แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1205
ครั้งที่ ๑๒๐๕
สาระสำคัญ
สนทนาธรรมที่สถานีวิทยุ ว.ป.ถ. ๒ จ. เชียงใหม่
สติระลึกแล้วน้อมไปที่จะรู้ รู้โดยไม่ใช่คิด
ดูรูปนั่งถูกหรือผิด
มหาสติปัฏฐาน พิสูจน์ธรรมในขณะนี้
วิชชา หรือ ปัญญา สภาพที่สามารถรู้ของจริง หรือสัจจธรรมได้
ความจำที่มั่นคงที่จะให้สติระลึก
สนทนาธรรมที่สถานีวิทยุ ว.ป.ถ. ๒ จ. เชียงใหม่
วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖
พ.อ.ธงชัย เพราะฉะนั้น ขณะที่เราพิจารณาทางกาย สมมติว่าแข็ง เราก็อดที่จะท่องไม่ได้ว่า แข็งเป็นรูป รู้สึกแข็งเป็นนาม อะไรทำนองนั้น เรามักจะท่อง หรือไม่บางทีเราก็นึกคิดว่า นี่เป็นรูปเสื่อ ปรากฏขึ้นมาในมโนภาพของเรา และถ้าเราเอามือเท้าที่เสื่อ เมื่อเราจะพิจารณาความแข็ง บางทีก็ไม่ได้พิจารณาความแข็ง แต่ความนึกคิดเกิดขึ้นมา ขณะที่นึกคิดนั้น เราก็ละจากอารมณ์ที่พิจารณาว่าแข็ง ใช่ไหม คือ ขณะที่นึกคิดนั่น เราไม่ได้พิจารณาความแข็ง ใช่ไหม คนละขณะ
ขอถามต่อไปว่า การฟังก็ดี การคิดก็ดี เป็นปริยัติ เป็นปัจจัยแห่งวิปัสสนา ฉะนั้น การพิจารณานามธรรมและรูปธรรม คงไม่ใช่การเจริญวิปัสสนา ถูกหรือไม่
สุ. พิจารณา หมายความว่าอย่างไร นี่เป็นเรื่องของคำอีกเหมือนกัน เพราะเวลาใช้คำไหน ก็มักจะคิดความหมายของคำนั้นตามที่เคยเข้าใจ อย่างก่อนที่จะเจริญสติปัฏฐาน ใครพิจารณา ก็คิดว่าต้องเป็นเรื่องนึกยาว ใช่ไหม เหมือนกับว่า คิดดีๆ นะ เรื่องนี้เป็นอย่างไร เรื่องนั้นเป็นอย่างไร ลองพิจารณาคดีนี้ซิว่า คดีนี้ถูกหรือคดีนี้ผิด เข้าใจว่าเป็นเรื่องยาว แต่ความจริงขณะใดที่สติระลึกได้ว่า มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นั่นเป็นลักษณะของสติ แต่ปัญญาเป็นสภาพรู้ลักษณะที่แท้จริงของ สิ่งที่สติระลึกว่า ลักษณะนั้นเป็นเพียงนามธรรมหรือว่าเป็นรูปธรรม จึงไม่ใช่ตัวตน ซึ่งการที่จะรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้ จะใช้คำไหนก็ได้ที่ให้เป็นการรู้จริงๆ ได้ แต่ไม่ใช่ว่าพอสติระลึกก็รู้ได้ทันที ถ้าเป็นอย่างนั้น วันนี้ทุกคนเป็นพระอรหันต์หมด อย่าลืมว่า อวิชชาเป็นสภาพที่ไม่รู้ และอวิชชาไม่ใช่เพิ่งเกิดวันนี้หรือชาตินี้ ในแสนโกฏิกัปป์ก็เหมือนกับชาตินี้ คือ วิชชาเกิดน้อยมาก หรือเกือบไม่เกิดเลย แต่อวิชชานั้นเกิดอยู่บ่อยๆ เพราะฉะนั้น ถ้าเทียบแล้ว อวิชชาก็เหมือนกับฟ้าจรดดินที่กั้นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้
การที่จะใช้คำว่า เมื่อสติระลึกและพิจารณา หรือจะใช้คำว่า เมื่อสติระลึกและสังเกต หรือจะใช้คำว่า เมื่อสติระลึกและน้อมไปที่จะรู้ จะใช้คำไหน ได้หมด เพราะขณะนั้นอย่างไรๆ ก็ไม่รู้ เพราะว่าอวิชชามีมากมายเกินกว่าที่เมื่อสติระลึกก็รู้ทันที แต่อาศัยการรู้ว่า จะต้องรู้โดยไม่ใช่คิด ทำให้มีการน้อมไปบ้าง นึกขึ้นมาบ้าง สังเกตบ้าง พิจารณาบ้าง ทำอะไรก็ได้ด้วยประการทั้งปวง ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า โยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาโดยแยบคาย โดยแยบคาย คือ สามารถที่จะรู้โดยไม่ต้องคิดว่า นั่นเป็นนามธรรม คือ อาการรู้ และนั่นเป็นรูปธรรมซึ่งไม่ใช่สภาพรู้
ก่อนที่ท่านผู้ฟังทุกคนจะอ่านหนังสือได้ ก็ต้องเหมือนกันหมด คือ ต้องพิจารณาตัวหนังสือทีละตัวจนกว่าจะจำได้ จนกว่าจะรู้ ฉันใด เมื่อสติเกิดยังไม่รู้ว่าลักษณะนั้นเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม แต่ในขณะนั้นผู้ที่ตรัสรู้แล้วรู้ว่า รูปธรรมมี นามธรรมมี แต่อวิชชาที่เหมือนฟ้าจรดดินกั้นไว้ไม่ให้รู้ความจริง เพราะฉะนั้น จะต้องระลึก และแล้วแต่ใครจะทำอะไร ที่จะอธิบายออกมาเป็นคำพูดว่า สังเกต หรือพิจารณา หรือเทียบเคียง หรือน้อมไป หรืออะไรก็ได้ จนกว่าจะรู้โดยไม่ใช่คิด
ถ. ที่เรียกกันว่า ดูรูปนั่ง ถูกหรือผิด
สุ. ถูกหรือผิด ต้องถูกตามสภาพธรรม หรือผิดตามสภาพธรรม เพราะว่าไม่มีสภาพธรรม แต่เข้าใจว่าเป็นสภาพธรรม ขณะที่เห็นอะไรปรากฏ สิ่งที่ปรากฏ ทางตาในขณะนี้ ขณะที่ได้ยินอะไรปรากฏ ขณะที่ได้กลิ่นอะไรปรากฏ ขณะที่ลิ้มรส อะไรปรากฏ ขณะที่กระทบสัมผัสกายอะไรปรากฏ ขณะนี้ท่านผู้ฟังลืมว่า ยังมีอีกทวารหนึ่ง คือ ทางใจ รับรู้ต่อจากทางตาที่เห็น ไม่ว่าตาเห็นอะไร ถ้าเห็นสิ่งนี้ก็คิดถึงสิ่งนี้ ถ้าเห็นสิ่งนี้จะไม่คิดถึงสิ่งอื่น แต่จะคิดถึงสิ่งนี้ ซึ่งในขณะที่คิด คือ จิต ที่รู้อารมณ์ทางมโนทวารเกิดต่อจากทางตาที่เห็น นี่คือ การรู้อารมณ์ทางมโนทวาร
ท่านที่ศึกษาพระอภิธรรมจะทราบว่า มโนทวารวิถีจิต คือ จิตที่นึกขึ้นทางใจ เกิดต่อจากทางตา เกิดต่อจากทางหู เกิดต่อจากทางจมูก เกิดต่อจากทางลิ้น เกิดต่อจากจิตที่รู้ทางกาย โดยไม่มีใครยับยั้งได้ ไม่มีวิถีจิตที่เห็นแล้วทางใจจะไม่เกิดขึ้นรู้ต่อ ไม่มีวิถีจิตซึ่งได้ยินเสียงทางหูแล้วทางใจจะไม่เกิดขึ้นรู้เสียงนั้นต่อ
ในขณะนี้ที่กำลังมีเห็นบ้าง มีได้ยินบ้าง จะมีจิตทางใจเกิดขึ้นสลับคั่นกับ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ทางใจกำลังรู้ต่อ และขณะที่กระทบสัมผัสที่เรียกว่ากาย อ่อนหรือแข็งตรงหนึ่งตรงใด ส่วนหนึ่ง ส่วนใดเท่านั้นที่ยังไม่ดับที่กำลังเป็นอารมณ์ ขณะนั้นจะมีรูปนั่งไหม
ถ. ถ้าเราไม่ได้กำหนดตรงสภาพที่ร่างกายกำลังกระทบพื้น แต่เรารู้สึกตัวว่า กำลังนั่ง ทำให้นึกถึงในมหาสติปัฏฐานสูตรที่ว่า รู้ตัวว่า เรายืน เราเดิน เรานอน
สุ. แต่อย่าลืมคำว่า รู้ตัว ตัวนั้นคือมหาภูตรูป และมหาภูตรูปจะปรากฏเมื่อไร ทางตามหาภูตรูปปรากฏไม่ได้ ปรากฏได้ทางกายเท่านั้น เพราะฉะนั้น มหาภูตรูปจะมาปรากฏทางใจ เป็นท่าเป็นทางไม่ได้เลย
ถ. ขณะเรายืน เดิน นั่ง นอน ก็รู้ว่าเรายืน เดิน นั่ง นอน หมายความว่าอย่างไร
สุ. พิสูจน์ธรรมในขณะนี้ ขณะนี้ทุกท่านกำลังนั่ง กายมีไหม มี เห็นมีไหม มี ได้ยินมีไหม มี คิดนึกมีไหม มี เพราะฉะนั้น แล้วแต่ สติปัฏฐานมี ๔ จึงเป็น มหาสติปัฏฐาน ไม่ทิ้งคำว่า มหา เลย เพราะสติเป็นอนัตตา ไม่มีใครบังคับสติได้ว่า ให้รู้อยู่ที่กายเท่านั้น หรือให้รู้อยู่ที่หูเท่านั้น หรือให้รู้อยู่ที่ตาเท่านั้น เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่าแม้ในขณะที่นั่ง สติจะระลึกที่กายก็ได้ แต่ต้องระลึกตรงลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ มีลักษณะที่ปรากฏจริงๆ ให้รู้ ไม่ใช่นึกเป็น ท่าทาง นี่คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในขณะที่กำลังนั่งฉันใด ในขณะที่กำลังยืน ก็เช่นเดียวกัน
กำลังยืน จะระลึกทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ ทางจมูกก็ได้ ทางลิ้นก็ได้ ทางกาย ก็ได้ คือ สภาพธรรมใดปรากฏที่กายในขณะที่ยืน ต้องมีลักษณะจริงๆ ปรากฏ จึงจะสามารถประจักษ์ในความเกิดดับของรูปซึ่งปรากฏแล้วยังไม่ดับ เมื่อประจักษ์ จริงๆ ว่า รูปนั้นเกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ จึงไม่ใช่ตัวตน แต่ไม่ใช่การไปนึกว่า มีสภาพธรรมอื่น โดยที่ไม่มีลักษณะปรากฏ
เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานทุกบรรพ แม้แต่อานาปานบรรพ ลมหายใจ จะทำอย่างไรท่าไหนของลมหายใจ ถ้าจะให้เป็นท่าทาง หรือว่าลมหายใจมีลักษณะอย่างไร ซึ่งไม่ใช่ชื่อ แต่จะไม่พ้นจากมหาภูตรูป หรือแม้แต่ปฏิกูลมนสิการบรรพ การพิจารณาความเป็นปฏิกูลของผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ต้องมีลักษณะของรูปที่ปรากฏ แต่ละทางแต่ละขณะให้พิจารณา ในขณะที่กระทบผม ในขณะที่ได้กลิ่นผม ในขณะที่กำลังกระทบเล็บต่างๆ เหล่านี้ ต้องมีลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมที่ปรากฏจริงๆ แต่ละทาง ไม่ใช่ไปนึกเป็นรูปเล็บขึ้นมาเพราะว่าเป็นปฏิกูลมนสิการบรรพ ไม่ใช่ไปนึกให้เป็นรูปผมขึ้นมาเพราะว่าเป็นปฏิกูลมนสิการบรรพ ถ้าเป็นโดยนัยของสติปัฏฐาน ต้องมีลักษณะของปรมัตถธรรมปรากฏทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทวาร และถ้าเป็น สติปัฏฐาน ขณะนั้นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ใช่เราคิด แต่เป็นสภาพคิด จึงไม่ใช่เราที่กำลังคิด
ถ. อย่างหัวใจ ตับ ไต ไส้พุง อย่างนี้ เราไม่สามารถเห็นหรือกระทบได้ ไม่เรียกว่าคิดนึก จะให้ทำอย่างไร
สุ. คงจะมีตับไตซึ่งไม่ใช่ของเราปรากฏ นักเรียนแพทย์ หรือว่าในสมัยนี้ การผ่าตัดอาจจะมีกระจกส่องให้เห็นก็ได้ มีโทรทัศน์ให้เห็นก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องเป็นผู้ที่ข้องใจสงสัยในลักษณะใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าสติจะต้องระลึกลักษณะของสภาพธรรมเฉพาะที่กำลังปรากฏ ที่ไม่ปรากฏตัดไปได้เลย
ถ. สติปัฏฐาน ๔ ถ้าอะไรปรากฏ รู้ในสิ่งที่ปรากฏนั้น จึงจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ ถ้ามานึกคิดไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔ ใช่ไหม
สุ. คำถามนี้เป็นหัวใจของสติปัฏฐาน คือ ถ้าสภาพธรรมใดปรากฏ จึงเป็น สติปัฏฐาน สภาพธรรมใดแม้มี แต่ไม่ปรากฏ ก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน
จิตเกิดดับเร็วมาก พระผู้มีพระภาคและพระสาวกที่ประจักษ์ก็ประจักษ์เช่นเดียวกันว่า จิตเป็นสภาพที่เกิดดับอย่างรวดเร็ว รูปก็เป็นสภาพที่เกิดดับอย่างรวดเร็วมาก พิจารณาตามความเป็นจริงว่า ทุกคนที่กำลังนั่งในขณะนี้ ให้คิดถึงรูปว่า สามารถจะแตกย่อยรูปที่กำลังประชุมรวมกันออกเป็นส่วนย่อยเล็กที่สุดได้ไหม ไม่ได้ให้ไปแตกย่อยจริงๆ แต่ให้คิดเพียงว่า รูปซึ่งดูเหมือนเป็นก้อนแท่งทึบใหญ่ จะสามารถแตกย่อยออกเป็นส่วนที่เล็กที่สุดได้ไหม ได้ เพราะตามความเป็นจริง มีอากาศธาตุ คือ ช่องว่าง คั่นอยู่ทุกกลุ่มที่เล็กที่สุด ที่เราคิดว่าเป็นรูปแท่งทึบของเรา แท้ที่จริงเป็นกลุ่มของรูปที่เล็กมากแต่ละกลุ่ม ซึ่งมีอากาศธาตุคั่นอยู่พร้อมที่จะแตกย่อยทำลายได้จนละเอียดที่สุด และแต่ละกลุ่มทยอยกันเกิดดับ ไม่ใช่ว่าดับพร้อมกันไปหมดทีเดียว
และถึงแม้ว่าจะทยอยกันเกิดดับเพียงไรก็ตาม การเกิดดับใน ๑๗ ขณะก็เป็นไปอย่างรวดเร็วมาก เพราะฉะนั้น แม้ว่าเราเคยจำได้ว่า เรามีตา มีหู มีศีรษะ มีแขน มีมือ มีเท้า แต่ตามความเป็นจริง รูปเหล่านั้นทั้งหมดเกิดดับอย่างรวดเร็ว
ขณะใดที่ไม่ปรากฏ ขณะนั้นรูปนั้นเกิดแล้วดับแล้ว อย่าลืม ขณะใดที่รูปส่วนใดของกายไม่ปรากฏ ขณะนั้นรูปนั้นเกิดแล้วดับแล้ว เพราะ ๑๗ ขณะนี้เกิดดับเร็วมาก ด้วยเหตุนี้ แต่ละท่านหนักกันคนละเท่าไร หลายกิโล ใช่ไหม เมื่อแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ ศีรษะหนักกี่กิโล แขนหนักกี่กิโล ขาหนักกี่กิโล ทำไมไม่รู้สึกหนักอย่างนั้น ตั้งหลายกิโล เพราะรูปนี้ประกอบด้วยกลุ่มของรูปที่ละเอียด ที่มีอากาศธาตุคั่น และเกิดดับเร็วมาก
เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ไม่ถูกต้องศีรษะ หรือรูปส่วนอื่นที่ไม่ปรากฏ ก็เกิดแล้วดับแล้ว แม้แต่รูปซึ่งกำลังปรากฏเป็นอารมณ์ที่กระทบ ขณะนั้นก็กำลังเกิดดับ แต่เพราะเกิดแล้วก็ดับ และก็เกิดอีก และก็ดับอีกอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ดูเหมือนกับว่า ส่วนที่ปรากฏนั้นไม่ได้ดับ แต่ถ้าปัญญาเจริญขึ้นสามารถประจักษ์แจ้งการเกิดดับของรูปที่กำลังเกิดดับในขณะนั้นได้ จึงจะประจักษ์แจ้งตามความเป็นจริงว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง
ไม่เที่ยง ไม่ใช่หมายความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่เที่ยง ก็ต้องไม่เที่ยง หรือว่าเกิดมาแล้วต้องแก่ เพราะฉะนั้น รูปเด็กหายไปก็ไม่เที่ยง แต่ไม่เที่ยงที่เป็นการประจักษ์แจ้ง คือ รูปที่กำลังปรากฏเป็นอารมณ์นั้นเองดับ และก็เกิด และก็ดับ และ ก็เกิด และก็ดับ จึงประจักษ์แจ้งในความไม่เที่ยงที่จะรู้ว่าเป็นอนัตตาและไม่ใช่ตัวตน
เพราะฉะนั้น อย่าลืม ที่คิดว่าเป็นเรากำลังนั่งอยู่นั้น กำลังเกิดดับทั้งหมด ส่วนใดที่ปรากฏ เฉพาะส่วนนั้นเท่านั้นที่ยังไม่ดับจึงปรากฏ แต่ก็ดับทันทีที่ปรากฏ และก็เกิดต่ออย่างรวดเร็ว
แต่รูปใดก็ตาม นามใดก็ตาม ที่ไม่เป็นอารมณ์ รูปนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน
ถ. รูปเกิดดับ จะรู้ได้เวลาไหน
สุ. วิชชา หรือปัญญา เป็นสภาพที่สามารถรู้ของจริง หรือสัจธรรมได้ แต่อวิชชาไม่สามารถรู้ได้ เพราะฉะนั้น จากความเป็นผู้ที่เต็มเปี่ยมด้วยอวิชชา ต้องเป็น ผู้ที่ค่อยๆ อบรมเจริญปัญญาจนถึงขั้นที่สามารถประจักษ์แจ้งความเกิดดับได้ จึง จะเป็นพระอริยบุคคล
ถ. อาตมาเข้าใจว่า การปฏิบัติวิปัสสนานั้น ไม่มีกำหนดเวลา สถานที่ หรือพิธีรีตองอะไร คือ ให้มีสติสัมปชัญญะรู้แจ้งในชีวิตประจำวัน รู้แจ้งในอารมณ์ที่ปรากฏทางทวารทั้ง ๖ ไม่ปรุงแต่ง ไม่ยึดมั่นถือมั่น พยายามปล่อยวาง พยายามทำเป็นประจำวัน ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไร จะนั่ง นอน ยืน เดิน กิน ดื่ม แต่โมหะ หลงลืมก็มีอยู่บ้าง อาตมาปฏิบัติเป็นประจำวันอย่างนี้ อาจารย์จะมีวิธีแนะนำแก้ไขเพิ่มเติมอะไรบ้าง
สุ. มีวิธีเดียว คือ วิธีนี้ ไม่มีวิธีอื่น
ถ. รูปแต่ละรูปละเอียดมาก ที่เรียกว่า อณู ที่มีผู้เปรียบว่าดุจ ๑ ใน ๘๐ กว่าล้านของเมล็ดข้าวสารหรือเปล่า
สุ. เสียง ไม่มีใครวัดอย่างนั้น ใช่ไหม เพราะฉะนั้น รูปแต่ละรูปที่ปรากฏ ก็ปรากฏตามความเป็นจริง แต่ขาดตอนจากกันเพราะมโนทวารปรากฏ ขณะที่ มโนทวารไม่ได้ปรากฏ ก็ไม่ขาดตอน ทางตาต่อกับทางหูเพราะมโนทวารไม่ได้ปรากฏ แต่เมื่อใดที่มโนทวารปรากฏ ความขาดตอนของแต่ละทวารจึงปรากฏ
ถ. วิธีปฏิบัติในการเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้องเป็นอย่างไร
สุ. ถามแต่วิธี ไม่ได้ถามเลยว่า ทำอย่างไรจึงจะเข้าใจขึ้น ต้องการวิธีที่ จะทำ หรือต้องการให้เข้าใจขึ้นอีกๆ เข้าใจละเอียดขึ้นอีก เข้าใจถูกขึ้นอีก จนกระทั่งปฏิบัติไม่ผิด
สังเกตได้จากคำถามว่า คำถามแต่ละคำถามมาจากจิตประเภทไหน มาจากความเข้าใจถูก หรือความเข้าใจผิดขั้นไหน หรือว่ายังมีความต้องการแฝงอยู่ ถ้าถามว่าทำอย่างไร ปฏิบัติอย่างไร ให้ทราบว่า ไม่ได้ต้องการปัญญาเลย แต่ต้องการจะทำ ซึ่งตรงกันข้าม วิปัสสนา เป็นการอบรมเจริญปัญญาตั้งแต่ขั้นของการฟัง เมื่อฟังแล้ว มีความเข้าใจบ้างแล้ว สติระลึกบ้างแล้ว ยังไม่พอ ถ้าพอพระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงแสดงพระธรรมถึง ๔๕ พรรษา ซึ่งเมื่อรวบรวมและจำแนกแล้ว ก็เป็นพระวินัยปิฎก ส่วนหนึ่ง พระสุตตันตปิฎกส่วนหนึ่ง พระอภิธรรมปิฎกส่วนหนึ่ง
ซึ่งไม่ใช่สำหรับผู้ที่เพียงฟังสั้นๆ และรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่สำหรับผู้ที่ฟัง แม้มากก็ยังไม่บรรลุ ยังจะต้องพิจารณามาก ปฏิบัติมากต่อๆ ไปด้วย เพราะฉะนั้น ควรที่จะระลึกว่า ทำอย่างไรจึงจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น เมื่อมีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น สติซึ่งเป็นอนัตตาก็มีปัจจัยที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เข้าใจเพิ่มขึ้น
เพราะฉะนั้น จึงทรงจำแนกสภาพธรรมออกเป็นนามธรรมและรูปธรรม และ ทรงจำแนกนามธรรมออกเป็นปรมัตถธรรม ๓ คือ จิต เจตสิก นิพพาน และทรงจำแนกปรมัตถธรรมที่เป็นสังขารธรรมที่เกิดดับออกเป็นขันธ์ ๕ และทรงจำแนกออกเป็นอายตนะ และทรงจำแนกออกเป็นธาตุ และทรงจำแนกออกเป็นอินทรีย์ เพื่อให้เห็นว่า ลักษณะของธรรมแต่ละอย่างต่างกันไปตามเหตุตามปัจจัย ตามกิจการงานหน้าที่แต่ละขณะของสภาพธรรมนั้นๆ จนกว่าปัญญาจะน้อมไปรู้ว่า เป็นอนัตตาแน่ๆ และเมื่อสติเกิดแล้ว ก็ยังต้องอาศัยการฟังและเข้าใจเป็นปัจจัยจนกว่าจะรู้ชัด โดยวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นว่า ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะฉะนั้น มีทางเดียวอีกเหมือนกัน คือ ฟังต่อไป เพราะไม่สามารถบังคับสติได้ แต่เมื่อฟังบ่อยๆ ก็เป็นสัญญา ความจำที่มั่นคง ที่จะให้สติระลึกได้เพิ่มขึ้น
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๑๒๐๑ – ๑๒๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1201
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1202
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1203
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1204
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1205
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1206
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1207
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1208
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1209
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1210
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1211
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1212
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1213
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1214
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1215
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1216
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1217
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1218
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1219
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1220
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1221
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1222
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1223
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1224
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1225
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1226
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1227
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1228
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1229
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1230
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1231
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1232
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1233
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1234
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1235
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1236
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1237
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1238
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1239
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1240
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1241
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1242
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1243
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1244
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1245
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1246
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1247
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1248
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1249
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1250
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1251
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1252
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1253
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1254
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1255
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1256
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1257
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1258
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1259
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1260