แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1320
ครั้งที่ ๑๓๒๐
สาระสำคัญ
อถ.คุณชาดกที่ ๗ - ท่านพระอานนท์ได้รับผ้าสาฎกพันผืน
สุหนุชาดก - ทรงปรารภภิกษุดุร้ายสองรูป
ปุฏภัตตชาดก - ว่าด้วยการคบ
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๒๗
ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องโลภมูลจิตและอกุศลเจตสิก ขอกล่าวถึงเรื่องชาดกต่างๆ เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้ทราบถึงประโยชน์ เพราะบางท่านอาจจะคิดว่าพระธรรมที่ทรงแสดง บางส่วนมีประโยชน์น้อย บางส่วนมีประโยชน์มาก แต่ควรที่จะได้พิจารณาว่า พระธรรม ทุกวจนะ ต้องมีประโยชน์ มิฉะนั้นพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดง ข้อสำคัญ คือ ให้เห็นสภาพของจิต ซึ่งผ่านไปแต่ละวันโดยไม่ได้สังเกต แต่จะมีเรื่องในชาดกที่จะทำให้ระลึกได้
ครั้งหนึ่ง ท่านผู้ฟังคงจำได้ที่ท่านพระอานนท์ได้รับผ้าสาฎก ๕๐๐ ผืน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถึงอดีตกาล
ข้อความใน อรรถกถา คุณชาดก ที่ ๗ มีว่า
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภท่าน พระอานนทเถระได้ผ้าสาฎกพันผืน ซึ่งเมื่อท่านพระอานนท์ได้แสดงธรรมในพระราชวังของพระเจ้าโกศล ได้มีผู้นำผ้าสาฎกพันผืน ราคาผืนละพัน มาถวายแด่พระราชา พระเจ้าโกศลได้พระราชทานผ้าสาฎก ๕๐๐ ผืนแก่พระเทวี ๕๐๐ นาง แต่พระเทวี ทุกท่านต่างเก็บผ้าสาฎกเหล่านั้นไว้ ในวันรุ่งขึ้นได้นำไปถวายแด่พระอานนทเถระ ส่วนตนเองห่มผ้าสาฎกเก่าๆ ได้ไปเฝ้าปฏิบัติพระเจ้าโกศลในเวลาเช้า
เมื่อพระเจ้าโกศลตรัสถามว่า ทำไมพระเทวีเหล่านั้นไม่ห่มผ้าที่พระราชทานให้ พระเทวีได้กราบทูลว่า ได้ถวายผ้าเหล่านั้นแก่ท่านพระอานนทเถระแล้ว
พระราชาทรงกริ้วพระเถระว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตจีวรเพียง ๓ ผืน ท่านพระอานนทเถระเห็นจักทำการค้าผ้า ท่านจึงรับผ้าไว้มากมายนัก เมื่อพระองค์เสวยพระกระยาหารเช้าเสร็จแล้ว จึงเสด็จไปพระวิหาร เสด็จไปยังที่อยู่ของท่านพระอานนทเถระ ทรงนมัสการท่านพระอานนท์ แล้วประทับนั่งตรัสถามว่า
พระคุณเจ้า พวกหญิงในเรือนของข้าพเจ้ายังฟังธรรม หรือเรียนธรรมในสำนักของท่านอยู่หรือ
ท่านพระอานนทเถระทูลว่า
ยังฟังธรรม หรือเรียนธรรมอยู่
พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสว่า
พวกเธอฟังเท่านั้น หรือถวายผ้านุ่งผ้าห่มแก่พระคุณเจ้าด้วย
ท่านพระอานนท์ทูลว่า
พวกหญิงเหล่านั้นได้ถวายผ้าสาฎกราคาหนึ่งพัน ประมาณ ๕๐๐ ผืน
พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสว่า
พระคุณเจ้ารับไว้หรือ
ท่านพระอานนท์ทูลว่า
รับไว้
พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสว่า
พระศาสดาทรงอนุญาตผ้าไว้เพียง ๓ ผืนเท่านั้น มิใช่หรือ
ท่านพระอานนท์ทูลว่า
ขอถวายพระพร ถูกแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตจีวร ๓ ผืนเท่านั้น แก่ภิกษุรูปหนึ่งโดยหลักการสำหรับใช้ แต่มิได้ทรงห้ามการรับ เพราะฉะนั้น อาตมารับผ้านั้นไว้ ก็เพื่อถวายแก่ภิกษุซึ่งมีจีวรเก่ารูปอื่น
พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสว่า
ภิกษุเหล่านั้น ได้ผ้าไปจากพระคุณเจ้าแล้ว จักทำอะไรกับจีวรผืนเก่า
ท่านพระอานนท์ทูลว่า
จักทำจีวรผืนเก่าเป็นผ้าห่ม
พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสว่า
ผ้าห่มผืนเก่าเล่า จักทำเป็นอะไร
ท่านพระอานนท์ทูลว่า
จักทำเป็นผ้านุ่ง
พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสว่า
ผ้านุ่งผืนเก่าเล่า จักทำเป็นอะไร
ท่านพระอานนท์ทูลว่า
จักทำเป็นผ้าปูนอน
พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสว่า
ผ้าปูนอนผืนเก่าเล่า จักทำเป็นอะไร
ท่านพระอานนท์ทูลว่า
จักทำเป็นผ้าปูพื้น
พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสว่า
ผ้าปูพื้นผืนเก่าเล่า จักทำเป็นอะไร
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า
จักทำเป็นผ้าเช็ดเท้า
พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสว่า
ผ้าเช็ดเท้าผืนเก่าเล่า จักทำเป็นอะไร
ท่านพระอานนท์ทูลว่า
ธรรมดาของที่ถวายด้วยศรัทธา จะทำให้เสียไปไม่ควร เพราะฉะนั้น ภิกษุทั้งหลายจักสับผ้าเช็ดเท้าผืนเก่าผสมกับดินเหนียว ฉาบทาที่เสนาสนะ
พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสว่า
พระคุณเจ้า ของที่ถวายท่านแล้ว ย่อมไม่ได้ความเสียหายโดยที่สุดแม้กระทั่งผ้าเช็ดเท้าหรือ
ท่านพระอานนท์ทูลว่า
ขอถวายพระพร ถูกแล้ว แม้ผ้าที่ถวายอาตมาก็มิได้เสียหาย ย่อมเป็นของ ใช้สอยทั้งนั้น
พระราชาทรงชื่นชมโสมนัสยิ่งนัก รับสั่งให้จ่ายผ้าอีก ๕๐๐ ผืนที่เก็บไว้ใน พระตำหนักมาถวายท่านพระเถระ ครั้นทรงฟังอนุโมทนาแล้ว จึงทรงนมัสการท่าน พระเถระ กระทำประทักษิณ แล้วเสด็จกลับ
เมื่อท่านพระอานนทเถระได้รับผ้า ๕๐๐ ผืนจากพระเทวี ๕๐๐ องค์ ที่ได้มา ครั้งแรกนั้น ก็ได้ถวายจีวรนั้นแก่ภิกษุผู้ที่มีจีวรเก่า สำหรับท่านพระอานนทเถระนั้น ท่านมีสัทธิงวิหาริกอยู่ประมาณ ๕๐๐ บรรดาท่านเหล่านั้น ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งมีอุปการะแก่ท่านพระเถระมาก เช่น กวาดบริเวณสถานที่ เข้าไปตั้งน้ำใช้น้ำฉัน ถวายไม้สีฟัน น้ำล้างหน้า และน้ำสรง ชำระล้างวัจจกุฎี จัดเรือนไฟและเสนาสนะ นวดมือ นวดเท้า นวดหลัง เป็นต้น พระเถระได้ให้ผ้า ๕๐๐ ผืนที่ได้ครั้งหลังทั้งหมดแก่ภิกษุหนุ่มรูปนั้น ด้วยเห็นเหมาะสมว่า ภิกษุหนุ่มรูปนี้เป็นผู้มีอุปการะมาก แม้ภิกษุรูปนั้น ก็ได้แบ่งผ้าเหล่านั้นทั้งหมดให้แก่ภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌาย์ของตน
ภิกษุทั้งหลายผู้ได้ผ้าสาฎกเหล่านั้น ก็ตัดย้อม แล้วนุ่งและห่มผ้ากาสายะอันมีสีดุจดอกกรรณิกา พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่งแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ พระอริยสาวกชั้นโสดาบันยังมีการให้เห็นแก่หน้าอยู่หรือ
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย พระอริยสาวกให้เพราะเห็นแก่หน้านั้นไม่มี
นี่เป็นครั้งที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ก็ยังมีภิกษุที่มีความเข้าใจผิดในท่านพระอานนท์ เพราะคิดว่าท่านพระอานนท์เป็นผู้ที่ให้โดยเห็นแก่หน้า
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเถระผู้เป็นธรรมภัณฑาคาริก (คลังพระธรรม) อุปัชฌายะของข้าพระองค์ทั้งหลาย ให้ผ้าสาฎก ๕๐๐ ผืน ราคาหนึ่งพัน แก่ภิกษุรูปเดียวเท่านั้น แต่ภิกษุหนุ่มรูปนั้นได้แบ่งผ้าที่ตนได้ให้แก่พวกข้าพระองค์พระเจ้าข้า
พระศาสดาตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อานนท์มิได้ให้แก่ภิกษุเพราะเห็นแก่หน้า แต่ว่าภิกษุหนุ่มรูปนั้นมีอุปการะแก่เธอมาก เพราะฉะนั้น เธอคิดเห็นด้วยอำนาจอุปการะของ ผู้อุปการะแก่ตนว่า ขึ้นชื่อว่าผู้มีอุปการะ เราควรทำอุปการะตอบด้วยอำนาจคุณ และด้วยอำนาจการกระทำอันเหมาะสม จึงได้ให้ด้วยความกตัญญูกตเวที ด้วยประการฉะนี้
อันที่จริง บัณฑิตแต่ก่อนก็ยังทำอุปการะตอบแก่ผู้มีอุปการะแก่ตนเหมือนกันเมื่อภิกษุเหล่านั้นทูลอาราธนา พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสเรื่องในอดีต คือ คุณชาดก
นี่เป็นเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า ชาดกแต่ละเรื่องมีที่มา คือ มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สมควรที่พระผู้มีพระภาคจะได้ทรงแสดงถึงการกระทำในอดีตของแต่ละท่าน ซึ่งในครั้งนั้น ในคุณชาดกนี้ สุนัขจิ้งจอกในครั้งนั้นได้เป็นท่านพระอานนท์ และ พญาราชสีห์เป็นพระผู้มีพระภาค ซึ่งพญาราชสีห์ตกไปในที่แห่งหนึ่ง และได้อาศัย สุนัขจิ้งจอกช่วยให้ขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้น ก็กระทำทุกอย่างเพื่อตอบแทนสุนัขจิ้งจอก เช่น หาอาหารมาได้ ก็ให้แก่สุนัขจิ้งจอก เป็นต้น จนกระทั่งมีความคุ้นเคยสนิทสนมกับครอบครัวของสุนัขจิ้งจอก แต่แม้กระนั้นนางราชสีห์ก็ยังมีความเข้าใจผิดใน สุนัขจิ้งจอกและนางสุนัขจิ้งจอกได้
ก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่าจะในภพชาติไหน ถึงแม้ว่าเป็นสัตว์ซึ่งสนิทสนมคุ้นเคยกันทั้งสองครอบครัว คือ ทั้งครอบครัวของราชสีห์และครอบครัวของสุนัขจิ้งจอก แต่ก็ยังมีการเข้าใจผิดกันได้
อีกเรื่องหนึ่ง คือ สุหนุชาดก ซึ่งในครั้งนั้น
พระผู้มีพระภาคเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุดุร้าย สองรูป ในสมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งแม้ในพระวิหารเชตวัน ได้เป็นผู้ดุร้ายหยาบคาย อย่างสาหัส ขณะเดียวกันในชนบท ก็ได้มีภิกษุรูปหนึ่งดุร้าย อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุที่อยู่ในชนบทได้ไปยังพระวิหารเชตวันด้วยกรณียกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง
บรรดาสามเณรและภิกษุหนุ่มรู้ว่า ภิกษุชาวชนบทรูปนั้นดุร้ายมาก จึงส่งภิกษุรูปนั้นไปยังที่อยู่ของภิกษุดุร้ายรูปที่อยู่สำนักพระเชตวัน ด้วยแตกตื่นว่า จักได้เห็นภิกษุดุร้ายสองรูปนั้นทะเลาะกัน ภิกษุทั้ง ๒ รูปนั้น ครั้นเห็นกันและกันแล้ว ก็สามัคคีกัน อยู่ชื่นชมกันด้วยความรัก ได้กระทำกิจ มีนวดมือ นวดเท้า และนวดหลังให้กันและกัน
เมื่อภิกษุทั้งหลายประชุมสนทนากันถึงเรื่องนี้ในโรงธรรม พระผู้มีพระภาคเสด็จมาก็ตรัสถาม และได้ตรัสเรื่องในอดีต ซึ่งในครั้งนั้นท่านพระอานนท์เป็นพระราชา ผู้ปกติทรงละโมบพระราชทรัพย์ และพระผู้มีพระภาคทรงเป็นอำมาตย์บัณฑิต ของราชานั้น
แสดงให้เห็นถึงชีวิตจริงๆ ว่า ในอดีตก่อนที่จะได้เป็นพระอริยบุคคล ท่าน พระอานนท์แม้จะได้เป็นพระราชา ก็ยังเป็นพระราชาที่ละโมบพระราชทรัพย์ด้วย
เวลาที่มีพวกพ่อค้านำม้ามาขาย พระโพธิสัตว์ได้ตีราคาม้าตามราคา และซื้อม้าตามราคาของม้านั้น เมื่อพระราชาทรงเห็นพระโพธิสัตว์ไม่ต่อราคา ก็ได้ตรัสเรียกอำมาตย์คนอื่นมาให้ตีราคาม้า แต่ไม่ใช่ตามความเป็นจริง โดยให้ปล่อยม้าโกงตัวหนึ่งชื่อมหาโสณะ เข้าไปในระหว่างม้านั้น และให้ม้ามหาโสณะกัด ทำให้ม้าที่ถูกนำมาขายนั้นเป็นแผล พิการ และต่อราคาให้ลดลง ซึ่งอำมาตย์นั้นก็ทำตาม พระราชประสงค์ พ่อค้าม้าทั้งหลายไม่พอใจ และได้เล่าเรื่องนั้นให้พระโพธิสัตว์ทราบ พระโพธิสัตว์ก็ได้ถามว่า ในเมืองของพวกท่านมีม้าโกงไหม พวกพ่อค้าก็บอกว่า มีม้าโกงด้วย พระโพธิสัตว์ก็บอกว่า ถ้ามาคราวหน้าให้นำม้าโกงตัวนั้นมาด้วย
ในคราวต่อไป พวกพ่อค้าพาม้ามาขาย ก็ได้เอาม้าโกงของตนชื่อสุหนุ มาด้วย เมื่อพระราชาทราบว่า พวกพ่อค้าพาม้ามาขาย ก็ให้ปล่อยม้าโกงชื่อ มหาโสณะออกไป พวกพ่อค้าม้าเห็นม้ามหาโสณะ ก็ปล่อยม้าโกงของตนชื่อสุหนุ ออกไป ม้าทั้งสองประจันหน้ากัน ต่างก็เลียร่างกายกันด้วยความชื่นชม
พระราชาจึงตรัสถามพระโพธิสัตว์ว่า
ม้าโกงสองตัวนี้ดุร้ายหยาบคายแสนสาหัสต่อม้าอื่น กัดม้าอื่นให้ได้รับการเจ็บป่วย บัดนี้มันเลียร่างกายกันและกันด้วยความชื่นชม เพราะอะไร
พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า
ขอเดชะ ข้าแต่พระองค์ ม้าเหล่านี้มีปกติไม่เสมอกันหามิได้ มันมีปกติ เสมอกัน มีธาตุเสมอกัน แล้วได้กล่าวคาถาสองคาถาว่า
การที่ม้าโกงสุหนุกระทำความรักกับม้าโสณะนี้ ย่อมมีด้วยปกติที่ไม่เสมอกัน หามิได้ ม้าโสณะเป็นเช่นใด แม้ม้าสุหนุก็เป็นเช่นนั้น ม้าโสณะมีความประพฤติเช่นใด ม้าสุหนุก็มีความประพฤติเช่นนั้น
ม้าทั้งสองนั้น ย่อมเสมอกันด้วยการวิ่งไปด้วยความคะนอง และด้วยการกัดเชือกที่ล่ามอยู่เป็นนิจ ความชั่วย่อมสมกับความชั่ว ความไม่ดีย่อมสมกับความไม่ดี
ก็พระโพธิสัตว์ครั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว จึงถวายโอวาทพระราชาว่า
ข้าแต่มหาราช ธรรมดาพระราชาไม่ควรโลภจัด ไม่ควรทำสมบัติของผู้อื่นให้เสียหาย แล้วทูลให้ตีราคาม้าให้ตามราคาที่เป็นจริง
พวกพ่อค้าม้าได้รับราคาตามที่เป็นจริง ต่างก็ร่าเริงยินดีพากันกลับไป แม้พระราชาก็ตั้งอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ แล้วเสด็จไปตามยถากรรม
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มา แล้วทรงประชุมชาดก ม้าสองตัว ในครั้งนั้น ได้เป็นภิกษุโหดร้ายสองรูปในครั้งนี้ พระราชาได้เป็นอานนท์ ส่วนอำมาตย์บัณฑิตได้เป็นเราตถาคตนี้แล
แม้ว่าเป็นพระราชา จะซื้อม้า ยังอยากได้ราคาต่ำ ราคาถูกกว่าราคาที่เป็นจริง จนกระทั่งต้องทำอุบายให้ได้อย่างนั้นมา
อีกเรื่องหนึ่ง คือ ปุฏภัตตชาดก ว่าด้วยการคบ
ในครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภกุฎุมพี คนหนึ่ง แล้วตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า นเม นมนฺตสฺส ดังนี้
ได้ยินว่า กุฎุมพีชาวกรุงสาวัตถีผู้หนึ่งได้ทำการค้าขายกับกุฎุมพีชาวชนบท ผู้หนึ่ง กุฎุมพีชาวกรุงนั้นได้พาภรรยาของตนไปหาผู้เก็บเงินของกุฎุมพีชาวชนบทนั้น แต่ว่าผู้เก็บเงินบอกว่า เราไม่สามารถจะให้ได้ ก็ไม่ได้ให้เงินไปเลย กุฎุมพีชาวกรุงโกรธ กลับไป โดยที่ไม่ยอมบริโภคอาหารเลย เดินทางไป ครั้งนั้นบุรุษผู้เดินทางทั้งหลายเห็นกุฎุมพีชาวกรุงผู้นั้นหิวโหยในระหว่างทาง จึงให้ห่อข้าวแล้วบอกว่า ท่านจงแบ่งให้ภรรยาด้วย แล้วบริโภคเถิด กุฎุมพีชาวกรุงรับห่อข้าวแล้ว ไม่อยากให้ภรรยาบริโภค จึงกล่าวว่า ตรงนี้เป็นถิ่นโจร น้องจงล่วงหน้าไปก่อน ส่งภรรยาไปแล้วจึงบริโภคอาหารจนหมด แล้วเอาห่อเปล่าๆ ให้ภรรยาดู แล้วบอกว่า คนที่เดินทางได้ให้ห่อเปล่าๆ ไม่มีข้าวเลย ภรรยารู้ว่าสามีบริโภคแต่ผู้เดียว ก็มีความน้อยใจ
ทั้งสองสามีภรรยาผ่านไปทางหลังพระเชตวันมหาวิหาร จึงแวะเข้าไปใน พระวิหารเชตวันด้วยคิดว่าจักดื่มน้ำ แม้พระผู้มีพระภาคก็ประทับนั่งคอยดูการมาของสามีภรรยานั้นใต้ร่มเงาพระคันธกุฎี ดุจพรานซุ่มดักเนื้อฉะนั้น
เพราะรู้ว่าทั้งสามีภรรยาจะได้บรรลุเป็นพระโสดาบันบุคคล แต่ดูชีวิตของสามีซึ่งไม่ได้ทำอย่างนี้ในชาตินี้ชาติเดียว แม้ในชาติก่อน ก็ไม่ได้แบ่งข้าวให้ภรรยา เป็นข้าวห่ออย่างนี้เช่นกันในระหว่างที่เดินทาง เพราะฉะนั้น ในชาตินี้เมื่อมีข้าวห่อเพียง ห่อเดียว ตนเองก็หิวโหย จึงไม่แบ่งให้ภรรยา ทั้งๆ ที่ผู้ให้บอกว่า แบ่งให้ภรรยาด้วย
สามีภรรยาพบพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงเข้าไปถวายบังคม นั่งแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงกระทำการปฏิสันถารกับสามีภรรยานั้น ตรัสถามว่า
อุบาสิกา สามีท่านเอาใจใส่ห่วงใยท่านดีอยู่หรือ
ภรรยากราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ ข้าพระองค์มีความห่วงใยต่อเขา แต่เขาไม่มีความห่วงใยต่อ ข้าพระองค์เลย วันอื่นยกไว้เถิด วันนี้เอง สามีของข้าพระองค์นี้ได้ข้าวห่อมาห่อหนึ่งในระหว่างทาง ไม่แบ่งให้ข้าพระองค์ บริโภคเฉพาะตน
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อุบาสิกา ท่านเป็นผู้เอาใจใส่ห่วงใยสามีเสมอมา (หมายถึงแม้ในอดีตชาติ ก่อนๆ นั้นด้วย) สามีของท่านนั้นไม่ห่วงใยท่านเลย แต่พอรู้คุณของท่าน เพราะอาศัยบัณฑิต ครั้งนั้นจึงได้มอบความเป็นใหญ่ทั้งปวงให้
นางก็ทูลอาราธนาขอให้พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าเรื่องในอดีต
ซึ่งได้เคยเกิดขึ้นเหมือนอย่างนั้น ในครั้งที่อุบาสกนั้นเป็นโอรสของพระเจ้าพรหมทัต แต่ในชาติที่เป็นโอรสของพระเจ้าพรหมทัตยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม มารู้แจ้งอริยสัจธรรมในชาติที่เป็นกุฎุมพีชาวกรุง
สำหรับใน สันถวชาดก กล่าวถึงเรื่องการบูชาไฟ ซึ่งมีข้อความโดยย่อว่า
สิ่งอื่นที่จะชั่วช้ายิ่งขึ้นไปกว่าความสนิทสนมเป็นไม่มี ความสนิทสนมกับบุรุษเลวทราม เป็นความชั่วช้า เพราะไฟนี้เราให้อิ่มหนำแล้วด้วยสัปปิและข้าวปายาส ยังไหม้บรรณศาลาที่เราทำได้ยากให้พินาศ
สิ่งอื่นที่จะประเสริฐยิ่งไปกว่าความสนิทสนมเป็นไม่มี ความสนิทสนมกับสัตบุรุษเป็นความประเสริฐ สามามฤคีเลียปากราชสีห์ เสือโคร่ง และเสือเหลืองได้ ก็เพราะความรักใคร่สนิทสนมกัน
ซึ่งข้อความใน อรรถกถา สันถวชาดก มีว่า
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภการบูชาไฟ ได้ตรัสพระธรรมเทศนานี้ เนื่องด้วยภิกษุทั้งหลายเห็นชฎิลบูชาไฟ จึงได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชฏิลทั้งหลายประพฤติตบะผิดมีประการต่างๆ ความเจริญในการนี้ มีอยู่หรือหนอ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ไม่มีความเจริญไรๆ ในการนี้เลย แม้โบราณบัณฑิตก็สำคัญว่ามีความเจริญเพราะการบูชาไฟ จึงบูชาไฟเป็นเวลานาน ครั้นเห็นไม่มีความเจริญในกรรมนั้น จึงเอาน้ำดับไฟ เอากิ่งไม้เป็นต้นฟาด มิได้กลับมาดูอีกต่อไป แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่า (คือ สันถวชาดก)
ผู้ที่บูชาไฟก็อุตส่าห์ให้ทั้งสัปปิ เนยใส และข้าวปายาส เป็นการบูชา แต่ไฟก็ไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรเลย เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นว่าไฟไม่ได้ให้ประโยชน์เพราะ ไหม้บ้านเรือนที่อยู่ที่อาศัย ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่ได้บูชาไฟอีกต่อไป
นี่เป็นเรื่องของความเห็นผิดในครั้งนั้น ไม่มีใครสามารถที่จะรู้อดีตของแต่ละท่านได้เลย เคยบริโภคข้าวห่อหนึ่งคนเดียว ไม่แบ่งให้ใครบ้างหรือเปล่า
แต่ชาตินี้เป็นเครื่องแสดง ถ้าชาตินี้ทำ ก็หมายความว่า ชาติก่อนก็คงเคย ทำมาแล้ว เป็นอุปนิสัย ไม่ว่าจะเป็นกายวาจาอย่างไร
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๑๓๑๑ – ๑๓๒๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1261
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1262
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1263
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1264
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1265
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1266
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1267
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1268
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1269
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1270
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1271
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1272
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1273
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1274
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1275
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1276
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1277
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1278
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1279
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1280
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1281
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1282
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1283
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1284
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1285
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1286
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1287
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1288
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1289
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1290
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1291
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1292
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1293
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1294
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1295
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1296
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1297
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1298
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1299
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1300
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1301
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1302
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1303
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1304
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1305
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1306
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1307
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1308
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1309
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1310
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1311
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1312
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1313
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1314
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1315
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1316
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1317
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1318
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1319
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1320