แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1286
ครั้งที่ ๑๒๘๖
สาระสำคัญ
เรื่องเจ้ากรรมนายเวร
สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นของของตน
ธรรมปริยายอันเป็นเหตุแห่งความกระเสือกกระสน
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗
ถ. เรื่องการแผ่เมตตา มีคนเป็นจำนวนมาก ไม่ใช่แผ่เฉพาะญาติมิตรเท่านั้น แต่แผ่ไปให้โอปปาติกะทั้งหลายด้วย
สุ. ที่สามารถล่วงรู้ แต่ไม่ต้องคิดว่าโอปปาติกะนั้นเป็นเจ้ากรรมนายเวร คือ อยากให้เข้าใจคำว่าเจ้ากรรมนายเวรให้ถูกต้องว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของตนเอง ถ้าได้กระทำกรรมกับใครไว้และอยากให้หมดกรรมนั้น ก็เกิดกุศลจิตแทนการผูกโกรธ
ถ. ข้อความในธรรมบท คือ กุลสตรีที่ในอดีตชาติเคยเป็นเมียหลวง เมียน้อย เมียหลวงได้ทำให้เมียน้อยแท้งลูกถึง ๒ ครั้ง และครั้งที่ ๓ ตาย เมื่อเมียน้อยตายไป จะเป็นเจ้ากรรมนายเวรของเมียหลวงหรือเปล่า
สุ. ใช้คำว่า เจ้ากรรมนายเวร หมายความว่าอย่างไร
ถ. เมื่อเมียน้อยตาย ก็ผูกอาฆาตว่า เกิดมาในชาติใดๆ จะกินลูกของเมียหลวง
สุ. และเป็นเจ้ากรรมนายเวรอย่างไร
ถ. จึงได้ถามอาจารย์ว่า เป็นหรือเปล่า
สุ. เป็นความผูกโกรธ ทุกท่านในขณะนี้อาจจะมีภัย หรืออาจจะมีศัตรูจากบุคคลหนึ่งบุคคลใดในชาติปัจจุบันนี้ จะถือว่าเคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรกันมาในอดีต หรือจะผูกโกรธกันในปัจจุบันชาติก็แล้วแต่ แต่บุคคลนั้นไม่สามารถจะทำอันตรายกับบุคคลใดได้ ถ้าไม่ใช่เป็นเพราะกรรมของบุคคลนั้นเอง
ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีบุญกุศลที่สั่งสมมาดี พร้อมทั้งคติสมบัติ กาลสมบัติ อุปธิสมบัติ ปโยคสมบัติ บุคคลอื่นแม้ว่าจะโกรธหรือผูกโกรธอย่างไรก็ตาม ย่อมไม่สามารถจะทำอันตรายได้ เพราะแต่ละท่านมีกรรมเป็นของตน เมื่อกุศลกรรมเป็นเหตุ ก็ทำให้กุศลวิบากเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่บุคคลอื่นจะกระทำภัยใดๆ ให้ทั้งสิ้น
บุคคลที่โกรธท่าน ก็อาจจะยังโกรธ จากวันเป็นเดือน เป็นปี จากชาตินี้ไปถึงชาติหน้าก็ได้ เป็นเรื่องของบุคคลที่ผูกโกรธเอง แต่ไม่ใช่ว่าบุคคลที่ผูกโกรธจะเป็น เจ้ากรรมที่สามารถจะดลบันดาลอะไรให้ได้ และถ้าอกุศลกรรมของท่านพร้อมที่จะให้ผลเป็นอกุศลวิบากเมื่อไร อกุศลวิบากนั้นย่อมเกิดขึ้น เป็นผลของอกุศลกรรมของ ท่านเอง
ถ. เมื่อเมียน้อยผูกโกรธ ผูกอาฆาตแล้ว ในชาติต่อไปเกิดเป็นแมว ในบ้านนั้น ส่วนเมียหลวงก็เกิดเป็นไก่ในบ้านนั้นเหมือนกัน เมื่อไก่ออกไข่ แมวก็กิน ไข่ไก่ทุกที เพราะฉะนั้น เป็นกรรมของไก่ หรือเป็นการกระทำของแมว
สุ. ถ้าไม่มีกรรมเป็นตนเอง บุคคลอื่นจะกระทำอันตรายได้ไหม
ถ. เป็นการกระทำของแมว ไม่ใช่การกระทำของไก่
สุ. ถ้าบุคคลนั้นไม่มีกรรมเป็นของตัว แมวนั้นจะกระทำได้ไหม
ถ. เป็นการกระทำกรรมในอดีตชาติที่เป็นเมียหลวง ที่ให้ยาเขากินจนแท้ง ใช่กรรมนั้นหรือไม่
สุ. เรื่องของกรรม นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บุคคลอื่น ไม่สามารถจะพยากรณ์ได้ ถ้าใครกล้าพยากรณ์เรื่องกรรมว่า ขณะนี้ที่ท่านผู้หนึ่งผู้ใดกำลังได้รับผลของกรรมหนึ่งกรรมใดเป็นเพราะในชาตินั้นๆ ได้กระทำกรรมนี้ เป็นบุคคลนั้น ก็ต้องเป็นที่น่าประหลาดอัศจรรย์ว่า บุคคลนั้นสามารถจะล่วงรู้ได้อย่างไร ในเมื่อไม่ใช่ทศพลญาณอย่างพระญาณของผู้มีพระภาค เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่บุคคลอื่นสามารถรู้ได้ แต่ข้อสำคัญพระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมปริยายอันเป็นเหตุแห่งความกระเสือกกระสนเป็นไฉนดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นของของตน เป็นผู้รับผลของกรรม เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นพวกพ้อง มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กระทำกรรมใดไว้ เป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
นี่คือกรรมของตัวเอง เพราะฉะนั้น อย่าเข้าใจผิด คิดว่าบุคคลอื่นเป็นเจ้ากรรมนายเวรที่สามารถทำให้ท่านได้รับความทุกข์ต่างๆ แต่เป็นเพราะกรรมของท่านเองต่างหากที่เป็นเหตุ
ผู้ฟัง ผมเกรงว่าจะเป็นเรื่องของถ้อยคำหรือภาษาเท่านั้น แต่ความเข้าใจตรงกัน คือ ที่ท่านอาจารย์เรียกว่า เป็นกรรมของเรา ไม่เรียกว่า เจ้ากรรมนายเวร แต่ที่เชื่อๆ กัน ก็คงจะเชื่อแบบเดียวกันว่า เป็นกรรมของเราเอง เราไปฆ่าเขา ชาติต่อไปเขาก็มาฆ่าเรา แต่ทางภาษาเราใช้ว่า เป็นเจ้ากรรมนายเวร คือ เราไปกระทำใครเขาไว้ ไม่ได้หมายความว่าเป็นกรรมมาจากคนอื่น เป็นเพราะกรรมของเราเอง รวมทั้งพระโมคคัลลาตอนสุดท้ายก็สิ้นชีวิตเพราะกรรมของท่านเอง
สุ. ทุกท่านเป็นผู้ที่มีกรรมของตนเอง ในปัจจุบันชาติจำได้ไหมว่าได้ทำกรรมอะไรไว้บ้าง เป็นเจ้ากรรมนายเวรของใครบ้าง จำได้ไหม
ผู้ฟัง บางทีก็จำได้ ไปทำใครให้เขาเจ็บช้ำน้ำใจ ก็ขออโหสิเขาไป
สุ. ถ้าคนนั้นสิ้นชีวิตไปเกิดเป็นอีกบุคคลหนึ่ง ยังจะถือว่าเป็นเจ้ากรรม นายเวรของคนเก่าอยู่หรือเปล่า
ผู้ฟัง รู้ไม่ได้
สุ. แต่ละคนไม่ได้มีกรรมเดียว ได้กระทำกรรมกันมาก มีการฆ่าสัตว์ นี่คือกระทำกรรม ท่านคิดว่าสัตว์นั้นเป็นเจ้ากรรมนายเวรของท่านหรือเปล่า และสัตว์นั้นจะจำได้ไหมว่าเคยถูกท่านฆ่า เช่น ไก่ตัวหนึ่งตาย เกิดใหม่เป็นมนุษย์ สัตว์ตัวนั้นยังจะสามารถจำได้ไหมว่า เขาเป็นเจ้ากรรมนายเวรของท่าน
ผู้ฟัง จำไม่ได้แน่นอน
สุ. ก็จำกันไม่ได้ทั้งนั้น คือ คนที่กระทำกรรมก็จำไม่ได้ว่าได้เคยกระทำกรรมกับบุคคลนี้ เพราะตัวเองก็ไปเกิดใหม่ เพราะฉะนั้น ก็ลืมไปแล้วว่าชาติก่อนได้เคยกระทำกรรมอะไรไว้กับใคร และเป็นเจ้ากรรมนายเวรของใครก็จำไม่ได้อีก เพราะจำเรื่องของชาติก่อนไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น เรื่องเจ้ากรรมนายเวร เป็นเรื่องความคิด ต่างคนต่างก็เป็นเจ้ากรรมนายเวรกันทั้งนั้น ถ้าโดยลักษณะนั้น
ผู้ฟัง เราไม่สามารถจะรู้ได้เพราะไม่มีญาณหยั่งถึง แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงทราบ
สุ. อย่างเช่น ไก่ที่ถูกฆ่าไป ๑ ตัว ไก่ตัวนั้นซึ่งไปเกิดใหม่ก็ไม่รู้ว่าเป็น เจ้ากรรมนายเวรของใครในชาติก่อน แม้เราเองในชาตินี้ ก็ไม่รู้ว่าเราเคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรของใครในชาติก่อน เพราะฉะนั้น ใครที่กำลังอุทิศส่วนกุศลให้เรา ซึ่งเราอาจจะเคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรของเขาในชาติก่อน เราก็ไม่รู้อีก เพราะชาตินี้เราจำชาติก่อนไม่ได้เลย
ชาติก่อนก็เหมือนกับชาตินี้ คือ เราได้ทำกรรมเวรไว้ เราเป็นเจ้ากรรมนายเวรของเขา เราก็ยังจำไม่ได้ เขาเป็นเจ้ากรรมนายเวรของเรา เขาเกิดใหม่เขาก็จำไม่ได้อีก ต่างคนต่างก็จำกรรมกันไม่ได้ทั้งนั้น และจะเป็นเจ้ากรรมนายเวรกันได้อย่างไร
ผู้ฟัง อย่างที่ผมกราบเรียนแล้วว่า เป็นเรื่องของภาษา ตามความเข้าใจของกระผม เราจำไม่ได้หรอกว่าเราไปทำอะไรใครไว้ แต่เราเชื่อว่าเราคงเคยไปทำใครไว้ เดี๋ยวนี้เรามีจิตที่คิดว่าบริสุทธิ์ คิดจะแผ่ส่วนกุศลให้ เราก็เรียกว่า เจ้ากรรมนายเวร
สุ. ขอประทานโทษ ท่านที่นั่งอยู่ในห้องนี้เคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรของท่านผู้ถามบ้างไหม
ผู้ฟัง ตอบแทนได้ว่า ไม่มีใครรู้ใครทั้งสิ้น
สุ. แต่อุทิศส่วนกุศลให้ทุกวัน เขาจะทราบไหมว่าท่านอุทิศส่วนกุศลให้ เขาก็ไม่รู้ ขณะที่อยู่ในชาตินี้ พบปะใคร ก็ไม่รู้ว่าเคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรต่อกันหรือไม่ เพราะฉะนั้น แทนที่จะนึกว่าเคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรหรือไม่ หรือแทนที่จะมีเวรโดยการผูกโกรธ ก็เป็นผู้ที่มีเมตตาต่อกันทันที จึงหมดเวรได้
ไม่ใช่ว่าต้องไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรโดยที่ไม่รู้ ท่านที่กำลังนั่งอยู่ในที่นี้จะเป็นกี่ท่านก็ตาม อาจจะเป็นเจ้ากรรมนายเวรก็ได้ ทั้งๆ ที่อุทิศส่วน กุศลให้ ก็ยังไม่รู้ว่ามีใครอุทิศส่วนกุศลให้
ถ. ถ้ามีคนอิจฉาริษยา เราจะทำอย่างไรให้เขาเข้าใจว่า สิ่งที่เขาคิดนั้นผิด คือ ถ้าเราทำบุญทำกุศลและไปบอกเขา ให้เขาอนุโมทนาด้วย และใจเราก็คิดว่า ที่เขามีจิตอิจฉาริษยา ต่อไปอย่าได้มีเลย อะไรอย่างนี้ มีวิธีใดที่เราจะบอกเขาได้
สุ. รู้ได้อย่างไรว่า เขาอิจฉาริษยา
ถ. จากเหตุการณ์ประมวลมาหลายๆ อย่าง
สุ. ใครจะแก้ใจของคนอื่นได้ ถ้าไม่ใช่เขาเอง
ถ. ใช่ สมมติเราทำบุญ และเราจะให้เขาอนุโมทนาด้วย เราจะบอกเขาอย่างไร
สุ. ข้อสำคัญที่สุด คือ ผู้ที่มีอกุศลจิตเป็นผู้ที่รู้ตัวเองว่ามีอกุศลจิตหรือเปล่า ข้อสำคัญที่สุดของทุกคน ไม่ว่าใครทั้งนั้นที่กำลังมีอกุศลจิต รู้ตัวเองไหมว่า ตนเองกำลังมีอกุศลจิต หรือคนอื่นทั้งนั้นที่อิจฉาริษยา นี่เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณา คือ แทนที่จะพิจารณาว่าคนอื่นริษยา กลับพิจารณาจิตของตนเองจะดีกว่าไหมว่า จิตของเรา ในขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล
ถ. ต้องเป็นอกุศลแน่
สุ. เพราะฉะนั้น แทนที่จะมุ่งหวังไปแก้ไขคนอื่น ขอให้ทุกคนพิจารณาจิตของตนเอง ถ้าผู้ใดเป็นผู้ฉลาด ผู้นั้นย่อมแก้ไขจิตของตนเองด้วยการพิจารณาจิตของตนเองว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล
บางคนมุ่งคิดจะแก้ไขบุคคลอื่นที่ริษยา แต่ความจริงควรพิจารณาจิตของตนเองก่อนว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล แน่ใจหรือว่าเขาริษยา หรือว่าเราเองเป็นอกุศลจิต
ถ. ต้องมีเหตุผลที่ว่าใครเขาหวังดี หรือหวังไม่ดีกับเรา และที่จะให้เลิกแล้วต่อกันโดยที่เราไปทำบุญทำกุศลมา เราก็จะให้เขาอนุโมทนาด้วย เพื่อให้จิตเขาเป็นกุศลขึ้นมาบ้าง
สุ. ยาก ผู้ที่มีอกุศลแล้วไม่รู้ตัว ไม่มีใครสามารถที่จะแก้ไขได้ มีทางเดียวที่จะแก้ไขได้ คือ ให้ผู้ที่กำลังมีอกุศลจิตนั้นรู้สึกตัวว่ากำลังมีอกุศลจิต และเป็นเรื่องของบุคคลนั้นเอง ซึ่งเมื่อรู้ตัวว่ามีอกุศลจิตแล้ว มีความต้องการที่จะแก้อกุศลจิตนั้นให้บรรเทาละคลายลงไปหรือเปล่า แต่ต้องเป็นเรื่องของผู้ที่รู้ว่าตนเองมีอกุศลจิต
คนที่อิจฉาริษยาใคร ต้องรู้ตัวเองว่าในขณะนั้นเป็นผู้ที่ริษยา เป็นผู้ที่กำลังมีอกุศลจิตหรือเปล่า ถ้าไม่รู้ตัว ไม่มีทางที่จะแก้ไขได้เลย เพราะฉะนั้น ทางเดียวที่จะแก้ไข คือ บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องสามารถที่จะทำให้บุคคลนั้นรู้ได้ว่าตัวเองกำลังมีอกุศลจิต กำลังริษยา แต่ถ้าตราบใดที่ยังไม่รู้ตัว ก็ไม่มีทางที่จะแก้ไขได้
เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับว่า ผู้ใดสามารถทำให้ผู้ที่กำลังมีอกุศลจิตอยู่รู้สึกตัวว่าบุคคลนั้นกำลังมีอกุศลจิตนั้นๆ อยู่ จึงจะแก้ไขได้
ถ. จะทำวิธีไหน
สุ. แล้วแต่ความสามารถ แล้วแต่โอกาส แล้วแต่บุคคลที่จะทำให้คนอื่นเห็นจริงๆ ว่ากำลังมีอกุศล เพราะโดยมากเป็นคนอื่นทั้งนั้นที่มีอกุศล ใช่ไหม นอกจากตัวเอง
ถ. ตัวเองก็มี
สุ. เพราะฉะนั้น ต้องรู้ตัวเองว่ามีอกุศลขณะไหน และเป็นอกุศลประเภทใด เมื่อไม่ต้องการอกุศลประเภทนั้น ขณะนั้นก็จะได้เห็นว่า ถ้าสะสมอกุศลนั้นต่อไปจะทำให้มีกำลังขึ้น สามารถที่จะกระทำทุกอย่างได้
ถ. ถ้าเราให้เขาอนุโมทนากับกุศลของเรา ที่เราทำมาแล้ว เราจะบอกเขาด้วยวิธีไหนดี
สุ. ทำไมอยากจะให้เขาอนุโมทนา เพียงแค่ให้เขาไม่ริษยาก่อน เขาก็จะอนุโมทนาได้ แต่ตราบใดเขายังริษยา เขาจะอนุโมทนาได้อย่างไร
ถ. ไม่มีทางใช่ไหม แบบนี้
สุ. ต้องให้รู้ตัวว่า เป็นผู้ที่กำลังริษยา
ถ. เรื่องเมตตามีขีดจำกัดเหมือนกัน ถ้าเราเมตตาเขาอยู่เรื่อยๆ และผลของความเมตตาก็ไม่ได้ปรากฏอะไรออกมาเลย คือ เราดีต่อเขามานาน แต่ความไม่ดีของเขาไม่ได้ลดน้อยลงเลย เมตตาเราก็หมดได้ ใช่ไหม
สุ. เรื่องของเมตตา เป็นเรื่องซึ่งควรจะอบรม และเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะจึงจะสามารถรู้ขณะจิตที่เป็นเมตตาได้ว่า ขณะใดที่เป็นโทสะ ขณะนั้นไม่ใช่เมตตา ขณะใดที่เป็นเมตตา ขณะนั้นจะไม่มีโทสะ
ถ. เวลามีเมตตา ก็มีความนึกคิดที่เหมือนกับจะแฝงความต้องการผลตอบแทนอะไรอย่างนี้ เช่น เราเมตตาเขา แต่เขาไม่เมตตาเรา ความเมตตานั้นก็จะลดน้อยลงไปทุกทีกับบุคคลนั้น
สุ. แล้วแต่เรื่อง แล้วแต่เหตุการณ์ แล้วแต่เหตุปัจจัย สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาได้
ถ. การเจริญเมตตากับบุคคลที่เห็นๆ กันอยู่ ไม่ทราบว่าจะเจริญกับเขาได้มากแค่ไหน ขอคำแนะนำด้วย
สุ. ต้องเป็นผู้ที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ จึงจะรู้ขณะจิตว่า ขณะนั้นเป็นมิตร หรือว่ากำลังมีโทสะ ถ้าขณะใดที่มีโทสะ ขณะนั้นไม่ใช่เมตตา เพราะ สภาพธรรมทั้งสองเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน เมตตากับโทสะ
ถ. การทำบุญอุทิศส่วนกุศลที่อาจารย์กล่าวว่า เราไม่รู้ว่าคนนั้นเป็น เจ้ากรรมนายเวรของเราหรือไม่ อย่างบิดามารดาที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว บุตรหลานทำบุญอุทิศส่วนกุศลหรือกรวดน้ำไปให้ ก็ไม่ทราบว่าท่านจะได้รับหรือไม่ ถูกไหม
สุ. ถูก
ถ. เพราะฉะนั้น คนที่ทำก็เป็นโมฆะ
สุ. ไม่เป็น เพราะถ้าท่านอยู่ในฐานะที่จะรับการอุทิศส่วนกุศลได้ ท่านก็อนุโมทนาได้ เพราะฉะนั้น บุตรหลานเมื่อระลึกถึงพระคุณจึงได้กระทำกุศลและอุทิศส่วนกุศล เมื่อท่านอยู่ในฐานะที่จะล่วงรู้และอนุโมทนาได้ ท่านก็ได้รับส่วนกุศล แต่ ถ้าไม่อยู่ในฐานะที่จะอนุโมทนาได้ เช่น เกิดในนรก กุศลก็เป็นของผู้ที่ทำกุศลนั้น เพียงฝ่ายเดียว
ถ. ทางที่ดี มนสิการถึงบุญคุณของท่านดีกว่าไหม
สุ. ทุกอย่างที่จะเป็นบุญ ที่จะอุทิศให้ ก็กระทำ
ถ. ถ้าท่านอนุโมทนาได้ เราก็ได้บุญ ๒ ต่อ
สุ. หมายความว่า ผู้ที่อุทิศส่วนกุศล ก็เป็นกุศลกรรมของบุคคลนั้น และ ผู้ที่ล่วงรู้และอนุโมทนา ก็เป็นกุศลกรรมของผู้ที่อนุโมทนาเอง
อย่าลืมว่า ถ้าจะคิดถึงเจ้ากรรมนายเวร ก็ที่กำลังมองเห็นอยู่นี่ ก็ไม่ทราบว่าเคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรกันในชาติไหน ถ้าคิดว่าในสังสารวัฏฏ์อาจจะเคยเป็นใน ชาติหนึ่งชาติใด ก็มีเมตตาต่อผู้ที่กำลังพบกำลังเห็นทันที แทนที่จะรอโอกาสว่า ไปทำบุญและอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน และ มองไม่เห็น
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๙ ตอนที่ ๑๒๘๑ – ๑๒๙๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1261
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1262
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1263
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1264
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1265
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1266
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1267
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1268
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1269
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1270
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1271
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1272
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1273
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1274
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1275
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1276
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1277
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1278
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1279
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1280
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1281
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1282
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1283
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1284
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1285
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1286
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1287
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1288
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1289
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1290
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1291
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1292
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1293
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1294
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1295
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1296
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1297
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1298
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1299
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1300
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1301
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1302
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1303
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1304
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1305
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1306
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1307
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1308
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1309
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1310
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1311
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1312
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1313
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1314
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1315
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1316
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1317
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1318
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1319
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1320