แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1285
ครั้งที่ ๑๒๘๕
สาระสำคัญ
ประโยชน์ในการรู้เรื่องกรรม
การละคลายการยึดถือสภาพธรรม
ใครทำให้ท่านปฏิสนธิในชาตินี้ (เจ้ากรรมนายเวรหรือกรรมที่ได้กระทำไว้แล้ว)
องฺ.ทสก.ธรรมปริยายสูตร - สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน
การอุทิศส่วนกุศลและการแผ่เมตตา
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๒๗
สุ. สำหรับประโยชน์ในการรู้เรื่องของกรรมมีอะไรบ้าง เพราะว่าการฟัง พระธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องกรรม เรื่องสติปัฏฐาน ย่อมจะต้องได้ประโยชน์
เพราะฉะนั้น ถ้าจะพิจารณาถึงประโยชน์ของการที่จะเข้าใจเรื่องกรรม ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน จะเห็นได้ว่า เมื่อรู้ว่าขณะใดเป็นอกุศลกรรม สิ่งใดเป็นอกุศลกรรม ก็จะได้เว้นสิ่งนั้น และถ้ารู้ว่าสิ่งใดเป็นกุศล ก็จะได้เจริญกุศลกรรมยิ่งขึ้น
อย่างเช่น เจตนาฆ่า เจตนาเบียดเบียนทั้งหมดเป็นอกุศล ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นบิดามารดา หรือไม่ใช่บิดามารดา ผู้ที่ใกล้ชิด หรือผู้ที่ไม่คุ้นเคยเลยก็ตาม ก็จะทำให้ละเว้นอกุศลกรรมกับทุกบุคคล แม้ว่าจะเป็นสัตว์ และอาหารที่ไม่บริโภค เหลือแล้ว ทิ้งแล้ว แต่ถ้ามีเจตนาที่เป็นกุศล รู้ว่าขณะใดเป็นกุศลจิต ขณะใดเป็นกุศลกรรม ก็ย่อมสามารถกระทำกุศลกรรมเพิ่มขึ้น
เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของการรู้เรื่องกรรมและเข้าใจจริงๆ จะทำให้อกุศลกรรมลดน้อยลง และกุศลกรรมเจริญขึ้น นอกจากนั้นยังเป็นประโยชน์ในการเจริญ สติปัฏฐานที่จะรู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขณะใดเป็นกรรมซึ่งเป็นเหตุ และขณะใดเป็นวิบากซึ่งเป็นผล จึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
เช่น ในขณะที่กำลังเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็รู้ได้ว่าขณะนั้นเป็นผลของกรรม เป็นวิบาก ขณะใดที่จิตเศร้าหมองไม่ผ่องใส ขณะนั้นก็รู้ว่าเป็นอกุศลจิต เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยไม่ใช่เรา เกิดขึ้นและดับไป แม้สภาพธรรมที่เป็นกุศลก็ไม่ติดว่าเป็นกุศลของเรา เพราะว่ากุศลธรรมก็เป็นแต่เพียงนามธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและก็ดับไป
การอบรมเจริญปัญญาที่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมทั้งหมดตามความเป็นจริง ทำให้ละคลายการยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล นี่คือประโยชน์ในการที่จะเข้าใจเรื่องของกรรมละเอียดขึ้น มิฉะนั้นก็ยังเป็นตัวตนอยู่ว่า เป็นกรรมของเรา หรือเราทำกรรม หรือเป็นวิบากของเรา แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่มีสภาพธรรมใดเลยทั้งสิ้นซึ่งจะพึงยึดถือว่าเป็นของเราได้
บางคนคิดว่าจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ขณะนั้นเป็นเราจริงๆ ที่กำลังคิด และเมื่อได้รับผลจากความคิดที่จะกระทำสิ่งนั้น ก็คิดว่าเป็นเราที่ได้รับผลของสิ่งที่เราคิด
เมื่อมีเราคิด ก็ต้องมีผลของการกระทำของเราด้วย แต่ถ้ารู้ว่าไม่ใช่เราที่คิด คิดเป็นชั่วขณะหนึ่ง เห็นเป็นอีกขณะหนึ่ง เพราะฉะนั้น ในขณะที่เห็นจะเป็นผลของขณะที่คิดได้ไหม ถ้าสติปัฏฐานเกิดจริงๆ จะรู้ได้ว่าไม่ใช่ เพราะขณะที่เห็น ขณะที่ ได้ยิน ต้องเป็นวิบาก
ถ. จะแนะนำผู้ที่ไม่สนใจธรรมให้สนใจ มีวิธีอย่างไร เริ่มอย่างไร
สุ. จะมีผู้ใดตอบบ้างไหม ที่ได้ผลแล้ว แต่เรื่องของธรรมเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะเรื่องของปรมัตถธรรม บางท่านเข้าใจว่า ธรรมที่ควรจะสนใจนั้น ควรจะเป็นในขั้นศีลธรรม ไม่ใช่ธรรมขั้นสูง แต่ความจริงเรื่องของศีล ๕ เป็นเรื่องที่ได้รับฟัง ได้เข้าใจกันมามากแล้ว แต่การที่จะปฏิบัติศีล ๕ ได้ครบถ้วนจริงๆ นั่นเป็นสิ่งที่ยาก ไม่ต้องถึงศีล ๘ ไม่ต้องถึงศีล ๑๐ หรือศีล ๒๒๗ เพียงศีล ๕ ที่จะเป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ดี ที่จะรักษาได้สมบูรณ์ ก็เป็นสิ่งที่แสนยาก
และถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมมากขึ้น ย่อมยากต่อการที่จะเป็นผู้ที่สมบูรณ์ในศีล ๕ เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมขั้นสูงจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น แล้วแต่ว่าท่านผู้ใดจะเห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจพระธรรมยิ่งขึ้น เพื่อที่จะได้น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมได้มากขึ้น จึงสนใจที่จะศึกษา และถ้าจะไปชักชวนให้คนนั้นคนนี้ในครอบครัวมาศึกษา ก็จะได้เพียงบุคคลหนึ่งหรือสองบุคคล แต่ที่จะได้ทั้งครอบครัว เป็นเรื่องที่ไม่มีมากนัก
เพราะฉะนั้น แทนที่จะคิดถึงบุคคลอื่น ถ้าตัวของท่านเองเป็นผู้ที่สนใจศึกษาและประพฤติปฏิบัติธรรม ฟังธรรม ก็จะเป็นโอกาสทำให้คนอื่นที่อยู่ใกล้ชิดได้มีโอกาสค่อยๆ ได้รับฟังด้วย และค่อยๆ สนใจขึ้นได้
ถ. ตามที่ผมได้ทำมา นักเรียนเล็กๆ ป. ๓ ป. ๔ ป. ๕ ป. ๖ มีความสนใจ ผมนำข้อความจากพระไตรปิฎกบ้าง จากอรรถกถาบ้าง พูดไปเล่าไป แทรกหัวข้อธรรมบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ส่วนใหญ่เป็นนิทานในธรรมบท รู้สึกว่าเด็กสนใจและอยากฟังมาก ผมคิดว่าเรื่องการนำพระไตรปิฎกไปเผยแพร่แก่เด็กเล็กๆ คงจะมีหวัง แต่สำหรับผู้ใหญ่ ผมรู้สึกว่ายากมาก เพื่อนผมมีเป็น ๑๐๐ คน ที่จะสนใจธรรมโดยเฉพาะในแนวของท่านอาจารย์ไม่มีเลย แต่เขาสนใจในการเจริญสมาธิ ผมคิดว่าเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ใหญ่ แต่สำหรับเด็กคิดว่า มีความหวัง
สุ. ขออนุโมทนา
ถ. มีผู้กล่าวว่า เมื่อทำบุญควรอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร คำว่า เจ้ากรรมนายเวรในที่นี้หมายถึงอะไร การทำสมาธิเมื่อทำแล้วจะอุทิศส่วนกุศลให้ เจ้ากรรมนายเวรได้ด้วยหรือไม่ อย่างไร
สุ. อยากถามท่านที่อุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวรว่า ท่านมีความเข้าใจเรื่องเจ้ากรรมนายเวรว่าอย่างไร เพราะรู้สึกว่าใช้กันมาก และกลัวกันเหลือเกินว่า ถ้าไม่อุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรจะไม่พ้นจากเคราะห์กรรมต่างๆ
มีท่านผู้ใดเคยทำหรือเคยคิดอย่างนี้บ้างไหม เข้าใจว่าเจ้ากรรมนายเวร คืออย่างไร
เมื่อทำบุญแล้ว ควรที่จะอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่สามารถรู้และอนุโมทนาได้ แต่ เจ้ากรรมและนายเวร ดูเป็นคำคล้องของกรรมเวรกับเจ้านาย ที่ว่ามีเจ้ากรรมนายเวร แต่ตามความเป็นจริง ใครทำให้ท่านปฏิสนธิในชาตินี้ เริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิ อะไรพาให้หรืออะไรทำให้แต่ละบุคคลเกิดในภพนี้ ภูมินี้ เป็นบุคคลนี้ เจ้ากรรมนายเวรหรือเปล่า หรือกรรมของแต่ละท่านเองที่ได้กระทำแล้วกรรมหนึ่งเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในภูมินี้
เพราะฉะนั้น ไม่มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่จะเป็นเจ้ากรรมของท่าน แต่ละท่านมีกรรมเป็นของตน แม้แต่ปฏิสนธิจิตที่เกิดในภูมินี้ ก็เป็นผลของกรรมหนึ่งที่ได้กระทำแล้วในอดีตของท่านเอง ไม่ใช่ว่ามีเจ้ากรรมที่ทำให้ท่านปฏิสนธิ
ข้อความใน อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ธรรมปริยายสูตร ข้อ ๑๙๓
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมปริยายอันเป็นเหตุแห่งความกระเสือกกระสนแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมปริยายอันเป็นเหตุแห่งความกระเสือกกระสนเป็นไฉนดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นของของตน เป็นผู้รับผลของกรรม เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นพวกพ้อง มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กระทำกรรมใดไว้ เป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ฯ
เพราะฉะนั้น ไม่มีใครเป็นเจ้ากรรมนายเวร หรือท่านผู้หนึ่งผู้ใดมีความเข้าใจเรื่องเจ้ากรรมนายเวรว่าอย่างไร มีใครเคยอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรบ้างไหม
ผู้ฟัง เคยกระทำ แต่ไม่มีความรู้เรื่องเจ้ากรรมนายเวร
สุ. ที่อุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร โดยไม่รู้ว่าเจ้ากรรมนายเวรมี หรือเปล่า หรือเป็นใคร หรืออย่างไร
ผู้ฟัง เป็นความเชื่อว่า เราทำอะไรให้ใครเขาไม่พอใจหรือเดือดร้อนอย่างไร ก็แล้วแต่ ก็ขอให้ต่างฝ่ายต่างอโหสิกรรมต่อกัน เป็นความเชื่อว่า ถ้าเราแผ่ส่วนกุศลไป แผ่ความเมตตาไป ย่อมเป็นการกระทำที่ดี อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้ใจสบาย เชื่ออย่างนี้ และทำอย่างนี้ และเชื่อต่อไปโดยไม่ได้ศึกษาว่า พระพุทธเจ้าตรัสไว้ที่ไหนบ้าง อาจจะมีก็ได้ คิดว่าเป็นคติทางพุทธศาสนา
สุ. แต่ไม่เคยเห็นเจ้ากรรมนายเวรใช่ไหม
ผู้ฟัง คุณพ่อคุณแม่ผม ผมถือว่าเป็นเจ้ากรรมนายเวร เพราะท่านมีบุญคุณกับผม ผมก็อุทิศให้พ่อแม่ครูบาอาจารย์
สุ. ถ้าอย่างนั้นในความหมายนี้ คงหมายถึงผู้ที่มีกรรมต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ชื่อว่าเจ้ากรรมนายเวร อย่างนั้นหรือ
ผู้ฟัง ผมไม่ทราบความจริงเป็นอย่างไร หรือความเชื่อของคนอื่นจะเป็นอย่างไร แต่สำหรับผมถือว่า ใครก็แล้วแต่ที่กระทำกรรมต่อกัน เราก็อยากอุทิศความดี
สุ. นั่นเป็นเรื่องของการอุทิศ แต่นี่เป็นความเข้าใจเรื่องเจ้ากรรมนายเวร ไม่ทราบว่าแต่ละท่านมีความคิดเรื่องเจ้ากรรมนายเวรอย่างไร เพราะรู้สึกว่าจะเป็นธรรมเนียมในการที่จะต้องแผ่ส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร
ผู้ฟัง ผมเป็นคนธรรมดาที่ไม่ได้ศึกษา ผมเชื่อว่า ถ้าเราทำความไม่ดีกับใครไว้ ก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่ใครไว้ คิดว่ากรรมนั้นอาจเกิดสนองแก่เราได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ้าเราอโหสิต่อกันเสียก็คงจะดี นี่เป็นความเชื่อ
นอกจากนั้นเคยได้ยินว่า พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า สาเหตุของการเจ็บไข้มีหลายอย่าง มีพยาธิ มีอุตุ มีกรรม และในข้อหนึ่งเรื่องของกรรมที่เคยทำอะไรในชาติก่อน อาจทำให้ท่านผู้นั้นมาทวงบุญทวงคุณ หรือมาทวงกรรมที่เราไปทำเขา สำหรับผมเชื่ออย่างนั้น เวลาทำบุญกุศลก็แผ่ส่วนกุศลไป หรือเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่ลืมที่จะใส่บาตรกรวดน้ำถึงท่านผู้อาจจะเป็นเจ้ากรรมนายเวร ถ้ามีอะไรต่อกันก็ขออโหสิแก่กัน ผมทำอย่างนั้นด้วยความเชื่อ ไม่ทราบว่าถูกต้องตามคติหรือธรรมของพระพุทธเจ้า หรือเปล่า
สุ. ขอให้พิจารณาโดยละเอียดถึงเรื่องการอุทิศส่วนกุศล และการแผ่เมตตา สำหรับการอุทิศส่วนกุศล เมื่อได้กระทำกุศลแล้ว สามารถที่จะอุทิศให้บุคคลใดก็ได้ที่สามารถจะล่วงรู้ เพื่อเขาจะได้เกิดกุศลจิตที่จะอนุโมทนา ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่หรือเป็นผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
เพราะฉะนั้น เรื่องของการอุทิศส่วนกุศลก็เหมือนกับเรื่องการเจริญเมตตา คือ ต้องเป็นผู้มีเมตตา จึงสามารถอุทิศส่วนกุศลในขณะนั้นได้
ถ้าคิดถึงเจ้ากรรมนายเวรที่มองไม่เห็น กับคิดถึงบุคคลหนึ่งบุคคลใดซึ่งท่านกำลังไม่พอใจ แทนที่จะคอยโอกาสที่จะแผ่เมตตาด้วยการอุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวรที่ท่านไม่เห็นหน้าและไม่รู้ว่าเป็นใคร แต่กับคนซึ่งท่านกำลังเห็นและอาจจะ ไม่พอใจ บุคคลนั้นก็คงจะเคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรได้ไหม ลองคิดดู
ซึ่งความจริงแล้ว เจ้ากรรมนายเวรไม่มี ทุกท่านมีกรรมเป็นของตน แต่ถ้า คิดถึงกรรมที่ได้เคยกระทำต่อบุคคลอื่น และเรียกบุคคลที่ท่านกระทำนั้นว่า เป็นเจ้ากรรมนายเวรของท่าน และใคร่ที่จะให้เขามีความสุข ให้พ้นจากการผูกโกรธ ในขณะนั้น ทำไมไม่ละเว้นโดยการเจริญเมตตากับคนที่ท่านเห็น แทนที่จะไปอุทิศ ส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรที่ท่านมองไม่เห็น นี่เป็นสิ่งที่ควรจะพิจารณา
สำหรับการแผ่เมตตา แผ่ได้สำหรับบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น คนที่ล่วงลับไปแล้ว การแผ่หรือเจริญเมตตาไม่มีประโยชน์ ไม่เกิดผล เพราะบุคคลนั้นสูญสิ้นสภาพของการเป็นบุคคลที่เคยเกี่ยวข้อง เคยมีความสัมพันธ์ มีเรื่องราวที่เคยเป็นที่ ชอบพอหรือเป็นที่ชังต่อกัน เพราะฉะนั้น การที่สามารถจะมีเมตตาแม้กับบุคคลที่ ไม่เป็นที่รักได้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เรียกได้ว่าท่านเป็นผู้ที่อบรมเจริญเมตตาจนมีกำลังของเมตตา สามารถที่จะแผ่ให้แม้บุคคลซึ่งไม่เป็นที่รัก ก็แผ่ได้
ถ้าสูญสิ้นความเป็นบุคคลนั้นแล้ว ท่านไปแผ่เมตตาให้ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ในเมื่อท่านย่อมรู้อยู่แก่ใจว่า ไม่มีบุคคลนั้นอีกต่อไปแล้ว ฉันใด เรื่องของเจ้ากรรม นายเวรก็ฉันนั้น ในเมื่อกรรมก็ได้กระทำไปแล้ว และกรรมนั้นก็เป็นของท่านเอง และบุคคลที่ท่านกระทำกรรมด้วยในชาติไหนๆ ก็ตาม ในปัจจุบันชาตินี้จะเป็นใคร ถ้ากล่าวลอยๆ ว่า เจ้ากรรมนายเวร โดยไม่รู้ว่าเป็นใคร ก็เหมือนกับเป็นโมฆะ เพราะ ไม่รู้ว่าเป็นใครที่ไหน
แต่ถ้าระลึกถึงว่า ควรจะมีเมตตา และควรอุทิศส่วนกุศลให้บุคคลทั้งหลายที่สามารถจะล่วงรู้ได้ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใคร ท่านก็สามารถที่จะแผ่เมตตาหรืออุทิศ ส่วนกุศลให้แม้คนที่ไม่เป็นที่รัก ย่อมจะดีกว่าการที่จะอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร โดยที่ไม่ทราบว่า ในชาติไหนท่านได้ทำกรรมอะไรกับบุคคลใดจนกระทั่งท่านเรียกบุคคลนั้นว่าเป็นเจ้ากรรมนายเวรของท่าน เพราะกรรมในชาติก่อนๆ ก็ยังนึก ไม่ออก ไม่สามารถจะล่วงรู้ว่าในชาติก่อนๆ ได้ทำกรรมอะไรจึงจะได้มีเจ้ากรรมนายเวร และเจ้ากรรมนายเวรที่ว่า เป็นเจ้ากรรมนายเวรในชาติไหนก็ไม่รู้ และถ้าเป็นในชาตินี้ ใครเป็นเจ้ากรรมนายเวรของท่านบ้าง และเจ้ากรรมนายเวรที่ท่านได้กระทำกรรมกับบุคคลนั้น ยังมีชีวิตอยู่หรือว่าล่วงลับไปแล้ว ถ้าล่วงลับไปแล้ว อุทิศส่วนกุศลให้บุคคลนั้นได้ แต่ไม่ใช่โดยฐานะเป็นเจ้ากรรมนายเวรลอยๆ โดยไม่รู้ว่าเป็นใคร และเป็น เจ้ากรรมนายเวรในชาติไหน
เพราะฉะนั้น เรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเหตุผลจริงๆ เพราะถ้าไม่พิจารณาเหตุผลก็อาจจะกระทำไปโดยที่ไม่เข้าใจว่า เป็นกุศลได้จริงๆ ขั้นไหน เพียงการกล่าวว่า อุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร แต่ก็ไม่รู้ว่าเจ้ากรรมนายเวรเป็นใคร
โดยมากมักจะกลัวเจ้ากรรมนายเวรว่า เจ้ากรรมนายเวรจะทำให้ชีวิตของท่านลำบากเดือดร้อน แทนที่จะระลึกว่า กรรมที่ท่านกระทำเพราะกิเลส เพราะอกุศลของท่าน เมื่อท่านยังมีอกุศลกรรม ยังมีกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้ทำอกุศลกรรม อกุศลกรรมก็ย่อมเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จึงควรระวังเรื่องของกิเลส และเรื่องของอกุศลกรรม มากกว่ากลัวการที่จะไม่อุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวร
ถ. ผู้ที่ผูกพยาบาทกัน ไม่ถือว่าเป็นเจ้ากรรมนายเวรกันหรือ
สุ. โดยสถานไหน
ถ. มีในธรรมบทเรื่องนางยักษิณี เป็นการผูกเวรกันมาหลายชาติ
สุ. เมื่อผูกเวรกันแล้ว ทางที่จะหมดเวรนั้นทำอย่างไร
ถ. ที่จะหมดเวร เรื่องมีว่า ตอนสุดท้ายนางยักษิณีจะไปจับลูกของผู้หญิงคนที่ผูกเวรเป็นอาหาร ผู้หญิงคนนั้นก็วิ่งเข้าไปในวัด เอาลูกไปวางที่พระบาทของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เรียกไปและพูดจนสองคนเลิกผูกเวรกัน
สุ. เพราะฉะนั้น ที่จะหมดเวรกัน คือ กระทำอย่างไร
ถ. คงเป็นเพราะกุศลจิตที่เกิดขึ้น
สุ. ใช่ คือ ไม่จองเวร ไม่โกรธกันต่อไปขณะใด ขณะนั้นก็หมดเวรต่อกัน คือ กุศลจิตเกิดทั้งสองฝ่าย
ถ. ถ้าอีกฝ่ายทำบุญ และมีเจตนาดีที่จะให้อีกฝ่ายหนึ่งรับผลของบุญที่ตนกระทำไปด้วย อีกฝ่ายหนึ่งอาจจะเลิกคิดพยาบาท เป็นไปได้ไหม
สุ. โดยมากสำหรับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อทำกุศลแล้ว อยากให้เขาเกิดกุศล เราก็บอกให้เขาล่วงรู้ในกุศลนั้น เพื่อที่เขาจะได้อนุโมทนา แต่ถ้าพูดถึงเรื่องเจ้ากรรมนายเวรจะทำอย่างไร เวลาที่เราทำกุศลแล้ว
ถ. คนที่โกรธกัน ถ้าเราอุทิศส่วนกุศลให้ บอกว่าเราได้ทำบุญไปแล้ว ขอให้เขาได้รับส่วนบุญด้วย
สุ. อุทิศอย่างไร ตอนไหน ยังมีชีวิตอยู่ หรือล่วงลับไปแล้ว
ถ. ยังมีชีวิตอยู่
สุ. ยังมีชีวิตอยู่ เขาจะล่วงรู้ได้อย่างไร วิธีที่จะรู้
ถ. ต้องบอก ฝากคนไปบอก หรือส่งจดหมายไปบอก
สุ. เพราะฉะนั้น ก็บอกให้เขารู้ เพื่อเขาจะได้อนุโมทนา แต่ไม่ใช่แบบที่ว่าเป็นเจ้ากรรมนายเวรตั้งแต่ครั้งไหนก็ไม่รู้ กรรมอะไรก็ไม่รู้ และยังไปกลัวอีกว่า ที่อุทิศส่วนกุศลให้เพื่อเขาจะไม่มาทำให้เราเดือดร้อน ดูเหมือนกับว่าเขาสามารถที่จะ ดลบันดาลได้ ทั้งๆ ที่เราเป็นผู้กระทำกรรม เพราะฉะนั้น เรามีกรรมเป็นของเราเอง ไม่ใช่คนอื่นจะสามารถกระทำกรรมให้ได้
ถ. ก็คิดว่าเป็นอย่างนั้น
สุ. เพราะฉะนั้น ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็อย่าผูกโกรธ และไม่ต้องไปคิดถึงกรรมในอดีตที่ผ่านมาแล้ว ไม่รู้ว่ากรรมอะไร เจ้ากรรมนายเวรอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ถ้าไม่ชอบใครก็คิดเสียว่า คนนั้นเป็นเจ้ากรรมนายเวรอย่างที่เราเคยคิดก็แล้วกัน จะได้ไม่โกรธเขา แทนที่จะต้องไปนั่งอุทิศส่วนกุศลให้ ก็เกิดเมตตาทันทีในบุคคลนั้น
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๙ ตอนที่ ๑๒๘๑ – ๑๒๙๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1261
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1262
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1263
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1264
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1265
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1266
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1267
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1268
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1269
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1270
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1271
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1272
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1273
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1274
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1275
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1276
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1277
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1278
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1279
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1280
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1281
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1282
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1283
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1284
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1285
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1286
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1287
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1288
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1289
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1290
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1291
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1292
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1293
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1294
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1295
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1296
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1297
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1298
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1299
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1300
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1301
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1302
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1303
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1304
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1305
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1306
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1307
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1308
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1309
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1310
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1311
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1312
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1313
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1314
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1315
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1316
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1317
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1318
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1319
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1320