แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1274
ครั้งที่ ๑๒๗๔
สาระสำคัญ
ไม่มีใครสามารถพยากรณ์กรรมและผลของกรรม (นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า)
ทายาทของกรรม
การให้ผลของกรรมโดยกาล
โลภะทำให้สังสารวัฏฏ์ฎ์เป็นไป
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๒๖
ถ้ามีคนหนึ่งคนใดมาบอกท่านผู้ฟังว่า ขณะนี้กำลังได้รับผลของกรรมที่ท่าน ทำวันนั้นวันนี้ ท่านจะรู้สึกอย่างไร เชื่อไหม หรือว่าชาติก่อนเคยทำอย่างนั้นอย่างนี้ ชาตินี้จึงได้รับผลอย่างนั้นอย่างนี้ เชื่อไหม
ไม่เชื่อ เพราะรู้ได้แต่เพียงว่า อกุศลกรรมย่อมให้ผลเป็นอกุศลวิบาก กุศลกรรมย่อมให้ผลเป็นกุศลวิบาก แต่พยากรณ์ไม่ได้ เพราะไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น กรรมที่ได้กระทำแล้วในชาติก่อนๆ โน้น และกรรมที่กำลังทำอยู่ในชาตินี้ จะมีกรรมทั้งประเภทที่ให้ผลในชาตินี้ และยังไม่ได้ให้ผลในชาตินี้ แต่จะให้ผลใน ชาติหน้าต่อไป หรือว่าในชาติหน้าต่อไปยังไม่ให้ผล ก็ยังมีโอกาสจะให้ผลหลังจาก ชาติหน้าต่อไปอีกไม่สิ้นสุด ตราบใดที่ยังมีสังสารวัฏฏ์อยู่
ท่านที่หนักแน่นในเหตุในผล ย่อมเป็นผู้ที่เชื่อมั่นในกรรมของตนเองว่า ทุกท่านเป็นทายาทของกรรม มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ ไม่ใช่บุคคลอื่นจะสามารถ ดลบันดาลได้ และไม่มีใครสามารถบอกได้ พยากรณ์ได้ว่า ขณะที่กำลังมีกุศลวิบากเกิดหรืออกุศลวิบากเกิดนั้น เป็นผลของกรรมในชาติไหน แต่ให้ทราบว่า กรรมที่กระทำแล้วในชาตินี้ มีบางกรรมที่เป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในปัจจุบันชาตินี้เอง
ถ. ถ้าสวดมนต์ด้วยจิตที่ต้องการให้ตัวเองพ้นภัย จะเป็นมหากุศลไหม
สุ. รู้จิตของคนอื่นพอที่จะตอบได้ไหม เพราะจิตเกิดดับสลับสืบต่อกันเร็วมาก ต้องอาศัยสติสัมปชัญญะของบุคคลนั้นเองจริงๆ จึงจะสามารถรู้ลักษณะของจิตของตนในขณะนั้นว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล
ถ. เขามีเจตนาที่จะสวดเพื่อให้ตัวเองพ้นภัย
สุ. เจตนาที่จะสวด มีศรัทธาไหมที่จะสวด เวลาที่มีความอยากที่จะได้ผลของกุศลเป็นกุศลหรือเปล่า ขณะที่มีความต้องการผล
ถ. มีเจตนาที่จะสวด และมีศรัทธาที่จะสวดด้วย และมีการหวังผลด้วย
สุ. ก็เป็นการเกิดดับสลับกันของกุศลและอกุศลอย่างรวดเร็ว แต่ความต้องการผลหรือการอยากได้ผล จะเป็นกุศลไม่ได้
นี่เป็นเหตุที่โลภะทำให้สังสารวัฏฏ์เป็นไป ถ้าปราศจากโลภะ สังสารวัฏฏ์ย่อมหยุด ไม่สามารถที่จะเป็นไปต่อไปได้ เพราะฉะนั้น แม้แต่สวดมนต์ซึ่งเป็นกุศลก็ยังอดที่จะมีความหวังความต้องการผลเกิดขึ้นแทรกไม่ได้ สังสารวัฏฏ์จะหมดได้อย่างไร
การสวดมนต์ จริงๆ แล้วกุศลจิตในขณะนั้น คือ ขณะที่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ จึงเป็นกุศล นี่คือหลัก ขณะใดที่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ จึงเป็นกุศล เพราะฉะนั้น สติสัมปชัญญะควรจะเกิดขึ้นพิจารณาว่า ขณะใดเป็นโลภะที่เกิดขึ้นแทรกขณะนั้นไม่ใช่กุศล บางท่านต้องเลือกบทสวด เพราะบทสวดนี้จะทำให้เกิดผลต่างๆ ซึ่งเป็นที่ต้องการ รูป เสียง กลิ่น รส ทรัพย์สินเงินทอง ลาภยศ ขณะนั้นเป็นอะไรที่กำลังต้องการลาภยศ ก็ต้องเป็นโลภะ ขณะนั้นไม่ใช่เป็นการระลึกถึง พระพุทธคุณซึ่งเป็นกุศล เพราะปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ
สำหรับการให้ผลของกรรมโดยกาล คือ
ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ให้ผลในปัจจุบันชาติที่กระทำกรรมนั้น ๑
อุปปัชชเวทนียกรรม ให้ผลในชาติต่อไป คือ ชาติหน้าต่อจากชาตินี้ ๑
และอปรปริยายเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในชาติต่อๆ ไป ตราบใดที่สังสารวัฏฏ์ยังไม่สิ้น ๑
ชวนจิต ๗ ขณะ เจตนาในชวนจิตดวงที่ ๑ เมื่อให้ผลเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม คือ ให้ผลในปัจจุบันชาตินั้นเอง ถ้าในปัจจุบันชาติไม่ให้ผล ก็เป็นอโหสิกรรม คือ กรรมที่ได้ทำแล้ว แต่ไม่ทำให้วิบากเกิดขึ้น
ทุกท่านคงจะอยากได้ผลของกุศลชวนะดวงที่ ๑ ทำบุญแล้วเมื่อไรจะได้ผลของบุญ ทำเสร็จก็หวังที่จะได้ผลของกุศลนั้นทันที นี่คือ ต้องการผลของบุญที่เป็น ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม คือ เมื่อทำแล้วให้ได้ผลในชาตินั้นทันที ท่านผู้ฟังบอกว่า ใจร้อน เพราะฉะนั้น ก็ยังคงมีการหวังรอผลข้างหน้าแม้ว่าจะช้า
แต่ให้ทราบว่า เวลาที่ได้กระทำบุญไปแล้ว อาจจะเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรมได้ หรืออาจจะไม่ใช่ทิฏฐธรรมเวทนียกรรมก็ได้ เสียดายไหม ทำบุญไปแล้วไม่ได้ให้ผลในชาตินี้ ชวนจิตดวงที่ ๑ ไม่ได้ให้ผลในชาตินี้ เสียดายหรือไม่เสียดาย น่าเสียดาย
ถ้าอย่างนั้นทางฝ่ายอกุศล น่าเสียดายไหม อกุศลจิตหรืออกุศลกรรมที่ได้ทำไปแล้ว และอกุศลจิตชวนะดวงที่ ๑ ควรจะให้ผลในปัจจุบันชาติ แต่ไม่ให้ เสียดายไหมถ้าเป็นฝ่ายอกุศลก็ไม่เสียดาย แต่ถ้าเป็นฝ่ายกุศลเสียดาย
เพราะฉะนั้น ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม เป็นได้ทั้งกุศลและอกุศล ซึ่งชวนะดวง ที่ ๑ เป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม และยังมีชวนจิตเหลืออีก ๖ ขณะ เพราะชวนจิต โดยปกติแล้วมี ๗ ขณะ
สำหรับการให้ผลของกรรมโดยกาลต่อไป คือ อุปปัชชเวทนียกรรม ซึ่งจะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในชาติต่อไป คือ หลังจากจุติของชาตินี้
ต้องขออภัยท่านผู้ฟัง ที่การบรรยายธรรมมา ๑๐ กว่าปี ดิฉันไม่รู้ภาษาบาลี เพราะฉะนั้น มีการออกเสียงคำภาษาบาลีผิดพลาดหลายคำ เช่น อุปปัชชเวทนียกรรม ในครั้งก่อนๆ นานมาแล้วออกเสียงว่า อุบ - ปัด - ชัด - เว - ทะ - นี - ยะ - กัม ซึ่งที่ถูกคือ อุ - ปะ - ปัด - ชะ - เว - ทะ - นี - ยะ - กัม
ขอเรียนให้ทราบว่า ผู้ที่ฟังเทปหรือว่าได้ฟังการบรรยายตอนต้นๆ กรุณา สอบทานภาษาบาลี และแก้ไขการออกเสียงของท่านเองให้ถูกต้อง ซึ่งดิฉันได้ผิดพลาดไปหลายคำ เช่น คำว่า โคตรภู ดิฉันก็ออกเสียงเป็น โค - ตระ - พู คือ หลีกเลี่ยงการใช้คำว่า โคด เพราะรู้สึกว่าไม่เหมาะ ไม่ควร ไม่เพราะ แต่ภาษาบาลีต้องเป็นภาษาบาลี เพราะฉะนั้น คำที่ถูก คือ โคด - ตระ - พู ไม่ใช่ โค - ตระ - พู แม้แต่ในการสนทนาธรรม คำว่า สัตบุรุษ ก็ออกเสียงว่า สัด - ตะ - บุ - หรุด ซึ่งความหมายผิดอย่างมาก เพราะสัตตะหมายถึงเจ็ด แต่สัตบุรุษหมายความถึงสัทธรรม คือ ธรรมของผู้สงบ เพราะฉะนั้น ผู้ใดมีธรรมของผู้สงบ ผู้นั้นเป็น สัด - บุ - หรุด ไม่ใช่ สัด - ตะ - บุ - หรุด
อนันตชาติ ใช้แต่คำว่า อนัน - ตระ - ชาติ ซึ่งที่ถูกต้องเป็น อนัน - ตะ - ชาติ สำหรับคำว่า อุป (อุ - ปะ) ดิฉันออกเสียงเป็นอุบหมด เพราะว่าภาษาไทยไม่มีจุดที่จะแสดงว่าคำนี้เป็นตัวสะกดอย่างในภาษาบาลี เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่รู้ภาษาบาลี ย่อมจะออกเสียงผิดพลาด สำหรับท่านผู้ฟังซึ่งจะค้นคว้าหรือว่าแสดงธรรมต่อไป ขอให้กรุณาตรวจสอบทุกคำที่เป็นภาษาบาลีให้ถูกต้องด้วย
สำหรับการให้ผลของกรรมโดยกาลที่ไม่ใช่ในชาติปัจจุบัน แต่โดยเป็น อุปปัชชเวทนียกรรม คือ ให้ผลในชาติต่อไป คอยได้ไหม กุศลกรรมที่ทำแล้วถ้าชาตินี้ไม่ให้ผลก็แล้วไปเลย ไม่ต้องเสียดาย ถ้าเสียดาย อกุศลกรรมที่ทำไปแล้วในชาตินี้ ก็จะต้องให้ผลด้วย ซึ่งชวนจิตดวงสุดท้าย คือ ดวงที่ ๗ เป็นอุปปัชชเวทนียกรรม คือ ให้ผลในชาติต่อไป โดยทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น และเมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว อุปปัชชเวทนียกรรมก็เป็นปัจจัยทำให้ภวังคจิตเกิดต่อดำรงภพชาติสืบต่อไป นอกจากนั้นยังอุปถัมภ์โดยการทำให้จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณเกิดขึ้น รู้อารมณ์ต่างๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยกรรมนั้นด้วย
เพราะฉะนั้น กิจของกรรมนี้ คือ ชนโกปถัมภกกิจ หมายความว่า ทำให้เกิดขึ้นโดยปฏิสนธิกิจแล้วยังอุปถัมภ์ต่อไปด้วย จริงไหม ทุกท่านที่เกิดมาในสกุลใด ก็อยู่ในสกุลนั้นตลอดไป ทุกท่านที่เกิดมาในสกุลที่มั่งคั่ง ก็จะมีชีวิตที่สมบูรณ์มั่งคั่ง ชั่วระยะที่กรรมอื่นยังไม่มีโอกาสจะให้ผล เพราะฉะนั้น กรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ก็ทำให้ภวังคจิตเกิดต่อดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น และยังอุปถัมภ์ให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้กระทบสัมผัสกับอารมณ์แล้วแต่ว่าเป็นผลของกุศลที่ประณีตมากหรือน้อยขั้นใด ก็เป็นไปอย่างนั้น จนกว่ากรรมอื่นจะมีโอกาสให้ผล
สังสารวัฏฏ์ไม่มีสิ้นสุด ชาตินี้ก็เป็นผลของกรรมในอดีตที่ได้ทำแล้วที่ทำให้เกิดมาเป็นบุคคลนี้ ชาติก่อนจะมีหลายท่านที่คิดไหมว่า ชาติหน้าจะเกิดที่ไหน จะเกิดเป็นใคร ก็เหมือนกับชาตินี้ที่ทุกคนอยากจะทราบว่า ต่อไปชาติหน้าจะเกิดที่ไหน จะเกิดเป็นใคร เพราะทุกท่านรู้แน่นอนว่า อย่างไรก็อยู่ในโลกนี้ตลอดไปไม่ได้ จะต้องจากโลกนี้ไป และเมื่อจากโลกนี้ไปแล้ว ที่น่าคิดน่าสงสัย คือ จะไปเกิดที่ไหน เป็นใคร ชาตินี้ยังคิดอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ชาติก่อนก็คงเคยสงสัยและก็คิดอย่างนี้ว่า ชาติหน้าเราจะเป็นใครอยู่ที่ไหน แต่คำตอบที่ชัดเจน ที่เคยสงสัยในชาติก่อนว่าจะเป็นใครที่ไหน คำตอบก็คือเป็นคนนี้ ชาตินี้นั่นเอง และก็ต้องสงสัยต่อไปถึงชาติหน้าอีกว่า จะเป็นใคร อยู่ในภพภูมิไหน แต่ให้ทราบว่า ต้องเป็นไปตามกรรมทั้งสิ้น ซึ่งทุกท่านก็มี ทั้งกุศลกรรมอย่างอ่อน และอย่างที่ประกอบด้วยปัญญา และมีอกุศลกรรมด้วย ถ้ายังไม่เป็นพระโสดาบันบุคคล ก็ย่อมมีโอกาสที่จะเกิดในอบายภูมิได้
สำหรับการให้ผลโดยกาลของกรรมอีกประเภทหนึ่ง คือ อปรปริยายเวทนีย-กรรม คือ ถ้าไม่ให้ผลในชาติหน้า ก็ยังมีโอกาสที่จะให้ผลในชาติต่อๆ ไปอีกไม่สิ้นสุด ตราบใดที่ยังมีสังสารวัฏฏ์อยู่ เพราะฉะนั้น ทุกท่านเกิดมาแล้วนานแสนนานเท่าไร ไม่มีใครสามารถทบทวนย้อนไปได้ เช่นเดียวกับที่จะเกิดอีกต่อไป ก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่าจะเกิดต่อไปอีกยาวนานสักเท่าไร นอกจากจะได้อบรมเจริญปัญญาสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล เป็นพระโสดาบันบุคคลเมื่อไร จะเกิดอีกไม่เกิน ๗ ชาติ แต่ถ้ายังไม่ใช่พระโสดาบัน และอยากจะไม่เกิดอีกเลย เป็นไปไม่ได้ อย่างไร ก็ต้องเกิด เพราะมีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิด คือ กรรม
ถ้าจะแสดงถึงกรรมทั้งสามนี้กับชวนจิต สงเคราะห์กรรมสามนี้กับชวนจิต ๗ ขณะ ทิฏฐธรรมเวทนียกรรมเป็นชวนจิตดวงที่ ๑ เพราะสามารถจะให้ผลเพียงในชาติปัจจุบันนี้เท่านั้น ถ้าชวนจิตดวงที่ ๑ ไม่ให้ผล ไม่เป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ก็จะไม่ให้ผลในชาติต่อๆ ไปเลย
สำหรับกรรมที่ ๒ คือ อุปปัชชเวทนียกรรม ได้แก่กรรมที่จะทำให้ปฏิสนธิในชาติต่อไป และให้ผลได้ในชาติต่อไป ได้แก่ ชวนจิตดวงที่ ๗
อปรปริยายเวทนียกรรม ที่จะให้ผลได้ตลอดไปในชาติอื่นๆ ตราบเท่าที่ยังมีสังสารวัฏฏ์อยู่ ได้แก่ ชวนจิตขณะที่ ๒ ถึงขณะที่ ๖
ถ. อปรปริยายเวทนียกรรม ผมเคยได้ยินมาเป็น อปราปรเวทนียกรรม
สุ. นี่คัดลอกโดยตรงจาก คัมภีร์มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต นิทานสูตร ข้อความที่พิมพ์ทุกตอนชัดเจน ที่ว่า
จริงอยู่ โดยปริยายแห่งพระสุตตันตปิฎก กรรมทั้งหลาย ๑๑ อย่าง อันท่านจำแนกไว้แล้ว ถามว่า ท่านจำแนกไว้อย่างไร แก้ว่า ท่านจำแนกไว้ว่า ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม อุปปัชชเวทนียกรรม อปรปริยายเวทนียกรรม
แต่บางท่านอาจจะตัดบางคำบางศัพท์ออกให้เหลือสั้นๆ เป็นไปได้ไหม
ถ. ถ้าตามรูปศัพท์ อปรา อปร หมายความว่ากรรมนี้วนไปเวียนมา ไปๆ มาๆ ถ้าเป็นปริยาย หมายความว่า ไม่ใช่ตรงๆ เป็นทางอ้อม
สุ. ถ้ารวมกัน อปรปริยายเวทนียกรรม จะหมายความว่าอะไร
ถ. ผมก็ยังสงสัยอยู่
สุ. นี่เป็นข้อความโดยตรงจากมโนรถปูรณีอรรถกถา ซึ่งส่วนมากเท่าที่ได้เคยฟังมาแล้ว ไม่ค่อยจะได้สอบทานกับพระไตรปิฎกหรืออรรถกถาโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นคำที่ออกเสียง ก็ออกเสียงตามๆ กันมา เพราะฉะนั้น อาจจะมีคลาดเคลื่อนได้ สำหรับผู้ที่ไม่รู้ภาษาบาลี แต่ถ้าจะตรวจสอบกับพระไตรปิฎกและอรรถกถา ดูได้เลยว่า ในมโนรถปูรณีใช้คำนี้
ถ. อาจารย์พูดถึงปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตนั้นหมายถึงชาตินี้หรือชาติหน้า
สุ มีทั้งชาติก่อน ชาตินี้ ชาติหน้า ตราบใดที่ยังมีกรรมเป็นเหตุ เมื่อจุติจิตดับไปแล้วก็ต้องปฏิสนธิ
ถ. คนส่วนมากเข้าใจว่า ปฏิสนธิจิตหมายถึงตายแล้วจึงมีปฏิสนธิจิต
สุ. จุติจิต คือ จิตดวงสุดท้ายของชาตินี้ที่ทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ เมื่อดับไปแล้วจิตที่เกิดต่อทำปฏิสันธิกิจ คือ สืบต่อจากชาติก่อน
ถ. จิตดับและเกิดจิตใหม่ขึ้น เป็นปฏิสนธิจิต
สุ. ปฏิสนธิจิต เป็นจิตดวงแรกของชาตินี้ เกิดต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ไม่มีระหว่างคั่น ไม่มีจิตอื่นคั่นระหว่างจุติจิตของชาติก่อนกับปฏิสนธิจิตของชาตินี้
ถ. บางอาจารย์แสดงว่า จิตเห็นเกิดขึ้นแล้วดับ จิตอื่นเกิดขึ้นก็เป็น ปฏิสนธิจิตอีก
สุ. จิตเห็นทำทัสสนกิจ ไม่ได้ทำปฏิสันธิกิจ จิตได้ยินก็ทำสวนกิจ ไม่ได้ทำปฏิสันธิกิจ เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดสืบต่อจากจุติจิตดวงเดียวเท่านั้นที่ทำปฏิสันธิกิจ
ถ. คนทั้งหลายสงสัยกัน จิตเราดับอยู่ทุกขณะๆ ที่เกิดมาอีกนั้นชื่อว่า จิตเห็น จิตได้ยิน เป็นปฏิสนธิจิตหรือไม่
สุ. ไม่ได้ จิตเห็นทำทัสสนกิจ ไม่ได้ทำปฏิสันธิกิจ เพราะฉะนั้น จิตเห็นจะเป็นปฏิสนธิจิตไม่ได้เลย
ปฏิสนธิจิต หมายความถึงจิตดวงแรกของชาตินี้ ทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อนเท่านั้น และในชาติหนึ่งๆ มีปฏิสนธิจิตขณะเดียว แต่มีจักขุวิญญาณ หลายขณะได้ตามเหตุตามปัจจัย
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๑๒๗๑ – ๑๒๘๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1261
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1262
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1263
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1264
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1265
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1266
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1267
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1268
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1269
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1270
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1271
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1272
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1273
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1274
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1275
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1276
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1277
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1278
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1279
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1280
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1281
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1282
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1283
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1284
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1285
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1286
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1287
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1288
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1289
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1290
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1291
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1292
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1293
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1294
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1295
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1296
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1297
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1298
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1299
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1300
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1301
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1302
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1303
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1304
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1305
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1306
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1307
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1308
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1309
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1310
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1311
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1312
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1313
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1314
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1315
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1316
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1317
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1318
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1319
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1320