แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1215


    ครั้งที่ ๑๒๑๕


    สาระสำคัญ

    องฺ.อฏฺฐ.อักขณสูตร - ขณะหรือมิใช่ขณะที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    ม.ม.มหาสกุลุทายิสูตร - การเจริญธรรมเครื่องให้ตรัสรู้อริยสัจจ์ ๔


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฎราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ต่อวันอาทิตย์ที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๒๖


    อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต อักขณสูตร ข้อ ๑๑๙ มีข้อความที่แสดงให้เห็นว่า การที่จะได้ฟังพระธรรมเป็นบุญอย่างยิ่ง

    ข้อความมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับย่อมกล่าวว่า โลกได้ขณะจึงทำกิจ โลกได้ขณะจึงทำกิจ แต่เขาไม่รู้ขณะหรือมิใช่ขณะ

    ขณะ หมายถึงขณะหนึ่งๆ ของการที่จะกระทำกิจต่างๆ ซึ่งทุกท่านทราบว่า เวลาหรือโอกาสเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่แม้กระนั้นบุคคลใด คือ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับย่อมกล่าวว่า โลกได้ขณะจึงทำกิจ โลกได้ขณะจึงทำกิจ แต่เขาไม่รู้ขณะ หรือมิใช่ขณะ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กาลมิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ๘ ประการนี้ ๘ ประการเป็นไฉน

    วันหนึ่งข้างหน้าจะต้องถึงกาลที่มิใช่ขณะ มิใช่สมัยที่จะมีชีวิตอยู่ด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ คือ การปฏิบัติอบรมเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ แต่ไม่ใช่ในขณะนี้ ซึ่งยังเป็นสมัยที่สามารถมีชีวิตอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ คือ อบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ แต่สมัยหนึ่งก็จะต้องถึงกาละที่มิใช่ขณะ มิใช่สมัยที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม และธรรมอันพระผู้มีพระภาคย่อมทรงแสดง นำความสงบมาให้ เป็นไปเพื่อปรินิพพาน ให้ถึงการตรัสรู้ อันพระสุคตเจ้าประกาศแล้ว แต่บุคคลผู้นี้เข้าถึงนรกเสีย ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้มิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๑ ฯ

    เพราะฉะนั้น ช่วงที่มีโอกาสอบรมเจริญสติปัฏฐานไม่นานเลย สำหรับการเป็นมนุษย์ในยุคนี้ ซึ่งอายุกัปมีประมาณไม่เกิน ๗๕ ปี และถ้าจะเกินอายุกัป คือ บุคคลที่สามารถจะมีอายุยืนก็คงไม่ถึง ๒ อายุกัป คือ ๑๕๐ ปี เพราะฉะนั้น โอกาสที่จะได้เจริญสติปัฏฐานในขณะที่มีชีวิตอยู่ ไม่ใช่เวลาที่นานเลย เพราะไม่ทราบว่าพรุ่งนี้จะอยู่ที่ไหนสำหรับผู้ที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมก็ทำให้เกิดในอบายภูมิ ไม่ใช่ขณะ ไม่ใช่สมัย ในการที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐาน ในอบายภูมิ

    ประการต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า

    … แต่บุคคลผู้นี้เข้าถึงกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเสีย

    หมายความว่า ไม่ใช่สมัย ไม่ใช่ขณะในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ถ้าไม่เกิดในนรก ก็อาจจะเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานก็ได้ เพราะไม่มีผู้ใดสามารถประกันได้สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคลว่า จะไม่เกิดในอบายภูมิ

    ประการต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ขณะที่ไม่ใช่สมัย ไม่ใช่ขณะ ในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ คือ ผู้นั้นเกิดเป็นเปรต หรือมิฉะนั้นผู้นั้นก็ เข้าถึง เทพนิกายผู้มีอายุยืนชั้นใดชั้นหนึ่งเสีย

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้มิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๔ ฯ

    ถ้าเกิดในสวรรค์ หรือในรูปพรหมซึ่งมีขันธ์ ๕ ก็ยังสามารถอบรมเจริญ สติปัฏฐานได้ โดยเฉพาะในสวรรค์ชั้นดุสิต ขณะนี้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ยังอยู่ ที่นั่น เพราะฉะนั้น ในภูมินั้นก็มีพระอริยสาวกมากมาย ถ้ากุศลกรรมทำให้เกิด ในสวรรค์ คือ ในสุคติภูมิ ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ แม้ในรูปพรหมภูมิก็ยังสามารถอบรมเจริญสติปัฏฐานได้ เพราะฉะนั้น ข้อที่ว่า อีกประการหนึ่ง แต่บุคคลนี้เข้าถึงเทพนิกายผู้มีอายุยืนชั้นใดชั้นหนึ่งเสีย ย่อมหมายความถึงอสัญญสัตตาพรหม ซึ่งเป็นพรหมที่มีแต่รูปธรรม ไม่มีนามธรรม จึงก็ไม่อาจจะอบรมเจริญปัญญาได้

    สำหรับอรูปพรหมภูมิ เป็นพรหมที่มีแต่นามธรรม ไม่มีรูปธรรม จึงไม่สามารถที่จะรู้แจ้งรูป ซึ่งกามราคานุสัย คือ ความพอใจในรูปที่น่ายินดี ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะที่น่ายินดี ก็ยังไม่ได้ดับ และถ้าไม่ได้อบรมเจริญปัญญาที่จะประจักษ์แจ้งความเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม ผู้นั้นย่อมไม่สามารถเป็น พระอริยบุคคลได้

    เพราะฉะนั้น การรู้แจ้งเป็นพระโสดาบันบุคคล ต้องเฉพาะในสุคติภูมิที่มีขันธ์ ๕ ถ้าในอรูปพรหมภูมิ ผู้นั้นต้องเป็นพระอริยบุคคล คือ เป็นพระโสดาบันบุคคล ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก่อน และเกิดในอรูปพรหมภูมิ จึงจะสามารถบรรลุความเป็น พระอริยบุคคลขั้นต่อๆ ไปได้ แต่ถ้ายังไม่เป็นพระโสดาบันบุคคลและเกิดเป็น อรูปพรหมบุคคลในอรูปพรหมภูมิ ไม่มีโอกาสที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    สำหรับกาลที่มิใช่ขณะ มิใช่สมัย ในการที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐานประการต่อไป คือ

    อีกประการหนึ่ง แม้พระผู้มีพระภาคจะตรัสรู้ และจะได้ทรงแสดงธรรมแล้ว แต่บุคคลนี้กลับมาเกิดในปัจจันตชนบทและอยู่ในพวกมิลักขะ ไม่รู้ดีรู้ชอบ อันเป็นสถานที่ไม่มีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาไปมา ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้มิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๕ ฯ

    ถ้าเกิดเป็นคนไม่ฉลาด ไม่รู้ดีรู้ชอบ แม้ได้ยินได้ฟังพระธรรม ก็ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรม หรือว่าอบรมเจริญสติปัฏฐานได้

    เพราะฉะนั้น ขอให้ทุกคนคิดถึงแต่ละขณะที่มีค่า ที่เกิดเป็นมนุษย์และมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ซึ่งจะมีเวลาต่อไปอีกไม่นานเลย จึงควรที่จะได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน เนืองๆ บ่อยๆ

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    อีกประการหนึ่ง ฯลฯ แต่บุคคลนี้กลับมาเกิดในมัชฌิมชนบท แต่เขาเป็นมิจฉาทิฏฐิ

    ขอให้คิดดู บางคนเกิดในถิ่นไกล ไม่มีการได้ยินได้ฟังพระธรรม แต่บางคนไม่ได้เกิดในถิ่นไกลแสนไกลห่างไกลอย่างนั้น เกิดในมัชฌิมชนบท คือ ในที่ที่มีการแสดงธรรม มีการฟังธรรม แต่เขาเป็นมิจฉาทิฏฐิ

    มีความเห็นวิปริตว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล การบวงสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ทั้งหลายที่ผุดเกิดขึ้นไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ กระทำให้แจ้งซึ่งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสั่งสอนประชุมชนให้รู้ตาม ไม่มีในโลก ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้มิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๖ ฯ

    อีกประการหนึ่ง แม้พระผู้มีพระภาคจะประสูติ ตรัสรู้ ทรงแสดงธรรม แต่บุคคลนี้กลับมาเกิดในมัชฌิมชนบท แต่เขามีปัญญาทราม บ้าใบ้ ไม่สามารถรู้อรรถแห่งสุภาษิตและทุพภาษิต ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้มิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๗ ฯ

    อีกประการหนึ่ง ตถาคตอุบัติแล้วในโลก เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็น ผู้จำแนกธรรม ธรรมอันนำความสงบมาให้ เป็นไปเพื่อปรินิพพาน ให้ถึงการตรัสรู้ อันพระสุคตเจ้าทรงประกาศแล้ว แต่พระตถาคตมิได้แสดง … ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้มิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๘

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กาลอันมิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ๘ ประการนี้แล ฯ

    ตรงกันข้ามกับ ๘ ประการ ก็คือ ขณะและสมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์

    ข้อความตอนท้ายของพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ชนเหล่าใดเกิดในมนุษยโลกแล้ว เมื่อพระตถาคตทรงประกาศสัทธรรม ไม่เข้าถึงขณะ ชนเหล่านั้นชื่อว่าล่วงขณะ ชนเป็นอันมากกล่าวเวลาที่เสียไปว่า กระทำอันตรายแก่ตน พระตถาคตเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลกในกาลบางครั้งบางคราว

    ไม่ใช่ว่าจะมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งพร้อมที่จะอุบัติและตรัสรู้แสดงธรรมได้บ่อยๆ โดยที่เมื่อไม่ได้ฟังพระธรรมจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ อีกไม่นาน ก็จะได้ฟังจากพระผู้มีพระภาคพระองค์ต่อไป แต่ให้เห็นว่า นานเพียงใดกว่า พระผู้มีพระภาคแต่ละพระองค์จะอุบัติและตรัสรู้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    การที่พระตถาคตเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ๑ การได้กำเนิดเป็นมนุษย์ ๑ การแสดงสัทธรรม ๑ ที่จะพร้อมกันเข้าได้ หาได้ยากในโลก ชนผู้ใคร่ต่อประโยชน์จึงควรพยายามในกาลดังกล่าวมานั้น ที่ตนพอจะรู้จะเข้าใจสัทธรรมได้ ขณะอย่าล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย เพราะบุคคลที่ปล่อยเวลาให้ล่วงไป พากันยัดเยียดในนรก ย่อมเศร้าโศกอยู่ หากเขาจะไม่สำเร็จอริยมรรค อันเป็นธรรมตรงต่อสัทธรรมในโลกนี้ได้ เขาผู้มีประโยชน์อันล่วงเสียแล้ว จักเดือดร้อนสิ้นกาลนาน

    ถ้าใครจากโลกนี้ไปสู่นรก น่าเสียดายเวลาที่เคยเกิดเป็นมนุษย์ไหม ที่จะไม่ได้อบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ถ้าบุคคลใดอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะไม่เสียดายเวลา เพราะบุคคลนั้นสามารถที่จะได้รับประโยชน์โดยที่ ขณะอย่าล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย

    พระผู้มีพระภาคตรัสอุปมาว่า เหมือนพ่อค้าผู้ปล่อยให้ประโยชน์ล่วงไป เดือดร้อนอยู่ ฉะนั้น

    พ่อค้าทั้งหลายต้องรู้กาลเวลาว่า ขณะไหนจะได้ประโยชน์เต็มที่ ฉันใด ผู้ที่ได้ฟังพระสัทธรรมแล้ว ก็ควรเหมือนพ่อค้าที่จะรู้ว่า แต่ละขณะที่ควรจะได้ประโยชน์เต็มที่จากการฟังพระธรรม คือ การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    คนผู้ถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้ พรากจากสัทธรรม จักเสวยแต่สงสาร คือ ชาติและมรณะสิ้นกาลนาน

    บางท่านอาจจะคิดถึงมิตรสหายหรือญาติสนิทซึ่งไม่สนใจธรรมเลย แต่ก็ช่วยไม่ได้ ทั้งๆ ที่อยากจะให้ท่านเหล่านั้นสนใจฟังพระธรรม ให้ประพฤติปฏิบัติตาม แต่จะทำอย่างไรได้ นอกจากความจริงที่ว่า คนผู้ถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้ พรากจากสัทธรรม จักเสวยแต่สงสาร คือ ชาติและมรณะสิ้นกาลนาน และไม่ใช่แต่เฉพาะบุคคลอื่น ทุกบุคคลที่ยังไม่ใช่เป็นพระอริยบุคคล

    ส่วนชนเหล่าใด ได้อัตภาพเป็นมนุษย์แล้ว เมื่อพระตถาคตประกาศสัทธรรม ได้กระทำแล้ว จักกระทำ หรือกระทำอยู่ตามพระดำรัสของพระศาสดา ชนเหล่านั้นชื่อว่าได้ประสบขณะ คือ การประพฤติพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยมในโลก ชนเหล่าใดดำเนินไปตามมรรคาที่พระตถาคตเจ้าทรงประกาศแล้ว สำรวมในศีลสังวรที่ พระตถาคตเจ้าผู้มีจักษุเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ทรงแสดงแล้ว คุ้มครองอินทรีย์ มีสติทุกเมื่อ ไม่ชุ่มด้วยกิเลส ตัดอนุสัยทั้งปวงอันแล่นไปตามกระแสบ่วงมาร ชนเหล่านั้นแล บรรลุความสิ้นอาสวะ ถึงฝั่ง คือ นิพพานในโลกแล้ว ฯ

    จบ สูตรที่ ๙

    การฟังพระสัทธรรมเกื้อกูลให้สติเมื่อกี้เกิดระลึกบ้างไหม ไม่ว่าจะเล็กน้อย นิดหน่อย เพียงชั่วขณะที่แข็งที่ระลึกได้ แต่จะต้องศึกษาจนกระทั่งรู้ว่า แข็งไม่ใช่เรา ไม่ใช่วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและปรากฏ ไม่มีใครสามารถสร้างธาตุรู้แข็งขึ้น ไม่มีใครสามารถสร้างสุขเวทนา หรือทุกขเวทนา หรืออุเบกขาเวทนาขึ้น เป็นสิ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และเป็นเพียงธาตุแต่ละอย่างเท่านั้นเอง

    นี่เป็นสิ่งที่จะต้องระลึกบ่อยๆ เนืองๆ จนกว่าจะรู้ชัด อย่าให้ขณะล่วงไปเสีย คือ ขณะนี้เอง สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เรื่องของอินทรีย์ ๕ กล่าวได้ว่ามีทั่วไปในพระไตรปิฎก เพราะผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชน ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีศรัทธาในพระรัตนตรัย ซึ่งศรัทธานั้นย่อมไม่ได้หมายถึงเพียงการนับถือ แต่หมายความว่า ต้องมีการศึกษาพระธรรมและน้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อมีการศึกษา และน้อมประพฤติปฏิบัติตามจนกว่าจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม เรื่องของอินทรีย์ ๕ จึงมีทั่วไปในพระไตรปิฎก ซึ่งขอกล่าวถึงเพียงบางส่วนเพื่อที่จะให้เข้าใจเรื่องของอินทริยปัจจัยโดยละเอียด เพราะเป็นปัจจัยที่กว้างขวางมาก

    มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ มหาสกุลุทายิสูตร มีข้อความที่ พระผู้มีพระภาคตรัสกับสกุลุทายีปริพาชก เรื่องการเจริญธรรมเครื่องให้ตรัสรู้อริยสัจ ๔

    ท่านผู้ฟังไม่ทราบจะคิดบ้างหรือเปล่าว่า สติปัฏฐาน ๔ ตามที่เข้าใจแล้ว คือ การระลึกรู้ลักษณะของกาย สภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย ระลึกรู้ลักษณะของเวทนา ความรู้สึกต่างๆ ระลึกรู้ลักษณะของจิต สภาพของจิตต่างๆ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เหล่านี้จะไปสิ้นสุดลงเมื่อไร และจะต้องประกอบด้วยธรรมอื่นๆ อีกเท่าไร ในการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะว่าปัญญาหรือการอบรมเจริญสติปัฏฐานจะต้องค่อยๆ เจริญขึ้น ทีละเล็กทีละน้อยตรงตามความเป็นจริง คือ ต้องเป็นปัญญาที่สามารถจะรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทางตารู้ชัดในลักษณะที่เป็นอนัตตา ซึ่งลักษณะนั้นต้องเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรมจริงๆ จึงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้น ในระหว่างที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน สภาพของอินทรีย์ ๕ ที่ค่อยๆ เจริญขึ้น จะประกอบด้วยธรรมเครื่องให้ตรัสรู้ ๓๗ ประการ ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับสกุลุทายีปริพาชกใน มหาสกุลุทายิสูตร มีข้อความว่า

    ข้อ ๓๓๓

    ดูกร อุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้ว สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมเจริญสติปัฏฐาน ๔ …

    ข้อ ๓๓๔ ... ย่อมเจริญสัมมัปปธาน ๔ ...

    ข้อ ๓๓๕ ... ย่อมเจริญอิทธิบาท ๔ ...

    ข้อ ๓๓๖ ... ย่อมเจริญอินทรีย์ ๕ ...

    ข้อ ๓๓๗ ... ย่อมเจริญพละ ๕ ...

    ข้อ ๓๓๘ ... ย่อมเจริญโพชฌงค์ ๗ ...

    ข้อ ๓๓๙ ... ย่อมเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ...

    ทรงแสดงโพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ใน มหาสกุลุทายิสูตร ซึ่งเมื่ออินทรีย์ ๕ หรือมหาสติปัฏฐานสูตรเจริญไปเรื่อยๆ ก็จะปรุงแต่งให้ประกอบด้วยธรรมเครื่อง ให้ตรัสรู้ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรค ๘ รวมเป็นโพธิปักขิยธรรม ๓๗

    สำหรับในเรื่องของอินทรีย์ ๕ ข้อ ๓๓๖ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้ว สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมเจริญอินทรีย์ ๕

    ดูกร อุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญสัทธินทรีย์ที่จะให้ถึงความสงบระงับ ให้ถึงความตรัสรู้ เจริญวิริยินทรีย์ที่จะให้ถึงความสงบระงับ ให้ถึงความตรัสรู้ เจริญสตินทรีย์ที่จะให้ถึงความสงบระงับ ให้ถึงความตรัสรู้ เจริญสมาธินทรีย์ที่จะให้ถึงความสงบระงับ ให้ถึงความตรัสรู้ เจริญปัญญินทรีย์ที่จะให้ถึงความสงบระงับ ให้ถึงความตรัสรู้

    ก็เพราะสาวกทั้งหลายของเรา ปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอก แล้วเจริญอินทรีย์ ๕ นั้นแล สาวกของเราเป็นอันมากจึงได้บรรลุบารมีอันเป็นที่สุดแห่งอภิญญา

    ซึ่งก็รวมถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรมด้วย ถ้ามีแต่ศรัทธาเท่านั้น ยังไม่ใช่สัทธินทรีย์ ถ้าขณะนั้นไม่ใช่หนทางปฏิบัติที่จะให้ถึงความสงบระงับ หรือให้ถึงความตรัสรู้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๑๒๑๑ – ๑๒๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 87
    28 ธ.ค. 2564