แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1282


    ครั้งที่ ๑๒๘๒


    สาระสำคัญ

    กรรมเป็นเหตุแห่งวิบาก (เพราะคติสมบัติหรือวิบัติ)

    กรรมเป็นเหตุแห่งวิบาก (เพราะอุปธิสมบัติหรือวิบัติ)

    อถ.ทสก.พรรณนาโกศลสูตร - คติ อุปธิกาลและปโยค ชื่อว่า ฐานะของวิบาก (ส่วนกรรมเป็นเหตุของวิบาก)

    อถ.สค.นันทิสูตร - อุปธิ ๔

    ขุ.จูฬ.เมตตคูมาณวกปัญหานิทเทส - แสดงถึงอุปธิ ๑๐


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๒๗


    คติสมบัติ ได้แก่ การเกิดในสุคติภูมิ คติวิบัติ ได้แก่ การเกิดในทุคติภูมิ ถ้าเป็นผลของกุศลก็ทำให้เกิดในสุคติภูมิ ถ้าเป็นผลของอกุศลก็ทำให้เกิดในทุคติภูมิ เพราะฉะนั้น คติมีส่วนสำคัญที่จะทำให้กรรมใดๆ ที่ได้กระทำไปแล้ว มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นทำกิจให้ผลเป็นอุปัตถัมภกกรรม หรือว่าอุปปีฬกกรรม หรือว่าเป็น อุปฆาตกกรรม ไม่ใช่ว่ากรรมที่ทำไปแล้วจะไม่มีผล เพราะตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้ง อริยสัจธรรมถึงขั้นเป็นพระอรหันต์จนถึงขณะที่ปรินิพพาน กรรมที่ได้กระทำแล้วย่อมมีโอกาสให้ผลอย่างหนึ่งอย่างใด คือ อาจจะเป็นอุปัตถัมภกกรรม หรืออุปปีฬกกรรม หรืออุปฆาตกกรรม

    ถ้าเกิดในสวรรค์ อกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วไม่มีโอกาสที่จะให้ผลเหมือนอย่างเกิดในภูมิมนุษย์ หรือในภูมิที่เป็นคติวิบัติ เช่น ในภูมินรก ในภูมิเปรต ในภูมิอสุรกาย ในภูมิสัตว์ดิรัจฉาน

    นี่เป็นความสำคัญของกรรมที่จะให้ผลว่า ย่อมแล้วแต่คติ คือ กำเนิดด้วย ถ้าเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานเป็นผลของอกุศลกรรม ทั้งๆ ที่ในชาติก่อนๆ ก็คงจะได้ทำ บุญกุศลไว้เป็นอันมากในสังสารวัฏฏ์ แต่เมื่อเป็นคติวิบัติ คือ เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ย่อมไม่สามารถที่จะได้รับผลของกุศลกรรมอื่นๆ เหมือนอย่างในภูมิมนุษย์ เพราะฉะนั้น ก็คงจะได้เพียงมีผู้เลี้ยงดู และมีอาหารการบริโภคสมบูรณ์ แต่ไม่สามารถอบรมเจริญกุศลอื่นๆ เช่น การฟังธรรม หรือการสนทนาธรรม การอบรมเจริญปัญญาที่จะพ้นจากสังสารวัฏฏ์ได้ แต่ยังมีกุศลวิบาก ทำให้ไม่ต้องเดือดร้อน มี ผู้ที่อุปถัมภ์เลี้ยงดูให้ได้ความสุขสบาย บางทีเกิดเป็นช้างที่มีรูปร่างลักษณะที่สมบูรณ์ ก็ทำให้ได้รับยศถาบรรดาศักดิ์ได้เหมือนกัน นี่ก็เป็นเรื่องของผลซึ่งติดตามอุปถัมภ์หลังจากที่ปฏิสนธิจิตเกิดแล้ว

    สำหรับกรรมเป็นเหตุแห่งวิบาก เพราะอุปธิสมบัติหรือวิบัติ

    อุปธิ หมายความถึงรูปร่าง หน้าตา ทรวดทรง ผิวพรรณ

    การเกิดเป็นผู้ที่มีรูปทรงหน้าตาผิวพรรณดี ย่อมเป็นเหตุนำมาซึ่งกุศลวิบาก อื่นๆ ได้ ตรงกันข้ามกับการที่เกิดมาเป็นผู้พิกลพิการต่างๆ แทนที่จะได้สมบัติ ก็ไม่ได้ นอกจากนั้นยังต้องอาศัยกาลสมบัติหรือกาลวิบัติด้วย ในการที่กรรมแต่ละกรรมจะให้ผล

    เพราะฉะนั้น แต่ละบุคคลประมาทไม่ได้เลย ถึงแม้จะเป็นผู้ที่ได้สะสม บุญกุศลมาแล้วในอดีตก็จริง แต่ถ้าอยู่ในสมัยของกาลวิบัติ อกุศลกรรมย่อมมีโอกาสให้ผลได้ จึงไม่ควรเป็นผู้ที่ประมาทว่า ตนเป็นผู้ที่สั่งสมกุศลอยู่เสมอคงจะไม่มี อกุศลวิบาก เพราะเมื่อเป็นกาลวิบัติแล้ว ถึงแม้เป็นผู้ที่เคยสะสมบุญกุศลไว้มาก ก็ย่อมมีปัจจัยให้อกุศลที่ได้สะสมมาแล้วมีโอกาสที่จะให้ผลได้

    สำหรับกรรมเป็นเหตุแห่งวิบาก เพราะปโยคสมบัติหรือวิบัติ ได้แก่ ความเพียรกระทำในสิ่งที่ถูกต้องทำให้ได้สมบัติ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ฉลาด ไม่มีความเพียรกระทำในทางที่ถูกต้อง ก็เป็นปโยควิบัติ ไม่สามารถที่จะได้รับผลของกุศล

    ถ. ปโยคสมบัติ ปโยควิบัติ หมายถึงชวนะที่เป็นกุศล หรืออกุศล หรือกิริยา ใช่ไหม ปโยคะ หมายถึงการกระทำ ใช่ไหม

    สุ. ท่านผู้ฟังสงสัยเรื่องของคติ อุปธิ กาล และปโยคะ ซึ่งใน มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต มีข้อความว่า

    คติ อุปธิ กาล และปโยค ชื่อว่าฐานะของวิบาก ส่วนกรรมเป็นเหตุของวิบาก

    เพราะฉะนั้น คติ การเกิดในภพภูมิต่างๆ หรืออุปธิ การมีรูปร่างทรวดทรง ต่างๆ หรือกาลที่จะเป็นสมัยที่เหมาะที่ควร หรือสมัยที่ไม่เหมาะไม่ควร หรือแม้ ปโยคะ ก็เป็นฐานะของวิบาก คือ การสะสมมา

    มโนรถปูรณี ทสกนิบาต พรรณนาโกศลสูตรที่ ๑ มีข้อความสั้นๆ แต่น่าพิจารณา เช่น ข้อความที่ว่า

    ผ้าที่เกิดขึ้นแล้วในเมืองพาราณสี ชื่อว่าพาราณเสยยกัง ผ้าเมืองพาราณสี ได้ยินว่า ในเมืองพาราณสีนั้น ฝ้ายก็อ่อนนุ่ม สตรีปั่นฝ้ายก็ฉลาด สตรีทอผ้า ก็ชำนาญ แม้น้ำก็ใสสะอาด จืดสนิท เพราะฉะนั้น ผ้าของพาราณสีจึงต่างกับผ้า ของที่อื่น

    แสดงให้เห็นถึงหลายอย่าง คติ อุปธิ กาล และปโยคะ คือ แม้น้ำก็ใสสะอาด เพราะฉะนั้น ฝ้ายก็อ่อนนุ่ม สตรีปั่นฝ้ายก็ฉลาด สตรีทอผ้าก็ชำนาญ ต้องประกอบกันทั้งหมด ถ้าน้ำใสสะอาด ฝ้ายอ่อนนุ่ม แต่สตรีปั่นฝ้ายไม่ฉลาด หรือว่าสตรีทอผ้า ไม่ชำนาญ ผ้าพาราณสีนั้นจะเป็นผ้าซึ่งมีคุณภาพดีไม่ได้

    ถ. ความฉลาดหรือความชำนาญ คือ จิตนั่นเอง

    สุ. คือ ปโยคสมบัติ มีฝ้าย แต่ปโยคสมบัติไม่มี จะปั่นฝ้ายให้ฉลาดก็ ทำไม่ได้ จะทอผ้าให้ชำนาญก็ทำไม่ได้ เพราะขาดปโยคสมบัติ เพราะฉะนั้น แต่ละอย่างที่จะสำเร็จออกมาได้ ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง

    ถ. อุปธิสมบัติ เป็นเรื่องของฝ่ายดี แต่ผมเคยอ่านมาว่า อุปธิ คือ กิเลส

    สุ. ความหมายของอุปธิ คือ สภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งทุกข์ อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค นันทิสูตรที่ ๒ กล่าวถึงอุปธิ ๔ มีข้อความว่า

    บทว่า อุปธิ ในบทว่า อุปธีหิ นรัสสะ นันทนา ได้แก่ อุปธิ ๔ อย่าง คือ กามูปธิ (อุปธิคือกาม) ๑ ขันธูปธิ (อุปธิคือขันธ์ ๑) กิเลสูปธิ (อุปธิคือกิเลส) ๑ อภิสังขารูปธิ (อุปธิคืออภิสังขาร ๑)

    สำหรับกามูปธิ อุปธิ คือ กาม ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งชาวโลกถือว่า กามเป็นที่อาศัยของความสุข หรือว่ากามเป็นที่อาศัยแห่งสุข นี่เป็นชีวิตประจำวันที่ทุกท่านแสวงหา เพราะคิดว่าความสุขของท่านอาศัยกาม ถ้าปราศจากกาม คือ ปราศจากรูป ปราศจากเสียง ปราศจากกลิ่น ปราศจากรส ปราศจากโผฏฐัพพะที่ดีๆ ชีวิตย่อมไม่มีสุข นี่คือ ความรู้สึกของชาวโลก เห็นว่า กามเป็นที่อาศัยแห่งสุข แต่ตามความจริง กามเป็นที่อาศัยแห่งทุกข์ เพราะกาม ไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไป ไม่ยั่งยืน

    เพราะฉะนั้น บางครั้งทรงแสดงว่า กามมุสา คือ แสดงสภาพเหมือนเป็นสุข แต่ที่แท้เป็นสภาพที่เป็นทุกข์ ถึงจะกล่าวว่าอย่างนี้ ทุกท่านก็ยังคงต้องการหรือแสวงหากามูปธิ อุปธิคือกาม อยู่นั่นเอง เพราะยังไม่ประจักษ์แจ้งลักษณะที่เป็นทุกข์ของกาม คือ สภาพที่เกิดขึ้นและดับไป

    อุปธิ คือ สภาพที่ทรงไว้ซึ่งทุกข์ สามารถจำแนกออกได้หลายนัย เช่น โดย นัย ๔ สภาพธรรมใดๆ ก็ตามที่เป็นทุกข์ ทรงไว้ซึ่งสภาพแห่งทุกข์ ย่อมนำมาซึ่งทุกข์ สภาพนั้นเป็นอุปธิ เช่น กาม เป็นกามูปธิ

    สำหรับขันธ์ก็เช่นเดียวกัน ขันธ์ก็เป็นที่อาศัยแห่งทุกข์ เป็นสภาพที่ทรงไว้ซึ่งทุกข์ เป็นสภาพซึ่งนำมาซึ่งทุกข์ เป็นขันธูปธิ ซึ่งทุกท่านยังคงต้องการขันธ์อีก คือ ต้องการที่จะเห็น ต้องการที่จะได้ยิน ต้องการรูป ต้องการเวทนา ต้องการสัญญา ต้องการสังขาร ต้องการวิญญาณ เพราะยังไม่ประจักษ์ลักษณะที่เป็นทุกข์ของขันธ์ว่า ขันธ์ทั้งหมดเป็นที่อาศัยแห่งทุกข์

    นอกจากนั้น กิเลสก็เป็นอุปธิ เป็นกิเลสูปธิ เพราะกิเลสเป็นที่อาศัยแห่งทุกข์ ในอบาย ถ้าใครยังมีโลภะ ยังมีโทสะ ยังมีโมหะ อันเป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรม ย่อมไม่พ้นจากอบาย ไม่มีใครสามารถที่จะนำไปสู่อบายนอกจากกิเลส ทุกคนมีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ เพราะฉะนั้น ทุกคนยังมีกิเลสซึ่งเป็นที่อาศัยแห่งทุกข์ในอบาย ถ้าได้กระทำอกุศลกรรมเพราะโลภะ หรือเพราะโทสะ หรือเพราะโมหะก็ตาม เมื่อเป็นกรรมย่อมสามารถทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิได้ เพราะฉะนั้น กิเลสก็เป็นกิเลสูปธิ

    และยังมีอภิสังขารูปธิ อุปธิคืออภิสังขาร ได้แก่ เจตนา ซึ่งเป็นกรรม เป็นที่อาศัยของทุกข์ในภพ เพราะเจตนาซึ่งเป็นกุศลกรรมก็มี เจตนาซึ่งเป็นอกุศลกรรมก็มี เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นเจตนาซึ่งเป็นกุศลหรืออกุศล ก็เป็นอภิสังขาร คือ เป็นอุปธิที่เป็นที่อาศัยแห่งทุกข์ในภพ ตราบใดที่ยังมีกุศลย่อมให้ผลเป็นกุศลวิบาก ทำให้เกิดในสุคติ ก็ยังไม่พ้นไปจากสังสารวัฏฏ์ ยังไม่พ้นไปจากทุกข์ได้

    การเกิดเป็นมนุษย์ เป็นสุคติภูมิ มีความสุขมากไหมเกิดเป็นมนุษย์ บางท่านอาจจะพอเห็นทุกข์บ้างแล้วของการเกิดเป็นมนุษย์ แต่แม้ว่าจะเห็นทุกข์บ้าง ก็ยังไม่ใช่ทุกข์ที่แท้จริง เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะเกิดเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นสุคติภูมิ ก็ยังไม่พ้นจากทุกข์ในภพ ยังจะต้องมีการเกิดอีก ยังจะต้องมีการตายอีกอยู่เรื่อยๆ แม้ในสุคติภูมิ ก็ตาม หรือถึงแม้จะเกิดในสวรรค์ ก็จะต้องถึงกาลที่สิ้นสุดของการเป็นเทพในสวรรค์ เพราะยังไม่พ้นจากอภิสังขารูปธิ คือ เจตนาที่ยังเป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ นี่คือ อุปธิ ๔

    ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เมตตคูมาณวกปัญหานิทเทส ข้อ ๑๕๔ แสดงถึงอุปธิ ๑๐ มีข้อความว่า

    คำว่า อุปธิ ในอุเทศว่า อุปธินิทานา ปภวนฺติ ทุกฺขา ดังนี้ ได้แก่ อุปธิ ๑๐ ประการ

    เพราะฉะนั้น ธรรมจะแสดงโดยนัย ๑ ก็ได้ ๔ ก็ได้ ๑๐ ก็ได้ ถ้าเข้าใจความหมายของอุปธิว่าหมายความถึงสภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งทุกข์ ซึ่งจะจัดประเภทหมวดหมู่ของอุปธิได้หลายอย่าง ไม่จำเป็นต้องเป็น ๔ เสมอไป จะแสดงโดยอุปธิ ๑๐ ก็ได้

    โดยทั่วไปในชีวิตประจำวัน หนีไม่พ้นอุปธิ ๔ คือ กามูปธิ ทุกวันๆ ขันธูปธิ ก็ทุกขณะที่เห็น ที่ได้ยิน เป็นต้น กิเลสูปธิ เมื่อเห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ก็เกิดโลภะบ้าง โทสะบ้าง อภิสังขารูปธิ ไม่ใช่มีแต่เฉพาะโลภะ โทสะ ยังเกิดเจตนาที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ที่จะกระทำกรรมที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ทุกๆ วันในชีวิตประจำวัน แล้วแต่ว่าภพหนึ่งชาติหนึ่งของแต่ละท่านจะมีกี่วัน ถ้าแตกย่อยออกไปก็เป็นกี่ชั่วโมง แตกย่อยออกไปอีกก็เป็นกี่นาที จนถึงกี่ขณะจิต แสดงให้เห็นว่า ไม่พ้นจากอุปธิเลย แต่แม้กระนั้นก็ยังมีอุปธิ ๑๐ ที่แสดงละเอียดออกไปอีก คือ

    ๑. ตัณหูปธิ อุปธิ คือ ตัณหา หรือโลภะนั่นเอง

    ๒. ทิฏฐูปธิ อุปธิ คือ ทิฏฐิ ความเห็นผิด

    ๓. กิเลสูปธิ อุปธิ คือ กิเลส

    ๔. กัมมูปธิ อุปธิ คือ กรรม

    ๕. ทุจจริตูปธิ อุปธิ คือ ทุจริต

    ๖. อาหารูปธิ อุปธิ คือ อาหาร

    ๗. ปฏิฆูปธิ อุปธิ คือ ปฏิฆะ คือ โทสะ

    ๘. อุปธิ คือ อุปาทินนธาตุ ๔

    ๙. อุปธิ คือ อายตนะภายใน ๖
    ๑๐. อุปธิ คือ หมวดวิญญาณ ๖

    ทุกข์แม้ทั้งหมดก็เป็นอุปธิ เพราะอรรถว่า ยากที่จะทนได้ เหล่านี้เรียกว่า อุปธิ ๑๐

    คำว่า ทุกฺขา คือ ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ และทุกข์ย่อยไม่มีอะไรเป็นสรณะ ไม่มีอะไรเป็นที่พึ่ง เหล่านี้เรียกว่าทุกข์ ทุกข์เหล่านี้มีอุปธิเป็นนิทาน (หรือนิทานะ คือ แดนเกิด) มีอุปธิเป็นเหตุ มีอุปธิเป็นปัจจัย มีอุปธิเป็นการณะ ย่อมมี ย่อมเป็น เกิดขึ้น เกิดพร้อม บังเกิด ปรากฏ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทุกข์ทั้งหลายมีอุปธิเป็นเหตุย่อมเกิดขึ้น

    เต็มไปหมด อุปธิทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ก็ทุกข์ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าสามารถพิจารณาธรรมละเอียดขึ้น เข้าใจชัดขึ้น เห็นสภาพที่แท้จริงของธรรมนั้นๆ มากขึ้น แต่ไม่เพียงขั้นเข้าใจ ยังต้องประกอบกับสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมจน ประจักษ์แจ้งในสภาพที่เป็นอุปธินั้นๆ ด้วย

    ถ้าท่านผู้ฟังค้นคว้าต่อไปในพระไตรปิฎก จะมีอุปธิในนัยอื่นอีกได้ไหม ซึ่งก็แล้วแต่จะทรงแสดงไว้โดยหมวดเท่าไร

    ถ. อุปธิเป็นกิเลสทั้งหมดเลย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ ๑๐

    สุ. เป็นกรรมก็มี เป็นวิบากก็มี

    ถ. ทุกอย่างเป็นอุปธิหมด

    สุ. ทุกอย่างซึ่งเป็นสภาพที่ทรงไว้ซึ่งทุกข์ ท่านผู้ฟังอาจจะพิจารณาถึงทุกข์บางอย่างซึ่งพอจะเห็นได้ เช่น คำว่า ทุกฺขา คือ ชาติทุกข์ ความเกิดเป็นทุกข์

    เริ่มเห็นหรือเริ่มพิจารณาหรือยัง ความเกิดเป็นทุกข์ ถ้ากำลังมีความทุกข์อยู่อย่างหนึ่งอย่างใดให้ทราบว่า ถ้าไม่เกิด ทุกข์นั้นไม่มี ไม่ว่าจะเป็นทุกข์กายหรือทุกข์ใจ เวลาที่ทุกข์กายยังไม่เกิด ก็ไม่เห็นว่าเป็นทุกข์ แต่เวลาที่ทุกข์กายเกิดขึ้น จะปวดหัว ตัวร้อน หรืออะไรก็ตามแต่ ให้ทราบว่า ถ้าไม่มีชาติ คือ ความเกิด ปวดหัวตัวร้อนนี้ ก็มีไม่ได้ ทุกข์ซึ่งเกิดเพราะชาติ ความเกิด ก็ย่อมมีไม่ได้ แต่ที่ทุกข์ทั้งหลายมีก็เพราะ มีการเกิด เพราะฉะนั้น การเกิดเป็นทุกข์จริงๆ เพราะนำมาซึ่งทุกข์อื่นๆ ด้วย เช่น ชราทุกข์

    บางท่านที่อายุยืนมากๆ ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ แต่ก็เป็นผู้ที่ไม่มีกำลัง พยายามออกกำลังให้มากขึ้นเพื่อที่จะให้มีกำลังขึ้น แต่แม้อย่างนั้นเมื่อชราขึ้น เรี่ยวแรงก็หมดไป นี่เป็นทุกข์เพราะชรา ซึ่งถ้าไม่มีการเกิด ชราทุกข์ก็มีไม่ได้

    หรือแม้แต่พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ ทั้งหมดนั้น ข้อความใน เมตตคูมาณวกปัญหานิทเทส แสดงว่าทุกข์ทั้งหมดนั้น ไม่ใช่สรณะ และไม่ใช่ที่พึ่ง ทั้ง ๑๐ ประการ

    เพราะฉะนั้น จะต้องพิจารณาจริงๆ จนกว่าจะเห็นว่า สภาพธรรม คือ ตัณหาเป็นอุปธิ ทิฏฐิเป็นอุปธิ กิเลสเป็นอุปธิ กรรมเป็นอุปธิ ทุจริตเป็นอุปธิ อาหารเป็นอุปธิ ปฏิฆะเป็นอุปธิ อุปาทินนธาตุเป็นอุปธิ อายตนะภายในเป็นอุปธิ วิญญาณเป็นอุปธิ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๙ ตอนที่ ๑๒๘๑ – ๑๒๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 88
    28 ธ.ค. 2564