แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1239
ครั้งที่ ๑๒๓๙
สาระสำคัญ
ฟังให้เข้าใจ ในนามธรรมหรือหรือรูปธรรม
การเจริญสติปัฏฐาน
รู้ลักษณะต่างกับการนึกคิด
ลักษณะธาตุรู้ปรากฏ ทางมโนทวาร
อบรมเจริญปัญญา เพื่อถอน เพื่อคลายความเป็นตัวตน
สนทนาธรรมที่โรงแรมกุสินารา ใกล้สถานที่ปรินิพพาน
วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๒๖
ถ. เวลาที่สภาพธรรมเกิดขึ้น อาจารย์ให้ใส่ใจในนามก็ได้ หรือในรูปก็ได้
สุ. แล้วแต่สติ
ถ. แต่เรายังแยกไม่ออกว่า อะไรคือนาม อะไรคือรูป ยังรวมกันอยู่
สุ. แน่นอน
ถ. และจะใส่ใจในนามหรือในรูปได้อย่างไร
สุ. ตอนแรกๆ ใครจะแยกออก ถ้าไม่ฟังให้เข้าใจและเริ่มค่อยๆ แยก ก็แยกไม่ออกอยู่นั่นเอง ในเมื่อคุณจารุพรรณคิดว่า แยกไม่ออกจะทำอย่างไร ก็ฟัง เมื่อฟังแล้วเข้าใจ ขณะที่เพียรที่จะแยก นั่นคือสภาพนามธรรม ไม่ใช่ว่าจะชัดเจนขึ้นมา แต่เริ่มต้นแล้วโดยเคยฟังมาอย่างไร ความเพียรก็กำลังเกิดขึ้นเพื่อที่จะน้อมไปรู้ในลักษณะนั้นตามที่เคยฟัง จนกว่าจะรู้
ถ. ตามที่อาจารย์บรรยาย อาจารย์ให้ใส่ใจในนามก็ได้ หรือในรูปก็ได้
สุ. ก็ถูก เพราะจะให้รวมกันไม่ได้ ถ้าดิฉันให้ใส่ใจรวมๆ กัน ต่อไปทุกคนก็ไม่มีการแยก ก็รวมๆ กันไป แต่ที่ถูกต้องเป็นอย่างไร คือ ต้องตรงลักษณะ
เพราะฉะนั้น ใครที่ยังไม่ตรงก็เป็นเรื่องของคนที่เริ่มที่กำลังจะพยายามแยก วิริยะก็เกิดขึ้นในขณะนั้น พร้อมทั้งการที่เคยได้ยินได้ฟังมาประกอบ ทำให้สติค่อยๆ ระลึก จนกว่าจะแยกได้
ถ. บางครั้งรู้ในสภาพรู้ๆ หลายๆ ครั้ง
สุ. เป็นธรรมดา เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เป็นไปตามความเป็นจริง ไม่ผิดความเป็นจริงเลย แล้วแต่สติจริงๆ ไม่มีใครไปจัดระเบียบว่า วันนี้กายนะ หรือคิดว่าวันนี้ชาวกุรุต้องตั้งต้นที่กาย ชาวกุรุเขาถามกันว่า วันนี้ใครเจริญเวทนาไหน
ก็เหมือนวันนี้ที่คุณสุรีย์บอกว่า นาม นาม นาม ซึ่งชาวกุรุเขาก็คุยกันอย่างนี้ว่า วันนี้เขาระลึกที่นามบ่อยๆ ก็แล้วแต่ว่าจะเป็นจิต หรือว่าเป็นเวทนา แต่ไม่ใช่ เป็นกฎตั้งต้น
ถ. อะไรก็ได้
สุ. ใครจะบังคับสติได้ อยากจะรู้จริงๆ
ถ. เดี๋ยวก็รู้ที่ความรู้สึกเจ็บ เดี๋ยวก็รู้ที่แข็ง
สุ. ได้ทุกอย่าง ของจริงเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ไม่ต้องเปลี่ยนอะไรเลย
ถ. ให้ตรงลักษณะ
สุ. ตรงลักษณะ อย่างนั้นคือการเจริญสัมมาสติ ที่จริงธรรมดาและง่าย ไม่มีการไปฝืนอะไรเลย แต่ความไม่รู้เท่านั้นที่กั้นอยู่ เมื่อความไม่รู้กั้นอยู่ก็งงไปเลย สงสัยแม้แต่ขณะที่ลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ จะทำอย่างไร จะเจริญอย่างไร จะแยกอย่างไร ก็เป็นตอนที่ทุกคนจะต้องอบรมต่อสู้ไปด้วยตัวของตัวเองจนกว่า ปัญญาจะรู้ ไม่มีการทำอย่างอื่นเลย
และจะเห็นได้ว่า ต้องทั้ง ๖ ทาง อย่างเวลาที่ความคิดนึกเกิดขึ้น จะพอใจก็ได้ จะเห็นด้วยกับความคิดนึกก็ได้ แต่ที่ถูกคืออย่างไร คือ รู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพคิด ไม่ใช่เรา เป็นนามธรรมที่กำลังรู้คำ ไม่ใช่รู้สี ไม่ใช่รู้เสียง จึงจะรู้ว่าลักษณะของธาตุรู้ อาการรู้ ที่รู้คำก็อย่างหนึ่ง ที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาก็อย่างหนึ่ง พูดเหมือนกับตำรา แต่ปัญญาต้องรู้อย่างนี้พร้อมสติ
เพราะฉะนั้น ความรู้กับตำราไม่แยกกันเลย จะผิดจากตำราไม่ได้ รู้ก็ต้องรู้ ตรง เมื่อความเป็นจริงเป็นอย่างนั้น ก็ต้องรู้อย่างนั้น
ถ. การรู้ลักษณะ กับการนึกคิดในขณะนั้น เหมือนกันหรือเปล่า
สุ. ไม่เหมือน คิดว่าขณะที่เห็นเป็นนามธรรม นี่คิด ใช่ไหม หรือรู้ว่า กำลังเห็นนี้เป็นสภาพรู้
ถ. ขณะนั้นคิด
สุ. ก็เห็นแล้วว่าต่างกัน
ถ. และที่เป็นลักษณะ
สุ. ก็กำลังรู้ ธาตุรู้ อาการรู้มี มิฉะนั้นสิ่งนี้ก็ปรากฏไม่ได้ และไม่ใช่รู้เสียงด้วย กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏ สิ่งที่กำลังปรากฏจึงปรากฏได้
ถ. จากการฟังนี้เข้าใจ
สุ. เพราะฉะนั้น สติจะต้องระลึก น้อมไปตามที่ได้ฟังจนกว่าจะรู้
ถ. ทางตาไม่ใช่ทางหู ทางจมูก แต่มีลักษณะโดยเฉพาะที่ปรากฏ
สุ. ก็กำลังเห็น กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่รู้เสียง รู้ลักษณะของ สภาพรู้ที่กำลังเห็น กำลังมีสภาพรู้ที่เห็น มิฉะนั้นสิ่งนี้จะปรากฏได้อย่างไร ใช่ไหม
ถ. ต่อจากนั้นก็เป็นเรื่องราวต่อไปอีก
สุ. เป็นอยู่เรื่อย แต่การที่จะรู้ว่าสภาพรู้คืออย่างไร ถ้าไม่มีการเห็น จะไม่มีทางรู้เลยว่าลักษณะรู้เป็นอย่างไร ถ้าไม่มีการได้ยิน ก็ไม่มีวันรู้เลยว่าลักษณะรู้เป็นอย่างไร แต่เพราะมีเสียงปรากฏ จึงรู้ว่ามีสภาพรู้เสียง ลักษณะที่รู้นี้จะต้องอบรมเจริญปัญญาจนแยกสภาพรู้ออกจากเสียง เพราะสภาพรู้มีจริงในขณะที่เสียงกำลังปรากฏ
ถ. เมื่อรู้ชัดแล้ว จึงกล่าวได้ว่า เป็นการ ...
สุ. เป็นการรู้ลักษณะของสภาพรู้ แต่การรู้ชัด ต้องหมายความว่า ลักษณะที่เป็นธาตุรู้ปรากฏทางมโนทวาร ไม่ปะปนกับรูปธรรมเลย จึงรู้ว่าธาตุรู้ อาการรู้ เป็นอย่างนั้น
ถ. ถ้าอย่างนั้นสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นลักษณะของรูปธรรม
สุ. แน่นอนที่สุด แต่เรารู้รูปธรรมโดยเป็นชื่อ ความจริงสิ่งที่กำลังปรากฏ ทำอย่างไรจึงจะรู้ว่าเป็นรูปชนิดหนึ่ง เพราะเรามักจะคิดว่า รูปต้องเป็นกระเป๋า เป็นโต๊ะ เป็นอะไรๆ ลืมไปว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาแท้ที่จริงแล้วเป็นลักษณะของรูป เพราะไม่ใช่สภาพรู้ และเป็นสิ่งที่มีจริงด้วย ถ้ารูปที่ปรากฏทางตาไม่มีจริง จะไม่มีการเป็นคน เป็นสัตว์ หรือเห็นอะไรทางตาเลย
เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏทางตาแท้ๆ มี แต่ไม่รู้ว่าลักษณะนั้นเป็นรูป หรือลักษณะที่กำลังเห็น มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นเครื่องแสดงว่า มีสภาพรู้ อาการรู้ด้วย ซึ่งต้องแยกออกจากสิ่งที่ปรากฏทางตา
นี่คือความยากของสติปัฏฐาน ไม่รู้ว่าจะบอกอย่างไร ยากจริงๆ ลักษณะของนามธรรม ลักษณะของรูปธรรม แต่การที่รูปปรากฏแต่ละทางก็เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า สภาพรู้หรือธาตุรู้มี รูปแต่ละลักษณะนั้นจึงปรากฏได้ เมื่อแยกไม่ออกก็มีความสงสัยว่า รูปเป็นอย่างไร นามเป็นอย่างไร สภาพรู้ อาการรู้เป็นอย่างไร
ถ. เมื่อไรที่แยกออก จึงจะเป็นปัญญา
สุ. แน่นอน
ถ. ตอนนี้เป็นเพียงสติ
สุ. เป็นขั้นการฟัง ซึ่งรู้แน่ว่า สภาพรู้ อาการรู้ ธาตุรู้ ลักษณะรู้ ที่เราใช้คำว่า นามธรรม มีจริงๆ แต่เวลาเห็น ทำอย่างไรจึงจะรู้ว่า ธาตุรู้ อาการรู้ไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะสิ่งที่กำลังปรากฏก็ต้องไม่ใช่ตัวตนด้วย ถูกไหม ที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นเพียงรูปอย่างหนึ่ง ที่ว่าเป็นรูปอย่างหนึ่งก็เพราะว่ากำลังปรากฏ
แม้แต่ความหมายของรูป เราต้องลึกลงไปถึงกับว่า ที่เคยคิดว่าเป็นรูป เป็นอย่างไร อย่างเสียงยอมรับใช่ไหมว่า เสียงเป็นรูปอย่างหนึ่งปรากฏทางหูแล้วหมด แต่ทางตาซึ่งเป็นคนอยู่อย่างนี้จะให้เป็นรูปเฉพาะเพียงปรากฏทางตาเท่านั้น นี่ก็ยาก ซึ่งลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นอย่างนั้นจริงๆ พร้อมกันนั้นต้องมีธาตุที่กำลังรู้ จึงมีสิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏได้ เพราะว่ามีธาตุรู้กำลังเห็น หรือกำลังรู้ในสิ่งที่ปรากฏ
ธาตุรู้นี้หลบซ่อนตัวเก่ง คือ มีแต่รูปปรากฏ แต่รูปจะปรากฏไม่ได้เลย เช่นเสียงจะปรากฏไม่ได้เลย ถ้าไม่มีธาตุที่กำลังรู้เสียง ซึ่งเรามักจะถามว่า ได้ยินไหม และก็ตอบว่า ได้ยิน แต่ลักษณะคือธาตุรู้เสียง ซึ่งเรียกว่าได้ยิน ยากที่จะแยกออกจากเสียง แต่ต้องมีแน่ๆ ในขณะที่เสียงปรากฏ ถ้าไม่มี เสียงปรากฏไม่ได้
เพราะฉะนั้น สติจะต้องระลึกในขณะที่เสียงปรากฏ เพื่อปัญญาจะได้รู้ว่า ลักษณะที่รู้เสียงนั้นอย่างหนึ่ง และลักษณะของเสียงนั้นอีกอย่างหนึ่ง จนกว่าจะแยกออกจากกันได้ จึงจะไม่มีเรา
ความมีเราหรือตัวตน ตั้งแต่เกิดมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเห็นก็ไม่รู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏและสภาพที่กำลังเห็น ขณะที่กำลังได้ยินในขณะนี้ ก็ไม่รู้ลักษณะของเสียง ซึ่งต่างกับสภาพที่กำลังรู้หรือได้ยินเสียง เพราะฉะนั้น ความเป็นเราก็ติดตามไปทั้งเห็น ทั้งได้ยิน ทั้งได้กลิ่น ทั้งลิ้มรส ทั้งกระทบสัมผัส ทั้งคิดนึก ชั่วชีวิตนี้ และต่อไปอีก กี่ภพกี่ชาติ
เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานพร้อมทั้งปัญญาที่จะศึกษาลักษณะของสภาพธรรม จึงไม่ใช่รู้อย่างอื่นและระลึกอย่างอื่น นอกจากสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ ทุกขณะ จนกว่ารู้ชัดเมื่อไร ความเป็นตัวตนจึงค่อยๆ คลายลง แต่ให้รู้ว่า เรานี้ วันหนึ่งๆ ได้เท่าไรแล้ว นิดหนึ่งเท่าผงหรือเท่าอะไร ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และยังเต็มไปด้วยความสงสัย ซึ่งเกิดเพราะความไม่รู้ปรุงแต่งให้สงสัยไป ต่างๆ นานาในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ที่กำลังมีอยู่ กำลังเกิดดับ กำลังมีลักษณะของรูปปรากฏ ซึ่งเท่ากับกำลังมีนามกำลังเกิดดับรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ต่างๆ กันออกไป
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. ต้องอาศัยการฟังบ่อยๆ
ถ. เดินขึ้นบันได หัวใจเต้นก็นึกว่านี่ลักษณะอะไร เวลาเป็นเหน็บก็นึกว่านี่ลักษณะอะไร มาถามพี่กุลินท่านก็ว่า เธอนี่แก่ตำราจัง ต้องรู้ตรงลักษณะทุกอย่าง
สุ. ไม่ต้องใช้ชื่อเลย เคยเรียกว่า เหน็บ ก็ไม่ต้องเรียก เคยเรียกว่า คัน ก็ไม่ต้องเรียก เคยเรียกว่า หัวใจเต้น ก็ไม่ต้องเรียก สภาพนั้นกำลังปรากฏ มีลักษณะอย่างนั้นปรากฏแล้ว
ผู้ฟัง ของทุกอย่างในโลก หรือความรู้สึก ต้องมีชื่อที่จะเรียกได้
สุ. ก่อนที่สติจะระลึกมีแต่ชื่อ เมื่อสติระลึกมีแต่ลักษณะให้ระลึก เป็นนามธรรม รูปธรรมทั้งนั้น ไม่มีเราสักคนเดียวที่กำลังอยู่ที่นี่ แต่เป็นจิต เจตสิก รูป ซึ่งเกิดแล้วดับๆ ตามสภาพปัจจัยของแต่ละขณะของแต่ละคน
ผู้ฟัง อาจารย์พูดว่า ปัจจัย เราก็นึกคำว่า ปัจจัย
สุ. เพราะฉะนั้น ถ้าสติระลึกก็รู้ว่า ขณะที่คิดคำว่าปัจ ขณะที่คิดคำว่าจัย ก็เป็นแต่เพียงสภาพคิด จนกระทั่งความเป็นตัวตนค่อยๆ ถอน ค่อยๆ คลาย เพราะฉะนั้น คนที่อบรมเจริญปัญญาจริงๆ ที่จะไม่รู้ว่า การถอนการคลาย คืออย่างไร จะไม่มี เพราะกว่าสติจะระลึกลักษณะของรูปแต่ละอย่าง กว่าสติจะระลึกลักษณะของธาตุรู้ อาการรู้ จนทั่ว ไม่ว่าจะเป็นทางตาก็คือธาตุรู้ ไม่ว่าจะเป็นทางใจ คิดนึก ก็เป็นสภาพรู้ เมื่อทั่วแล้ว สติสามารถระลึกทางตาต่อกับทางใจ ทางหูต่อกับทางใจ ไม่ว่าจะเป็นเสียงหรือเป็นคำก็คือลักษณะของนามธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งเมื่อทั่วแล้วก็รู้ได้ เวลาที่สติระลึกว่า เพียงขณะเดียวที่คิดหมดแล้ว ความเป็นตัวตนก็ค่อยๆ ละ ค่อยๆ คลาย จนกว่าสภาพธรรมจะปรากฏให้ปัญญาประจักษ์แจ้งเป็นขั้นๆ ว่า สภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนคืออย่างนี้ๆ
ถ. โลภะ โทสะของผู้อื่น เป็นอารมณ์ในการพิจารณาของเราได้ไหม
สุ. คุณธงชัยเคยอ่านหนังสือไหม ฮิตเล่อร์เคยโกรธไหม ในขณะนั้นไม่ใช่คุณธงชัยโกรธ ใช่ไหม ใครโกรธ
ถ. ก็รู้ว่า ฮิตเล่อร์โกรธ
สุ. ขณะนั้นสติเกิดได้ไหม
ถ. ถามถึงคนอื่นกำลังโกรธ
สุ. จะให้ยิ่งกว่านั้นอีก คือ ไม่ต้องเห็น เพียงแต่นึกว่าคนอื่นโกรธ เป็น คนอื่น ใช่ไหม ไม่ใช่ตัวคุณธงชัย
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. จนกว่าปัญญาจะรู้จริงๆ ว่า ขณะนั้นไม่มีใครเลย ไม่มีทั้งฮิตเล่อร์และไม่มีทั้งเรา เพราะว่าก่อนนั้นยังเป็นฮิตเล่อร์โกรธ ใช่ไหม เราดูหนังเรื่องอะไร เรื่องคานธี มีใครบ้าง มีเนรูห์ มีใครๆ ความรู้สึกอะไรเกิดขึ้นบ้าง สติระลึกจึงจะรู้สภาพธรรมจริงๆ ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลในขณะนั้นว่าคืออย่างไร ไม่ใช่ว่าผ่านไป โดยสติไม่ได้ระลึกและจะไปรู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนในขณะที่กำลังมีเรื่องของคนอื่นทั้งนั้นเป็นอารมณ์
วันนี้ใครทำอะไรให้ใครโกรธบ้าง
ผู้ฟัง แพนทำให้คุณลุงศุกลโกรธ
สุ. แสดงว่าแพนกำลังนึกถึงความโกรธของคุณลุงศุกล ไม่ใช่ความโกรธของตัวเอง ใช่ไหม
ผู้ฟัง ใช่
สุ. นี่เรื่องจริงๆ เป็นธรรมชาติ ธรรมดา แต่ความจริงแล้วไม่มีทั้งแพน ไม่มีทั้งคุณศุกลเมื่อปัญญาเกิด เพราะฉะนั้น ขณะนั้นสภาพธรรมนั้นคืออะไร ที่ไม่ใช่ตัวตน แต่ต้องไม่เว้นแม้ขณะที่กำลังคิดว่าคนอื่นโกรธเรา หรือเราโกรธเขา หรืออะไรก็ตามแต่ เพราะจะต้องมีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ถ. มองเห็นคนอื่นกำลังโกรธ ก็เป็นเพียงสีที่เราเห็น
สุ. ก็ระลึกไปจนกว่าสภาพธรรมจะปรากฏ
ถ. ความโกรธของคนอื่น จะเป็นอารมณ์ของเราได้อย่างไร
สุ. คุณธงชัยไม่ได้คิดถึงสี คิดถึงความโกรธของบุคคลอื่นต่างหาก
ถ. ต้องรู้ทางมโนทวาร
สุ. จะรู้ทางไหนก็ตามแต่ ระลึกไปจนกว่าสภาพธรรมจริงๆ จะปรากฏ ในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าก่อนที่จะระลึก มีคุณธงชัย และมีคนอื่น ต่อเมื่อไม่มีทั้งคุณธงชัยและคนอื่น เมื่อนั้นจึงจะเป็นสภาพธรรม ที่ คุณธงชัยจะรู้ได้ว่า ไม่มีใครเลยนั้นคืออย่างไร จึงจะละอัตตสัญญาออกไปได้
ถ. สภาพธรรมนี้ไม่เคยเกิดกับผม คุณจารุพรรณถาม ผมจึงสงสัยว่า การเห็นโทสมูลจิตของผู้อื่นเป็นอารมณ์ของเราได้อย่างไร
สุ. การที่จะไปเห็นโทสมูลจิตนั้น เป็นไปไม่ได้ แต่กำลังมีโทสะของคนอื่นเป็นอารมณ์
ผู้ฟัง เราเห็นหน้าเขา เราจึงรู้ว่าเขาโกรธ
สุ. เพราะฉะนั้น ขณะไหนก็ตาม แม้แต่ขณะที่กำลังคิดว่า คนอื่นโกรธ คนอื่นใจดี
ผู้ฟัง แต่จะเป็นความจริงหรือเปล่า เขาอาจแกล้งโกรธก็ได้
สุ. ไม่ต้องไปนึกให้ไกลว่า เขาแกล้งหรือเปล่า กำลังระลึกลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ยิ่งเราไปนึกอย่างนั้น เราก็ยิ่งไม่มีสติที่จะไประลึกลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน
ผู้ฟัง เขาอาจจะไม่โกรธเลยก็ได้
ผู้ฟัง ก็สุดแล้วแต่ เป็นความคิด
สุ. เราคิดนึกตามสิ่งที่เห็น เหมือนเราอ่านหนังสือพิมพ์ เพราะฉะนั้น ทางตา ผู้ที่รู้ความจริงแล้วจะไม่ต่างกันเลย ไม่ว่ากำลังจะรับประทานอาหาร ก็มีรูปร่างสัณฐานของปลา ของไก่ ของหมู ของแตงกวา ของทุกสิ่งทุกอย่าง แทนที่จะเป็นปลา หมู ไก่ ก็เป็นคน และแทนที่จะเป็นคนจริงๆ เอาขอบเขตของโทรทัศน์มาใส่ แต่ก็คือสภาพที่คิดตามสิ่งที่เห็นทั้งหมด จึงรู้ว่าแท้ที่จริงเหมือนกับว่า กำลังมีคนที่กำลังนั่ง กำลังเห็น และกำลังฟังด้วย จนกว่าจะไม่มีเลย นอกจากเป็นแต่เพียงสภาพธรรม แต่ละอย่างที่ปรากฏแต่ละทางเท่านั้น นี่คือการที่จะเอาตัวตนออกจากทางตาที่กำลังเห็น และกำลังเป็นเรื่องยาว ใช่ไหม
ถ. เมื่อกี้ที่คุณสุมนาใจเต้น ก็มีสภาพธรรมไม่ใช่อย่างเดียวที่ปรากฏใช่ไหม
สุ. ไม่ว่าจะเป็นกี่อย่างก็ตาม สติระลึกลักษณะไหน เป็นลักษณะนั้น ที่สติกำลังระลึก จนกว่าจะรู้ชัดทีละอย่าง
ถ. ผมรู้สึกว่า น่าจะมีความรู้สึก เวทนา
สุ. นั่นคือคิดชื่อ ไม่ได้รู้ลักษณะแล้ว
ถ. คุณสุมนาอาจจะพิจารณาลักษณะเป็นการไหว การสั่น ยังเป็นชื่อของสภาพธรรม ใช่ไหม
สุ. นี่ก็ยิ่งเป็นเรื่องของคุณสุมนา ขณะนี้คุณธงชัยกำลังมีจิตซึ่งกำลังคิดเรื่องคนอื่น เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะพูดเรื่องสติปัฏฐาน เราต้องย้อนกลับมาว่า สติจะระลึกอย่างไร แทนที่จะเป็นเรื่องของคุณสุมนาต่อไปอีกว่า คุณสุมนาคงจะระลึกที่เวทนา หรือระลึกที่วาโยธาตุ ซึ่งนั่นคือความพยายามพาเรื่องออกไปหาคุณสุมนา
แต่ถ้าเป็นสติปัฏฐาน คุณธงชัยอาจจะคิดว่า เมื่อกี้คุณสุมนาพูดอย่างนี้ คงจะระลึกอย่างนี้ ซึ่งในขณะนั้นเอง สติจะระลึกว่าเป็นสภาพคิด ถ้าสติไม่ระลึกคั่น ก็ ยาวมาก เป็นวัน เป็นคืน เป็นเดือน อาจจะคิดไปต่ออีกว่า คุณสุมนาว่าอย่างไรนะ ขณะนั้นกำลังคิดทั้งนั้น ไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่สติปัฏฐานควรจะระลึกคั่นว่า ขณะนั้นเป็นสภาพที่คิด และมีอะไรกำลังปรากฏ ระลึกใหม่ทันทีในสิ่งที่กำลังปรากฏ
สติของเราเอง ปัญญาของเราเอง จะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ต่างกันตามความเป็นจริงแต่ละอย่าง ไม่ใช่ถามคนอื่น ถ้าเป็นความรู้สึก ภาษาบาลีใช้คำว่า เวทนา ภาษาไทยคือความรู้สึก
ผู้ฟัง อาการคันปรากฏ ก็มีรวมหลายอย่าง เป็นเวทนาก็ได้ เวลาเกาเป็นแข็งก็ได้ มีหลายลักษณะ เราจึงมาแยกกันว่า แต่ละคนนี่ลักษณะอะไรปรากฏ
สุ. อย่าไปคิดถึงคนอื่นเลยว่าอะไรจะปรากฏ ที่กำลังคิดถึงคนอื่นนี่เปลี่ยน ให้เป็นสติของตัวเองระลึกว่า ขณะนั้นเป็นสภาพคิด ซึ่งความคิด จิตที่คิดนี่ คิดเป็นคำ หรือคิดเรื่อง มี ๒ อย่าง คือ จิตที่คิดถึงสีสันวัณณะทางตา อย่างเราหลับตา เราเห็นภาพ อาจจะเป็นภาพหลาน อาจจะเห็นภาพขนมที่เราทำวันก่อนนี้ หรืออาจจะเห็นภาพอะไรก็ได้ คือ เวลาที่คิด คิดถึงรูปร่างของสิ่งที่ปรากฏที่เคยเห็นทางตา หรือคิดถึงเสียง เขาว่าเราอย่างนั้น วันนั้นได้ยินเสียงคนนี้พูดอย่างนี้ ก็เป็นการคิดถึงเสียง หรือคิดถึงกลิ่นก็ได้ อย่างกลิ่นที่ศรีลังกา หรือคิดถึงรสก็ได้ วันก่อนอาหารรสนี้เป็นอย่างนี้ วันนี้ขณะนี้รสเปลี่ยนไปอีกแล้ว เพราะฉะนั้น ความคิด คิดได้ถึงสี ถึงเสียง ถึงกลิ่น ถึงรส ถึงอ่อนแข็ง นั่นอย่างหนึ่ง และยังคิดเป็นคำ
เพราะฉะนั้น เรื่องคิดมีหลายอย่าง ซึ่งจะต้องแยกออกจากเห็นจริงๆ ซึ่งเห็นจริงๆ ไม่ได้คิดเลย กำลังเห็นแท้ๆ หรือเสียงกำลังปรากฏ …
ถ. เราคิดว่าเสียงนั้นเป็นรูป ใช่ไหม
สุ. นั่นแหละคือกำลังคิดว่า เสียงนั้นเป็นรูป คิดคำว่า เสียงนั้นเป็นรูป ก็ต้องรู้ว่าไม่ใช่เห็น เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งคิด
เพราะฉะนั้น เรื่องคิดนี้เรื่องใหญ่ ถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของคิด จะมีตัวตนขณะที่กำลังคิด แต่ถ้าระลึกที่คิดบ่อยๆ จะรู้ว่า เป็นสภาพนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งคิดไม่ใช่เรา จะคิดดีคิดชั่วอย่างไร ก็ไม่ใช่เรา
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๑๒๓๑ – ๑๒๔๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1201
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1202
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1203
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1204
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1205
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1206
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1207
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1208
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1209
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1210
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1211
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1212
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1213
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1214
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1215
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1216
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1217
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1218
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1219
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1220
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1221
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1222
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1223
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1224
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1225
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1226
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1227
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1228
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1229
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1230
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1231
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1232
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1233
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1234
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1235
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1236
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1237
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1238
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1239
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1240
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1241
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1242
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1243
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1244
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1245
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1246
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1247
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1248
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1249
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1250
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1251
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1252
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1253
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1254
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1255
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1256
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1257
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1258
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1259
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1260