แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1319
ครั้งที่ ๑๓๑๙
สาระสำคัญ
วินย.จีวรขันธกะ - เรื่องวิสาขามิคารมารดา (เรื่องของพร)
“ขอพร” - ขอโอกาสที่จะได้ทำกุศล
คาถาอนุโมทนา
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๒๗
ครั้นผ่านราตรีนั้นไป ฝนตั้งเค้าขึ้นในทวีปทั้ง ๔ ตกลงมาห่าใหญ่
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฝนตกในเชตวันฉันใด ตกในทวีปทั้ง ๔ ก็ฉันนั้น พวกเธอจงสรงสนานกายกันเถิด เพราะเป็นครั้งสุดท้ายที่ฝนห่าใหญ่ตั้งเค้าขึ้นในทวีปทั้ง ๔
ภิกษุเหล่านั้นรับสนองพระพุทธบัญชาว่า
เป็นดังพระพุทธดำรัส พระพุทธเจ้าข้า
แล้วพากันเปลื้องผ้าสรงสนานกายอยู่
ครั้งนั้น นางวิสาขา มิคารมาตา สั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวของบริโภคอันประณีต แล้วสั่งทาสีว่า ไปเถิดแม่ เจ้าจงไปอารามแล้วแจ้งภัตกาลว่า ถึงเวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว เจ้าข้า
ทาสีนั้นรับคำว่า เป็นเช่นนั้นเจ้าข้า แล้วไปวัด ได้เห็นภิกษุเปลื้องผ้าสรงสนานกาย ครั้นแล้วเข้าใจผิดคิดว่า ในอารามไม่มีภิกษุ มีแต่พวกอาชีวกสรงสนานอยู่ จึงกลับไปบ้านและได้แจ้งความนั้นแก่นางวิสาขา มิคารมาตาทราบ แต่ว่านางวิสาขา มิคารมาตาเป็นสตรีฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา รู้ได้ทันทีว่า พระคุณเจ้าทั้งหลายคงเปลื้องผ้าพากันสรงสนานกายเป็นแน่ นางคนนี้เขลาจึงสำคัญว่า ไม่มีภิกษุในอาราม มีแต่พวกอาชีวกสรงสนานกายอยู่ จึงสั่งสาวใช้ให้ไปอีกครั้งหนึ่งว่า เจ้าจงไปอาราม แล้วแจ้งภัตกาลว่า ถึงเวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้วเจ้าข้า
เมื่อสาวใช้ไปที่พระวิหารเชตวันอีกครั้งหนึ่ง ก็เป็นเวลาที่ท่านพระภิกษุเหล่านั้นได้ต่างถือจีวรเข้าไปสู่ที่อยู่ของตน ทาสีนั้นก็ไม่เห็นภิกษุทั้งหลายอีก จึงเข้าใจผิดคิดว่า ไม่มีภิกษุในอาราม อารามว่างเปล่า จึงกลับไปบ้านแล้วแจ้งความนั้นแก่นางวิสาขา มิคารมาตาว่า ไม่มีภิกษุในอาราม อารามว่างเปล่าเจ้าค่ะ
แต่นางวิสาขา มิคารมาตาเป็นสตรีฉลาด เฉียบแหลม ก็ได้สั่งสาวใช้อีกว่า ไปเถิดแม่นางทาสี เจ้าจงไปอาราม แล้วแจ้งภัตกาลว่า ถึงเวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้วเจ้าข้า
ท่านเป็นพระอริยสาวก เพราะฉะนั้น ท่านสามารถพิจารณาเหตุการณ์ทั้งหลายได้ถูกต้องตามความเป็นจริง
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเตรียมบาตรจีวร ถึงเวลาภัตตาหารแล้ว
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระพุทธบัญชาว่า เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า
ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรจีวร เสด็จหายไปในพระเชตวัน มาปรากฏที่ซุ้มประตูบ้านนางวิสาขา มิคารมาตา ดุจบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียดฉะนั้น พระองค์ประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่เขาปูลาดถวาย พร้อมด้วยพระสงฆ์
ขณะนั้น นางวิสาขา มิคารมาตากล่าวว่า ชาวเราผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริงหนอ ชาวเราผู้เจริญ ประหลาดจริงหนอ พระตถาคตชื่อว่ามีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เพราะเมื่อห้วงน้ำไหลนองไปเพียงเข่าบ้าง เพียงสะเอวบ้าง เท้าหรือจีวรของภิกษุแม้ รูปหนึ่งก็ไม่ได้เปียกน้ำ ดังนี้แล้ว ร่าเริง เบิกบานใจ อังคาสภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยมือของตน จนยังพระผู้มีพระภาคผู้เสวยเสร็จแล้ว ทรงนำพระหัตถ์ออกจากบาตร ให้ห้ามภัตรแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคว่า
หม่อมฉันทูลขอประทานพร ๘ ประการต่อพระผู้มีพระภาค พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ตถาคตเลิกให้พรเสียแล้ว วิสาขา
ท่านวิสาขา มิคารมาตา กราบทูลว่า
หม่อมฉันทูลขอประทานพรที่สมควรและไม่มีโทษ พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
จงบอกมาเถิด วิสาขา
ท่านผู้ฟังจะพิจารณาได้ว่า พรที่ท่านเคยขอจากผู้ใหญ่ที่ท่านเคารพในวันพิเศษ เช่น ในวันเกิด จะตรงกับพรหรือมีจุดประสงค์ตรงกับพรของท่านวิสาขา มิคารมาตาหรือเปล่า เพราะส่วนมากท่านหวังที่จะได้รับพร คือ ลาภบ้าง ยศบ้าง สุขบ้าง สรรเสริญบ้าง แต่ขอให้ดูพรของท่านวิสาขา มิคารมาตาว่า ไม่ได้หวังที่จะได้อย่างที่ ทุกๆ ท่านหวัง
มีท่านผู้หนึ่ง เมื่อถึงวันเกิดท่านก็ขอพร ดิฉันก็บอกว่า ขอให้มีกุศลทุกประการ ท่านก็บอกว่า เท่านั้นหรือ คงอยากจะให้มีอย่างอื่นอีกเป็นส่วนประกอบมากมาย เพราะฉะนั้น ควรถึงเวลาที่จะได้พิจารณาเรื่องของพรว่า ควรจะเป็นอย่างไร
ท่านวิสาขา มิคารมาตา กราบทูลว่า
พระพุทธเจ้าข้า สำหรับพระสงฆ์ หม่อมฉันปรารถนาจะถวายผ้าวัสสิกสาฎก จะถวายภัตเพื่อพระอาคันตุกะ จะถวายภัตเพื่อพระที่เตรียมจะไป จะถวายภัตเพื่อพระอาพาธ จะถวายภัตเพื่อพระที่พยาบาลพระอาพาธ จะถวายเภสัชสำหรับ พระอาพาธ จะถวายยาคูประจำ และสำหรับภิกษุณีสงฆ์ หม่อมฉันปรารถนาจะถวายอุทกสาฎก จนตลอดชีพ
เป็นพรหรือเปล่า ขอให้ได้โอกาสที่จะได้ทำกุศล ควรจะเป็นพร เพราะเป็นเหตุสำคัญในชีวิต เป็นสิ่งที่ทุกท่านน่าที่จะตั้งใจปรารถนาที่จะกระทำความดียิ่งขึ้น ในโอกาสพิเศษ เช่น ในวันเกิด ถ้าคิดจะปรารถนาอะไร ก็ขอให้ปรารถนาที่จะได้กระทำกุศลให้มากขึ้น ให้เพิ่มขึ้น แทนที่จะหวังรับผลของกุศลโดยที่ไม่ได้คิดถึงเหตุ แต่ผู้ที่เป็นบัณฑิต ท่านขอโอกาส คือ ขอพรที่จะได้ทำกุศล
ท่านผู้ฟังคงจะเริ่มคิดได้ว่า ท่านต้องการพรกี่ประการ คือ ตั้งใจที่จะทำกุศลทั้งนั้นให้ยิ่งขึ้น เป็นข้อๆ ทีเดียว
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
วิสาขา ก็เธอเห็นอำนาจประโยชน์อะไรจึงขอพร ๘ ประการต่อตถาคต
ท่านวิสาขา มิคารมาตา กราบทูลว่า
พระพุทธเจ้าข้า วันนี้หม่อมฉันสั่งทาสีว่า ไปเถิดแม่ทาสี เจ้าจงไปอาราม แล้วบอกภัตกาลว่า ภัตตาหารเสร็จแล้วเจ้าข้า และนางก็ไปวัด ได้เห็นภิกษุทั้งหลายเปลื้องผ้าสรงสนานกายอยู่ เข้าใจผิดคิดว่า ไม่มีภิกษุในอาราม มีแต่พวกอาชีวก สรงสนานกายอยู่ จึงกลับมาบ้าน แล้วรายงานแก่หม่อมฉันว่า คุณนาย ไม่มีภิกษุในอาราม มีแต่พวกอาชีวกสรงสนานกายอยู่
๑. พระพุทธเจ้าข้า ความเปลือยกายไม่งาม น่าเกลียด น่าชัง หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาจะถวายผ้าวัสสิกสาฎกแก่พระสงฆ์ จนตลอดชีพ
๒. อนึ่ง ข้ออื่นยังมีอีก พระพุทธเจ้าข้า พระอาคันตุกะไม่ชำนาญหนทาง ไม่รู้จักที่โคจร ย่อมเที่ยวบิณฑบาตลำบาก ท่านฉันอาคันตุกภัตของหม่อมฉัน พอชำนาญหนทาง รู้จักที่โคจร จักเที่ยวบิณฑบาตได้ไม่ลำบาก หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาจะถวายอาคันตุกภัตแก่พระสงฆ์ จนตลอดชีพ
๓. อนึ่ง ข้ออื่นยังมีอีก พระพุทธเจ้าข้า พระผู้เตรียมตัวจะไป มัวแสวงหาภัตตาหารเพื่อตนอยู่ จักพลาดจากหมู่เกวียน หรือจักถึงสถานที่ที่ตนต้องการจะไปอยู่เมื่อพลบค่ำ จักเดินทางลำบาก ท่านฉันคมิกภัตของหม่อมฉันแล้ว จักไม่พลาดจากหมู่เกวียน หรือจักถึงสถานที่ที่ตนต้องการจะไปอยู่ไม่พลบค่ำ จักเดินทางไม่ลำบาก หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาจะถวายคมิกภัตแก่พระสงฆ์ จนตลอดชีพ
๔. อนึ่ง ข้ออื่นยังมีอีก พระพุทธเจ้าข้า เมื่อพระอาพาธไม่ได้โภชนาหารที่เป็นสัปปายะ อาพาธจักกำเริบ หรือท่านจักถึงมรณภาพ เมื่อท่านฉันคิลานภัตของหม่อมฉันแล้ว อาพาธจักทุเลา ท่านจักไม่ถึงมรณภาพ หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาจะถวายคิลานภัตแก่สงฆ์ จนตลอดชีพ
๕. อนึ่ง ข้ออื่นยังมีอีก พระพุทธเจ้าข้า พระผู้พยาบาลพระอาพาธ มัวแสวงหาภัตตาหารเพื่อตน จักนำภัตตาหารไปถวายพระอาพาธจนสาย ตนเองจักอดอาหาร ท่านได้ฉันคิลานุปัฏฐากภัตของหม่อมฉันแล้ว จักนำภัตตาหารไปถวาย พระอาพาธตามเวลา ตนเองก็จักไม่อดอาหาร หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาจะถวายคิลานุปัฏฐากภัตแก่พระสงฆ์ จนตลอดชีพ
๖. อนึ่ง ข้ออื่นยังมีอีก พระพุทธเจ้าข้า เมื่อพระอาพาธไม่ได้เภสัชที่เป็น สัปปายะ อาพาธจักกำเริบ หรือจักถึงมรณภาพ เมื่อท่านฉันคิลานเภสัชของหม่อมฉันแล้ว อาพาธจักทุเลา ท่านจักไม่ถึงมรณภาพ หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาจะถวายคิลานเภสัชแก่พระสงฆ์ จนตลอดชีพ
๗. อนึ่ง ข้ออื่นยังมีอีก พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงเห็นอานิสงส์ ๑๐ ประการ ได้ทรงอนุญาตยาคูไว้แล้ว ที่เมืองอันธกวินทะ หม่อมฉันเห็นอานิสงส์ตามที่พระองค์ตรัสนั้น จึงปรารถนาจะถวายยาคูประจำแก่พระสงฆ์ จนตลอดชีพ
๘. พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุณีทั้งหลายเปลือยกายอาบน้ำร่วมท่ากับหญิงแพศยา ณ แม่น้ำอจิรวดีนี้ หญิงแพศยาเหล่านั้นพากันเย้ยหยันภิกษุณีว่า แม่เจ้าเอ่ย พวกท่านกำลังสาวประพฤติพรหมจรรย์จะได้ประโยชน์อะไร ควรบริโภคกามมิใช่หรือ ประพฤติพรหมจรรย์ต่อเมื่อแก่เฒ่าอย่างนี้ จักเป็นอันพวกท่านยึดส่วนทั้งสองไว้ได้ หญิงแพศยาเหล่านั้นพากันเย้ยหยันภิกษุณี ภิกษุณีเหล่านั้นถูกพวกหญิงแพศยา เย้ยหยันอยู่ ได้เป็นผู้เก้อ ความเปลือยกายของมาตุคามไม่งาม น่าเกลียด น่าชัง หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาจะถวายผ้าอุทกสาฎกแก่ภิกษุณีสงฆ์ จนตลอดชีพ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
วิสาขา ก็เธอเห็นอานิสงส์อะไร จึงขอพร ๘ ประการต่อตถาคต
ท่านวิสาขา มิคารมาตา กราบทูลว่า
พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุทั้งหลายในพระธรรมวินัยนี้ จำพรรษาในทิศทั้งหลายแล้ว จักมาพระนครสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระองค์ แล้วจักทูลถามว่า ภิกษุมีชื่อนี้ถึงมรณภาพแล้ว ท่านมีคติอย่างไร มีภพหน้าอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า พระองค์จักทรงพยากรณ์ภิกษุนั้นในโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตตผล
หม่อมฉันจักเข้าไปหาภิกษุพวกนั้น แล้วเรียนถามว่า พระคุณเจ้ารูปนั้นเคยมาพระนครสาวัตถีไหมเจ้าข้า ถ้าท่านเหล่านั้นจักตอบแก่หม่อมฉันว่า ภิกษุนั้นเคยมาพระนครสาวัตถี หม่อมฉันจักถึงความตกลงใจในการมาของพระคุณเจ้ารูปนั้นว่า พระคุณเจ้ารูปนั้นคงใช้สอยผ้าวัสสิกสาฎก คงฉันอาคันตุกภัต คมิกภัต คิลานภัต คิลานุปัฏฐากภัต คิลานเภสัช หรือยาคูประจำเป็นแน่
เมื่อหม่อมฉันระลึกถึงกุศลนั้นอยู่ ความปลื้มใจจักบังเกิด เมื่อหม่อมฉันปลื้มใจแล้ว ความอิ่มใจจักบังเกิด เมื่อมีใจอิ่มเอิบแล้ว กายจักสงบ เมื่อมีกายสงบแล้ว จักเสวยสุข เมื่อมีความสุข จิตจักตั้งมั่น จักเป็นอันหม่อมฉันได้อบรมอินทรีย์ อบรมพละ อบรมโพชฌงค์นั้น หม่อมฉันเห็นอานิสงส์นี้ จึงขอประทานพร ๘ ประการต่อพระองค์ พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดีละ ดีละ วิสาขา ดีแท้ วิสาขา เธอเห็นอานิสงส์นี้ จึงขอพร ๘ ประการ ต่อตถาคต เราอนุญาตพร ๘ ประการแก่เธอ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนานางวิสาขา มิคารมาตา ด้วยพระคาถาเหล่านี้ ว่าดังนี้
คาถาอนุโมทนา
สตรีใดให้ข้าวและน้ำ มีใจเบิกบานแล้ว สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นสาวิกาของ พระสุคต ครอบงำความตระหนี่แล้ว บริจาคทานอันเป็นเหตุแห่งสวรรค์ เป็นเครื่องบรรเทาความโศก นำมาซึ่งความสุข สตรีนั้นอาศัยมรรคปฏิบัติ ปราศจากธุลี ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วใจ ย่อมได้กำลังและอายุเป็นทิพย์ สตรีผู้ประสงค์บุญนั้น เป็นคนมีสุข สมบูรณ์ด้วยอนามัย ย่อมปลื้มใจในสวรรค์สิ้นกาลนาน
พระพุทธานุญาตผ้าวัสสิกสาฎกเป็นต้น
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนานางวิสาขา มิคารมาตา ด้วยพระคาถาเหล่านี้แล้ว เสด็จลุกจากที่ประทับกลับไป ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุ เป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าวัสสิกสาฎก อาคันตุกภัต คมิกภัต คิลานภัต คิลานุปัฏฐากภัต คิลานเภสัช ยาคูประจำ อนุญาตผ้าอุทกสาฎกสำหรับภิกษุณีสงฆ์
วิสาขาภาณวาร จบ
ถ. ขอถามความหมายของคำว่า พร
สุ. พร หมายความถึงสิ่งที่ประเสริฐ หรือดี วร หรือ พร ตามภาษาบาลี เพราะฉะนั้น ก็คงเป็นสิ่งที่ทุกท่านปรารถนา เพราะเป็นสิ่งที่ประเสริฐ เป็นสิ่งทีดี แต่โดยมากมักจะปรารถนาผลเวลาที่ขอพรคนอื่น ผิดจากที่ท่านวิสาขา มิคารมาตา ขอพรจากพระผู้มีพระภาค คือ ขอโอกาสได้กระทำกุศลซึ่งเป็นเหตุที่จะให้ได้พรนั้น ไม่ใช่คนอื่นจะนำพรมาให้ได้ แต่ต้องเป็นกุศลกรรมของตนเอง
ถ. คำว่า คิลาน คิลานเภสัช และคิลานอะไรอีก
สุ. คิลานภัต
ถ. คิลาน แปลว่าอะไร
สุ. ไข้
ถ. คิลานภัต ก็อาหารแก้ไข้ อาหารสำหรับคนไข้
สุ. ดีที่ถามถึงความละเอียดของพยัญชนะด้วย เพราะถ้าไม่ถามก็คิดว่าเข้าใจแล้ว อย่างคำว่า คิลาน บางคนอาจจะคิดว่า ยา แต่ความจริงเภสัช คือ ยา คิลาน คือ ไข้ คิลานกับอาพาธ เหมือนกัน
ต่อไปนี้จะให้พรใคร มีพรจะให้ไหม หรือต้องเป็นคนนั้นเองที่ขอพร แต่ว่าไม่ใช่พรจากคนอื่น
พร คือ เจตนาที่จะกระทำสิ่งที่ดียิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น อย่างเดียวไม่พอ หมายความว่า ต้องกระทำกุศลมากๆ ทุกประการ
ถ. อยู่ในฐานะอะไรที่ควรจะขอพรหรือไม่ควรขอ
สุ. ไม่จำเป็น เพียงแต่แสดงความตั้งใจหรือขอโอกาสที่จะทำกุศล แต่สำหรับท่านวิสาขา มิคารมาตา เมื่อจะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นประโยชน์แก่ภิกษุสงฆ์ จำเป็นต้องขออนุญาตจากพระผู้มีพระภาค เพื่อให้ประทานโอกาสที่ท่านจะได้ทำกุศล เพราะฉะนั้น ถ้าท่านจะทำกุศล และจำเป็นต้องขออนุญาตจากใคร ก็ขอพร คือ ขอโอกาสที่จะได้ทำกุศลนั้นๆ จากบุคคลนั้น
ในพระไตรปิฎกใช้คำว่า ขอพร เพราะขอโอกาสที่จะได้ทำกุศล แต่จะตั้งเจตนาโดยไม่ขอจากบุคคลหนึ่งบุคคลใดเลยก็ได้ แต่ถ้าขอพร คือ ขอโอกาสจากบุคคลที่จำเป็นต้องขออนุญาตที่จะกระทำกุศลนั้น เช่น ท่านวิสาขา มิคารมาตา ก่อนที่จะถวายสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากพระผู้มีพระภาคก่อน
มีพรมากไหม อยากได้พรมากๆ ไหม ถ้าเข้าใจพรแล้ว จะเป็นประโยชน์กว่าขอโดยไม่เข้าใจ เพราะให้มีกุศลทุกประการ ก็ว่าน้อยไป แต่ที่จริงแล้วมากไหม กุศลทุกประการ ขอให้มีกุศลทุกประการ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๑๓๑๑ – ๑๓๒๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1261
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1262
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1263
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1264
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1265
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1266
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1267
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1268
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1269
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1270
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1271
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1272
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1273
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1274
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1275
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1276
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1277
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1278
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1279
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1280
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1281
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1282
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1283
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1284
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1285
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1286
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1287
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1288
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1289
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1290
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1291
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1292
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1293
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1294
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1295
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1296
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1297
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1298
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1299
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1300
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1301
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1302
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1303
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1304
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1305
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1306
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1307
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1308
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1309
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1310
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1311
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1312
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1313
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1314
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1315
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1316
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1317
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1318
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1319
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1320