แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1284
ครั้งที่ ๑๒๘๔
สาระสำคัญ
อุปนิสสยปัจจัย - ผลการสะสมของกุศลจิตและอกุศลจิต (ทำให้เกิดจิตตชรูปนั้นๆ)
อสัญญสัตตาพรหม (รูปปฏิสนธิ)
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๒๗
ถ. กรรมที่ไม่ครบองค์ ไม่ถึงกรรมบถ ไม่มีวิบาก แต่กัมมชรูปหรือรูปอื่นๆ จะมีไหม
สุ. ท่านผู้ฟังต้องแยกรูปซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน กับรูปซึ่งเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน
รูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน คือ เมื่อกรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ในอุปาทขณะนั้นเอง กรรมก็ทำให้กัมมชรูปเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของปฏิสนธิจิต ซึ่งรูปที่เกิดพร้อมอุปาทขณะของปฏิสนธิจิตไม่ใช่จิตตชรูป แต่เป็นกัมมชรูป เป็นรูปซึ่งเกิดเพราะกรรม ไม่ใช่รูปซึ่งเกิดเพราะจิต แต่เวลาที่กุศลจิตเกิด กระทำกรรมหนึ่งกรรมใด รูปในขณะนั้นเป็นจิตตชรูป ไม่ใช่เป็นกัมมชรูป
ถ. ผมไม่ได้หมายถึงจิตตชรูป แต่หมายถึงรูปภายหลัง …
สุ. ต้องเกิดเพราะกรรม
ถ. แต่ไม่ใช่กรรมที่ว่านี้ คือ กรรมเล็กๆ น้อยๆ อย่างถือไมโครโฟน ไม่ครบองค์ ไม่อยู่ในกุศลกรรมบถหรืออกุศลกรรมบถ ใช่ไหม
สุ. ไม่ใช่กรรมบถ แต่เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต ท่านผู้ฟังถือไมโครโฟนอย่างนี้ ในขณะที่ท่านผู้ฟังท่านอื่นอาจจะถืออีกอย่างหนึ่งตามการสะสม ตามความคุ้นเคยของการถือสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งแต่ละคนสะสมมา
การนั่ง การนอน การยืน การเดิน การพูด ไม่ใช่เป็นกรรมทั้งหมด แต่สะสมเป็นอุปนิสัยทำให้กิริยาอาการที่นั่ง ที่นอน ที่ยืน ที่เดินต่างๆ กันไป การพูดก็มีลักษณะของรูปต่างๆ กันไปตามการสะสม ซึ่งไม่ใช่กรรม
ถ. ผลก็ไม่มี เว้นจิตตชรูป
สุ. ก็เป็นอุปนิสสยปัจจัยที่ทำให้แต่ละคนมีการเดินลักษณะต่างๆ การพูดลักษณะต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เป็นผลของกรรมหนึ่งกรรมใด แต่เป็นผลของการสะสมของ กุศลจิตและอกุศลจิตที่ทำให้เกิดจิตตชรูปนั้นๆ ขึ้น
ถ. อกุศลจิตที่เรียกว่า อุปนิสสยปัจจัย ถ้าทำบ่อยๆ ไม่มีวิบากเป็นผล แต่สะสมเป็นนิสัยในภพหน้าชาติหน้าต่อไป ตัวอย่างเช่น คนที่พูดจาโดยปราศจากความระมัดระวัง อาจจะเป็นผมเอง เป็นวาสนา พูดไปๆ โดยปราศจากเจตนา ผลของกรรมไม่มี แต่สังคมไม่ยอมรับ เขาบอกว่า ปากไม่ค่อยดี น่าจะเรียกว่า เป็นวิบากอย่างหนึ่ง คือ แม้เราจะเจตนาดี แต่สังคมเขาไม่ยอมรับภาษาที่พูด จะไม่เรียกว่าเป็นผลของวิบากหรือ
สุ. ในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย นั่นคือขณะที่เป็นวิบาก ส่วนความรู้สึกพอใจไม่พอใจ ไม่ใช่วิบาก เป็นวิบากเพียงชั่วขณะที่หูกระทบเสียง โสตวิญญาณเกิดขึ้นได้ยินเสียงนั้น
ถ. ผมมีเพื่อนคนหนึ่งฆ่ามารดาของเขาเมื่ออายุประมาณ ๑๗ – ๑๘ ซึ่งเขาวิกลจริตในขณะที่กระทำ โทษทางกฎหมายไม่มี เขาไปอยู่โรงพยาบาลบ้านสมเด็จ เป็นเวลา ๑๐ กว่าปี เมื่อออกมาแล้วไปอยู่ที่ลำปาง ถูกเขาฆ่าตาย ผมคิดว่า ผลของกรรมให้ผลในชาตินี้ แต่พิสูจน์ไม่ได้
สุ. ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าเป็นผลของกรรมอะไร ทุกขณะที่ทุกท่านกำลังรับผลของกรรม จะเป็นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบาก ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายก็ตาม ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าเป็นผลของกรรมอะไร ในชาติไหน เพียงแต่รู้อย่างกว้างๆ ว่า ถ้าเป็นกุศลวิบากต้องเป็นผลของกุศลกรรม ถ้าเป็น อกุศลวิบากต้องเป็นผลของอกุศลกรรม แต่ไม่สามารถจะบอกได้ว่า เป็นผลของกรรมไหน เพราะไม่ใช่ฐานะที่บุคคลอื่นจะรู้ เพราะแต่ละท่านไม่มีทศพลญาณ คือ ญาณ ซึ่งเป็นพละหรือญาณที่มีกำลังเช่นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงสามารถรู้ฐานะของกรรมหรือฐานะของวิบากได้
ถ. ผมติดใจปัญหาที่ว่า โยนของไปถูกคนข้างล่าง อาจารย์บอกว่า ไม่มีปุพพเจตนา และก็ถามว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลจิตหรือเปล่า ถ้าท่านผู้นี้โยนของไปโดยไม่มีปุพพเจตนาที่จะไปทำร้ายเขา แต่ก้อนหินไปถูกศีรษะเขาแตก และต่อมาภายหลังจึงรู้ว่าถูกศีรษะผู้อื่นแตก ขณะนั้นจะเรียกว่าเป็นอปรเจตนา เป็นกรรมที่จะส่งผลให้เกิดวิบากหรือเปล่า
สุ. ไม่ควรจะเป็น เพราะต้องถือเจตนาที่จะกระทำกรรม และได้กระทำกรรมนั้น คือ ในขณะที่โยน
ถ. หมายเอาเฉพาะปุพพเจตนา
สุ. และมุญจนเจตนา
ถ. ไม่ได้หมายถึงอปรเจตนา
สุ. อปรเจตนา หมายความถึงกุศลจิตหรืออกุศลจิตซึ่งเกิดต่อเนื่องกับกรรมที่ได้กระทำแล้วด้วยเจตนา อย่างเวลาที่ให้ทาน มีเจตนาที่จะสละวัตถุเพื่อประโยชน์ สุขของบุคคลอื่น และเมื่อให้แล้วไม่ลืม ยังระลึกถึงกุศลนั้นๆ นั่นคืออปรเจตนา ของกรรมนั้น แต่เวลาที่โยนของลงไปโดยไม่มีเจตนาที่จะฆ่า ไม่ใช่กรรม ไม่ใช่เจตนาที่จะประทุษร้าย เพราะฉะนั้น เมื่อรู้ภายหลัง จะถือว่าเป็นอปรเจตนาของกรรมนั้น ได้ไหม เพราะอปรเจตนา หมายความถึงจิตที่เกิดหลังจากที่ได้กระทำกรรมนั้นแล้ว
ถ. ในทำนองเดียวกัน ถ้าเราเดินไปเหยียบสัตว์ สัตว์นั้นร้องจึงรู้ว่า เหยียบสัตว์นั้น แต่ปุพพเจตนาไม่มี เมื่อสัตว์นั้นร้องและถึงแก่ความตาย ก็ย่อมมี อปรเจตนา
สุ. ไม่ใช่อปรเจตนา แต่เป็นอกุศลจิต อปรเจตนาต้องของกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้น กรรมหนึ่งๆ จึงมีปุพพเจตนา มุญจนเจตนา และอปรเจตนา
ถ. เหยียบสัตว์เล็กๆ ไม่ใช่สุนัข
สุ. เป็นอกุศลจิต ไม่มีเจตนาจะเหยียบ เหยียบไปโดยไม่ได้ตั้งใจ และสงสารไหม ถ้าสงสารจริงๆ คราวหน้าระมัดระวังเพิ่มขึ้น ใช่ไหม
ถ. เรื่องอนันตริยกรรม สมมติว่า เจ้าพนักงานตำรวจเมื่อเด็กๆ แยกกับบิดา โดยไม่รู้ว่าบิดานั้นอยู่ที่ไหน บังเอิญบิดานั้นเป็นผู้ร้าย และเจ้าพนักงานตำรวจนั้นก็ยิงผู้ร้ายถึงแก่ความตาย โดยไม่รู้ว่าผู้นั้นเป็นบิดา จัดว่าเป็นอนันตริยกรรมไหม
สุ. ถ้าเจตนาฆ่ามี และผู้ที่ถูกฆ่าเป็นบิดา ต้องเป็นอนันตริยกรรม เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับ ๒ อย่าง คือ เจตนาฆ่า และบุคคลที่ถูกฆ่า ที่จะจัดว่า เป็นอนันตริยกรรม ถ้าไม่มีเจตนาฆ่าและผู้ที่ตายเป็นบิดา ไม่ใช่อนันตริยกรรม แต่ถ้า มีเจตนาฆ่าและผู้ที่ตายเป็นบิดา ด้วยประการใดๆ ก็ตาม เป็นอนันตริยกรรม
ถ. แม้ไม่รู้ว่า ผู้นั้นเป็นบิดาก็ตาม
สุ. เพราะขึ้นอยู่กับเจตนา และขึ้นอยู่กับบุคคลที่ถูกฆ่า
แต่แม้ไม่ใช่บิดา ไม่ใช่มารดา ไม่ใช่พระอรหันต์ การฆ่าปกติธรรมดา ฆ่าสัตว์สักตัวหนึ่ง ก็เป็นปัจจัยให้เกิดในอบายภูมิได้ แม้ไม่ใช่อนันตริยกรรม ก็เป็นปัจจัยให้เกิดในอบายภูมิได้
เพราะฉะนั้น ใครเคยฆ่าสัตว์ตัดชีวิต จะเป็นสัตว์เล็กสัตว์น้อยก็ตามแต่ ให้ทราบว่า เมื่อกรรมนั้นให้ผล ทำให้เกิดในอบายภูมิ แม้ไม่ใช่อนันตริยกรรม
อนันตริยกรรม เป็นเพียงกรรมหนักที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดในอบายภูมิต่อจาก จุติจิตทันทีเท่านั้นเอง แต่กรรมอื่นก็เป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดต่อจากจุติจิต ในอบายภูมิได้เมื่อเป็นผลของอกุศลกรรม แม้ไม่ใช่อนันตริยกรรม
เพราะฉะนั้น อนันตริยกรรมเป็นแต่เพียงกาลเวลาที่ให้ผลโดยไม่มีระหว่างคั่นเท่านั้นเอง แต่ก็คือผลของอกุศลกรรมนั่นเอง เพราะเดี๋ยวจะไม่ฆ่าบิดามารดา แต่จะฆ่าอย่างอื่น ก็ขอให้ทราบว่า อกุศลกรรมก็เป็นอกุศลกรรม แม้ไม่ใช่มารดาบิดา ไม่ใช่อนันตริยกรรม แต่เมื่อเป็นอกุศลกรรม เป็นปาณาติบาต ก็ยังคงเป็นปาณาติบาต
เพราะฉะนั้น เจตนาฆ่า ไม่ควรจะมีเลย ไม่ว่าวัตถุที่ถูกฆ่าจะเป็นใคร เมื่อ เป็นสัตว์ที่มีชีวิต ก็ไม่ควรที่จะมีเจตนาฆ่า
ถ. ที่ว่าเหยียบสัตว์ตาย แต่มารู้ภายหลัง เป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ ใช่ไหม
สุ. แล้วแต่ว่าจะสงสารไหม เมตตาไหม
ถ. ถ้าเกิดโทมนัสก็เป็นอกุศล ใช่ไหม
สุ. โทมนัสต้องเป็นอกุศล เป็นโทสมูลจิต
ถ. ถ้ามีสติระลึกรู้ว่า เป็นผลของกรรมของสัตว์นั้น หรือมีสติระลึกรู้ว่า เราไม่มีเจตนา และเกิดเมตตาจิต ขณะนั้นเป็นกุศลจิตได้ไหม
สุ. ได้ เพราะฉะนั้น อาศัยสติสัมปชัญญะเท่านั้นที่จะรู้ว่า ขณะใดเป็น กุศลจิต ขณะใดเป็นอกุศลจิต รู้แล้วเสียใจ สงสาร เพราะฉะนั้น ควรเป็นผู้ที่ไม่ประมาท ไม่โยนของโดยที่ไม่ดูก่อนว่ามีใครอยู่ข้างล่างบ้าง ขณะที่กำลังพิจารณารอบคอบเป็นผู้ที่ละเอียด อย่างนั้นเป็นกุศลจิต
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า กุศลจิตและอกุศลจิตเกิดสลับกัน ถ้าเป็นผู้ที่เลินเล่อ ประมาทอยู่เสมอ ไม่คิดถึงคนอื่นเลย ขณะนั้นย่อมสะสมอกุศลจิตเป็นอุปนิสสยปัจจัยทำให้เป็นผู้ที่เลินเล่อประมาท และไม่คำนึงถึงความทุกข์ของคนอื่น แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีกุศลจิต ย่อมเป็นผู้ที่คำนึงถึงความทุกข์ของคนอื่น และเป็นผู้ที่รอบคอบไม่ประมาท ไม่ทำให้ผู้อื่นเกิดทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นในการโยนของ หรือว่าในการเดินก็ตาม ก็จะระมัดระวังไม่เหยียบสัตว์ต่างๆ
ผู้ฟัง การโยนของ ในพระวินัยปิฎกทรงแสดงไว้ คือ พระรูปหนึ่งอยู่กุฏิชั้นบน ท่านเทอุจจาระลงมา วันหนึ่งพราหมณ์คนหนึ่งตัวแต่งเต็มยศจะไปเฝ้าพระราชา เดินผ่านมา จึงถูกอุจจาระเปื้อนหมดทั้งตัว พราหมณ์โกรธมาก พระผู้มีพระภาคก็ทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ถ้าผู้ใดจะเทน้ำสกปรกโสโครกหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะต้องดู ถ้าไม่ดูต้องอาบัติ
ถ. นั่นเป็นเรื่องของพระวินัย
สุ. เพื่อไม่ให้เป็นผู้เลินเล่อ และทำความทุกข์ให้แก่บุคคลอื่น
ถ. ที่ผมถามเรื่องผลของกรรม คือ วิบาก ท่านอาจารย์บอกว่า ไม่ปรากฏผลของกรรมชนิดนี้ ถ้าหากขาดปัจจัยโดยสิ้นเชิง
สุ. ถ้าไม่มีเจตนาที่จะประทุษร้าย
ถ. ผมเคยฟังพระบางรูป หรืออาจารย์บางคน ท่านกล่าวว่า กฏัตตากรรมที่ได้ทำลงไปแล้ว แม้ว่าขาดเจตนา…
สุ. ขาดเจตนาในที่นี้ คงจะหมายถึงขาดปุพพเจตนาและอปรเจตนา แต่ ที่จะขาดเจตนาเสียเลย เป็นไปไม่ได้
ถ. ท่านผู้นั้นกล่าวแต่เพียงว่า ขาดเจตนาเฉยๆ และกล่าวว่า ถ้าหากเกิดผลในทางร้ายแก่ผู้อื่น ผลนั้นย่อมเกิด แต่ว่ารอที่จะให้ผล ไม่ใช่ชาตินี้ ไม่ใช่ ชาติหน้า แต่รอโอกาสที่จะให้ผล และตัวอย่างว่า เช่น อาหารที่เราทานเหลือและ วางทิ้งไว้ โดยปราศจากเจตนาว่าอาหารที่เหลือนี้ให้กับสัตว์ผู้ยากทั้งหลาย ต่อไปในภายหน้า หากว่ากรรมนี้ส่งผล เมื่อตัวเองเดือดร้อนก็จะบังเอิญเดินโซซัดโซเซไปเจออาหารที่เขาทิ้งไว้และได้บริโภคเช่นกัน ท่านกล่าวอย่างนั้น ผมจึงมาเรียนว่า เป็นทัศนะหนึ่งที่ผมทราบมา โดยไม่มีรายละเอียดทางอภิธรรม
สุ. ท่านผู้ฟังทิ้งขยะบ่อยไหม ทุกวันนี้ที่ทำอาหาร มีขยะที่จะต้องทิ้ง ได้บุญมากไหม ทิ้งไปโดยไม่มีเจตนาที่จะให้สัตว์อื่นมาบริโภค กับทิ้งโดยเจตนาให้ ต่างกันหรือเหมือนกัน
มีอาหารเหลือเป็นประโยชน์สำหรับสัตว์อื่นได้ และมีเจตนาที่จะเกื้อกูลให้เป็นประโยชน์แก่สัตว์อื่นในขณะที่วางหรือทิ้งให้อย่างหนึ่ง กับขณะที่ทิ้งขยะทุกวันๆ โดยที่ไม่มีเจตนาเลย และจะคอยหวังผลบุญของการทิ้งขยะทุกวันว่าวันไหนหิวขึ้นมาอาจจะโซซัดโซเซบังเอิญเจออาหาร อย่างนั้นจะได้ไหม
เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับเจตนาหรือเปล่า ถ้ามีเจตนาที่จะให้อาหารซึ่งเหลือเป็นประโยชน์แก่สัตว์อื่น นั่นชื่อว่ากุศล เป็นกุศลกรรม ให้ผลเป็นกุศลวิบาก แต่ถ้าเพียงทิ้งอาหารอย่างทิ้งขยะซึ่งทิ้งกันทุกวัน และจะคอยหวังผลจากขยะว่าเป็นกุศล อย่างนี้ ได้ไหม โดยที่ไม่มีเจตนาที่จะให้เป็นประโยชน์แก่สัตว์อื่นเลย
ถ. วางไว้โดยไม่หวังผลอะไรทั้งนั้น
สุ. และจะได้ผลของกุศลหรือ
ถ. เขาว่า ได้ผลจากการไม่หวัง
สุ. ผลจากการไม่หวัง คือ ทิ้งขยะกันทุกวัน และจะได้ผลจากการทิ้งขยะ ที่เป็นกุศลวิบากหรือ
ถ. เคยปรากฏไหม
สุ. ขึ้นอยู่กับเจตนา ของเหลือยังเป็นประโยชน์กับบุคคลอื่น บางท่านมีเสื้อผ้า ท่านก็ซักสะอาดเรียบร้อยใส่ถุงวางไว้หน้าบ้าน หรือใกล้กองขยะ ไม่ว่าจะเป็นรองเท้า ไม่ว่าจะเป็นอาหารใส่กล่องเรียบร้อย วางไว้ใกล้กองขยะ หรือทางผ่านของบุคคลอื่น ซึ่งเจตนาของท่านเป็นเจตนาให้ เป็นกุศลเจตนา ไม่เหมือนทิ้งขยะ แต่บางคนก็ทิ้งเป็นขยะเลยจริงๆ ทิ้งจริงๆ เพราะฉะนั้น ถ้ามีเจตนาที่เป็นกุศลเกิดขึ้น การให้ การวาง การทิ้งเป็นกุศลได้ ขึ้นอยู่กับเจตนา อย่าลืม เพราะฉะนั้น เจตนาจึงเป็นกรรม
ถ. ถ้าวางไว้ ไม่มีคนมาหยิบไป ก็ไม่เป็นกรรม
สุ. แล้วแต่ แต่เจตนาของผู้นั้นมีแล้ว
ถ. เจตนามีแล้ว เป็นกุศลกรรม ใช่ไหม
สุ. เป็นกุศลจิต เป็นกุศลกรรม แต่ยังไม่สำเร็จถ้าไม่มีผู้รับ แต่เจตนาที่เป็นปุพพเจตนาย่อมมี
ถ. ในอสัญญสัตตาพรหมไม่มีจิตเกิดขึ้นเลย ใช่ไหม ปฏิสนธิจิตก็ไม่มี
สุ. ไม่มี
ถ. จุติจิตก็ไม่มี
สุ. ไม่มี
ถ. มรณาสันนวิถีก็ไม่มี
สุ. ไม่มี
ถ. ชาติที่ต่อจากอสัญญสัตตพรหม ก็ ...
สุ. ท่านผู้ฟังกล่าวถึงภูมิหนึ่ง คือ อสัญญสัตตาพรหม เป็นรูปปฏิสนธิ ล้วนๆ ไม่มีนามปฏิสนธิเลย คือ ไม่มีทั้งจิตและเจตสิกเกิดขึ้น ผู้ที่จะเกิดเป็น อสัญญสัตตาพรหมในอสัญญสัตตาพรหมภูมิได้ ต้องเป็นผู้ที่ได้อบรมความสงบของจิตถึงขั้นปัญจมฌาน ฌานที่ ๕ โดยปัญจกนัย และเห็นโทษของนามว่า สุขทุกข์ทั้งหลาย หรือกรรมทั้งหลาย หรือกิเลสทั้งหลายที่เกิดขึ้น ก็เพราะเหตุว่ามีนามธรรม
เพราะฉะนั้น เมื่อมีสัญญาวิราคะ การหน่าย การที่จะสละ ไม่ต้องการที่จะให้มีนามธรรมเกิดขึ้น หลังจากที่ปัญจมฌานจิตดับ และมีความปรารถนาที่จะไม่ให้มีนามธรรมเกิดขึ้น เมื่อจุติจิตดับ จึงมีเฉพาะรูปปฏิสนธิเท่านั้นในอสัญญสัตตาพรหมภูมิ ตลอดจนกระทั่งถึงรูปจุติ และระหว่างที่เป็นอสัญญสัตตาพรหม ก็รูปนี่แหละเกิดดับๆ ดำรงอยู่นานมาก เพราะถึงขั้นปัญจมฌาน เพราะฉะนั้น ก็หลายกัป และเมื่อหมดอายุ รูปจุติ
ถ. กรรมอะไรจะมาเป็นชนกกรรม
สุ. กรรมหนึ่งที่ได้กระทำแล้ว เป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๙ ตอนที่ ๑๒๘๑ – ๑๒๙๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1261
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1262
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1263
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1264
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1265
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1266
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1267
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1268
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1269
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1270
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1271
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1272
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1273
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1274
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1275
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1276
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1277
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1278
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1279
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1280
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1281
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1282
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1283
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1284
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1285
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1286
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1287
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1288
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1289
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1290
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1291
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1292
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1293
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1294
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1295
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1296
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1297
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1298
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1299
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1300
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1301
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1302
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1303
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1304
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1305
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1306
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1307
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1308
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1309
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1310
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1311
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1312
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1313
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1314
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1315
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1316
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1317
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1318
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1319
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1320