แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1310
ครั้งที่ ๑๓๑๐
สาระสำคัญ
อารมณ์ของปฏิสนธิจิตไม่ปรากฏ
ภวังคุปัจเฉทะเป็นมโนทวาร
ภวังค์ มี ๕ อย่าง
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๒๗
แม้ไม่มีตา ไม่มีหู ไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น ไม่มีกาย แต่ตราบใดที่มีจิต จะไม่มีแต่เพียงปฏิสนธิและภวังค์ จะต้องมีวิถีจิต มีประโยชน์อะไรกับการที่ปฏิสนธิจิตเกิดและดับไป และภวังคจิตก็เกิดต่อไปเรื่อยๆ จะเหมือนโต๊ะ เหมือนเก้าอี้ไหม เพราะเหตุว่าไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่มีการคิดนึกใดๆ เลย ถ้าเป็นแต่เพียงปฏิสนธิจิตเกิดและดับไป และภวังคจิตเกิดต่อ
แม้ว่าลักษณะของนามธรรมไม่ใช่ลักษณะของรูปธรรม เพราะนามธรรมเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ส่วนรูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ มีลักษณะเฉพาะของรูปธรรมแต่ละอย่าง คือ ธาตุดินก็แข็ง มีปัจจัยเกิดขึ้นแข็งปรากฏ แต่ว่าไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ธาตุไฟก็เย็นหรือร้อน เกิดขึ้นโดยอาศัยเหตุปัจจัย มีลักษณะสภาพที่เย็นหรือร้อน แต่ไม่รู้อะไรเลย แต่นามธาตุเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ แม้ปฏิสนธิจิตก็เป็นสภาพที่รู้อารมณ์ แต่อารมณ์ของปฏิสนธิจิตไม่ปรากฏ เพราะเป็นอารมณ์ที่สืบต่อมาจากชาติก่อน คนละภพคนละชาติแล้ว ซึ่งชวนะสุดท้ายก่อนจุติจิตจะเกิด อารมณ์ปรากฏกับบุคคลก่อนที่จะสิ้นชีวิต แต่เมื่อจุติจิตดับ สูญสิ้นความเป็นบุคคลนั้น กรรมก็ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อ โดยมีอารมณ์เดียวกับชวนะสุดท้ายก่อนจุติ เพราะว่าอารมณ์ของชวนะสุดท้ายก่อนจุตินั้นเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย และต้องเป็นชนกกรรม คือ กรรมที่จะทำให้ปฏิสนธิด้วย
ทุกคนมีกรรมมากมายหลายกรรมนับไม่ถ้วน แต่เพียงกรรมหนึ่งที่จะเป็น ชนกกรรม ทำให้ก่อนจุติจริงๆ อารมณ์ใดจะปรากฏ ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น สำหรับชวนะสุดท้ายของชาติก่อน อารมณ์ปรากฏ แต่ปฏิสนธิจิตในชาติใหม่สืบต่อจากจุติจิต อารมณ์ไม่ปรากฏ เพราะเป็นอารมณ์ที่เกิดสืบต่อจากชาติก่อน ไม่ใช่อารมณ์ของชาตินี้
ชาตินี้ทุกคนเป็นคนใหม่ ไม่ใช่คนเดิมกับชาติก่อน เห็นสิ่งใหม่ๆ ซึ่งชาติก่อน ยังไม่เห็น
ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส เป็นสุข เป็นทุกข์ในชาตินี้ ซึ่งชาติก่อนยังไม่รู้เลยว่า จะเห็นอะไร จะได้ยินอะไร จะเป็นสุขเป็นทุกข์อย่างไร เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังเป็นปฏิสนธิและภวังค์ จะไม่รู้อารมณ์ของโลกซึ่งตนเองเกิดขึ้น จนกว่าวิถีจิตจะเกิด
แต่สำหรับผู้ที่ตาก็ไม่มี หู จมูก ลิ้น กายก็ไม่มี เช่น อรูปพรหมภูมิ คนที่เกิดเป็นอรูปพรหมบุคคล ไม่มีรูปปฏิสนธิ มีแต่นามขันธ์ คือ จิตและเจตสิกปฏิสนธิ เพราะฉะนั้น ก็มีแต่นามขันธ์ ๔ คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ปฏิสนธิ จึงชื่อว่า จตุโวการภูมิ
โดยการปฏิสนธิ จะนับเป็นเอกโวการภูมิ ได้แก่ ขันธ์หนึ่งปฏิสนธิ คือ รูปขันธ์ ได้แก่ อสัญญสัตตาพรหมภูมิ จตุโวการภูมิ ได้แก่ นามขันธ์ ๔ ปฏิสนธิ คือ อรูปพรหมภูมิ ซึ่งไม่มีรูปปฏิสนธิเลย และปัญจโวการภูมิ ได้แก่ ภูมิที่มีขันธ์ ๕ ปฏิสนธิ คือ ภูมิที่มีทั้งนามและรูปปฏิสนธิ
เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะเกิดในอรูปพรหมภูมิ ไม่มีรูปใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีตา ไม่มีหู ไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น ไม่มีกาย แต่เมื่อปฏิสนธิแล้วจะต้องมีทวารที่จะรู้อารมณ์ของภูมินั้นด้วย ไม่ใช่มีแต่ปฏิสนธิและเป็นภวังค์ ถ้าอย่างนั้นการเป็นอรูปพรหมบุคคลก็ ไม่มีความหมายอะไรเลย อุตส่าห์เจริญอรูปฌาน จากความสงบเล็กๆ น้อยๆ จนกระทั่งมั่นคงขึ้นถึงอัปปนาสมาธิ จนกระทั่งเป็นรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ เห็นโทษของรูปซึ่งยังเป็นอารมณ์อยู่ จึงเพิกรูป และมีอรูปเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น สภาพของจิตก็ละเอียดขึ้น เพราะห่างไกลจากรูปซึ่งเป็นอารมณ์ โดยมีอากาศเป็นอารมณ์ เป็นอรูปฌานที่ ๑ มีวิญญาณที่มีอากาศนั่นเองเป็นอารมณ์ เป็นอรูปฌานที่ ๒ ไม่มีอะไรเลยเป็นอารมณ์ เป็นอรูปฌานที่ ๓ และมีสัญญาอย่างละเอียด ซึ่งจะเป็นสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่เป็นสัญญาก็ไม่ใช่ เป็นอารมณ์ ซึ่งเป็นอรูปฌานที่ ๔ นี่ก็เป็นความละเอียดที่ยากที่จะเป็นไปได้ เพราะฉะนั้น เมื่อปฏิสนธิจิต คือ อรูปฌานวิบากจิตปฏิสนธิในอรูปพรหมเกิดขึ้นและดับไป ภวังคจิตซึ่งเป็นอรูปฌานวิบากก็เกิดสืบต่อ ถ้าไม่มีวิถีจิตจะเป็นการเปล่าประโยชน์ไหม ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย ไม่มีการรู้อารมณ์ ใดๆ ทั้งสิ้นเลย แต่สบายที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ ดีไหม ไม่ดีหรือ อยากเห็น อยาก ได้ยิน อยากได้กลิ่น อยากลิ้มรส อยากรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จึงเป็นอรูปพรหมไม่ได้
เพราะฉะนั้น ทุกอย่างต้องตามเหตุตามปัจจัย แต่ว่ามโนทวารวิถี คือ ถึงแม้ว่าจะไม่มีจักขุปสาท ไม่มีโสตปสาท ไม่มีฆานปสาท ไม่มีชิวหาปสาท ไม่มีกายปสาท ไม่มีรูปใดๆ เลยก็ตาม อารมณ์กระทบ ทำให้ภวังคจลนะไหว ดับไป ภวังคุปัจเฉทะเกิดต่อ เป็นกระแสภวังค์ดวงสุดท้ายสำหรับดำรงภพชาติเพื่อที่จะให้จิตอื่นเกิดขึ้นกระทำกิจอื่น รู้อารมณ์อื่น ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์
เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว วิถีจิตแรก คือ มโนทวาราวัชชนจิต เกิดขึ้น รู้อารมณ์ที่กระทบใจ ทุกคนมีอารมณ์กระทบใจ ถึงแม้ไม่เห็น นึก ขณะที่นึกหรือคิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนึ่งเรื่องใด คือ อารมณ์กระทบใจ โดยมโนทวาราวัชชนะรู้อารมณ์ที่กระทบนั้นและดับไป ต่อจากนั้นชวนจิต ซึ่งได้แก่ กุศลจิต หรืออกุศลจิต หรือ กิริยาจิตสำหรับพระอรหันต์ ก็เกิดดับสืบต่อ ๗ ขณะ นั่นคือมโนทวารวิถีจิต ซึ่งอาศัยภวังคุปัจเฉทะเป็นมโนทวาร
ถ้าภวังคุปัจเฉทะยังไม่เกิด วิถีจิตเกิดไม่ได้ เมื่อไม่ได้อาศัยตา ไม่ได้อาศัยหู ไม่ได้อาศัยจมูก ไม่ได้อาศัยลิ้น ไม่ได้อาศัยกาย แต่อารมณ์กระทบใจ เพราะฉะนั้น วิถีจิตที่เกิดขึ้นจึงเป็นมโนทวารวิถี โดยภวังคุปัจเฉทะเป็นมโนทวารของ มโนทวาราวัชชนจิต เพราะถ้าภวังคุปัจเฉทะไม่เกิด มโนทวาราวัชชนจิตเกิดไม่ได้ วิถีจิตเกิดไม่ได้ และก่อนที่กุศลจิตหรืออกุศลจิตจะเกิด มโนทวาราวัชชนจิตต้องเกิดก่อนทุกครั้ง เพราะเป็นวิถีจิตแรก
ต้องเข้าใจว่า การที่วิถีจิตแต่ละวิถีจิตจะเกิดได้ ต้องสืบต่อเป็นลำดับกันทางปัญจทวารและทางมโนทวารอย่างไร
เพราะฉะนั้น ภวังคุปัจเฉทะนั่นเองเป็นมโนทวาร และวิถีจิตแรก คือ มโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งเมื่อมโนทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว เป็นอนันตรปัจจัยให้กุศลจิต หรืออกุศลจิต หรือกิริยาจิตเกิดต่อ แต่อยู่ดีๆ จะให้กุศลจิตเกิดโดยมโนทวาราวัชชนจิตไม่เกิดก่อนนั้น ไม่ได้ ไม่มีทางที่กุศลจิตหรืออกุศลจิตจะเกิดได้เอง เพราะกุศลจิตและอกุศลจิตไม่ใช่วิถีจิตแรก วิถีจิตแรกทางมโนทวารต้องเป็นมโนทวาราวัชชนจิต และ วิถีจิตแรกทางปัญจทวารต้องเป็นปัญจทวาราวัชชนจิต
ถ. ขณะที่รู้อารมณ์ทางใจ โดยไม่อาศัยทวารทั้ง ๕ ตัวอย่างเช่น เรื่องราว ที่รู้ เป็นรูปใช่ไหม
สุ. เป็นรูปไม่ได้ ถ้าเป็นเรื่องก็ไม่ใช่รูป
ถ. ถ้าเป็นเรื่องราวไม่เป็นรูป ถ้าเป็นสิ่งที่รู้ทางใจในขณะที่เราคิดนึก โดยไม่ต้องอาศัยทวารทั้ง ๕ ขณะที่นึกคิด ถ้าไม่เป็นเรื่องราว เป็นอารมณ์ที่รับรู้ทางใจ เป็นรูปได้ไหม
สุ. เป็นรูปได้ สืบต่อจากทางปัญจทวารก็ได้ หรือนึกถึงรูปด้วยสัญญา ความทรงจำก็ได้ ถ้าไม่เป็นเรื่อง
ถ. ขณะที่จิตรู้ ก็เป็นนาม
สุ. สภาพรู้เป็นนามธรรม
ถ. สภาพรู้เป็นนามธรรม ทางใจก็มีทั้งรูปทั้งนามเหมือนกัน ถูกไหม
สุ. อย่าลืม จำรูป ขณะที่จำรูป มีอะไรเป็นอารมณ์ สัญญาความจำ นั่นจำรูปได้ไหม นึกถึงรูป นึกได้ไหม นึกให้ชัดเชียว นึกได้ไหม ได้ เพราะฉะนั้น ก็มีรูปเป็นอารมณ์ได้ แต่ถ้าเป็นรูปปรมัตถ์จริงๆ ไม่ใช่เพียงความทรงจำ จะต้องเป็นรูปที่สืบต่อจากทางปัญจทวาร
เพราะฉะนั้น จะเห็นความต่างกันของในขณะที่เห็น จักขุทวารวิถีจิตดับไปหมดแล้ว ภวังค์เกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตเกิดต่อ ดูเสมือนเป็นรูปเดียวกัน เพราะว่า มโนทวารวิถีจิตมีรูปที่สืบต่อจากปัญจทวารเป็นอารมณ์ นั่นตอนหนึ่ง และเมื่อไม่มีรูปที่สืบต่อจากปัญจทวารเป็นอารมณ์ ผ่านไปนาน และนึกถึงรูปนั้น สัญญา ความจำ นั่นล่ะจำรูป
สำหรับคำว่า ภวังค์ มี ๕ อย่างที่ควรจะทราบ คือ
๑. ปฐมภวังค์ ได้แก่ ภวังค์ขณะแรกต่อจากปฏิสนธิเพียงขณะเดียว และที่กล่าวถึงปฐมภวังค์ เพราะมีรูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน
ปฏิสนธิจิตไม่มีรูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน เพราะปฏิสนธิจิตมีกำลังอ่อน สภาพของปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิตซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย เพิ่งเกิดขึ้นเป็น ครั้งแรกในชาตินั้น จึงไม่เป็นสมุฏฐานที่จะให้รูปเกิดขึ้น แต่เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ปฐมภวังค์ คือ ภวังค์ซึ่งเกิดสืบต่อจากปฏิสนธิ มีจิตตชรูปเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของปฐมภวังค์
นี่เป็นเหตุที่ควรจะได้ทราบถึงภวังค์ต่างๆ เพราะมีความต่างกัน
๒. ต่อจากปฐมภวังค์ คือ ภวังค์ที่ ๒ ที่ ๓ เรื่อยไป ไม่มีการนับ เพราะถ้านับ ไม่รู้ว่าจะใช้เลขอะไร ต่อจากปฐมภวังค์มาจนกระทั่งถึงชีวิตวันนี้ ไม่ทราบว่าเป็นภวังค์ดวงที่เท่าไรแล้ว เพราะฉะนั้น ก็เป็นภวังค์ ซึ่งหมายความถึงไม่ใช่ภวังค์ดวงแรกที่เกิดต่อจากปฏิสนธิ ไม่ใช่ภวังค์ที่ถูกอารมณ์อื่นกระทบ ไม่ใช่ภวังค์ที่ไหวตามอารมณ์อื่นที่กระทบ และไม่ใช่ภวังค์ดวงสุดท้ายของกระแสภวังค์ที่ดำรงภพชาติไว้ให้จิตอื่นเกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่นและทำกิจอื่น
๓. อตีตภวังค์ ได้แก่ ภวังค์ที่อารมณ์ผ่านปสาทรูปไปกระทบ ถ้าใช้คำว่า อตีตภวังค์ หมายความว่า อารมณ์ คือ รูป กระทบกับปสาทรูปหนึ่งปสาทรูปใดใน ๕ ปสาทรูป และก็กระทบภวังค์ ซึ่งภวังค์ที่กระทบนั้น ชื่อว่าอตีตภวังค์
๔. ภวังคจลนะ คือ ภวังค์ที่ไหวตามอารมณ์อื่นที่กระทบ
๕. ภวังคุปัจเฉทะ คือ ภวังค์ดวงสุดท้ายของกระแสภวังค์ที่ดำรงภพชาติไว้ ให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นทำกิจอื่นและมีอารมณ์อื่น
เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดต่อจากภวังคุปัจเฉทะ ต้องมีอารมณ์อื่น และเป็นจิตอื่นซึ่งไม่ใช่ภวังคจิต
สำหรับทางมโนทวารวิถี ไม่มีอตีตภวังค์ เนื่องจากไม่ได้เกิดขึ้นเพราะอารมณ์กระทบกับปสาทรูป แต่เกิดขึ้นเพราะอารมณ์กระทบจิต จึงทำให้ภวังคจลนะเกิดขึ้นไหวตามอารมณ์ที่กระทบและดับไป ภวังคุปัจเฉทะก็เกิดต่อ เป็นกระแสภวังค์ดวงสุดท้าย และมโนทวาราวัชชนจิตจึงเกิดขึ้นเป็นวิถีจิตแรกทางมโนทวาร
ถ. อารมณ์กระทบกับอตีตภวังค์ กระทบอย่างไร ปกติถ้าอารมณ์กระทบกับจิต จิตต้องรู้อารมณ์นั้น ใช่ไหม
สุ. เสียงกระทบกับโสตปสาท แต่ถ้าไม่กระทบกับอตีตภวังค์ จะไม่มีการ ได้ยินเลย
ถ. ที่ว่ากระทบกับอตีตภวังค์นั้น จริงๆ แล้วกระทบกับปสาทรูป
สุ. อตีตภวังค์ คือ ภวังค์ที่อารมณ์กระทบกับปสาทรูป ในขณะที่อารมณ์กระทบกับปสาทรูปนั่นเอง ก็กระทบกับภวังค์ด้วย ภวังค์ที่ถูกกระทบ ชื่อว่าอตีตภวังค์ เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นอตีตภวังค์ขณะไหน ที่ไหนในพระไตรปิฎก ก็รู้ว่าเป็นภวังค์ที่อารมณ์กระทบกับปสาทรูป และกระทบกับอตีตภวังค์ด้วย
ถ. ในเมื่ออตีตภวังค์ถูกอารมณ์กระทบ อตีตภวังค์จะรู้อารมณ์อะไร
สุ. ถ้าเสียงไม่เกิดขึ้น ภวังค์ก็เกิดดับสืบต่อไปเรื่อยๆ ถ้าเสียงไม่เกิดขึ้นกระทบกับโสตปสาท ภวังคจิตก็เกิดดับสืบต่อเป็นภวังค์อยู่เรื่อยๆ แต่เพราะเสียงเกิดและกระทบกับโสตปสาท และกระทบกับภวังค์ ซึ่งภวังค์ที่ถูกกระทบนั้น เป็นเครื่องหมายให้รู้ว่า เป็นภวังค์ที่ถูกกระทบด้วยรูปที่กระทบกับปสาท
ถ. ตอนกระทบมีลักษณะไหม คือ ปกติเมื่อจิตกระทบกับอารมณ์ ผัสสะจะรู้อารมณ์นั้น ใช้คำว่ากระทบ จึงสงสัยว่า ปกติอตีตภวังค์มีอารมณ์เดียวกับ ปฏิสนธิจิต ถ้าอตีตภวังค์ถูกอารมณ์อื่นกระทบ แต่อตีตภวังค์ก็ไม่รู้อารมณ์นั้น เพราะต้องรู้อารมณ์เดิมนั้นอยู่
สุ. ยังไม่รู้ เพราะยังเป็นภวังค์ ภวังค์เปลี่ยนอารมณ์ไม่ได้เลย แต่ว่าเมื่อรูป คือ เสียง กระทบกับโสตปสาท ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยหรือ หรือว่ามีการกระทบกับภวังค์ จึงมีการได้ยินเกิดขึ้น เพราะถ้าไม่กระทบภวังค์ ก็ยังคงเป็นภวังค์อยู่เรื่อยๆ แต่การที่เสียงกระทบกับโสตปสาท เป็นปัจจัยที่จะทำให้มีการได้ยินเกิดขึ้น แต่ก่อนที่จะมีการ ได้ยิน จะต้องกระทบกับภวังค์ เพราะว่าจิตกำลังเป็นภวังค์อยู่
ถ. เป็นปัจจัยแก่อตีตภวังค์ด้วยหรือ
สุ. ไม่เป็นปัจจัยแก่อตีตภวังค์ เพราะอตีตภวังค์มีอารมณ์เดียวกับ ปฏิสนธิจิต แต่ต้องมีการกระทบ ถ้าไม่มีการกระทบ โสตปสาทรูปไม่มีความหมายเลย เพราะจิตได้ยินเกิดเองไม่ได้แน่นอน แต่จะเกิดได้ต่อเมื่อเสียงกระทบกับโสตปสาทรูป เพราะฉะนั้น การที่เสียงกระทบกับโสตปสาทรูปนั่นเองเป็นปัจจัยให้จิตได้ยินเกิดขึ้น โดยต้องกระทบกับภวังค์ก่อน และถ้ากระทบโดยที่ภวังคจลนะไม่เกิด ภวังคุปัจเฉทะ ไม่เกิด โสตทวารวิถีจิตก็เกิดไม่ได้
ที่จะได้ยินแต่ละครั้ง ต้องอาศัยปัจจัย โดยอนันตรปัจจัยด้วย ตั้งแต่อตีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ ปัญจทวาราวัชชนะ นี่เป็นโดยอนันตรปัจจัยทั้งสิ้น
ปฏิสนธิเกิดขึ้นขณะเดียวและดับไป สั้นที่สุด เล็กน้อยที่สุด ต่อจากนั้นภวังคจิตก็เกิดดับสืบต่อ จนกว่าวิถีจิตจะเกิดเป็นวิถีจิตแรกทางมโนทวาร โดยอารมณ์กระทบใจทำให้ภวังคจลนะไหวตามอารมณ์ที่กระทบนั้นและดับไป ภวังคุปัจเฉทะ เกิดต่อและก็ดับ เป็นมโนทวาร ต่อจากนั้นมโนทวาราวัชชนจิตก็เกิด และดับไป
สำหรับชวนวิถีจิตที่เกิดต่อจากมโนทวาราวัชชนะ ชวนะแรกของทุกภพทุกชาติเป็นโลภมูลจิต โลภมูลจิตซึ่งทุกคนมีทุกวันเป็นประจำ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่สูญหายเลย เก็บสะสมเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ทำให้ ชวนวิถีแรกที่เกิดต่อจากมโนทวาราวัชชนจิตเป็นโลภมูลจิต
พอรู้สึกตัว เพียงรู้สึกตัว ทางใจก็เป็นความยินดีพอใจแล้วในภพชาติที่เกิด น่ากลัวไหม เพียงรู้สึกตัวนิดเดียวหลังจากปฏิสนธิจิตดับไป ภวังคจิตดับไป และเริ่มรู้สึกตัวทางใจ ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยินอะไรทั้งสิ้น โลภชวนวิถีก็เกิดดับสืบต่อ ๗ ขณะ ฟังแล้วกลัว ใช่ไหม แต่อย่าลืม นี่เป็นระยะที่สั้นที่สุด คือ ๗ ขณะเท่านั้น หลังจากนั้นจะมีโลภชวนะเกิดอีกมากเท่าไรใครรู้บ้าง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนกว่าจะตาย
ถ้าเทียบแล้ว โลภชวนวิถี ๗ ขณะ ชวนะแรกของภพใหม่ หลังจากที่ปฏิสนธิจิต ภวังค์จิต และมโนทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว น้อยมาก เมื่อเทียบกับชีวิตประจำวัน ซึ่งเริ่มเจริญเติบโตขึ้น ยังไม่มีอะไรเลย ตาก็ยังไม่มี หูก็ยังไม่มี ถ้าเกิดในครรภ์ แต่ เมื่อตามีแล้ว ลองคิดดู โลภะเท่าไร
ตั้งแต่เด็ก ก็มีความยินดีพอใจแบบเด็ก และวิจิตรขึ้นตามวันเวลา จนกว่าจะถึงเวลาที่จากโลกนี้ไป ความวิจิตรของโลภะทางตาจะมากเท่าไร และไม่ใช่แต่เฉพาะ ทางตาเท่านั้น ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจด้วย เพราะฉะนั้น ชวนวิถีที่เป็นโลภมูลจิต ๗ ขณะแรกยังไม่น่ากลัวเท่ากับเมื่อเจริญเติบโตขึ้น และมีโลภะที่วิจิตรต่างๆ เพิ่มขึ้นมากมาย ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ๆ เรื่อยๆ โลภะที่มีอยู่แล้วยังไม่พอ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ที่มีอยู่แล้วพอไหม ประดิษฐ์ใหม่อีก เพิ่มอีกเรื่อยๆ
เพราะฉะนั้น จะเห็นพระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาค ซึ่งถ้าไม่ทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียด จะไม่มีใครรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ถ้าท่านผู้ฟังรู้จักตัวเองว่าไม่ดี ถูกหรือผิด
โดยมากไม่ชอบเลยถ้ามีใครบอกว่าท่านไม่ดี แต่ตามความเป็นจริง ถ้า พระธรรมไม่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด จะมีใครรู้ตัวบ้างว่าไม่ดีเลย ไม่ดีอย่างมากมายด้วย คนอื่นที่กล่าวว่าท่านไม่ดี ยังไม่รู้ความจริงแท้ของใจของท่านซึ่งไม่ดียิ่งกว่าที่ คนอื่นเห็น หรือที่คนอื่นรู้ คนอื่นอาจจะเห็นเพียงบางครั้ง บางโอกาส บางเหตุการณ์ แต่ใจของท่านเองท่านสามารถรู้ได้จริงๆ ว่า สะสมความไม่ดีไว้มากกว่าที่คนอื่นเห็น และผู้ใดยอมรับความจริงว่าตนเองไม่ดี ผู้นั้นก็จะเริ่มอบรมเจริญกุศลเพื่อขัดเกลาอกุศลทั้งหลายให้เบาบาง
แต่ตราบใดที่คิดว่าดีแล้ว อกุศลจะเพิ่มมากขึ้น เพราะไม่คิดที่จะละอกุศล เนื่องจากเข้าใจว่าดีแล้ว
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๑ ตอนที่ ๑๓๐๑ – ๑๓๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1261
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1262
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1263
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1264
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1265
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1266
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1267
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1268
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1269
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1270
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1271
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1272
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1273
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1274
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1275
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1276
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1277
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1278
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1279
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1280
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1281
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1282
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1283
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1284
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1285
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1286
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1287
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1288
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1289
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1290
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1291
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1292
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1293
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1294
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1295
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1296
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1297
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1298
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1299
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1300
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1301
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1302
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1303
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1304
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1305
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1306
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1307
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1308
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1309
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1310
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1311
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1312
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1313
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1314
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1315
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1316
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1317
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1318
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1319
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1320