แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1214


    ครั้งที่ ๑๒๑๔


    สาระสำคัญ

    องฺ.ฉกฺก.อาวรณตาสูตร - กรรมและวิบากเป็นเครื่องกั้น

    องฺ.ฉกฺ.สุสสูสาสูตร - ผู้ไม่ควรเพื่อก้าวลงสู่ความแน่นอน

    องฺ.ฉกฺ.ปหาตัพพสูตร


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฎราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ต่อวันอาทิตย์ที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๒๖


    สำหรับกรรมและวิบากซึ่งเป็นเครื่องกั้น ใน อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต อาวรณตาสูตร ข้อ ๓๕๘ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ แม้ฟังสัทธรรมอยู่ ก็เป็นผู้ไม่ควรเพื่อก้าวลงสู่ความแน่นอน ความเป็นชอบในกุศลธรรมทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ เป็นผู้ฆ่ามารดา ๑ ฆ่าบิดา ๑ ฆ่าพระอรหันต์ ๑ ยังพระโลหิตของพระตถาคตให้ห้อขึ้นด้วยจิตประทุษร้าย ๑ เป็นผู้ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ๑ และเป็นผู้มีปัญญาทราม ใบ้ บ้าน้ำลาย ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล แม้ฟังสัทธรรมอยู่ ก็เป็นผู้ไม่ควรเพื่อก้าวลงสู่ความแน่นอน ความเป็นชอบในกุศลธรรมทั้งหลาย ฯ

    เพราะฉะนั้น สำหรับกรรม ๕ ได้แก่ อนันตริยกรรม เป็นเครื่องกั้น แต่ไม่ใช่เฉพาะกรรม ๕ เท่านั้น วิบาก คือ เป็นผู้ที่มีปัญญาทราม ใบ้ บ้าน้ำลาย ก็เป็น เครื่องกั้นที่ทำให้บุคคลนั้นไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    ส่วนผู้ที่เป็นภัพพบุคคล คือ ผู้ที่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ก็ตรงกันข้าม เพราะการเกิดจะเห็นได้ว่า เป็นผลของกรรมต่างๆ กัน การเกิดเป็นมนุษย์เป็นผลของกุศลกรรม แต่แม้ในปัจจุบันชาติที่เกิดเป็นมนุษย์แล้ว ก็ได้กระทำกรรมหลายกรรม ต่างๆ กัน ทางฝ่ายอกุศลก็ทำกรรมด้วยโลภะ หรือด้วยโทสะ ทางฝ่ายกุศลก็มีกรรม ซึ่งทำด้วยอโลภะ อโทสะ ประกอบด้วยเหตุ ๒ เช่น การให้ทาน ซึ่งในขณะนั้นต้องประกอบด้วยอโลภเจตสิกและอโทสเจตสิก การให้ทานจึงจะสำเร็จได้ แต่สำหรับกุศลบางอย่าง ก็เป็นกุศลที่ประกอบด้วยเหตุ ๓ คือ ประกอบด้วยอโลภเจตสิก ๑ อโทสเจตสิก ๑ และปัญญาเจตสิก ๑ เป็น ๓ เหตุ คือ ประกอบด้วยอโลภเหตุ อโทสเหตุ และอโมหเหตุ แต่เมื่อท่านจากโลกนี้ไป ก็ไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า ปฏิสนธิของชาติต่อไปจะเป็นผลของกรรมอะไร จะเป็นผลของอกุศลกรรม หรือจะเป็นผลของกุศลกรรมซึ่งประกอบด้วยเหตุ ๒ คือ ประกอบด้วยอโลภเหตุ อโทสเหตุ หรือจะเป็นผลของกุศลกรรมซึ่งประกอบด้วยอโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ ซึ่งผลก็คือว่า ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมที่ประกอบด้วยเหตุ ๓ เช่น การศึกษาธรรม การพิจารณาธรรม การอบรมเจริญปัญญา ถ้าเป็นอย่างอุกฤษฏ์ ก็จะเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเป็น มหาวิบากจิตประกอบด้วยเหตุ ๓ คือ ประกอบด้วยอโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    บุคคลที่เกิดพร้อมกับปัญญาเจตสิก คือ เป็นผู้ที่มหาวิบากเป็นผลของมหากุศลทำกิจปฏิสนธิเกิดพร้อมกับเหตุทั้ง ๓ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ เป็นผู้ที่เมื่ออบรมเจริญปัญญาแล้วสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ไม่มีใครจะทราบได้ ใช่ไหม เกิดมาแล้ว และไม่สามารถจะรู้ได้ว่า ปฏิสนธิจิตในชาตินี้ประกอบด้วยเหตุ ๒ เป็นทวิเหตุ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ หรือว่าประกอบด้วยเหตุ ๓ เป็นติเหตุ ประกอบด้วยอโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ แต่เมื่อเป็นผู้ที่สนใจฟังธรรม เป็นผู้ที่มีเหตุผล พิจารณาไตร่ตรองธรรม ก็เป็นผู้ที่รู้ได้ว่า เป็นผู้ที่มีปัญญาได้สะสมมา แต่ที่จะรู้แน่จริงๆ คือ ผู้ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล หรือผู้ที่อบรมเจริญ สมถภาวนาถึงขั้นอัปปนาสมาธิ ฌานจิตเกิด ต้องเป็นผู้ที่ปฏิสนธิจิตประกอบด้วยเหตุ ๓ เป็นติเหตุกบุคคล

    แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่ปฏิสนธิเป็นติเหตุกบุคคลทั้งหมดจะบรรลุถึง อัปปนาสมาธิ หรือรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แม้ว่าจะเป็นผู้ที่ปฏิสนธิจิตประกอบด้วยเหตุ ๓ แต่ก็ไม่แน่ว่าบุคคลนั้นจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ถ้าอบรมเจริญอินทรีย์ไม่แก่กล้าพอที่จะ รู้แจ้ง ก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    เพราะฉะนั้น อภัพพบุคคลก็มีทั้งที่มีกรรมเป็นเครื่องกั้น มีวิบากเป็นเครื่องกั้น และมีกิเลสเป็นเครื่องกั้น ซึ่งข้อความใน อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต สุสสูสาสูตร ข้อ ๓๕๙ มีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ แม้ฟังสัทธรรมอยู่ ก็เป็นผู้ไม่ควรเพื่อก้าวลงสู่ความแน่นอน ความเป็นชอบในกุศลธรรมทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ เมื่อธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว อันบุคคลอื่นแสดงอยู่ ก็ไม่ฟังด้วยดี ๑ ไม่เงี่ยโสตลงฟัง ๑ ไม่เข้าไปตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง ๑ ถือเอาแต่สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ๑ ทิ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ ๑ และเป็นผู้ประกอบด้วยขันติที่ไม่สมควร ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล แม้ฟังสัทธรรมอยู่ ก็เป็นผู้ไม่ควรเพื่อก้าวลงสู่ความแน่นอน ความเป็นชอบในกุศลธรรมทั้งหลาย ฯ

    เพื่อก้าวลงสู่ความแน่นอน ความเป็นชอบในกุศลธรรมทั้งหลาย คือ การที่ปัญญาเกิดขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริงจนรู้แจ้ง อริยสัจธรรมได้

    สำหรับผู้ที่สามารถจะบรรลุได้ คือ เป็นภัพพบุคคล ข้อความก็ตรงกันข้าม

    ถ. มีเปรตชนิดหนึ่ง เปรตชนิดนี้สามารถปฏิสนธิด้วยติเหตุ และสามารถบรรลุเป็นพระอริยบุคคลด้วย สงสัยว่า ปฏิสนธิด้วยติเหตุ ทำไมจึงไปเกิดเป็นเปรต สุ. คำว่า เปรต เปตะ บางพยัญชนะหมายความถึงผู้ที่จากโลกนี้ไปแล้ว เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่าเมื่อจากไปแล้วจะปฏิสนธิด้วยจิตประเภทใด ถ้าปฏิสนธิด้วย จิตที่ประกอบด้วยปัญญา เป็นติเหตุกบุคคล ประกอบด้วยเหตุ ๓ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ ก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    ถ. เปรตเป็นภูมิหนึ่งในอบายภูมิ ๔ ซึ่งในอบายภูมิ ๔ หมดโอกาสที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ทำไมเปรตประเภทนี้จึงสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    สุ. ต้องคิดถึงความหมายของเปตะอีกนัยหนึ่ง คือ พวกที่จากโลกนี้ไป

    ถ. ก็ยังถือว่า เป็นอบายภูมิภูมิหนึ่ง

    สุ. เปรตมีมากมายหลายจำพวกที่เป็นอบายภูมิ แต่ก็มีภูมิหนึ่งซึ่งจะนับว่า เป็นเทวดาก็ได้ จะนับว่าเป็นเปรตก็ได้ ไม่ใช่มีความสุขสมบูรณ์อย่างเทวดาทั้งหลาย ก็จริง แต่ต้องเป็นมหาวิบากปฏิสนธิ ติเหตุกปฏิสนธิ จึงจะสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมเพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะชื่ออะไรทั้งนั้น แต่ถ้าในที่นั้นบุคคลนั้นสามารถจะรู้แจ้ง อริยสัจธรรมได้ ปฏิสนธิจิตต้องประกอบด้วยปัญญาเจตสิก จึงไม่มีวิบากเป็นเครื่องกั้นเพราะฉะนั้น อย่ารวมเปรตว่าเป็นผู้ที่ทุกข์ร้อนไปทั้งหมด เพราะบางประเภทหมายความถึงเทวดาบางพวก

    เพราะฉะนั้น ก็พิจารณาได้ในขณะที่ฟังธรรมแต่ละครั้งๆ เพื่อการที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมว่า ต้องประกอบด้วยเหตุ

    พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณาโอวาทว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ แม้ฟังสัทธรรมอยู่ ก็เป็นผู้ไม่ควรเพื่อก้าวลงสู่ความแน่นอน ความเป็นชอบในกุศลธรรมทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ เมื่อธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว อันบุคคลอื่นแสดงอยู่ ก็ไม่ฟังด้วยดี ๑

    หมายความถึงไม่ยอมฟัง บางท่านไม่ยอมฟัง ได้ทราบว่ามีการบรรยายธรรม ก็ไม่สนใจที่จะฟัง หรืออาจจะดูหมิ่นผู้พูด เข้าใจว่าผู้พูดคงจะไม่เข้าใจในอรรถหรือ ในเหตุผลของพระธรรม จึงเป็นเหตุทำให้ไม่สามารถเข้าใจได้ว่า พระธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วเป็นประโยชน์เพียงใด

    ไม่เงี่ยโสตลงฟัง

    คือ ไม่ตั้งใจฟัง อาจจะเพียงฟัง แต่ว่าสนทนากัน คุยกัน

    ไม่เข้าไปตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง ๑

    หมายความว่า ไม่พิจารณาสิ่งที่กำลังได้ฟังอยู่ หรือ

    ถือเอาแต่สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ๑ ทิ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ ๑ และเป็นผู้ประกอบด้วยขันติที่ไม่สมควร ๑

    บางท่านมีความอดทนที่จะปฏิบัติผิดๆ เพราะเข้าใจว่า ถ้าปฏิบัติอย่างนั้นแล้ว สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้เร็ว หรือเข้าใจว่าเป็นหนทางลัด แต่สำหรับผู้ที่จะสามารถก้าวลงสู่ความแน่นอน ความเป็นชอบในกุศลธรรมทั้งหลาย ก็โดยนัยที่ตรงกันข้าม

    ข้อความในพระสูตรนี้ ไม่ได้แสดงเรื่องของปัญญาทราม และกิเลสเป็น เครื่องกั้น เพราะว่าผู้ที่ปฏิสนธิด้วยติเหตุก็จริง แต่แม้ขณะที่ฟังธรรม ถ้าไม่ได้ฟังด้วยความตั้งใจพิจารณาในเหตุผลจริงๆ และเป็นผู้ถือเอาแต่สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ทิ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ ก็ย่อมไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    แต่อย่าคิดว่า ถ้าเพียงฟังด้วยความสนใจและพิจารณาจริงๆ เท่านั้น ก็สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ต้องละเอียดกว่านั้นอีก

    อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ปหาตัพพสูตร ข้อ ๓๖๐ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งทิฏฐิสัมปทา

    ทิฏฐิสัมปทา หมายความถึงการถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ซึ่งในที่นี้หมายถึง สัมมาทิฏฐิ การถึงพร้อมด้วยสัมมาทิฏฐิ การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงจนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นพระโสดาบันบุคคล

    ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ สักกายทิฏฐิ ๑

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าไม่ละสักกายทิฏฐิ และจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่มีการอบรมเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ และจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นไปไม่ได้ ถึงแม้จะได้ฟังด้วยการพิจารณาจริงๆ ยังต้องเป็นผู้ที่ละ ละสักกายทิฏฐิ ๑

    ข้อความต่อไปมีว่า

    วิจิกิจฉา ๑ สีลัพพตประมาส ๑ ราคะที่เป็นเหตุไปสู่อบาย ๑ โทสะที่เป็นเหตุไปสู่อบาย ๑ และโมหะที่เป็นเหตุไปสู่อบาย ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งทิฏฐิสัมปทา ฯ

    ส่วนผู้ที่ละธรรม ๖ ประการแล้ว ก็ตรงกันข้าม คือ เป็นผู้ที่สามารถเพื่อรู้แจ้งซึ่งทิฏฐิสัมปทา

    ท่านผู้ฟังอาจจะไม่เห็นข้อความที่แสดงถึงนิยตมิจฉาทิฏฐิ แต่ก็รวมอยู่ในข้อความที่ว่า บุคคลไม่ละธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่ง ทิฏฐิสัมปทา ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ สักกายทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ สีลัพพตประมาส ๑ ราคะที่เป็นเหตุไปสู่อบาย ๑ โทสะที่เป็นเหตุไปสู่อบาย ๑ และโมหะที่เป็นเหตุไปสู่อบาย ๑

    สำหรับความเห็นผิด ต้องเกิดร่วมกับโลภมูลจิตเท่านั้น และเมื่อมีความเห็นผิดย่อมเป็นเหตุให้กระทำกรรมซึ่งไปสู่อบายด้วยราคะ หรือโทสะ หรือโมหะได้ สำหรับความเห็นผิดซึ่งมีมาก ความเห็นผิดอย่างไหนจะเป็นเครื่องกั้นการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งก็ต้องเป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดที่ดิ่งมั่นคงแน่วแน่ ๓ อย่าง ได้แก่ อเหตุกทิฏฐิ ๑ นัตถิกทิฏฐิ ๑ อกิริยทิฏฐิ ๑

    อเหตุกทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดว่าไม่มีเหตุ ทุกคนที่เกิดมาเกิดโดยไม่มีเหตุ แม้แต่กุศลจิต อกุศลจิต จะเกิดขึ้นรุนแรงอย่างไรก็ไม่มีเหตุทั้งนั้น ก็เกิดขึ้นเป็นไปเองจนกระทั่งถึงการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็คิดว่าไม่มีเหตุที่ต้องอบรมเจริญ เข้าใจว่า อยู่ไปเรื่อยๆ ในที่สุดสังสารวัฏฏ์ต้องหมดสิ้นไปเอง ไม่มีการเกิดอีก นี่ก็เป็นความเห็นผิดอย่างแน่วแน่สำหรับบางท่าน

    สำหรับนัตถิกทิฏฐิ เป็นความเห็นผิดที่เชื่อว่าผลไม่มี ไม่ว่าใครจะทำดีเท่าไร ก็ไม่มีผล ใครจะทำบาปเท่าไรก็ไม่มีผล เพราะฉะนั้น ลองคิดดูว่า ถ้ามีความคิดความเข้าใจอย่างนี้ บุคคลนั้นสามารถที่จะทำบาปคืออกุศลกรรมได้เท่าไร ในเมื่อเห็นว่า ผลของกรรมหรือการกระทำใดๆ นั้น ไม่มี

    สำหรับอกิริยทิฏฐิ เป็นความเห็นผิดที่เห็นว่า การกระทำทั้งหมดไม่เป็นเหตุ คือ ไม่เป็นกรรม บางท่านมีความเห็นถึงกับว่า การฆ่าบุคคลอื่นไม่เป็นบาปกรรม เพราะเป็นเพียงธาตุดิน ซึ่งแทรกเข้าไปในกลุ่มของธาตุดินเท่านั้นเอง เป็นการกระทำของธาตุต่อธาตุเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น ความเห็นผิดมีมากมาย แต่ความเห็นผิดที่จะทำให้เกิดอกุศลกรรมประกอบด้วยราคะที่เป็นเหตุให้ไปสู่อบาย ต้องเป็นความเห็นผิดที่ไม่เชื่อในกรรมและไม่เชื่อในผลของกรรม

    ลักษณะของนิยตมิจฉาทิฏฐิ ๓ คือ การไม่เชื่อกรรมและไม่เชื่อผลของกรรม สำหรับมิจฉาทิฏฐิอื่นซึ่งผู้ที่ยังไม่ได้ศึกษาพระธรรมโดยละเอียดย่อมมีบ้าง แต่ว่าไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิที่ดิ่งมั่นคงเหมือนอย่างกับนิยตมิจฉาทิฏฐิ ๓ คือ อเหตุกทิฏฐิ เชื่อว่าไม่มีเหตุ นัตถิกทิฏฐิ เชื่อว่าไม่มีผล และอกิริยทิฏฐิ เชื่อว่าไม่เป็นเหตุ คือ ไม่เป็นกรรม

    สำหรับการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม แม้ไม่มีกรรมเป็นเครื่องกั้น คือ ไม่ได้ทำอนันตริยกรรม ไม่มีวิบากเครื่องกั้น เป็นผู้ที่ปฏิสนธิด้วยเหตุ ๓ คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ และไม่ใช่เป็นผู้ที่มีความเห็นผิดที่ดิ่งแน่วแน่มั่นคงที่เป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ แต่โอกาสที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น ก็ยังยาก



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๑๒๑๑ – ๑๒๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 87
    28 ธ.ค. 2564