แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1301


    ครั้งที่ ๑๓๐๑


    สาระสำคัญ

    รู้ว่าขณะใดเป็นอกุศล จึงละอกุศลได้

    วิตักกเจตสิก - สภาพที่จรดในอารมณ์ (เป็นเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตได้บางประเภท)

    สภาพธรรมที่เป็นฌาน


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๒๗


    สุ. สำหรับเรื่องของอเหตุกจิต หรือวิถีจิตก็ตาม ที่มีการเห็นครั้งหนึ่ง มีการได้ยินครั้งหนึ่ง จะต้องทราบว่า ขณะใดที่เป็นวิบาก ขณะใดที่ไม่ใช่วิบาก ต้องไม่ ปนกัน มิฉะนั้นแล้ว บางท่านอาจจะคิดว่าเป็นวิบากทั้งหมด

    ในคราวก่อนได้กล่าวถึงเรื่องของอเหตุกะที่สามารถทำกิจปฏิสนธิในอบายภูมิได้ เพราะประกอบด้วยวิตกเจตสิก และได้กล่าวถึงอัญญสมานาเจตสิก คือ เจตสิกที่เกิดกับจิตได้ทุกประเภท

    อัญญสมานาเจตสิกมีทั้งหมด ๑๓ ประเภท หรือ ๑๓ ดวง แบ่งเป็น ๒ กลุ่ม คือ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกดวง จิตดวงหนึ่งดวงใดที่เกิดขึ้นจะขาดสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ นี้ไม่ได้

    สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ได้แก่

    ผัสสเจตสิก เป็นสภาพที่กระทบอารมณ์ ขณะใดที่จิตรู้อารมณ์จะต้องอาศัยผัสสะกระทบอารมณ์ เสียงจะปรากฏได้ก็เพราะผัสสะกระทบเสียง ถ้าผัสสะไม่กระทบเสียง โสตวิญญาณจะได้ยินเสียงไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผัสสเจตสิกต้องเกิดกับจิตทุกดวง ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    และเมื่อมีการกระทบอารมณ์แล้ว ต้องมีความรู้สึก จะขาดความรู้สึกอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้เลย ขณะนี้ทุกคนกำลังมีความรู้สึกอย่างหนึ่งอย่างใด ถ้าสติเกิดจะรู้ว่าขณะนี้เป็นความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ คือ เป็นอุเบกขา หรือเป็นความรู้สึกโสมนัสยินดี หรือเป็นความรู้สึกโทมนัสขุ่นเคือง หรือสุขกาย คือ กายกำลังสบาย หรือทุกข์กาย คือ กายกำลังร้อน หรือกำลังเจ็บส่วนหนึ่งส่วนใด กำลังเมื่อยก็ได้ นั่นก็เป็นความรู้สึก ถ้าสติเกิดจะสามารถระลึกได้ว่า ขณะนั้นมีเวทนาเจตสิก ซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกดวง

    สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ นอกจากผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก ก็มี สัญญาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่จำลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ และมีเจตนาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก ชีวิตินทริยเจตสิก มนสิการเจตสิก

    ถ้าไม่เข้าใจกิจหน้าที่ของเจตสิกทั้ง ๗ จะจำเพียงชื่อก็ยาก แต่ถ้าเข้าใจลักษณะของเจตสิกทั้ง ๗ จะรู้ได้จริงๆ ว่า ไม่ขาดเจตสิกทั้ง ๗ ประเภท

    ในหมวดของอัญญสมานาเจตสิกกลุ่มที่ ๒ คือ ปกิณณกเจตสิก ๖

    คำว่า ปกิณณกเจตสิก หมายความถึงเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตได้บางประเภท ไม่ใช่ทุกประเภท และสามารถเกิดกับกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ วิบากก็ได้ กิริยาก็ได้ เช่น วิตกเจตสิก ไม่ใช่สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ไม่ได้เกิดกับจิตทุกดวง คือ ไม่เกิดกับทวิปัญจวิญญาณ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นหนึ่งเจตสิกในปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง

    ทวิปัญจวิญญาณ คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ที่เป็นกุศลวิบากและอกุศลวิบากรวม ๑๐ ดวง ซึ่งมีเจตสิก ๗ ดวงเท่านั้นเกิดร่วมด้วย แต่จิตอื่นมีเจตสิกอื่นเกิดร่วมด้วยอีกนอกจาก สัพพจิตตสาธารณะ ๗ เช่น สัมปฏิจฉันนะที่เกิดต่อจากจักขุวิญญาณ มี ปกิณณกเจตสิก คือ วิตกเจตสิก เกิดร่วมด้วย

    ที่กล่าวถึงวิตกเจตสิก เพราะว่าวิตกเจตสิกเป็นสภาพที่จรดในอารมณ์ เป็นฌานปัจจัย และสันตีรณจิตซึ่งเกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนจิตก็มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นสภาพที่จรดในอารมณ์ จึงกระทำกิจปฏิสนธิได้ เพราะขณะนั้นเป็น ฌานปัจจัย เพราะฉะนั้น ที่จะทำกิจปฏิสนธิได้จะต้องจรดในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ ไม่เหมือนกับจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ เพราะจักขุวิญญาณเพียงเห็น แม้เวทนาที่เกิดกับจักขุวิญญาณก็เป็นเพียงอุเบกขา ไม่สามารถจะเป็นโสมนัสหรือโทมนัสได้ในขณะที่เพียงเห็น ยังไม่รู้ว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร

    ฌานปัจจัยได้กล่าวถึงในคราวก่อนว่า สภาพธรรมที่เป็นฌาน คือ สภาพธรรมที่เพ่งอารมณ์ หรือเผาปฏิปักษ์ธรรม มี ๗ คือ วิตกเจตสิก ๑ วิจารเจตสิก ๑ ปีติเจตสิก ๑ โสมนัสเวทนา ๑ โทมนัสเวทนา ๑ อุเบกขาเวทนา ๑ และ เอกัคคตาเจตสิก ๑ รวม ๗ เป็นฌานปัจจัย

    เวทนาเป็นฌานปัจจัย เพราะเวลาที่เวทนาเกิด รู้สึกอย่างไร สำคัญไหม โทมนัสเกิด ไม่พอใจ เดือดร้อน เผาความสุขทั้งหมดที่มี จะมีทรัพย์สมบัติมากมาย สักเท่าไรก็ตาม ไม่ช่วยให้ความรู้สึกนั้นเป็นสุขได้ขณะที่โทมนัสเวทนาเกิด เพราะฉะนั้น ลักษณะสภาพของโทมนัสเวทนาเป็นฌานปัจจัย ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม เวลาที่ โทมนัสเวทนาเกิด ขณะนั้นเป็นฌานปัจจัย เป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งเผา ทำให้จิตที่เกิดร่วมด้วยมีสภาพโทมนัส ไม่เป็นสุข เผาไหม้ เดือดร้อน ถ้าเป็นโสมนัสเวทนาก็ตรงกันข้าม เวลาที่โสมนัสเวทนาเกิด เผาสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับโสมนัสเวทนา กำลังเป็นทุกข์ เวลามีข่าวที่ทำให้เป็นสุข โสมนัสเวทนาเกิดขึ้น หมดแล้วทุกข์ที่กำลังเป็นอยู่

    เพราะฉะนั้น เรื่องของเจตสิกที่เกิดกับจิต เป็นเรื่องละเอียดที่ทำให้จิตแต่ละประเภทมีกิจการงานหน้าที่ต่างๆ กัน แม้แต่สันตีรณะที่เป็นอกุศลวิบาก ประกอบด้วยเจตสิกมากกว่า ๗ คือ ประกอบด้วยวิตกเจตสิก วิจารเจตสิก ซึ่งเป็นฌานปัจจัย จึงทำให้ทำกิจปฏิสนธิได้

    คงเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก สำหรับท่านที่จะต้องฟังทั้งเรื่องของจิตและเจตสิก แต่ให้ทราบว่า เป็นแต่ละขณะจริงๆ สำหรับจิตที่ได้กล่าวถึง จะค่อยๆ เพิ่มเจตสิกขึ้น เช่น จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มีเจตสิกเกิดเพียง ๗ จึงทำกิจแค่เห็น แค่ได้ยิน แค่ได้กลิ่น แค่ลิ้มรส แค่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเท่านั้นเอง ไม่สามารถที่จะทำอย่างอื่นได้มากกว่านี้

    สำหรับจิตอื่นๆ ซึ่งมีเจตสิกประกอบเพิ่มขึ้น ก็ย่อมมีกิจการงานต่างจาก จิตเหล่านี้ และต้องมีปัจจัยที่จะทำให้ผลติดตามมาต่างๆ กันด้วย แต่ที่จะกล่าวถึง คือ ให้ทราบว่าอัญญสมานาเจตสิกทั้งหมดมี ๑๓ ดวง แบ่งเป็น ๒ กลุ่ม คือ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ เกิดกับทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวง แต่สำหรับจิตอื่นๆ ต้องมีเจตสิกเกิดมากกว่านั้น ซึ่งค่อยๆ เพิ่มขึ้นจากอเหตุกอกุศลวิบาก

    อเหตุกอกุศลวิบากมี ๗ ดวง ซึ่ง ๕ ดวงมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ สำหรับอีก ๒ ดวง มีเจตสิกเกิดร่วมได้มากกว่านั้น คือ นอกจากสัพพจิตตสาธารณเจตสิกแล้ว ก็มีปกิณณกเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย และไม่มี โสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    เจตสิก ๕๒ แบ่งเป็น ๓ ประเภทใหญ่ คือ อัญญสมานาเจตสิก ๑๓ อกุศลเจตสิก ๑๔ และโสภณเจตสิก ๒๕ ซึ่งการเกิดขึ้นเป็นปัจจัยของกันและกันตามสภาพของธรรมนั้นๆ จริงๆ ถ้าเป็นอกุศลจิตก็จะต้องประกอบด้วยอกุศลเจตสิกและอัญญสมานาเจตสิก เพราะว่าอัญญสมานาเจตสิกเกิดกับจิตได้ทุกประเภท ถ้าเป็นทางฝ่ายกุศลจะไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย จะมีแต่อัญญสมานาเจตสิกเกิดร่วมกับโสภณเจตสิก นี่คือความต่างกันของจิตในขณะหนึ่งๆ

    ถ. มหากุศลที่เป็นติเหตุทำให้ผลเป็นทวิเหตุได้ และให้ผลเป็นอเหตุได้ไหม

    สุ. ไม่ได้ ที่ว่าไม่ได้ หมายความถึงเฉพาะปฏิสนธิ เพราะว่ากรรมสามารถให้ผลในปัจจุบันชาติก็ได้ หรือให้ผลในชาติหน้าต่อจากชาตินี้ก็ได้ หรือให้ผลในชาติหลังๆ ก็ได้ เพราะฉะนั้น กุศลกรรมหนึ่งกุศลกรรมใดที่กระทำในชาตินี้ อาจจะให้ผลในชาตินี้ได้ เป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม

    การให้ผลของกรรมในชาตินี้ คือ ทำให้จักขุวิญญาณกุศลวิบากเกิด โสตวิญญาณกุศลวิบากเกิด ฆานวิญญาณกุศลวิบากเกิด ชิวหาวิญญาณกุศลวิบากเกิด กายวิญญาณกุศลวิบากเกิด สัมปฏิจฉันนกุศลวิบากเกิด อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากเกิด โสมนัสสันตีรณกุศลวิบากเกิด คือ ทำให้อเหตุกกุศลวิบากเกิดได้ทั้ง ๘ ดวงในปัจจุบันชาติ

    เพราะฉะนั้น เวลาที่ท่านเห็นสิ่งที่ดี บางทีก็ได้รับของจากญาติมิตรสหาย เป็นกลิ่นที่ดีบ้าง รสที่ดีบ้าง โผฏฐัพพะที่ดีบ้าง บางท่านอาจจะคิดว่าเป็นผลของกรรมในชาตินี้เอง แต่จริงๆ แล้วไม่มีใครสามารถรู้ได้ แต่ให้ทราบว่า ถ้าเป็นผลของกรรมในชาตินี้ จะไม่ให้ผลมากกว่านี้เลย คือ จะให้ผลเพียงทำให้อเหตุกกุศลวิบากเกิดได้ ๘ ดวงเท่านั้น นี่ตอนหนึ่ง

    แสดงให้เห็นว่า กุศลกรรมทำให้อเหตุกกุศลวิบากเกิดได้ ๘ ดวงในชาตินี้ แต่ถ้าเป็นผลในชาติหน้า เป็นอุปปัชชเวทนียกรรม ก็ทำให้ปฏิสนธิจิตเป็นมหาวิบากญาณวิปปยุตต์ได้ แต่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเป็นมหาวิบากญาณสัมปยุตต์ไม่ได้ ถ้ากุศลนั้นเป็นมหากุศลญาณวิปปยุตต์

    เพราะฉะนั้น มหากุศลญาณวิปปยุตต์ การทำบุญให้ทานที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ถ้าให้ผลในชาติต่อไป คือ ทำให้ปฏิสนธิ ก็จะทำให้มหาวิบากญาณวิปปยุตต์เกิดได้ คือ ไม่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิก หรือถ้าเป็นผลของมหากุศลอย่างอ่อนมาก ไม่ประกอบด้วยเจตนาทั้ง ๓ กาล คือ ไม่ประกอบด้วยบุพพเจตนา ไม่มีความตั้งใจก่อนที่จะทำกุศลนั้น เวลาเดินผ่าน อาจจะให้เงินขอทาน หรืออาจจะช่วยเหลือใคร เล็กๆ น้อยๆ ที่กำลังเห็นในขณะนั้น ขณะนั้นก็ไม่มีบุพพเจตนา ทำแล้วก็ลืมไปเลย หรือในขณะที่กำลังทำกุศล จิตไม่ประกอบด้วยโสมนัส เพียงแต่ช่วย และก็ผ่านไป เท่านั้นเอง เล็กน้อยเหลือเกิน เช่น ช่วยถือของหนักๆ ให้คนอื่น นั่นก็เป็นกุศล เป็นกุศลกรรมด้วย เป็นกายกรรม แต่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา และเล็กน้อยมาก

    สำหรับมหากุศลญาณวิปปยุตต์อย่างอ่อน เวลาให้ผล ก็ทำให้อเหตุกอุเบกขาสันตีรณะทำกิจปฏิสนธิในกามสุคติภูมิ คือ ในมนุษย์ หรือในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา แต่เนื่องจากเป็นผลของกรรมที่อ่อนมาก เป็นทวิเหตุที่เป็นญาณวิปปยุตต์อย่างอ่อน เพราะฉะนั้น ผู้นั้นก็เป็นผู้ที่พิการตั้งแต่กำเนิด

    แต่มหากุศลญาณวิปปยุตต์ไม่สามารถทำให้มหาวิบากญาณสัมปยุตต์ทำ กิจปฏิสนธิได้ มหากุศลญาณวิปปยุตต์ทำให้เกิดมหาวิบากญาณวิปปยุตต์ปฏิสนธิ หรืออุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากปฏิสนธิได้เท่านั้น

    ถ. มหากุศลญาณสัมปยุตต์อย่างอ่อน ทำให้ปฏิสนธิเป็นอเหตุกกุศลได้ไหม

    สุ. ไม่ได้ สำหรับมหากุศลญาณสัมปยุตต์เวลาให้ผล จะทำให้มหาวิบากญาณสัมปยุตต์เกิด ทำกิจปฏิสนธิ หรือถ้าเป็นผลของมหากุศลญาณสัมปยุตต์ อย่างอ่อน ก็ทำให้มหาวิบากญาณวิปปยุตต์ทำกิจปฏิสนธิ แต่จะไม่ทำให้ สันตีรณกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิ

    ถ. บุคคลที่ปฏิสนธิเป็นมนุษย์ด้วยอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก เป็นโปลิโอนิดหน่อย ถ้ามาศึกษาธรรม จะศึกษาเข้าใจเหมือนคนธรรมดาที่ประกอบด้วยทวิเหตุหรือเปล่า

    สุ. ที่ว่าพิการตั้งแต่กำเนิด หมายความว่า ตลอดชีวิตนั้นกรรมนั้นกั้นไม่ให้จักขุปสาทเกิด คือ เมื่อถึงเวลาที่จะเกิด จักขุปสาทก็ไม่เกิด หรือกรรมนั้นเองไม่ทำให้โสตปสาทเกิดเมื่อถึงกาลที่โสตปสาทควรจะเกิด นั่นคือความหมายของพิการตั้งแต่กำเนิด เพราะเป็นผลของกุศลอย่างอ่อนที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา

    ถ้ามีรูปร่างส่วนหนึ่งส่วนใดที่ผิดปกติ แต่ไม่ได้เกี่ยวกับการที่จะขัดขวางให้ปัญญาเจริญ เพราะบางท่านก็เป็นผู้ที่มีสติปัญญามาก ตรงกันข้ามกับบางท่านที่ถึงแม้จะไม่ตาบอด หูไม่หนวก แต่อาจจะบ้าใบ้ได้ นี่ก็เป็นผลของกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา มีปัญญาอ่อน ไม่สามารถที่จะอบรมเจริญกุศลให้เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งนั่นต้องเป็นผลของมหากุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา

    เพราะฉะนั้น ควรพิจารณาที่สภาพของจิต ที่ไม่สามารถจะอบรมเจริญปัญญาให้เพิ่มขึ้น ซึ่งไม่มีใครสามารถที่หยั่งรู้ได้ถึงปฏิสนธิจิตของแต่ละคนว่า เป็นมหาวิบากญาณสัมปยุตต์หรือเป็นมหาวิบากญาณวิปปยุตต์ แต่จะรู้ได้จากการสนใจศึกษาธรรมกับความเข้าใจธรรม การไม่เข้าใจผิดในธรรม



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๑ ตอนที่ ๑๓๐๑ – ๑๓๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 88
    28 ธ.ค. 2564