แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1287
ครั้งที่ ๑๒๘๗
สาระสำคัญ
อส.- เรื่องของอกุศลกรรมบถ และองค์ของอกุศลกรรมบถ
กิเลสและกรรมสะสมสืบต่ออยู่ในจิต
อส. ว่าด้วยมโนกรรมทวาร
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗
สุ. ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งถามเรื่องของอกุศลกรรมบถ ท่านกลัวว่ากรรมที่ท่านได้กระทำไปแล้ว จะครบองค์ของกรรมบถ เพราะถ้าเป็นอกุศลกรรมที่ครบองค์ ย่อมสามารถทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิได้ แต่ถ้าท่านผู้นั้นจะพิจารณาจิตใจของท่านเอง จะทราบว่า ท่านกลัวว่าจะเป็นอกุศลกรรมที่ครบองค์ หรือท่านกลัวการที่จะได้รับผลของกรรมที่ครบองค์
ข้อความที่มีปรากฏในอรรถกถาหรือในพระไตรปิฎก โดยเฉพาะในคัมภีร์ อัฏฐสาลินี ซึ่งเป็นอรรถกถาของ ธรรมสังคณีปกรณ์ ได้แสดงเรื่องของอกุศลกรรมบถ และองค์ของอกุศลกรรมบถไว้โดยละเอียด เพราะฉะนั้น ท่านที่สนใจ ก็ศึกษาได้จากทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถา
จะขอกล่าวถึงเฉพาะข้อความบางตอน ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันที่ท่านผู้ฟังอาจจะลืมพิจารณา เช่น เรื่องของอกุศลกรรมบถ ที่ท่านกลัวว่ากรรมที่ท่านกระทำเป็นกรรมที่จะครบองค์หรือไม่ ดูท่านเป็นห่วงเรื่ององค์ของกรรมว่าครบหรือไม่ครบ เพราะท่านกลัวการรับผลของกรรม มากกว่าที่จะกลัวว่าเป็นกรรม เป็นอย่างนี้หรือเปล่า
ถ้าอกุศลกรรมไม่ให้ผลเป็นอกุศลวิบาก จะไม่กลัวเลย ใช่ไหม จะทำกันได้ ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอกุศลกรรมบถทางกาย หรือทางวาจาก็ตาม เพราะฉะนั้น ที่กลัวจริงๆ คือ กลัวว่าเมื่ออกุศลกรรมบถนั้นครบองค์สามารถที่จะให้ผลทำให้ปฏิสนธิ แต่แม้ไม่ครบองค์ก็สามารถให้ผลในปวัตติกาล คือ เมื่อเกิดแล้วในคติใดคติหนึ่ง อกุศลกรรมหรือกุศลกรรมซึ่งไม่ครบองค์ ก็ยังสามารถเป็นเหตุปัจจัยทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นรับผลของกรรม รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ
ถ้าเป็นทางฝ่ายกุศล ไม่มีใครกลัวผลของกุศลกรรม แต่ถ้าเป็นทางฝ่ายอกุศลกรรม กลัวผลมากกว่ากลัวอกุศลกรรม แต่ที่จริงแล้วควรกลัวแม้กิเลส หรืออกุศลจิตที่ยังไม่ถึงความเป็นอกุศลกรรม เพราะถ้าอกุศลจิตเกิดบ่อยๆ และมีกำลังเพิ่มขึ้น ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้กระทำอกุศลกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดทางกาย หรือ ทางวาจา หรือทางใจ เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้พิจารณาจริงๆ โดยละเอียด ในชีวิตประจำวันว่า อกุศลจิตเกิดมากไหม และเป็นอกุศลกรรมบ้างหรือเปล่า
เริ่มตั้งแต่อกุศลกรรมที่มีกำลังอ่อนอย่างกฏัตตาวาปนกรรม เพราะในวันหนึ่งๆ คงจะไม่มีใครที่จะกระทำอกุศลกรรมขั้นครุกรรม แต่คงจะหลีกเลี่ยงกฏัตตาวาปนกรรมที่เป็นอกุศลกรรมยาก สำหรับผู้ที่มีอกุศลจิตมาก และไม่เห็นภัยของอกุศลจิตว่า ถ้ามีมากและสะสมไปย่อมเป็นปัจจัยทำให้เกิดอกุศลกรรม
สำหรับเรื่องของจิต ที่สำคัญที่สุด คือ กิเลสและกรรมต่างๆ ที่ได้กระทำแล้ว ย่อมสะสมสืบต่ออยู่ในจิต เป็นพื้นฐานของจิต ซึ่งย่อมแล้วแต่ภพหนึ่งชาติหนึ่งจะเกิดในคติใด จะเป็นคติสมบัติหรือคติวิบัติ อุปธิสมบัติหรืออุปธิวิบัติ กาลสมบัติหรือ กาลวิบัติ ปโยคสมบัติหรือปโยควิบัติ เป็นปัจจัยทำให้กิเลสหรืออกุศลซึ่งได้สะสมมาในจิตมีโอกาสจะเกิดมากหรือน้อยตามพื้นฐานของกรรมและวิบากนั้นๆ ที่จะให้ผล
อย่างเช่น ปโยคสมบัติ ความสามารถในกิจการงานต่างๆ ทุกท่านคงจะ อยากเก่ง ไม่ว่าจะกระทำสิ่งใดคงจะไม่มีใครที่อยากทำไม่เป็น หรือทำไม่เก่ง แต่ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการฝีมือ หรือกิจการใดๆ ก็ตาม ย่อมอยากที่จะกระทำได้อย่างดี แต่ก็น่าอัศจรรย์ในการสะสมของจิต ทุกคนมีมือ ๒ ข้าง มีนิ้วข้างละ ๕ นิ้ว มีปากกา มีดินสอ มีพู่กัน แต่ความสามารถในการเขียนรูป ในการวาดรูป ทั้งๆ ที่มี ๕ นิ้ว และมีปากกา มีดินสอ แต่ปโยคสมบัติต่างกัน คือ ความสามารถที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดย่อมเป็นไปตามการสะสมของจิต ซึ่งละเอียดมากเนิ่นนานมาในแสนโกฏิกัปป์ และยังจะมีต่อไปอีก
เพราะฉะนั้น การสะสมของจิต ทำให้ปโยคสมบัติวิจิตรต่างๆ กัน ซึ่งจะเป็นเหตุให้กระทำกรรมที่วิจิตรต่างๆ กันด้วย แม้แต่กิริยาอาการท่าทาง ทุกคนคงอยากเป็นผู้ที่น่ารัก มีเสน่ห์ อ่อนหวาน แต่บางคนก็แข็งทั้งๆ ที่รู้ดีว่า ถ้าเป็นบุคคลที่อ่อนหวาน น่ารัก มีเสน่ห์ เป็นสมบัติอย่างหนึ่งที่จะทำให้เกิดวิบากกรรมต่างๆ ที่เป็นฝ่ายดีได้ เพราะคติก็ดี อุปธิก็ดี กาลก็ดี ปโยคะก็ดี เป็นฐานของวิบากข้างหน้า ที่จะเกิด แต่ก็ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้
ไม่มีใครชอบความแยบยลของอกุศลกรรม ความคิดวิจิตรต่างๆ แต่บางคนก็มีความชาญฉลาดแยบยลที่จะกระทำสิ่งต่างๆ เหล่านั้นได้ นี่เป็นเรื่องการสะสมของกิเลส ซึ่งถ้าไม่เห็นว่าอกุศลเป็นอกุศลและแก้ไขโดยการเจริญกุศลขึ้น ความวิจิตรทางฝ่ายอกุศลก็ย่อมต้องมีมาก เพราะฉะนั้น พิจารณาได้จากชีวิตประจำวันในเรื่อง ของกฏัตตาวาปนกรรม ซึ่งเป็นกรรมอย่างอ่อนๆ ก่อน
ขณะที่ละเมอ และทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด บางคนละเมอทำการงาน อาจจะตักน้ำ เก็บมะม่วง หรือทำอะไรหลายอย่าง ในขณะนั้นเป็นกรรมไหม หรือว่าเป็นอกุศลจิต มีตัวอย่างจริงๆ ไหม ในเรื่องความวิจิตรของจิต ที่จะพิจารณาเรื่องความหนักเบาของกรรม
ซึ่งในขณะที่นอนหลับและละเมอ ไม่เหมือนกับในขณะที่สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ แต่ยังมีการทำสิ่งต่างๆ ได้ เห็น ได้ยิน และมีการเคลื่อนไหวต่างๆ มีการกระทำต่างๆ ถ้าละเมอเดินลงไปรับประทานน้ำ และกลับขึ้นมานอน ขณะนั้นไม่เป็นอกุศลกรรม แต่เป็นอกุศลจิต เป็นโมหเจตสิกซึ่งประกอบด้วยอุทธัจจเจตสิกอย่างมาก ทำให้ขาดความรู้สึกตัว
การละเมอคงจะไม่เกิดกับทุกท่าน แต่ทำไมบางท่านเป็นได้ นี่คือการสะสมอย่างวิจิตรในสังสารวัฏฏ์ บางคนอาจจะละเมอทำทุจริตกรรมได้ไหม ขณะนั้นเป็นกรรมไหม เป็นอกุศลกรรมบถไหม เป็น ถ้าวิกลจริตและกระทำปาณาติบาต เป็นอกุศลกรรมบถไหม นี่เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาแต่ละเรื่องโดยละเอียดว่า อกุศลจิตเป็นอย่างไร อกุศลกรรมบถเป็นอย่างไร และอกุศลจิต อกุศลกรรมที่ขาดสติสัมปชัญญะ อย่างเช่น ขณะที่ละเมอ หรือในขณะที่วิกลจริต กับขณะที่ประกอบด้วยความรู้สึกตัวเต็มที่ ก็เป็นภาวะที่ต่างกัน
อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ ว่าด้วยมโนกรรมทวาร มีข้อความว่า
จริงอยู่ กรรมที่ถึงความหวั่นไหวในกายทวารและวจีทวาร แต่ไม่ถึงกับเป็นกรรมบถก็มี ถึงความฟุ้งในมโนทวารแต่ไม่ถึงกับเป็นกรรมบถก็มี
ข้อความใน อัฏฐสาลินี ยกตัวอย่างคนที่คิดว่าจะไปล่าสัตว์
เตรียมธนู ฟั่นเชือก ลับหอก บริโภคอาหาร นุ่งห่มเสื้อผ้า เพียงเท่านี้ย่อมเป็นอันหวั่นไหวในกายทวาร ผู้นั้นเที่ยวไปในป่าตลอดวัน ไม่ได้อะไรเลยแม้เพียงกระต่ายและตุ่น อกุศลนี้จัดเป็นกายกรรมหรือไม่
แก้ว่า (คือ ตอบว่า) ไม่เป็น
ถามว่า เพราะอะไร
แก้ว่า เพราะไม่ถึงความเป็นกรรมบถ แต่พึงทราบว่าเป็นกายทุจริตอย่างเดียว
สำหรับกายกรรมทางวจีทวารก็โดยอีกนัยหนึ่ง คือ สั่งให้คนอื่นจัดเตรียม เป็นต้น ด้วยวาจา แต่ถ้ายังไม่ได้สัตว์สักตัวหนึ่ง แม้กระต่ายหรือตุ่น ก็ยังไม่ชื่อว่า เป็นกายกรรม เพราะปาณาติบาตนั้นยังไม่สำเร็จ ยังไม่ครบองค์ แต่การกระทำทั้งหมดในขณะนั้นชื่อว่าเป็นกายทุจริต ไม่ใช่กายสุจริต เพราะเป็นการกระทำของอกุศลจิต
เพราะฉะนั้น อกุศลจิตที่ไม่ใช่อกุศลกรรมบถ มี ที่ทำไปด้วยความรู้สึกตัวเต็มที่ ก็มี และที่ทำไปด้วยความไม่รู้สึกตัวก็มี เช่น ในขณะที่ละเมอ บางท่านเป็นผู้ที่ขาดความรู้สึกตัวชั่วระยะหนึ่ง อาจจะออกจากบ้านไปโดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่าเป็นใคร อาจต้องมีการรักษาพยาบาลอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แล้วแต่ว่าจะรู้สึกตัวได้มากน้อยแค่ไหน บางท่านก็รู้สึกตัวเร็วและก็แปลกใจจริงๆ ว่า ไม่สามารถจำอะไรได้เลยว่าได้ทำอะไรบ้าง ซึ่งแสดงไว้ว่าเป็นผลของการดื่มสุรา ทำให้เป็นผู้ที่ขาดสติสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้น ถ้าสะสมการขาดสติสัมปชัญญะมากๆ ย่อมจะทำให้เป็นผู้ที่ขาดความรู้สึกตัว เพราะแต่ละคนก็เป็นผู้ที่มีกรรมที่ได้กระทำไว้แล้วมากจนไม่สามารถทราบได้ว่า วิบากหรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันหนึ่งๆ นั้น จะเป็นวิบากประเภทใด ทางไหน
สำหรับเรื่องความวิจิตรของจิต ขอกล่าวถึงการสะสมของท่านพระสารีบุตร ซึ่งเป็นตัวอย่างของการสะสมทางฝ่ายกุศลธรรม
สารัตถปกาสินี อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สุสิมสูตรที่ ๙ ซึ่งพระสูตรนี้เริ่มด้วยการกล่าวถึงคุณของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
ข้อความมีว่า
พระศาสดามีพระประสงค์ที่จะตรัสคุณของพระเถระ (คือ คุณของท่าน พระสารีบุตร) ก็ธรรมดาว่า คุณนี้ ไม่สมควรกล่าวในสำนักของบุคคลที่ไม่ชอบกัน เพราะว่าคุณที่กล่าวในสำนักของบุคคลที่ไม่ชอบกันนั้น จะกล่าวไม่ทันจบ
ถ้าเป็นบุคคลที่ไม่ชอบกัน เวลาที่ใครกล่าวถึงคุณของคนหนึ่งว่า ภิกษุชื่อโน้น มีศีล คนที่ไม่ชอบก็จะกล่าวว่า ศีลของภิกษุนั้นเป็นอย่างไร ภิกษุนั้นมีศีลอย่างไรหรือ ภิกษุอื่นที่มีศีล ท่านไม่เคยเห็นหรือ
เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ได้ยิน ได้ฟัง ได้สังเกตถึงความวิจิตรของจิตที่สะสมมาที่จะทำให้กายวาจาเป็นไป แม้ในขณะที่ได้ยินได้ฟังเรื่องคุณความดีของใคร ก็จะพิสูจน์ได้ว่า จิตที่กำลังกล่าวอย่างนั้นเป็นจิตประเภทใด ที่เมื่อใครชมคุณความดีของภิกษุ รูปหนึ่ง ก็จะถามว่า ดีอย่างไร และภิกษุอื่นที่มีศีลดีท่านไม่เคยเห็นหรือ เป็นต้น
เมื่อเขากล่าวคุณว่า ภิกษุชื่อโน้นมีปัญญา บุคคลที่ไม่ชอบก็จะกล่าวคำ เป็นต้นว่า ปัญญานั้นเป็นอย่างไร บุคคลอื่นที่มีปัญญานั้น ท่านไม่เคยเห็นหรือ
คือ ยังมีบุคคลอื่นอีกที่มีปัญญา ไม่เคยเห็นคนอื่นๆ ที่มีปัญญาหรือจึงได้กล่าวถึงปัญญาของบุคคลนี้ เป็นต้น
ส่วนท่านพระอานนท์เถระ เป็นผู้ชอบพอของท่านพระสารีบุตรเถระ เมื่อท่านได้ปัจจัยมีจีวรเป็นต้นอันประณีต ก็ถวายแก่ท่านพระสารีบุตร ให้เด็กของอุปัฏฐากของตนบรรพชา ให้ถืออุปัชฌายะในสำนักของท่านพระสารีบุตร แม้ท่านพระสารีบุตรก็กระทำเท่าพระอานนท์เถระอย่างนั้นเหมือนกัน
ถามว่า เพราะเหตุไร เพราะท่านทั้งสองเลื่อมใสในคุณทั้งหลายของกันและกัน
เป็นการกระทำสำหรับบุคคลที่ชื่นชมในคุณความดี โดยที่ท่านพระอานนท์เถระท่านนึกถึงท่านพระสารีบุตรซึ่งเป็นอัครสาวกว่า เหมือนเป็นพี่ชายของพระภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ท่านพระอานนท์ก็ดำริว่า
พี่ชายของพวกเราบำเพ็ญบารมีมาถึงหนึ่งอสงไขยแสนกัป แทงตลอดปัญญา ๑๖ อย่าง ดำรงอยู่ในตำแหน่งพระธรรมเสนาบดี แม่ทัพธรรม เลื่อมใสใน คุณทั้งหลายของท่านพระเถระ จึงชอบใจรักใคร่ท่านพระเถระ
ฝ่ายท่านพระสารีบุตรก็ดำริว่า ท่านพระอานนท์ทำกิจทุกอย่าง มีถวายน้ำบ้วนพระโอษฐ์เป็นต้นที่เราพึงทำแก่พระผู้มีพระภาค อาศัยท่านพระอานนท์ เราจึงได้เข้าสมาบัติตามที่ปรารถนาๆ แล้วเลื่อมใสในคุณทั้งหลายของท่าน
คือ ท่านเห็นประโยชน์ว่า ถ้าไม่มีท่านพระอานนท์ ท่านพระสารีบุตรเองจะต้องกระทำกิจเหล่านั้น แต่เมื่อท่านพระอานนท์เป็นผู้ที่ทำกิจเหล่านั้น ท่านก็มีโอกาสเข้าสมาบัติตามที่ท่านปรารถนา เพราะฉะนั้น ท่านก็ชอบพอในท่านพระอานนท์
เพราะฉะนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคมีพระประสงค์จะตรัสคุณของท่าน พระสารีบุตร พระองค์จึงทรงเริ่มในสำนักของท่านพระอานนท์เถระ ซึ่งจะขอกล่าวถึงข้อความเพียงบางตอนเท่านั้น ที่เป็นการสะสมของท่านพระสารีบุตรข้อหนึ่งที่ว่า
ชื่อว่าหาสปัญญา ก็เพราะพระเถระ ครั้นเป็นดาบสชื่อนารท กระทำความปรารถนาเป็นพระอัครสาวกแทบเบื้องบาทของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า อโนมทัสสี นับตั้งแต่ครั้งนั้นมา ก็เป็นผู้มากด้วยความร่าเริง กระทำการบำเพ็ญศีล เป็นต้น
การทำกุศล บางท่านต้องฝืนเพราะรู้ว่าเป็นกุศล แต่บางท่านทำกุศลด้วยความร่าเริงจริงๆ อย่างท่านพระสารีบุตร นับตั้งแต่ท่าน กระทำความปรารถนาเป็น พระอัครสาวกแทบเบื้องพระบาทของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าอโนมทัสสี นับตั้งแต่ครั้งนั้นมา ก็เป็นผู้มากด้วยความร่าเริง กระทำการบำเพ็ญศีล เป็นต้น แม้แต่ขณะที่บำเพ็ญศีล ยังปีติร่าเริงในขณะที่บำเพ็ญศีลได้ เพราะฉะนั้น ปัญญาของท่านพระสารีบุตรก็เป็นปัญญาที่ร่าเริง
ข้อความต่อไปแสดงถึงปัญญาอื่นๆ แต่จะขอกล่าวถึงเพียงบางประเภท เช่น ชวนปัญญาของท่านพระสารีบุตร ซึ่งยากที่ใครจะเป็นเหมือนท่านพระสารีบุตร ถึงแม้ว่าจะเริ่มบำเพ็ญบารมีเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้ เพราะว่าพระอัครสาวกมีเพียง ๒ ท่านเท่านั้น คือ ท่านผู้เป็นเลิศในทางฤทธิ์ และท่านผู้เป็นเลิศในทางปัญญา เพราะฉะนั้น ปัญญาของท่านพระสารีบุตร นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วไม่มีผู้ใดที่จะเทียบเท่า
ชวนปัญญานั้นเป็นไฉน
ชื่อว่าชวนปัญญา ก็เพราะปัญญาพิจารณาเห็นรูปอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ทั้งไกล ทั้งใกล้ รูปทั้งหมดพิจารณาโดยเป็นของไม่เที่ยง แล่นไปเร็ว
ถ้าจะระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมแต่ละรูป ก็ยากที่จะรู้ลักษณะของรูปที่เกิดดับอย่างรวดเร็วในขณะนี้ แต่สำหรับท่านพระสารีบุตร ไม่ว่าจะเป็นรูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ทั้งไกล ทั้งใกล้ รูปทั้งหมดท่านพิจารณาโดยเป็นของไม่เที่ยงโดยรวดเร็ว
ชื่อว่าชวนปัญญา ก็เพราะปัญญาพิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นทุกข์ แล่นไปเร็ว โดยความเป็นอนัตตา แล่นไปเร็ว
ชื่อว่าชวนปัญญา ก็เพราะพิจารณาเห็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล่นไปเร็ว
นี่เป็นความสามารถที่เกิดขึ้นได้ เมื่อเหตุสมควรแก่ผล
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๙ ตอนที่ ๑๒๘๑ – ๑๒๙๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1261
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1262
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1263
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1264
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1265
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1266
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1267
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1268
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1269
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1270
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1271
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1272
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1273
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1274
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1275
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1276
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1277
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1278
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1279
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1280
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1281
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1282
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1283
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1284
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1285
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1286
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1287
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1288
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1289
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1290
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1291
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1292
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1293
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1294
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1295
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1296
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1297
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1298
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1299
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1300
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1301
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1302
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1303
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1304
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1305
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1306
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1307
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1308
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1309
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1310
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1311
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1312
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1313
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1314
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1315
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1316
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1317
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1318
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1319
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1320