แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1289
ครั้งที่ ๑๒๘๙
สาระสำคัญ
อถ.วิ.อธิบายปฏิจจสมุปปาทะ - จิตของชาติก่อนไม่มาสู่ชาตินี้ และไม่ใช่จิตของชาตินี้
อถ.สค.อัจฉราสูตร - เมื่อจุติแล้วก็ปฏิสนธิทันที (โดยอนันตรปัจจัยและ สมันตรปัจจัย)
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗
ข้อความใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา พระวิภังคปกรณ์ ปฏิจจสมุปปาท วิภังคนิทเทส วรรณนาสุตตันตภาชนีย์ มีว่า
วิญญาณนั้นไม่มีการเคลื่อนไปจากอดีตภพมาอยู่ในภพนี้ ทั้งเว้นเหตุในภพนั้น ก็ไม่ปรากฏในภพนี้
แสดงให้เห็นว่า ไม่มีการกลับย้อนไป หรือไม่ใช่ว่าจิตของชาติก่อนมาสู่ภพนี้หรือชาตินี้ และไม่ใช่ว่าจิตของชาตินี้ แม้ว่าจะเป็นจิตดวงสุดท้ายของชาตินี้ ก็ไม่ใช่เป็นจิตที่จะไปสู่ภพหน้า
เพราะฉะนั้น จุติจิตในภพนี้ ดับในภพนี้ ไม่มีการติดตามไปถึงภพหน้าได้เลย สำหรับภพหน้า คือ ปฏิสนธิจิต วิญญาณนั้นไม่มีการเคลื่อนไปจากอดีตภพมาอยู่ในภพนี้ ทั้งเว้นเหตุในภพนั้นก็ไม่ปรากฏในภพนี้ แสดงให้เห็นว่า เมื่อจุติจิตดับไปแล้ว ที่ปฏิสนธิจะเกิดขึ้นได้นั้น เพราะยังมีกรรม ยังมีสังขาร และยังมีคติวิสัย ถ้าไม่มีกรรม คือ ไม่มีเหตุ ปฏิสนธิจิตเกิดไม่ได้ แต่ปฏิสนธิจิตนั้นไม่ใช่จิตของชาติก่อนมาปฏิสนธิ ในชาตินี้ และสำหรับชาติหน้า ปฏิสนธิจิตก็ไม่ใช่จิตของชาตินี้ไปปฏิสนธิในชาติหน้า แต่เว้นจากเหตุ คือ กรรมของชาติก่อน ปฏิสนธิในชาติหน้าก็มีไม่ได้ แสดงให้เห็นถึงแต่ละขณะที่ล่วงไปๆ และขณะที่ล่วงไปนั้น กลับคืนมาไม่ได้เลย
สำหรับปฏิสนธิจิตซึ่งเกิดต่อจากจุติจิต มีอารมณ์เดียวกับจิตที่ใกล้จะจุติ อุปมาเหมือนเสียงสะท้อน ย่อมไม่เป็นอันเดียวกัน ทั้งไม่ต่างกัน เพราะเนื่องด้วยการสืบต่อ
จะกล่าวว่าเสียงสะท้อนเป็นเสียงเดิมก็ไม่ได้ แต่จะกล่าวว่าต่างกันก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตมีอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จะจุติของชาติก่อน ซึ่ง อุปมาเหมือนเสียงสะท้อน ย่อมไม่เป็นอันเดียวกัน ทั้งไม่ต่างกัน เพราะเนื่องด้วยการสืบต่อ
เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และไม่มีใครสามารถล่วงรู้ได้จริงๆ ว่า เมื่อล่วงลับไปแล้ว บุคคลใดจะไปสู่ภพใด ภูมิใด ขณะนี้เห็นกันอยู่มากหน้าหลายตาในภพนี้ ในภูมินี้ แต่ถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดจากไป ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจะไปอยู่ที่ไหน แต่ในระหว่างที่ยังอยู่ด้วยกันในชาตินี้ ในภูมินี้ ก็ยังเห็นว่ายังมีคนนี้อยู่ ยังมีคนนั้นอยู่ แต่เมื่อจากไป ก็ไม่มีอีกเลย นอกจากมีบุคคลใหม่เกิดขึ้น เพราะกรรมหนึ่งเป็นปัจจัย ทำให้ปฏิสนธิ
สารัตถปกาสินี อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อัจฉราสูตรที่ ๖ มีข้อความที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อจุติแล้วปฏิสนธิทันที โดยอนันตรปัจจัยและ สมนันตรปัจจัย ซึ่งหลังจากจุติจิตดับไปแล้ว จิตอื่นจะเกิดไม่ได้เลยนอกจากปฏิสนธิ
ข้อความมีว่า
ได้ยินว่า เทวบุตรนี้บวชในพระศาสนาของพระศาสดา บำเพ็ญวัตรปฏิบัติอยู่ ปวารณาแล้วในกาลแห่งตน มีพรรษา ๕ ทำมาติกาทั้งสองให้แคล่วคล่องแล้ว ศึกษาแล้วถึงสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ เรียนพระกรรมฐานอันเป็นที่พอใจแล้ว เป็นผู้ประพฤติเบาพร้อมเข้าไปสู่ป่า คิดว่า พระผู้มีพระภาคอนุญาตว่ามัชฌิมยามอันใดเป็นส่วนแห่งการนอน ดังนี้ แม้เมื่อมัชฌิมยามนั้นถึงพร้อมแล้ว เราก็ยังกลัวต่อความประมาท ดังนี้ จึงสละเตียงนอน แล้วพยายามทั้งกลางคืนและกลางวัน ทำกัมมัฏฐานนั่นแหละไว้ในใจ
เป็นผู้ที่บำเพ็ญเพียรมาก แม้ถึงเวลาที่ควรนอนแล้วก็สละการนอน เพราะกลัวว่าจะเป็นผู้ประมาท
ลำดับนั้น ลมทั้งหลายเพียงดังศัสตราเกิดขึ้นในภายในแห่งภิกษุนั้น ทำลายชีวิตเสียแล้ว ภิกษุนั้นได้ทำกาละในเพราะธุระ คือ ความเพียรนั่นแหละ
อนึ่งภิกษุรูปใดรูปหนึ่งจงกรมอยู่ ในเพราะการจงกรมก็ตาม ยืนอยู่เพราะอาศัยส่วนที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวไว้ก็ตาม วางจีวรไว้ที่สุดแห่งที่จงกรมเหนือศีรษะ แล้วนั่งหรือนอนก็ตาม กำลังแสดงธรรมบนธรรมาสน์อันเขาตกแต่งในท่ามกลางแห่งบริษัท ก็ตาม ย่อมกระทำกาละ ภิกษุนั้นทั้งหมดชื่อว่า กระทำกาละในเพราะธุระ คือ ความเพียร แม้ภิกษุนี้ก็ทำกาละแล้วในที่เป็นที่จงกรม เพราะความที่ตนเป็นผู้มีอุปนิสัยน้อย จึงยังมิได้ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะ
แสดงให้เห็นว่า ความตายจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ ไม่ว่าจะกำลังแสดงธรรม หรือว่าเพียงวางจีวรไว้ในที่สุดแห่งที่จงกรมเหนือศีรษะ และนั่งหรือนอนก็ตาม
และถึงจะพากเพียรอย่างนี้ เป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน มีปกติ เจริญสติปัฏฐาน แต่ถึงอย่างนั้น เพราะความที่ตนเป็นผู้มีอุปนิสัยน้อย จึงยังมิได้ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะ ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าใครจะพากเพียร หวังที่จะได้ และพยายาม คิดว่าในชาตินี้คงจะได้ แต่จะต้องเป็นเพราะอุปนิสัย คือ การสะสมสติปัญญามาว่าพร้อมที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมหรือไม่ ถ้ายังไม่พร้อม แม้จะพากเพียรอย่างไร ก็ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เหมือนกับการปลูกต้นไม้ ต้นไม้ชนิดนั้นจะต้องกินเวลาที่จะมีผลมีดอก คนที่ไม่รู้กาลเวลาของต้นไม้นั้น จะเอาน้ำ เอาปุ๋ยใส่สักเท่าไร ก็ไม่สามารถที่จะทำให้มีดอกมีผลได้
ข้อความต่อไปมีว่า
ภิกษุนั้นได้ถือปฏิสนธิในภพดาวดึงส์ ที่ประตูวิมานใหญ่ ราวกับว่าหลับแล้วตื่นขึ้นฉะนั้น อัตภาพของเทพบุตรนั้นมีสามคาวุตเกิดขึ้น เหมือนเสาระเนียดปิดทองในขณะนั้นนั่นแหละ
อาจจะเป็นที่ของท่านผู้หนึ่งผู้ใดในวันหนึ่งวันใด เมื่อไรก็ได้
ภายในวิมาน นางอัปสรประมาณหนึ่งพันเห็นเทพบุตรนั้นแล้วกล่าวว่า เทพบุตรผู้เป็นเจ้าของวิมานมาแล้ว พวกเราจะให้เทพบุตรนั้นพอใจ ดังนี้ จึงถือเอาเครื่องดนตรีมาแวดล้อมแล้ว
เทพบุตรนั้น ย่อมไม่รู้ซึ่งความที่ตนเป็นผู้จุติแล้วก่อน
ทันทีที่จุติแล้วปฏิสนธิ ไม่รู้สึกตัวเลยว่า ท่านจุติแล้วจากภพก่อน
ยังสำคัญว่าตนเป็นบรรพชิตอยู่นั่นแหละ จึงเกิดความละอายเพราะเห็นหญิงทั้งหลายมาเที่ยวถึงที่อยู่ จึงเอาผ้าปิดเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ดุจภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุล เอาผ้าที่วางกองไว้ข้างบนมาทำเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง สำรวมอินทรีย์ทั้งหลายแล้ว ได้ยืนก้มหน้าอยู่
พวกนางอัปสรเหล่านั้นทราบว่า เทพบุตรนี้เป็นเทพบุตรมาแต่สมณะ โดยเห็นการเคลื่อนไหวกายของเทพบุตรนั้น จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าแต่เทพบุตรผู้เป็นเจ้า นี้ชื่อว่าเทวโลก ขณะนี้ไม่ใช่โอกาสที่จะทำสมณธรรม ที่นี้เป็นโอกาสที่จะเสวยสมบัติ ดังนี้
ในสวรรค์ไม่มีเพศบรรพชิต นางอัปสรทั้งหลายจึงกล่าวว่า ที่นี้เป็นโอกาสที่จะเสวยสมบัติ
เทพบุตรนั้นได้ยืนอยู่เหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ นางอัปสรเหล่านั้นคิดว่า เทพบุตรนี้ยังกำหนดไม่ได้ ดังนี้ จึงบรรเลงดนตรีทั้งหลาย เทพบุตรนั้นก็ยังไม่แลดูอยู่นั่นแหละ
เพราะความที่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน และยังไม่รู้ตัวว่าได้จุติแล้ว เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะมีเสียงดนตรี ก็ยังไม่รู้ว่าตนเองจุติจากชาติที่เป็นพระภิกษุแล้ว
ลำดับนั้น เทพธิดาทั้งหลายเหล่านั้นจึงวางกระจกอันให้เห็นกายทั้งหมด ไว้ข้างหน้า เทพบุตรนั้นเห็นเงาในกระจกแล้ว จึงทราบความที่ตนเป็นผู้จุติแล้ว ได้เป็นผู้มีความเดือดร้อนเพราะสมบัติ
ใครจะคิดอย่างนี้บ้างไหม เกิดบนสวรรค์ มีวิมาน แต่เทพบุตรกลับได้รับความเดือดร้อนเพราะสมบัติ เพราะไม่ได้บำเพ็ญสมณธรรมเพื่อต้องการสมบัติในเทวโลก แต่ต้องการที่จะรู้แจ้งพระนิพพาน ต้องการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะฉะนั้น เทพบุตรนั้นคิดว่า
เราทำสมณธรรม มิได้ปรารถนาฐานะเช่นนี้ เราปรารถนาพระอรหัตอันเป็นอุดมประโยชน์ ดังนี้
เทพบุตรนั้นพิจารณาดูแผ่นผ้าดังสีทอง จึงคิดว่า ชื่อว่าสมบัติในสวรรค์นี้ เป็นของหาได้ง่าย ความปรากฏแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายหาได้ยาก ราวกะนักมวยปล้ำหยั่งลงสู่ที่ที่รบกัน ย่อมต้องการของมีค่า แต่กลับได้กำแห่งหัวมัน ดังนี้ จึงมิได้เข้าไปสู่วิมานเลย ผู้อันหมู่แห่งนางอัปสรแวดล้อมแล้ว ด้วยทั้งศีลยังมิได้ทำลาย นั่นแหละ มาสู่สำนักของพระทศพล ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กล่าวคาถานี้ คือ อัจฉราสูตร ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ข้อ ๑๔๓ ข้อความมีว่า
เทวดาทูลถามว่า
ป่าชัฏชื่อโมหนะ อันหมู่นางอัปสรประโคมแล้ว อันหมู่ปีศาจสิงอยู่แล้ว ทำไฉนจึงจะหนีไปได้ ฯ
เทพบุตรได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค และขอให้พระองค์ทรงแสดงหนทางที่จะทำให้บรรลุถึงความเป็นอรหันต์
และคาถาของเทพบุตรที่ว่า เทพบุตรย่อมกล่าวทำหมู่แห่งนางอัปสรนั้น นั่นแหละว่า เป็นหมู่แห่งปีศาจ ซึ่งในอรรถกถามีข้อความอธิบายว่า เพราะใครๆ ย่อมพอใจจะอยู่ในสวนนันทวัน แต่เทพบุตรนั้นเปรียบเทียบนางอัปสรที่อยู่ในสวนนันทวันว่า เป็นหมู่แห่งปีศาจ ก็เพราะจิตตนิยามโดยความเป็นผู้หนักแน่นของตนในธรรม และ เมื่อไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ก็ขอให้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงหนทางที่จะให้บรรลุ พระอรหันต์
ข้อความในอรรถกถามีว่า
ธรรมดาว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมตรัสบอกปฏิปทาอันเป็นส่วนเบื้องต้นก่อนว่า เธอจงชำระศีลให้บริสุทธิ์ก่อน จงเจริญสมาธิ จงทำกัมมัสสกตปัญญาให้ตรง ดังนี้ ราวกะนายช่างจิตรกรทำการตกแต่งฝาผนังบอกแก่อันเตวาสิกผู้ไม่มั่นใจในการกระทำ ผู้เริ่มทำครั้งแรก ผู้ไม่ชำนาญในการทำ ฉะนั้น แต่ว่าเมื่อบุคคลผู้กระทำ เคยประกอบแล้ว ประกอบทั่วแล้ว พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมตรัสบอก สุญญตาวิปัสสนาทีเดียว ซึ่งเป็นภาวะสุขุมลึกซึ้ง อันเป็นปทัฏฐานแห่ง พระอรหัตตมรรค
อัจฉราสูตร ข้อ ๑๔๔
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ทางนั้นชื่อว่าเป็นทางตรง ทิศนั้นชื่อว่าไม่มีภัย รถชื่อว่าไม่มีเสียงดัง ประกอบด้วยล้อคือธรรม หิริเป็นฝาของรถนั้น สติเป็นเกราะกั้นของรถนั้น เรากล่าวธรรมมีสัมมาทิฏฐินำหน้าว่าเป็นสารถี ยานชนิดนี้มีอยู่แก่ผู้ใด จะเป็นหญิงหรือชาย ก็ตาม เขาย่อมไปในสำนักพระนิพพานด้วยยานนี้แหละ ฯ
ทางนั้นชื่อว่าเป็นทางตรง ข้อความในอรรถกถาแสดงว่า หมายความถึงมรรคประกอบด้วยองค์ ๘
รถนั้นชื่อว่าไม่มีเสียงดัง
ธรรมดารถทั้งหลายต้องมีเสียงดัง ถ้าไม่ได้หยอดน้ำมัน ก็มีเสียงของรถ หรือ ผู้ที่อยู่ในรถทั้งหลายก็ย่อมส่งเสียงดัง
แต่สำหรับอริยมรรคนั้น แม้สัตว์ตั้งแปดหมื่นสี่พันขึ้นอยู่โดยการนำไปคราวเดียวกัน ย่อมไม่ดัง ย่อมไม่ส่งเสียง
เป็นยานพิเศษ ไม่เหมือนกับรถอื่นๆ
สำหรับทิศนั้นชื่อว่าไม่มีภัย
คือ พระนิพพาน
ในเวลาที่สุดลงแห่งเทศนา เทพบุตรนั้นตั้งอยู่เฉพาะแล้วในโสดาปัตติผล เหมือนอย่างว่า ในเวลาที่พระราชาเสวยพระกระยาหาร พระองค์ก็ยกขึ้นเสวยโดยประมาณของพระองค์ บุตรที่นั่งอยู่ที่ตักก็ย่อมทำคำข้าวโดยประมาณแก่ปากของตน ฉันใด ข้อนี้ก็ฉันนั้นนั่นแหละ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ทรงแสดงธรรมอัน สุดยอดคือพระอรหัตอยู่ สัตว์ทั้งหลายย่อมบรรลุธรรมทั้งหลายมีโสดาปัตติผล เป็นต้น โดยสมควรแก่ธรรมเป็นอุปนิสัยของตน ฉะนั้น แม้เทพบุตรนี้ก็บรรลุ โสดาปัตติผล แล้วบูชาพระผู้มีพระภาคด้วยวัตถุทั้งหลายมีของหอมเป็นต้น แล้วหลีกไป
เพราะฉะนั้น พระธรรม เรื่องของสติปัฏฐาน สามารถที่จะให้ผู้ที่ได้อบรมเจริญแล้วรู้แจ้งอริยสัจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ สำหรับผู้ที่มีอุปนิสัยของพระอรหันต์ แต่สำหรับผู้ที่ไม่มีอุปนิสัยการรู้แจ้งถึงขั้นพระอรหันต์ ก็สามารถเพียงรู้แจ้งอริยสัจธรรมถึงขั้นพระโสดาบันบุคคลเท่านั้น แม้ว่าจะเป็นพระธรรมเทศนาอย่างเดียวกัน
เรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามปกติในขณะนี้ การที่จะรู้แจ้ง ก็ตามแต่ปัญญาของผู้ที่ได้สะสมมา ถ้าประจักษ์แจ้งในขั้นต้น ก็เป็นเพียง พระโสดาบันบุคคล ถ้าสามารถที่จะแทงตลอดจนถึงขั้นความเป็นพระอรหันต์ ก็ย่อมสามารถที่จะรู้แจ้งได้แม้ในขณะที่กำลังระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติเหมือนอย่างในขณะนี้
ถ. พระภิกษุที่กล่าวมานี้ ในชาติที่เป็นมนุษย์ เพียรถึงขนาดนั้นไม่ได้บรรลุแม้โสดาปัตติมรรค แต่หลังจากที่มรณะไปเกิดในสวรรค์แล้ว และเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค เพียงฟังธรรมนิดเดียวก็สามารถบรรลุเป็นพระโสดาบันได้ เพราะอะไร
สุ. เพราะปัจจัย
ถ. เกี่ยวกับปฏิสนธิจิตด้วยหรือเปล่า
สุ. ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลย เมื่อยังไม่พร้อมที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม จะทำอย่างไรๆ ก็รู้แจ้งไม่ได้ ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จุติจิตจะเกิด ลองทำให้จุติจิตเกิด ทำอย่างไร ทำได้ไหม ไม่มีทางเลย เพราะเป็นเรื่องของกรรม
กรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ฉันใด กรรมทำให้ภวังคจิตเกิดดับสืบต่อในระหว่างที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก อยู่เรื่อยๆ ยับยั้งไม่ได้ หลับไปจะไม่ให้ตื่นขึ้นอีกก็ไม่ได้ เป็นภวังค์มาตั้งนาน แต่ก็จะต้องมีเห็น มีได้ยิน และดำรงความเป็นบุคคลนี้ไว้จนกว่ากรรมที่ทำให้เป็นบุคคลนี้จะสิ้นสุด โดยกรรม ไม่ใช่โดยบุคคลหนึ่งบุคคลใด
เพราะฉะนั้น เมื่อยังไม่พร้อมที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็เช่นเดียวกัน ไม่มีใครสามารถที่จะให้พร้อมตอนที่กำลังพากเพียร แต่พร้อมเมื่อไร ก็รู้แจ้งอริยสัจธรรมเมื่อนั้น เพราะฉะนั้น ก็เพราะปัจจัย ซึ่งเป็นอนัตตา
ถ. ปัจจัยหนึ่งอาจจะเป็นเพราะปฏิสนธิด้วยทวิเหตุกะในชาติที่เป็นมนุษย์หลังจากที่จุติเป็นเทวดาแล้ว เป็นติเหตุกะ อย่างนั้นได้ไหม
สุ. ไม่ได้แสดงไว้ ไม่ได้กล่าวไว้ แต่ให้เห็นว่า ในชาติก่อนที่จะรู้แจ้ง อริยสัจธรรม ก็มีความรู้ มีความสามารถ มีความเข้าใจถูก มีการอบรม มีการเจริญปัญญา เพียงแต่ว่าอุปนิสัยยังไม่ถึงเวลาที่จะรู้แจ้ง ก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งได้
มีใครอยากจะฝืนเหตุปัจจัยบ้างไหม รับรองว่าไม่สำเร็จ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๙ ตอนที่ ๑๒๘๑ – ๑๒๙๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1261
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1262
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1263
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1264
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1265
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1266
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1267
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1268
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1269
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1270
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1271
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1272
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1273
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1274
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1275
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1276
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1277
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1278
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1279
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1280
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1281
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1282
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1283
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1284
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1285
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1286
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1287
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1288
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1289
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1290
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1291
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1292
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1293
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1294
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1295
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1296
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1297
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1298
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1299
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1300
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1301
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1302
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1303
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1304
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1305
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1306
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1307
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1308
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1309
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1310
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1311
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1312
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1313
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1314
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1315
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1316
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1317
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1318
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1319
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1320