แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1299
ครั้งที่ ๑๒๙๙
สาระสำคัญ
ผลของมหากุศลที่เป็นทวิเหตุกะ (ทวิเหตุกบุคคลหรือปฏิสนธิด้วยสันตีรณกุศลวิบาก)
เรื่องของอุเบกขาสันตีรณะปฏิสนธิ
วิตักกเจตสิก (เจตสิกซึ่งเป็นฌานปัจจัย ที่ตรึก จรด เพ่ง เผาอารมณ์)
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๒๗
ถ. ถ้าปฏิสนธิจากมหากุศลที่ประกอบด้วยทวิเหตุ คือ อโลภะ อโทสะอย่างเบาๆ ทำให้ไม่มีเหตุ ทำให้เกิดเป็นคนพิการในมนุษย์ ใช่ไหม
สุ. ถ้าเป็นผลของมหากุศลที่เป็นทวิเหตุกะ คือ ประกอบด้วยเหตุ ๒ จะทำให้เกิดเป็นบุคคลที่ปฏิสนธิด้วยอโลภะและอโทสะ เป็นทวิเหตุกบุคคลได้ ประเภทหนึ่ง คือ เป็นผู้ที่เกิดในมนุษย์หรือในสวรรค์ มีทรัพย์สมบัติมากก็ได้ มีความสุขกายมากก็ได้ แต่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ถ้าเขากระทำกรรมด้วยจิตที่ผ่องใส ประกอบด้วยเจตนา ทั้ง ๓ กาล ก็เป็นกรรมที่มีกำลัง เมื่อให้ผลก็ให้ผลชั้นเลิศ คือ เป็นผู้ที่สมบูรณ์พร้อม ทุกประการ เพียงแต่ไม่ประกอบด้วยปัญญา จึงเป็นผู้ที่ไม่สนใจในธรรม หรืออาจจะเริ่มสนใจ แต่ไม่สามารถอบรมเจริญปัญญาให้คมกล้าจนรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะมีเครื่องกั้น คือ วิบาก โดยปฏิสนธิไม่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิก นี่พวกหนึ่ง
และถ้าเป็นผลของมหากุศลที่เป็นทวิเหตุอย่างอ่อน ไม่มีกำลังเท่ากับอย่างแรก เวลาให้ผลก็ทำให้พ้นจากอบายภูมิซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรม คือ ไม่ต้องไปเกิดในนรกที่ทุกข์ทรมานมาก ไม่ต้องไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ไม่ต้องเกิดเป็นเปรตหรืออสุรกาย แต่เกิดเป็นมนุษย์ เห็นสิ่งต่างๆ ที่น่ายินดี พอใจได้ แต่อาจจะพิการโดยเป็นใบ้ หูหนวก หรือบางคนก็ตาบอด นั่นเป็นผลของกุศลทวิเหตุอย่างอ่อน เพราะฉะนั้น กุศลที่ประกอบด้วย ๒ เหตุ ให้ผล ๒ อย่าง
ถ. หมายความว่า มหากุศลที่ประกอบทวิเหตุอย่างอ่อน เวลาให้ผล จะเป็นอุเบกขาสันตีรณะ
สุ. เป็นอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ปฏิสนธิในมนุษย์หรือในสวรรค์ชั้นต้น
ถ. มหากุศลที่ประกอบด้วยทวิเหตุ ...
สุ. มหากุศลที่ประกอบด้วยทวิเหตุอย่างมีกำลัง ทำให้ปฏิสนธิประกอบด้วยอโลภะ อโทสะ เป็นมหาวิบากที่ประกอบด้วย ๒ เหตุ
หมายความว่า กุศลที่ประกอบด้วย ๒ เหตุ คือ กุศลนั้นเป็นกุศลที่ไม่เกิดพร้อมกับปัญญาเจตสิก เวลาที่ให้ผล ไม่สามารถทำให้ปฏิสนธิประกอบด้วย ๓ เหตุ
ถ้าใครเกิดด้วยปัญญาเจตสิก หมายความว่า ต้องเป็นผลของกุศลซึ่งประกอบด้วยปัญญา ปฏิสนธิจิตของบุคคลนั้นจึงประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และปัญญาเจตสิก
ถ. ทวิเหตุ หมายถึงมหากุศลญาณวิปปยุตต์
สุ. แน่นอน
ถ. ถ้าเป็นติเหตุ หมายถึงมหากุศลญาณสัมปยุตต์
สุ. ถูกต้อง เพราะถ้าเป็นกุศล ต้องประกอบด้วยอย่างน้อย ๒ เหตุ คือ อโลภเหตุและอโทสเหตุ จึงจะเป็นกุศลได้
สำหรับในอบายภูมิ ไม่มีปัญหา ได้แก่ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากเท่านั้นที่ทำกิจปฏิสนธิ ไม่ว่าจะในภูมิไหนทั้งสิ้น ช้าง หรืองู หรือมด ก็ปฏิสนธิด้วย อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก
เป็นเรื่องน่าคิดว่า ทำไมอุเบกขาสันตีรณวิบาก จึงทำกิจปฏิสนธิได้
อกุศลจิตมี ๑๒ ให้ผลเป็นอกุศลวิบาก ๗ สำหรับจักขุวิญญาณอกุศลวิบาก ไม่มีปัญหา คือ ขณะใดก็ตามที่จิตเห็นเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นสภาพของจิตซึ่งเป็น อกุศลวิบาก เห็นสิ่งที่ไม่ดี ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ๕ ดวงนี้ไม่มีปัญหา กระทำกิจได้เฉพาะของๆ ตน คือ จักขุวิญญาณทำกิจเห็นได้อย่างเดียว ทำกิจอื่นไม่ได้ โสตวิญญาณทำกิจได้ยินอย่างเดียว ทำกิจอื่นไม่ได้ สำหรับสัมปฏิจฉันนจิต ซึ่งเป็นอกุศลวิบากเกิดต่อจากปัญจวิญญาณที่เป็นอกุศลวิบาก ก็เกิดขึ้นกระทำกิจเดียว คือ รับอารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ทำกิจอื่นไม่ได้เลย
แต่สันตีรณจิต ทำปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ สันตีรณกิจ ตทาลัมพนกิจ และจุติกิจ ขณะปฏิสนธิไม่ใช่ขณะเห็น คนละขณะ แม้ว่าจักขุวิญญาณก็เป็นวิบากจิต ปฏิสนธิจิตก็เป็นวิบากจิต แต่ทำกิจต่างกัน สำหรับผลของอกุศลกรรมมีเพียง ๗ เท่านั้น ไม่มีมากกว่านั้นเลย และสำหรับจักขุวิญญาณก็ทำกิจเดียวคือทัสสนกิจ ตลอดไปจนกระทั่งไปถึงสัมปฏิจฉันนะ ก็ทำกิจเดียว แต่สันตีรณะเท่านั้นที่สามารถกระทำกิจได้ถึง ๕ กิจ
ถ้าจะพิจารณาถึงเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตนั้นๆ จะเห็นได้ว่า เพราะเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตนั้นเพิ่มขึ้น ทำให้จิตนั้นสามารถกระทำกิจเพิ่มขึ้นได้ เช่น จักขุวิญญาณที่กำลังเห็นในขณะนี้ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ประเภทเท่านั้น ซึ่งเจตสิกมีถึง ๕๒ ประเภท แต่เจตสิกที่เกิดกับจักขุวิญญาณ คือ จิตเห็น มีเพียง ๗ สำหรับ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ก็โดยนัยเดียวกัน จิต ๑๐ ดวงทางปัญจทวาร หรือที่ภาษาบาลีเรียกว่า ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวงนี้มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยที่สุด คือ เพียง ๗ เท่านั้น
สำหรับสัมปฏิจฉันนะและสันตีรณะ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากกว่า ๗ เพิ่ม กำลังขึ้น โดยมีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งเมื่อได้กล่าวถึงเรื่องของปัจจัยต่างๆ มาตลอดจนกระทั่งถึงอินทริยปัจจัย เป็นปัจจัยที่ ๑๖ ก็ได้กล่าวถึงเรื่องของจิต เพราะถ้าไม่กล่าวถึงเรื่องของจิต ก็ไม่สามารถเข้าใจเรื่องของปัจจัยต่อไปได้ คือ ฌานปัจจัย ปัจจัยที่ ๑๗ และมรรคปัจจัย ปัจจัยที่ ๑๘
เพราะฉะนั้น สำหรับสภาพธรรมที่เป็นฌานปัจจัย โดยองค์ธรรมได้แก่ วิตกเจตสิก ๑ วิจารเจตสิก ๑ ปีติเจตสิก ๑ โสมนัสเวทนา ๑ โทมนัสเวทนา ๑ อุเบกขาเวทนา ๑ และเอกัคคตาเจตสิก ๑ ซึ่งถ้ากล่าวโดยองค์ธรรม ได้แก่ เจตสิก ๕ ดวง แต่ถ้าแยกเป็นประเภทแล้วเป็น ๗ ที่เป็นฌานปัจจัย สำหรับเจตสิกซึ่งเป็น ฌานปัจจัย ได้แก่ วิตกเจตสิก เป็นสำคัญ
เรื่องของสภาพธรรมเป็นเรื่องที่ยากแก่การที่จะประจักษ์แจ้งหรือเข้าใจโดยละเอียด แต่เป็นเรื่องซึ่งสามารถที่จะฟัง และพิจารณาในเหตุผล และพยายามที่จะเข้าใจในสภาพธรรมซึ่งเป็นที่อาศัยของผลที่เกิดขึ้น เพราะปัจจัยหมายความถึง สภาพธรรมซึ่งเป็นที่อาศัยของผลที่เกิดขึ้น ถ้าไม่มีสภาพธรรมนี้ ผลที่จะอาศัยเกิด ก็ไม่มีที่อาศัยเกิด แต่เพราะมีปัจจัยซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นที่อาศัยของผล ผลนั้นจึงเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น จิตใดมีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตนั้นก็มีกำลังเพิ่มขึ้นจากการที่จะมีเพียงเจตสิก ๗ ด้วยเหตุนี้อุเบกขาสันตีรณะเมื่อประกอบด้วยวิตกเจตสิก จึงสามารถทำกิจปฏิสนธิได้ เพราะอกุศลวิบากมีเพียง ๗ ดวงเท่านั้น และเพิ่มกำลังขึ้นตามกิจหน้าที่ของจิตนั้นๆ ด้วย
เมื่อได้ยินคำว่า ฌาน ไม่ควรเข้าใจว่า หมายถึงแต่เฉพาะรูปาวจรจิต และ อรูปาวจรจิต แต่ต้องหมายความถึงเจตสิกซึ่งเป็นฌานปัจจัยที่ตรึก จรด เพ่ง เผาอารมณ์
ลักษณะของวิตกเจตสิกใครจะรู้ได้ เวลานี้ก็กำลังเกิดอยู่ เมื่อจักขุวิญญาณที่ประกอบด้วยเจตสิก ๗ ดวงดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อ สันตีรณจิตเกิดต่อ มีวิตกเจตสิกเกิดกับสัมปฏิจฉันนจิตและสันตีรณจิต แต่ลักษณะของวิตกเจตสิกไม่ได้ปรากฏเลย แต่เพราะเป็นสภาพที่จรดในอารมณ์ จึงมีกำลังที่จะเป็นปัจจัยในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ถ้าเป็นอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ขณะนั้นก็ประกอบด้วย วิตกเจตสิกซึ่งจรดในอารมณ์ที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในขณะนั้น มิฉะนั้นแล้วจะให้จิต ดวงไหนทำกิจปฏิสนธิที่เป็นอกุศลวิบาก เพราะไม่ต้องประกอบด้วยเหตุใดๆ ทั้งสิ้น
โลภะเป็นอกุศลเหตุ โทสะเป็นอกุศลเหตุ โมหะเป็นอกุศลเหตุ จิตใดที่ประกอบด้วยโลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก เป็นเหตุ ไม่ใช่เป็นผล ไม่เป็นวิบาก เมื่อชื่อว่าอกุศลเหตุ ต้องเกิดกับอกุศลจิตเท่านั้น จะไม่เกิดกับอกุศลวิบากจิต เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นอกุศลวิบาก เป็นผล จึงไม่ประกอบด้วยโลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก จึงเป็นอเหตุกปฏิสนธิ
ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงธรรมเหล่านี้ได้เลย เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็เป็นอย่างนี้ เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพียงแต่จะรู้หรือไม่รู้เท่านั้นเองว่า ปฏิสนธิจิตของสัตว์ทั้งหลายที่เกิดในอบายภูมิ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ในนรก หรือเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์ดิรัจฉาน ปฏิสนธินั้นไม่ประกอบด้วยเหตุใดๆ เลย
สำหรับผู้ที่ปฏิสนธิในมนุษย์และในสวรรค์ ที่เป็นสุคติปฏิสนธิ แต่เป็นอเหตุกะ คือ ปฏิสนธิด้วยสันตีรณกุศลวิบาก เป็นผู้ที่พิการตั้งแต่กำเนิด ปฏิสนธินั้นก็ไม่มีเหตุ ใดๆ ประกอบทั้งสิ้น แต่ก็เกิดแล้วเพราะกรรม
สำหรับฌานปัจจัย ไม่มีปัญหาอะไรมาก ได้แก่ สภาพธรรมที่เป็นองค์ฌาน ๗ คือ วิตกเจตสิก ๑ วิจารเจตสิก ๑ ปีติเจตสิก ๑ โสมนัสเวทนา ๑ โทมนัสเวทนา ๑ อุเบกขาเวทนา ๑ และเอกัคคตาเจตสิก ๑ นี่คือฌานปัจจัย
เพราะฉะนั้น เวลาที่ต้องการอบรมเจริญความสงบ จะขาดสภาพธรรมที่เป็นองค์ฌานเหล่านี้ไม่ได้ คือ ต้องมีวิตก วิจาร ปีติ และเมื่อเป็นการเจริญความสงบ เวทนาต้องประกอบด้วยโสมนัสเวทนาสำหรับฌานที่ ๑ จนถึงฌานที่ ๔ โดยปัญจกนัย และสำหรับฌานที่ ๕ ก็เป็นอุเบกขาเวทนา และต้องประกอบด้วยเอกัคคตาเจตสิก เพราะสภาพธรรม ๕ นี้ เป็นปฏิปักษ์กับนิวรณธรรม ๕
แต่ถึงแม้ไม่ได้เจริญฌาน วิตกเจตสิกเกิดขึ้นขณะใด ก็เป็นฌานปัจจัย ในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตในอบายภูมิ คือ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก มีฌานปัจจัย เพราะวิตกเจตสิกเป็นฌานปัจจัยแก่ปฏิสนธิจิตและกัมมชรูปที่เกิดพร้อมกันในขณะนั้น ขณะปฏิสนธิต้องมีฌานปัจจัย เพราะว่าทำกิจปฏิสนธิ
ถ. อกุศล ๑๒ ให้ผลเป็นวิบากเพียง ๗ ส่วนฝ่ายมหากุศล ๘ ให้ผลเป็นกุศลวิบาก ๑๖ เพราะเหตุอะไรจึงให้ผลไม่เท่ากัน
สุ. เป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะทางฝ่ายอกุศลมีถึง ๑๒ คือ โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒ แต่เวลาที่ให้ผล เป็นอกุศลวิบาก ๗ เท่านั้น ส่วนทางฝ่ายมหากุศลมี ๘ แต่ให้ผลเป็นกุศลวิบาก ๑๖ คือ ให้ผลเป็นอเหตุกกุศลวิบาก เป็น กุศลวิบากที่ไม่ประกอบด้วยโสภณเหตุ ๓ คือ ไม่ประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก เป็นอเหตุกกุศลวิบาก ๘ และเป็นมหาวิบากซึ่งประกอบด้วยโสภณเหตุอีก ๘ รวมเป็น ๑๖
มหากุศลจิตมี ๘ แต่ให้ผลถึง ๑๖ อกุศลจิตมี ๑๒ แต่ให้ผลเพียง ๗
ทั้งหมดนี้ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งสิ้น แสดงให้เห็นถึงเรื่องของกัมมปัจจัย ได้แก่ เจตนา ที่จะกระทำกรรมนั้นๆ ว่า เมื่อเจตนาเกิดขึ้น เป็นอกุศลกรรมที่จะกระทำทุจริตกรรมทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง หรือทางใจบ้าง ซึ่งในชีวิตประจำวันพอที่จะสังเกตได้ถ้าสติจะระลึกบ้าง โลภะในวันหนึ่งๆ ที่เป็นธรรมดา ไม่ได้ก่อให้เกิดเจตนาที่จะทำทุจริตเลย และโทสะธรรมดาที่เป็นความไม่สบายใจ ขุ่นใจ รำคาญใจ แต่ไม่ถึงกับกระทำทุจริตกรรม นั่นก็ประเภทหนึ่ง แต่สำหรับโลภะและโทสะ เวลาที่มีกำลังขึ้น ถ้าสติเกิดย่อมจะสังเกตได้ว่า มีเจตนาเล็กๆ น้อยๆ บ้างไหมที่เป็นทุจริต เป็นต้นว่า มะม่วงข้างบ้าน ไม่ต้องเป็นของที่ใหญ่โต มีความพอใจเกิดขึ้นบ้างหรือเปล่า ลูกมะม่วงโตขึ้นทุกวันๆ ความพอใจเพิ่มขึ้นทุกวันๆ หรือเปล่า มีกำลังถึงกับเอื้อมมือไปเก็บหรือเปล่า ถ้าเป็นผู้ที่มีสติจะรู้ว่า โลภะนั้นมีกำลังขึ้นแล้ว ถึงกับกระทำกายกรรมที่เป็นทุจริต
เมื่อเจตนาที่เป็นกายกรรมที่เป็นทุจริตเกิดขึ้นแล้ว อกุศลเจตนานั้นเอง เป็นปัจจัยที่จะให้อกุศลวิบากจิตเกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยเหตุ คือ ไม่ต้องมีโลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก หรืออโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก และไม่ต้องอาศัยเจตสิกอื่นๆ อีกมาก แต่อาศัยเจตสิกเพียงไม่กี่ดวง ก็สามารถเป็นปัจจัยให้ อกุศลวิบากเกิดได้ เพราะมีกรรมเป็นปัจจัยแล้ว เพราะฉะนั้น อกุศลวิบาก ๗ ไม่ต้องอาศัยเจตสิกมากก็สามารถที่จะเกิดขึ้นเป็นผลของกรรม
เป็นความจำเป็นที่จะต้องขอกล่าวถึงเจตสิกบ้าง เพื่อให้เข้าใจว่า เพราะเหตุใดจึงเป็นปัจจัยให้อกุศลวิบากจิตเกิด
สำหรับเจตสิก ทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท แยกเป็นอัญญสมานาเจตสิก คือ เจตสิกซึ่งสามารถเกิดกับจิตได้ทุกประเภท คือ เกิดกับกุศลจิตก็ได้ อกุศลจิตก็ได้ วิบากจิตก็ได้ กิริยาจิตก็ได้ เกิดกับจิตที่เป็นกามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ หรือโลกุตตรภูมิก็ได้
อัญญสมานาเจตสิก มีทั้งหมด ๑๓ ประเภท หรือ ๑๓ ดวง ซึ่งใน ๑๓ ประเภท ยังแยกออกเป็น ๒ ประเภท คือ เป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ หมายความว่า เจตสิก ๗ ดวงนี้ ต้องเกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้น อกุศลวิบากจิตต้องมีเจตสิก ๗ นี้เกิดร่วมด้วย
ไม่มีจิตที่มีเจตสิกเกิดน้อยกว่า ๗ ดวงนี้ เพราะสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ได้แก่ ผัสสเจตสิก ๑ เวทนาเจตสิก ๑ สัญญาเจตสิก ๑ เจตนาเจตสิก ๑ เอกัคคตาเจตสิก ๑ ชีวิตินทริยเจตสิก ๑ และมนสิการเจตสิก๑ เป็นสหชาตปัจจัย เป็นสัมปยุตตปัจจัย ที่กรรมเป็นปัจจัยทำให้อกุศลวิบากจิตเกิดพร้อมกับเจตสิก ๗ ดวงนี้ซึ่งเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก เกิดพร้อมกับจักขุวิญญาณ เห็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ต้องอาศัยเจตสิกอื่นมากมาย เพียง ๗ เท่านั้นก็เกิดขึ้นได้ เพราะอกุศลกรรมเป็นปัจจัย ขณะที่ได้ยินเสียงที่ไม่ดี ก็เป็นโสตวิญญาณเกิดพร้อมกับเจตสิก ๗ ดวงนี้ ได้ยินเสียง ที่ไม่ดี ขณะที่ได้กลิ่นไม่ดี ขณะที่ลิ้มรสไม่ดี ขณะที่รู้โผฏฐัพพะที่ไม่ดี ทั้งหมดนี้เป็น ผลของอกุศลกรรม
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๑๒๙๑ – ๑๓๐๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1261
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1262
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1263
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1264
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1265
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1266
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1267
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1268
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1269
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1270
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1271
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1272
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1273
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1274
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1275
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1276
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1277
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1278
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1279
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1280
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1281
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1282
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1283
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1284
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1285
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1286
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1287
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1288
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1289
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1290
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1291
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1292
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1293
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1294
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1295
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1296
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1297
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1298
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1299
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1300
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1301
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1302
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1303
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1304
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1305
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1306
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1307
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1308
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1309
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1310
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1311
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1312
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1313
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1314
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1315
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1316
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1317
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1318
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1319
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1320