แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1331


    ครั้งที่ ๑๓๓๑


    สาระสำคัญ

    มั่นคงในเหตุในผล อกุศลวิบากที่เกิดเป็นผลของการกระทำของตนเอง

    รู้แข็งเป็นจิต เป็นวิญญาณขันธ์ เป็นสภาพรู้

    สัตว์ทั้งหลายเป็นอยู่ได้ด้วยอาหาร

    ทบทวนโลภมูลจิตดวงที่ ๑ โดยนัยของปัจจัย (เหตุปัจจัย)


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๘ กรกฎาคม ต่อวันอาทิตย์ที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๒๗


    สุ. แน่ใจหรือยังว่า วิบากแต่ละขณะของแต่ละบุคคลเกิดเพราะกรรมของตนเอง ไม่ใช่เพราะบุคคลอื่นกระทำให้ จริงไหม ไม่โกรธคนอื่น ไม่โกรธแน่ๆ หรือยังไม่ยอมที่จะหมดไป ยังคิดว่าเป็นคนอื่นอยู่นั่นเองที่ทำให้

    ถ. ยังต้องมีบ้าง อย่างบางครั้งเราเดินไปเตะโต๊ะ แทนที่จะโกรธตัวเอง ก็ไปโทษว่าวางโต๊ะซุ่มซ่าม เพราะยังขัดเกลาได้น้อยมาก อันนี้ยอมรับ บางทีขึ้นรถถูกเขาเหยียบเท้าก็โกรธคนเหยียบว่าซุ่มซ่าม แต่ที่จริงเป็นวิบากของเราทางกายปสาท เท่านั้นเอง

    สุ. ถ้ารู้ว่าเป็นวิบากของตนเองจะไม่โกรธคนอื่นเลย ใช่ไหม แม้แต่โจรที่มาเลื่อยขาแขน

    ถ. มิได้ ยังไม่ถึงขั้นนั้น

    สุ. แต่ความจริงเป็นอย่างนั้น ทำไมไม่ให้สภาพธรรมที่เกิดในขณะนั้นพิสูจน์ความจริง

    ถ. ความจริงเป็นอย่างนั้น แต่ยังทำใจไม่ได้ เป็นแต่เพียงศึกษา วันอาทิตย์มาฟังธรรม มาฟังบรรยาย คือ มาศึกษาเพื่อให้ทราบว่าอะไรเป็นอะไร อะไรที่พอจะขัดเกลาได้ก็ขัดเกลาเป็นอย่างๆ ไม่ใช่จะขัดเกลาวันนี้หมดทั้ง ๖ ทวาร เป็นไปไม่ได้

    สุ. แต่ธรรมที่ได้ยินได้ฟัง มีสัญญาความจำที่มั่นคงในเหตุในผล โดยเฉพาะเวลาที่อกุศลวิบากเกิด ไม่มีใครชอบเลย เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้รู้ตามความเป็นจริงว่า อกุศลวิบากทุกขณะที่เกิดเป็นผลของการกระทำของตนเอง จิตใจก็จะผ่องใสเป็นกุศล เพราะถ้ายังมีอกุศลต่อไป ใครเป็นผู้ที่จะได้รับอกุศลวิบากข้างหน้าต่อไป ก็ต้องตนเองอีก ไม่พ้นจากอกุศลกรรมและอกุศลจิตที่สะสมไว้ เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลวิบาก

    เมื่อไม่ปรารถนาอกุศลวิบาก ทางเดียวที่จะน้อยลง คือ ให้กุศลจิตเกิดมากๆ เท่านั้น

    ถ. ผมยังไม่เข้าใจที่อาจารย์บรรยายเรื่องกายที่ว่า มีกายภายใน กายภายนอก กายภายนอกประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ มีสี กลิ่น รส โอชา กายภายในเรียกว่า นามกาย มีเวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ

    เจตนา ผัสสะ มนสิการ พอจะเข้าใจ แต่เวทนากับสัญญา จะรู้ด้วยอาการอย่างไร เพราะอยู่ในขันธ์ อย่างมีเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ จะสังเกตได้ด้วยอาการอย่างไร

    สุ. ที่กล่าวนี้ คงหมายถึงรูปกายกับนามกาย

    ถ. ในขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ที่อาจารย์เคยบรรยายไว้...

    สุ. ถ้ามหาภูตรูป หมายถึงรูปกาย กายเป็นที่ประชุมที่รวมของรูปต่างๆ นามกาย หมายความถึงนามธรรมประชุมรวมกัน คือ จิตและเจตสิก ถ้ากล่าวถึงจิตและพูดถึงนามกาย ย่อมได้แก่เจตสิกซึ่งเกิดกับจิต

    ถ. รวมทั้งสัญญาและเวทนานี้ด้วย

    สุ. ใช่

    ถ. อาการที่รู้ อย่างเวทนาโดยสภาวะ

    สุ. ถ้าใช้ชื่อว่า เวทนา อาจจะสงสัย แต่จะง่ายกว่าไหม ถ้าถามว่า ขณะนี้มีความรู้สึกอะไรหรือเปล่า

    ถ. ยืนอยู่นี่ รู้สึกแข็ง หรือลมพัดมา รู้สึกเย็น

    สุ. นั่นรู้แข็ง รู้แข็งเป็นจิต เป็นวิญญาณขันธ์ เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ เป็นสภาพที่รู้แจ้งลักษณะแข็ง

    ปรมัตถธรรมมี ๔ คือ จิตปรมัตถ์ ๑ เจตสิกปรมัตถ์ ๑ รูปปรมัตถ์ ๑ นิพพานปรมัตถ์ ๑

    ถ้าพูดถึงปรมัตถธรรม ๓ คือ จิต เจตสิก รูป เป็นสังขารธรรม เพราะเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ

    สังขารธรรม ๓ จำแนกออกเป็นขันธ์ ๕ คือ รูปทุกรูปเป็นรูปขันธ์ เวทนาเจตสิก เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกที่เหลือ ๕๐ เป็นสังขารขันธ์ รวมเป็นเจตสิกทั้งหมด ๕๒ และจิตทุกประเภทเป็นวิญญาณขันธ์

    เพราะฉะนั้น อย่าปนเวทนาขันธ์กับวิญญาณขันธ์ เวทนาขันธ์เป็นเจตสิก ได้แก่ เวทนาเจตสิก ส่วนสภาพที่รู้แข็งขณะที่แข็งปรากฏเป็นวิญญาณขันธ์ เป็นสภาพที่รู้อารมณ์

    ถ้าจะพิจารณาเวทนา คือ ความรู้สึก ในภาษาไทย ซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะ ทุกดวง ก่อนอื่นต้องทราบว่า ขณะนี้มีความรู้สึกหรือเปล่า ต้องมี และความรู้สึกปรากฏหรือเปล่า

    ถ. ย่อมปรากฏอยู่

    สุ. ถ้าปรากฏ สติระลึกได้ เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน คือ สภาพธรรมที่ระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ระลึกไม่ได้ แต่ต้องตรง คือ ถ้าระลึกความรู้สึก ไม่ใช่ระลึกที่รู้แข็ง ถ้าลักษณะที่รู้ หรืออาการรู้ เป็นสภาพของ วิญญาณขันธ์หรือจิต ไม่ใช่สภาพของเวทนาขันธ์ และขณะนั้นไม่ใช่ว่าไม่มีความรู้สึก แต่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมทีละอย่าง ถ้าระลึกลักษณะของสภาพรู้ อาการรู้ที่กำลังรู้แข็ง ในขณะนั้นก็ไม่ใช่ระลึกลักษณะของเวทนา

    ในวันหนึ่งๆ ความรู้สึกมีตลอดเวลา เพราะถ้าไม่ดีใจก็เสียใจ ไม่เป็นสุขก็ เป็นทุกข์ หรือมิฉะนั้นก็เฉยๆ แต่สภาพที่เฉยๆ ที่อาจกำลังมีอยู่ในขณะนี้ ก็เป็นสิ่งซึ่งยากที่จะรู้

    เพราะฉะนั้น การละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล จึงต้องพิจารณาว่า สติสามารถรู้ลักษณะของนามธรรมที่ต่างกับรูปธรรมหรือยัง โดยไม่ต้องเลือกว่าจะระลึกที่ลักษณะของเวทนาชนิดหนึ่งชนิดใด เพียงแต่ว่าสามารถพิจารณาแยกลักษณะที่เป็นนามธรรมออกจากลักษณะที่เป็นรูปธรรมก่อน และภายหลังลักษณะของนามธรรมจึงปรากฏประเภทต่างๆ เช่น ความรู้สึก ก็เป็นลักษณะของนามธรรม เพราะไม่ใช่รูป สภาพรู้ อาการรู้ เป็นลักษณะของนามธรรม ไม่ใช่รูป

    ถ. ในอรรถกถาที่ท่านพระสารีบุตรถามพระนางภัททาว่า ที่ชื่อว่าหนึ่งนั้น คืออะไร พระนางภัททาก็ไม่ได้ตอบ พระสารีบุตรก็ไม่ได้ตอบ และได้พากันไปหาพระพุทธเจ้า อยากทราบจากอาจารย์

    สุ. ก็ควรจะทราบต่อไปว่า ไปหาพระพุทธเจ้าแล้วเป็นอย่างไร

    ถ. เมื่อไปหาพระพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ตรัสคาถาเพียง ๔ บท ก็บรรลุเป็น พระอรหันต์

    สุ. แต่คนสมัยนี้ต้องเรียนกันนาน ต้องเริ่มต้นตั้งแต่ปรมัตถธรรม ๔ ตามลำดับไป และถึงแม้ว่าจะจบไปแล้วก็ยังไม่บรรลุ ต้องตั้งต้นอีก ฟังอีก ไม่ใช่อาศัยเพียงที่ทรงแสดงแค่นั้นจะเข้าใจได้

    โดยมากท่านผู้ฟังอ่านพระไตรปิฎกแล้วจะมีข้อสงสัยทั้งนั้น ทุกเล่มไป ไม่ใช่จะอ่านได้ตลอดโดยไม่สงสัยเลย

    ผู้ฟัง เรื่องที่ท่านผู้นั้นเรียนถามท่านอาจารย์ อยู่ในภัททากุณฑลเกสาเถรี เป็นพระเถรีที่ได้รับเอตทัคคะในทางตรัสรู้เร็ว คือ ได้ฟังคาถาเพียง ๔ บาทก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่ก่อนที่จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ นางภัททาได้ผลักโจรให้ตกเหวแล้วก็เร่รอนอยู่ตามสำนักของพวกนิครนถ์ พวกนักบวชปริพาชกต่างๆ เรียนรู้แตกฉานในลัทธินอกศาสนาจนหาผู้ที่สนทนาหรือโต้ตอบปัญหาด้วยไม่ได้ ก็เร่ร่อนมาจนกระทั่งพบกับท่านพระสารีบุตร เมื่อพระสารีบุตรแก้ปัญหาที่นางถามหมด พระสารีบุตรก็ถามบ้างว่า อะไรที่ชื่อว่าหนึ่ง นางก็ตอบไม่ได้ และพระสารีบุตรก็ไม่ได้แก้อะไร

    สุ. ที่จริง เข้าใจว่าแก้ เพราะเวลาที่ท่านพระสารีบุตรได้ทำการประมวลธรรมเป็นหมวดๆ หมวดที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ โดยนัยที่ท่านสังคีติกาจารย์รุ่นหลังได้ถือเป็นแบบกระทำต่อมา ก็มีการแสดงถึงธรรม ๑ ธรรม ๒ ธรรม ๓ ตลอดไป

    ผู้ฟัง ก็ไม่แน่ใจ คือ ในนั้นมีคำว่า เอกนามกิง อะไรชื่อว่าหนึ่ง ก็สัพเพ สัตตา อาหารัฏฐิติกา สัตว์ทั้งหลายมีชีวิตอยู่ด้วยอาหาร

    สุ. นี่คือคำตอบ

    ผู้ฟัง แต่ผู้อ่านยังไม่หายข้องใจ

    สุ. ยังไม่แจ่มแจ้ง ก็ต้องศึกษาตั้งแต่ต้นอีกเหมือนกัน เพราะว่าพระไตรปิฎกย่อมเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ใครก็จะหยิบขึ้นมาอ่านได้ แต่ต้องศึกษาโดยตลอด

    ผู้ฟัง เรื่องนี้อยู่ในอังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ เป็นประวัติพระภัททากุณฑลเกสาเถรี พระสารีบุตรถามว่า ที่ชื่อว่าหนึ่งคืออะไร นางภัททากุณฑลเกสาก็เรียนว่า ดิฉันไม่ทราบเจ้าค่ะ พระสารีบุตรก็พูดว่า เธอ ไม่ทราบแม้เหตุเพียงเท่านี้ เธอจะทราบอะไรอย่างอื่นเล่า เรื่องมีแค่นี้

    สุ. ที่จริงต้องต่อไปอีก

    ผู้ฟัง แต่อาจจะมีอยู่ในที่อื่น เฉพาะประวัติตอนนี้ รู้สึกย่อเหลือเกิน

    สุ. คำตอบ คือ สัพเพ สัตตา อาหารัฏฐิติกา สัตว์ทั้งหลายเป็นอยู่ได้ด้วยอาหาร คำแปลถูกต้องไหม

    ผู้ฟัง สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง อาหารัฏฐิติกา ดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร

    สุ. จริงไหม ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ในภูมิไหนทั้งหมด ถ้าปราศจากอาหารแล้ว ย่อมเป็นอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีสัตว์ ก็ไม่ต้องมีปัญหาอย่างนี้ จบเรื่องเลย แต่เพราะเหตุว่าเมื่อมีอาหาร และทุกสัตว์ทุกบุคคลที่จะเป็นอยู่ได้ก็เพราะอาหาร เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญประการหนึ่งสำหรับสัตว์ ทุกบุคคล ทุกภูมิ คือ อาหาร ที่จะทำให้สัตว์นั้นดำรงอยู่ ถ้าขาดอาหารย่อมดำรงอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญหนึ่ง คือ อาหารที่ทำให้สัตว์ดำรงอยู่ได้

    ธรรมประการหนึ่ง คือ อาหารที่ทำให้สัตว์ดำรงอยู่ได้ หรือทุกสัตว์ทุกบุคคลที่ดำรงอยู่ได้เพราะอาหาร ทุกคนกำลังมีอาหาร ถ้าไม่มีอาหารจะไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล จะไม่มีปัญหานี้

    ถ. อรูปพรหมมีอะไรเป็นอาหาร

    สุ. อรูปพรหมเกิดขึ้นได้เพราะอะไร

    ถ. เป็นนามปฏิสนธิ

    สุ. มีวิญญาณาหารไหม

    ถ. มี นั่นเป็นอาหารแล้วหรือ

    สุ. แน่นอน อาหารที่จะทำให้ดำรงความเป็นอรูปพรหมทุกขณะจิต โดยเมื่อมีวิญญาณแล้ว ก็นำมาซึ่งเจตสิกที่เกิดร่วมกัน

    ถ. และอสัญญสัตตาพรหม

    สุ. อสัญญสัตตาพรหมอยู่ได้ด้วยกรรม คือ มโนสัญเจตนาหาร ที่ทำให้สามารถดำรงอยู่ในภูมิของอสัญญสัตตาพรหมถึง ๕๐๐ กัป ถ้าไม่ถึงรูปปัญจมฌานที่จะทำให้เกิดเป็นรูปปฏิสนธิในอสัญญสัตตาพรหม ย่อมไม่สามารถดำรงอยู่ได้

    เพราะฉะนั้น อาหารทั้งนั้น อาหารทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นภูมิไหน ขึ้นชื่อว่าสัตว์ ที่จะเป็นอยู่ได้ก็เพราะอาหาร ทั้งๆ ที่ทุกสัตว์ทุกบุคคลต้องเป็นอยู่ได้เพราะอาหาร ก็ ยังไม่รู้จักอาหาร ต้องอาศัยพระธรรมที่ทรงแสดงจริงๆ จึงสามารถเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

    ขอทบทวนโลภมูลจิตดวงที่ ๑ โดยนัยของปัจจัยต่อไป ซึ่งจะไม่ทบทวนตามลำดับของปัจจัยจริงๆ แต่ขอทบทวนสลับกันไป

    โดยเหตุปัจจัย เป็นปัจจัยที่ ๑๑ ของการทบทวน ซึ่งความจริงเหตุปัจจัย เป็นปัจจัยที่ ๑

    โลภมูลจิตดวงที่ ๑ มีสภาพธรรมที่เป็นเหตุปัจจัยเกิดร่วมด้วย ๒ เหตุ คือ โมหเจตสิกเป็นโมหเหตุ ๑ และโลภเจตสิกเป็นโลภเหตุ ๑ สำหรับจิตใดที่เกิดร่วมกับ เหตุเจตสิก จิตนั้นชื่อว่าสเหตุกะ ทั้งจิตและเจตสิก สำหรับโลภมูลจิต มีเหตุเกิดร่วมด้วย ๒ เหตุ เพราะฉะนั้น เป็นสเหตุกะที่เป็นทวิเหตุกะ

    สำหรับโลภมูลจิต ที่เป็นเหตุปัจจัย ไม่ใช่โลภมูลจิต แต่เป็นโมหเจตสิกและ โลภเจตสิกซึ่งเกิดกับโลภมูลจิตเป็นเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ปัจจยุปบันธรรม คือ โลภมูลจิตและเจตสิกอื่นซึ่งไม่ใช่เหตุที่เกิดร่วมด้วย เป็นเหตุปัจจยุปบัน

    โมหเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิต เป็นสเหตุกะ หรืออเหตุกะ

    เป็นสเหตุกะ เพราะโมหเจตสิกนั้นเกิดร่วมกับโลภเจตสิก

    โลภเจตสิกที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ เป็นสเหตุกะ หรืออเหตุกะ

    เป็นสเหตุกะ เพราะเกิดร่วมกับโมหเจตสิก

    ผัสสเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ เป็นสเหตุกะ หรืออเหตุกะ

    เป็นสเหตุกะ

    เป็นเอกเหตุกะ หรือทวิเหตุกะ

    เป็นทวิเหตุกะเช่นเดียวกับโลภมูลจิต เพราะผัสสเจตสิกเกิดร่วมกับโมหเจตสิกและโลภเจตสิก ซึ่งเป็นเหตุ ๒ เหตุ

    เวทนาเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ เป็นอเหตุกะ หรือสเหตุกะ

    เป็นสเหตุกะ

    เป็นเอกเหตุกะ หรือเป็นทวิเหตุกะ

    เป็นทวิเหตุกะ

    เวลาที่โลภมูลจิตดวงที่ ๑ เกิด เป็นปัจจัยให้เจตสิกเกิดร่วมด้วยกับรูป แต่เมื่อกล่าวโดยเหตุปัจจัย ไม่ใช่จิต แต่ต้องเป็นโมหเจตสิกและโลภเจตสิกซึ่งเป็นเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ปัจจยุปบันของเหตุปัจจัย ๒ เหตุนี้ คือ เจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมด้วย รวมทั้งโลภมูลจิต และจิตตชรูป

    เวลาที่กล่าวถึงจิตตชรูป ไม่ได้หมายความว่ารูปนั้นเกิดเพราะจิตประเภทเดียว แต่ต้องเกิดเพราะจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกันเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น เวลาที่โลภมูลจิตเกิดขึ้น อย่าลืม นอกจากเจตสิกจะเกิดร่วมกันแล้ว ยังมีรูปเกิดร่วมด้วย รูปของ โลภมูลจิต หรือรูปที่เกิดเพราะโลภมูลจิตเป็นปัจจัย ดีหรือไม่ดี

    โลภมูลจิตเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น จิตตชรูป คือ รูปซึ่งเกิดเพราะโลภมูลจิต จะเป็นรูปที่ดีหรือว่าไม่ดี เป็นอิฏฐารมณ์ หรือเป็นอนิฏฐารมณ์

    ดีในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่า เป็นกุศล หรืออกุศล เพราะรูปเป็นกุศลหรืออกุศลไม่ได้

    เวลาที่โลภมูลจิตเกิดขึ้น เป็น โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง อสังขาริกัง เวลาที่มองดูการกระทำของบุคคลที่มีความเห็นผิด มีการกระทำทางกายต่างๆ มีการกราบไหว้สิ่งที่เคารพด้วยความเห็นผิด ไม่ใช่ด้วยความเห็นถูก อาจจะมีวาจาที่กล่าวสรรเสริญสิ่งที่เคารพด้วยความเห็นผิด ไม่ใช่ด้วยความเห็นถูก ในขณะเหล่านั้นทั้งหมดเป็นอะไร ก็เป็นจิตตชรูปที่เกิดเพราะความเห็นผิด

    การกราบไหว้ ดูเพียงภายนอก ดีหรือไม่ดี แต่ถ้าไหว้ผิดกราบผิดด้วยความ เห็นผิด ดีหรือไม่ดี เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า อาการภายนอกย่อมเกิดจากจิตซึ่งยากที่จะรู้ได้ แม้การกราบไหว้ ถ้าเป็นการกราบไหว้ด้วยจิตที่ผ่องใส ด้วยปัญญา หรือ ด้วยความเห็นถูก นั่นเป็นผลของกุศลจิต แต่ถ้ากราบไหว้สรรเสริญในสิ่งที่ผิด นั่นก็เป็นผลของอกุศลจิต



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๑๓๓๑ – ๑๓๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 89
    28 ธ.ค. 2564