แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1321


    ครั้งที่ ๑๓๒๑


    สาระสำคัญ

    อถ.สันถวชาดก - เรื่องของความเห็นผิด (ทรงปรารภการบูชาไฟ)

    “ขอพร” กับ “อธิษฐาน”

    เรื่องท่านวิสาขามิคารมาตาทูลขอพร


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๒๗


    อีกชาดกหนึ่ง

    ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน ทรงปรารภท่าน พระเทวทัตเอาอย่างพระองค์

    เรื่องมีว่า เมื่อท่านพระเทวทัตนอนแสดงท่าทางอย่างพระสุคตแก่อัครสาวก ทั้งสองผู้มาสู่คยาสีสประเทศ

    คือ เมื่อท่านพระเทวทัตได้พาพระภิกษุจำนวนหนึ่งออกไปจากสำนักของ พระผู้มีพระภาคเพื่อตั้งตนเป็นศาสดา และพระผู้มีพระภาคตรัสให้ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะไปติดตามสาวกเหล่านั้นกลับ ก็ได้เห็นท่านพระเทวทัตนอนแสดงท่าทางอย่างพระผู้มีพระภาคแสดงธรรม

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระสารีบุตรว่า

    ดูกร สารีบุตร เทวทัตเห็นเธอทั้งสองแล้วได้ทำอย่างไร

    ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ พระเทวทัตแสดงท่าทางอย่างพระองค์ แล้วถึงความพินาศใหญ่

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร สารีบุตร เทวทัตทำตามอย่างเราถึงความพินาศใหญ่ มิใช่ในบัดนี้เท่านั้น แม้แต่ก่อนนี้ก็ถึงความพินาศ

    เมื่อพระเถระกราบทูลอาราธนา พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสเรื่อง วินีลกชาดก

    ถ. ช่วยอธิบายถึงพระนางผุสดีที่ทูลขอพรจากพระอินทร์อย่างคร่าวๆ

    สุ. ในเวสสันดรชาดก ก่อนที่จะจุติจากสวรรค์ลงมาเป็นพระมารดาของ พระเวสสันดร คงจะทราบว่า พระนางผุสดีได้กราบทูลขอพรจากพระอินทร์หลายประการ ซึ่งก็น่าสงสัยว่าพระอินทร์สามารถประทานพรนั้นให้พระนางผุสดีได้จริงหรือ และถ้าไม่ได้ ทำไมพระนางผุสดีจึงกราบทูลขอพระจากพระอินทร์ แสดงให้เห็นว่า กุศลทั้งหลายเป็นเหตุที่จะให้ได้รับผลที่น่าปรารถนา น่าพอใจ แม้จะไม่ได้กล่าวเป็นคำพูด เพียงแต่ทุกคนที่ทำกุศล มีความปรารถนาอะไรอยู่ในใจก็อาจจะเป็นปัจจัยทำให้ผลนั้นๆ เกิดขึ้น และถ้ายิ่งตั้งความปรารถนาหรือแสดงออกมาเป็นวาจา ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่า อำนาจของกุศลที่ได้กระทำแล้วนั้น ทำให้ได้รับผลเช่นนั้นๆ

    ถ. ขอพร กับอธิษฐาน มีความหมายแตกต่างกันไหม

    สุ. อธิษฐาน หมายความถึงความตั้งใจมั่น ซึ่งเป็นบารมี ความตั้งใจมั่น ในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน อบรมเจริญปัญญา เป็นผู้ที่ตรง

    แต่ขอพร หมายความถึงกุศลใดๆ ที่ทำไปแล้ว หวังที่จะให้กุศลที่ได้กระทำแล้วเป็นเหตุให้เกิดผลสมตามความปรารถนา ซึ่งพรที่พระนางผุสดีปรารถนาก็เป็นเรื่องของความงามทั้งนั้น และไม่ใช่พระอินทร์สามารถจะประทานพรให้ได้ แต่หมายความว่า เป็นเจตนา เป็นความตั้งใจของนางผุสดีที่ต้องการผลที่ได้รับจากกุศลที่ได้กระทำแล้วโดยฐานะการเป็นพระมารดาของพระโพธิสัตว์ ซึ่งสมควรที่จะได้รับผลอย่างนั้นๆ

    ถ. ที่อาจารย์บรรยายว่า นางวิสาขาได้ทูลขอพรจากองค์สมเด็จพระศาสดา พรที่ขอทั้งหมด สิ่งที่ขอเหล่านั้น คือ ขอให้นางได้มีโอกาสสร้างกุศล ทุกวิถีทางด้วย ใช่ไหม

    สุ. ๘ ข้อ

    ถ. พระศาสดาเมื่อได้ทรงทราบถึงคำขอพรของนางวิสาขาแล้ว ก็ทรงอนุญาต เพราะเห็นว่าเป็นการขอให้ได้มีโอกาสทำกุศลนานัปการ มิได้หมายความว่า พระองค์มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่จะดลบันดาลให้เป็นไปได้ ใช่ไหม

    สุ. ถูกต้อง

    ถ. ปัจจุบันนี้ เมื่อเราได้อาราธนาพระภิกษุสงฆ์มาฉันภัตตาหาร เสร็จเรียบร้อยแล้วท่านมักจะสั่งหรือเตือนว่า ตั้งใจรับพรให้ดีๆ พร้อมกับให้เรากรวดน้ำ ผมรู้สึกขัดกับข้อความที่ว่า นางวิสาขาผู้ที่ถวายทานเป็นฝ่ายขอเอง แต่ปัจจุบันนี้เราไม่ได้เป็นฝ่ายขอ แต่พระภิกษุสงฆ์เป็นฝ่ายให้พรเอง โดยเรามิได้ทราบเลยว่า ท่านให้พรว่าอย่างไร ให้เราคิดเอง ปรารถนากันเอง คิดให้ตนเองตามใจชอบ และทุกสถานที่ก็ไม่มีที่ไหนเลยที่เมื่อภิกษุสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จเรียบร้อยแล้วจะเปิดโอกาสให้พวกเราได้ถามธรรม หรือขอพร มีแต่เมื่อฉันอาหารเสร็จเก็บถ้วยชามออกไป นั่งประนมมือ คอยกรวดน้ำให้ดี ตั้งใจให้ดี นึกเอาก็แล้วกัน เสร็จแล้วพวกเราก็ยกมือท่วมศีรษะว่า สาธุ ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยอธิบายให้เข้าใจถึงความแตกต่างและเหตุผลของ สิ่งเหล่านี้ด้วย

    สุ. มีท่านผู้ฟังที่อยากจะให้ข้อคิดอะไรบ้างไหมในเรื่องนี้ เกี่ยวกับเมื่อถวายภัตตาหารเสร็จแล้ว และพระท่าน ซึ่งความจริงท่านอนุโมทนา การที่ท่านกระทำอย่างนั้นเป็นการอนุโมทนาให้ผู้ที่ถวายทานได้เกิดความปีติที่ได้ทำกุศล และกุศลนั้นเองจะทำให้ได้รับผล คือ พร หรือว่าสิ่งประเสริฐต่างๆ ตามควรแก่เจตนาของผู้ให้

    ที่ถูกแล้ว ข้อความในพระไตรปิฎกมีเรื่องการอนุโมทนา กถาอนุโมทนา แม้แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงอนุโมทนาท่านวิสาขามิคารมาตาที่ได้ขอพรที่จะทำกุศล เพราะฉะนั้น เวลาที่คฤหัสถ์ได้ทำกุศลแล้ว เช่น ถวายภัตตาหาร เมื่อพระภิกษุสงฆ์ท่านได้รับภัตตาหารแล้วท่านก็อนุโมทนา โดยยกอานิสงส์ของกุศลนั้นเองขึ้นแสดงว่า กุศลนั้นจะให้ผลอย่างนั้น ซึ่งผลที่ดีทั้งหมดเป็นพรที่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่ได้กระทำกุศล

    ถ้าพูดถึงขอพร อย่างเช่น ต้องการไปขอพรจากท่านผู้ใหญ่ บางทีผู้ที่ขออยากจะได้รับพร แต่ที่จริงควรจะเป็นผู้ที่มีโอกาสเจริญกุศลมากกว่าคิดว่าจะได้รับพรจากผู้หนึ่งผู้ใด เพราะต้องเป็นกุศลของตนเอง

    เวลานี้ท่านผู้ฟังก็ศึกษาพระธรรม ซึ่งต้องมีผลแน่ กุศลจิตและกุศลกรรมเป็นเหตุที่จะให้เกิดกุศลวิบากต่างๆ โดยที่ท่านไม่ต้องขอจากใครเลย เพราะท่านรู้ในเหตุและผลว่า เมื่อเหตุมีผลก็ต้องมี แต่ที่มีการขอพรในชาดกบ้าง หรือที่อื่นบ้าง ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า ผู้นั้นต้องการผลของกุศลเช่นนั้นเพื่อให้สมกับฐานะ เช่น ในฐานะที่เป็นพระมารดาของพระโพธิสัตว์ เป็นต้น นั่นก็เป็นความปรารถนาที่จะให้พรนั้นให้ผลอย่างนั้น แต่ถึงแม้ว่าจะไม่ปรารถนาหรือไม่ขอเป็นพร แต่เมื่อเป็นความตั้งใจอย่างนั้น กุศลก็จะให้ผลเป็นสิ่งที่ดี

    ขอกล่าวถึงเรื่องของท่านวิสาขามิคารมาตาขอพรอีกครั้งหนึ่ง เพื่อท่านผู้ฟังจะได้พิจารณา

    ข้อความเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

    วิสาขา ก็เธอเห็นอานิสงส์อะไร จึงขอพร ๘ ประการต่อตถาคต

    พระผู้มีพระภาคย่อมทรงอุปการะให้ทุกท่านมีความเข้าใจธรรมที่ถูกต้องขึ้นเสมอ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าพรที่ท่านวิสาขามิคารมาตากราบทูลขอจะเป็นสิ่งที่ดี แต่แม้กระนั้นพระผู้มีพระภาคก็ยังตรัสถามว่า เห็นอานิสงส์อะไรจึงขอพร ๘ ประการ ต่อตถาคต ซึ่งท่านวิสาขามิคารมาตาก็กราบทูลว่า

    พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุทั้งหลายในพระธรรมวินัยนี้ จำพรรษาในทิศทั้งหลายแล้วจักมาพระนครสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระองค์ แล้วจักทูลถามว่า ภิกษุมีชื่อนี้ถึงมรณภาพแล้ว ท่านมีคติอย่างไร มีภพหน้าอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า

    เป็นธรรมดาที่ทุกท่านจะไม่มีทางรู้เลยว่า ผู้ที่จากโลกนี้ไปแล้วจะไปที่ไหน แต่ในครั้งนั้นเมื่อได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคย่อมกราบทูลถาม และก็ทรงพยากรณ์ว่า ภิกษุนั้นได้มีคติอย่างไร มีภพหน้าอย่างไร ซึ่งท่านวิสาขามิคารมาตากล่าวต่อไปว่า

    พระองค์จักทรงพยากรณ์ภิกษุนั้นในโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตตผล

    หม่อมฉันจักเข้าไปหาภิกษุพวกนั้น แล้วเรียนถามว่า พระคุณเจ้ารูปนั้นเคยมาพระนครสาวัตถีไหมเจ้าข้า ถ้าท่านเหล่านั้นจักตอบแก่หม่อมฉันว่า ภิกษุนั้นเคยมาพระนครสาวัตถี หม่อมฉันจักถึงความตกลงใจในการมาของพระคุณเจ้ารูปนั้นว่า พระคุณเจ้ารูปนั้นคงใช้สอยผ้าวัสสิกสาฎก คงฉันอาคันตุกภัต คมิกภัต คิลานภัต คิลานุปัฏฐากภัต คิลานเภสัช หรือยาคูประจำเป็นแน่

    เพราะท่านขอพรที่จะถวายสิ่งเหล่านี้เป็นประจำตลอดชีพ เพราะฉะนั้น เมื่อมีภิกษุรูปใดมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคที่พระนครสาวัตถี ก็ย่อมจะได้รับสิ่งที่ท่านถวาย และผลก็คือ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า ภิกษุรูปนั้นๆ เป็นพระโสดาบันบุคคลบ้าง เป็นพระสกทาคามีบุคคลบ้าง เป็นพระอนาคามี หรือเป็นพระอรหันต์

    เมื่อหม่อมฉันระลึกถึงกุศลนั้นอยู่ ความปลื้มใจจักบังเกิด

    นี่คือผลที่จะได้รับจากการทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ คือ ทำให้เมื่อท่านวิสาขา มิคารมาตาระลึกถึง ย่อมเกิดความปลื้มใจ

    เมื่อหม่อมฉันปลื้มใจแล้ว ความอิ่มใจจักบังเกิด เมื่อมีใจอิ่มเอิบแล้ว กายจักสงบ เมื่อมีกายสงบแล้ว จักเสวยสุข เมื่อมีความสุข จิตจักตั้งมั่น จักเป็นอัน หม่อมฉันได้อบรมอินทรีย์ อบรมพละ อบรมโพชฌงค์นั้น หม่อมฉันเห็นอานิสงส์นี้ จึงขอประทานพร ๘ ประการต่อพระองค์ พระพุทธเจ้า

    เพราะฉะนั้น คนที่ต้องการพร ไม่ว่าเป็นโอกาสที่จะกระทำกุศล หรือจะได้สิ่งที่ประเสริฐก็ตาม ควรจะพิจารณาว่า เมื่อได้รับแล้วทำให้เกิดความปลื้มปีติไหม หรือ ทำให้เกิดอกุศล นี่คือสิ่งที่จะต้องพิจารณา และต้องอบรมเจริญต่อไปอีกมาก จึงจะเป็นผู้ที่เจริญอินทรีย์ อบรมพละ อบรมโพชฌงค์

    ท่านวิสาขามิคารมาตาท่านเห็นประโยชน์อย่างนี้ ท่านจึงได้ทูลขอพร เพราะฉะนั้น แม้แต่คนที่ขอโอกาสที่จะทำกุศลหรือกำลังทำกุศลอยู่ ก็ควรจะรู้ว่า กุศลที่ทำแล้วเมื่อระลึกถึงจะทำให้เกิดความปลื้มใจ อิ่มใจ และเป็นการอบรมอินทรีย์ อบรมพละ อบรมโพชฌงค์หรือเปล่า

    ท่านที่มีโอกาสเจริญกุศลทางธรรม เช่น ร่วมกันบริจาคค่าพิมพ์หนังสือ หรือ ค่าออกอากาศสถานีวิทยุ และกุศลอื่นๆ ที่ทำให้บุคคลอื่นมีโอกาสได้พิจารณาธรรม ศึกษาธรรม เข้าใจธรรมยิ่งขึ้น ก็คงจะรู้สึกปลื้มใจ อิ่มใจในกุศลที่ได้กระทำแล้วเมื่อรู้ว่ามีผู้ที่ฟังวิทยุ หรือว่าได้อ่านหนังสือ หรือได้รับประโยชน์จากกุศลของท่านไม่น้อยเลย นี่เป็นสิ่งที่ควรจะได้พิจารณาว่า ท่านทำกุศลต่างๆ เพื่อเหตุนี้หรือเปล่า เพื่อที่จะได้อบรมอินทรีย์

    ถ. อย่างเราเป็นลูก เราไปหาบิดามารดา และบอกว่า วันนี้วันเกิดเรา เรามาขอพร มารดาบิดาก็บอกว่า ขอให้ค้าขายเจริญก้าวหน้า มีความสุขสวัสดี อย่ามีโรคภัยเบียดเบียน สิ่งเหล่านี้ทั้งผู้ที่ให้และผู้ที่ขอ ทำถูกหรือทำผิดอย่างไร

    สุ. ต้องพิจารณาถึงจิตในขณะนั้น มีความหวังดี มีความเมตตาขณะใด ขณะนั้นเป็นกุศล แต่ต้องเข้าใจในเหตุผลด้วย ถึงได้กล่าวถึงเรื่องของพรในคราวก่อนว่า สำหรับผู้ที่ขอพรควรจะได้ระลึกว่า น่าจะเป็นการขอโอกาสที่จะกระทำกุศล ไม่ใช่เป็นการขอรับผลของกุศลจากคนหนึ่งคนใด และผู้ที่ให้พรก็เช่นเดียวกัน ถ้าให้พรใคร ก็คือขอให้เขาได้เจริญกุศลมากๆ ให้มีกุศลทุกประการ คือ ให้เขาคิดถึงเหตุมากกว่าคิดถึงผล เพราะผลทั้งหลายย่อมมาจากเหตุ ถ้าขอให้ใครเจริญกุศลทุกประการ คนนั้นอาจจะระลึกได้ว่า เขายังขาดกุศลข้อไหน และก็อบรมเจริญกุศลต่างๆ เพิ่มขึ้นอีก นั่นจึงจะเป็นพรโดยตรงจริงๆ

    ถ. ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้ที่ให้ใช่ไหม ขึ้นอยู่กับเจตนาใช่ไหม

    สุ. ใช่ เพราะฉะนั้น ถ้ามีใครมาขอพรท่านผู้ฟัง ต่อไปนี้จะให้อะไร สำหรับผู้ที่เข้าใจในเหตุในผลแล้ว ถ้ามีใครมาขอพร จะให้อะไร

    ถ. ขอให้เขามีสติ

    สุ. ขอให้เขาเจริญกุศลทุกประการ เป็นพร คือ เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดในชีวิต

    ถ. ที่ผ่านมาจะได้รับคำสั่งสอนจากบิดามารดา หรือผู้ใหญ่ที่อบรมสั่งสอนเลี้ยงดูเรามาว่า ควรจะไปขอพรคนนั้น ควรจะไปขอพรจากพระวัดนี้ แต่วันนี้ได้ทราบกระจ่างแจ้งแล้วว่า อะไรที่สมควร อะไรที่ถูก

    สุ. ถ้าจะไปขอพรอีก จะขออะไร ถ้าอยู่ในฐานะของผู้ขอ จะขออะไร

    ถ. จะขอว่า ขอให้มีโอกาสได้สร้างกุศลที่ดี ที่ถูกที่ควร

    สุ. กล้าจะขอหลายๆ ข้อไหม

    ถ. ไม่กล้า

    สุ. ก่อนนี้อยากได้พรมากๆ แต่เมื่อรู้ว่า พรนั้นต้องเป็นพร คือ กุศลของตนเอง และการขอพร คือ ขอโอกาสที่จะได้กระทำกุศล ก็จะต้องระวังแล้ว ใช่ไหม สามารถกระทำกุศลอะไรได้ในขณะไหนที่ควรจะกระทำ เราก็ไม่ละเว้นโอกาสนั้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๓ ตอนที่ ๑๓๒๑ – ๑๓๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 89
    28 ธ.ค. 2564