แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1207
ครั้งที่ ๑๒๐๗
สาระสำคัญ
ข้อปฏิบัติที่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรม
อสัมโมหสัมปชัญญะ
ขณะใดมีสติ ขณะใดหลงลืมสติ
ผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฎราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๐ มกราคม ต่อวันอาทิตย์ที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๖
สุ. มีข้อสงสัยในเรื่องการเจริญสติปัฏฐานบ้างไหม
ถ. มี คือ ขณะที่เสียงหรือขณะที่รูปต่างๆ ปรากฏ อย่างเสียงปรากฏทางหู เสียงกับได้ยินจะเกิดพร้อมกัน เราจะแยกดูเสียงหรือดูนาม อย่างนั้น ใช่ไหม
สุ. ท่านผู้ฟังไม่ใช่ตัวตนที่จะแยกดู แต่ท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่รู้ว่า ขณะไหน สติระลึก จึงรู้และสังเกตลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งต่างกับขณะที่หลงลืมสติ ไม่ใช่ดู แต่รู้ว่าขณะใดที่สติเกิดจึงระลึกรู้ในสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งกำลังปรากฏและเริ่มศึกษาพิจารณาเพื่อจะได้รู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นรูปธรรม หรือว่า ลักษณะนั้นเป็นนามธรรม แต่ไม่ใช่ดู
ถ. ที่ผมพูดว่า ดู หมายความถึงระลึก
สุ. แต่ไม่ใช่ท่านผู้ฟังจะระลึก สติเกิดและรู้ว่าขณะนั้นมีสติ
ถ. แต่ทั้งรูปและนามยังปนกันอยู่ อย่างเสียงปรากฏ จะรู้ว่าเป็นอะไร ทันทีเลย
สุ. ท่านผู้ใดบ้างที่รูปและนามไม่ปนกัน ก็คือ ผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญามากพอสมควรที่ความรู้ชัดจะเกิดขึ้น แต่ถ้ายังไม่ได้อบรมเจริญปัญญาพอที่ความรู้ชัดจะเกิดขึ้น ก็ไม่สามารถประจักษ์ความต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมทางมโนทวารได้
ถ. มีคนสงสัยว่า ถ้าเจริญแบบที่ท่านอาจารย์พูด ขณะที่กำลังพูด คือ จิตเกิดทีละขณะ เขาบอกว่าอย่างนั้น ถ้าหากว่าพูดหรือนึกคิดอะไรอยู่ ไม่จดจ้องในรูปนามจริงๆ จะไม่เห็นสภาวะชัด ไม่รู้จะพูดอย่างไร
สุ. ไม่ใช่การจะเห็นสภาวะชัดเจน แต่เป็นการอบรมเจริญปัญญาโดย สติระลึกสภาพธรรมที่กำลังปรากฏไปเรื่อยๆ จนกว่าความรู้จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น
ถ. มีมากด้วย ส่วนมากที่เข้าปฏิบัติ
สุ. เพราะฉะนั้น เป็นหน้าที่ของท่านผู้ฟังที่จะพิจารณาจริงๆ ว่า ข้อปฏิบัติอย่างไรที่จะทำให้สามารถรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้
ถ. เขาบอกว่า เห็นไม่ชัด แต่ขณะที่กำหนดไป ...
สุ. นั่นเป็นเรื่องของท่านผู้อื่น แต่ท่านผู้ฟังเองเป็นผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญาหรือเปล่า ถ้าเป็นผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เรื่องไปเห็นให้ชัด แต่เป็นเรื่องศึกษาพร้อมสติในลักษณะของสภาพที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏแต่ละทาง
ถ. ก็ไม่เหมือนกัน หลักของแบบที่เข้าห้องปฏิบัติ กับแบบของท่านอาจารย์ ผมมีความสงสัยอยู่แค่นี้ แต่ผมเห็นว่า ถูกทั้ง ๒ แบบ
สุ. ข้อปฏิบัติผิดมีไหม
ถ. ก็มี
สุ. ไม่ใช่ว่าท่านผู้ฟังมีอคติที่จะกล่าวว่า ข้อปฏิบัตินั้นผิด แต่พิจารณาเหตุผลว่า ข้อปฏิบัติใดก็ตามที่ไม่ทำให้ปัญญาสามารถเจริญขึ้นจนกระทั่งรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติในขณะนี้ได้ ข้อปฏิบัตินั้นผิด แต่ ข้อปฏิบัติใดก็ตามที่สามารถจะอบรมเจริญปัญญาจนรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ ข้อปฏิบัตินั้นถูก อย่างนี้ชื่อว่าอคติไหม หรือชื่อว่า ตามเหตุผล
ถ. พูดยาก
สุ. ถ้าพูดยาก ก็ขอให้ท่านผู้ฟังพิจารณาไตร่ตรองต่อไปอีก
ถ. ขอเรียนถามลักษณะของอสัมโมหสัมปชัญญะ คือ จะตัดสินได้อย่างไรว่า ขณะนั้นสติเกิดหรือยัง
สุ. อสัมโมหสัมปชัญญะ คือ การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏโดยไม่หลงเข้าใจผิด คำว่า อสัมโมหสัมปชัญญะ หมายความว่าไม่หลงเข้าใจผิด
แสดงว่าในขณะที่กำลังเห็น ถ้าสติไม่เกิด ต้องมีการหลงเข้าใจผิดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ไม่รู้ตัวใช่ไหมว่า มีการหลงเข้าใจผิดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จนกว่าจะได้ฟังพระธรรมและมีความเข้าใจว่า สภาพธรรมที่ปรากฏตลอดตั้งแต่เกิดจนตาย ทุกชาติในสังสารวัฏฏ์ เป็นแต่เพียงลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นเพราะ เหตุปัจจัย และดับไปอย่างรวดเร็วอยู่เรื่อยๆ
เพราะฉะนั้น การที่ปัญญาจะสามารถประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมโดยไม่หลงเข้าใจผิด ต้องอาศัยเมื่อฟังแล้วเข้าใจ สติเกิด ระลึกได้ ไม่ลืมที่จะน้อมพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะที่กำลังเห็นก็จะต้องระลึกได้ ในขณะที่กำลังได้ยินก็จะต้องระลึกได้ ในขณะที่กำลังได้กลิ่นก็จะต้องระลึกได้ ในขณะที่กำลังลิ้มรสก็จะต้องระลึกได้ ในขณะที่กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสก็จะต้องระลึกได้ และในขณะที่กำลังคิดนึกก็จะต้องระลึกได้ ทุกๆ ขณะในชีวิต จนกว่าปัญญาจะเจริญขึ้น เพราะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละอย่างทาง ๖ ทวาร คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจจริงๆ เพิ่มขึ้น จนไม่มีความสงสัยว่า ขณะนี้ที่เห็น นามธรรมหรือรูปธรรมต่างกันอย่างไร
นี่เป็นสิ่งซึ่งจะมีได้ คือ หมดความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะที่กำลังเห็น หรือในขณะที่กำลังได้ยิน ตามปกติในชีวิตประจำวัน
สำหรับการที่จะรู้ว่าขณะใดมีสติ ขณะใดหลงลืมสติ ต้องเป็นปัญญาของผู้ที่ สติเกิดจึงจะรู้ได้ เพราะว่าสติเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว และถ้าสติเกิดเพียงเล็กน้อยและยังไม่ได้น้อมศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจนรู้ชัด เมื่อ สติเกิดแล้วดับไปอย่างรวดเร็วเพียงเล็กน้อย จึงทำให้เกิดความไม่แน่ใจและความสงสัยว่า ในขณะนั้นๆ เป็นสติหรือเปล่า
แต่ขณะที่มีสติ ต้องต่างกับขณะที่หลงลืมสติแน่นอน ซึ่งความจริงไม่ใช่อาการผิดปกติใดๆ เลย เพราะตามปกติทุกคนเห็นแล้วก็คิด ขณะนี้กำลังเป็นความจริงอย่างนั้น คือ ทุกคนเห็นแล้วคิด หรือว่าขณะที่ได้ยิน ทุกคนได้ยินแล้วคิด ขณะที่กำลังอ่านหนังสือก็คิดด้วย เพราะฉะนั้น แทนที่จะเพียงเห็นแล้วคิด ก็เป็นเห็นแล้วรู้ว่า ลักษณะที่เห็นเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ให้เป็นปกติในชีวิตประจำวัน คือ แทนที่จะคิดเรื่องอื่นด้วยความหลงลืมสติ เห็นแล้วคิดได้เป็นของธรรมดา ฉะนั้น ทำไมเห็นแล้วสติจะระลึกไม่ได้ เมื่อเห็นแล้วคิดได้ฉันใด เห็นแล้วสติก็ระลึกได้ฉันนั้น ไม่ต่างกันเลย ถ้าอบรมเจริญสติปัฏฐานทีละเล็กทีละน้อยบ่อยๆ เนืองๆ จนเป็นอุปนิสัย
เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็นและได้ฟังเรื่องการเห็น จะเกื้อกูลให้สติเกิดระลึกทันทีที่ลักษณะของนามธรรมที่เห็น หรือว่าลักษณะของรูปธรรมที่กำลังปรากฏได้ ในเมื่อเป็นผู้ที่เคยอบรมเจริญอินทรีย์ ๕ มาแล้ว อย่าลืมว่า เห็นแล้วคิดเรื่องอื่นได้ เพราะฉะนั้น เห็นแล้วสติก็ระลึกที่ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ พร้อมทั้งปัญญาที่ได้ เจริญอบรมมากแล้ว จะทำให้ประจักษ์แจ้งในความเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติตามความเป็นจริงได้ ไม่ผิดปกติ และไม่ผิดความเป็นจริงเลย
ถ้าไม่ใช่โดยลักษณะนี้ ก็ไม่สามารถที่จะดับความยินดีพอใจและการยึดถือ นามธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้
ดูเหมือนไม่น่าสงสัยเลยในเรื่องลักษณะของสติ ใช่ไหม แทนที่เห็นแล้วคิดเรื่องอื่น แทนที่กระทบสัมผัสแข็งแล้วคิดเรื่องอื่น ก็ศึกษาลักษณะที่กำลังรู้แข็ง หรือลักษณะแข็งที่กำลังปรากฏเท่านั้น
แต่ถ้าสติปัฏฐานยังไม่ได้อบรมมาเพียงพอ ความเคยชินต่อการที่จะนึกคิดเรื่องอื่นทันทีด้วยโลภะหรือโทสะเป็นเรื่องราวต่างๆ จะเห็นได้ว่า มีมากมายในวันหนึ่งๆ ในชีวิตประจำวัน ทั้งๆ ที่รู้ว่า สติสามารถเกิดแทนการคิดนึกเรื่องอื่นได้ แต่เวลาที่ สติปัฏฐานยังไม่ได้เจริญพอ สติเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย และคิดเรื่องอื่นเหมือนเดิมต่อไปทันที
เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยกาลเวลาที่นานกว่าที่จะเปลี่ยนอุปนิสัยจาก ความเป็นปุถุชนสู่ความเป็นพระอริยบุคคลได้ โดยต้องอาศัยการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติไปเรื่อยๆ
ถ. ตามปกติการเจริญสติปัฏฐาน จะต้องมีปัจจุบันอารมณ์ และเป็นปรมัตถอารมณ์ ในขณะที่เห็น จิตเห็นดับไปแล้ว ชวนจิตก็ดับไปแล้วไม่รู้ว่ากี่ขณะ และสติเกิดขึ้นรู้จิตเห็นที่ดับไปแล้ว ยังจะชื่อว่าเป็นปัจจุบันอารมณ์หรือเปล่า
สุ. ถ้าไม่ใช่เมื่อวานนี้ ไม่ใช่พรุ่งนี้ และสภาพธรรมนั้นกำลังมีลักษณะปรากฏให้รู้ได้ ก็ชื่อว่าปัจจุบัน
ถ. ไม่ต้องไปคำนึงถึงว่า จะดับไปสักเท่าไรแล้ว
สุ. ยังไม่ประจักษ์การดับ จะไปคิดทำไม ในเมื่อลักษณะของสภาพธรรมกำลังปรากฏ จะต้องรู้ความจริงในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏก่อน เป็นลำดับขั้น
ถ. ยังไม่ประจักษ์ก็จริง แต่โดยการศึกษาก็รู้
สุ. โดยการศึกษาขั้นเข้าใจ แต่การศึกษาที่จะรู้ลักษณะของเห็นในขณะนี้ เป็นอีกขั้นหนึ่ง ถ้าโดยการศึกษา ทุกท่านเป็นพระอรหันต์หมดทุกคนที่จบการศึกษาเรื่องอริยสัจ ๔
ถ. อาจารย์กล่าวว่า ผู้ที่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐานเห็นแล้วก็คิด ได้ยินแล้วก็คิด ส่วนผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเห็นแล้วให้ระลึก ให้รู้ แต่ทำอย่างไรจึงจะรู้ อารมณ์ทางตานี้เห็นแล้วก็รู้ ประเดี๋ยวอารมณ์ทางหู ได้ยินแล้วกลับไม่รู้ ทำอย่างไรจึงจะให้รู้ได้ทั้ง ๖ ทวาร
สุ. คำตอบอยู่ที่คำถาม คือ ต้องระลึกจนทั่ว บ่อยๆ เนืองๆ จนชิน เท่านั้นเอง เมื่อระลึกทางตารู้ ทางหูไม่รู้ ก็ต้องระลึกทางหูอีก จนกว่าจะทั่ว จนกว่าจะชิน เมื่อระลึกทางหูรู้ ทางตากลับไม่รู้อีก ก็ต้องระลึกทางตาอีก จนกว่าจะชิน เท่านั้นเอง ไม่มีทางอื่นเลย เพราะว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้
ทุกท่านมักจะถามว่า ทำอย่างไร คล้ายๆ กับว่ามีทางอื่น แต่ทางอื่นไม่มีแน่นอน ไม่มีเลย มีทางเดียวเท่านั้นจริงๆ ใครจะพากเพียรพยายามหาทางอื่นสักเท่าไร ก็ไม่สามารถจะเป็นไปได้ เพราะว่าหนทางนี้เป็นหนทางที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงดำเนินแล้ว ทางนี้ยากไปหรือ
ถ. สติ แปลว่า การระลึก และความจำที่มั่นคงเป็นลักษณะของสติ ในขณะที่เรานึกถึงการฆ่าเป็ดฆ่าไก่ในอดีต ขณะนั้นมีสติหรือเปล่า
สุ. ถามคนอื่นไม่ได้ แล้วแต่ว่าจิตที่คิดในขณะนั้นเป็นกุศลจิตที่คิด หรืออกุศลจิตที่คิด
ถ. ก็อยากจะเป็นกุศล แต่ไม่รู้ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล
สุ. ซึ่งคนอื่นตอบไม่ได้ นอกจากสติสัมปชัญญะของบุคคลนั้นเอง นี่เป็นเหตุที่ผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานสามารถที่จะรู้สภาพของจิตละเอียดขึ้นๆ แม้แต่ความคิดก็ยังสามารถรู้ได้ว่า ในขณะนั้นเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตที่กำลังคิด เพราะว่าสติระลึกรู้ลักษณะที่ต่างกันว่า ขณะที่อกุศลจิตคิดเป็นอย่างไร และขณะที่กุศลจิตคิดเป็นอย่างไร
ขณะที่คิดไม่ใช่เรา เป็นจิต ซึ่งอาจจะเป็นโลภมูลจิตคิดด้วยความต้องการ ยินดี เพลิดเพลินพอใจในเรื่องหรือในอารมณ์ที่คิด หรืออาจจะเป็นโทสมูลจิตคิดด้วยความขุ่นเคือง น้อยใจ เสียใจ เศร้าใจ ไม่พอใจ ซึ่งในขณะนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็น โทสมูลจิต หรืออาจจะเป็นมหากุศลจิตที่คิดก็ได้
ถ. ผมคิดว่า ขณะที่นึกถึงการฆ่าเป็ดฆ่าไก่ในอดีต ขณะนั้นต้องเป็น โทสมูลจิต
สุ. ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ขณะใดที่จิตไม่เป็นไป ในทาน ในศีล ในการอบรมเจริญความสงบ และในการเจริญสติปัฏฐานแล้ว เป็นอกุศลทั้งนั้น ซึ่งอาจจะเป็นโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือโมหมูลจิตก็ได้
เพราะฉะนั้น การเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน แม้จะเพียงวันละเล็ก วันละน้อย นิดๆ หน่อยๆ แต่จะเป็นปัจจัยทำให้สติเจริญถึงความมั่นคงขึ้นที่จะระลึก รู้ได้ว่า ขณะใดเป็นกุศลจิต และขณะใดเป็นอกุศลจิต แต่ในขณะที่ไม่ได้เจริญ สติปัฏฐานเลยจะเป็นอกุศลจิตส่วนมาก ไม่ว่าจะนึกคิดเรื่องอะไร ก็ไม่พ้นไปจาก โลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต
เพราะฉะนั้น การเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน แม้ว่าจะต้องอบรมเจริญพากเพียรนานสักเท่าไรก็ตาม กี่กัปก็ตามแต่ ก็เป็นขณะที่มีประโยชน์ทุกขณะ
ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐาน ก็คาดคะเนเดาว่า วันนี้อกุศลเกิดทั้งนั้นเลย ขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิด ไม่ได้ให้ทาน หรือไม่ได้สวดมนต์ไหว้พระ แต่ไม่ได้รู้จริงๆ ว่า ขณะที่เป็นอกุศลนั้นเป็นอย่างไร เพียงแต่คาดคะเนรวมๆ ว่าเป็นอกุศลทั้งนั้น
แต่เวลาที่สติปัฏฐานเกิด สามารถจะรู้ลักษณะของโลภะ สภาพที่ติดข้อง ยินดี เพลิดเพลิน หรือว่ารู้ลักษณะของโทสะ ซึ่งเป็นสภาพที่ไม่พอใจ ขุ่นเคือง ขุ่นมัว ไม่แช่มชื่น
และถึงแม้ว่าชีวิตของแต่ละคนในแต่ละวันจะมากไปด้วยโลภะ โทสะ หรือโมหะก็ตาม แต่ถ้าสติสามารถจะระลึกรู้แม้ลักษณะที่เป็นอกุศล ก็ยังดีกว่าเป็นกุศลโดย สติปัฏฐานไม่ได้ระลึกรู้เลยว่า แม้กุศลนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน
จะเลือกเอาอย่างไหน จะมีกุศลมากๆ แต่สติปัฏฐานไม่เกิด เพราะฉะนั้น กุศลนั่นแหละเป็นเรา เราเป็นผู้มีกุศลมาก หรือว่าจะเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง เห็นอกุศลของตนเอง ซึ่งคนอื่นไม่สามารถเห็นได้ และยังรู้ว่า อกุศลประเภทนั้นๆ เกิดเพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีเหตุปัจจัย อกุศลอย่างหนึ่ง อย่างใดนั้นก็เกิดขึ้นไม่ได้
การที่มีอกุศล และสติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอกุศล ย่อมดีกว่ามีกุศลเกิดแต่สติปัฏฐานไม่ระลึกรู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน
ไม่ทราบว่าท่านผู้ฟังเห็นด้วยหรือเปล่า เพราะว่ากุศลอื่นๆ ก็เคยเจริญกันมาแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นทานกุศล หรือศีล หรือการอบรมเจริญความสงบจนกระทั่งถึงฌานจิต ซึ่งทำให้ยังมีการเกิดวนเวียนในภพภูมิต่างๆ ไม่สามารถพ้นไปจากสังสารวัฏฏ์ได้ แต่การเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน รู้แม้อกุศลแต่ละขณะที่เกิดกับตน เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้พ้นจากสังสารวัฏฏ์ได้
ความต่างกันของแต่ละชีวิต แต่ละบุคคล แต่ละภพ แต่ละชาติ ในแต่ละวัน มีมาก อย่างวันนี้ เป็นต้น ตั้งแต่ตื่นมา แม้แต่บุคคลในครอบครัวเดียวกัน ทำกิจวัตรอย่างเดียวกัน แต่คิดถึงสภาพของจิตว่า ต่างกันหรือเปล่า แม้ในขณะที่บริโภคอาหารร่วมกันจิตก็คิดต่างกัน และไม่ใช่แต่เฉพาะในการบริโภคอาหาร ในการแต่งกาย ในหน้าที่การงาน ในการเลี้ยงชีพ ในชีวิตครอบครัวต่างๆ จะเห็นได้ว่า การเกิดขึ้นของแต่ละขณะเป็นไปตามการปรุงแต่งของเหตุปัจจัยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญอินทรีย์ ๕ ของแต่ละบุคคล ก็ต้องต่างกันไปตามวิถีชีวิตของแต่ละบุคคล แม้แต่การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๑๒๐๑ – ๑๒๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1201
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1202
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1203
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1204
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1205
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1206
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1207
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1208
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1209
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1210
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1211
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1212
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1213
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1214
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1215
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1216
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1217
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1218
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1219
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1220
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1221
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1222
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1223
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1224
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1225
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1226
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1227
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1228
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1229
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1230
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1231
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1232
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1233
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1234
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1235
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1236
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1237
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1238
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1239
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1240
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1241
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1242
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1243
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1244
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1245
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1246
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1247
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1248
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1249
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1250
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1251
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1252
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1253
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1254
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1255
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1256
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1257
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1258
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1259
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1260