แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1208


    ครั้งที่ ๑๒๐๘


    สาระสำคัญ

    สภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ ในขณะที่กำลังเห็น

    รู้ลักษณะของนามธรรมไม่ใช่โดยชื่อ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฎราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๖


    . จากการสนทนาธรรมวันเสาร์ เมื่อวานนี้ นักศึกษาธรรมมีปัญหา เรียนถามอาจารย์ว่า การพิจารณานามเห็น พิจารณาที่ไหน ทางตาหรือทางใจ

    สุ. การพิจารณานามเห็น เหมือนกับทางอื่น คือ ในขณะที่สภาพธรรมใดกำลังปรากฏ ขณะนั้นต้องมีสภาพรู้ ถ้าไม่มีสภาพรู้ สิ่งหนึ่งสิ่งใดจะปรากฏไม่ได้ เช่น ทางตาที่กำลังเห็น อย่าลืมว่าขณะนี้มีจริงๆ และมีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาปรากฏแสดงให้รู้ว่า มีนามธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น ไม่ใช่มี จุดที่จะเจาะจงว่าจะต้องจดจ้องที่นั่นที่นี่ แต่เป็นการระลึกได้ รู้ว่า ขณะนี้มีสภาพรู้ ธาตุรู้

    มีจริงๆ หรือเปล่า สภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ ในขณะที่กำลังเห็น ต้องมีแน่ แต่เพราะยังไม่รู้ชัดในลักษณะของสภาพรู้ อาการรู้ จึงเพียงขั้นเข้าใจว่า ต้องมีสภาพรู้แน่นอนในขณะที่กำลังเห็น แต่ถ้าสติไม่ระลึกไม่มีทางรู้ได้ว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ที่กำลังเห็นในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ต้องอบรมเจริญปัญญาเพื่อจะรู้ว่า ลักษณะที่เป็นสภาพรู้ไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ใช่ว่าให้ไปจ้อง หรือว่าให้ไปรู้ตรงไหน แต่ให้รู้ความจริงว่า ในขณะที่กำลังเห็น ในขณะนี้ ตามปกติ เป็นลักษณะของสภาพรู้ หรือธาตุรู้ซึ่งกำลังเห็น

    . มีความเห็นเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งว่า รู้ที่เห็น อีกฝ่ายหนึ่งว่า รู้ที่ใจกับ รู้ที่ตา

    สุ. เห็นกับใจนี่เป็นอย่างไร ต่างกันหรือเหมือนกัน

    ถ. เหมือนกัน

    สุ. ใช่ เป็นนามธรรมเหมือนกัน ประการแรก ต้องรู้ลักษณะของนามธรรม ไม่ใช่โดยชื่อ แต่โดยการรู้ว่า ลักษณะรู้ อาการรู้ จะใช้ชื่อว่านามธรรมก็ได้ แต่ให้เข้าถึงสภาพรู้ อาการรู้

    . ก็พอเข้าใจ สรุปแล้ว คือ อย่าไปจ้องว่าอยู่ตรงไหน

    สุ. ไม่ใช่เรื่องที่จะทำอย่างหนึ่งอย่างใด แต่เป็นเรื่องที่จะต้องฟังธรรมให้เข้าใจในลักษณะของสภาพรู้กับรูปธรรมเท่านั้น และสติจะเริ่มระลึกได้ในขณะที่กำลังเห็น ในขณะที่กำลังได้ยิน ในขณะที่กำลังคิดนึก ในขณะที่กำลังลิ้มรส ในขณะที่กำลังเป็นสุข ในขณะที่กำลังเป็นทุกข์ คือ แต่ละขณะในชีวิตประจำวัน จะต้องรู้ว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน สักขณะเดียว ถ้าตราบใดที่ยังไม่รู้ความจริงอย่างนี้ ไม่มีทางละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ให้ไปรู้ชั่วขณะหนึ่ง แล้วแต่ว่าจะเป็นระยะ ๑๐ วัน ๒๐ วัน หรือ ๓๐ วัน แต่ที่ถูกแล้วจะต้องรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติ ในชีวิตประจำวัน จนกว่าจะทั่ว จนกว่าจะละคลายการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมได้จริงๆ

    . ผู้ที่ตั้งปัญหาอยากจะรู้ว่า นามเห็นจะรู้ที่ตาหรือที่ใจ

    สุ. หาที่อีกแล้ว ไม่ใช่ให้รู้ที่ไหน แต่ให้รู้ในลักษณะซึ่งเป็นสภาพรู้ จะต้องรู้ในลักษณะรู้ ไม่ใช่ว่าไปรู้ที่ไหน เป็นความต่างกันที่ว่า ถ้าพยายามจะไปรู้ที่นั่นที่นี่ ก็แสดงว่าเป็นวิธี ซึ่งคิดว่าจะได้ผล

    ถ. ไม่ใช่อย่างนั้น

    สุ. ก็คำถาม ถามว่าจะรู้ที่ไหน

    ถ. นามเห็นต้องมีที่เกิด ใช่ไหม

    สุ. ถูกต้อง แต่เมื่อยังไม่รู้แม้ลักษณะของนามเห็น จะไปรู้ที่เกิดทำไม ต้องรู้ลักษณะของอาการรู้หรือสภาพเห็นก่อน ไม่ใช่ว่าจะไปดูตรงที่นามเห็นเกิด โดยที่ยังไม่ได้รู้ว่าลักษณะนี้ที่กำลังเห็นเป็นอาการรู้ เป็นสภาพรู้ ไม่อย่างนั้นก็จะพยายามอยู่นั่นล่ะ คือ พยายามไปทำอย่างหนึ่งอย่างใดแทนที่จะระลึกได้ว่า ขณะนี้เป็นเพียงธาตุรู้

    เพราะฉะนั้น ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่ว่าจะรู้ได้โดยง่าย เพียงขั้นได้ยิน เพราะแม้ว่าจะได้ยินแล้ว ก็ยังจะต้องน้อมระลึกรู้ลักษณะของสภาพรู้ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ให้ได้ จนกว่าจะได้ ถ้ายังไม่ได้ ก็ระลึกไปอีก

    ตอนแรกๆ ก็ยากที่จะรู้ว่า ลักษณะใดเป็นนามธรรม ลักษณะใดเป็นรูปธรรม แต่เมื่อลักษณะรู้เป็นสภาพที่มีจริง วันหนึ่งหลังจากที่น้อมไปรู้บ่อยขึ้นจะทำให้ลักษณะของสภาพรู้ปรากฏขึ้นได้

    หมดข้อสงสัยในเรื่องของการระลึกรู้ลักษณะของเห็นหรือยัง อย่าลืม ทิ้งความคิดว่าจะรู้ตรงไหน แต่พยายามศึกษาเพื่อรู้ว่าลักษณะนี้เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ส่วนสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่สภาพรู้ แค่นี้ แต่ต้องระลึกบ่อยๆ เพราะว่าทุกวันมีการเห็น ทุกชาติ ทุกภพ ทุกกัป

    . เรื่องเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน การรู้จิตของบุคคลอื่น รู้ได้อย่างไร

    สุ. นี่เป็นเรื่องของพยัญชนะ ซึ่งความจริงแล้ว ในเรื่องของการเห็นเมื่อสักครู่นี้ ยังไม่ควรที่จะผ่านไปโดยเร็ว เพราะถ้าซักถามจะเกื้อกูลต่อการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของนามธรรม เช่น ปัญหาต่อไป การเห็นมีจริง และได้ยินได้ฟังเรื่องของการเห็นบ่อยๆ แต่ว่าสติยังไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของเห็น ถูกไหม

    ในขณะที่กำลังถาม และในขณะที่กำลังพูด ในขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้เอง มีใครบ้างที่สติเริ่มที่จะระลึกเพื่อรู้ว่า ในขณะที่เห็นเป็นสภาพรู้

    เพราะฉะนั้น แสดงว่า ถึงแม้ว่าจะได้ยิน ได้ฟัง ได้เข้าใจ สติยังไม่ได้ระลึกรู้ทางตา ถูกไหม แทนที่จะไปคิดเรื่องเวทนาคนอื่นจะรู้ได้อย่างไร กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ สติระลึกแล้วหรือยัง ถ้ายังก็ควรพิจารณาว่า เมื่อไรสติจึงจะระลึกทางตาในขณะที่กำลังเห็นได้ เพราะว่าพูดกันมามากแล้วเรื่องของสติที่ระลึกรู้ทางตา และถ้าเป็นเช่นนั้น มีทางใดที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพเห็นในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เพราะว่ายังไม่ได้ระลึก หรือว่าใครระลึกแล้ว

    เรื่องของอินทรีย์ เป็นเรื่องการอบรมอย่างละเอียด ซึ่งจะต้องใช้เวลานานมาก เพราะว่าการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่พ้นจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งทุกท่านได้ยินมา ไม่ใช่แต่เฉพาะในชาตินี้ชาติเดียว ชาติก่อนๆ ก็คงจะได้ยินมานาน แล้วแต่ว่าชาติไหนซึ่งในขณะที่กำลังได้ยินนั้นเอง สติจะสามารถเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของเห็นในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้

    นี่แสดงให้เห็นถึงการอบรมอินทรีย์ที่ต่างกันว่า ถ้าได้อบรมเจริญอินทรีย์มากจนกระทั่งคมกล้าจริงๆ ดังเช่นผู้ที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยสาวก ไม่มีอะไรเป็นเครื่องกั้นเลย ในขณะที่ได้ฟัง ทันทีที่เข้าใจนั้น สติ อินทรีย์ทั้งหลายที่ได้เคยเจริญอบรมมาแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ถูกต้องตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น ไม่น่าจะถามถึงเวทนาของคนอื่น แต่ควรคิดว่า เมื่อไรสติจึงจะระลึกรู้ลักษณะของการเห็นในขณะนี้ที่กำลังเห็น

    และไม่มีการตั้งต้นเป็นกฎว่า ให้ทุกท่านทำเหมือนกัน เพราะว่าอินทรีย์ที่สะสมมาแต่ละชาติในแต่ละชีวิตของแต่ละบุคคล ย่อมต่างกันตามเหตุการณ์ในชีวิต เหตุการณ์ในชีวิตของท่านผู้ใดเป็นอย่างไร ท่านผู้นั้นก็เจริญสติระลึกรู้นามธรรมและรูปธรรมในเหตุการณ์ของชีวิตของท่าน

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะบังคับหรือตั้งเป็นกฎเกณฑ์ ท่านผู้ฟังซึ่งเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจะทราบได้ว่า แม้ตัวท่านเองก็ไม่ทราบว่า สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ ลักษณะของรูปธรรมในขณะไหน นี่คือความจริง แต่ถ้าสติปัฏฐานของบุคคลใดยังไม่ระลึกรู้ทางตา แต่อาจจะเกิดขึ้นระลึกรู้ทางกาย มีไหม

    หลายท่านบอกว่า สติของท่านมักจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมทางกายบ่อยกว่าทางอื่น หรือบางท่านก็อาจจะบอกว่า สติของท่านระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมที่ได้ยินทางหูบ่อยกว่าทางอื่น ซึ่งก็เป็นความจริง เป็นการอบรมเจริญอินทรีย์ของแต่ละบุคคล

    เพราะฉะนั้น ถ้าสติยังไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามเห็น ก็เป็นเรื่องที่จะบังคับ หรือจะฝืน หรือจะจงใจให้สติระลึกลักษณะของนามเห็นไม่ได้ ทำไม่ได้แน่นอน แต่สติที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมบ้าง รูปธรรมบ้าง ทางอื่น โดยความเป็นอนัตตา จะทำให้รู้ว่า เมื่อพิจารณาลักษณะของนามธรรม อาจจะเป็นทางกาย เป็นส่วนหนึ่งซึ่งจะเป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้สามารถเข้าใจลักษณะของนามธรรมทีละเล็กทีละน้อย เพิ่มขึ้น จนกว่าความรู้ลักษณะของนามธรรมจะค่อยๆ ชัดขึ้น และสติสามารถจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมทางทวารอื่นได้ แต่ไม่ต้องไปคิดถึงว่า จะระลึกรู้ลักษณะเวทนาของคนอื่นอย่างไร เพราะว่าการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ตามปกติตามความเป็นจริง ไม่ผิดเลย เคยรู้ หรือเคยนึกถึงความรู้สึกของคนอื่นไหม ซึ่งขณะนั้นก็ เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ทั้งหมด

    นี่เป็นเหตุที่ทำไมการอบรมเจริญอินทรีย์จึงต้องใช้เวลานาน เพราะจะต้องอบรมปัญญาจนกว่าจะรู้ทั่วจริงๆ ว่า ในวันนี้ ทั้งหมดไม่ใช่ตัวตนเลย เป็นนามธรรมและรูปธรรมทั้งหมดจริงๆ เพราะฉะนั้น การที่สติเริ่มเกิด ยังห่างมากจริงๆ และความรู้ ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมยังน้อยจริงๆ จึงต้องอาศัยกาลเวลาที่นานมากที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จนกว่าจะละคลายการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้

    ถ้าท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ และเป็นผู้ที่ละเอียดขึ้น จะไม่ชอบอกุศลหลายอย่างของตัวเอง ถูกไหม ไม่ทราบว่า เคยไม่พอใจในลักษณะของอกุศลธรรมที่เกิดที่สะสมมาบ้างหรือเปล่า มีไหม หรือว่ามีแต่ความพอใจทั้งหมด

    บางท่านไม่ชอบที่จะมีอกุศลนั้นๆ เกิดขึ้น และรู้สึกอึดอัดเบื่อหน่ายระอาจริงๆ ที่อกุศลนั้นๆ เกิดขึ้น ไม่อยากให้อกุศลประเภทนั้นๆ เกิดกับท่านเลย แต่ถึงจะอึดอัดระอาสักเพียงไร นั่นไม่ใช่หนทางที่จะดับอกุศล แต่ตรงกันข้าม จะต้องรู้ว่า ถ้าไม่ใช่อกุศลที่ท่านไม่ชอบ ก็จะต้องเป็นอกุศลที่ท่านชอบ ถูกไหม เพราะว่าทุกท่านมีอกุศลคนละมากๆ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ชอบรูปสวยๆ ทางหูชอบเสียงเพราะๆ ทางจมูก ชอบกลิ่นหอมๆ ทางลิ้นชอบรสอร่อย ทางกายชอบสัมผัสที่สบาย ทางใจชอบความสนุกสนานรื่นเริง แล้วแต่ว่าท่านจะชอบความสนุกสนานรื่นเริงอย่างไหน จะชอบดูหนัง หรือจะชอบดูโทรทัศน์ หรือจะชอบดูกีฬา ทั้งหมดล้วนเป็นอกุศล ถ้าท่านติดสิ่งหนึ่ง สิ่งใด เป็นอกุศล และท่านก็รู้สึกว่าไม่อยากจะติดสิ่งนั้นเลย เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ควรจะติด แต่ลืมว่า ถ้าไม่ติดอย่างนี้ ท่านติดอย่างโน้นหรือเปล่า นี่คือชีวิตตามความเป็นจริง

    และไม่ใช่ให้เลือกไม่ชอบอกุศลบางประเภท แต่ควรจะเห็นโทษของอกุศลทุกประเภท และควรที่จะรู้ด้วยว่า ถ้าท่านไม่มีอกุศลประเภทนี้ ไม่ใช่ว่าจะเป็นกุศล แต่ตรงกันข้าม ท่านกลับจะต้องมีอกุศลประเภทอื่นอีกแน่ๆ เพราะในฐานะที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ก็ต้องเป็นผู้ที่หนาแน่นด้วยอกุศลธรรม และการที่อกุศลประเภทที่ท่าน ไม่ชอบไม่อยากจะให้มีอกุศลประเภทนี้เลย เกิดปรากฏขึ้น ให้ทราบว่า ถ้าไม่เคยสะสมเหตุปัจจัยที่จะให้อกุศลประเภทนี้เกิด อกุศลประเภทนี้ก็ย่อมเกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้น แต่ละคน จะต้องอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ว่า แม้อกุศลประเภทนั้นก็เป็นเพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง พอถึงอกุศลประเภทที่ท่านชอบ บางท่านอาจจะชอบดูการแสดงต่างๆ ขณะนั้นไม่ได้รู้เลยว่าก็เป็นอกุศล ซึ่งก็ควรที่จะไม่ชอบเหมือนกัน ถ้าไม่ชอบอกุศลประเภทอื่น ก็ต้องไม่ชอบอกุศลประเภทนี้ด้วย ไม่ใช่ว่าอกุศลประเภทนี้ชอบ แต่ประเภทอื่นไม่ชอบ ก็ยังคงวนเวียนไปในอกุศลทั้งหลาย

    จะต้องระลึกรู้จริงๆ ว่า แม้ขณะที่อกุศลประเภทที่ไม่ชอบเกิด ก็เป็นเพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง และในขณะเดียวกัน ถ้าเป็นอกุศลประเภทที่ท่านชอบ มีไหม อกุศลที่ท่านชอบ มี ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง

    แสดงให้เห็นว่า การเจริญสติปัฏฐานกว่าอินทรีย์จะเจริญจนกระทั่งรู้ว่า ไม่ว่าจะเป็นอกุศลประเภทใดที่ชอบหรือไม่ชอบ ก็เป็นแต่เพียงนามธรรม หรือแม้แต่กุศล แต่ละประเภทที่ท่านกระทำด้วยฉันทะ ความพอใจ ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ต้องใช้เวลานานที่จะรู้ทั่วในนามธรรมและรูปธรรมจริงๆ และต้องเป็นผู้ที่ละเอียด

    ถ. ผู้ที่ชอบดูทีวี ถือว่าชอบอกุศล ผู้ที่ชอบธรรม เป็นอกุศลด้วยหรือเปล่า

    สุ. ชอบธรรม หมายความว่าอย่างไร

    ถ. เช่น ชอบฟังธรรม ศึกษาธรรม อย่างนี้ เป็นต้น

    สุ. ทำไมชอบ ต้องมีเหตุผล ทำไมถึงชอบฟังธรรม สนุกเหมือนละครหรือเปล่า หรือว่าได้ประโยชน์ เพราะทำให้ได้ยินได้ฟังสิ่งซึ่งไม่เคยได้ยินได้ฟัง หรือว่าทำให้เข้าใจในสิ่งซึ่งไม่เคยเข้าใจ ทุกอย่างต้องมีเหตุผล ถ้าไม่ประกอบด้วยเหตุผลไม่ใช่ปัญญา

    ถ. มีผู้ปฏิบัติบางท่านบอกว่า ขณะที่ดูทีวีโลภะจะเกิดมาก เพราะฉะนั้น ถ้าเรามาสนใจธรรม โลภะจะเกิดน้อยกว่า เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานในขณะที่ดูทีวีนั้น ไม่สามารถที่จะเจริญได้ อย่างนี้ เป็นต้น

    สุ. และเมื่อไรจะเกิดได้ วันนี้เกิดไม่ได้ แต่ก็ยังดูทีวี ซึ่งเป็นนามธรรมและรูปธรรม มีตัวตนที่กำลังดูทีวี หรือว่าเป็นนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น ถ้ายังไม่รู้ความจริง ก็ต้องอบรมเจริญปัญญาจนกว่าสามารถจะรู้ได้

    อย่างบางท่านบอกว่า ท่านเริ่มสังเกตว่า ขณะที่อ่านหนังสือ ท่านรู้ว่า ขณะนั้นเป็นเห็น และนึกคิดถึงตัวหนังสือแต่ละตัว จนกระทั่งแม้ไม่อ่านหนังสือ ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ก็ยังเหมือนกับเห็นตัวหนังสือ แต่แทนที่จะเป็นตัวหนังสือ ก็เป็นตัวคนแต่ละคน ต่างกันหรือเหมือนกันกับตัวหนังสือ ตัวหนังสือเพียงแต่ขาวดำ แต่ในขณะที่อ่านเต็มไปด้วยเรื่อง ประเทศต่างๆ ชื่อต่างๆ เหตุการณ์ต่างๆ ทั้งๆ ที่ตามความเป็นจริงในขณะที่เห็น เห็นแต่สีขาวและสีดำ แต่ว่าเรื่องมาจากการเห็นสีขาวและสีดำนั้น ฉันใด ในขณะที่ไม่อ่านหนังสือ ในขณะนี้เอง ก็เห็นคนเหมือนกับที่ท่านเห็นตัวหนังสือ และเป็นเรื่องเป็นราวของคนต่างๆ เหมือนกับในขณะที่กำลังอ่านหนังสือ

    เพราะฉะนั้น ทางตาไม่ต่างกันเลย ไม่ว่าจะอ่านหนังสือ หรือเห็นคน หรือ ดูโทรทัศน์ มิฉะนั้นแล้ว ไม่มีวันที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดแม้ในขณะที่กำลังดูโทรทัศน์ ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๑๒๐๑ – ๑๒๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 87
    28 ธ.ค. 2564