แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1240


    ครั้งที่ ๑๒๔๐


    สาระสำคัญ

    ความไม่รู้เป็นเหตุให้เกิดโลภะและโทสะ

    เห็นแสนที่จะปกติธรรมดา แต่แสนจะยากที่รู้ว่าเป็นสภาพรู้

    การปฏิบัติธรรม น้อมไปรู้พร้อมกับสติที่เกิด

    อัตตากับอนัตตา

    พระมหากรุณาคุณ

    อุปาทานขันธ์ ๕

    ขันธ์ ๕ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะอุปาทาน


    สนทนาธรรมที่โรงแรม Clark กรุงพาราณสี

    วันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๒๖


    . เวลาที่มีผู้ไปฟังธรรมจากพระผู้มีพระภาค หลังจบพระธรรมเทศนาแล้ว ที่กล่าวว่าธรรมของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเสมือนหงายของที่คว่ำ บอกทางแก่ คนหลงทาง มีแสงสว่าง เป็นธรรมอย่างไร ไม่เข้าใจ

    สุ. สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่เคยรู้ ก็รู้ว่าเป็นอะไร

    . หมายความว่า ขณะนั้นดวงตาเห็นธรรม ใช่ไหม

    สุ. ถ้าดวงตาเห็นธรรม ต้องหมายความว่า ผู้นั้นต้องเป็นพระอริยบุคคล

    . ก็สูงกว่าความเข้าใจธรรม

    สุ. แน่นอน พระอริยบุคคลต้องสูงกว่า

    . เป็นคำพูดที่ฟังแล้วเหมือนง่าย เมื่อมาพิจารณาตัวเองแล้ว ฟังแล้ว ธรรมยังไม่แจ่มแจ้ง ยังสงสัยไม่เข้าใจอยู่ตลอดเวลา แต่ที่กล่าวว่า ธรรมของพระองค์แจ่มแจ้งนัก คือ ฟังเดี๋ยวนั้น พิจารณาเดี๋ยวนั้นเลย ใช่ไหม

    สุ. แน่นอน อบรมมาพอที่ว่า เมื่อเข้าใจแล้ว ก็ตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง รู้แจ้งอริยสัจธรรมทันที

    . ปัญหาข้อที่ ๒ เกี่ยวกับชวนจิตทางปัญจทวาร ถ้าเป็นอกุศลจิต ๗ ขณะ ต่อไปทางมโนทวารก็เป็นอกุศลอย่างเดียวกัน ใช่ไหม ที่บอกว่าวันหนึ่งๆ มีโลภะเกิดขึ้น หมายความว่า ทั้งทางปัญจทวาร และทั้งมโนทวารด้วย ใช่ไหม

    สุ. แน่นอน

    . อย่างนั้นก็ไม่สงสัยที่ว่า วันหนึ่งๆ มีแต่โลภะ หรือเป็นอกุศลจิตมาก เพราะว่าเกิดเท่ากับเป็น ๒ เท่าเลย

    สุ. เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ จะไม่พ้นจากกุศลและอกุศล ซึ่งโดยทั่วไปในวันหนึ่งๆ ก็ทราบกันอยู่แล้วว่า กุศลต้องน้อยกว่า ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ที่ว่างๆ เฉยๆ ที่จะไม่เป็นอกุศลนั้น ไม่มี ว่างๆ เฉยๆ เป็นอกุศลแล้ว เพราะไม่ใช่กุศล ถ้าไม่ใช่กุศลต้องเป็นอกุศลสำหรับชวนวิถี

    . ถ้าเรารู้สึกว่างๆ เราควรจะทำอย่างไร

    สุ. ไม่ใช่แต่เฉพาะในขณะที่ว่างๆ กำลังเห็นนี่ ก็มีสติระลึกรู้

    . ในระหว่างนั้น

    สุ. เราไม่ต้องคิดระหว่างนั้น เพราะขณะนี้กำลังเห็น มีเห็น เพราะฉะนั้น ควรจะทำอย่างไรในเมื่อเห็นมี ก็คือไม่ลืมที่จะรู้ว่า กำลังเห็นเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เพื่อที่จะเอาเราออกไปจากการเห็น มิฉะนั้นเราจะติดตามไปหมดเลย ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เราทั้งนั้น เมื่อใดเอาเราออกหมด เมื่อนั้นเป็น พระโสดาบัน

    ถ้าทางตาที่กำลังเห็นสติไม่เกิด ปัญญาก็ไม่เจริญ ไม่รู้ว่ากำลังเห็น คือ มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งทุกคนไม่ปฏิเสธ กำลังมีสิ่งที่ปรากฏทางตา แสดงว่ามีสภาพรู้ที่ กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ต้องรู้ตรงนี้ ต้องรู้ลักษณะเห็น สภาพเห็น ธาตุรู้ ลักษณะรู้ จนกระทั่งแยกลักษณะรู้ออกจากสิ่งที่ปรากฏทางตาได้ ตัวตนจึงจะหมดไป ถ้าใครไม่อบรมเจริญอย่างนี้ ก็เป็นพระโสดาบันไม่ได้แน่นอน กี่กัป กี่กัลป์ ก็เป็นไม่ได้

    . ถ้าเห็นเฉยๆ ไม่ได้ไม่ชอบ ก็ยังเป็นอกุศลหรือ

    สุ. แน่นอน ถ้าไม่เป็นกุศล ต้องเป็นอกุศล เพราะว่าอกุศลมีหลายอย่าง อกุศลที่ทุกคนไม่ชอบ คือ โทสะ ความหยาบกระด้างของจิตใจ เวลาเกิดโทสะแล้ว ความนุ่มนวล หรือความอ่อนโยน หรือความเป็นมิตรจะไม่มีเลยในขณะที่โทสะเกิด ไม่ว่าจะกับมารดาหรือบิดา หรือกับผู้ที่เคยเคารพนับถือก็ตาม เมื่อโทสะเกิด ลักษณะความหยาบกระด้างของจิตที่เกิดขุ่นเคืองจะแสดงออกมา ถึงแม้จะไม่ถึงทางหน้าตา กาย วาจา แต่ทางใจ ความหยาบกระด้างมีแล้ว เพราะฉะนั้น นี่เป็นโทสะ ที่ทุกคนไม่ชอบเลย แต่ที่ไม่ชอบยิ่งกว่านั้นอีก คือ เวลาที่ขุ่นใจมากๆ ถึงกับโกรธเกรี้ยว ก็ไม่อยากที่จะให้ตัวเองต้องเป็นทุกข์ เพราะไม่มีใครชอบสภาพของโทสะที่ทำให้ตัวเองเผาไหม้เดือดร้อนเป็นทุกข์ ใช่ไหม นี่คืออกุศลประเภทที่ทุกคนมองเห็น

    แต่อีกประเภทหนึ่ง ทุกคนไม่เห็น และชอบเหลือเกิน คือ โลภะ รองลงมาจากโทสะ คือ โลภะ ซึ่งเป็นความพอใจในทุกสิ่งทุกอย่างที่นำมาความสุขมาให้ อยากจะได้แต่สิ่งที่เป็นที่สุข นี่เป็นโลภะ แต่อีกอย่างหนึ่งซึ่งมองไม่เห็นยิ่งกว่านั้น คือ โมหะ คือ ความไม่รู้ ไม่รู้ว่าความไม่รู้เป็นโทษภัยแค่ไหน ก็ดีที่ความไม่รู้ไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ ใช่ไหม ไม่ได้เป็นแบบโทสะ แต่แท้ที่จริงแล้ว ความไม่รู้เป็นต้นเหตุที่ ทำให้เกิดทั้งโลภะและโทสะ เพราะฉะนั้น ในขณะที่เฉยๆ คือ โมหะ

    เฉยๆ นี่ มี ๒ อย่าง เป็นโมหะล้วนๆ ก็ได้ หรือว่าเป็นโลภะอย่างอ่อนก็ได้ คือ โลภะที่ยังไม่ถึงขั้นโสมนัส ซึ่งปกติโลภะจะเกิดกับเวทนา ความรู้สึก ๒ อย่าง คือ เกิดกับความรู้สึกเฉยๆ และเกิดกับความรู้สึกที่ดีใจมาก ปีติ เห็นของถูกใจนี่ต่างกับเห็นของที่เฉยๆ ใช่ไหม อย่างเราอยากจะทานข้าว แต่ข้าวขะมุกขะมอมก็ไม่เกิดความโสมนัส ก็เฉยๆ แต่ก็ยังพอใจที่จะรับประทานข้าว เพราะเราชอบที่จะรับประทานข้าว แต่เมื่อข้าวขะมุกขะมอม เราก็เฉยๆ แต่เมื่อเห็นข้าวหอมและดีๆ โสมนัสก็ต้องเกิด นี่คือลักษณะของโลภะ

    เพราะฉะนั้น ที่ว่าเฉยๆ อาจจะเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดใน ๒ อย่าง คือ เป็นโมหะก็ได้ เป็นโลภะก็ได้ แต่โลภะอย่างอ่อนๆ ที่เป็นความรู้สึกเฉยๆ นี้ ถ้า ไม่สังเกตจะไม่รู้เลยว่า แท้ที่จริงพอตื่นมาก็เต็มไปด้วยโลภะแล้ว ดังนั้น โลภะมี ๒ อย่าง อย่างเฉยกับอย่างดีใจมาก อย่างเครื่องเงิน เครื่องทอง ของซื้อที่พาราณสี ก็ตรงกันข้ามกับที่อื่น ใช่ไหม เพราะฉะนั้น เวทนา ความรู้สึกที่เกิดกับโลภะนั้น ก็แสดงออกมาต่างกัน

    . เมื่อเห็นแล้ว เราไม่ได้รัก ไม่ได้ชอบ เราก็เฉยๆ เห็นต่อไปอีก เราก็เฉย

    สุ. อยากจะดับกิเลส แต่ไม่เตรียมเครื่องมือ ก็ไม่มีอะไรจะไปดับกิเลสได้

    . ดับแบบชุ่ยๆ ง่ายๆ

    สุ. ไม่มีทางเลย นอกจากเพิ่มกิเลสโดยที่ว่า ปฏิบัติผิดไปเลย เพราะคิดว่า นั่นเป็นหนทางปฏิบัติ

    . เพราะฉะนั้น คำว่า เพียงแต่เห็น ก็ยังคลาดเคลื่อน

    สุ. เพียงแต่เห็น นึกเอาว่าเพียงแต่เห็น แต่ไม่รู้อะไรเลยว่า เพียงแต่เห็นนี้ เพราะรู้ว่าเห็นเล็กน้อยที่สุด คือ ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตา แสนที่จะปกติธรรมดา ทุกอย่าง ไม่ต้องทำอะไรที่พิเศษเลยสักอย่างเดียว เพียงแต่รู้ ซึ่งแสนที่จะยากอีกเหมือนกันตอนนี้ เพียงแต่รู้ว่าเป็นสภาพรู้ ซึ่งสภาพรู้นี้โดยชื่อง่ายเหลือเกิน คือ บอกว่าเป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้ เป็นสภาพรู้ แต่ถ้าสติไม่เกิดบ่อยๆ ไม่น้อมไปที่จะรู้จริงๆ อย่างไรๆ ก็ไม่รู้

    เพราะฉะนั้น ตอนที่จะน้อมไปรู้พร้อมกับสติที่เกิด คือ การปฏิบัติธรรม คือ การเจริญสติปัฏฐาน เพราะไม่ใช่เพียงสติเกิด แต่จะต้องมีการเจริญปัญญาขึ้นด้วย ในขณะที่สติเกิดนั่นเอง จะต้องมีการค่อยๆ ศึกษา ไม่ใช่เฉย หรือเพียงแต่เห็น

    . มีความรู้สึกว่า ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. เป็นของธรรมดา ใครก็ห้ามความคิดไม่ได้ เพราะทุกคนชินต่อความคิด แม้แต่สติจะระลึกตรงไหนก็ตาม จะต้องคิดต่ออยู่เสมอ จนกว่าสติจะรู้ว่า ขณะที่คิด ก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง และก็เลื่อนต่อไปถึงนามธรรมอื่นๆ อีกในชีวิตปกติประจำวัน จนกว่าตัวตนจะหมดจริงๆ

    ไม่ใช่ของหลอกลวง และไม่ใช่ของซึ่งทำแล้วคิดว่าหมดแล้ว แต่ต้องเป็นตัวเองที่ซื่อตรงต่อตัวเองที่สุด ซื่อสัตย์ต่อตัวเองที่สุดว่า รู้จริงหรือเปล่า และที่จะรู้ รู้ได้อย่างไร และถ้ารู้แล้ว ละคลายความไม่รู้ออกบ้างไหม ถ้ายังเป็นความไม่รู้เต็มที่ ยังไม่ได้ละคลายเลย ก็หมายความว่าจะต้องอบรมเจริญต่อไปจนกว่าจะคลาย และในขณะที่กำลังคลาย สติสัมปชัญญะก็ยังรู้อีกว่า ขณะนี้ทางตาค่อยๆ คลายการไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

    เป็นผู้ที่ตรงที่จริงๆ และปัญญาต้องเกิดอย่างนั้นจริงๆ ถ้าปัญญาไม่เคยเกิดทางตาที่จะให้คลายการยึดถือว่าขณะนี้ไม่มีใครเลยนอกจากสิ่งที่เพียงปรากฏทางตา ก็เกิดไม่ได้ ก็ยังเหมือนดูโทรทัศน์ เหมือนอ่านหนังสือพิมพ์ อ่านหนังสือทั้งหลาย เพียงแต่เห็น ก็เป็นเรื่องเต็มไปหมด

    . วางเฉย กับเฉยที่เรามองเห็น ต่างกันอย่างไร

    สุ. ต่างกันตรงที่ว่า ถ้าบอกให้วางเฉย ไม่ได้บอกให้เจริญปัญญา ใครจะวางเฉยได้ พยายามวางเฉยกันเอาเอง พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสให้วางเฉย แต่ให้อบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งเมื่อแยกออกแล้วก็คือขันธ์ ๕ นั่นเอง เพราะทรงใช้คำว่า อุปาทานขันธ์ ๕ ซึ่งหมายความถึงขันธ์ ๕ ที่เกิดขึ้นเพราะอุปาทาน หรือขันธ์ ๕ เป็นที่เกิดของอุปาทาน

    รูปขันธ์เป็นที่เกิดของอุปาทาน เห็นแล้วก็ยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เมื่อถึงเวทนาขันธ์ ความรู้สึกเป็นสุขเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ก็ยึดถือเวทนาขันธ์นั้นว่าเป็นเรา เมื่อถึงสัญญาที่จำทุกอย่างได้ ก็คือเราจำอีก ดังนั้น จึงยกสภาพธรรมเป็นขันธ์ ๕ เพราะฉะนั้น การละ ก็ละคลายการยึดถืออุปาทานขันธ์ ๕ ไม่ใช่วางเฉย แต่ต้องอบรมเจริญปัญญาก่อน จึงจะคลายความไม่รู้และความเห็นผิดที่ยึดถือขันธ์ว่าเป็นตัวตน

    วางเฉยไม่มีใครทำได้ นอกจากเข้าใจว่าตัวเองค่อยๆ หมดกิเลส เพราะคิดว่าเฉย เห็นอะไรก็เฉยๆ ก็คิดว่าตัวเองกิเลสคงน้อย แต่ความจริงยังอยู่เต็ม เพราะว่าทางตาไม่เคยรู้เลยว่า ที่ไม่ใช่ตัวตนที่เป็นอนัตตานั้นเป็นอย่างไร

    ทางไหนก็ต้องเป็นอนัตตาหมด แต่ก่อนที่จะเป็นอนัตตาได้ ก็เป็นอัตตาก่อน ใช่ไหม เนิ่นนานมาแล้วก็อัตตาทั้งนั้นเลย ถ้าเป็นอัตตา ขณะนี้ต้องกำลังนั่งอยู่กับคนหลายคน นี่คืออัตตา แต่ถ้าจะเป็นอนัตตา คือ ขณะนี้ไม่มีใครสักคนเดียวนอกจากสภาพรู้กับสิ่งที่ปรากฏ

    นี่ไม่ใช่เฉย ไม่ใช่การวางเฉยเฉยๆ เอาเอง แต่ต้องเป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพรู้กับสิ่งที่ปรากฏ และก็จบไปเลย ทางตาดับไปแล้ว

    . สภาพรู้ตอนนี้เป็นอะไร

    สุ. คือ เห็น เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ เวลานี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏแล้ว เมื่อมี สิ่งที่กำลังปรากฏ ก็เป็นเครื่องยืนยันว่าต้องมีสภาพรู้ สิ่งนั้นจึงปรากฏ ถ้าไม่มีธาตุรู้ หรือลักษณะรู้ สิ่งนั้นปรากฏไม่ได้ เหมือนเสียง เสียงที่ไหนๆ ก็มี แต่ในขณะที่เสียงกำลังปรากฏ ...

    ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. ถ้าไม่ใช่สภาพรู้ ก็เป็นรูปธรรม เรื่องธรรมที่จะฟังนี้ไม่มีจบ เพราะว่า อยู่ที่ตัวเราทั้งนั้นเลย แต่ว่าวันนี้ผ่านไปหมด ทุกอย่างเกิดและก็ดับไปโดยความไม่รู้ ทั้งนั้นเลย ซึ่งน่าจะรู้ได้ เพราะว่ามีสิ่งซึ่งเกิดปรากฏ แต่ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงจะไม่รู้เลยว่า ปัญญาสามารถที่จะอบรมเจริญขึ้นจนกระทั่งรู้จักตัวเองชัดเจน ซึ่งเป็นทางที่จะดับกิเลสได้ เพราะมีความรู้เกิดขึ้น แต่นี่ผ่านไปหมดแล้วทั้งวัน และขณะนี้ก็กำลังผ่านไปทุกขณะ จิต เจตสิก รูปเกิดดับเร็วมาก ถ้าสติไม่ระลึกขณะใด เมื่อนั้นก็คือ ผ่านไปด้วยความไม่รู้

    และวันหนึ่งๆ มีกี่นาที และใน ๑ นาที มีนามรูปตั้งเท่าไร หมดไปแล้วทั้งนั้น คูณเข้าไปตั้งเท่าไรๆ ด้วยความไม่รู้เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น จึงเห็นพระคุณของ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงพระมหากรุณาอย่างยิ่ง ทรงแสดงธรรมหลังจากที่ทรงตรัสรู้แล้วตลอด ๔๕ พรรษา เริ่มตั้งแต่ทรงตรัสรู้จนกระทั่งถึงปรินิพพาน เป็นพระคุณที่ยิ่งใหญ่จริงๆ

    แต่ถ้าคนสมัยนี้ไม่ศึกษาจะไม่เข้าถึงเลยว่า พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณาอย่างไร เพราะไม่ได้ฟังเลยว่าทรงแสดงธรรมอะไร แต่ถ้าฟังจะยิ่งเข้าใจว่า เพราะทรงเห็นว่าพวกเราช่างหลงลืมสติ จึงทรงแสดงธรรมโดยละเอียดทุกตอน ไม่ว่าจะเป็น พระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม ก็เพื่อที่จะไม่ให้เข้าใจผิด เพราะเชื่อแน่ว่า คนยุคนี้ซึ่งไม่ได้ตรัสรู้ในสมัยที่พระองค์ยังไม่ปรินิพพาน ต้องเป็นผู้ที่มีกิเลสมาก เพราะฉะนั้น ก็ทรงแสดงธรรมไว้อย่างละเอียด เพื่อไม่ให้เข้าใจข้อปฏิบัติผิดไป

    ถ้าเป็นคนในยุคนั้น ก็ง่ายกว่าคนในยุคนี้ แต่ถ้าคนในยุคนี้ไม่เรียน ไม่มีทางที่จะเข้าใจพระธรรมได้ถูกต้อง อย่างที่ว่าจะวางเฉยไปเองอย่างนี้ ปัญญาไม่เกิดเลย อะไรเป็นนามธรรม อะไรเป็นรูปธรรม อุปาทานขันธ์เป็นอย่างไรก็ไม่รู้ แต่ถ้าระลึก จะรู้ว่า นี่เองคืออุปาทานขันธ์ รูปทั้งหมดคืออุปาทานขันธ์ กระทบถูกที่ไหนก็เราทั้งนั้น นั่นคืออุปาทานขันธ์

    ถ. อุปาทานแปลว่าอะไร

    สุ. ยึดถือ

    ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. ยังเต็ม ถ้าไม่ได้ฟังไม่มีทางเลย กี่กัปก็สะสมไปมากขึ้น ถ้าไม่ได้ฟังจะไม่เห็นพระคุณอย่างที่ว่า เพราะว่าสะสมไปทุกกัปๆ มากขึ้นอีกเรื่อยๆ จนกว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้ใหม่แต่ละพระองค์ และกี่พระองค์ผ่านไปแล้ว

    . การเห็นของพระปุถุชนต่างกับการเห็นของพระอริยเจ้า หมายความว่า การเห็นของพระอริยเจ้าท่านรู้ทั้งสองลักษณะ ใช่ไหม คือ รู้ทั้งบัญญัติ รู้ทั้งปรมัตถ์ ในขณะนั้นติดต่อกันไปเลยหรือ

    สุ. ถ้าเป็นพระอริยบุคคล จะไม่สงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมอีกเลย

    . แต่การเห็น คือ เห็นอย่างเดียวกัน แต่รู้ รู้คนละอย่าง

    สุ. ปุถุชนรู้ไหมว่า ขณะนี้อะไรปรากฏ

    . ไม่รู้

    สุ. แต่พระอริยเจ้ารู้ ดิฉันเข้าใจว่าคำตอบของดิฉันสั้น และก็กลับไปหา คนถามทุกครั้งที่จะให้คิดพิจารณาด้วยตัวของตัวเอง แต่การคิดพิจารณาจะออกมากว้างขวางละเอียด ลึกซึ้ง หรือแจ่มแจ้ง หรือยังไม่ชัดเจน ตามความเข้าใจ ซึ่งถ้าพิจารณามากพร้อมกับการเจริญสติปัฏฐานก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่า อะไรกำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ แต่ถ้ายังไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐานมาพอ ต่อให้คำตอบจะยาว หรือจะสั้น ผลก็คือ ยังไม่สามารถจะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาได้ เพราะฉะนั้น จะตอบยาวตอบสั้น ความหมายเหมือนกัน

    . ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. ถ้าโลกนี้มืดหมด เพชรนิลจินดาสักกระบุงหนึ่งจะทำอย่างไร เพราะไม่ปรากฏทางตาแล้ว ใช่ไหม

    ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ เพราะฉะนั้น จึงควรรู้ความจริงว่า ติดในสิ่งที่เพียงปรากฏทางตา เท่านั้นเอง แต่ว่าความติดมีกำลังมาก ถึงแม้พระโสดาบันก็ยังละไม่ได้ พระสกทาคามีก็ยังละไม่ได้ ต้องพระอนาคามีจึงจะละได้ เพราะฉะนั้น ปุถุชนไม่ต้องพูดถึง แต่ พระอนาคามีละโลภะอย่างละเอียดแม้ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ พระอนาคามีจึงไม่มีปัจจัยที่จะให้เกิดโทสะ

    . นี่เป็นลักษณะของการเห็น แต่ลักษณะจริงๆ เรายังไม่เห็น

    สุ. ถูกต้อง

    . เรายังท่องอยู่

    สุ. แต่ตอนหลังการท่องจะค่อยๆ หายไป เมื่อสติระลึกว่า ที่ท่องไม่ใช่ขณะที่เห็น เป็นการรู้คำ เมื่อรู้ว่าที่ท่องนี่รู้คำ ก็จะรู้ว่า ในขณะที่ยังไม่ทันนึกถึงคำ สักคำเดียว เห็นก็มี

    อย่างขณะนี้ กำลังเห็น โดยยังไม่ทันนึกถึงคำอะไรเลย แต่เมื่อสติเกิดนิดเดียว ปัญญายังไม่สามารถจะรู้แจ้งได้ เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นจุดเริ่มของปัญญาว่า จุดเริ่มของปัญญาต้องเกิดในขณะที่สติเริ่มระลึก จนกว่าปัญญานั้นจะค่อยๆ เกิด จนกระทั่งเป็นความรู้ พร้อมกับสติ ซึ่งตอนต้นๆ นี่ ระลึกจริง แต่ไม่รู้ ก็ต้องเป็นอย่างนี้ไปก่อน ระลึกแต่ยังไม่รู้ จนกระทั่งระลึกแล้วค่อยๆ รู้ นี่เป็นเหตุที่ถูกต้อง

    ลักษณะของรู้กับไม่รู้ นี่ผิดกัน ลักษณะของการสังเกต การน้อมไปที่จะรู้ ก็ต่างกับเฉย เพราะไม่ใช่เฉย แต่กำลังพยายามที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมหรือลักษณะของรูปธรรมที่ต่างกัน เพราะฉะนั้น ขณะที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งกำลังปรากฏเป็น สีสันวัณณะ แม้ว่ากำลังหลับตา ขณะนั้นก็ต้องมีจิตซึ่งรู้ สิ่งนั้นจึงปรากฏได้

    ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. เพราะฉะนั้น ของจริงไม่ต้องเปลี่ยนเลย หลับตาแล้วมีแสงสว่าง สีนวลๆ สีเรื่อๆ สีอะไรปรากฏ สติก็ระลึกได้ทั้งนั้น ที่จะต้องรู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่เราที่กำลังรู้ นี่ต้องเป็นความละเอียดที่สติเขาจะระลึกไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะหลับตา ลืมตา เห็นเป็นสิ่งต่างๆ หรือว่าเห็นแสงสลัวๆ คือ ของจริงแล้ว ต้องอาจหาญร่าเริง เพราะว่าขณะนั้นกำลังปรากฏ ถ้าหลบหลีกไปว่า ไม่ได้ ไม่ได้ สติเกิดไม่ได้ ปัญญาเกิดไม่ได้ ก็ยังคงมีความไม่รู้อยู่

    . ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. เป็นธรรมดา เดี๋ยวนี้ก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา เราใช้คำว่า สิ่งที่ปรากฏ ทางตา เพราะกำลังปรากฏทางตา ไม่เหมือนเสียง คนละอย่างกัน

    . ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. สิ่งที่กำลังปรากฏทางตากำลังเกิดดับ ถ้าไม่จริง พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงตรัสรู้ และจะไม่ทรงแสดงอย่างนี้ เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรง แสดงหมายความว่า ทรงตรัสรู้แล้วจึงได้ทรงแสดง แต่ผู้ที่ไม่ได้ตรัสรู้ ไม่มีทางที่จะเข้าใจ เพราะว่า ยังไม่ประจักษ์



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๑๒๓๑ – ๑๒๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 87
    28 ธ.ค. 2564