แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1245
ครั้งที่ ๑๒๔๕
สาระสำคัญ
ปัญญารู้ตามความเป็นจริง ความเป็นตัวตนจะค่อยๆ ลดลง
สภาพที่รู้เสียง อยู่ตรงไหน
ตาย กับเกิดคืออะไร
ไม่มีรูปนั่ง รูปยืน รูปนอน รูปเดิน
พระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม ต้องสอดคล้องกัน
สนทนาธรรม ณ พุทธคยา ต่อ ที่พิพิธภัณฑ์นาลันทา เขตเมืองนาลันทา
วันที่ ๒๗ - ๒๘ เมษายน ๒๕๒๖
สุ. ความเป็นตัวตน ถึงแม้ว่าเสียงปรากฏ และได้ยิน กำลังได้ยิน ความเป็นตัวตนก็ดึงกลับมาที่เรื่องนั่งอีกแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้ายังมีการดึงมาอยู่ ที่หนึ่งที่ใด จะเป็นอะไรก็ได้ ดึงมาที่หนึ่งที่ใด นั่นแสดงถึงความเหนียวแน่นของตัวตน มีความเป็นตัวตนที่กำลังดึงอยู่ เพราะฉะนั้น ที่จะละความเป็นตัวตน ต้องแล้วแต่ว่าสภาพธรรมใดจะปรากฏ ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัยและก็ดับเท่านั้นเอง
ถ. ได้ยินแล้ว ก็พยายามทำเฉย
สุ. นี่คือลักษณะหนึ่งของตัวตนซึ่งมาในรูปร่างต่างๆ ลักษณะต่างๆ อาการต่างๆ จนกว่าปัญญาจะรู้ ความเป็นตัวตนนั้นจึงจะค่อยๆ ลดลง
ถ. เวลาที่เราได้ยินเสียง เรามีสติรู้ว่า เสียงนั่น ...
สุ. นี่มีความเป็นตัวตนที่จะทำเฉย
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. ความจริง คือ ไม่เคยรู้ในลักษณะของได้ยินและเสียง แม้ว่า เสียงปรากฏ ก็อาจจะนึกว่าเป็นเสียงหนึ่งเสียงใด หรือคิดถึงความหมายหนึ่งความหมายใดโดยที่ไม่มีการระลึก ไม่มีการสังเกตจนกระทั่งรู้จริงๆ ว่า เป็นเพียง สภาพธรรมอย่างหนึ่ง
เสียงมีจริง ทุกคนไม่ปฏิเสธ แต่ว่าขณะนี้เสียงใคร มีความเป็นตัวตนอยู่ในเสียงหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ที่จะรู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ต้องคลาย การที่จะจดจ้อง และต้องไม่ติด เพราะสังเกตรู้ โดยเฉพาะจะต้องรู้ลักษณะที่ต่างกันของเสียงกับสภาพที่ได้ยิน จึงจะแสดงว่า เริ่มที่จะไม่มีตัวตนเข้าไปก้าวก่าย ที่จะไปทำอย่างหนึ่งอย่างใด เพราะว่ากำลังศึกษาในลักษณะของนามธรรม คือ สภาพที่ได้ยิน แยกออกจากเสียง และถ้าไม่มีการระลึกที่เสียง จะไม่มีการแยกเสียงออกจากนามธรรมที่ได้ยิน ก็จะเป็นเรากับเสียง แต่ที่จริงเราไม่มี เพราะฉะนั้น เมื่อเราไม่มี สภาพที่รู้เสียงอยู่ตรงไหน แต่เมื่อยังไม่สามารถที่จะสังเกต ไม่สามารถที่จะสำเหนียก ไม่สามารถที่จะน้อมไปรู้ ความเป็นเราก็แฝงอยู่
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. มีแล้วเพราะเหตุปัจจัย เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดตา เกิดหู เกิดจมูก เกิดลิ้น เกิดกาย เกิดใจ จะบังคับกายไม่ให้เกิดได้ไหม มีแล้ว มีปัจจัยที่จะให้เกิดแล้ว
ถ. อาจารย์เคยบอกว่า กายมีเพื่ออาศัยระลึก
สุ. เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยระลึก
ถ. ต้องตัดทิ้งออกไปไหม
สุ. ไม่ใช่ตัด เมื่อกี้พูดว่าอาศัยระลึก อย่าเปลี่ยนเป็นตัด เปลี่ยนไม่ได้ พูดอย่างไรต้องเป็นอย่างนั้น เมื่อพูดว่าอาศัยระลึก ก็ต้องอาศัยระลึก อย่าไปตัด
ถ. ทุกๆ ทวารหรือ
สุ. ทุกๆ ทวาร ตัดไม่ได้ แต่อาศัยระลึกเพื่อที่จะรู้ความจริง
ถ. ตอนนี้พอจะเข้าใจ แต่พอเดินกลางทะเลทราย เอ๊ะ ระลึกอะไร รู้สึกกระวนกระวาย ขาดสติ
สุ. แต่เป็นผลของการฟัง ถ้าไม่เคยฟังเลย จะไม่มีการกระตุกกระตักขึ้นมา ก็เป็นอีกขั้นหนึ่งแล้ว การฟังมาเกื้อกูล และต่อไปจะค่อยๆ เพิ่มความรู้ จนไม่ กระตุกกระตักอย่างนี้
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. นั่นก็เป็นปกติธรรมดา ต่อไปปัญญาจะรู้ว่า ขณะนั้นที่คิดนึกไม่ใช่ขณะที่ระลึกจริงๆ เป็นเรื่องที่พิสูจน์สำหรับปัจจัตตังจริงๆ ใครก็ไม่รู้ว่าใครจะคิดอะไร ใช่ไหม
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. แต่พอสติเกิด ไม่จำเป็นต้องปรึกษา ปัญญาที่ได้ฟังมาเขาก็รู้เลย และจะคิดอีก ก็รู้ว่าผ่านไปแล้ว ชั่วขณะนั้นผ่านไปแล้ว และมีสภาพธรรมอื่นเกิดปรากฏต่อ แสนที่จะรวดเร็ว เรื่องของการหมดไปแต่ละขณะ
ถ. บางทีเสียดายความหมดไป
สุ. เพราะฉะนั้น คนที่ปฏิบัติแล้ว จึงเข้าใจคนที่เริ่มฟังและเริ่มปฏิบัติว่า จะเป็นอย่างนี้แหละ ไม่มีการที่จะพิเศษแตกต่างจากกันไปได้ ก็เหมือนกัน
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. นามธรรมและรูปธรรม โดยขันธ์ ๕ ทรงใช้คำว่า อุปาทานขันธ์ ๕ ให้เราเห็นชัดๆ เลยว่า ตัวที่เรายึดติดอยู่มีอะไรบ้าง รูปขันธ์นี่แน่ๆ ที่ยึดติด เวทนาขันธ์ ความรู้สึกซึ่งเป็นนามธรรมแน่ๆ สุขเกิดขึ้น ทุกข์เกิดขึ้น ก็ยึดถือว่า เป็นเรา สัญญาขันธ์ ความจำ ที่กำลังจำทุกสิ่งทุกอย่างได้ นี่ก็แน่ๆ เพราะฉะนั้น ตัวตนของท่าน ส่องให้เห็นว่าอยู่ตรงนี้ อยู่ที่สัญญา และสติต้องระลึกไหม ที่สัญญา
เพราะฉะนั้น กว่าจะถึง มิฉะนั้นสัญญาก็คือเราอีก และถ้าไม่ทรงแสดงนามธรรมและรูปธรรมโดยขันธ์ ๕ ชี้บ่งลงไปเลยว่า นี้คืออุปาทานขันธ์ เราจะรู้ไหมว่า เรายังไม่ได้ระลึกที่สัญญา เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งหมดไปง่ายๆ ความเป็นตัวตน
เรายังไม่ได้ระลึกที่สังขารขันธ์ โลภะ โทสะ มัจฉริยะ อะไรๆ ก็ตามแต่ วิริยะ ความตั้งใจ เจตนา ยังไม่ได้ระลึกว่าเป็นแต่เพียงลักษณะที่ตั้งใจ เป็นแต่เพียงลักษณะสภาพที่กำลังพยายามขวนขวาย ทุกอย่างต้องเป็นธรรมทั้งหมด จึงจะเป็นอนัตตา จนกว่าจะดับการยึดถือว่าเป็นตัวตนได้
ไม่ใช่ว่าทำอะไรๆ มา ประเดี๋ยวก็จะเป็นพระโสดาบัน แต่ว่าอุปาทานขันธ์ ๕ รู้หรือเปล่า และก็รู้ได้เลยว่า ใครรู้หรือใครไม่รู้ ใครระลึกหรือไม่ระลึก ใครข้ามหรือ ไม่ข้าม ผู้ที่ปฏิบัติแล้วย่อมรู้ได้ว่า กว่าจะผ่านเป็นขั้นๆ นั้นเป็นอย่างไร จิตน้อมไป ประเดี๋ยวก็หลงลืมอย่างมากมาย เมื่อกี้ทำไมสติเกิด ต่อไปทำไมสติไม่เกิดทางนั้น ทางนี้
และสภาพธรรมก็จะเปลี่ยนไปตามการปรุงแต่งทุกขณะ เมื่อวานนี้เอามาระลึกไม่ได้เลย เพราะขณะนี้เป็นของใหม่อีกอย่างหนึ่ง ถ้าเอาอะไรมาวัด มาเทียบ ก็จะไม่เหมือนกับของเก่าเลย เพราะว่าเพิ่มความเป็นตัวตนระหว่างที่หลงลืมสติเข้ามาอีกแล้ว เพราะฉะนั้น ปัญญาที่เกิดพร้อมกับสติที่แสนจะน้อยขณะเมื่อเทียบกับขณะที่หลงลืม คิดก็แล้วกันว่าอีกกี่กัป และถ้าไม่ฟังเรื่องสติปัฏฐานเลยจะเป็นอย่างไร ถ้าสติไม่เกิดเลยจะเป็นอย่างไร
เพราะฉะนั้น วันหนึ่งสติจะเกิดสักขณะสองขณะ สามเดือนสี่เดือนจะเกิด สักขณะสองขณะ ก็ยังดีกว่าที่จะไม่เกิดเลย และเป็นผู้ที่ขวนขวายโดยการฟัง โดยการพิจารณา โดยการหาเหตุปัจจัยที่จะให้ปัญญาเกิดโดยความไม่ประมาท แต่ไม่ใช่ด้วยความต้องการ ด้วยความเป็นตัวตนที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมโดยเร็ว แต่ให้เห็นว่า เป็นเรื่องละเอียด ยาก และช้าสักแค่ไหน และจะต้องเป็นความรู้จริงๆ ด้วย
ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐาน จะไม่เข้าใจเหตุผล ไม่เข้าใจจริงๆ ว่า ทำไมทรงแยกนามธรรมเป็นขันธ์ ๔ และรูปธรรม ทั้งหมดเป็นอุปาทานขันธ์ ๕ ชี้บ่งชัดอย่างนี้ ก็เพื่อให้สติระลึก ถ้ายังไม่ระลึกก็สักกายทิฏฐิ ๒๐
สักกายทิฏฐิเพียงประการเดียวยังไม่พอ เพราะฉะนั้น ทรงแสดงเลยว่า สักกายทิฏฐิ ๒๐ ให้เห็นว่าน่ากลัว ให้เห็นโทษเห็นภัยของสักกายทิฏฐิ คิดว่าน้อย แต่ไม่น้อยเลย แจกไปตามขันธ์แล้วมีถึง ๒๐ และกว่าจะได้ทรงตรัสรู้ ต้องทรงบำเพ็ญพระบารมีมามากมายเพื่อที่จะทรงแสดงธรรม สามารถให้ผู้ฟังได้เข้าใจและน้อมประพฤติปฏิบัติตาม ถ้าพูด ๒ – ๓ บรรทัด ไม่มีทางที่ใครจะปฏิบัติตามได้
เพราะฉะนั้น ถ้าได้เข้าใจธรรม จิตสงบจากอกุศล ก็เป็นพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ แล้วแต่ว่าขณะนั้นจิตจะน้อมระลึกถึงพระพุทธ หรือ พระธรรม หรือพระสงฆ์ แต่ไม่ใช่ว่าเพียงสวดไป ท่องไป โดยไม่เข้าใจ อย่างนั้นก็ ไม่สงบ ท่องได้แต่ไม่สงบ ท่องเร็วๆ ก็ไม่สงบ แต่ก็ยังมีศรัทธาและกุศลจิตเกิดแทรกคั่นจึงท่อง นิดๆ หน่อยๆ แต่ถ้าเทียบกำลังแล้ว ก็เป็นกุศลซึ่งอ่อนมาก
ถ. อนิจจังหมายถึงอะไร
สุ. อนิจจัง หมายถึงลักษณะที่ไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไป ลักษณะที่ ไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไปนั้นแหละ เป็นทุกข์ เพราะว่าทุกคนอยากจะให้เที่ยง หรือ ไม่อยากให้หมดไป
ผู้ฟัง ถ้าเป็นความทุกข์ไม่อยากให้เที่ยง ถ้าเป็นความสุขก็อยากให้เที่ยง
ถ. ความจริง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นสิ่งเดียวกัน ใช่ไหม
สุ. อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สภาพที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ความไม่เที่ยง ไม่มีใครชอบจึงเป็นทุกข์ และสภาพที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์นั่นแหละ เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ไม่ใช่ตัวตน
ถ. ให้เข้าใจง่ายขึ้น ใช่ไหม
สุ. ให้เราเข้าใจลักษณะที่แท้จริงทั้ง ๓ ลักษณะ บางคนอาจจะบอกว่า ไม่เที่ยงก็ไม่เป็นไร ฉันชอบ นั่นแสดงว่าไม่เห็นว่าเป็นทุกข์ แต่ไม่เที่ยงจริงๆ เป็นทุกข์ เพราะไม่เที่ยง แต่ทุกข์นี่ไม่ใช่ทุกขเวทนา
ถ. ไม่เที่ยงกับอนัตตา คือ สิ่งเดียวกัน ใช่ไหม
สุ. นิพพานก็เป็นอนัตตา แต่นิพพานนั้นเที่ยงและเป็นสุข เฉพาะสังขารทั้งหลายเท่านั้นที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา แต่อนัตตานั้นรวมทุกอย่าง ไม่เหลือ
สนทนาธรรมที่วัดอโศการาม
ซึ่งครั้งหนึ่งในอดีตเป็นเขตเมืองปาตลีบุตร
วันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๒๖
สุ. ที่น่าสนใจที่สุด คือ อัมพปาลี เพราะว่าชีวิตของท่านน่าอัศจรรย์ คือเป็นหญิงงามเมือง และยังได้เป็นพระอรหันต์ด้วย
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. อย่างชีวิตคนธรรมดาก็ไม่เป็นไร แต่ท่านก็ต้องเจริญสติตามปกติ ของท่าน จนกระทั่งสามารถเป็นพระอรหันต์ได้ในที่สุด
ถ. ... เป็นปาฏิหาริย์หรือไม่
สุ. กำเนิดของมนุษย์มีถึง ๔ อย่าง คือ เกิดในครรภ์ ในท้องก็ได้ เกิดในไข่เหมือนไข่ไก่ก็ได้ เกิดเป็นสังเสทชะ แบบในเถ้าไคล้ก็ได้ และเป็นโอปปาติกกำเนิด คือ ผุดเป็นตัวขึ้นมาก็ได้ อย่างในสมัยปฐมกัป ตอนตั้งต้นยังไม่มีมนุษย์เลย เทพชั้นพรหมจุติลงมาด้วยผลของกรรมในปฐมกัป มนุษย์ไม่ได้เกิดในครรภ์ แต่หลังจากนั้นมา ก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้ค่อยๆ พัฒนา จนกระทั่งมาถึงมนุษย์อย่างเดียวนี้
ถ. อย่างที่ว่า เกิดมาเป็นหอยสังข์ จะเป็นไปได้ไหม
สุ. พวกนี้ต้องมีเหตุ เราเอานิยายมาจากความเชื่อ หรือคำสอนในพระพุทธศาสนา ซึ่งไม่ใช่เป็นกรณีทั่วไป เป็นกรณีพิเศษจริงๆ ในแต่ละบุคคล
ถ. ถ้าอย่างนั้นพระผู้มีพระภาคประสูติมาแล้วทรงพระดำเนินได้ ก็เป็นไปได้แน่นอน
สุ. อย่างลูกม้าเกิดมายังเดินได้ และนี่เป็นบุรุษผู้ยิ่งใหญ่กว่าอะไรๆ ทั้งหมด ลูกคนธรรมดาเท่านั้นที่เดินไม่ได้ แต่คิดดูสิ่งที่เป็นไปได้ ทำไมลูกสัตว์เกิดมาแล้วเดินได้ นี่พระองค์ยิ่งกว่าอะไรๆ ทั้งหมด แต่เรื่องเหล่านี้เราอย่าไปพยายามคิด คิดอย่างไรก็ไม่มีคำตอบ เพราะเป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว
ถ. มีผู้มาพูดกับเราเรื่อยว่า เป็นไปไม่ได้
สุ. การตอบปัญหา ต้องคำนึงถึงประโยชน์ว่า ถ้าตอบไปแล้วคนถามยังสงสัยไหม ถ้ายังสงสัยหรืออาจเกิดโทษกับเขาด้วย ก็ผ่านปัญหานั้นไปจะดีกว่า ถ้าเราจะให้ข้อคิด เราก็ให้ข้อคิดเขาได้ แต่เราก็รู้ว่า คำถามอย่างนี้ถึงเราจะตอบอย่างไรเขาก็ไม่หมดความสงสัย เพราะว่าเขาสะสมความสงสัยมามาก
ถ. มีเหตุอย่างไรที่จะทำให้ชาวพุทธที่มาศึกษาธรรมเชื่อว่า มีการเวียนว่ายตายเกิด คือ ตายแล้วต้องเกิด
สุ. ลองคิดอย่างนี้ว่า ตายคืออะไร เกิดคืออะไร เพราะว่าปัญหาทั้งหมด ไม่ใช่พูดตอนกลางหรือตอนปลาย แต่ต้องย้อนไปถึงตอนต้นทุกครั้งว่า เมื่อจะพูดเรื่องนี้ คำนี้คืออะไร และคำนี้หมายความว่าอะไร
คนทั่วไปจะคิดว่า เมื่อหมดลมหายใจก็คือตาย แต่เขาไม่ได้พูดถึงเรื่องขณะจิต แต่ในพระพุทธศาสนา ความตาย คือ เมื่อจิตดวงสุดท้ายเกิดขึ้นทำกิจเคลื่อนจากภพนี้ เพราะว่าจิตทุกดวงเกิดขึ้นต้องมีกิจหน้าที่ จะไม่มีสภาพธรรมซึ่งเป็นนามธรรมที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ทำกิจของสภาพธรรมนั้นเลย มิฉะนั้นแล้วเราก็ไม่รู้ว่า นี่โลภะกำลังทำกิจ ของโลภะ นี่โทสะกำลังทำกิจของโทสะ เพราะฉะนั้น จิตแต่ละประเภทเกิดขึ้นต้องมี กิจของจิตนั้นๆ
และที่ชื่อว่าตาย ได้แก่ จิตดวงสุดท้ายของชาตินี้ ซึ่งเกิดขึ้นกระทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้และดับไป ทันทีที่จุติจิตดับ ชื่อว่าตาย ในขณะที่จุติจิตเกิดและยังไม่ดับ ก็ยังไม่ตาย เพราะว่าจุติจิตต้องทำกิจเคลื่อนจากภพนี้ เมื่อจุติจิตดับ จึงตาย แต่ว่าจิตดวงนี้มีอนันตรปัจจัย คือ นามธรรมทุกดวงเกิดขึ้นโดยไม่อาศัยปัจจัย เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อจิตดวงสุดท้ายซึ่งไม่ใช่จุติจิตของพระอรหันต์ดับแล้ว อนันตรปัจจัย คือ สภาพของจิตที่เมื่อเกิดแล้วจะทำให้จิตดวงต่อไปเกิดต่อทันทีเมื่อ จิตดวงนั้นดับแล้ว นี่คือสภาพของจิตแต่ละดวง เพราะฉะนั้น เมื่อจุติจิตดับ จิตดวงต่อไปต้องเกิดต่อ ชื่อว่าปฏิสันธิจิต
ปฏิสันธิ หมายความว่า เกิดสืบต่อจากจิตของชาติก่อน โดยกรรมเป็นปัจจัย ซึ่งเราก็ไม่อยากมีจิตขณะนี้เลย ทุกคนก็บอกว่า ถ้าไม่มีความรู้สึกได้ก็จะไม่มีทุกข์ ไม่มีเห็นก็สบาย ไม่มีได้ยินอะไรๆ ดับหมดทุกอย่างก็จะดีมาก ชักจะเบื่อสังสารวัฏฏ์ เบื่อภพ เบื่อชาติ แต่ใครจะยับยั้งการเกิดของจิตได้ ทั้งๆ ที่บอกว่าไม่อยากเกิด แต่เพราะว่ามีปัจจัยที่จิตจะต้องเกิดดับๆ อย่างนี้ เป็นธาตุที่ไม่มีใครสามารถจะดับหรือทำลายได้ นอกจากปัญญาขั้นโลกุตตระที่จะดับการเกิดดับของจิตได้ในที่สุด เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้ว เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตก็เกิดสืบต่อจากจุติจิต
นี่คือคำอธิบายเหตุและผล ซึ่งถ้าเขาจะไปเข้าห้องทดลอง เขาจะเอาจิตที่ไหนมาทดลอง ในเมื่อจิตเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ถ้าเขาอยากพิสูจน์อย่างวิทยาศาสตร์ อย่างที่เขาสามารถจะทำได้ ก็คือเรื่องของรูป เพราะเขาจะพิสูจน์เรื่องเสียง จะทำโทรทัศน์หรืออะไรต่างๆ ก็ไม่พ้นจากรูป ซึ่งประกอบด้วยมหาภูตรูป
ซึ่งรูปในพระพุทธศาสนาเกิดดับเท่ากับการเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะ เร็วจนกระทั่งเราประมาณไม่ได้เลย เพราะขณะที่เห็นทางตาขณะนี้ และก็ได้ยินเสียงทางหู เราว่าเร็วที่สุดแล้ว คือ ทั้งเห็นด้วย ทั้งได้ยินด้วย เรายังแยกออกจากกันไม่ได้เลย แต่ในช่วงว่างระหว่างเห็นกับได้ยิน จิตเกิดดับมากกว่า ๑๗ ขณะ เพราะว่า มีภวังคจิตคั่นด้วย เมื่อเป็นอย่างนี้ รูปในพระพุทธศาสนาต้องเกินกว่าที่จะเอาเข้าไปในห้องทดลองว่ามีการเกิดขึ้น เพราะเกิดแล้วดับแล้ว แต่รูปของเขาเกิดแล้วไม่ดับ รูปของเขาเกิดแล้วเจริญสืบต่ออยู่เรื่อยๆ จะเป็นในหลอดแก้ว หรือที่ไหนๆ ในครรภ์หรืออะไรก็ตาม ค่อยๆ เจริญขึ้นเป็นลำดับ แต่ของพระพุทธศาสนา ทุกรูปในขณะนี้ เกิดแล้วดับแล้ว ถ้าไม่ปรากฏ
เพราะฉะนั้น กว่าเราจะละความเป็นตัวตน ที่เคยยึดถือทั้งหมดตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าว่าไม่ใช่ตัวตน ต่อเมื่อสติระลึกตรงไหน เช่น แข็งตรงนี้ ที่นิ้ว หรือที่อะไรที่เรากำลังกระทบสัมผัส เมื่อไรสัญญาความจำว่ายังมีตัวเรานั่งอยู่หมดสิ้นไป เมื่อนั้น จึงจะรู้ว่า แท้ที่จริงแล้วสภาพธรรมปรากฏทีละอย่าง สิ่งใดซึ่งไม่ปรากฏ สิ่งนั้น เกิดแล้วดับแล้ว จึงไม่มีตัวตนใดๆ ทั้งสิ้น
นี่เป็นเหตุหนึ่งที่จะแสดงให้เห็นว่า ไม่มีรูปนั่ง รูปยืน รูปนอน รูปเดิน ไม่มีท่าทาง เพราะเหตุว่านึกและก็คิดเรื่องกิริยาอาการ แต่ลักษณะของรูปไหนล่ะที่ปรากฏ รูปนี้เกิดแล้วยังไม่ดับจึงปรากฏ แต่เมื่อปัญญาเจริญขึ้น รูปนี้ที่เกิดนั่นแหละ ดับ และก็เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ ระหว่างที่กำลังปรากฏ ซึ่งในขณะนั้นไม่มีสิ่งอื่นเจือปนเลย เป็นนามธรรมซึ่งไม่ใช่เรา กำลังรู้ลักษณะของรูป จึงละความเป็นตัวตนได้
เขาจะเอาไปพิสูจน์แบบอื่นก็ไม่มีทาง เพราะฉะนั้น ใครจะเชื่อไม่เชื่อ จะคิดแบบไหน พิสูจน์แบบไหน เป็นเรื่องของเขาทั้งหมด ชีวิตของเราสั้นเกินกว่าจะเอาความสงสัยของคนอื่นเข้ามา ไปแก้ไขเขา จนกว่าเขาจะเข้าใจเรื่องนามธรรมและรูปธรรม
ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่มีทางเลยที่จะเข้าใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้อะไร และทรงแสดงธรรมข้อปฏิบัติอย่างไร เพราะฉะนั้น ป้องกันไว้ทุกอย่าง ทั้งพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม ที่จะต้องสอดคล้องกัน ที่จะไม่ให้ผิด ถ้าผิดนิดหนึ่ง ผู้มีปัญญาต้องรู้แล้วว่า ข้อปฏิบัตินี้คลาดเคลื่อน ใช้ไม่ได้ ไม่ตรงตามพระธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อที่จะทรงตรัสรู้และทรงแสดงให้คนอื่นบรรลุด้วย สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติตามได้ด้วย
เพราะฉะนั้น ผู้ประมาท ผู้ไม่ศึกษา ไม่สามารถที่จะเข้าใจพระพุทธศาสนาได้ คิดว่าพระพุทธศาสนาสำหรับอ่าน เป็นไปไม่ได้ เพราะอ่านแล้วเข้าใจตามความคิดของตนเองซึ่งผิด เรื่องตายแล้วเกิด วิญญาณล่องลอยไป สารพัดที่จะไปค้นคว้ากันโดยอาจารย์แต่ละท่าน ถ้าท่านไม่ศึกษาจริงๆ ไม่มีทางที่จะเข้าใจได้ว่า นั่นคือความคิดของตัวเอง ท่านอาจจะอ้างบรรทัดหนึ่งจากพระไตรปิฎก แต่บรรทัดอื่นเอาไปไว้ที่ไหน และก็เพิ่มเติมจนกระทั่งพระไตรปิฎกจริงๆ ไม่ได้เป็นอย่างนั้น
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๑๒๔๑ – ๑๒๕๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1201
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1202
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1203
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1204
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1205
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1206
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1207
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1208
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1209
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1210
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1211
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1212
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1213
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1214
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1215
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1216
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1217
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1218
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1219
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1220
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1221
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1222
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1223
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1224
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1225
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1226
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1227
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1228
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1229
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1230
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1231
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1232
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1233
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1234
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1235
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1236
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1237
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1238
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1239
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1240
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1241
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1242
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1243
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1244
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1245
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1246
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1247
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1248
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1249
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1250
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1251
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1252
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1253
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1254
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1255
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1256
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1257
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1258
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1259
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1260