงมีครรภ์นั้นนำไปป่าช้า ท่านพระยสะในอดีตชาตินั้นและสหายอีก ๔ คนช่วยกันเผา ส่วนสหายที่เหลือพากันกลับไป
ในชาติสุดท้ายพระยศเป็นคฤหัสถ์ ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคในเวลาใกล้รุ่ง และเมื่อได้ฟังพระธรรมก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน และในเวลารุ่งเช้าท่านได้ฟัง พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกับท่านเศรษฐีบิดาของท่านอีกครั้งหนึ่ง ท่านก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ และทูลขอบรรพชา ซึ่งสหายคฤหัสถ์ ๔ คนของท่าน คือ วิมละ ๑ สุพาหุ ๑ ปุณณชิ ๑ ควัมปติ ๑ เป็นบุตรของสกุลเศรษฐีสืบๆ มาในพระนครสาวัตถี ได้ทราบข่าวก็ขอบวชบ้าง หลังจากนั้น สหายคฤหัสถ์ของท่าน ๕๐ คน ซึ่งเป็นชาวชนบท เป็นบุตรของสกุลเก่าๆ สืบๆ กันมา ได้ทราบข่าวก็ขอบวชบ้าง
จะเห็นได้ว่า ความต่างกันของกาย วาจา ใจ และการกระทำแม้ในวันหนึ่งๆ ก็เป็นเหตุที่ทำให้ชีวิตต่างกันไปทุกชาติ แม้ในชาติที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งท่าน พระยศกุลบุตรเป็นผู้ที่ได้อสุภสัญญาในขณะที่เผาศพหญิงมีครรภ์ และได้แสดง อสุภสัญญาแก่สหาย ๔ คน เมื่อเผาศพหญิงมีครรภ์นั้นแล้วก็ได้กลับไปบ้านและได้แสดงอสุภสัญญานั้นแก่สหายของท่านอีก ๕๐ คน และเวลาที่จะได้บรรลุมรรคผล ท่านพระยสะก็บรรลุก่อน ต่อจากนั้นสหายคฤหัสถ์ ๔ คนของท่านก็บรรลุตาม และหลังจากนั้นสหายของท่านที่เป็นคฤหัสถ์อีก ๕๐ คน จึงได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค และได้ทูลขอบรรพชา
เพราะฉะนั้น การกระทำในวันหนึ่งๆ ทั้งการคิด และกายวาจา จะเห็นได้ว่าปรุงแต่งโดยที่ไม่มีใครสามารถจะทราบได้ว่า จะเป็นปัจจัยให้ภพชาติต่อไปจะเป็นใคร และจะมีเหตุการณ์อย่างใดเกิดขึ้นในชีวิต ซึ่งสติปัฏฐานก็จะต้องอบรมเจริญรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริง
แต่ว่าขณะใดก็ตาม ชาติหนึ่ง ชาติใด หรือแม้ในชาตินี้เอง ท่านผู้หนึ่งผู้ใดเกิดปัญญาถึงขั้นที่จะละคลายความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ถ้าท่านเป็นผู้ที่ระลึกชาติได้ ท่านก็จะรู้ว่า ในอดีตชาติก่อนๆ ที่ท่านอบรมเจริญ สติปัฏฐานมา ท่านได้อบรมเจริญสติปัฏฐานมามากในชีวิตแบบไหน เช่น ในชีวิตของบุตรช่างทอง ๕๐๐ ชาติ ซึ่งไม่มีใครสามารถจะจำได้ หรือว่าระลึกได้ก็จริง แต่ ปัจจุบันชาติ ขณะใดที่สติเกิด ท่านผู้ฟังจะสังเกตได้ว่า ถ้าสติของท่านเกิดบ่อยๆ ซ้ำๆ ในเหตุการณ์นั้นๆ ก็แสดงว่า ท่านคงจะเคยเจริญสติปัฏฐานมาบ่อยๆ ซ้ำๆ ในเหตุการณ์นั้นๆ มาแล้ว เพียงแต่ว่าแต่ละชาติก็ผ่านไปโดยที่นามธรรมและรูปธรรม นั้นๆ ก็ผ่านไป แต่ก็มีปัจจัยที่จะทำให้นามธรรมและรูปธรรมอื่นเกิดในสภาพเหตุการณ์ที่คล้ายกันได้
ถ. การเจริญอสุภสัญญา ควรพิจารณาอย่างไร
สุ. เห็นในลักษณะที่ไม่งาม
ถ. และต่อไป
สุ. ต่อไปก็ระลึกอีกบ่อยๆ เนืองๆ ถ้าไม่เห็นในอสุภสัญญา ก็เห็นในลักษณะที่ไม่เที่ยง ลักษณะที่เป็นทุกข์ ลักษณะที่เป็นอนัตตาก็ได้ ด้วยเหตุนี้ผู้ที่จะเป็นพระอริยบุคคล เวลาที่โลกุตตรจิตจะเกิด จึงแล้วแต่ว่าก่อนที่โลกุตตรจิตจะเกิดนั้น มหากุศลของบุคคลนั้นน้อมไปในลักษณะหนึ่งลักษณะใดของไตรลักษณ์ คือ น้อมไปในลักษณะที่เป็นทุกข์ หรือว่าในลักษณะที่ไม่เที่ยง หรือว่าในลักษณะที่เป็นอนัตตา ของสภาพธรรม
ถ้าเป็นผู้ที่ไม่เคยสะสมมาในการที่จะพิจารณาอสุภะ ก็ไม่จำเป็นต้องไปขวนขวายแสวงหา แต่ขณะนี้กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังมีความสุขหรือความทุกข์ ใดๆ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย สติก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จึงจะรู้ได้จริงๆ ว่า สภาพธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
บางท่านมีญาติพี่น้องซึ่งทำให้กุศลจิตของท่านเกิดน้อย อกุศลจิตของท่านเกิดมาก พอใจหรือไม่พอใจอีกแล้ว ใช่ไหม ไม่พอใจในอกุศลประเภทนี้ แต่ถ้าเป็นอกุศลประเภทอื่นที่น่าเพลิดเพลินยินดี ก็พอใจ
เพราะฉะนั้น การเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะทำให้ท่านไม่เลือก และรู้ว่าสภาพเหตุการณ์ทุกอย่างเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ ด้วยเหตุนี้ วิปัสสนาญาณทุกญาณจึงเป็นกัมมัสสกตาญาณ เพราะจะรู้ได้ตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมที่เกิดต้องเกิดเพราะเหตุปัจจัย และสภาพธรรมที่เกิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็เป็นผลของกรรมซึ่งไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานอย่างนี้จริงๆ ย่อมเป็นผู้ที่เห็น กัมมัสสกตาญาณได้
ถ. การเจริญอสุภะ คำถามเมื่อครู่นี้ อาจารย์บอกว่า พิจารณาความ ไม่งาม ความไม่สวยงาม ผู้ถามก็ถามว่า และต่อไปทำอย่างไร
สุ. ต่อไปก็ระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ
ถ. ผมจำได้ว่า อาจารย์เคยอธิบายละเอียดกว่านั้น เช่น ผม ถ้ายังไม่กระทบ ยังไม่รู้ว่าอ่อนหรือแข็ง แค่สมมติว่าอยู่บนศีรษะ ก็ยังไม่กระทบอะไร
สุ. เมื่อยังไม่กระทบ อะไรกำลังกระทบ ก็รู้สิ่งที่กำลังกระทบ
ถ. พูดถึงอสุภะ เส้นผมต้องกระทบ
สุ. เวลากระทบผม ก็อย่าหลงลืมสติ แต่เวลายังไม่กระทบ อย่างอื่นกระทบ ก็อย่าหลงลืมสติ วันหนึ่งทุกท่านต้องกระทบผม แต่เวลากระทบผมไม่ถาม ถามเวลาที่ไม่ได้กระทบผมว่าจะทำอย่างไร ใช่ไหม แต่วันหนึ่งที่ทุกท่านต้องกระทบผม ทำไมไม่ระลึกรู้ลักษณะ ถ้าต้องการที่จะเห็นสภาพที่เป็นอสุภะ ก็ต้องน้อมไปสู่ลักษณะที่เป็นอสุภะในขณะนั้น คือ ในขณะที่กำลังกระทบ
ถ. ถ้าไปเห็นซากศพ
สุ. เหมือนกัน ในขณะที่ยังไม่เห็น ก็มีสิ่งอื่นที่กำลังปรากฏ ก็ระลึกรู้ใน ลักษณะที่ไม่เที่ยง ลักษณะที่ไม่เที่ยงต้องเป็นอสุภะ ไม่งามแน่
ถ. น้อมระลึกว่า แม้วันหนึ่งเราก็จะเป็นอย่างนั้น แค่นี้เป็นสติปัฏฐานไหม
สุ. น้อมไปได้ทุกอย่าง ถ้ามีเหตุปัจจัยที่จะน้อมไป แต่ว่าในขณะนี้ สภาพธรรมใดกำลังปรากฏที่ควรจะรู้ มิฉะนั้นแล้วจะเป็นอนาคตไปเรื่อยๆ แต่ว่าเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วไม่หลงลืม เพราะฉะนั้น ก็เป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้นระลึกเป็นไปในทางหนึ่งทางใด
เช่น ท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านเป็นพ่อค้า และมีผู้ส่งใบเก็บเงินมาเก็บเงินที่ท่าน แต่ว่ายอดเงินนั้นขาดไป ๑๐๐๐ บาท ท่านไม่ทักท้วง เวลาผ่านหลายปี ถึง ๑๐ ปี ระหว่าง ๑๐ ปีนั้น ท่านได้ฟังธรรม ท่านเป็นผู้ที่ฟังแนวทางเจริญวิปัสสนาอยู่เรื่อยๆ ครั้งที่หนึ่งที่ฟังข้อความตอนนั้นก็ผ่านไป ฟังครั้งที่ ๒ หลายปีผ่านมา วิทยุออกซ้ำอีก ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น จนกระทั่งถึงครั้งที่ ๔ ท่านเชิญผู้ที่ส่งใบเก็บเงินที่ขาดยอดเงินไป ๑๐๐๐ บาทมา และชี้แจงให้ฟังว่า เมื่อ ๑๐ ปีก่อน ใบเก็บเงินนี้ขาดยอดไป ๑๐๐๐ บาท ซึ่งคนเก็บเงินก็ดีใจมาก บอกว่าท่านเป็นผู้ที่มีความจำดีมาก แม้ว่าเหตุการณ์จะผ่านไปแล้วถึง ๑๐ ปี ก็ยังสามารถระลึกได้ และได้ให้เขามาเก็บเงินยอดที่ขาดนั้นไป ๑๐๐๐ บาท ดิฉันไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน แต่สมมติว่าเป็นเงินจำนวนนี้
แสดงให้เห็นว่า การเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ย่อมเกื้อกูลต่อสติที่จะระลึกแม้การกระทำและคำที่พูดนานแล้วได้
ถ้าระลึกเป็นไปในอกุศล นั่นไม่ใช่การปรุงแต่งของสังขารขันธ์ที่เป็นกุศล แต่ถ้าขณะใดที่ระลึกเป็นไปในกุศล ให้ทราบว่า ในขณะนั้นเป็นการปรุงแต่งของ สังขารขันธ์ที่เป็นกุศล ซึ่งการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นส่วนหนึ่งของสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้กุศลจิตเกิดได้ ระลึกได้แม้การกระทำและคำที่พูดแม้นานได้
ชีวิตจริงๆ เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ไม่มีใครสามารถรู้เหตุการณ์ข้างหน้าว่า สังขารขันธ์ที่เป็นกุศลจะปรุงแต่งอย่างไร และสังขารขันธ์ที่เป็นอกุศลจะปรุงแต่งอย่างไร แต่การเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจะทำให้สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นว่า ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย
เพราะฉะนั้น อย่าลืม สตินทรีย์ รวมถึงสติที่ระลึกได้แม้การกระทำและคำที่พูดแม้นานได้ แต่ต้องเป็นไปในทางกุศล
หลายท่านบอกว่า ท่านขี้ลืม แต่แม้กระนั้นบางครั้งก็ยังนึกได้เวลาที่ท่านบอกว่า ท่านจะทำกุศลอย่างใด อาจจะลืมไปชั่วระยะหนึ่ง แต่ก็ยังเกิดระลึกได้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการปรุงแต่งของสังขารขันธ์ฝ่ายกุศล
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๑๒๐๑ – ๑๒๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1201
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1202
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1203
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1204
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1205
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1206
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1207
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1208
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1209
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1210
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1211
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1212
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1213
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1214
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1215
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1216
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1217
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1218
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1219
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1220
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1221
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1222
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1223
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1224
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1225
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1226
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1227
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1228
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1229
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1230
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1231
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1232
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1233
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1234
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1235
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1236
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1237
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1238
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1239
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1240
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1241
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1242
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1243
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1244
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1245
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1246
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1247
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1248
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1249
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1250
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1251
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1252
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1253
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1254
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1255
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1256
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1257
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1258
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1259
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1260