แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1261


    ครั้งที่ ๑๒๖๑


    สาระสำคัญ

    ปฏิสนธิจิตด้วยมหาวิบากดวงที่ ๑ ยอดเยี่ยมที่สุด

    เรื่องของกามาวจรจิต ๕๔ ดวง

    น้อมศึกษาเรื่องลักษณะของจิต (เพื่อเกื้อกูลให้สติระลึกลักษณะของสภาพธรรม)


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๒๖


    ถ. ภวังคจิตมี ๑๗ ดวง อตีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ ๓ ขณะนี้เกิดซ้อนๆ กัน หลายๆ ครั้ง ได้ไหม

    สุ. ไม่ทราบว่า ๑๗ ดวงหมายถึงอะไร ที่ว่าภวังคจิตมี ๑๗ ดวงนั้น ถูกต้องหรือเปล่า เรื่องของตัวเลขบางท่านอาจจะคิดว่าไม่มีประโยชน์ แต่ความจริงมีประโยชน์ คือ ป้องกันความเห็นผิด ความเข้าใจผิด หรือความหลงลืม เพราะถ้าไม่มีตัวเลขกำกับ อาจจะเข้าใจธรรมคลาดเคลื่อน เช่น ปฏิสนธิจิต อาจจะคิดว่าเป็นจิตดวงนั้นทำกิจปฏิสนธิได้ จิตดวงนี้ทำกิจปฏิสนธิได้ แต่ความจริงไม่ได้ เพราะฉะนั้น จิตใดที่ทำกิจปฏิสนธิ จิตประเภทเดียวกันนั้นแหละทำกิจภวังค์ จนกว่าจะสิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้นในภพนั้น ในชาตินั้น

    เรื่องของจำนวนเป็นเรื่องที่คิดได้ ถ้าทราบว่า กามาวจรจิตมี ๕๔ และจิตที่ทำกิจปฏิสนธิได้ที่เป็นกามาวจรจิตมี ๑๐ คือ สันตีรณอกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิในอบายภูมิ ๔ สันตีรณกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิในมนุษย์หรือเทวดาชั้นต่ำ มหาวิบาก ๘ ทำกิจปฏิสนธิในกามสุคติภูมิ เวลาที่เกิดเป็นมนุษย์ ก็เพราะมหาวิบากดวงหนึ่งดวงใดใน ๘ ดวงทำกิจปฏิสนธิ เกิดในสวรรค์ชั้นหนึ่งชั้นใด จะเป็นชั้นดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตตี หรือจาตุมหาราชิกาก็ตามแต่ ก็เป็นมหาวิบากดวงหนึ่งดวงใด เพราะไม่ใช่การเกิดในรูปพรหมภูมิ

    เพราะฉะนั้น สำหรับภูมิที่เป็นกามภูมิทั้งหมดจะมีจิตที่ทำปฏิสนธิกิจ หรือจะเรียกว่า ปฏิสนธิจิต ก็ได้ ๑๐ ดวง แบ่งตามภูมิก่อน จะจำตัวเลขได้ตามเหตุผล

    อีก ๙ ดวงมาจากไหน ที่เป็นปฏิสนธิจิต ๑๙ ดวง

    คือ ปฏิสนธิจิตเป็นรูปพรหมบุคคลในรูปพรหมภูมิ ๕ ดวง ปฏิสนธิจิตเป็น อรูปพรหมบุคคลในอรูปพรหมภูมิ ๔ ดวง ทั้งหมดรวมเป็นปฏิสนธิจิต ๑๙ ดวง แต่ถ้ากล่าวถึงเฉพาะในกามภูมิ มีจิตที่ปฏิสนธิเพียง ๑๐ ดวงเท่านั้น

    ถ. อตีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ เป็นวิบากใช่ไหม

    สุ. เป็นวิบาก

    ถ. อตีตภวังค์เกิดได้หลายครั้งหรือเปล่า

    สุ. ได้หลายครั้ง

    ถ. เพราะอะไร

    สุ. ท่านผู้ฟังนอนหลับนานไหม หรือหลับชั่วนิดเดียวแล้วตื่น ตามความเป็นจริง เมื่อคืนนี้

    ถ. ก็แล้วแต่

    สุ. บางช่วงอาจจะหลับสนิท บางช่วงอาจจะตื่น นี่เป็นสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมทั้งหมด เป็นการที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์แต่ละอารมณ์ซึ่งต่างกัน บางทีตื่นขึ้นเพราะได้ยินเสียง ขณะนั้นอตีตภวังค์เกิดขึ้นครั้งหนึ่งพร้อมกับเสียงที่กระทบกับโสตปสาท และภวังคจลนะเกิดต่อ ดับไปแล้ว ภวังคุปัจเฉทะเกิดต่อ จากนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดต่อ โสตวิญญาณเกิดต่อ สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อ สันตีรณจิตเกิดต่อ โวฏฐัพพนจิตเกิดต่อ ชวนจิต ๗ ขณะเกิดต่อ ตทาลัมพนจิตเกิดต่อ และอารมณ์ก็ดับ

    อารมณ์ทุกอารมณ์ที่เป็นรูป มีอายุเท่ากับการเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น อตีตภวังค์จะมากหรือจะน้อย ย่อมแล้วแต่ว่า เมื่ออารมณ์เกิดและกระทบกับปสาท ภวังคจิตจะไหวเมื่อไร หรืออาจจะไม่เป็นปัจจัยให้ภวังคจิตไหวเลย ก็ได้ และถ้าอารมณ์เกิด กระทบกับภวังค์ แต่กระทบหลายครั้งมากภวังคจลนะจึง จะเกิด เพราะฉะนั้น อารมณ์นั้นจะมีอายุไม่พอสำหรับตทาลัมพนจิตจะเกิดบ้าง หรือว่าชวนจิตจะเกิดบ้าง ทำให้วิถีจิตมีเพียงปัญจทวาราวัชชนะ ปัญจวิญญาณดวงหนึ่ง ดวงใด สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ และโวฏฐัพพนะ เพราะชวนะที่จะเกิดเพียง ๑ ขณะ หรือ ๒ - ๓ ขณะนั้น ตามปกติไม่มี ชวนะที่จะเกิดเพียง ๕ ครั้ง หรือ ๕ ขณะติดต่อกันได้นั้น ต้องเป็นก่อนที่จุติจิตจะเกิดเท่านั้น และชวนะ ๖ ขณะที่จะเกิดติดต่อกันก็ต้องเป็นขณะที่สลบเท่านั้น นอกจากนั้นแล้ว โดยอาเสวนปัจจัย ชวนะต้องเกิดดับสืบต่อกันตามปกติ ๗ ขณะ

    สำหรับการรับอารมณ์ หรือการรู้อารมณ์ของวิญญาณธาตุต่างๆ ก็ต่างกันไป ซึ่งใช้คำว่า วิสยัปปวัตติ

    ที่กล่าวย้ำเรื่องของกามาวจรจิต ๕๔ บ่อยๆ ก็เพื่อให้ไม่ลืมว่า ชีวิตของแต่ละท่านไม่พ้นไปจากจิตที่เป็นกามาวจรจิต แม้แต่ละท่านจะมีกามาวจรจิตไม่ครบ แต่การที่กล่าวถึงจำนวน ก็เพื่อเป็นเครื่องฝึกหัดความคิดในสิ่งที่มีประโยชน์ว่า แม้ว่ากามาวจรจิตจะมีจำนวนซึ่งดูเหมือนจะมากถึง ๕๔ ดวง หรือ ๕๔ ประเภท แต่ถ้าจำแนกเป็นหมวดหมู่ และทราบว่าจิตเหล่านั้นเกิดกับแต่ละท่าน ก็จะไม่ยากแก่ การเข้าใจ เพราะขณะที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะไม่พ้นไปจากจิต เจตสิก และรูป

    เมื่อได้ศึกษาเรื่องลักษณะของจิตแต่ละชนิดให้ละเอียดขึ้น จะทราบว่า ในขณะที่กำลังเห็น ถ้าสติระลึกว่าในขณะนี้เป็นอาการรู้ เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ในขณะที่กำลังเห็นนี้มีจิตอะไรบ้างที่อาศัยเกิดขึ้นเพราะการเห็น ซึ่งทุกคนมีอยู่เป็นประจำ ไม่ใช่เพียงเห็นขณะเดียวและหมดไป แต่ยังมีจิตอีกหลายประเภทที่เกิดโดยอาศัยจักขุปสาท ก่อนที่จะรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร ซึ่งถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรมโดยละเอียดจะไม่รู้เลยว่า ทันทีที่เห็นอย่างรวดเร็วนี้ อกุศลเกิดแล้ว ตามปกติ

    เพราะฉะนั้น เป็นสิ่งที่น่ากลัวภัยของการสะสมของอกุศลจริงๆ ว่า ในวันหนึ่งๆ มีมาก แต่เหตุใดจึงไม่รู้ชัดว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและก็ ดับไป ก็เพราะเหตุว่าเครื่องประกอบของปัญญายังไม่พอ

    ทั้งๆ ที่ทราบว่า ขณะนี้ที่กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ เป็นนามธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ทำไมจึงไม่ละ ทำไมจึงไม่ประจักษ์ชัดว่า ขณะนี้เป็นเพียงจิต ถ้าใช้คำว่า จิต ดูเหมือนทุกคนเข้าใจแล้วว่า เป็นสภาพที่ไม่ใช่รูปร่างกาย เป็นสภาพของจิตใจ เพราะฉะนั้น ที่กำลังเห็นเป็นจิต รู้แล้ว แต่ ไม่ละ เพราะเหตุว่าความรู้นั้นยังไม่มากพอ

    ด้วยเหตุนี้ กามาวจรจิต ๕๔ ดวง เกิดขึ้นเป็นไปในวันหนึ่งๆ อยู่เรื่อยๆ ถ้าสามารถเข้าใจลักษณะของจิตซึ่งเป็นกามาวจรจิต ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจให้ละเอียดขึ้น ย่อมเป็นการน้อมไปที่จะเห็นจริงๆ ว่า เป็นจิตประเภทหนึ่ง ภูมิหนึ่ง ระดับหนึ่ง ซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    แม้แต่ในเรื่องของการฟัง ก็จะต้องน้อมไปที่จะเข้าใจลักษณะของกามาวจรจิตแต่ละประเภทที่เกิดขึ้น ซึ่งท่านผู้ฟังจะยิ่งเห็นความละเอียดของจิตแต่ละประเภทที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น และจะเห็นว่า ยากมากที่จะเข้าใจจิตแต่ละประเภทได้โดยตลอด

    แม้แต่เพียงขั้นการฟังที่จะน้อมไปรู้ในลักษณะของจิตยังยากอย่างนี้ เพราะฉะนั้น การที่สติจะระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมและให้ประจักษ์ชัดว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ให้เห็นแจ้งความเกิดขึ้นและดับไปจริงๆ ย่อมต้องยิ่งยากกว่าการที่จะฟังเรื่องของกามาวจรจิต ๕๔ โดยละเอียด

    แต่ให้เห็นประโยชน์ของการฟังเรื่องของกามาวจรจิตแต่ละประเภท เพราะแต่ ละท่านยังไม่ใช่พระอรหันต์ และไม่ใช่ผู้ที่อบรมเจริญฌานสมาบัติ เพราะฉะนั้น จิตที่เป็นกามาวจรเท่านั้นที่สมควรที่จะฟังให้เข้าใจละเอียดยิ่งขึ้น เพื่อเกื้อกูลให้เห็นว่า ลักษณะสภาพนั้นๆ เป็นลักษณะของจิต ซึ่งเกิดขึ้นปรากฏเพียงชั่วขณะและดับไป

    สำหรับเรื่องของกามาวจรจิต โดยจำนวน ๕๔ ซึ่งที่จริงแล้วไม่ยาก ถ้าจะจำโดยประเภทว่า กามาวจรจิต ๕๔ แบ่งเป็นอกุศลจิต ๑๒ เป็นอเหตุกจิต ๑๘ และเป็นกามาวจรโสภณจิต ๒๔ ดวง

    อกุศลจิตเป็นเรื่องที่มีกันอยู่และได้ยินกันบ่อยๆ เพราะฉะนั้น สำหรับอกุศลจิต ๑๒ ก็ไม่มีปัญหา ได้แก่ โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒

    สำหรับอเหตุกจิต ๑๘ เป็นอเหตุกวิบากจิต ๑๕ และเป็นอเหตุกกิริยาจิต ๓

    อเหตุกวิบากจิต ๑๕ เป็นอกุศลวิบากจิต ๗ ซึ่งได้ฟังจนคุ้นหู คือ

    จักขุวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ จิตเห็นสิ่งที่ไม่ดี

    โสตวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ จิตได้ยินเสียงที่ไม่ดี

    ฆานวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ จิตได้กลิ่นที่ไม่ดี

    ชิวหาวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ จิตลิ้มรสที่ไม่ดี

    กายวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายที่ไม่ดี

    เหลืออีก ๒ ซึ่งชื่ออาจจะไม่คุ้นหู คือ สัมปฏิจฉันนจิต ๑ และสันตีรณจิต ๑ แต่ก็ได้กล่าวถึงบ่อยๆ

    เท่าที่ได้ทราบจากท่านที่ยังไม่ได้ศึกษาพระอภิธรรม ท่านรู้สึกว่า เป็นเรื่องชื่อ เป็นเรื่องจำนวน เป็นเรื่องที่น่าเบื่อ น่าง่วง เพราะยังไม่เห็นประโยชน์จริงๆ ว่า การที่จะเป็นพหูสูต คือ ผู้ที่ได้ยินได้ฟังมากในเรื่องของจิตซึ่งเกิดกับตัวท่านเองแต่ละวัน จะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้สติระลึกบ่อยขึ้น พร้อมกันนั้น การฟัง การพยายามน้อมไปเข้าใจในลักษณะของจิต จะช่วยให้สามารถระลึกได้ในสภาพที่เป็นแต่เพียงธาตุรู้ อาการรู้ มิฉะนั้นแล้วถ้าปราศจากความเป็นผู้ฟังมาก หรือความเป็นพหูสูต จะอาศัยเพียงสติอย่างเดียวที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม จะระลึกได้ไม่นาน เพราะขณะอื่นซึ่งไม่ใช่ขณะที่สติเกิดขึ้นระลึกลักษณะของสภาพธรรม จะเป็นการคิดนึกเรื่องอื่น ไม่ใช่เป็นการสนใจที่จะน้อมมาศึกษาเรื่องลักษณะของจิต ซึ่งสามารถเข้าใจละเอียดขึ้นๆ ได้

    ถ้ามีเวลามากขึ้นสำหรับการศึกษา การฟัง การคิด การพิจารณาเรื่องจิต จะทำให้แทนที่จะคิดเรื่องอื่น ก็เป็นการคิดในสิ่งที่จะทำให้เป็นพหูสูต ซึ่งจะเป็นอุปกรณ์เกื้อกูลต่อการที่เมื่อสติระลึกแล้วก็น้อมรู้ได้จริงๆ ว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั้น เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม

    ท่านที่มีเวลาพอที่จะคิดไตร่ตรองเรื่องของกามาวจรจิตด้วยตัวของท่านเอง จะเห็นได้ว่า มีการคิดถึงแม้จำนวนโดยหลายนัย เช่น กามาวจรจิตมี ๕๔ ประเภท แบ่งเป็นประเภท ๓ ก็ได้ คือ เป็นอกุศลจิต ๑๒ เป็นอเหตุกจิต ๑๘ เป็นกามโสภณะ ๒๔ โดยนัยหนึ่ง

    หรืออีกนัยหนึ่งก็ได้ คือ โดยโสภณะและอโสภณะ ถ้าโดยโสภณะและอโสภณะ อกุศลจิต ๑๒ เป็นจิตที่ไม่ดี อเหตุกจิต ๑๘ ก็เป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเจตสิกฝ่ายดี เพราะฉะนั้น ใน ๕๔ ประเภท แบ่งได้อีกนัยหนึ่ง คือ เป็นอโสภณจิต ๓๐ และเป็นโสภณจิต ๒๔

    ฟังดูเหมือนตัวเลข แต่เป็นวิธีคิดต่างๆ ซึ่งสามารถทำให้จำได้พร้อมกับเข้าใจไปด้วยโดยไม่ลืม หรือถ้าจะแบ่งอย่างง่ายที่สุด คือ โดยภูมิ เป็นกามภูมิทั้ง ๕๔

    ถ้าแบ่งโดยเหตุ สามารถเปลี่ยนจำนวนจาก ๕๔ เป็นอีกนัยหนึ่ง คือ เป็นอเหตุกจิต ๑๘ ซึ่งเป็นจิตที่ไม่เกิดพร้อมกับเจตสิกที่เป็นเหตุ ๖ ส่วนกามาวจรจิตที่เหลือ ๓๖ ก็เป็นสเหตุกจิต รวมเป็นกามาวจรจิต ๕๔

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นการเปลี่ยนตัวเลขจาก ๕๔ โดยนัยต่างๆ

    โดยนัยอื่นอีก ได้ไหม เปลี่ยนตัวเลขอีก เพื่อความเข้าใจจริงๆ ไม่ให้หลงลืม บางท่านคิดว่าเรื่องของตัวเลขเป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่ความจริงเรื่องของตัวเลข นอกจากจะช่วยความจำ ยังทำให้เข้าใจยิ่งขึ้น เพราะถ้าเข้าใจผิดนิดเดียวตัวเลขจะไม่ตรง เช่น โดยเหตุ กามาวจรจิตมี ๕๔ ที่เป็นอเหตุกจิตมีเพียง ๑๘ เพราะฉะนั้น สำหรับกามาวจรจิตที่เป็นสเหตุกจิตจึงเป็น ๓๖ แต่ถ้าท่านบวกเลขผิดนิดหนึ่ง เหลือ ๓๕ ก็ต้องคิดแล้วว่าทำอย่างไรจึงจะถูกต้อง ก็ไล่เลียงหาตามจำนวนว่า จิตประเภทใดบ้างที่เป็นสเหตุกะ

    อกุศลจิตทั้ง ๑๒ ต้องประกอบด้วยเหตุจึงเป็นอกุศลได้ ถ้าไม่ประกอบด้วยเหตุจะเป็นอกุศลไม่ได้ เช่น โลภมูลจิต ที่จะเป็นโลภมูลจิตได้ต้องเกิดร่วมกับโลภเจตสิกเป็นเหตุทำให้จิตนั้นเป็นโลภมูลจิต

    เวลาโกรธ ก็ต้องมีเหตุ ไม่ใช่โลภเจตสิก แต่เป็นโทสเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกับจิตนั้น จิตนั้นจึงเป็นโทสมูลจิต และถ้าในขณะนั้นไม่ใช่ทั้งโลภะ ไม่ใช่ทั้งโทสะ และไม่ใช่กุศล ก็ต้องเป็นอกุศลอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เกิดกับโลภะและโทสะ คือ เป็นโมหมูลจิต ซึ่งต้องเกิดกับโมหเหตุ หรือโมหเจตสิก

    เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่แล้วจะประกอบด้วยเหตุ เว้นจิตประเภทเดียว คือ อเหตุกจิต ๑๘ นอกจากจิต ๑๘ ดวงนี้แล้ว ต้องเป็นสเหตุกจิตทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นชาติอะไร แต่สำหรับจิต ๑๘ ดวงนี้ โดยนัยเดียวกัน ไม่ว่าเป็นชาติอะไร ก็ต้องเป็นอเหตุกจิต



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๑๒๖๑ – ๑๒๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    Tag  กตัตตาวาปนกรรม  กรรม  กรรมจักมี  กรรมนิมิตอารมณ์  กรรมบถ  กรรมอารมณ์  กัณฐกเทพบุตร  กัมมปัจจัย  กัมมสมาทาน  กามาวจรจิต ๕๔  กามาวจรโสภณจิต ๒๔  กายวิญญาณกุศลวิบาก  กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน  กาลวิบัติ  กาลสมบัติ  กิจของจิต  กิจของสติ  กิเลส  กุศลกรรม  กุศลวิบาก  คตินิมิตอารมณ์  ครบองค์  ครุกรรม  คัมภีร์ภาษาสิงหล  ฆานปสาท  จักขุทวารวิถีจิต  จับด้ามมีด  จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน  จุติ  จุติจิต  ฉันทะ  ชนกกรรม  ชวนจิต  ชวนวิถีจิต  ฌานจิต  ฌานสมาบัติ  ญาณสัมปยุตต์  ตทาลัมพนกุศลวิบาก  ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม  ท่านอนาถบิณฑกเศรษฐี  ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  ธาตุรู้  นางวิสาขา  นางสุชาตา  นานักขณิกกัมมปัจจัย  นามธรรม  นิทานสูตร  น้อมศึกษา  บุพเจตนา  ปฏิบัติ  ปฏิสนธิ  ปฏิสนธิจิต  ปฐวี  ปรมัตถธรรม  ประจักษ์แจ้ง  ประมวลกรรม  ประเทศศรีลังกา  ปรินิพพาน  ปริยัติ  ปริยาย  ปรุงแต่ง  ปวัตติกาล  ปัญจสีลานิ  ปัญญาเจตสิก  ปโยคะ  ผลของกรรม  ผู้มีปกติ  พยากรณ์  พระจุฬบิณฑปาติกติสสะเถระ  พระธรรมคุณ  พระพุทธคุณ  พระพุทธพจน์  พระพุทธโฆษาจารย์  พระมหาติสสะเถระ  พระมหาสถูปใหญ่  พระมหินทรเถระ  พระสังฆคุณ  พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ  พระอภิธรรม  พระอรหันต์  พระอริยบุคคล  พระเจ้าทุฏฐคามณิอภัย  พระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย  พระเจ้าอโศก  พระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะ  พระโสดาบัน  พหุลกรรม  พหุสูต  ภริยาสูตร  ภวังคจลนะ  ภวังคจิต  ภวังคุปัจเฉทะ  ภาวนา  ภาษามคธ  มธุอังคณะ  มรณาสันนวิถี  มรรคมีองค์ ๘  มหัคคตกรรม  มหากุศล ๘  มหากุศลจิต  มหาวิบาก  มหาวิบาก ๘  มหาวิบากญาณวิปปยุตต์  มหาวิบากญาณวิปยุตต์  มหาสติปัฏฐาน  มโนคติ  มโนทวารวิถีจิต  ยึดถือ  รูปหยาบ  รู้ชัด  รู้แจ้ง  วาโย  วิจิกิจฉา  วิจิตร  วิถีจิต  วิถีมุตตจิต  วิบากจิต  วิสยปวัตติ  ศรัทธา  ศีล ๕  สติปัฏฐาน  สติสัมปชัญญะ  สมถภาวนา  สมาบัติ  สรณะ ๓  สวดมนต์  สหชาตกัมมปัจจัย  สะสม  สะสมของจิต  สังขารขันธ์  สังฆกรรม  สังฆเภท  สังสารวัฏฎ์  สังสารวัฏฏ์  สันตีรณกุศลวิบาก  สัมปฏิจฉันนกุศลวิบาก  สัมมาสติ  สำคัญตน  สุขุมรูป  สเหตุกจิต ๓๖  อกุศลกรรม  อกุศลกรรมบถ ๑๐  อกุศลจิต ๑๒  อกุศลวิบาก  อกุศลเจตสิก ๔  อตีตภวังค์  อธิจิตตสิกขา  อธิบดี  อธิปติ  อธิปัญญาสิกขา  อธิศีลสิกขา  อนัตตา  อนันตริยกรรม  อนุโมทนา  อบรม  อบรมเจริญ  อปรปริยายเวทนียกรรม  อรรถกถา  อริยสัจจธรรม  อรูปฌาน  อสังขาริก  อหิริกเจตสิก  อัปปนาสมาธิ  อาการรู้  อาจิณกรรม  อาจิณณกรรม  อานาปานสติ  อาสันนกรรม  อาสันนกรรมหรือยทาสันนกรรม  อาโป  อุทธัจจะ  อุทธัจจเจตสิก  อุปฆาตกกรรม  อุปถัมภกกรรม  อุปถัมภ์  อุปธิ  อุปปัชชเวทนียกรรม  อุปปีฬกกรรม  อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก  อเวจีมหานรก  อเหตุกกุศลวิบาก ๘  อเหตุกจิต ๑๘  อโนตตัปปเจตสิก  อโหสิกรรม  เจตนา  เจตนาเจตสิก  เจริญสติปัฏฐาน  เตโช  เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน  เศษของกรรม  เหตุปัจจัย  โจรีภริยา  โมจตุกะ  โมหมูลจิต  โมหเจตสิก  โลหิตุปบาท  โสตทวารวิถี  โสภณเจตสิก  โสภณและอโสภณ  
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 88
    28 ธ.ค. 2564