แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1279


    ครั้งที่ ๑๒๗๙


    สาระสำคัญ

    เรื่องของพหุลกรรม

    ครุกรรมมี ๕ ประการ ทางฝ่ายอกุศล

    มโนรถปุรณีอรรถกถา - อาสันนกรรม (คนรักษาประตูชาวทมิฬ ชื่อ มธุอังคณะ)


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๒๗


    สำหรับครุกกรรมฝ่ายกุศล ท่านผู้ฟังคงจะไม่ได้อบรมเจริญความสงบถึงขั้น ฌานจิต เพราะยากแสนยากที่จะให้จิตสงบถึงขั้นอัปปนาสมาธิและไม่เสื่อมพอที่จะเป็นปัจจัยที่จะให้ฌานจิตเกิดก่อนจุติจิต เพราะฉะนั้น ก็เป็นอันหมดหวังเรื่องของครุกกรรมทางฝ่ายกุศล

    ทางฝ่ายอกุศล ครุกกรรมมี ๕ ประการ ซึ่งในสมัยนี้มีเพียงการฆ่ามารดา ๑ การฆ่าบิดา ๑ การทำสังฆเภท ๑ ส่วนการฆ่าพระอรหันต์ และการทำโลหิต พระผู้มีพระภาคให้ห้อ คงจะไม่มีผู้ใดได้กระทำ เพราะฉะนั้น เรื่องของอนันตริยกรรมซึ่งเป็นครุกกรรมฝ่ายอกุศล สำหรับผู้ที่จะกระทำ ก็คงเป็นส่วนน้อยมาก

    เมื่อไม่มีครุกกรรมทั้งฝ่ายกุศลและฝ่ายอกุศล พหุลกรรม คือ กรรมที่มีกำลังเป็นได้ทั้งฝ่ายกุศลและฝ่ายอกุศล ซึ่งแต่ละบุคคลย่อมทราบด้วยตัวของท่านเอง เพราะเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ

    ทางฝ่ายอกุศล กรรมใดที่ได้กระทำแล้วเดือดร้อนใจ นั่นแหละเป็นพหุลกรรมทางฝ่ายอกุศล

    หรือทำแล้วไม่เคยร้อนใจเลย การร้อนใจจะดีหรือไม่ดี เป็นเรื่องน่าคิด การร้อนใจเป็นอกุศล อกุศลไม่ว่าจะเป็นขณะใดก็ตามย่อมให้ผลเป็นทุกข์ แต่ว่าไม่มีใครสามารถบังคับจิตไม่ให้ร้อนใจได้ ถ้ากรรมที่ได้ทำแล้วเป็นกรรมหนัก หรือเป็นกรรมที่มีกำลังทางฝ่ายอกุศล ฉันใด ทางฝ่ายกุศลก็เช่นเดียวกัน ถ้ากรรมใดที่ทำแล้วเกิด ปีติโสมนัสอย่างยิ่ง กุศลนั้นก็เป็นพหุลกรรม คือ กรรมที่มีกำลัง

    สำหรับกุศลกรรมที่ทุกท่านทำอยู่ที่จะพิจารณาว่า กุศลกรรมใดเป็นกุศลที่มีกำลัง ก็คือ กุศลที่มีกุศลเป็นบริวาร หรือว่าเพราะเสพคุ้น

    การทำกุศลแต่ละครั้งจะเห็นได้จริงๆ ว่า ทำไมบางครั้งกุศลจิตเกิดมาก บางครั้งกุศลจิตเกิดน้อย เพราะฉะนั้น กุศลที่จัดว่าเป็นกุศลที่มีกำลัง ต้องเป็นกุศลที่มีกุศลเป็นบริวาร จึงจะแสดงให้เห็นว่า เป็นกุศลที่ผ่องใสและมีกำลัง

    ถ้าจะพิจารณาในชีวิตประจำวัน ท่านที่สนทนาธรรม ท่านที่แสดงธรรม หรือท่านที่ศึกษาธรรม ขณะที่ท่านกำลังแสดงธรรมก็ดี หรือสนทนาธรรมกันก็ดี มีความสำคัญตนเกิดขึ้นแทรกในขณะนั้นบ้างหรือเปล่า ทางที่จะรู้ว่าเป็นกุศลที่มีกำลังหรือว่าไม่ใช่กุศลที่มีกำลัง ต้องอาศัยสติสัมปชัญญะเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพของจิต ในขณะนั้นว่า เป็นกุศลล้วนๆ หรือเป็นกุศลที่มีอกุศลเกิดแทรกบางขณะ เพราะผู้ที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคลขั้นพระอรหันต์ ย่อมยังคงมีความสำคัญตน จะมากหรือจะน้อยต้องแล้วแต่การสะสมของแต่ละบุคคล

    ทุกท่านที่เกิดมามีความรักตน เมื่อมีความรักตนจึงต้องการให้ตนสำคัญ จึงมีความสำคัญในตน แม้ในเรื่องของการศึกษาธรรม การแสดงธรรม หรือการสนทนาธรรม ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ก็จะขาดการระลึกรู้ลักษณะของจิตในขณะนั้นว่า เป็นกุศลโดยตลอด หรือว่ามีอกุศลประเภทใดเกิดแทรกบ้าง

    บางท่าน บางขณะอาจจะไม่ใช่เป็นความสำคัญตน แต่เป็นการหวังอะไรบ้างหรือเปล่า บางคนอาจจะหวังลาภ หวังยศ หวังชื่อเสียง หรือแม้แต่เพียงหวังคำชม ในความสามารถ ในความเก่ง ในความขยัน ในความตั้งใจศึกษา ในขณะนั้นกุศลจะมีกำลังเท่ากับขณะที่ไม่หวังหรือเปล่า นี่ต้องเป็นผลของการเป็นผู้ที่มีปกติอบรม เจริญสติปัฏฐาน สติจึงสามารถระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นปรากฏในขณะนั้น ตามความเป็นจริงได้ว่า สภาพธรรมใดเป็นกุศล และสภาพธรรมใดเป็นอกุศล

    หรือในการสนทนาธรรม มีโทสะ มีความขุ่นใจ มีความไม่แช่มชื่นใจ ไม่พอใจ เกิดขึ้นบ้างไหม ถ้าบุคคลอื่นไม่เห็นด้วย หรืออาจจะเป็นผู้ที่ไม่มีเหตุผลในการขัดแย้ง นี่เป็นสิ่งซึ่งเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ที่จะพิจารณาว่า กุศลขณะใดเป็นกุศลที่มีกำลัง และขณะใดเป็นกุศลที่ไม่มีกำลัง

    นอกจากจะเพราะมีกุศลเป็นบริวารทำให้กุศลนั้นมีกำลังแล้ว ก็เป็นเพราะ การเสพคุ้น คือ กระทำบ่อยๆ หรือเมื่อนึกถึงกุศลที่ได้กระทำแล้ว จิตใจก็ยังเบิกบานผ่องใสปราศจากอกุศล ขณะนั้นแสดงว่าเป็นกุศลที่มีกำลัง เพราะทุกท่านต้องเคยทำกุศลมาแล้วมากบ้าง น้อยบ้าง แต่บางครั้งก็ลืม ไม่ได้นึกถึงกุศลนั้นเลย แต่กุศลบางครั้งที่ได้ทำแล้วมีกำลัง ทำให้ระลึกถึงด้วยความปีติโสมนัสบ่อยๆ เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า กุศลกรรมที่ได้ทำแต่ละครั้งนั้น ย่อมมีทั้งกุศลที่มีกำลัง และกุศลที่ไม่มีกำลัง

    ถ. เรื่องอโหสิกรรม ขอยกตัวอย่างเรื่องจริงว่า มีศิษย์ผู้หนึ่งได้คิดในใจต่ออาจารย์ผู้สอนพระอภิธรรมว่า ไม่น่าจะมาเคี่ยวเข็ญสอนเราเลย และยังคิดเลยมากไปกว่านั้นไปอีกด้วย แต่ตอนหลังรู้ตัว ไปขอขมาจากท่านอาจารย์ผู้นั้น ท่านก็ให้อภัย ถือว่าเป็นอโหสิกรรมที่จะไม่มีกรรมต่อกันอีกไหม

    สุ. คำว่า อโหสิกรรม หมายความถึงกรรมที่ได้ทำแล้ว เพราะฉะนั้น กรรมที่ได้ทำแล้วมีทั้งที่เป็นกุศลและเป็นอกุศล กรรมที่ได้ทำแล้ว เปลี่ยนได้ไหม

    . ไม่ได้

    สุ. เปลี่ยนไม่ได้ แต่ทำกรรมใหม่ได้ไหม

    . ได้

    สุ. เพราะฉะนั้น เมื่อรู้ว่ากรรมใดเป็นอกุศล แม้ว่าอกุศลนั้นได้ทำไปแล้ว ก็ตาม แต่เมื่อรู้ว่าเป็นอกุศล ก็ทำกรรมที่เป็นกุศล

    ถ. แต่เขายังคงมีความขุ่นข้องใจมาจนทุกวันนี้

    สุ. ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นโทษ

    ถ. คำว่า อโหสิกรรมของชาวโลก เข้าใจกันไปอีกอย่างหนึ่ง แต่อโหสิกรรมในอรรถกถาที่ท่านกล่าวมานี้ ก็แยกออกไปอีกอย่างหนึ่ง ช่วยอธิบายให้ละเอียดด้วย

    สุ. อโหสิกรรมของชาวโลก คงจะหมายถึงการขออภัยและการให้อภัย ซึ่งจะทำให้จิตของผู้ขออภัยสบายขึ้นถ้าได้ขออภัย และบุคคลนั้นก็ให้อภัยด้วย

    ถ. อย่างในอรรถกถาที่ว่า อโหสิกรรม คือ กรรมที่ได้กระทำแล้ว ย่อมได้รับผลต่อไปแน่ กรรมนี้ถ้าเขาจะจุติ เขาระลึกถึงกรรมนี้ขึ้นมาได้ ก็นำปฏิสนธิได้หรือ

    สุ. แล้วแต่ว่าจะครบองค์หรือเปล่า ถ้าครบองค์ก็เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิได้ ท่านผู้ฟังเคยโกรธไหม เวลาโกรธ เคยคิดอะไรในใจไหม ยังไม่แสดงออกมา ทางวาจา อาจจะเพียงแค่คิดในใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะคิดเลย แต่เป็นการล่วงออกมาถึงขั้นกรรมที่ครบองค์ ทางกาย ทางวาจาหรือเปล่า

    เด็กๆ ก็โกรธ ผู้ใหญ่ก็โกรธ ผู้สูงอายุก็โกรธ เด็กโกรธและอาจจะแสดง กิริยาอาการด้วยความไม่รู้ เด็กอาจจะตีต่อย หรือทำร้ายสัตว์ เบียดเบียนสัตว์ก็ได้ ด้วยความไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศลกรรม ผู้ใหญ่รู้ไหม บางท่านรู้ บางท่านไม่รู้ เป็นกรรมไหม ผู้ที่ไม่รู้แต่ทำ เป็นกรรมไหม เป็น ผู้ที่รู้และทำ เป็นกรรมไหม ก็เป็นทั้งนั้น เพราะฉะนั้น จะด้วยความไม่รู้ หรือด้วยความรู้ กายกรรมหรือวจีกรรมก็ ย่อมเกิดเพราะกุศลจิตและอกุศลจิต

    ถ. อนันตริยกรรมที่เป็นสังฆเภท อุบาสกอุบาสิกาทำได้ไหม

    สุ. ไม่ได้

    ถ. เพราะเหตุใด

    สุ. เพราะไม่สามารถทำลายพระภิกษุสงฆ์ให้แยกจากกันได้ เนื่องจากอุบาสกอุบาสิกาไม่มีกิจเกี่ยวข้องในเรื่องของสังฆกรรม

    ถ. สังฆเภทเป็นอย่างไร

    สุ. การทำลายสงฆ์ให้แตกกัน เช่น แยกการกระทำอุโบสถกรรม และ สังฆกรรมอื่นๆ ต้องเกี่ยวกับการกระทำสังฆกรรมหรือกิจของสงฆ์ ที่ทรงบัญญัติไว้ให้ทำร่วมกัน แต่เมื่อสงฆ์แตกความสามัคคี ไม่กระทำสังฆกรรมร่วมกัน ก็เป็นสังฆเภท คือ ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน

    ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. สงฆ์ตามพระวินัย แล้วแต่จะจำกัดไว้ว่า ในกิจนี้ประกอบด้วยคณะ คือสงฆ์กี่บุคคล สำหรับดิฉันเองไม่ได้ศึกษาในทางพระวินัย ได้ยิน ได้ฟัง ได้รับทราบบ้างนิดๆ หน่อยๆ เพียงส่วนน้อย และเพียงอ่านข้อความจากพระวินัยปิฎกเท่านั้น

    ถ. เรื่องพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยที่อาจารย์บรรยายนี้ อยู่ในคัมภีร์อะไร

    สุ. มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย

    ถ. แสดงว่าคัมภีร์นี้แต่งในสมัย...

    สุ. หลังพระมหินทเถระ

    ถ. คล้ายๆ กับจะเป็นบันทึกเรื่องราวในสมัยนั้น เพราะสังเกตดูว่า แม้แต่พฤติการณ์ของพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย พระท่านก็เอาไปแต่งไปเขียนไว้เรียบร้อยแล้ว

    สุ. เป็นตัวอย่างของกุศล และอกุศลกรรม

    ถ. รู้สึกว่าคล้ายกับสมัยนี้ เวลามีพระราชพิธีใหญ่ๆ ในหลวงจะนิมนต์พระราชาคณะชั้นสมเด็จไปแสดงธรรมในพระราชวัง เรียกว่า มงคลวิเสสกถา และธรรมที่ท่านแสดงส่วนใหญ่ก็จะเล่าถึงพระคุณ หรือเกียรติยศเกียรติคุณของพระมหากษัตริย์ว่า ได้ทรงบำเพ็ญอะไรๆ มา จะเป็นทำนองนี้หรือเปล่า

    สุ. สำหรับข้อความในอรรถกถา โดยมากอธิบายสูตรต่างๆ ซึ่งอรรถกถารุ่นแรกมีในสมัยของพระมหินทเถระ แต่เมื่อท่านพระพุทธโฆษาจารย์ซึ่งอยู่ในสมัย หลังปรินิพพานประมาณ ๙๐๐ หรือ ๑๐๐๐ ปี ได้แปลอรรถกถารุ่นพระมหินทเถระ ซึ่งเป็นรุ่นแรกก่อนสมัยของพระเจ้าทุฏฐคามณี ท่านพระพุทธโฆษาจารย์เมื่อแปลแล้ว ท่านก็ได้เรียบเรียงคัมภีร์ต่างๆ เป็นภาษามคธแทนคัมภีร์ภาษาสิงหล เพราะฉะนั้น จึงมีเรื่องหลังพระมหินทเถระ แต่ต้องถือว่าเป็นอรรถกถาในสมัยโน้น ไม่ใช่ในสมัยนี้ เพราะได้อธิบายตามแนวอรรถกถาของพระมหินทเถระทั้งนั้น เพียงแต่ว่ามีตัวอย่างเรื่องราวในสมัยนั้นประกอบ แต่เป็นเรื่องราวก่อนสมัยของท่านพระพุทธโฆษาจารย์

    ทุกท่านจะต้องจากโลกนี้ไป เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะลืมเลย ช้าหรือเร็ว เพราะฉะนั้น ควรกระทำกุศลกรรมมากๆ บ่อยๆ เนืองๆ และไม่สามารถรู้ได้จริงๆ ว่า เมื่อถึงเวลาใกล้จุติที่จะจากโลกนี้ กุศลจิตหรืออกุศลจิตจะเกิด เพราะว่าสภาพธรรมทั้งหลายย่อมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ถ้าครุกกรรมไม่มี พหุลกรรมไม่มี กรรมต่อไปที่จะให้ผล ทำให้ปฏิสนธิ คือ อาสันนกรรม ซึ่งข้อความใน มโนรถปูรณี อุปมาว่า

    เหมือนกับโคที่อยู่ในคอก โคที่อยู่ใกล้ประตู ถึงแม้ว่าจะเป็นโคที่ไม่มีกำลัง หรือว่าเป็นโคชรา แต่ว่าเมื่ออยู่ใกล้ประตู ก็ย่อมออกไปก่อนโคอื่นๆ ซึ่งมีกำลัง หรือ ที่อยู่ในคอกนั้นทั้งหมด

    เพราะฉะนั้น ถ้าครุกกรรมไม่มี พหุลกรรมไม่มี กรรมที่ทำใกล้จะจุติย่อมเป็น อาสันนกรรมทำให้ปฏิสนธิเกิดขึ้นในภูมิต่อไป ซึ่งตัวอย่างใน มโนรถปูรณี อรรถกถา มีว่า

    คนรักษาประตูชาวทมิฬคนหนึ่งชื่อ มธุอังคณะ เขาออกไปตกปลาแต่เช้าตรู่ ฆ่าปลาแล้วแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน แลกเอาข้าวสารด้วยปลาส่วนหนึ่ง เอานมส้ม ด้วยปลาส่วนหนึ่ง และปรุงปลาส่วนหนึ่ง โดยทำนองนี้ เขาทำปาณาติบาตเป็นเวลา ๕๐ ปี จนถึงในขณะที่แก่ลง ไม่สามารถที่จะลุกขึ้นได้

    ขณะนั้น พระจุลลปิณฑปาติกติสสเถระผู้อยู่ในคีรีวิหารคิดว่า สัตว์นี้เมื่อเรา เห็นอยู่ จงอย่าพินาศ ท่านได้ไปยืนอยู่ที่ประตูเรือนของคนรักษาประตูนั้น ซึ่งภรรยาของคนรักษาประตูนั้นก็ได้บอกสามีว่า นาย พระเถระมาแล้ว

    คนรักษาประตูนั้นก็กล่าวว่า เราไม่เคยไปสู่สำนักของพระเถระเป็นเวลา ๕๐ ปี เพราะคุณอะไรของเราพระเถระจักมา ท่านทั้งหลายจงกล่าวกับพระเถระนั้นเถิดว่า นิมนต์ไปเถิด ดังนี้

    เป็นธรรมดาที่คนรักษาประตูจะแปลกใจ เพราะว่าไม่เคยไปวัดเลย แต่ทำไมพระจุลลปิณฑปาติกติสสเถระจึงได้มาถึงบ้านของท่าน เมื่อไม่มีกิจ ไม่มีธุระที่จะเกี่ยวข้องด้วย คนรักษาประตูก็ได้บอกภรรยาให้นิมนต์ท่านไปเสีย

    ภรรยานั้นกล่าวแล้วว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นิมนต์ท่านโปรดสัตว์ข้างหน้าเถิด ดังนี้

    แม้ว่าท่านจะไปถึงบ้านแล้ว ก็ยังไม่คิดว่าท่านจะทำประโยชน์อะไรให้ เพราะฉะนั้น ก็นิมนต์ท่านไปโปรดสัตว์ข้างหน้า

    พระเถระก็ได้ถามหญิงนั้นว่า ความเป็นไปแห่งสรีระของอุบาสกเป็นอย่างไร

    หมายความถึงสุขสบายดี หรือว่าป่วยไข้ขนาดไหน

    หญิงนั้นก็ได้กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อุบาสกเป็นคนมีกำลังอันโทษประทุษร้ายแล้ว

    คือ อ่อนกำลังลง จนไม่สามารถที่จะลุกขึ้น

    พระเถระก็ได้เข้าไปสู่เรือน ทำให้เขาเกิดสติขึ้นแล้วกล่าวว่า ท่านจะรับศีลไหม อุบาสกนั้นก็กล่าวว่า ขอรับ ท่านผู้เจริญ ท่านจงให้เถิด ดังนี้

    พระเถระก็ได้ให้สรณะ ๓ แล้วเริ่มเพื่อที่จะให้ศีล ๕ แก่เขา ลิ้นของเขาตกไป ในกาลแห่งคำว่า ปัญจะ สีลานิ พระเถระก็ได้ออกไปด้วยคิดว่า คุณมีประมาณเท่านี้ จะสมควร

    หมายความว่า เพียงรับศีลได้เท่านี้ก็เป็นประโยชน์พอแล้วสำหรับอุบาสกผู้นี้

    อุบาสกนั้นสิ้นชีวิต และเกิดในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ซึ่งในขณะที่เกิดเขาก็ใคร่ครวญว่า การที่เขาได้เกิดในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกานั้นเป็นผลของกรรมอะไร เมื่อได้ทราบเหตุที่ตนได้สมบัติแล้วเพราะอาศัยพระเถระ จึงมาจากเทวโลก ไหว้ พระเถระแล้ว ได้ยืนแล้ว ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    พระเถระกล่าวว่า ใครนั่น

    เทพบุตรนั้นกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นผู้รักษาประตูของทมิฬ

    พระเถระถามว่า ท่านเกิดที่ไหน

    เทพบุตรนั้นตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าบังเกิดในเทวโลกชั้น จาตุมหาราช ถ้าว่าพระผู้เป็นเจ้าได้ให้ศีล ๕ ไซร้ ข้าพเจ้าพึงเป็นผู้บังเกิดแล้วใน เทวโลกเบื้องบน ข้าพเจ้าจะทำอย่างไร ดังนี้

    พระเถระกล่าวว่า ดูก่อนบุตรน้อย เจ้าไม่อาจจะถือเอา

    เทพบุตรนั้นไหว้พระเถระแล้วไปสู่เทวโลกนั่นเอง

    นี้เป็นเรื่องของอาสันนกรรม



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๑๒๗๑ – ๑๒๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 88
    28 ธ.ค. 2564