แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1230
ครั้งที่ ๑๒๓๐
สาระสำคัญ
การเจริญสติปัฏฐานเป็นหนทางเดียว
สาวกต้องอาศัยการฟังพระธรรม
จุดประสงค์ของการเจริญสติปัฏฐาน
พระรัตนตรัยทั้ง ๓ เป็นอนุสสติ
สนทนาธรรมที่สังกัสสะ (ต่อ)
วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๒๖
ถ. กายภายนอกเป็นตัวเป็นตนมากกว่ากายภายใน เพราะกายภายนอก ผมเห็นละเอียดมากกว่า จะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า
สุ. ทางตาติด ในขณะที่ไม่รู้ความจริงว่า เห็นต่างกับสิ่งที่ปรากฏ ทางหูติดในขณะที่ไม่รู้ว่า เสียงต่างกับได้ยิน ถ้ายังไม่สามารถแยกสภาพรู้ออกจากรูปธรรมที่ปรากฏ ก็ยังคงมีเรา มีตัวตนอยู่ แล้วแต่ว่าใครจะติดทางไหนมากน้อย
แต่ละคนสะสมความพอใจการติดในแต่ละทางมามากน้อยต่างกัน แต่ในฐานะของปุถุชน ติดทุกทาง แล้วแต่ใครจะหนักในทางไหน
ถ. … (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. มีหนทางเดียว หนทางนี้ทรงแสดงอยู่ตลอดเวลาที่ยังไม่ทรงดับ ขันธปรินิพพาน คือ การเจริญสติปัฏฐาน เป็นหนทางเดียว
ถ. ทางตาสติปัฏฐานไม่ค่อยเกิด จะมีวิธีใดบ้าง
สุ. ถ้าสามารถจะมีวิธี และทำได้อย่างที่อยาก คุณหมอจะเป็นพระอรหันต์ในชาตินี้ เพราะสติเกิดได้ตามที่อยาก แต่ไม่มีทางอื่นเลย
ถ. ก็ต้องปล่อยไปเรื่อยๆ
สุ. ไม่ใช่ปล่อย คนที่ไม่ได้เคยฟังพระธรรมจะไม่ได้ยินคำว่า สติปัฏฐาน ถูกไหม และจะใช้คำว่า สติ ผิดๆ ด้วย เช่น เดินไม่หกล้มก็บอกว่ามีสติ นั่นคือผู้ที่ไม่ได้ฟังพระธรรม แต่เข้าใจเอาเอง ไม่ได้รู้จริงๆ ว่า คำที่ใช้อยู่ทุกวันนี้เป็นคำที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงหรือเปล่า ต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ศึกษาโดยละเอียดจริงๆ ด้วยความรอบคอบ ไม่มีทางเข้าถึงพระธรรมได้แน่นอน
เพราะฉะนั้น เมื่อทราบหนทางแล้ว ก็มีหนทางเดียว คือ ศึกษาพระธรรมแล้วแต่ว่าจะโดยการอ่าน โดยการฟัง หรือโดยการสนทนา หรือโดยการพิจารณาธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ปล่อยไปเฉยๆ ถ้าไม่เข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน แต่อยากให้ สติเกิด เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
แต่เมื่อเข้าใจสติปัฏฐานอย่างดี และเป็นผู้ที่ศึกษาอยู่เสมอ เป็นผู้ที่ระลึกถึงเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมที่ได้ยินได้ฟังบ่อยๆ สติจึงเกิดได้ เพราะมีปัจจัยที่จะเกิด จะเกิดทวารไหนไม่สำคัญ ข้อสำคัญ คือ พิจารณา สังเกต คือ ศึกษาในขณะที่สติกำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมทวารหนึ่งทวารใด
ทวารหนึ่งทวารใดก่อนก็ได้ ทุกทวารทีเดียวไม่ได้แน่
ทุกทวารนี้ต้องนับว่าคล่องมาก ที่จะระลึกได้ไม่ว่าจะทางตาและทางใจ ทางหูและทางใจ ทางจมูกและทางใจ ที่จะแยกโลกของปรมัตถ์กับโลกของสมมติสัจจะ เพราะก่อนที่จะได้ฟังพระธรรมก็อยู่ในโลกของสมมติสัจจะทั้งนั้น ไม่รู้เลยว่า ปรมัตถสัจจะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดดับนั้นเป็นอย่างไร
แม้แต่จุดประสงค์ของการฟังในขณะนี้ ก็ไม่ใช่หวังที่จะให้สติเกิดระลึกสลับกันไปพร้อมกับการฟัง แต่จุดประสงค์ คือ เพื่อเข้าใจ และเมื่อเข้าใจแล้ว ไม่ต้องเป็นห่วง เมื่อความเข้าใจเจริญเติบโตขึ้น จะต้องเป็นปัญญาแต่ละขั้นที่พร้อมสติแต่ละขั้น ข้ามขั้นไม่ได้เลย และในขณะที่เข้าใจ ใครจะไปบังคับให้สติไม่เกิดก็ไม่ได้ ถ้ามีปัจจัยที่สติจะเกิด จึงได้เห็นความเป็นอนัตตาแม้ของสติ ต้องเริ่มตั้งแต่ความเป็นอนัตตาของสติ จึงจะเห็นจริงๆ ว่า สภาพธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตา
ถ. การเจริญสติปัฏฐานในชาตินี้จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยไปสู่ภพหน้า แต่ในชาตินี้ เราทำบุญก็ดี หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปแล้ว บางครั้งหลงลืม ในเมื่อชาตินี้เรายังหลงลืมได้ ทำไมการเจริญสติปัฏฐานที่เจริญแล้วจึงสะสมไปถึงชาติหน้าภพหน้าได้ ความต่างกันอยู่ตรงไหน
สุ. ถ้าโลภะสะสมได้ สติก็ต้องสะสมได้
ถ. แต่ความหลงลืม บางทีทำไปแล้วอาจจะลืม จำไม่ได้
สุ. เวลานี้ทุกคนอาจจะเข้าใจสติที่เกิดบ้างคนละเล็กคนละน้อยว่า มีกำลังเหลือเกิน พอที่ว่าจะติดตามไปให้เป็นผู้ที่มีสติมากมายอย่างใหญ่โต ทำไมไม่คิดถึงว่า แม้ในชาตินี้อวิชชาหรือความหลงลืมสติยังมีมากกว่าสติ เพราะฉะนั้น ชาติหน้าจะเป็นอย่างไร สติอาจไม่เกิดเลยตลอดชาติก็ได้ แล้วแต่เหตุปัจจัย ถ้าเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน สติปัฏฐานจะไม่เกิดเลย หรือถ้าเกิดเป็นคนแต่ไม่มีโอกาสได้ยินได้ฟัง สติปัฏฐาน ก็ไม่เกิด
แต่สติปัฏฐานที่ฟังแล้ว ไม่หายไปไหน เมื่อใดมีโอกาสได้ฟังอีก ก็มีความเข้าใจเร็วขึ้น เพราะว่าเคยได้ฟังมาแล้ว
ถ. เราจะระลึกได้เองโดยไม่ได้ฟัง เจริญสติเองได้หรือเปล่า
สุ. ผู้ที่เป็นสาวกทั้งหมด ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ถ้าจะระลึก ก็ระลึกแต่ไม่ใช่สติปัฏฐาน เช่น ระลึกว่า โลกไม่เที่ยง ถ้วยแก้วที่แตกนี้ไม่เที่ยง ไม่มีอะไรเลยที่เที่ยง อาจจะระลึกอย่างนั้นได้ ทั้งๆ ที่สะสมสติปัฏฐานมามากแล้ว แต่ในฐานะที่เป็นสาวก ที่สติจะเกิดอีกหรือที่จะสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ต้องได้ฟัง จะโดยสั้น โดยย่อ โดยทางหนึ่งทางใดก็ตาม
ถ. รวมถึงพระอริยบุคคลด้วยใช่ไหม
สุ. พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ต้องฟังจากใคร เฉพาะในชาติที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าไม่ต้องฟังจากใครในชาติที่จะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า แต่ในชาติก่อนๆ ที่เป็นพระโพธิสัตว์ ซึ่งกำลังสั่งสมบารมีที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ต้องฟัง มิฉะนั้นจะไม่มีความต่างกันระหว่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวก
ถ. ในพระชาติที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงตรัสรู้ ในขณะที่เป็นเจ้าชายอยู่นั้น ไปศึกษาหาความรู้กับอาจารย์ ๒ ท่านนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรู้ในการเจริญสติปัฏฐานเลยหรือ
สุ. ถ้าผู้ใดสามารถให้ความรู้เรื่องการเจริญสติปัฏฐานได้ ผู้นั้นต้องเป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ถ้าอาฬารดาบสสามารถให้ความรู้เรื่องสติปัฏฐานได้ อาฬารดาบสต้องเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ต้องเป็นสาวก ถ้าได้รับฟังเรื่องสติปัฏฐานจากอาฬารดาบส
สนทนาธรรมที่ห้องอาหารโรงแรมมายา เขตนครสาวัตถี
วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๒๖
ถ. ขณะที่ผมเดินออกจากพรมไปที่พื้น พื้นเย็น คือ สภาพที่ปรากฏในขณะนั้นเป็นเพียงเย็นอย่างเดียว แต่ผมไม่เคยพิจารณาว่า นั่นเป็นรูปหรือเป็นนาม
สุ. ผลต้องมาจากเหตุ ปัญญาทุกๆ ขั้น ต้องมาจากเหตุ เราจะเอาปัญญาขั้นไหนเกิด ปัญญาขั้นนั้นก็ต้องมาจากเหตุ ต้องมีเหตุของปัญญาทุกขั้น
ถ. ทางฆานทวาร รู้สึกถึงความเป็นนามมากกว่ารูป ถ้ากลิ่นอะไรปรากฏแรงๆ เป็นนามมากกว่ารูป ซึ่งทางตา รู้สึกว่ารูปมากกว่านาม
สุ. มีตั้งมากมายที่จะต้องรู้ เมื่อเพิ่งรู้นิดหนึ่ง ก็ยังอีกมากมายที่จะต้องรู้ คือ ตลอดชีวิต กี่ชีวิต กี่ชาติก็ตามแต่ ทุกอย่างที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้น สติจะต้องระลึก จนกว่าจะไม่ใช่ตัวตน
ถ. ในเวทนานุปัสสนา ไม่มีเรื่องรูปเลย ใช่ไหม ทั้งในจิตตานุปัสสนาด้วย ใช่ไหม
สุ. ถูกต้อง ทำไมเราถึงพูดเรื่องนี้ แต่ก็ดีอย่างหนึ่ง คือ ให้เข้าใจถูกต้องว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้น ยาก ใช่ไหม แต่จะอย่างไรก็ตาม ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า สติคือขณะไหน ระลึกแล้วรู้อะไร
ถ. สติ ผมคิดว่าคงมี เพราะต่างกับหลงลืมสติมาก นึกถึงเวลาที่หลงลืมสติแล้วเห็นชัดว่า หลงลืมสติมานาน เมื่อมีสติก็รู้ว่ามีสติ แต่ผมยังไม่เกิดปัญญาอะไรขึ้นมากมาย
สุ. นี่ถูกต้องตามความเป็นจริง
ถ. ผมสงสัยเรื่อง คิริมานนทสูตร ซึ่งพระสูตรนี้ถ้าเอาไปใช้ คงจะได้ประโยชน์สำหรับทุกคน เท่าที่ผมจำได้ แต่อาจจะผิดบ้างก็ได้ คือ ครั้งหนึ่ง ท่านพระคิริมานนท์อาพาธหนัก มีทุกขเวทนามาก ได้เรียกให้ท่านพระอานนท์ไป ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ท่านอาพาธหนัก มีทุกขเวทนามาก ควรจะทำอย่างไรทุกขเวทนานั้นจึงจะหายไป ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบว่า ให้ท่านพระคิริมานนท์เจริญสติปัฏฐาน แยกกายกับใจให้ได้ ทุกขเวทนานั้นจะหายไป
ขอเรียนถามว่า การเจริญสติปัฏฐานเพื่อแยกกายกับใจให้เป็นคนละส่วน และทุกขเวทนาจะหายไป จะทำได้แค่ไหน อย่างไร
สุ. จุดประสงค์ของการเจริญสติปัฏฐาน อาจจะมีหลายอย่างสำหรับ แต่ละบุคคล บางคนอาจต้องการผลพลอยได้ของสติปัฏฐาน เช่น ให้ทุกขเวทนาน้อยลง แต่จุดประสงค์จริงๆ ไม่ว่าจะฟังพระธรรมหรือเจริญสติปัฏฐานก็ตาม ควรจะเป็นว่า เพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงไว้ เพื่อประพฤติปฏิบัติตาม โดยไม่หวังผลพลอยได้อื่นๆ
ผลพลอยได้ มี แต่ไม่ควรจะเป็นที่หวัง ที่หวังนั้นควรจะเป็นปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมด้วยการฟัง ด้วยการอบรมเจริญ และปฏิบัติตามทีละเล็กทีละน้อย อย่างท่านพระคิริมานนท์ หรือว่าท่านพระสาวกองค์อื่นๆ แม้พระผู้มีพระภาคเองเวลาที่ทรงพระประชวร ท่านพระมหากัสสปะก็แสดงโพชฌงค์ แสดงธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงให้กับท่านนั่นเอง
ซึ่งในขณะที่กำลังฟัง ย่อมเป็นธรรมดาที่ว่า เมื่อมีปัจจัยที่จะให้จิตน้อมไปสู่ สิ่งใด จิตก็น้อมไปสู่สิ่งนั้น ทุกขเวทนาจึงไม่มีโอกาสเกิดขึ้นปรากฏตามกำลังของ เหตุปัจจัย แต่ไม่ควรจะคิดว่า ทำอย่างนี้เพื่อหวังอย่างนั้น หรือเพื่อให้ทุกขเวทนาน้อยลง มิฉะนั้นแล้วจะไม่เป็นผู้ที่มั่นคงในพระธรรมจริงๆ เพราะว่ายังหวังอย่างอื่นอยู่ แม้เพียงหวังที่จะให้ทุกขเวทนาเบาบางลง ก็ไม่ควรที่จะเป็นจุดประสงค์ แต่ทุกขเวทนาจะเบาบางได้จริง เพราะขณะนั้นมีสิ่งอื่นซึ่งจิตน้อมไปสู่ เช่น พระธรรมที่ได้ทรงแสดงแล้ว
เวลาที่สนใจธรรม ไม่มีอะไรที่จะน่าฟัง และน่าพิจารณาเท่ากับพระธรรม เพราะฉะนั้น เวลาที่มีพระธรรมที่น่าพิจารณา น่าฟัง น่าน้อมไปสู่ ก็ย่อมทำให้จิตผูกพันไปกับสิ่งนั้น ทุกขเวทนาจึงขาดปัจจัยที่จะเกิดขึ้น แต่ไม่ควรจะเป็นที่หวัง
ขอประทานโทษ อยากจะให้พี่หงวนน้อมระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคมากกว่าบุคคลอื่นใดทั้งสิ้น ต้องขอ เพราะบุคคลอื่นนั้นเป็นเพียงกัลยาณมิตร คือ ผู้ที่ช่วยให้ได้เข้าถึงพระธรรม แต่ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงพระธรรม ก็ไม่มีใครสามารถที่จะเอาถ้อยคำหรือธรรมต่างๆ เหล่านั้นมาแสดงให้บุคคลอื่นฟังได้ เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นควรจะตัดการคิดถึงบุคคลอื่น และน้อมระลึกถึงพระผู้มีพระภาค สูงที่สุด มากที่สุด บ่อยที่สุด ซึ่งคนอื่นเป็นแต่เพียงผู้ที่แสดงธรรมตามที่พระผู้มี พระภาคได้ทรงแสดงแล้ว โดยเฉพาะที่นี่ คือ เขตพระนครสาวัตถีในอดีต เพราะฉะนั้น ต้องระลึกถึงพระรัตนตรัยทั้ง ๓ เป็นอนุสสติ
คุณหมอยังมีอะไรสงสัยไหมในเรื่องของคิริมานนทสูตร
ถ. สำหรับตัวผมเองเวลาป่วยไข้ และสำหรับทุกๆ คนด้วย ถ้าได้เข้าใจ เราอาจจะนำไปปฏิบัติเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย หรือแนะนำคนไข้ เป็นสิ่งที่ได้ประโยชน์
สุ. ถ้าจะแนะนำคนไข้ คนไข้อาจจะไม่เข้าใจ อาจจะมีศรัทธาเกิดขึ้นบ้างเล็กน้อย แต่เรื่องของกรรม เรื่องของวิบาก เป็นเรื่องที่จะต้องเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย เพราะฉะนั้น ทางที่ดีที่สุด คือ มีพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และ ทรงแสดงไว้โดยละเอียดเป็นที่พึ่ง ซึ่งจะต้องรักษาโดยการเข้าใจให้ถูกต้องและ ประพฤติปฏิบัติตาม มิฉะนั้นแล้วบางคนอาจจะบ่นว่า เสียดายเหลือเกินที่ศาสนาจะค่อยๆ สูญไปทีละเล็กทีละน้อย เพียงแต่เสียดาย แต่ไม่ช่วยกันรักษา ถ้าเสียดาย จริงๆ ทุกครั้งที่ฟังพระธรรม ไม่ว่าจากบุคคลใดทั้งสิ้น ขอให้ทราบว่า ประโยชน์จริงๆ ที่ได้รับจากการเสียเวลาฟัง คือ ต้องเข้าใจถูก เข้าใจขึ้น มิฉะนั้นจะเป็นการเสียเวลาเปล่าทั้งหมดที่ฟัง
ถ. ในพระสูตรนี้ ผมเข้าใจว่า ท่านพระคิริมานนท์ได้เป็นพระอรหันต์ ใช่ไหม
สุ. นั่นเป็นไปตามการสะสมของท่านเป็นปัจจัย คือ ใครสะสมเหตุปัจจัยที่จะได้เป็นพระอรหันต์ ก็มีอุปกรณ์พร้อมที่จะบรรลุ แต่ไม่ใช่ว่าใครก็ตามซึ่งไม่มีเครื่องมือ ไม่มีอุปกรณ์เลย ฟังคิริมานนทสูตรแล้ว จะบรรลุอย่างท่านพระคิริมานนท์ ไม่ใช่ว่าเมื่อบุคคลนี้ได้ฟังพระสูตรนี้แล้วบรรลุ บุคคลอื่นก็น่าจะเอาไปใช้บ้าง ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมเจริญปัญญา พิจารณาพระธรรม และเข้าใจโดยละเอียดจริงๆ โดยรอบคอบจริงๆ และอดทนที่จะประพฤติปฏิบัติตาม
การศึกษาธรรม บางทีไม่ต้องมาก แม้เพียงข้อเดียว หรือว่าธรรมขันธ์เดียว ถ้าพิจารณาให้ตรง ก็สามารถที่จะน้อมประพฤติปฏิบัติตามจนกระทั่งประจักษ์แจ้ง
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๓ ตอนที่ ๑๒๒๑ – ๑๒๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1201
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1202
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1203
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1204
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1205
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1206
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1207
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1208
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1209
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1210
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1211
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1212
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1213
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1214
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1215
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1216
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1217
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1218
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1219
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1220
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1221
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1222
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1223
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1224
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1225
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1226
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1227
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1228
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1229
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1230
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1231
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1232
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1233
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1234
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1235
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1236
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1237
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1238
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1239
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1240
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1241
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1242
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1243
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1244
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1245
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1246
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1247
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1248
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1249
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1250
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1251
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1252
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1253
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1254
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1255
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1256
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1257
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1258
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1259
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1260