แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1265
ครั้งที่ ๑๒๖๕
สาระสำคัญ
ผู้รักษาศีล ต้องเห็นโทษของการล่วงศีล
พระธรรมเท่านั้นที่จะรักษาให้หายจากโรค (โรค คือกิเลสต่างๆ)
เหตุที่โสมนัสสันตีรณะไม่ทำกิจปฏิสนธิกิจ
ประโยชน์อะไรที่จะรู้เรื่องปฏิสนธิจิต
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๒๖
ถ. เวลาดื่มสุรา เจริญสติปัฏฐานได้ไหม
สุ. เป็นเรื่องที่น่าคิด สติจะเกิด บังคับได้ไหม เรื่องของการดื่มสุรา เป็นอกุศลประเภทหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นที่กังวลใจ แต่อกุศลอื่นซึ่งไม่ใช่ดื่มสุรา ไม่เดือดร้อนหรืออย่างไร ทำได้หรือ แทนที่จะเป็นดื่มสุรา ซึ่งขณะที่ดื่มสุรามี ความพอใจที่จะดื่ม เป็นโลภมูลจิต เปลี่ยนจากสุราเป็นกาแฟได้ไหม
ถ. ได้ แต่เวลาที่ดื่มสุราหรือดื่มเบียร์ รู้สึกสบายอกสบายใจ บางทีรู้สึกว่า ความสบายใจก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง
สุ. ดื่มสุราสบายใจ ดื่มเบียร์สบายใจ ดื่มกาแฟเป็นอย่างไร ถ้าชอบกาแฟ
ถ. ดื่มสุราถือว่าผิดศีล
สุ. อย่าเพิ่งพูดถึงข้อนั้น พูดถึงสภาพของจิตก่อน ที่หวาดหวั่นในเรื่องของอกุศล ซึ่งผู้ที่รักษาศีลต้องเห็นโทษของการล่วงศีล อันเป็นผลมาจากความประมาทโดยการดื่มสุราประการหนึ่ง เพราะถ้าไม่ดื่ม กายวาจาเป็นปกติ แต่เมื่อดื่มแล้วเกิดกายวาจาที่ผิดปกติจนกระทั่งสามารถกระทำทุจริตกรรมได้ และถึงแม้ว่ายังไม่ได้ทำทุจริตกรรม สภาพของจิตหลังจากที่ดื่มสุรา อาการผิดปกติย่อมมี ใช่ไหม
ถ. ถ้าดื่มน้อยๆ ก็ไม่มี
สุ. ดื่มน้อย มีน้อย ดื่มมาก มีมาก ที่จะรู้ว่าทำให้ผิดปกติ ก็เหมือนกับไฟซึ่งถ้าน้อยก็ร้อนน้อย ถ้ามากก็ร้อนมาก เพราะฉะนั้น เวลาที่ดื่มสุราและรู้สึกผิดปกติ ถ้ามากก็ปรากฏให้รู้ว่าเพราะสุราเป็นเหตุจึงผิดปกติ แต่ถ้าไม่ดื่มสุรา ไม่มีสุราเป็นเหตุ ความผิดปกตินั้นจะมีไม่ได้
ถ. บางวันทำงานรู้สึกเพลีย หัวมึนตึงๆ รู้สึกว่าดื่มสักนิด เลือดลม เดินคล่อง สบายขึ้น ถ้าไม่ดื่ม บางทีคนขอทานมาขอก็ไม่ให้ แต่พอดื่มแล้วสบายใจ ใครมาขอก็ให้
สุ. ถ้าอย่างนั้นเวลาจะให้กุศลจิตเกิด ก็ต้องดื่มสุราหรืออย่างไร ถ้าไม่ดื่มสุรากุศลจิตไม่เกิด แต่ควรพิจารณาถึงผลจริงๆ ของสุรา คือ เวลาที่ดื่มสุรามากแล้ว ผลที่แท้จริงปรากฏ คือ เป็นผู้ที่หลงลืมสติ มีความผิดปกติ สามารถจะกระทำสิ่งที่ผิดปกติทางกาย ทางวาจา ถูกไหม
ถ. ถ้าดื่มมากๆ
สุ. เพราะฉะนั้น เป็นโทษ
ถ. ถ้าดื่มมากจนเมาเป็นโทษแน่นอน ถ้าดื่มนิดๆ พอให้โล่งอกโล่งใจ เลือดลมเดินคล่อง และมีสติด้วย ก่อนดื่มก็รู้ว่านั่นเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ตอนที่รู้สึกสบายขึ้น ก็รู้ว่าเป็นเพียงแต่นามชนิดหนึ่ง
สุ. มีวิธีอื่นที่จะทำให้สบายโดยไม่อาศัยสุราบ้างไหม
ถ. ถ้ามึนๆ หัว ต้องไปอาบน้ำ หรือกินยาแอสไพริน
สุ. มีใช่ไหม คือ การที่จะทำให้ร่างกายสบาย และทำให้จิตใจรู้สึกสบายของแต่ละบุคคลก็คงมีหลายอย่าง แต่ให้ทราบว่า ทางแก้ทางอื่นที่นอกจากทางพระพุทธศาสนา เป็นทางแก้โดยอกุศลจิตทั้งสิ้น
ถ้าโดยทางพระพุทธศาสนา แก้อกุศลโดยการเจริญกุศล เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่ายังเป็นผู้ที่ยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ มีความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะมากน้อยแค่ไหน
แต่ละบุคคลเป็นผู้ที่เมาอยู่ในอกุศล มีอาสวะ การหมักดองของความยินดีพอใจในรูปที่ปรากฏทางตา ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในสังสารวัฏฏ์ เนิ่นนานมาก ซึ่งไม่สามารถหาวิธีอื่นที่จะรักษาได้โดยเด็ดขาด นอกจากการอบรมเจริญกุศลในทางธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงตรัสรู้และทรงแสดงแล้ว แต่ถ้าจะอาศัยอกุศลแก้อกุศล ทำให้รู้สึกสบายกาย สบายใจ ก็ยังไม่ใช่การรักษากายหรือใจ ให้หายจากโรคหรือความไม่สบายได้โดยเด็ดขาด
เพราะฉะนั้น ที่ถามว่า เวลาดื่มสุราสติจะเกิดได้ไหม ก็เหมือนกับขณะอื่นๆ ซึ่งอกุศลจิตกำลังเกิด สติจะระลึกได้ไหม จนกว่าจะถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคล ซึ่งจะเป็นผู้ที่ไม่ดื่มสุราเลย เพราะเป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยศีล ๕ ตามคุณธรรมของความเป็นพระโสดาบัน แต่ว่าอกุศลใดที่พระโสดาบันยังไม่ได้ดับ อกุศลนั้นก็ยังต้องเกิดอยู่
ถ. การที่เราได้มาฟังธรรม ถือว่าเป็นกุศลวิบากทางโสตทวาร ใช่ไหม
สุ. แน่นอน
ถ. สำหรับวิบาก เราจะบังคับให้เกิดไม่ได้ เมื่อเป็นผลของกรรม เราก็ต้องได้รับ ใช่ไหม
สุ. ใช่
ถ. วันนี้ได้ฟังอาจารย์ตลอดเวลา ก็ได้รับกุศลวิบากทางโสตทวาร เมื่อกลับถึงบ้าน เราอาจจะทำให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นอีกก็ได้ โดยที่เรามีเทปธรรม เราก็เปิดฟัง เหมือนกับว่าเราสามารถกระทำกุศลวิบากให้เกิดได้
สุ. ทำให้หลายท่านมีความเข้าใจว่า ท่านสามารถทำให้กุศลวิบากเกิดได้ เช่น กลับไปบ้านก็เปิดเทปธรรมฟัง เหมือนตัวท่านเป็นผู้ทำให้กุศลวิบากเกิด แต่ว่าจิตเป็นอนัตตา เจตสิกเป็นอนัตตา รูปเป็นอนัตตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ถ้า จักขุปสาทไม่เกิด ทำอย่างไร
ที่คิดว่าตนเองสามารถทำให้กุศลวิบากเกิดได้อีก คือ เปิดเทปฟังอีกได้ แต่ตามความเป็นจริง การได้ยินแต่ละครั้ง จะต้องมีโสตปสาทเกิดและยังไม่ดับ ใครจะทำให้โสตปสาทเกิดได้บ้าง สามารถเปิดเทปฟังธรรมได้อีกจริง แต่ไม่สามารถทำให้ โสตปสาทให้เกิด เพราะฉะนั้น โสตปสาทที่เกิดเป็นผลของกรรม ไม่ใช่เป็นเรา ขณะใดที่กรรมไม่ทำให้โสตปสาทเกิด แม้มีเทป แม้เปิด โสตวิญญาณก็ไม่เกิด จึงไม่มีตัวตนที่จะทำ แต่ว่ามีกรรมซึ่งเป็นปัจจัยทำให้โสตปสาทรูปเกิด และมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ โสตวิญญาณเกิดด้วย อย่าลืมปัจจัยหนึ่งของจิตได้ยิน คือ โสตปสาท ซึ่งไม่มีใครสามารถสร้างได้ ไม่มีใครสามารถทำให้เกิดได้
ถ. อย่างเรากลับไป เราก็ฟังอยู่ได้เรื่อยๆ
สุ. เพราะกรรมทำให้โสตปสาทเกิดอยู่ เกิดและก็ดับไป และก็เกิด และก็ดับไป จึงทำให้โสตวิญญาณเกิดได้ แต่ถ้ากลับไปบ้าน หูหนวก ก็ไม่มีทาง ไม่มีใครสามารถที่จะทำให้จักขุปสาท หรือโสตปสาท ชิวหาปสาท ฆานปสาท กายปสาท เกิดได้
สำหรับการบรรยายธรรมตามเรื่องที่ได้ตั้งใจไว้ คือ แนวทางเจริญวิปัสสนา เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นธรรมส่วนของปริยัติธรรม หรือปรมัตถธรรม จะเป็นเรื่อง จิตบ้าง เรื่องเจตสิกบ้าง หรือเรื่องของโพธิปักขิยธรรมบ้าง เรื่องของปัจจัยบ้างก็ตาม จุดประสงค์ก็เพื่อเกื้อกูลให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ในชีวิตประจำวัน จนกระทั่งสติสามารถเริ่มระลึกรู้และศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามที่เข้าใจเพิ่มขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล
บางท่านอาจจะคิดว่า การบรรยายแต่ละตอน หรือว่าแต่ละส่วนของธรรมดู เป็นเพียงสังเขปๆ คือ จิต ก็จิตตสังเขป หรือว่าปัจจัย ก็เป็นปัจจัยสังเขป ไม่ได้เป็นความละเอียดของปัจจัยแต่ละปัจจัย หรือว่าไม่ได้เป็นความละเอียดของจิตเป็นตอนๆ โดยครบถ้วน แต่ไม่ว่าจะกล่าวถึงธรรมข้อหนึ่งข้อใด เช่น จะเป็นจิต หรือเจตสิก หรือเสียง หรือรูป หรืออายตนะ หรืออริยสัจจะ หรืออะไรก็ตาม ย่อมสัมพันธ์กันทั้งสิ้น ไม่ใช่ว่าจะมีสภาพธรรมเพียงอย่างหนึ่งเกิดขึ้นปรากฏโดยที่ไม่สัมพันธ์ หรือว่า ไม่เกี่ยวข้อง ไม่สืบเนื่อง ไม่เป็นปัจจัยกับธรรมส่วนอื่นๆ
เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาจากอรรถกถา หรือแม้ในพระไตรปิฎก จะเห็นได้ว่า เมื่อกล่าวถึงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง จะแสดงถึงสภาพธรรมอื่นซึ่งเกี่ยวข้องสืบเนื่องสัมพันธ์เป็นปัจจัยกันด้วย
ดังนั้น ในการกล่าวถึงเรื่องของจิต ก็เป็นจิตตสังเขป และแม้แต่ธรรมประการต่อๆ ไป ที่จะได้กล่าวถึงซึ่งสืบเนื่องกับเรื่องของจิต ก็จะขอกล่าวถึงเพียงสังเขป เพื่อให้ท่านผู้ฟังสามารถศึกษาค้นคว้าต่อไปได้ด้วยตัวเองจากอรรถกถาต่างๆ ซึ่งในขณะนี้ได้แปลเป็นภาษาไทยไว้มากแล้ว เป็นการศึกษาด้วยตนเอง ซึ่งจะทำให้มีความรอบรู้แตกฉานได้เร็วกว่าการที่จะเพียงรับฟังแต่คำบรรยายเท่านั้น
ถ. ตทาลัมพนจิต ๑๑ ดวง คือ สันตีรณอกุศลวิบาก ๑ โสมนัสสันตีรณกุศลวิบาก ๑ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ๑ และมหาวิบาก ๘ จิต ๑๑ ดวงนี้ มี ดวงหนึ่ง คือ โสมนัสสันตีรณกุศลวิบาก ทำกิจปฏิสนธิไม่ได้ เป็นเพราะอะไร
สุ. จะต้องทบทวนถึงปฏิสนธิจิตก่อน และจะกล่าวถึงเหตุที่โสมนัสสันตีรณะไม่ทำปฏิสนธิกิจ ขอย้อนไปกล่าวถึงปฏิสนธิจิตก่อน และตทาลัมพนจิต
จากคำถามที่ท่านได้ฟัง ดูเป็นศัพท์ทางพระพุทธศาสนาซึ่งไม่เคยได้ยิน อาจเคยได้ยินคำว่า จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ซึ่งเป็นจิตในขณะนี้เองแต่เป็นภาษาบาลี คือ จิตที่เห็น หรือรู้อารมณ์ทางตา ชื่อว่าจักขุวิญญาณ คือ รู้ทางตา โสตวิญญาณ คือ จิตที่กำลังได้ยิน ขณะนี้มีสภาพธรรมที่กำลังได้ยินเสียง ภาษาบาลีใช้คำว่า โสตวิญญาณ
เพราะฉะนั้น ชื่อในภาษาบาลีอาจจะเป็นอุปสรรคหนึ่งที่ทำให้ท่านผู้ฟังใหม่ ไม่เข้าใจ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วก็คือสภาพธรรมแต่ละขณะในชีวิตประจำวันนี่เอง เช่น ตทาลัมพนจิต ขณะนี้ไม่ใช่ว่าไม่มี แต่เป็นสิ่งที่ไม่รู้ แม้ว่ามี ก็ไม่รู้ เพราะไม่สามารถจะรู้ได้ถึงการเกิดดับสืบต่อกันของจิตแต่ละประเภท
ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรม จะไม่เข้าใจเลยในลักษณะที่เป็นอนัตตาของจิต เพราะทุกคนก็รู้ว่า ทุกคนมีจิต แต่ว่าเป็นจิตของเราซึ่งเที่ยง เพราะฉะนั้น การเกิดดับของจิตสืบต่อกันแต่ละขณะในวันหนึ่งๆ เป็นจิตประเภทต่างๆ ย่อมไม่สามารถจะรู้ได้
ทางตาที่กำลังเห็น ถ้าบอกว่าเป็นจิต ฟังเข้าใจ แต่เพียงเข้าใจโดยชื่อว่าเป็นจิต แต่เป็นจิตอย่างไรที่ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะทุกครั้งที่เห็นจะมีความรู้สึกว่าเราเห็น เวลาที่ได้ยินก็เป็นเราได้ยิน แต่ทำไมบอกว่า เป็นจิต และ เป็นจิตซึ่งเกิดดับไม่เที่ยงด้วย
เพราะฉะนั้น แม้แต่เพียงสภาพธรรมที่มีอยู่ และกำลังเกิดขึ้นเป็นไป ถ้าไม่ศึกษาโดยละเอียด และไม่อบรมเจริญสติที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมให้ตรงตามที่ได้ศึกษา ย่อมไม่สามารถเข้าใจคำต่างๆ ศัพท์ต่างๆ เช่น ตทาลัมพนจิต หรือ ตทาลัมพนกิจ ตามคำถามเมื่อสักครู่นี้ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วขณะนี้เองเป็นสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับ มี แต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้น จึงเหมือนสิ่งที่ลึกลับ ไม่สามารถที่จะรู้ได้ ถ้าไม่อาศัยการฟังพระธรรม และพิจารณาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ
ก่อนที่จะเข้าใจเรื่องของตทาลัมพนกิจ ขอกล่าวถึงเรื่องของปฏิสนธิจิตต่อจากคราวก่อน ซึ่งทุกท่านจะเห็นได้ว่า ปฏิสนธิจิตทำให้แต่ละชีวิตต่างกัน เพราะว่า มีปฏิสนธิจิตในกามภูมิถึง ๑๐ ประเภท หรือ ๑๐ ดวง มิฉะนั้นแล้วแต่ละบุคคลย่อม ไม่ต่างกัน
ที่เกิดเป็นมนุษย์ต่างๆ กัน เกิดในสวรรค์บ้าง เกิดในอบายภูมิ ในนรก หรือเป็นเปรต อสุรกาย ดิรัจฉานบ้าง ก็เพราะกรรมที่ได้กระทำมาต่างๆ กัน และเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตซึ่งมีปรากฏอยู่ โดยที่ไม่สามารถจะรู้ล่วงหน้า เช่น ในขณะที่เกิด ย่อมไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า วิถีชีวิตของบุคคลซึ่งเกิดในขณะนั้นต่อไปจะประสบกับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ทุกข์ มากน้อยแค่ไหน ก็ย่อมเป็นไปตามกรรม ซึ่งเป็นเหตุให้ปฏิสนธิจิตดวงหนึ่งดวงใดใน ๑๐ ดวงเกิดขึ้น
สำหรับการเกิดเป็นมนุษย์ ต้องเป็นผลของกุศลกรรม ซึ่งกุศลกรรมก็มีทั้ง กุศลกรรมที่มีกำลัง ประกอบด้วยปัญญา และกุศลกรรมที่ไม่มีกำลัง คือ เป็น กุศลกรรมที่มีกำลังอ่อน ไม่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น ความเป็นอยู่ ความสนใจในธรรม การเข้าใจสภาพธรรมต่างๆ ย่อมแล้วแต่ปฏิสนธิจิต ซึ่งความต่างกัน ก็ต้องมาจากเหตุที่ต่างกัน ได้แก่ กรรม ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตนั้นๆ เกิดขึ้น
ท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่า มีประโยชน์อะไรที่จะรู้เรื่องปฏิสนธิจิต ในเมื่อปฏิสนธิจิตก็ดับไปแล้ว และแต่ละบุคคลก็มีปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในภพหนึ่งชาติหนึ่งเพียงขณะเดียวเท่านั้น จะไม่มีปฏิสนธิจิตเกิดอีกเลยในชาตินั้น แต่จะมีภวังคจิตซึ่งเป็นจิตประเภทเดียวกันกับปฏิสนธิจิตเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติในระหว่างที่ไม่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือการคิดนึกทางใจ
ซึ่งในวันหนึ่งๆ ประเภทของจิตต่างๆ ก็เกิดขึ้น สืบต่อสลับกันตามเหตุ ตามปัจจัย เป็นวิบาก คือ เป็นผลของกรรมบ้าง และเป็นเหตุให้เกิดผลข้างหน้าบ้าง
เพราะฉะนั้น ประโยชน์ที่จะรู้เรื่องปฏิสนธิจิต คือ หลังจุติจิตของชาตินี้แล้ว คือ หลังจากตายแล้ว ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อทันที ซึ่งไม่รู้ว่าจะเป็นวันไหน ไม่จำกัดวัยว่าจะต้องเป็นในวัยไหน และไม่จำกัดกาลเวลาว่า จะเป็นเช้า สาย บ่าย ค่ำ อาจจะเป็นเย็นนี้ พรุ่งนี้ หรือเมื่อไรก็ได้ เมื่อจุติจิตเกิดและดับไป ปฏิสนธิจิตต้องเกิดขึ้นสืบต่อทันที จึงควรจะต้องรู้เรื่องของปฏิสนธิจิต เพราะยังต้องมีปฏิสนธิจิตเกิดต่อจากจุติจิต
และเมื่อปฏิสนธิจิตเกิดแล้ว ก็จะต้องมีจุติอีก และมีปฏิสนธิอีก จุติอีก และปฏิสนธิอีก ตลอดเรื่อยไปในสังสารวัฏฏ์ ทำให้เป็นแต่ละบุคคล ซึ่งไม่สามารถจะระลึกได้ว่า เคยเป็นใครมาแล้วในอดีต แต่เคยเป็นใครมาแล้วในอดีต ก็เป็นอดีตจริงๆ คือ ไม่สามารถกลับไปสู่ความเป็นบุคคลนั้นได้อีก นี่คิดโดยระยะที่ห่าง แต่ถ้าสติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดในขณะนี้ เช่น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพแข็งที่กำลังปรากฏ ควรจะทราบว่า เพียงชั่วขณะหนึ่งในสังสารวัฏฏ์ที่แข็งนั้นปรากฏ และแข็งที่กำลังปรากฏนั้น จะไม่กลับมาปรากฏอีกเลย
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเห็นขณะหนึ่ง ก็เป็นเพียงชั่วขณะเดียวในสังสารวัฏฏ์ การได้ยินเสียงหนึ่งเสียงใดก็ตาม ก็เป็นเพียงชั่วขณะหนึ่งในสังสารวัฏฏ์ เสียงที่ได้ยินผ่านไปแล้วจะไม่กลับมาให้ได้ยินอีก เพราะฉะนั้น แต่ละขณะจึงเป็นการเกิดขึ้นและดับสูญไปไม่กลับมาอีกเลย แต่มีปัจจัยที่จะทำให้สภาพธรรม คือ นามธรรม ได้แก่ จิตและเจตสิก เกิดดับสืบต่อไม่มีวันหยุด เมื่อจุติแล้วต้องปฏิสนธิอีก เมื่อปฏิสนธิแล้วต้องจุติอีก และก็ต้องปฏิสนธิอีก จุติอีก เรื่อยๆ ไป
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๑๒๖๑ – ๑๒๗๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1261
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1262
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1263
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1264
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1265
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1266
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1267
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1268
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1269
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1270
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1271
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1272
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1273
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1274
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1275
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1276
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1277
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1278
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1279
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1280
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1281
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1282
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1283
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1284
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1285
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1286
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1287
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1288
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1289
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1290
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1291
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1292
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1293
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1294
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1295
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1296
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1297
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1298
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1299
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1300
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1301
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1302
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1303
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1304
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1305
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1306
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1307
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1308
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1309
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1310
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1311
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1312
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1313
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1314
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1315
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1316
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1317
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1318
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1319
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1320